- ๑. ราชสดุดี
- ๒. สภาพพ้อ
- ๓. พหูสูต
- ๔. ภาพทะเลเวลาเดือนหงาย
- ๕. ล้อมรั้ว-เรี่ยไรสร้างเรือรบพระร่วง
- ๖. เรือรบพระร่วง
- ๗. นายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพอังกฤษ
- ๘. ราชสดุดี-ดอนเจดีย์
- ๙. สงครามโลก ศตวรรษที่ ๒๕
- ๑๐. จอมพลฟช
- ๑๑. ดุษฎี"เอ็มเด็น"
- ๑๒. การบินเยี่ยมอินเดีย
- ๑๓. ศานติคณะของเค็ลลอก
- ๑๔. ระยะต่างๆ
- ๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม
- ๑๖. ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ
- ๑๗. มาตราวัดราคาคน
- ๑๘. ความมีจนของประเทศ
- ๑๙. หนีเสือปะจระเข้
- ๒๐. อั้งยี่
- ๒๑. นิทานที่ข้าพเจ้าชอบ
- ๒๒. ทหารเอกสยามสู้เศรษฐสงคราม
- ๒๓. พันธุ์เจริญ
- ๒๔. ต่อรอง
- ๒๕. รุกเงียบเงียบ
- ๒๖. ลาแล้วพันธุ์เจริญ
- ๒๗. อเมริกา กับ อเมริกัน
- ๒๘. อารยธรรม
- ๒๙. ฐานะของไทย
- ๓๐. ขุมทรัพย์ ๔
- ๓๑. ประชาสามัญของเรา
- ๓๒. ทำไมโจรผู้ร้ายจึงชุกชุม
- ๓๓. ศาสนาวันนี้
- ๓๔. เกร็ดเรื่องภาษี
- ๓๕. คณะเพาะปลูก
ราชสดุดี
(โคลงดั้นบาทกุญชร)
สรวมพรไตรรัตน์เรื้อง | เลอบุญ |
สรวมเดชสยามเทวา - | ธิราชเลี้ยง |
สยามานุภาพสุน - | ทรารักษ์ |
อยู่เพื่อนดินฟ้าเพี้ยง | เพื่อนเกลอ |
เสียม[๑]จักเสื่อมศักดิ์ด้วย | เดชภุกาม[๒] งามฤๅ |
เจ้าตากหากผันเผยอ | แย่งไว้ |
พระพุทธยอดฟ้าตาม | สถาปนะ |
สยารัฐจึ่งขึ้นได้ | ดั่งเดิม |
พระพุทธเลิศหล้า | นภาลัย |
ราชฤทธิ์ประสิทธิ์เสริม | สงบแผ้ว |
จึ่งพระนั่งเกล้าฯ ไพ- | บูลย์เพิ่ม |
เศรษฐกิจกิจล้วนแล้ว | รัฐประสงค์[๓] |
สยามใหม่ได้เริ่มด้วย | ดิถี นี้แล |
เหตพระจอมเกล้าฯ ทรง | ผนวชนั้น |
เพื่อสร้างพระบารมี | ยามเมื่อ |
รัฐประศาสน์ใหม่ใกล้กะชั้น | ถั่น[๔]ถึง |
โชคไผทหน่วงไท้เพื่อ | ศึกษา เสร็จฤๅ?[๕] |
เพราะท่านไผทไทยจึง | รอดเลี้ยง |
ฤๅสยามเทวา- | ธิราช บันดาล? |
แขก[๖]พะม่าญวนล้วนเกลี้ยง | กล่นชะเลย |
เถลิงราชย์นำชาติพ้น | ภัยขาว[๗] |
ท่านบ่ขืนโลกเลย | ท่านรู้ |
เปิดประเทศไป่ปิดคราว | ปิดไม่ อยู่แล |
เขมรปล่อย[๘]คอยแก้กู้ | เกี่ยงสยาม |
ซุงปิดปากน้ำไป่ | เป็นการ |
อาวุธยุทธสงคราม | ใหม่ร้าย |
เพื่อนประเทศเหตุฮึกหาญ | ลาญ[๙]แหลก |
มหาอุด[๑๐]อุดคล้าย ๆ | อุดหนุน |
ทรงศึกษาแตกทั้ง | ต่างภาษา |
สยามสว่างอ้างพระคุณ | คู่แก้ว |
พระดุจเนตรสว่างพา | ตามืด[๑๑] |
ทางโลกท่านเปลื้องแล้ว | รัฐภัย[๑๒] |
ทางธรรมงามยืดเยื้อ | ยิ่งยง |
เธียร[๑๓]ท่างแตกฉานไฉน | ย่อมรู้ |
ลัทธิศาสนาทรง | เผยแผ่ |
ธรรมรสโปรดล้วนกู้ | รสธรรม[๑๔] |
ชนชวนจักล้วนแต่ | แส่ปา-ฏิหาริย์เฮย |
สมัยชอบขลังคลั่งอำ- | นาจเรื้อง |
เจริญวิปัสสนาพา | ปลุกเสก สมรรถแล[๑๕] |
ปฏิบัติยักเยื้องเบื้อง | แบบหลง |
พระองค์พระผู้เอก | อนุศา- สนาจารย์ |
คติโลกธรรมธำรง | ร่วมแก้ว[๑๖] |
พระผู้เนตรสว่างพา | ตามืด |
ฉลองเนตรท่านใช้แล้ว | พระราชทาน |
หน่อกษัตริย์, ผลัดพืชไว้ | เผล็ดผล |
งานจัด, งานปรุง, งาน | เปลี่ยนแก้ |
ปิยมหาราชทวยชน | รุมรัก พระเอย |
ยอดกษัตริย์ถนัดถ้วนแท้ | ทุกทาง |
สยามจำแลงรูปลักษณ์ให้ | ไทยตะลึง ลานเฮย |
เก่าอยู่หยก ๆ พลาง | เปลี่ยนแปล้[๑๗] |
ตูสดับราชดำรัสถึง | พระที่นั่ง อนันต์ ฯ |
ทรงตระหนักภายหน้าแท้ | ถูกหยาม |
ว่า “พระจุลจอมเกล้า ฯ คลั่ง | ตึกฝรั่ง เหลือเกิน” |
แท้ขาดสถาปนิกสยาม | ท่านสร้าง |
พระยาราชสงครามสั่ง | นอกสัก โหลฤๅ? |
ได้ดั่งใจล้วนจ้าง | ช่างสวรรค์[๑๘] |
“พระที่นั่งสร้างจักให้ | ใช้ประโยชน์ ทันแล |
สถาปนิกคนเดียวมัน | ไม่แล้ว |
จึ่งจำจักต้องโปรด | แบบฝรั่ง” แม้กะนั้น |
สวรรคตก่อนแล้วแคล้ว | ราชประสงค์ |
สยามรัฐเปลี่ยนแล้วดั่ง | กลับหลัง หันเฮย |
เลิกทาสเป็นไทยคง | ชื่อไว้[๑๙] |
อิสสรภาพทั่วหน้าดัง | แดนกฎ- หมายแสดง |
อำนาจศาลให้ใช้ | แต่ศาล[๒๐] |
เกณฑ์ทหารทั่วหน้าหมด | ปลดอา- ภัพเอย |
ลูกหมู่น่าสงสาร | เลิกสิ้น |
ดั่งท่านปล่อยนกกา | นาเนก |
เกณฑ์เลิก, เบิกจ้างชิ้น | ชอบธรรม[๒๑] |
