- คำอธิบาย
- ๒๔๗ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีฉลูสัปตศก
- ๒๔๘ ประกาศห้ามมิให้นายบ่อนทดรองเงินให้นักเลงเล่นเบี้ย อนุญาตให้ทำสารกรมธรรม์แทน
- ๒๔๙ ประกาศห้ามมิให้เขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายด้วยหมึกดินสอที่จืดจาง
- ๒๕๐ ประกาศเรื่องจีนทำอัฐปลอม
- ๒๕๑ ประกาศพระราชทานชื่อวัดเงินวัดทอง
- ๒๕๒ ประกาศไม่ให้พิกัดราคาเข้า
- ๒๕๓ ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว
- ๒๕๔ ประกาศให้ภาษีตั้งอยู่กับด่าน
- ๒๕๕ ประกาศให้ใช้เบี้ยทองแดงซีกเสี้ยว
- ๒๕๖ ประกาศพระราชบัญญัติลักษณลักพา
- ๒๕๗ ประกาศพิกัดภาษีน้ำมันมะพร้าว
- ๒๕๘ ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- ๒๕๙ ประกาศห้ามมิให้ผู้ที่มิได้สังกัดวังหน้าโกนผม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ที่ ๑
- ๒๖๐ ประกาศห้ามมิให้ผู้ที่มิได้สังกัดวังหน้าโกนผมเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ที่ ๒
- ๒๖๑ ประกาศเรื่องจะพระราชทานเบี้ยหวัดพระโอรสพระธิดา ในพระบวรราชวัง
- ๒๖๒ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีขาลอัฐศก
- ๒๖๓ ประกาศพิกัดภาษีเรือตึกแพโรงร้าน
- ๒๖๔ ประกาศห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็ก ที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย
- ๒๖๕ ประกาศให้ใช้ทองแดงซีกเสี้ยวซึ่งทำบางกว่าครั้งแรก
- ๒๖๖ ประกาศให้เจ้าสำนักพรรคพวกของผู้ร้ายมาลุแก่โทษ
- ๒๖๗ ประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงินแล้วปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง
- ๒๖๘ ประกาศเรื่องจำนำแลขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- ๒๖๙ ประกาศห้ามไม่ให้ข้าราชการคบหากับเศรษฐีบางแมวแลจีนทองเซ็ก
- ๒๗๐ ประกาศให้พวกที่อยู่แถวทิมในพระราชวังทำความสอาด
- ๒๗๑ ประกาศให้ผู้ติดใจสงสัยนายตุ้มมาสู้ความ
- ๒๗๒ ประกาศทรงปฏิญาณด้วยพระอาการกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
- ๒๗๓ ประกาศให้ชำระคนไทยที่สูบฝิ่น
- ๒๗๔ ประกาศเลื่อน กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ แลกรมหมื่นราชสีหวิกรม เปนกรมขุน แลทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ เปนกรมขุน
- ๒๗๕ ประกาศพระราชบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องขายฝากแลจำนำกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- ๒๗๖ ประกาศพระราชทานบรรดาศักดิพ่อค้าต่างประเทศ
- ๒๗๗ ประกาศห้ามไม่ให้ขุนศาลตระลาการเจ้าหนี้นายเงินทำหนังสือยอมความแลสารกรมธรรมโดยลูกความแลทาสลูกหนี้ไม่รู้ไม่เห็น
- ๒๗๘ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมียบิดามารดาขายบุตร
- ๒๗๙ ประกาศห้ามมิให้พนักงานผู้ยิงปืนพิธีตรุษทำอย่างอ้ายนากอ้ายแย้ม
- ๒๘๐ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีมะโรงสัมฤทธิศก
