- คำอธิบาย
- ๒๔๗ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีฉลูสัปตศก
- ๒๔๘ ประกาศห้ามมิให้นายบ่อนทดรองเงินให้นักเลงเล่นเบี้ย อนุญาตให้ทำสารกรมธรรม์แทน
- ๒๔๙ ประกาศห้ามมิให้เขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายด้วยหมึกดินสอที่จืดจาง
- ๒๕๐ ประกาศเรื่องจีนทำอัฐปลอม
- ๒๕๑ ประกาศพระราชทานชื่อวัดเงินวัดทอง
- ๒๕๒ ประกาศไม่ให้พิกัดราคาเข้า
- ๒๕๓ ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว
- ๒๕๔ ประกาศให้ภาษีตั้งอยู่กับด่าน
- ๒๕๕ ประกาศให้ใช้เบี้ยทองแดงซีกเสี้ยว
- ๒๕๖ ประกาศพระราชบัญญัติลักษณลักพา
- ๒๕๗ ประกาศพิกัดภาษีน้ำมันมะพร้าว
- ๒๕๘ ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- ๒๕๙ ประกาศห้ามมิให้ผู้ที่มิได้สังกัดวังหน้าโกนผม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ที่ ๑
- ๒๖๐ ประกาศห้ามมิให้ผู้ที่มิได้สังกัดวังหน้าโกนผมเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ที่ ๒
- ๒๖๑ ประกาศเรื่องจะพระราชทานเบี้ยหวัดพระโอรสพระธิดา ในพระบวรราชวัง
- ๒๖๒ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีขาลอัฐศก
- ๒๖๓ ประกาศพิกัดภาษีเรือตึกแพโรงร้าน
- ๒๖๔ ประกาศห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็ก ที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย
- ๒๖๕ ประกาศให้ใช้ทองแดงซีกเสี้ยวซึ่งทำบางกว่าครั้งแรก
- ๒๖๖ ประกาศให้เจ้าสำนักพรรคพวกของผู้ร้ายมาลุแก่โทษ
- ๒๖๗ ประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงินแล้วปล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง
- ๒๖๘ ประกาศเรื่องจำนำแลขายฝากกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- ๒๖๙ ประกาศห้ามไม่ให้ข้าราชการคบหากับเศรษฐีบางแมวแลจีนทองเซ็ก
- ๒๗๐ ประกาศให้พวกที่อยู่แถวทิมในพระราชวังทำความสอาด
- ๒๗๑ ประกาศให้ผู้ติดใจสงสัยนายตุ้มมาสู้ความ
- ๒๗๒ ประกาศทรงปฏิญาณด้วยพระอาการกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
- ๒๗๓ ประกาศให้ชำระคนไทยที่สูบฝิ่น
- ๒๗๔ ประกาศเลื่อน กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ แลกรมหมื่นราชสีหวิกรม เปนกรมขุน แลทรงตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ เปนกรมขุน
- ๒๗๕ ประกาศพระราชบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องขายฝากแลจำนำกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- ๒๗๖ ประกาศพระราชทานบรรดาศักดิพ่อค้าต่างประเทศ
- ๒๗๗ ประกาศห้ามไม่ให้ขุนศาลตระลาการเจ้าหนี้นายเงินทำหนังสือยอมความแลสารกรมธรรมโดยลูกความแลทาสลูกหนี้ไม่รู้ไม่เห็น
- ๒๗๘ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมียบิดามารดาขายบุตร
- ๒๗๙ ประกาศห้ามมิให้พนักงานผู้ยิงปืนพิธีตรุษทำอย่างอ้ายนากอ้ายแย้ม
- ๒๘๐ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีมะโรงสัมฤทธิศก
- ๒๘๑ ประกาศให้ใช้พระนามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในหนังสือกราบบังคมทูล
- ๒๘๒ ประกาศให้ผู้จะตั้งตุลาการเลือกสรรตุลาการที่ลูกความไม่รังเกียจ
- ๒๘๓ ประกาศพระราชบัญญตลักษณลักพา
- ๒๘๔ ประกาศห้ามไม่ให้นักโทษร้องถวายฎีกาในเวลาเสด็จพระราชดำเนิน
- ๒๘๕ ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐให้ถูก
- ๒๘๖ ประกาศสุริยุปราคาหมดดวง
๒๕๘ ประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
ณวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก
ประกาศเล่าด้วยธรรมเนียมลงสรงโสกันต์ ที่เปนพิธีสำหรับราชตระกูลในแผ่นดินสยามสืบมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า ทั้งชายทั้งหญิง คือท่านที่มีพระบิดาพระมารดาเปนราชตระกูลทั้งสองฝ่าย แต่จะว่าให้เลอียด ถ้าการเปนตั้งพระวงศ์ใหม่ พระเจ้าพี่ยา พระเจ้าน้องยา พระเจ้าพี่นาง พระเจ้าน้องนาง ที่ร่วมพระชนกชนนีกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ก็เปนสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอทั้งสิ้น แต่ที่ต่างพระมารดาต่อโปรดให้เปนจึงเปนได้ พระเจ้าลูกเธอที่ประสูติแต่พระอรรคมเหษีพระราชชายาที่ติดมาแต่เดิมก็ดีตั้งใหม่ก็ดี เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้งชายทั้งหญิง พระเจ้าลูกเธอที่เจ้าจอมเปนมารดาเปนแต่พระสนมไม่เปนเจ้าฟ้า