ราชอภัยทานเอกแท้ | ตลอดถึง |
เวนประเทศให้ไทยทำ | ประเทศเรื้อง |
ราชสมบัติเพื่อราษฎร์สึง[๒๒] | หุ้นส่วน |
แยกพระคลังตั้งเบื้อง | ระเบียบเงิน[๒๓] |
กลับหลังหันนั้นป่วน | ปั่นเป็น ปกติ |
ถ้าหากทำแต่เลิน- | เล่อล้วน |
ความสามารถท่านเห็น | ประจักษ์ ชัดเจน |
เลิศกษัตริย์ราษฎร์แท้ถ้วน | จิตต์ถวาย |
จัดรัฐราษฎร์นี้สัก | แต่สั่ง ดั่งฤๅ ? |
จึ่งฉลาด, สามารถ, หมาย | คู่ใช้[๒๔] |
กฎหมายปล่อยเหมือนดั่ง | กระดาษเปล่า อย่ามี[๒๕] |
ทุกช่างต่างต้องได้ | เครื่องมือ |
จอมช่างทรงสร้างเท่า | มือมนุษย์ ทำได้[๒๖] |
สองหนักสองหน้าคือ | กิจท้าว |
ทวียากแทบยากสุด | แรงแหล่ |
ราชกิจมิตรถ้วนด้าว | กล่าวชม |
กินเมือง[๒๗]เรื่องรู้แน่ | แก่ใจ |
สำนักงานบ้านรมย์ | รื่นแท้[๒๘] |
หน้าที่รับสืบใน | ทายาท |
เบี้ยหวัดเล็กน้อยแม้ | มั่งมี |
กินเมืองปลดเปลื้องขาด | พระราชทาน เงินเดือน |
จัดกระทรวงงานที | ละน้อย |
ศึกษาเพื่อราชการ | เริ่มก่อน |
กองทัพบกน้ำคล้อย | เคร่งวินัย |
แสงใดบ่ห่อนให้ | งมงาย |
แสงนั่นพระจอมไทย | ไป่ทิ้ง |
ส่งราชบุตรทั้งหลาย | ยังยุรป |
เพื่อศึกษาพร้อมพริ้ง | สะพรั่งคุณ |
พระมงกุฎเกล้าฯ จบ | เจนวิท- ยาท่าน |
วีรกษัตริย์เลอบุญ | ไม่น้อย |
พระผู้ชะนะนิตย์[๒๙] | ในโลก |
พระเสด็จมาแล้วคล้อย | เหมาะสมัย |
ยามโลกวิโยคล้วน | ทุรยุค |
เพราะเหตุมหายุทธภัย | เพิกหล้า[๓๐] |
สยามอยู่ไม่เป็นสุข | เสมือนเจตน์ |
ป่วนดั่งไฟไหม้ฟ้า | ฟ่องลาม |
เป็นกลางอย่างประเทศน้อย | ยากนัก |
อำนาจไม่พอตาม | ปกป้อง |
รังแต่ถูกค้อนควัก | ขวักไขว่[๓๑] |
เนตรทิพย์กะซิบให้ต้อง | ตื่นตัว |
เข้าฝ่ายไหน? นั้นไม่ | ใช่ปัญ- หาเลย |
เข้าเมื่อไร? น่ากลัว, | ผิดร้าย[๓๒] |
วีรกษัตริย์ตรัสตอบพลัน | ฤๅพลาด? |
ยามจัดสะพรึบพร้อมคล้าย | ละคร[๓๓] |
ตื่นนอนเห็นประกาศต้อง | ตาตะลึง |
ข่าวจับข้าศึกตอน | ดึกด้วย |
ยุทธภาวมาถึง | สยามรัฐ |
เรียกสมัครไทยสู้มวย | มากอาสา |
รักธรรมจำเข้าขจัด | อธรรม |
กองรถ กองบิน มหา- | สมุทรข้าม[๓๔] |
ธงสยามชื่อสยามนำ | สยามสู่ สมรภูมิ |
เสียมศักดิ์จักต้องคร้าม | เศิกไฉน? |
ได้เรียนได้รู้, อยู่ | ดูทำ จริงแล[๓๕] |
ได้ช่วยรบช่วยประลัย | ร่วมบ้าง |
สัญญาอย่าทัพจำ- | เพาะตก ลงกัน |
ชัยชนะพระเจ้าช้าง | เผือกเฉลียว |
สงครามตามยกให้ | ซึ่งเกียรติ สยามเฮย |
ในลัดนิ้วมือเดียว | เด่นได้ |
ปกติผิจะเพียร | เร็วเร่ง ขึ้นฤๅ ? |
ชัยชนะพระให้ไว้ | แก่เรา |
สมรภูมิชัยให้เพ่ง | ชัยเบ็ด- เสร็จด้วย |
คือสิทธิ์อิสสระเทา | ประเทศได้ |
สิทธิ์ศาล, สิทธิ์ภาษี, เสร็จ | สมปลด สัญญา[๓๖] |
มิตรจิตต์มิตรแก้ให้ | มากหลาย[๓๗] |
ผองภัยไทยทั้งหมด | ยังมี มโนภัย |
เป็นโรคกินลึกหาย | ยากแท้ |
คือเราอบรมวิถี | ธรรมเทอด ทนุตน[๓๘] |
คณะปล่อย, พลอยต้องแก้ | เพื่อตัว เองเอย |
ใฝ่พระทัยใคร่ให้เกิด | การถือ ชาติ[๓๙]ขึ้น |
ดีกว่าต่างเมามัว | มอบไว้[๔๐] |
เสือป่าลูกเสือกะพือ | กำเนิด |
เพราะพระแต่งตั้งให้ | ปลุกกมล |
งานยากหากช้าเกิด | ก่อมรรค ผลฤๅ? |
งานก่อนกาลก่อนคน | พรักพร้อม[๔๑] |
สมาคมคติใหม่นัก | บ่ถนัด |
เสือป่าจึ่งห้อมล้อม | ราชการ[๔๒] |
ลูกเสือต่างด้าวจัด | โดยสมา- คมจริง |
เราบ่เทียบเขางาน | ก็ไร้ |
เรามอบส่วนศึกษา | สิทธิ์ประสาท[๔๓] |
เหล่าลูกเสือขึ้นได้ | ดั่งประสงค์ |
พระเชิดชูกู้ชาติ | พะนอชัย |
ปลุกราษฎร์เปรอชาติยง | ยิ่งแกล้ว |
ไทยแรงเพราะใจไทย | ถือชาติ |
ไทยขาดคุณนี้แล้ว | จักมลาย |
ไทยรอศึกล้อมราช | อาณาจักร |
จึ่งจักร่วมใจหมาย | ต่อสู้ |
บัดศึกเศรษฐกิจยัก | เยื้องฆาต |
แหลกบ่ทันให้รู้- | สึกสลาย[๔๔] |
จอมทหารชาญปราชญ์ด้วย | กะเดื่องไกล[๔๕] |
ออกตกยกย่องมาย- | มากแล้ว |
บุรุษโลกโลกอวยชัย | เชิงฉลาด[๔๖] |
องค์เด่นเมืองได้แก้ว | เด่นตาม |
สยามสู่สันนิบาตชั้น | ชุมนุม โลกนอ[๔๗] |
โลกค่อยรู้จักสยาม | สักน้อย |
นามสกุลก็เพิ่งคุม | กันติด[๔๘] |
การศึกษาได้คล้อย | สู่สมัย[๔๙] |
