คำอธิบาย

หนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ นี้ หอพระสมุดฯ ได้ให้พิมพ์ไปแล้ว ๖ ภาค ภาคที่ ๑ เป็นประกาศซึ่งออกในปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเป็นปีแรกที่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กับปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ แลปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ รวม ๓ ปี เป็นประกาศ ๒๓ ฉบับ ภาคที่ ๒ เป็นประกาศออกในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ กับปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ รวม ๒ ปี เป็นประกาศ ๔๗ ฉบับ ภาคที่ ๓ เป็นประกาศออกในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ กับปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐ รวม ๒ ปี เป็นประกาศ ๓๑ ฉบับ ภาคที่ ๔ เป็นประกาศออกในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ปีเดียว เป็นประกาศ ๕๗ ฉบับ ภาคที่ ๕ เป็นประกาศออกในปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ กับปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ รวม ๓ ปี เป็นประกาศ ๓๙ ฉบับ ภาคที่ ๖ เป็นประกาศออกในปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ กับปีกุญ พ.ศ. ๒๔๐๖ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ รวม ๓ ปี เป็นประกาศ ๔๙ ฉบับ ภาคนี้เป็นภาคที่ ๗ เป็นประกาศออกในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ กับปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ แลปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ อันเป็นปีเสด็จสวรรคต รวม ๔ ปี เป็นประกาศ ๔๐ ฉบับ

ลักษณะประกาศในรัชกาลที่ ๔ ได้อธิบายไว้โดยพิสดารในประชุมประกาศภาคที่ ๑ แล้ว ในภาคต่อๆ มาแต่ภาคที่ ๒ ถึงที่ ๖ จึงงดเสียมิได้อธิบาย ภาคนี้เปนภาคที่สุดสิ้นรัชกาลที่ ๔ จึงนำอธิบายนั้นมาลงไว้อิกครั้งดังต่อไปนี้

ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือเช่นตั้งพระราชบัญญัติเปนต้น โดยปรกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เปนพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเปนหนังสือ บางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโองการมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มี ผู้รับสั่งมักเปนเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เปนเจ้าหน้าที่เปนแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่งดำรัสใช้ตามสดวกพระราชหฤทัยก็มี ลักษณที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้น ตั้งข้อความเปนหลัก ๕ อย่าง คือ (๑) วันเดือนปีที่สั่ง (๒) นามผู้สั่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งเองก็อ้างแต่ว่ามีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่งก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ (๓) กล่าวถึงคดีอันเปนมูลเหตุแห่งประกาศนั้น (๔) พระราชวินิจฉัย (๕) ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้วคงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อนจึงประกาศ แต่ข้อนี้หาได้กล่าวให้ปรากฎไม่ ลักษณที่ประกาศนั้นแต่โบราณเปนหน้าที่กรมพระสุรัสวดี โดยเปนผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จะคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่างๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทย กลาโหม กรมท่า อันเปนเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมือง ได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดี ก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้นๆ อิกชั้น ๑ ลักษณการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิมในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเปนเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุมชน ส่วนหัวเมืองทั้งปวงเจ้าเมืองกรมการให้กำนันเปนพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเปนสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกันแล้วอ่านประกาศให้ฟังณที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเปนสามัญว่า “ตีฆ้องร้องป่าว” ส่วนต้นฉบับประกาศพระราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้นอาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉบับ ๑ คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกขุนอันเปนที่ประชุมเสนาบดีฉบับ ๑ แลส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเปนที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอิกฉบับ ๑ ประเพณีเดิมมีลักษณดังว่ามานี้

หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างแลสำเนามักเขียนในสมุดดำด้วยเส้นดินสอขาว ส่วนตัวประกาศที่ส่งไปณที่ต่างๆ มักใช้เขียนลงม้วนกระดาษข่อยด้วยดินสอดำ เพราะวิธีตีพิมพ์หนังสือไทยยังไม่เกิดขึ้นในชั้นนั้น มาจนในรัชกาลที่ ๓ พวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้น ความปรากฎว่าเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้โรงพิมพ์พวกอเมริกันพิมพ์หมายประกาศห้ามมิให้คนสูบฝิ่นแลค้าขายฝิ่นเปนหนังสือ ๙๐๐๐ ฉบับ นับเปนครั้งแรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้นแล้วมิได้ปรากฎว่าพิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอิก ถึงรัชกาลที่ ๔ ในชั้นแรกประกาศต่างๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฎแต่ว่าทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเปนพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่างๆ นั้น โปรดฯ ให้กรมต่างๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเองณหอหลวง ยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหมแลกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตราประกาศออกไปตามหัวเมือง การที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุได้ คงเปนเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อน เปนการมากมายเหลือกำลังพนักงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าวในลักษณประกาศ จึงได้โปรดฯ ให้กรมอื่นๆ ไปคัดประกาศเอาเองณหอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่าโรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ในชั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเปนหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลาขนานนามว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกข่าวในราชสำนักแลเก็บความจากประกาศต่างๆ ซึ่งได้ออกในระยะนั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งออกในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยมาก เห็นไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเปนผู้แต่ง ครั้นต่อมาทรงติดพระราชธุระอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาพอจะทรงแต่งหนังสือราชกิจจานุเบกษา เพราะฉนั้นพิมพ์อยู่ได้สักปี ๑ จึงต้องหยุด แต่การที่พิมพ์หมายประกาศเห็นจะนิยมกันมาก เมื่อหยุดหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงโปรดฯ ให้พิมพ์แต่หมายประกาศแลให้พิมพ์ตลอดเรื่อง ไม่คัดแต่เนื้อความเหมือนอย่างที่ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษามาแต่ก่อน ทำเปนใบปลิวแจกตามกระทรวงทบวงการ แลจ่ายไปปิดไว้ตามที่ประชุมชนแทนป่าวร้อง เปนประเพณีสืบมาจนรัชกาลที่ ๕ จนกลับออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอิกเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่นั้นบรรดาประกาศจึงใช้ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แลเลิกวิธีแจกจ่ายหมายประกาศอย่างแต่ก่อนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เพราะเรื่องตำนานเปนดังแสดงมา ประกาศในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสำเนาเปน ๒ ชนิด คือ ประกาศในชั้นต้นเมื่อยังมิได้ตั้งโรงพิมพ์หลวงนั้นมีแต่สำเนาเปนแต่หนังสือเขียน ประกาศตอนหลังเมื่อตั้งโรงพิมพ์หลวงแล้วมีสำเนาเปนหนังสือพิมพ์ สำเนาประกาศชั้นที่เปนหนังสือเขียนมีฉบับน้อยมาแต่เดิม ยิ่งนานก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที ประกาศที่มีฉบับพิมพ์หาง่ายกว่า จึงมีผู้รวบรวมไว้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีใครที่สามารถรวบรวมไว้ได้หมดทุกฉบับ เปนแต่มีกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ขึ้นใหม่ให้เปนสาธารณะประโยชน์ ได้จับทำเมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง แลเปนผู้จัดการหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับพิมพ์อิกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงหาสำเนาประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาบ้าง เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ก็ได้ทรงหาฉบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือดรุโณวาทอิกบ้าง ต่อมาเมื่อหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ก็หาสำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณอิกบ้าง แต่ที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์เปนเล่มสมุดโดยฉเพาะ พึ่งมาพิมพ์เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง ได้ทรงพยายายามหาฉบับแต่ที่ต่างๆ มารวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) พิมพ์ได้ ๓ เล่มสมุดโรงอักษรพิมพการเลิก โรงพิมพ์อักษรนิติจึงพิมพ์ต่อมาอิกเล่ม ๑ รวมเปน ๔ เล่มด้วยกัน

เมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการได้รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามีอยู่ในหนังสือต่างๆ ที่กล่าวมา แลหาฉบับได้เพิ่มเติมมาแต่ที่อื่นอิก คือได้ฉบับซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ได้ทรงรวบรวมไว้ประทานมาราย ๑ ได้สำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ ในจำพวกหนังสือซึ่งหอพระสมุดฯ หาได้จากที่ต่างๆ แห่งละเรื่องสองเรื่องก็มีหลายราย แต่ที่สำคัญนั้นคือได้ในสำเนาหมายรับสั่งกระทรวงมหาดไทยซึ่งส่งมายังหอพระสมุดฯ มีสำเนาหมายประกาศรัชกาลที่ ๔ ปรากฎอยู่ในจดหมายรายวันของกรมมหาดไทยหลายเรื่อง ล้วนเปนประกาศในชั้นที่ยังมิได้มีการพิมพ์ เริ่มแต่ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเปนปีแรกพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนต้นมา กรรมการจึงเห็นว่าสมควรจะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ ให้เปนสาธารณะประโยชน์ได้

แต่ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เปนประกาศพระราชนิยมก็มี เปนประกาศพระราชบัญญัติก็มี ความที่ประกาศยังคงใช้เปนกฎหมายแลประเพณีอยู่ก็มี ยกเลิกเสียแล้วก็มี การที่หอพระสมุดฯ พิมพ์ ประสงค์จะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามี ไม่เลือกว่าอย่างใดใด ความมุ่งหมายมีแต่จะให้ประโยชน์ในทางศึกษาโบราณคดี แลวรรณคดีเปนประมาณ จึงขอบอกไว้ให้ท่านผู้อ่านทราบว่าบรรดาประกาศในฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์นี้ มิใช่สำหรับจะเอาไปยกอ้างใช้ในทางอรรถคดีที่ใดๆ เพราะความในประกาศเรื่องใดจะยังคงใช้อยู่ฤๅจะยกเลิกเสียแล้ว ข้อนี้กรรมการหอพระสมุดฯ มิได้เอาเปนธุระสอบสวน ประสงค์จะให้อ่านแต่เปนอย่างเปนจดหมายเหตุเก่าเท่านั้น

กรมพระยาดำรงราชานุภาพสภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