- ๒๘๑ ประกาศให้ใช้พระนามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในหนังสือกราบบังคมทูล
- ๒๘๒ ประกาศให้ผู้จะตั้งตุลาการเลือกสรรตุลาการที่ลูกความไม่รังเกียจ
- ๒๘๓ ประกาศพระราชบัญญตลักษณลักพา
- ๒๘๔ ประกาศห้ามไม่ให้นักโทษร้องถวายฎีกาในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน
- ๒๘๕ ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐให้ถูก
- ๒๘๖ ประกาศสุริยุปราคาหมดดวง
๒๖๓ ประกาศพิกัดภาษีเรือตึกแพโรงร้าน
ณวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาลอัฐศก
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศข้าราชการในกรุงเทพฯ แลผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการ ณหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง แลเจ้าภาษีนายอากร แลผู้รับช่วงไปทำแทนเจ้าภาษีนายอากรทุกเรื่องทุกนาย แลกำนันนายอำเภอแลราษฎรในกรุงนอกกรุงทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า ด้วยเรื่องภาษีเรือแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพนี้ แต่ก่อนเปนอากรเบิกตลาดแก่ผู้ที่ลูกค้านั่งเดินเที่ยวค้าขายของ จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่าราษฎรที่มีทุนรอนน้อยทำของต่างๆ คือขนมแลอื่นๆ ขึ้นแล้ว หาผลไม้แลผักต่างๆ มาแล้วเดินขายวางขาย เมื่อขายไม่หมดก็ย่อมเน่าบูดเหี่ยวแห้งไปเสียต้องขาดทุนเปล่า เพราะของเก็บไว้นานไม่ได้ แล้วผู้เก็บตลาดฉะเลาะกับไพร่คนยากคนจนเพราะเบี้ย ๙ เบี้ย ๑๐ เบี้ยอึงๆ น่ารำคาญ จะคิดผ่อนผันฉันใดจะดีจะให้ราษฎรที่ยากจนไม่ต้องลำบากด้วยถุ้งเถียงกับผู้เก็บตลาดเพราะเบี้ยเล็กน้อยแลเสียเบี้ยเล็กน้อยวุ่นวายไป ให้ท่านเสนาบดีปฤกษาหารือกันจัดการเสียใหม่ให้สมควร ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันให้เลิกอากรตลาดนั้นเสีย เปลี่ยนเรียกเปนภาษีซื้อขาย เพราะเห็นว่าผู้ที่มีทรัพย์ตั้งโรงร้านไว้สินค้าของตัวบ้างให้เช่าบ้าง แลเรือไปบรรทุกสินค้าบ้างรับจ้างบ้าง มีผลประโยชน์มากไม่ต้องเสียค่าที่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกอากรเบิกตลาดเสียเปลี่ยนเรียกเปนภาษีเรือค้าขาย แลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพที่ค้าขายขึ้นใหม่ๆ ความทั้งปวงแจ้งอยู่ในตราตั้งเจ้าภาษีแลราชกิจจานุเบกษาแผ่นที่ ๑๑ นั้นแล้ว ครั้นภาษีเรียกสืบๆ มาหลายปี จึงมีผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทเปนหลายครั้ง ว่าเจ้าภาษีรับทำภาษีแล้วขายช่วงให้ผู้อื่นเปนตอนๆ ไปตามระยะแขวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ แลผู้ที่ซื้อช่วงไปนั้นหาเรียกภาษีตามพิกัดท้องตรานั้นไม่ ไปยักย้ายเรียกให้เหลือๆ เกินๆ เอารัดเอาเปรียบแก่ราษฎรๆ ที่ไม่รู้พิกัดในท้องตรา ก็ต้องยอมเสียให้ตามใจผู้เก็บที่รับช่วงไปจากเจ้าภาษีใหญ่ เพราะผู้รักษาเมืองกรมการนายบ้านนายอำเภอถึงลอกท้องตราตั้งไว้แล้วก็มิได้คัดพิกัดในท้องตราหมายประกาศให้ราษฎรรู้ทั่วกัน