๒๘๐ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีมะโรงสัมฤทธิศก

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ชนทั้งปวง บรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้ทราบทั่วกันว่า ในปีมะโรงสัม๑๘ฤทธิศกนี้ วันเสาร์เดือนจิตรคือเดือนห้าแรมสี่ค่ำเปนวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์จะขึ้นราษีเมษในเวลาบ่ายโมงหนึ่งกับ ๑๒ นาฑี วันอาทิตย์เดือนจิตรคือเดือนห้า แรมห้าค่ำเปนวันเนา วันจันทร์เดือนจิตรคือเดือนห้าแรมหกค่ำเปนวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เปน ๑๒๓๐ ในเวลาบ่ายห้าโมงกับ ๒๙ นาฑี เพราะฉนั้นในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เปน ๓ วัน ตามเคยมีโดยมาก ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร ถืออะไรจะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ

ลักษณะจดหมายวันคืนเดือนปีใช้ดังนี้ คือตั้งแต่วันอังคารเดือนจิตรคือเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งไปจนถึงวันอาทิตย์เดือนจิตร คือเดือนห้าแรมห้าค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวง ให้ว่าปีมะโรงยังเปน๑๗พศก ถ้าจดจุลศักราชให้คงเปน ๑๒๒๙ อยู่ ตั้งแต่วันจันทร์เดือนจิตร คือเดือนห้าแรมหกค่ำไปจนถึงวันศุกรเดือนผคุณ คือเดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีนั้น ให้ใช้ว่าปีมะโรงนักษัตรสัม๑๘ฤทธิศก ลงเลขจุลศักราชว่า ๑๒๓๐ แก้เลข ๑๗ ตามปีแผ่นดิน ซึ่งเขียนไว้บนศกนั้น เมื่อเปลี่ยนนพศกแล้ว ให้เขียนเลข ๑๘ ไปกว่าจะเปลี่ยนศกใหม่เถิด

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนี้ วันพฤหัสบดีเดือนจิตร คือเดือนห้าขึ้นสามค่ำวันหนึ่ง วันจันทร์เดือนภัทรบท คือเดือนสิบแรมสามค่ำวันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วันจันทร์เดือนพิสาข คือเดือนหกขึ้นห้าค่ำพระอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงศีร์ษะ ในประเทศบางกอกขาขึ้นไปเหนือ

วันจันทร์เดือนพิสาข คือเดือน ๖ ขึ้นสิบสามค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น คือตั้งแต่วันพุธเดือนพิสาข คือเดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่งไป ห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อน ฤๅในวันเดือน ๖ ขึ้นสิบสามค่ำนั้น ตลอดพระราชอาณาเขตร

วันวิสาขบูชาที่ถือตามนิยมในพระอรรถกถา ว่าเปนวันประสูติแลได้ตรัสรู้แลปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ปีนี้นักษัตรฤกษ์วิสาขบุรณมีตกในวันพุธเดือน ๖ ขึ้นสิบห้าค่ำ เปนปักษ์ขาดในข้างขึ้น

ในพระบรมมหาราชวังนี้ จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันอังคารเดือน ๖ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันพุธเดือน ๖ ขึ้นสิบห้าค่ำ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพฤหัสบดีเดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง เปนการมงคลสำหรับพระราชวังตามเคยอย่างทุกปี

วันอาทิตย์เดือนอาสาธ คือเดือน ๘ ขึ้นสองค่ำพระอาทิตย์สุดทางเหนือจะกลับลงใต้ เปนอายันสงกรานต์เหนือ เข้าวัสสันตรฤดู

วันอาทิตย์เดือนอาสาธ คือเดือน ๘ แรมค่ำหนึ่ง เปนวันเข้าปุริมพรรษา

วันพฤหัสบดี เดือนอาสาธ คือเดือน ๘ ขึ้นสิบสามค่ำ พระอาทิตย์เปนเล็กที่สุดเพราะขึ้นอุจเปนสฏสิติ ฤๅพสุสงกรานต์เหนือ