สยามได้แรกสฤษฏ์ตั้ง | มหาวิท- ยาลัย[๕๐] |
เกณฑ์ศึกษาใช้ใน | ยุคนี้[๕๑] |
สองอย่างพ่างชีวิต | แห่งศึก- ษาเทียว |
ยังมิแล้วล้วนชี้ | ช่องทาง |
เสร็จศึกสำนึกข้อ | ทดแทน |
สุรุ่ยสุร่ายภายในพลาง | เผล็ดร้าย |
เสด็จสวรรค์ครรไลแสน | สยามอก ไหม้เอย |
พิศพ่างข้างหน้าคล้าย | ธนภัย[๕๒] |
สยามได้พระปกเกล้าฯ | เจ้าสยาม |
ร่มราษฎร์เริงธนชัย | ใช่น้อย |
เสด็จมาเหมาะเมื่อยาม | ธนขาด |
ครั้นจะมัวอ้อยส้อย | จักเสีย[๕๓] |
เถลิงราชย์ทรงตั้งราช | หฤทัย |
ตัดจ่าย, ตัดคน, เยีย | เยี่ยงให้ |
งานทรงอยู่อย่างไร | ไม่ขาด |
บำเหน็จชีพเลี้ยงได้ | ทุกคน โดยควร[๕๔] |
ตั้งต้นตัดเบื้องราช | สำนัก ก่อนแล[๕๕] |
แล้วตัดทุกกระทรวงจน | จบถ้วน |
งบได้กับจ่ายประจักษ์ | ดุลยภาพ เพ็ญแล[๕๖] |
ภัยหมดปลดเปลื้องล้วน | เลิศลอย |
ต่อนั้นพลันได้ลาภ | เงินเหลือ มากมาย |
การจ่ายฝ่ายบำรุงพลอย | สะดวกได้[๕๗] |
การประหยัดตัดเหลือเฟือ | ธนกิจ รัดกุม |
ยังไม่ถึงต้องใช้ | วิธี ภาษี[๕๘] |
บัดสิทธิ์อิสสระทั้ง | สองสถาน ถึงเข้า[๕๙] |
ร้อยชักสามภาษี | เพิ่มได้[๖๐] |
ตันตื้นติดมานาน | นักเหตุ สัญญา |
จึ่งผนวกรายได้ให้ | แผ่นดิน |
งามความสำเร็จล้วน | ควรค่า เมืองเอย |
งามพระสยามินทร | มิตรถ้วน |
พระเชื่อมพระเชิญชวน | พิชัยญาติ |
สมานสมัครพรักพร้อมล้วน | ราชพลังค์[๖๑] |
ขอพระปกเกล้าฯ ราษฎร์ | รมย์สยาม ยั่งยืน |
ราชกิจสิทธิ์เสมือนดัง | สิทธิ์แล้ว[๖๒] |
ทรงชัยชนะสงคราม | เศรษฐกิจ[๖๓] |
ทรงเดชดั่งด้วยแก้ว | เจ็ดประการ[๖๔] |
ขอพรจตุรพิธ[๖๕]แผ้ว | ผยององค์ |
สองกษัตริย์มหาสาร[๖๖] | สอดคล้อง |
ใดเป็นราชประสงค์ | จงสบ สมเทอญ |
อริราชคลาดแคล้ว, ต้อง | ตกไป |
บวงสรวงเทพเจ้าครบ | องค์อดีต มหาราช |
เชิญพิทักษ์ไผทไทย | เทอดท้าว |
ชนต่างชาติกลาดกีด- | กัน[๖๗]กด หมดเทอญ |
เสียมสืบชาติเชื้อก้าว | เกี่ยงชัย[๖๘] |
๖ มิถุน. ๗๒
[๑] เสียม คำเดียวกับสยาม ใช้ทั้งสำหรับคนไทยและประเทศสยาม
[๒] ภุกาม พะม่า
[๓] ......ประสงค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทำการค้าขายกับต่างประเทศ ท่านมีสำเภานำสินค้าไทย มีวัตถุดิบเป็นพื้น ส่งไปขายเมืองจีนและนำสินค้าจีนเข้ามายังเมืองไทย เวลานั้นยังไม่มีการแยกพระคลังข้างที่กับคลังแผ่นดินเฉียบขาดเหมือนเดี๋ยวนี้ การค้าขายที่ทรงกระทำนั้นจึงเป็นการค้าขายของรัฐบาลนั่นเอง
[๔] ถั่น เร็ว, พลัน
[๕] ......ฤๅ? ถ้าขาดรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นทรงราชย์ก่อนได้ทรงศึกษาความรู้โลกแตกฉาน การจะเป็นอย่างไรบ้าง ? เหตุที่มีรัชชกาลที่ ๓ ให้ทรงศึกษาได้นานจึงนับเป็นโชคแผ่นดินและต้องนับว่าสยามใหม่ได้เริ่มแต่รัชชกาลที่ ๓ นั้น
[๖] แขก อินเดีย, ชะวา, มะลายู, ฟิลิปปินส์
[๗] ภัยขาว ยุโรปใช้ศัพท์ว่า Yellow Peril หมายถึงจีนในอนาคต เมื่อได้กลับเป็นปึกแผ่นในแผนความเจริญสมัยปัจจุปบันแล้ว จะเป็นที่ยำเกรงครั่นคร้ามแม้สำหรับชาวยุโรป. ภัยขาวในที่นี้ ก็คือชาติผิวเนื้อขาวชาวยุโรปนั่นเอง ในความหมายทำนองเดียวกัน
[๘] เขมรปล่อย เมื่อฝรั่งเศสดอดไปทำสัญญากับเขมรรับคุ้มครองประเทศเขมรนั้น เขมรก็มีเกี่ยวข้องกับเรามาก เราจะยกเหตุนั้นขึ้นพูดบ้างก็พอพูดได้ แต่ทรงเห็นว่ามีแต่ภัย รักษาสยามไว้ให้อยู่ดีกว่า จึงทรงสงบไว้ด้วยพระราชกุศโลบาย
[๙] ลาญ แตก, ทำลาย
[๑๐] มหาอุด เป็นชื่อของการปลุกเสก ที่เชื่อกันตามลัทธินั้นว่าอุดปืนได้ คือปืนยิงไม่ออก
[๑๑] ......มืด ชาวตะวันออกสมัยนั้น ไม่ทราบความเป็นไปแห่งยุโรป ไม่รู้จักประมาณกำลังเรากำลังเขา จึงได้เสียบ้านเมืองไปตาม ๆ กัน ชาวสยามก็ตกอยู่ในฐานเช่นนั้น
[๑๒] ......ภัย ท่านได้ทรงปลดเปลื้องภัยทั้งทางคติโลกคติธรรม ภัยทางคติโลกคือ เวลานั้น ตกสมัยที่อำนาจทางยุโรปกำลังแผ่อาณาเขตต์มาทางตะวันออกและอาฟริกา, ประเทศอินเดีย, พะม่า, มะลายู, สุมาตรา, ชะวา, ฟิลิปปินส์, ในชมพูทวีปได้ตกเป็นชะเลยไปตาม ๆ กัน
[๑๓] เธียร นักปราชญ์