ครั้งนี้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าราษฎรมีเรือไปบรรทุกสินค้ามาไว้ขายที่โรงร้านตึกแพๆ เสียภาษีแล้วก็ต้องเสียภาษีเรืออีกเปนสองซ้ำได้ความลำบาก จึงโปรดเกล้าให้ยกภาษีเรือเร่เรือจรเสีย ให้คงไว้แต่เรือขายของประจำเหมือนกับโรงร้าน แลเรือบรรทุกอิฐทรายกระเบื้อง ด้วยเปนของไม่ได้เสียภาษี แลโรงร้านตึกแพที่ไว้สินค้าให้เช่าตั้งบ่อนเล่นเบี้ยเขียนหวยแลโรงคนชั่ว ให้ทำกำหนดตามพิกัดภาษีตีพิมพ์ ประกาศแจกให้ราษฎรทั้งปวงได้รู้ทั่วกันว่า เจ้าภาษีซึ่งจะเรียกภาษีในจังหวัดกรุงเทพฯ ก็ดีหัวเมืองก็ดี ถ้าทำผิดท้องตราแลประกาศนี้ห้ามอย่าให้ราษฎรยอมเสียภาษีให้ตามใจเจ้าภาษี ให้ราษฎรดูตามพิกัดที่ประกาศมานี้ แล้วเอาหนังสือพิมพ์ประกาศออกเถียงเถิด ถ้ามิฟังให้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เก็บภาษีเถิด
พิกัดนั้นดังนี้ เรือขายของประจำเหมือนกับโรงร้าน แลเรือบรรทุกอิฐทรายกระเบื้องขายในแขวงกรุงเทพฯ แลหัวเมืองเปนของไม่ได้เสียภาษีให้เรียกภาษีศอกละสลึงวาละบาท แต่โรงร้านตึกที่ต้องเสียค่าจ้างโปลิศลาดตระเวนรักษาอยู่ทุกเดือน ตึกโรงร้านแลที่ให้เช่าไว้สินค้าตั้งบ่อนเล่นเบี้ยเขียนหวยแลคนเช่าอยู่ แลโรงคนชั่วในท้องที่ลาดตระเวนให้เรียกภาษีค่าเช่า ๑๒ ชักหนึ่งกึ่ง คือ ๑๒ ตำลึงชัก ๖ บาท แลโรงร้านตึกที่ไม่ได้เช่าไว้สินค้าของตัวเองให้เรียกภาษีเทียบเหมือนกับที่เช่า แต่โรงร้านตึกที่ไม่ได้ลาดตระเวนแลโรงร้านตึกตามหัวเมืองให้เรียกภาษีค่าเช่า ๑๒ ชักหนึ่ง ถ้าตึกโรงร้านของตัวไว้สินค้าขายเอง ให้เรียกภาษีเทียบตามค่าเช่า ๑๒ ชักหนึ่งเหมือนกับที่เช่า กำหนดให้เรียกภาษีแพที่ไว้สินค้าขายสินค้าสิ่งหนึ่ง ๒ สิ่ง ๓ สิ่งเปนสินค้าราคาน้อย ให้เรียกภาษีแพห้องละ ๖ สลึง ๒ ห้องเปนเงิน ๓ บาท สามห้องเปนเงินตำลึงสองสลึง ถ้าสินค้า ๔ สิ่ง ๕ สิ่ง๖ สิ่งเปนสินค้าราคาน้อยให้เรียกภาษีห้องละกึ่งตำลึง สองห้องเปนเงินตำลึงหนึ่ง สามห้องเปนเงินตำลึงกึ่ง แลแพที่มีสินค้าราคามาก คือผ้าขาวผ้าลายผ้าแพร แลเครื่องทองเหลืองทองขาวเครื่องแก้วเครื่องเหล็ก แลปืนหนังเขาหน่องาสุรายาฝิ่นแลทองคำ แลแพให้เช่าเขียนหวยตั้งบ่อนเล่นเบี้ยต่างๆ ให้เรียกภาษีห้องละ ๓ บาท สองห้องเปนเงิน ๖ บาท สามห้องเปนเงิน ๙ บาท ให้เรียกภาษีแต่ผู้ที่อยู่ในโรงร้านตึกแพนั้นๆ ครั้นจะให้ผู้ที่อยู่ในโรงร้านตึกแพนั้น นำไปหาเจ้าของโรงร้านตึกแพนั้นก็ยาก บางทีก็อยู่ไกลบางทีก็อยู่ใกล้บางทีไปไม่พบบ้าง มักเกิดวิวาทกันอย่างนี้จึงให้เจ้าภาษีเก็บแก่ผู้ที่อยู่ในโรงร้านตึกแพนั้นแล้ว จึงให้ผู้เช่าไปหักเงินค่าเช่าแต่เจ้าของโรงร้านตึกแพ ที่ได้เสียภาษีไปตามมากแลน้อย แลโรงร้านตึกแพซึ่งอยู่ตามแถวท้องตลาดแทรกปนอยู่ในระหว่างโรงร้านตึกแพที่วางสินค้าขาย ไม่ประกอบการซื้อขายให้มีผลประโยชน์เจริญแก่แผ่นดินนั้นไม่ชอบ ให้เรียกภาษีเท่ากับโรงร้านตึกแพที่ไว้สินค้าขายเหมือนกัน แลโรงร้านตึกแพซึ่งอยู่ตามหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือนั้น จะเทียบเปนค่าเช่าไม่ได้ด้วยผู้เช่านั้นก็น้อย