วันอังคารเดือนสาวน คือเดือนเก้าแรมค่ำหนึ่ง เปนวันเข้าปัจฉิมพรรษา

วันอาทิตย์เดือนสาวน คือเดือน ๙ แรมสิบสามค่ำ พระอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงศีร์ษะณประเทศบางกอกขาลงไปใต้

วันอังคารเดือนอัศยุช คือเดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พระอาทิตย์ถึงกึ่งกลางทางที่จะโอนไปเหนือไปใต้ เปนสามัญสงกรานต์เข้าสารทฤดู

วันพฤหัสบดี เดือนอัศยุชคือเดือน ๑๑ ขึ้นห้าค่ำ เปนวันมหาปวารณา

วันอาทิตย์ เดือนกฤติกา คือเดือน ๑๒ ขึ้นสองค่ำ เปนวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา

วันพุธเดือนกฤติกา คือเดือน ๑๒ ขึ้นสิบสามค่ำ เปนวันเริ่มพระราชพิธีจองเปรียงจะได้ยกโคม

วันพุธเดือนมฤคสิร คือเดือนอ้ายขึ้นสิบสี่ค่ำ เปนวันลดโคม ให้พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท แลราษฎรบรรดาซึ่งจะได้ยกโคมลดโคมให้รู้แล้วทำตามกำหนดนี้

ใครๆ ถือตามอย่างธรรมเนียมสยาม มิใช่ทำตามคำคนทรงเจ้าผีข้างจีนอย่ายกโคมก่อนวันพุธเดือน ๑๒ ขึ้นสิบสามค่ำ ด้วยตื่นว่าถึงเดือน ๑๒ แล้ว อนึ่งอย่าเพ้อชิงลดโคมก่อนวันพุธ เดือนอ้ายขึ้นสี่ค่ำ ด้วยถือว่าพ้นเดือน ๑๒ แล้ว ฤกษ์ปีนี้ชอบอย่างนั้น ถ้าถือข้างจีนจะยกโคมลดโคมก่อนฤๅหลังกำหนดนี้ ให้ผูกปลายเสาโคมด้วยกิ่งไผ่ตามอย่างจีน

วันจันทร์เดือนมฤคสิร คือเดือนอ้ายแรมค่ำหนึ่ง เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพระราชพิธีกฤติเกยาณหอพระเทวสถาน

วันจันทร์เดือนบุษย คือเดือนยี่ขึ้นแปดค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงสุดทางใต้จะกลับมาเหนือ เปนอายันสงกรานต์ใต้เข้าสิสิรฤดู วันศุกรเดือนบุษย คือเดือนยี่แรมสี่ค่ำ พระอาทิตย์เปนดวงโตที่สุด เพราะตกนิตยเปนสฏสิติฤๅพสุสงกรานต์ใต้เปนปีใหม่ อย่างชาวต่างประเทศรู้ด้วยกันมาก

ถ้าจะทำพิธีมาฆบูชาตามลัทธิมีนิยมในคัมภีร์อรรถกถา ว่าเปนวันที่ชุมนุมพระสาวก ๑๒๕๐ แลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นั้น ในปีนี้วันเพ็ญมาฆบูรณมีตกในวันศุกร เดือนผคุณ คือเดือนสี่แรมค่ำหนึ่ง แลชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพิธีสิวาราตรี ณหอพระเทวสถาน วันอาทิตย์ เดือนจิตร คือเดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำปีมะเสงยังเปนสัม๑๘ฤทธิศก พระอาทิตย์ขึ้นมาถึงกึ่งกลางทางที่จะโอนไปเหนือไปใต้ ชื่อสามัญสงกรานต์เข้านิทาฆฤดู

พระราชพิธีคเชนทรัศวสนานสองครั้งคงทำในวันขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ในเดือนจิตรคือเดือนห้า แลขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ในเดือนอัศยุชคือเดือน ๑๑ แลพระราชพิธีสารทคงทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ในเดือนภัทรบท คือเดือน ๑๐ ให้เปนการเสร็จในวันขึ้นค่ำหนึ่ง เดือนอัศยุช คือเดือน ๑๑

