พหูสูต

พหูสูต[๑]

(อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

เอนเอกเขนกเหนือ ติณ[๒]นุ่มสนามงาม
ร่มรุกขมูล[๓]ยาม มนหย่อนนิยมเย็น
แจ้ว ๆ สุโนก[๔]จ้อ พิศอ้อ ! ก็แลเห็น
นกรู้และเลือกเป็น ปิย[๕]ร่วมฤดีเรา
ไม้หย่อมตะล่อมชล กล[๖]แสร้งชะโงกเงา
เรียมซ่านเสน่ห์เสา วสภาพ[๗]ผะสมสิง
น้ำใสสะอ้านเปี่ยม มนเรียมก็เปี่ยมชิง[๘]
น้ำใจและน้ำจริง กลเปี่ยมจะปานกัน
แน่ะ ? นกและแน่ะ ! ไม้ ชลให้ประโยชน์ครัน
สุมทุมชะอุ่มอรร- ณวเลี้ยงชะลอวัย[๙]
ใสเปี่ยมตลอดปี ก็เพราะมีทำเลไหล
รับถ่ายระบายไป บ่มิเหือดระเหยหน
น้ำตันก็น้ำตาย บ่ระบายบ่เที่ยงทน
ลับหลังพิรุณปรน สุริย์ร่ำกระหน่ำหนอง[๑๐]
แผดเผาผะผ่าวกรุ่น ระอุอุ่นละอองกรอง[๑๑]
เหือดแห้งระแหงมอง บ่มิชื่นมิชวนชม
นกเอ๋ยเฉลยจบ ฤประสพทิพารมณ์
งันเงียบจะเงี่ยงม ฤจะจ้องวิจารณ์ตู ?[๑๒]
ความขำกำเนิดใน มนใสสำเหนียกดู
แจ่มแจ้งแสดงภู- มิสภาพ[๑๓]พิสิฏฐ์[๑๔]ผล
เราท่านสำคัญการ บริหารกำลังตน
อย่าเยี่ยงสระน้ำฝน อุตุ[๑๕]แล้งจะแห้งหาย
จงเยี่ยงสระน้ำไหล ชลเลี้ยงบรู้วาย
ร่มรุกขชาติราย ทวิบท[๑๖]บำเรอพลาง
ความรู้ประดุจวา- ริ[๑๗] จะมาณทิศทาง
ไป่ควรจะกั้นกาง กลก่อทำนบกัน
การอ่านวิจารณ์ตรับ สิริศัพท[๑๘]สิ่งสรรพ์
ตรวจค้นบ่พ้นบรร- ลุวิเศษเสมือนหมาย
โลกนี้มิใช่จน นิติ[๑๙]ค้นสะดวกดาย
บรรพ์[๒๐]ปรัตยุบันผาย นยน้อมประนอมเพรง[๒๑]
อย่าหลงทะนงเชา- วนเฝ้าจะคิดเอง
เดาเพลินดำเนิรเพลง สระซึ่งคำนึงฝน[๒๒]
คิดเดียวจะเทียวขัน ดำริพันและหมื่นคน
ใดมีบ่หมายยล บมิใช่วิสัยเธียร[๒๓]
ตรองเติมและเสริมต่อ วุฒิพอก็พึงเพียร[๒๔]
อาศัยสำรวจเรียน พหุศรุตจะสมหมาย
อุปมาชลาลัย อุปไมยมิกลับกลาย[๒๕]
อาตม์เอกเขนกสบาย บริกรรม ณ​ ความฝัน[๒๖]
เพื่อนนกก็ผกหนี จรลี้ละแวกวัน[๒๗]
เรียมหลีกพนารัญ สุริย์แมกสุเมรุบัง[๒๘]

๒๓ กรกฎ. ๕๗



[๑] พหูสูต ผู้มีความรู้แตกฉานเพราะการได้ฟังมาก สมัยนี้เป็นสมัยหนังสือแพร่หลาย การฟังจึงต้องเปลี่ยนเป็นการอ่าน ตรงกับคำ Well read ผู้มีความรู้แตกฉานด้วยการได้อ่านมาก

[๒] ติณ หญ้า

[๓] รุกขมูล โคนไม้

[๔] สุโนก นก

[๕] ปิย ที่รัก

[๖] กล ราวกับ

[๗] เสาวสภาพ ธรรมชาติอันน่ารัก

[๘] มน...ชิง ใจอิ่มเอิบแข่งกับน้ำที่เต็มเปี่ยม

[๙] ......วัย ห้วงน้ำ (แม้มหาสมุทรโดยส่งฝน) ย่อมเลี้ยงพุ่มไม้ให้เขียวสดอยู่ได้

[๑๐] ......หนอง พอฝนทิ้ง แสงแดดก็แผดเผาจนน้ำในหนองแห้ง

[๑๑] ......ละอองกรอง เผาให้เป็นไอน้ำลอยไป

[๑๒] ......ตู ? นกหยุดพูด เพราะเกิดอารมณ์ทิพย์ หรือเพื่อจ้องดูเราดอก ?

[๑๓] ภูมิสภาพ ธรรมชาติคือแผ่นดิน

[๑๔] พิสิฏฐ์ ดี, วิเศษ

[๑๕] อุตุ ฤดู

[๑๖] ทวิบท สัตว์สองเท้า, นก

[๑๗] วาริ วารี, น้ำ

[๑๘] ศัพท เสียง, คำ

[๑๙] นิติ แบบอย่าง

[๒๐] บรรพ์ ก่อน, ในที่นี้หมาย อดีต

[๒๑] นย...เพรง ภาว ความเป็นไปอย่างใหม่ย่อมสืบเนื่องมาจากของเก่า

[๒๒] ...ฝน เปรียบการเฝ้าจะคิดเอาเอง ไม่ดูแบบอย่างของใคร ว่าเหมือนสระน้ำฝนซึ่งน้ำอื่นไหลเข้าไม่ถึง นับวันแต่จะแห้งเหือดไปในฤดูแล้ง

[๒๓] เธียร นักปราชญ์ ผู้รู้

[๒๔] ......เพียร ควรใช้ความรู้ที่เขามีอยู่แล้ว เอามาคิดต่อเติมให้ยิ่งขึ้นหรือให้เหมาะ แทนที่จะคิดเอาเองหรือตรัสรู้

[๒๕] ......กลาย ความเปรียบเรื่องสระน้ำตรงกับความจริงเรื่องหลับตาคิดกับลืมตาดูเยี่ยงอย่างที่เขาทำกัน

[๒๖] บริกรรม...ฝัน นั่งนึกเพลิดเพลินอยู่

[๒๗] วัน วน, พน, ป่า

[๒๘] สุริย์...บัง พระอาทิตย์ซ่อนหลังเขาพระสุเมรุ คือ ตะวันตกดิน, พลบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