[๑๔] .....ธรรม ภัยทางคติธรรม คือ การปฏิบัติศาสนาของเราในสมัยโบราณหนักไปข้างอิทธิปาฏิหาริย์ ความรู้จริงในทางปรมัตถยังหายากเต็มที เมื่อได้ทรงศึกษาทางพระศาสนาลุ่มลึกยิ่งๆ ขึ้นไปในระหว่างที่ทรงอุปสมบท ถึงแก่ทรงสลดพระทัยในความบกพร่องแห่งการปฏิบัติศาสนาของเราในสมัยนั้น จึงได้ทรงเผยแผ่ความรู้และทางปฏิบัติพระธรรมวินัย โดยธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้ทรงตั้งคณะธรรมยุตติกนิกายขึ้นเมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
[๑๕] ......แล การปลุกเศก ลงเลขยันตร์ คาถาอาคม เชื่อลางเชื่อขลัง แต่ก่อนเชื่อกันมากกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะพร่องการศึกษา. ถึงแม้ศาสนาปฏิเสธสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วก็ดี คนก็กลับเอาศาสนานั้นเองเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับให้ขลัง และอ้างความศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยอำนาจ ‘คุณพระ’ การเจริญภาวนา ซึ่งเป็นมรรคานำไปสู่ปรมัตถประโยชน์ กลับนำไปสู่อิทธิปาฏิหาริย์เพื่อความขลังต่าง ๆ
[๑๖] ......แก้ว พระองค์คือดวงแก้ว หรือประทีปที่ให้แสงสว่างแก่เราทั้งคติโลก คติธรรม ทั้ง ๒ ทาง
[๑๗] .....แปล้ พระนครเป็นเรือสวนไร่นา มีแต่ทางเดิร หาถนนใหญ่ยาก ก็ได้มีถนน ใช้รถม้า เกิดตึกร้านสง่างาม ฝ่ายขนบธรรมเนียมตลอดจนการปกครองก็ได้ทรงแก้จนเกือบเก่ากับใหม่จะจำกันไม่ได้ ดังมีกล่าวถึงในโคลงต่อ ๆ ไป.
[๑๘] ผู้แต่งเรื่องนี้ได้เข้าเฝ้ากับท่านเจ้าพระยาพระเสด็จ เมื่อยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ที่พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เพื่อถวายแบบตึกโรงเรียนสวนกุหลาบทอดพระเนตร. เป็นแบบอย่างไทยที่นายฮีลีเขียนแบบหนึ่ง กับแบบสามัญที่ได้ใช้ปลูกสร้างนั้นอีกแบบหนึ่ง. โปรดแบบไทย ทรงทำนายว่าฝรั่งคนนี้ ถ้าได้เรียนแบบไทยไปนาน ๆ จะใช้ได้ (นายฮีลีนี้ภายหลังเป็นผู้ออกแบบสร้างตึกใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้) แต่แบบดังที่เขียนเวลานั้นก็ยังใช้ไม่ได้อยู่เอง จึงมีพระราชปรารภต่อไปถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเวลานั้นกำลังเริ่มสร้างว่า พระราชประสงค์ใคร่จะให้เป็นแบบไทย แต่มีพระยาสงครามเป็นช่างทำได้อยู่คนเดียว ที่ไหนจะสามารถทำให้เรียบร้อยและแล้วทันพระราชประสงค์ จึงจำพระทัยจำสร้างแบบฝรั่ง ซึ่งจะสั่งช่างวิเศษมาสักโหลหนึ่งก็ได้ทันที. อุปสรรคอันนี้ทรงแสดงพระราชโทมนัสมากถึงแก่รับสั่งว่า ต่อไปข้างหน้าเขาคงพากันติฉินว่า สมัยพระจุลจอมเกล้าฯ นี้ช่างโปรดตึกฝรั่งเสียจริง ๆ
[๑๙] ......ชื่อไว้ ประถมราชกรณีย์ในรัชชกาลที่ ๕ คือ พอเสด็จขึ้นทรงราชย์ก็ประกาศเกษียณอายุเลิกทาส เด็กเกิดแต่ปีนั้นไปจะซื้อขายเป็นทาสกันไม่ได้. วิธีนี้ตรงข้ามกับวิธีเลิกทาสของพะม่าเหนือ มีข่าวว่าเมื่อ ศก ๒๔๗๑ ว่า เนื่องจากความตกลงในสันนิบาตชาติ รัฐบาลอังกฤษได้สั่งให้รัฐบาลเมืองพะม่าจัดการเลิกทาส ซึ่งยังมีอยู่ทางเหนือให้หมด เจ้าพนักงานได้ไปจัดการสำเร็จแล้วก็รายงานเป็นที่เรียบร้อย ไม่ช้าทาสที่ถูกปล่อยหมดแล้วนั้น โดยมากกลับหันเข้ามาพึ่งนายเงินอีก ปรากฏว่าไม่เคยเอาตัวรอด บัดนี้ได้อิสสรภาพออกไปแล้วก็เอาตัวไม่รอด ต้องหันกลับมาพึ่งนายตามเดิม
[๒๐] ......ศาล แต่ก่อนนี้ทะบวงการต่างๆ เคยตั้งศาลของตัวเอง โปรดเกล้าฯ ให้เลิกและรวมมาจัดตั้งเป็นศาลหลวงในกระทรวงยุติธรรม ดำเนิรการตามวิธีของศาลปัจจุปบัน ฝึกหัดเนติบัณฑิตเป็นผู้พิพากษาและทนายความ จึงเป็นอันได้ทรงสถาปนาอำนาจศาลให้เป็นอิสสระไม่ต้องขึ้นแก่ใคร แม้กระทรวงยุติธรรมก็บังคับได้เพียงทางธุระการเท่านั้น
[๒๑] ......ธรรม ประเพณีแต่ก่อน เนื่องแต่มีลูกหมู่ไพร่หลวง เจ้าหมู่มูลนาย อาจเกณฑ์คนของตัวมาใช้โดยไม่ต้องจ้าง การเกณฑ์เป็นวิธีที่ใช้ในราชการทั่วไป ภายหลังโปรดเกล้า ฯ ให้เลิกวิธีนั้นแล้ว จึงใช้จ้างโดยบังคับให้รับจ้างเรียกว่า ‘เกณฑ์จ้าง’ ทุกวันนี้ตามหัวเมืองก็ยังมีใช้อยู่