พระราชพิธีตรียัมพวาย เริ่มแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนบุษย คือเดือนยี่ไปจนวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนบุษยสิบราตรี

แลพระราชพิธีตรีปวาย เริ่มแต่วันแรมค่ำหนึ่งเดือนบุษย คือเดือนยี่ไป การเปนเสร็จต่อวันแรม ๕ ค่ำ เดือนบุษย ๕ ราตรี

แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน คงทำตั้งแรม ๑๑ ค่ำ เดือนผคุณ คือเดือน ๔ ไป ๔ ราตรีห้าวัน การเปนเสร็จในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนผคุณตามเคยเหมือนอย่างทุกปีไม่ยักเยื้องอะไร

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนี้ วันพุธเปนวันธงไชย วันพฤหัสบดีเปนโลกวินาศ วันอังคารเปนวันอุบาสน์แลเปนวันอธิบดี

อนึ่งวันอุโบสถเปนที่รักษาอุโบสถศีล แลทำมหาธรรมสวนะ ซึ่งผิดกับวันที่นับว่าวันอุโบสถฤๅวันพระตามเคยรู้ด้วยกัน ในชาวสยามทั้งปวงนั้น ในปีมะโรงสัม๑๘ฤทธิศกนี้มี ๑๘ วันคือวันพุธขึ้นค่ำหนึ่ง แลวันพฤหัสบดีขึ้น ๙ ค่ำ ในเดือนพิสาข คือเดือน ๖

วันเสาร์ขึ้นค่ำหนึ่ง แลวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ ในเดือนอาสาธ คือเดือน ๘

วันอังคารขึ้นค่ำหนึ่ง แลวันพุธขึ้น ๙ ค่ำ ในเดือนภัทรบท คือเดือน ๑๐

วันศุกรขึ้นค่ำหนึ่ง แลวันเสาร์ขึ้น ๙ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง แลวันอาทิตย์แรม ๙ ค่ำในเดือนกฤติกา คือเดือน ๑๒

วันจันทร์ขึ้นค่ำหนึ่งแลวันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง แลวันพุธแรม ๙ ค่ำ ในเดือนบุษย คือเดือนยี่

วันพฤหัสบดีขึ้นค่ำหนึ่ง แลวันศุกรขึ้น ๙ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง แลวันเสาร์แรม ๙ ค่ำ ในเดือนผคุณ คือเดือน ๔ รวมเปน ๑๘ วันเท่านี้ เปนวันรักษาอุโบสถศีลแลทำมหาธรรมสวนะโดยตรง นอกจาก ๑๘ วันนี้แล้ว ก็คงต้องกันในวันตามเคย คือในวันขึ้น ๘ ค่ำขึ้น ๑๕ ค่ำ แลแรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ฤๅแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาดทุกเดือน ตลอดชั่วปีไม่ยักเยื้องอะไร