ก็เปนแต่พระองค์เจ้า ถ้าเจ้าจอมเปนเชื้อพระวงศ์ห่างๆ ก็ดี เปนบุตรเจ้าแผ่นดินเมืองน้อยรอบคอบก็ดี ฤๅเปนบุตรเสนาบดีมีความชอบก็ดี ถ้าโปรดให้เปนเจ้าฟ้าก็เปนได้ พระเจ้าหลานเธอนั้นคือพระโอรสพระธิดาในพระบวรราชวัง ถ้าพระมารดาโปรดให้เปนเจ้า บุตรีก็เปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง เมื่อได้พระสวามีเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็ดี เปนกรมพระราชวังก็ดี เปนเจ้าต่างกรมไม่มีกรมเจ้าฟ้าฤๅพระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามีบุตรบุตรีบังเกิดก็เปนเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาต่ำเสมอพระองค์เจ้าที่เปนพระเจ้าหลานเธอ ดังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ มีศักดินาเสมอเพียงพระองค์เจ้าที่เปนพระเจ้าลูกเธอ
เมื่อแผ่นดินสืบๆ มา พระราชโอรสพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ แลกรมพระราชวังที่ประสูติแต่พระมารดาเปนเจ้าฟ้าก็ดี เปนพระองค์เจ้าก็ดีคงเปนเจ้าฟ้า ถ้ามารดาเปนแต่หม่อมเจ้าแลราชนิกูลแลธิดาเมืองน้อยรอบคอบ ก็คงเปนแต่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า ต่อพระเจ้าแผ่นดินใหญ่โปรดให้เปนเจ้าฟ้าจึงเปนได้
ในกรมพระราชวังหลัง บุตรบุตรีประสูติแต่อรรคชายามียศเปนเจ้าก็เปนได้เพียงพระองค์เจ้า ต่อมารดาเปนเจ้าฟ้าจึงเปนเจ้าฟ้าตามพระมารดา บุตรบุตรีกรมพระราชวังหลัง ที่เกิดแต่พระสนมก็คงเปนหม่อมเจ้าเหมือนกับบุตรบุตรีของพระองค์เจ้าชายทั้งปวง ที่ตั้งกรมแล้วแลยังไม่มีกรม หม่อมเจ้าทั้งปวงที่ได้ราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน โปรดเลื่อนให้เปนพระองค์เจ้าโดยความชอบก็เปนได้ การกำหนดที่ว่ามานี้ตามแบบแผนซึ่งมีสืบมาแต่โบราณหลายชั่วแผ่นดินแต่ครั้งกรุงเก่ามา
เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีแรกตั้งแผ่นดินบางกอกก่อนพระวงศ์นี้ มีพระเจ้าลูกเธอชายเปนเจ้าฟ้าสามพระองค์ พระองค์หนึ่งเกิดแต่พระอรรคชายาเดิม อีกพระองค์หนึ่งเกิดแต่มารดาที่เปนพระญาติพระวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้น อีกพระองค์หนึ่งเกิดแต่มารดาที่เปนบุตรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อตั้งพระวงศ์ใหม่ขึ้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสองพระองค์ก็เปนเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่มีพระบุตร ๓ บุตรี ๑ แต่พระบิดาสิ้นชีพเสียนานแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยมีพระบุตร ๓ บุตรี ๒ พระบิดาก็สิ้นชีพเสียนานแล้วเหมือนกัน ก็ทั้ง ๙ พระองค์นั้น พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทั้งสิ้น ภายหลังมาพระบุตรของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่นั้น โปรดให้เปนกรมพระราชวังหลังเปนลำดับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่โปรดให้เปนกรมพระราชวังบวรในแผ่นดินนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระราชธิดาสองพระองค์แต่พระอรรคชายาเดิม โปรดให้เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ แต่กรมพระราชวังมีพระธิดาประสูติแต่พระมารดาเปนเชื้อเจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าด้วย รวมเจ้าฟ้าในต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ ถ้านับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอที่เปนกรมพระราชวังด้วยก็เปนสาม เปนชั้นศักดิสูงอย่างเอก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๔ พระองค์เปนอย่างโท สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า นับกรมพระราชวังด้วยเปนสิบเอ็จพระองค์เปนอย่างตรี รวมเจ้าฟ้าทั้ง ๒ อย่างเปน ๑๘ พระองค์ คือนับเจ้าฟ้าหลานเธอ ที่เปนราชบุตรกรุงธนบุรีด้วยนั้น อนึ่งมีเจ้าฟ้าหญิงแก่อีกพระองค์หนึ่งเปนพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระวงศ์เก่ากรุงศรีอยุธยา ยังคงยศบรรดาศักดิเปนเจ้าฟ้าอยู่ด้วย จึงรวมเปน ๑๙ พระองค์ด้วยกัน