[๒๒] สึง คำเดียวกับ สิง แปลว่า อยู่, เข้าถึง
[๒๓] ......เงิน เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้จัดกระทรวงทะบวงการ ก็ได้ตั้งกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง เงินแผ่นดินกับเงินพระคลังข้างที่จึงแยกกันเฉียบขาดแต่นั้นมา
[๒๔] ......ใช้ ลำพังฉลาดก็เข้าภาษิตว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” ลำพังสามารถ ก็ต้องมัวทำแล้วแก้เล่า อันใดที่เป็นความรู้ประจำโลกแล้ว ก็ต้องมัวไปคิดค้นทดลองเสียแรงเสียเวลา เข้าแบบที่ว่า “จะตรัสรู้เอาเอง” เสียทั้งหมด เป็นลักษณะโง่ หาใช่ฉลาดไม่ ความฉลาดที่แท้ต้องอาศัยความรู้ และความฉลาดกับสามารถ ต้องอาศัยกันและกัน
[๒๕] ......อย่ามี กฎหมายออกไปแล้ว ใช้ หรือปฏิบัตตามนั้นไม่ได้ เรียกว่ากระดาษเปล่า หรือกฎหมายบนแผ่นกระดาษ ของเราก็มี
[๒๖] ......ทำได้ การจัดราชการบ้านเมือง ต้องทรงฝึกหัดข้าราชการด้วย เท่ากับนายช่างต้องทำทั้งงานและสร้างทั้งเครื่องมือ จึงเป็นการยากทวีคูณ. ยิ่งการเปลี่ยนหัวเก่าให้เป็นหัวใหม่ ต้องถอนของเก่าออกหมดก่อน แล้วจึงหัดของใหม่ให้ ยิ่งเป็นการที่เกือบจะไม่มีทางสำเร็จได้เลย บ้านเมืองในเวลานั้นก็เต็มไปด้วยข้าราชการรุ่นเก่า จึงต้องรับว่าพระราชกรณีย์ที่ได้ทรงทำให้ลุล่วงไปนั้น เป็นวิเศษสุดที่มือมนุษย์พึงทำได้แล้ว ท่านเป็นอัจฉริยบุทคลจริง ๆ
[๒๗] กินเมือง คำนี้ใช้ในราชการ เช่นให้คนนั้นไปกินเมืองนั้น แม้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นทรงราชย์ ก็เรียกว่า “เสวย” ราชย์. แท้จริงการก็สมกับถ้อยคำที่ใช้ เพราะเท่ากับเป็นสมบัติหยิบยกให้ พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเจ้าของแผ่นดินจริงๆ เป็นเจ้าของตลอดไปถึงชีวิตของราษฎร จึงเรียกว่า ‘เจ้าชีวิต’ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ใครไปกินเมืองใด คนนั้นก็ไม่อำนาจสิทธิขาดในเมืองนั้นคล้ายเป็นเจ้าของ เบี้ยหวัดที่พระราชทานนั้นไม่พอที่จะเลี้ยงชีพเลย เป็นเบี้ยเครื่องหมายเกียรติยศอย่างศักดินาที่คงใช้อยู่เดี๋ยวนี้เท่านั้น
[๒๘] ......แท้ ในสมัยนั้นยังมิได้ตั้งกระทรวงทะบวงการ ใครว่าที่อะไร บ้านก็มักเป็นสำนักงานอยู่ในตัว เสมียนทะนายจึงเป็นคนในบ้านนั้นเองเกือบหมด. การที่คนอื่นแท้ๆ จะมารับหน้าที่แทนต่อไปจึงเป็นการยาก
[๒๙] ......นิตย์ มีพระราชอัธยาศัยมุ่งต่อความชะนะเสมอ อย่าว่าแต่การรบ แม้เพียงการซ้อมรบก็เช่นนั้น. ภาษิตมีว่า “ที่ไหนมีความตั้งใจจริง ที่นั่นก็มีช่องทาง”
[๓๐] ......หล้า มหาสงครามโลกเริ่มแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และเซ็นสัญญาเลิกรบเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ สยามเข้าสงครามวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งจารึกไว้เป็นชื่อถนนว่า ถนน ๒๒ กรกฎ
[๓๑] ......ไขว่ สยามได้ประกาศความเป็นกลางก่อน แต่เดี๋ยวก็ถูกฝ่ายนี้ทักว่า ทำไมยอมให้ฝ่ายนั้นทำอย่างนั้น เดี๋ยวก็ถูกฝ่ายนั้นทักว่า ทำไมยอมให้ฝ่ายนี้ทำอย่างนี้ การรักษาความเป็นกลางของเรา ดุจคนเข้าไปห้ามคู่ชก รวนจะถูกชกเข้าด้วยเสมอ
[๓๒] ......ร้าย ทำการสงครามยืดยาว ถ้าทำจริงไม่สักแต่ขึ้นชื่อ ย่อมเปลืองมากทั้งทรัพย์ทั้งชีวิต เราไม่มีจะเปลืองมากทั้ง ๒ อย่าง. อนึ่งถ้าเข้าช่วยเมื่อจะแพ้ชนะกันเสียแล้ว การช่วยนั้นก็มีประโยชน์เท่า “ชะนะไหนเข้าด้วยช่วยกะพือ” เท่านั้น เวลาที่เราเข้าสงครามนั้นเป็นเวลากำลังฉุกเฉินหวุดหวิดเหมาะเหลือเกิน กองเครื่องยนต์ของเราได้เข้าช่วยในทางลำเลียง กองอากาศยานก็ได้เข้าโรงเรียนได้วิชชาจริงมาด้วย
[๓๓] ......ละคร การประกาศสงครามจัดอย่างเงียบสนิท พอตื่นเช้าก็ได้เห็นประกาศปิดทั่วเมือง แต่ชนชาติศัตรูนั้นได้เชิญไปเข้าที่คุมขังเสร็จแล้ว เริ่มการแต่เวลากลางดึก สมบัติของเขารัฐบาลก็เข้าปกปักรักษาเรียบร้อยทันที, ทุกอย่างทำได้โดยละม่อม การส่งทหารอาสาลงเรือไปถึงยุโรป ก็ทำได้เรียบร้อยด้วยการตระเตรียมแยบคายไม่น้อยกว่าชั้นประกาศสงครามเลย.