วันเวลาพระอาทิตย์เปลี่ยนขึ้นราศีใหม่ ซึ่งเรียกว่าสงกรานต์เดือนในปีมะโรงสัม๑๘ฤทธิศกนี้ พระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษ ตั้งแต่ณวันเสาร์เดือนจิตร คือเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เวลาบ่ายโมงกับ ๑ กับ ๑๒ นาฑี อยู่จนวันอังคาร เดือนพิสาข คือเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ เวลาย่ำเที่ยง ในเดือนนี้วันขึ้น ๒ ค่ำ แรม ๒ ค่ำแรม ๖ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปสู่ราศีพฤษภ จนวันศุกร เดือนเชษฐ คือเดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่มกับ ๔๘ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๖ ค่ำแรม ๖ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีเมถุน จนวันอังคารเดือนอาสาธ คือเดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาบ่ายโมง ๑ กับ ๓๖ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๔ ค่ำแรม ๔ ค่ำแรม ๘ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีกรกฎ จนวันศุกรเดือนสาวน คือเดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ เวลา ๗ ทุ่มกับ ๓๖ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๖ ค่ำ แรม ๖ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีสิงห์ จนวันจันทร์เดือนภัทรบท คือเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ เวลา ๓ ยามกับ ๑๒ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๑๐ ค่ำแรม ๑๐ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีกันย์ จนวันพฤหัสบดี เดือนอัศยุชคือเดือน ๑๑ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงกับ ๔๘ นาที ในเดือนนี้วันขึ้น ๘ ค่ำแรม ๘ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีตุล จนวันเสาร์เดือนกฤติกา คือเดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงแล้ว ๒๔ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๑๒ ค่ำแรม ๑๒ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีพิจิก จนวันอาทิตย์เดือนมฤคสิร คือเดือนอ้ายแรม ๑๔ ค่ำ เวลา ๒ ยามกับ ๔๘ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๑๐ ค่ำแรม ๑๐ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญแล้วยกไปอยู่ราศีธนู จนวันอังคารเดือนบุษย คือเดือนยี่แรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๒ โมงกับ ๒๔ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๒ ค่ำแรม ๒ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีมังกร จนวันพุธเดือนมาฆ คือเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาค่ำแล้ว ๔๘ นาฑี ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ แรม ๑๒ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีกุมภ์ จนวันศุกรเดือนผคุณ คือเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๒๔ นาฑี ในเดือนนี้วันขึ้น ๔ ค่ำ แรม ๔ ค่ำ เปนดิถีมหาสูญ แล้วยกไปอยู่ราศีมิน จนวันอาทิตย์เดือนวิสาข คือเดือน ๖ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเสงยังเปนสัมฤทธิศกอยู่

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนี้ วันอังคารเดือนภัทรบท คือเดือน ๑๐ ขึ้นค่ำหนึ่งจะมีสุริยุปราคา ที่กรุงเทพมหานครจะเห็นในเวลาสายๆ ไป แลสุริยุปราคาครั้งนี้ จะเห็นทั่วกันตลอดพระราชอาณาจักร ตั้งแต่หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือบรรดาที่จะได้รับหนังสือพิมพ์นี้ แต่เวลาเมื่อจะจับนั้น จะเห็นไม่เสมอกัน คือหัวเมืองฝ่ายตวันออกไปไกล จะเห็นในเวลาสายไปกว่ากรุงเทพมหานคร ฝ่ายหัวเมืองตวันตกเล่า จะเห็นช้าไปกว่าเวลาในกรุงเทพมหานคร เวลาแรกจับจะจับข้างตวันตกค่อนข้างทิศพายัพ เมื่อจะหลุดๆ ข้างตวันออกค่อนข้างทิศอาคเณย์ ที่ตำบลใกล้เมืองกุยเมืองประจวบคีรีขันธ์ทั้งในบกแลในทเล จะเห็นจับหมดดวงพระอาทิตย์ทีเดียว จะมีแต่แสงเรืองๆ รอบพระอาทิตย์อยู่สักนาฑีหนึ่งสองนาฑี แต่ซึ่งจะเห็นอย่างนี้น้อยตำบลทีเดียว ที่จะเห็นจับไปหมดดวงนั้นมาก ข้างเมืองเหนือแลเห็นแหว่งข้างใต้น้อย ในหัวเมืองปักษ์ใต้เมืองกุยขึ้นมา จะเห็นแหว่งข้างใต้มากแต่ไม่หมดดวง ในกรุงเทพมหานครก็จะเห็นแหว่งข้างใต้มากแต่ไม่หมดดวง ใต้เมืองกุยลงไป คือเมืองชุมพรเมืองไชยา แลเมืองนครศรีธรรมราช แลสงขลา จะเห็นแหว่งข้างเหนือมากแต่ไม่หมดดวง เมื่อเวลาตีพิมพ์นี้ ยังไม่ได้คำนวณเวลาลงเปนแน่ ว่าแต่หยาบๆ ไว้ เมื่อกำหนดลงได้เปนแน่แล้ว จึงจะประกาศมาต่อคราวหลัง