ถ้าราษฎรตีเหล็กหล่อเครื่องทองเหลืองทองขาวแลโรงปั้นหม้อคำคร่าวทำปอทำไต้ทำตะลุ่ม แลโรงไว้ชันน้ำมันเข้าเปลือกเข้าสารซึ่งเปนสินค้าต่างๆ ไว้ขาย ให้เรียกภาษีห้องละสองสลึง โรงสีเข้าขายแลทำเรือขายให้เรียกภาษีห้องละบาท ถ้ามีสินค้า ๔ สิ่ง ๕ สิ่งให้เรียกภาษีห้องละกึ่งตำลึง แลร้านซึ่งตากหมากตากเนื้อตากปลาในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองไว้ขาย ให้เรียกภาษีห้องละสองสลึง ราษฎรสานงอบสานเสื่อลำแพนเย็บจากเย็บกระแชงไว้ในที่โรงร้าน แลไปรับมาแต่อื่นรวมไว้ขายราคามากกว่าตำลึงขึ้นไป ให้เรียกภาษีเปนที่ไว้สินค้าห้องละสองสลึง โรงเลี้ยงสุกร ขายสุกร ตั้งแต่ ๑๐ ตัวขึ้นไป โรงเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ขายไก่ขายเป็ดตั้งแต่ ๕๐ ตัวขึ้นไป จึงให้เรียกภาษีเปนที่ไว้สินค้าห้องละบาท ถ้าสุกรต่ำกว่า ๑๐ ตัว เป็ดไก่ต่ำกว่า ๕๐ ตัวลงมาแลเปนที่เลี้ยงกลางแจ้งไม่มีโรงไม่ต้องเสียภาษี ถ้าแลโรงทำน้ำมันมีสุกรอยู่ในโรงนั้นมากน้อยเท่าใด ให้เสียแต่ภาษีโรงทำน้ำมันอย่างเดียว ถ้าราษฎรผู้เช่าโรงร้านตึกที่เช่าราคามากแต่บอกแต่น้อยปิดบังค่าเช่าไว้ไม่บอกโดยตรง เจ้าภาษีแลพวกเจ้าภาษีสืบจับได้ชำระได้ความจริง ก็ให้ปรับไหมแก่ผู้บังภาษีสามต่อตามค่าเช่ามากแลน้อย แลเงินสินบนมากน้อยเท่าใด ก็ให้เจ้าภาษีเรียกเอาแต่ผู้บังภาษี แลพิกัดในท้องตรากำหนดให้เรียกภาษีดังกล่าวมานี้ แต่เจ้าภาษียักย้ายเรียกภาษีเหลือเกินอยู่ ให้ราษฎรผู้ที่มีเรือแลที่บ้านเรือนโรงร้านตึกแพทั้งปวง พิเคราะห์ดูในพิกัดประกาศนี้ให้ถ้วนถี่ จะได้เสียภาษีตามกำหนดในท้องตราตามพิกัด
ถ้าเจ้าภาษีจะเรียกเกินขึ้นไปอย่าให้ราษฎรยอมเสียให้ ๆ ร้องฟ้องเอาเถิด ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการมีใจเมตตากรุณาแก่ราษฎร รับประกาศตีพิมพ์นี้แจกให้ราษฎรรู้ทั่วกัน อย่าให้เปนใจด้วยเจ้าภาษีแลยอมให้เจ้าภาษียักย้ายเก็บภาษีให้เหลือๆ เกินๆ ผิดท้องตราแลประกาศไป ถ้าผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการคุมเหงราษฎรให้เสียภาษีตามใจเจ้าภาษี ถ้าได้ความว่าทำจริงจะให้มีโทษด้วย ฝ่ายเจ้าภาษีเล่าจงมีความเมตตากรุณาแก่ราษฎร ภาษีจะมีกำไรก็เพราะราษฎรทำมาหากินโดยคล่องโดยสดวกจะได้ทำมากขึ้น ให้เจ้าภาษีเก็บภาษีโดยซื่อสัตย์ตามพิกัดท้องตรา อย่าให้เรียกเกินผิดจากพิกัดท้องตราแลประกาศนี้ ให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลฝ่ายราษฎรทั้งปวงเล่าก็ให้ยอมเสียภาษีให้เจ้าภาษี ตามพิกัดในประเทศนี้แต่โดยดีจงทุกประการ เปนอันช่วยราชการแผ่นดินซึ่งเปนที่พึ่งของท่านทั้งปวงอยู่ ถ้าสงสัยข้อใดก็ให้ไปถามผู้รักษาเมืองกรมการเสียให้เข้าใจ จะได้เสียภาษีให้เจ้าภาษีตามพิกัด แลให้เจ้าภาษีกับราษฎรจงมีความอ่อนน้อมต่อกัน ความฉะเลาะวิวาทก็จะไม่บังเกิดมีต่อกัน
ประกาศมาณวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาลอัฐศก ฤๅเปนวันที่ ๕๔๕๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้