[๓๔] ......ข้าม เราส่งกองอากาศยาน พร้อมทั้งพนักงานเครื่องยนต์และแพทย์ พวกเครื่องยนต์เสร็จการฝึกหัดก่อน จึงได้ออกทำการช่วยเหลือทางแผนกขับรถยนต์ลำเลียง พวกแพทย์ก็ได้เข้าช่วยเหลือตามสถานพยาบาลต่างๆ
[๓๕] ......แล บรรดาทหารที่เรียกระดมในมหาสงครามคราวนี้ ทุกเหล่าต้องเข้าฝึกหัดก่อน เมื่อเสร็จแล้วจึงส่งเข้าสมรภูมิ. กองทหารอาสาของเราพอไปถึงก็ได้เข้าโรงเรียนฝึกหัดตามแผนก. พวกนักบินต้องฝึกหัดนาน ประจวบการเลิกสงครามมาถึงเข้า จึงได้แต่ความรู้ไม่ทันถึงเสียชีวิตเพราะรบ เมื่อเรียกกองอาสาเหล่านี้กลับ เรายังได้เลือกแพทย์ไว้เรียนวิชชาพิเศษต่างๆ ที่ยุโรปเป็นประโยชน์ต่อไปอีกชั้นหนึ่ง
[๓๖] ......สัญญา เมื่อยุโรปเริ่มแผ่การค้าขายมาทางตะวันออก ได้เกิดสัญญาทางพระราชไมตรีมัดประเทศตะวันออกในทางยึดอำนาจตั้งศาลกงสุลและสถานทูต เพื่อชำระคดีเกี่ยวกับคนในสังกัดของเขาตามกฎหมายของเขา เรียกว่า Extra-Territorial-Right กับจำกัดอัตราเก็บภาษีขาเข้า อันเป็นสินค้าของเขา ไม่ให้เกินร้อยละ ๓ สำหรับประเทศสยาม เว้นแต่สินค้าพิเศษบางอย่างเช่น แอลกอฮอล์เป็นต้นที่ยอมให้เก็บสูงหน่อย ตามอัตราที่ระบุไว้ในสัญญา. ข้อมัดเหล่านี้เมื่อตกมาถึงคราวที่ประเทศได้จัดเข้ารูปใหม่แล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นการล้าหลังสมัย เป็นเครื่องถ่วงความเจริญของประเทศ ญี่ปุ่นได้สลัดข้อมัดเหล่านี้ลุล่วงไปก่อน ส่วนสยาม ได้โอกาสแห่งมหาสงคราม พอเสร็จแล้วจึงได้เริ่มลงมือเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อแก้สัญญาให้เราได้มี Judicial Autonomy กับ Fiscal Autonomy คือมีอำนาจในการศาลกับการเก็บภาษีเต็มที่ ซึ่งควรเป็นสิทธิของเราในประเทศเราไม่ว่าเกี่ยวกับคนในสังกัดของประเทศใดๆ
[๓๗] มากหลาย การแก้ไขสัญญานี้ ได้ลุล่วงไปแล้วโดยมาก ยังเหลืออยู่อีกสองสามประเทศเท่านั้น ก็มาเสด็จสวรรคต
[๓๘] ......ตน เราทำบุญหมายเอาบุญ, ไปสู่สุคติ, สำเร็จมรรคผล, เหล่านี้ล้วนเพื่อตน แม้ทำบุญแก่พระก็หมายเพื่อตนนั่นเอง การคณะเช่นการบำรุงท้องถิ่น หรือบ้านเมืองหรือหมู่คณะเลยจืดจางไปหมด อะไร ๆ รัฐบาลต้องทำให้ทุกอย่าง ตนจะขวนขวายก็ด้วยเหตุเกี่ยวกับประโยชน์ตนเท่านั้น อันนี้เป็นภาวของคนไทยดั่งได้เคยเป็นมาแล้วเกือบทั่วไปในสมัยที่ใช้วิธีมีเลขไพร่สมเจ้าหมู่มุลนายจัดบ้านเมืองอย่างกองทัพ
[๓๙] การถือชาติ Nationalism คือความรู้สึกพรักพร้อมของประชาชนเพื่อชาติ
[๔๐] ......มอบไว้ คือมอบเหมาให้รัฐบาลทำให้ทุกอย่าง ไม่คิดช่วยตัวเองบ้างเลย นอกจากเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตัว
[๔๑] ......พรักพร้อม การเปลี่ยนใจคนเป็นการยากต้องสำเร็จช้า เหมือนเอาผ้าคร่ำมาย้อม ต้องถอนคร่ำออกให้หมดเสียก่อนจึงให้สีใหม่สำเร็จ ไม่ง่ายเหมือนย้อมผ้าขาวที่ลงสีได้ทีเดียว กิจการของเสือป่าเป็นการก่อนเวลาและก่อนคนพรักพร้อมด้วยเหตุนั้น. การก่อนเวลานี้เป็นการตรงข้ามกับการล้าหลังเวลา
[๔๒] ......ราชการ การตั้งสมาคมทำสาธารณประโยชน์ยังเป็นของใหม่สำหรับเราๆ เคยแต่คอยให้รัฐบาลทำให้. สมาคมของเราที่ตั้งอยู่ได้ล้วนอาศัยราชการทั้งสิ้น แม้สมาคมเสือป่า เดิมจะไม่นับเป็นราชการ ลงปลายก็ต้องนับเป็นแอบอิงทางราชการ
[๔๓] ......ประสาท โรงเรียนเป็นที่ตั้งกองลูกเสือ ครูเป็นผู้กำกับ วิชชาลูกเสือเข้าอยู่ในหลักสูตรหลวง
[๔๔] ......สลาย ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่รักชาติ. เมื่อเวลาเกิดศึกสงคราม ไทยเราก็พร้อมที่จะพลีชีวิตและเลือดเนื้อเสมอ ดังปรากฏมาแล้วในพงศาวดาร แต่สงครามเศรษฐกิจเป็นของใหม่สำหรับเรา เราถูกรุกเงียบๆ จะเข้าตาจนโดยไม่รู้ตัวอยู่ แล้วที่อัศวพาหุทำความเผยแผ่เรื่องจีนจนจีนชัง ก็เพื่อจะปลุกใจชาติ ดุจปลุกคนหลับให้ตื่นเถิดเท่านั้น