วันพฤหัสบดี เดือนมาฆคือเดือนสามแรมค่ำหนึ่ง เปนวันจะมีจันทรุปราคา แต่ว่าจะไม่เห็นในพระราชอาณาจักรสยามนี้เลยเพราะจับเวลาเช้า ๓ โมง หลุดเวลา ๕ โมงเช้าเปนกลางวัน จะเห็นแรกจับแต่ที่เกาะลังกา นอกพระราชอาณาจักร แต่โหรซุ่มๆ ซ่ามๆ ลางคนจะทายว่าเปนกระมัง ถ้าทายก็คงไม่ถูก

เมื่อวันเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษย์ทั้งปวงในโลกครั้งนี้ประมาณแปดสิบปีแลต่ำลงมากว่านั้น ก็หมดไปสิ้นไปใกล้ต่อเวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ สั้นเข้าไปทุกเวลา ความตายไม่เลือกหน้าว่าผู้ใด เปนคนจนคนมีผู้ดีแลไพร่ ชาวบ้านชาววัดไม่ล่วงพ้นจากความตายได้เลย ก็แลสัตวทั้งปวงมนุษย์ทั้งปวงย่อมรักชีวิตอยู่ด้วยกันหมด กลัวตายไม่อยากตายเปนธรรมดา ถึงกระนั้นไม่ล่วงความตายไปได้ตามปราถนา ชีวิตของมนุษย์ทั้งปวงของสัตวทั้งปวงน้อยนักน้อยหนา มีแต่หมดไปสิ้นไป เหมือนหนึ่งน้ำในแม่น้ำน้อยในคราวฤดูแล้ง มีแต่แห้งไปหมดไปถ่ายเดียว ก็อายุของมนุษย์ทั้งหลายสัตวทั้งหลายน้อยนัก ควรที่คนดีมีปัญญาจะพึงเบื่อหน่ายเกลียดชัง แล้วรีบเร่งประพฤติการชอบที่เปนที่ตั้งสุขประโยชน์แก่กัน โดยเปนการเร็วการด่วน เหมือนคนที่ศีร์ษะเพลิงไหม้รีบร้อนหาน้ำเครื่องเย็นดับเพลิงฉนั้น การประพฤติชอบดีเปนคุณเปนประโยชน์แก่กัน ซึ่งสำเร็จเปนที่พึ่งพำนักของสัตว์ทั้งปวงที่นักปราชญ์เปนอันมากเห็นว่าชอบดีพร้อมกันนั้น คือความเมตตากรุณาแลสงเคราะห์อนุเคราะห์ เผื่อความสุขให้แก่กันทั้งในมนุษย์แลหมู่สัตว แลตั้งตนไว้ให้เต็มพร้อมด้วยความดีความชอบ ๑๐ อย่าง คือไม่ฆ่าสัตว์เปนให้ตาย ไม่ลักฉ้อทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดในที่ที่ไม่ควรล่วง เปนผู้ถือสัตย์ ไม่กล่าวเท็จฬ่อลวงให้ผู้อื่นหลง ไม่พูดยุยงส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดคำหยาบให้เจ็บร้อนใจผู้อื่น ไม่พูดเพ้อเจ้อเปล่าจากประโยชน์ ไม่มุ่งหมายอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ด้วยความอยากได้ ไม่ผูกใจเจ็บจนถึงแช่งผู้นั้นตาย ย่อมตริตรองด้วยปัญญาที่ชอบ ไม่ถือมั่นตามความเห็นผิดทางดีทางชั่ว การประพฤติชอบดี ๑๐ อย่างดังว่ามานี้ เปนความดีความชอบมีสำหรับโลกตั้งอยู่เสมอ จะมีผู้ถือก็ดีไม่มีใครถือก็ดีก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่แปรผันยักเยื้องเปนอื่นไปเลยเปนอันขาด

แลการฆ่าสัตวนั้น ว่าตามพระราชบัญญัติในพระพุทธสาสนาเปนอย่างอุกฤษฐ ก็ปรับโทษหนักโทษเบาตามที่เปนมนุษย์เปนสัตว์ดิรัจฉาน แลห้ามมิให้ตัดฟันต้นไม้แลกอหญ้า มิให้ขุดให้เผาทำแผ่นดินให้กำเริบ อนุโลมตามลัทธิชนบางจำพวกใช้ถือกันในที่บางแห่งว่าเปนบาป เพราะถือว่าต้นไม้กอหญ้าแลแผ่นดินมีชีวิตรู้เปนรู้ตายเหมือนกัน

บางพวกถือว่า ฆ่ามนุษย์มีชาติเสมอกับตน รู้จักสุขรู้จักทุกข์เหล่าเดียวจึงเปนบาป ฆ่าสัตว์อื่นนอกนั้นไม่บาป ลัทธิคนสองพวกนี้ไม่ต้องกันแก่งแย่งกันอยู่ดังนี้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาเปนอันมาก ใคร่ครวญเทียบเคียงดูเห็นว่าสัตวมีชีวิตใครฆ่าก็เปนบาปสิ้น แต่ว่าสัตวมีคุณมากบาปมากมีคุณน้อยบาปน้อย ต้องฆ่าสัตว์ด้วยการขวนขวาย จัดหาเตรียมการมากก็บาปมาก น้อยก็บาปน้อยโดยสมควร ในการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนไม่ยอมให้นั้น เมื่อว่าตามบัญญัติในพระพุทธสาสนา ก็ปรับโทษหนักโทษเบาตามสิ่งของๆ มนุษย์ที่มีราคามากน้อยตามควร แต่ฝ่ายในของสัตว์ชาติอื่นจากมนุษย์ไม่ว่าไว้ แต่เมื่อว่าด้วยการที่ควรประพฤติทั่วไปในโลก ผู้มีปัญญาใคร่ครวญดูก็เห็นว่า ของที่เจ้าของหวงแหนแล้วจะมากจะน้อยก็ดี ก็คงเปนบาปสิ้น เพราะเจ้าของเขาไม่ยอมให้ เพราะฉนั้นการที่เว้นจากเอาของที่เจ้าของหวงแหน เปนทางแห่งความดีความงามในโลกแท้ ผู้มีปัญญาเห็นพร้อมกันว่าเปนกุศล ก็การประพฤติผิดในที่ที่ไม่ควรล่วงเล่า เมื่อพิเคราะห์ดูเจ้าผัวไม่อยากจะให้ผู้หญิงผู้เปนเมียไปรักใคร่ปะปนกับชายอื่น หญิงผู้ภรรยาเล่าพอใจจะให้ผัวร่วมรักอยู่แต่กับตน บิดามารดาญาติพี่น้องฝ่ายหญิงก็ไม่อยากจะให้หญิงผู้บุตรแลที่เปนญาติพี่น้องไปคบหากับชายอื่นนอกจากชายผู้เจ้าของ ฤๅในการกำหนดที่ได้ตั้งไว้ในบางประเทศ เมื่อชายมาประพฤติคงที่อยู่ตามประสงค์ดังว่ามานั้น ก็เปนอันผูกพันรักษาจิตรผัวเมียบิดามารดาญาติพี่น้องไว้ ไม่ให้กำเริบร้าวรานเกิดฉะเลาะวิวาทได้ พรักพร้อมเปนสุขในการนั้นๆ เมื่อมาลเมิดจากที่ว่ามานั้น ก็เปนเหตุให้กำเริบจิตรร้าวรานเกิดฉะเลาะวิวาทวุ่นวายไม่พรักพร้อมในกิจการ จึงเห็นว่าการประพฤติผิดในที่ไม่ควรล่วงเปนบาป การงดเว้นจากประพฤติผิดดังว่ามานั้นเสียได้ เปนความดีความชอบในโลก การเจรจาคำเท็จเล่า เมื่อว่าตามบัญญัติในพระพุทธศาสนาก็ปรับโทษหนักโทษเบา ตามความล่วงการผิดพุทธบัญญัติ ถึงนักปราชญ์ก็เห็นต้องกันว่าเปนบาปแท้ เพราะฬ่อลวงให้ผู้ฟังทราบความผิด ไปสำคัญผิดต่อการจริง คำพูดส่อเสียดพูดคำหยาบคายพูดคำเพ้อเจ้อทั้งสามนี้ เพราะมีโทษทำให้ผู้พร้อมเพรียงให้แตกร้าว ให้ผู้ฟังเกิดความเจ็บช้ำใจด้วยเรื่องที่ไม่พอประโยชน์ ทำให้ผู้ฟังเสื่อมการงานเสียประโยชน์ที่จะให้ทำ นักปราชญ์จึงเห็นพร้อมกันว่าเปนบาป ความโลภอยากได้ของผู้อื่นนัก คิดจะเอาเปนของตนเสียถ่ายเดียว ไม่คิดขอแลซื้อหาแลกเปลี่ยนตามควร ความประทุษร้ายผูกใจเจ็บ ดำริห์แช่งสัตว์นั้นๆ มนุษย์นั้นๆ ซึ่งตนไม่ชอบใจ คิดจะให้ขาดสูญจะไม่ให้มีอยู่ได้ แลความเห็นผิดจากต้นเหตุของบุญของบาป เห็นส่วนผิดว่าเปนชอบ เห็นส่วนชอบว่าเปนผิด ความเห็นว่าทางความดีทั้ง ๙ ไม่เปนความดี ทางความชั่วทั้ง ๙ ไม่เปนความผิด จึงให้เกิดความอยากได้ ก็ความประทุษฐร้ายแรงกล้า จนล่วงฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในที่ไม่ควรล่วง พูดเท็จส่อเสียดหยาบคายเพ้อเจ้อมากมูล จนเสื่อมสูญจากทางชอบทางผิดทุกประการ เพราะฉนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ได้ทราบความชอบความผิดดังว่ามานี้ ว่าเปนเหตุแห่งทางที่ไปดีไปชั่วแล้ว จงประพฤติให้ดำรงในความดีความชอบ ละเว้นความผิดหาความชอบ อันเปนทางจะให้ทิ้งที่ชั่วให้ห่างไกล ด้วยความไม่เลินเล่อในที่ทุกแห่ง ในการที่จะพึงทำทุกประการนั้น เทอญ