[๔๕] ......ไกล พระราชนิพนธ์ในรัชชกาลที่ ๖ มีมากมายทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอน และร้อยแก้ว ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เรื่องละครมีมากเพราะโปรดมาก เล่ากันว่า เซอร์เฮนรี เออร์วิง ตัวละครเอกของอังกฤษได้เคยออกปากชมแต่เมื่อยังเสด็จทรงศึกษาอยู่ในยุโรปว่า ถ้าพระองค์ไม่ต้องทรงรับพระราชภารเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะทรงหากินทางวิชชานาฏศาสตร์ก็ได้ดีถมไป. เมื่อนึกถึงว่าในเวลาราว ๒๐ ปีที่มีพระราชภารทางการบ้านเมืองมาก รวมทั้งก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นสมุดรวมกว่า ๑๐๐ เล่ม ที่คนชอบใจอ่าน ท่านก็เป็นทั้งนักปราชญ์และกวีชั้นเยี่ยมมาก
[๔๖] ......ฉลาด บุรุษโลกนั้นคือคนที่ขึ้นชื่อและมีผู้นับถือไปทั่วโลก นับเป็นฐานที่ถึงได้ด้วยยาก พระมงกุฎเกล้าฯ ท่านได้ขึ้นถึงฐานเช่นนั้น ไม่ใช่ในทางเป็นกษัตริย์หรือเป็นทหาร ท่านขึ้นถึงได้ในทางเปรื่องปราชญ์ คือโดยพระราชนิพนธ์และพระราชดำรัสต่าง ๆ
[๔๗] ......นอ แต่ก่อนสยามเป็นประเทศลี้ลับ ไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเป็นประเทศอิสสระ สยามเคยถูกเหมาว่าอยู่ในเมืองจีนบ่อยๆ ก่อนรัชชกาลที่ ๕ เสด็จยุโรป สยามก็ขึ้นชื่อด้วยนายอินนายจัน ไทยฝาแฝดเท่านั้น แต่ต่อมาในสมัยรัชชกาลที่ ๖ สยามได้เริ่มมายืนเข้าแถวในบรรดาชุมนุมชาติแห่งโลก ดูเหมือนค่อยนับเป็นชาติหนึ่งได้ มีอะไรๆ ก็ได้รับติดต่อบอกเล่าเชื้อเชิญ พอเกิดสันนิบาตชาติขึ้น เราก็ได้เข้าเป็นสมาชิกด้วยชาติหนึ่งทีเดียว
[๔๘] ......ติด คนเกิดภายหน้า จะนึกไม่ออกว่าคนไทยอยู่ได้ด้วยไม่มีนามสกุลอย่างไร แต่พระราชบัญญัติขนานนามสกุลก็เพิ่งออกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้ทรงเร่งให้สำเร็จด้วยพระราชทานนามสกุลแก่ผู้กราบบังคมทูลขอ ชั้นต้นก็ทรงคิดพระราชทานเอง ภายหลังต้องถึงตั้งเจ้าหน้าที่
[๔๙] ......สมัย แผนศึกษาเก่าปล่อยให้ใครเรียนได้เรียนเอา แต่แผนใหม่จัดเป็นการศึกษาสำหรับชาติ คือเด็กเกิดมาต้องได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตตภาพของตนๆ ทุกคน รัฐบาลสงวนสิทธิในการให้ศึกษาแก่พลเมือง และอำนวยให้มีสถานศึกษาทุกประเภทครบครันตามรัฐประศาสโนบาย
[๕๐] ......ลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแรกและแห่งเดียวในประเทศสยาม สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙
[๕๑] ......นี้ พระราชบัญญัติประถมศึกษาออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔
[๕๒] ......ภัย พระคลังข้างที่ซึ่งเคยแต่เป็นเจ้าหนี้กลับเป็นลูกหนี้ เงินสำรองในท้องพระคลังหลวงหมดลง งบประมาณแผ่นดินขาดทุนติดๆ กันหลายปี การกู้เงินต่างประเทศมาใช้ เมื่อฐานการเงินตกต่ำ ถ้ากู้ได้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงใจหาย ได้ทรงตั้งกรรมการองคมนตรี ๓ พระองค์ ดำริจัดการตัดรอน Retrenchment พอดีเสด็จสวรรค์คต เพิ่งมาสำเร็จและทำรายงานกราบบังคมทูลในรัชชกาลปัจจุปบัน
[๕๓] ......เสีย การจ่ายเงินแผ่นดินฝืดเคืองย่อมจะเกิดความเสียหายใหญ่โต. การกู้เงินต่างประเทศ ถ้าฐานการเงินของเราไม่ดีก็กู้ได้ยาก หากได้ก็คงจะต้องเสียดอกเบี้ยแพง. อนึ่งเจ้าหนี้ต่างประเทศก็จะเกิดกวดขันให้เป็นที่เดือดร้อนต่าง ๆ
[๕๔] ......ควร ข้าราชการทุกคนที่ต้องออกจากราชการเพราะการตัดรอนคราวนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ถือเหมือนเลิกตำแหน่ง ได้รับพระราชทานบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญทุกคน
[๕๕] ......แล โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มตัดข้าราชการในราชสำนักทั้งหมดก่อน คงเลือกไว้แต่ตำแหน่งที่จำเป็นเท่านั้น เป็นเยี่ยงอย่างให้ทุกกระทรวงทะบวงการได้โดยเสด็จในพระราชกรณีย์อันสำคัญนี้