อนึ่งการแสวงหาแลถือสาสนา ซึ่งจะเปนที่พึ่งของตนในชาตินี้ ก็เปนการดีสมควรเปนที่ยิ่งแล้ว ควรที่ท่านทั้งปวงทุกๆ คนจะตริตรองใคร่ครวญด้วยปัญญาตนเอง เมื่อเห็นคุณประจักษ์ว่า สาสนาใดในหมู่ใดพวกใด จะเปนที่พึ่งได้ควรแก่ปัญญาแล้ว ก็จงถือแลปฏิบัติตามสาสนานั้นโดยน้ำใจตนเอง อย่าถือด้วยการตื่นการเกณฑ์ แลการเล่าลือแลว่าธรรมเนียมเคยถือสืบๆ มา ฤๅอาการที่ไม่เห็นมาว่ามาขู่ให้กลัวให้ดีใจ ก็อย่ามีความพิศวงต่อเหตุต่างๆ แล้วถือตามทำตาม เมื่อได้ที่พึ่งนับถืออันงามดีควรแล้ว จงประกอบความเลื่อมใสให้มากจึงปฏิบัติตาม ก็จะมีความเจริญดีแก่ตนทุกๆ คนนั้นแล

อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตั้งแต่กรุงเก่าขึ้นไป ปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองสมุทปราการออกไปถ้ามีผู้ใดไปอยู่ตั้งตัวเปนเจ้า ก็ให้ผู้รักษาเมืองกรมการขอดูหนังสือสำคัญสำหรับตัวแล้ว ถ้าไม่มีหนังสือสำคัญ ให้ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองนั้นจับตัวผู้นั้นส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ จะได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทเปนความชอบแก่หัวเมืองนั้น ถ้ามีผู้มาโจทย์กล่าวขึ้นก่อนว่า มีผู้ตั้งตัวเปนเจ้าอยู่ที่หัวเมืองนั้นๆ ผู้รักษาเมืองกรมการนิ่งความเสีย หาจับตัวส่งมาไม่ ถ้าเปนอย่างนี้จะให้ลงโทษแก่ผู้รักษาเมืองกรมการในหัวเมืองนั้นให้จงหนัก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