[๕๖] ......แล งบประมาณแผ่นดินสำหรับ พ.ศ.๒๔๖๙ ได้สู่ดุลยภาพทันที คงมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย ๒๑๑,๘๑๒ บาท เป็นอันสิ้นวิตก แต่จำนวนได้จ่ายจริงสำหรับศกนั้น ภายหลังปรากฏว่า รายได้จริงสูงกว่ารายจ่ายจริงถึง ๑๗,๗๕๘,๓๗๔ บาท ซึ่งหมดความจำเป็นเรื่องจะต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้อีก แท้จริงงบประมาณของเราได้ประมาณอย่างระวัง รายได้จริงสูงกว่างบประมาณมากเสมอมา
[๕๗] ......ได้ การคมนาคม, การทดน้ำเป็นต้น ซึ่งต้องรอมา ได้มีเงินจัดขยายการทันที แต่การศึกษายังได้เพิ่มน้อย และเพิ่งได้บ้างเมื่อศกหลังๆ มา
[๕๘] ......ภาษี ใช้วิธีตัดรายจ่ายลงทางเดียวพอแล้ว จึงไม่จำเป็นใช้วิธีหาเงินด้วยการเก็บภาษีใหม่เพิ่มขึ้น
[๕๙] ......เข้า คือการแก้สัญญากับนานาประเทศสำเร็จลงทุกประเทศแล้ว ศาลกงสุลและสถานทูตเลิกหมด คงใช้แต่ศาลต่างประเทศของเรา. กับภาษีขาเข้าที่สัญญาเดิมจำกัดอัตราไว้ บัดนี้เราก็เขยิบขึ้นได้ตามชอบใจ เป็นอันเราได้สิทธิเหล่านี้คืนมาเป็นอิสสรภาพของเรา
[๖๐] ......ได้ ภาษีสินค้าเข้าเดิมเก็บร้อยละ ๓ เราได้เลื่อนขึ้นแต่ศก ๒๔๖๙ เป็นเก็บอย่างต่ำร้อยละ ๕ ครั้นจะเก็บให้สูงกว่านั้น ความหนักก็จักตกอยู่แก่คนของเราเอง เพราะพ่อค้าย่อมเพิ่มราคาขายให้สูงขึ้นจนคุ้มค่าภาษี แต่เอาอาจอุดหนุนสินค้าที่ทำในเมืองเราให้เจริญได้โดยเก็บภาษีขาเข้าของสินค้าต่างประเทศ เช่นเดียวกันให้สูงจนไม่สามารถแข่งกับสินค้าของเราในเมืองเราได้
[๖๑] ......พลังค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา เมื่อยังเป็นพระราชโอรสก็เป็นพระยอดปิโยรสแห่งพระบรมชนกชนนี ในรัชชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงอาศัยและมอบพระราชภารในหน้าที่อุปัฏฐากเพื่อพระราชสำราญในพระบรมราชชนนีพันปีหลวง. พระองค์เป็นพระอนุชายอดรักในพระบรมเชษฐาธิราช ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งพระอนุชาธิราช. เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงราชย์ก็ได้ทรงประกอบพระปฏิการคุณแด่พระประยูรญาติ ทรงตั้งพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ไว้ในตำแหน่ง อภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน. พระองค์เป็นที่โปรดปรานในหมู่พระประยูรญาติ และนับวันแต่จะเป็นที่รักของราษฎรทั่วพระราชอาณาจักรสยาม. ทั้งหมดนี้ประมวลเข้าเป็นพระราชพลังค์
[๖๒] ......แล้ว พระราชกรณีย์ต่อไป ขอให้สำเร็จงดงามดุจประถมราชกรณีย์ที่ได้ทรงกำจัดธนภัยให้ประลาตไปแล้วอย่างสง่า.
[๖๓] ......เศรษฐกิจ มหาสงครามสิ้นสุดลงแล้ว โลกพากันคำนึงถึงความจำเป็นแห่งศานติ แต่สงครามเศรษฐกิจกำลังเข้าแทนที่สงครามอาวุธ คนไทยตั้งตัวไม่ทัน กำลังพ่ายแพ้แก่ชนต่างด้าวในดินแดนของตัวเอง ขอชัยจงมีแด่องค์สมเด็จพระมัคคุทเทศก์แห่งสยาม
[๖๔] ......ประการ สมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิประกอบด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว
[๖๕] จตุรพิธพร พร ๔ คือ อายุยืน, วรรณ (ผิวและสง่าราศี) งาม, สุข, พล (กำลัง) แข็งแรง
[๖๖] กษัตริย์มหาสาร เป็นคำเรียกกษัตริย์ผู้ประกอบด้วยเดชาภินิหาร. กษัตริย์โบราณผู้มีรถมาก เชี่ยวชาญในการใช้รถเพื่อการสงคราม (รถเป็นเหล่าหนึ่งในจตุรงคเสนา) ได้พระนามว่า ‘มหารถ’ ช้างก็เคยใช้เป็นเหล่าหนึ่งในกระบวนทัพ คำว่า ‘มหาสาร’ จึงอาจเป็นคำยกย่องกษัตริย์ผู้มีช้างเป็นพาหนะมาก หรือทรงเชี่ยวชาญในยุทธหัตถีได้ทำนองเดียวกัน มหาศาลก็ใช้ และใช้สำหรับกษัตริย์, พราหมณ์, และคฤหบดีผู้มีทรัพย์มากเหลือล้น ออกจากคำมหาสาร ซึ่งหมายเอาธนสาร
[๖๗] ......กีดกัน บัดนี้ตกอยู่ในยุคที่ชาวต่างประเทศเข้ามาทำให้แก่เราแทบทุกอย่างในประเทศสยาม เกือบกล่าวได้ว่า คนไทยทำแต่ราชการกับทำนาเท่านั้น
[๖๘] ขอให้ไทยได้ชัยในทางเศรษฐกิจด้วย ชัยแห่งบ้านเมืองของตัวให้ได้เป็นของตัวสืบเชื้อชาติกันต่อๆ ไปเถิด