ก็ในเจ้าฟ้าเหล่านี้ เมื่อแรกตั้งแผ่นดินยังไม่ได้โสกันต์ ๗ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ ยกแต่พระองค์ใหญ่ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ๒ พระองค์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าในกรมพระราชวังพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอที่เปนราชบุตรกรุงธนบุรีพระองค์ ๑ จึงรวมเปน ๗ พระองค์ เมื่อถึงปีมีกำหนดควรจะโสกันต์ ก็มีราชการทัพศึกกับพม่าวุ่นวายอยู่ เพราะเปนการต้นแผ่นดิน ไม่มีช่องมีเวลาที่จะได้ทำพระราชพิธีให้เต็มตามตำรา คือสองพระองค์ถึงกำหนดโสกันต์ในปีแรกตั้งแผ่นดินใหม่ คือปีขาลจัตวาศก ศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๒ อีก ๒ พระองค์ ถึงกำหนดในปีมะเสง สัปตศก ศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๕ อีก ๒ พระองค์ถึงกำหนดโสกันต์ในปีระกาเอกศกศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๘๙ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าที่เปนราชบุตรเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ถึงกำหนดโสกันต์ในปีกุญตรีศก ๑๑๕๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๑ ใน ๑๐ ปีนี้พม่ายกมารบแทบทุกปีมีราชการทัพศึกมาก ไม่มีช่องที่จะได้คิดทำการลงสรงโสกันต์เลย เปนแต่ทำโดยสังเขปพอเปนแล้วไป แต่เจ้าฟ้าพินทวดีซึ่งเปนพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เองแลเห็นการงานต่างๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านๆ ทราบการทุกอย่าง เปนผู้แนะอย่างธรรมเนียมโบราณอื่นๆ ต่างๆ หลายอย่างหลายประการในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตามตำราพระราชพิธีแต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าจะสาบสูญไปเสียแล้ว ท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้นใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่างๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบสูญไป ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาสมีพระมณฑปบนยอด แลมีสระอโนดาตแลท่อไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ ครั้นการเขาไกรลาสเสรจแล้ว ก็กราบทูลขอแด่พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำการโสกันต์พระราชบุตรแลพระราชบุตรีของท่านที่เปนแต่พระองค์เจ้าสมมตให้เปนดังเจ้าฟ้า ทำการทั้งนี้แม้ผิดอย่างธรรมเนียม ก็เพื่อว่าจะให้เห็นเปนอย่างทันเวลา เมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้มีผู้ได้รู้ได้เห็นไว้เปนอันมากมิให้การสาบสูญไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้การเปนไปตามพระไทยกรมพระราชวัง แต่ส่วนพระองค์ไม่ชอบพระราชหฤทัยจะทำให้ผิดอย่างธรรมเนียมไป กรมพระราชวังเมื่อได้ช่องโปรดอำนวยให้ทำ ก็ได้ทำการโสกันต์ในพระบวรราชวัง ๓ ครั้ง คือปีเถาะสัปตศกศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๕ ครั้งหนึ่ง คือปีมะเมียสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๗๙๘ ครั้งหนึ่ง คือปีระกาตรีศกศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๑ ครั้งหนึ่ง
แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ ได้เสด็จอยู่กับพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าหญิง ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ที่ ๑ ประสูติในปีระกาตรีศกศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๑ ได้เปนเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่สิ้นพระชนม์เสียในปีนั้น พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีชวดฉศกศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๔ พระองค์ที่ ๓ ประสูติในปีมะโรงสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๘ สองพระองค์นี้เปนเจ้าฟ้าตามพระมารดา แลเมื่อกรมพระราชวังบวรในแผ่นดินนั้นสวรรคตในปีกุญเบญจศก ศักราช ๑๑๖๕ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๓ แล้วล่วงมาถึงปีเถาะนพศก ศักราช ๑๑๖๙ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่เลื่อนที่เปนกรมพระราชวังบวร เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพระโอรสท่าน ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งประสูติก่อนเลื่อนที่ พระองค์หนึ่งประสูติเมื่อเลื่อนที่แล้วนั้น เปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า
ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง มารดาเปนบุตรีเจ้าเมืองเวียงจันท์โปรดให้เปนแต่เพียงพระองค์เจ้าเหมือนกันกับพระราชบุตรแลพระราชบุตรีพระองค์อื่นที่ประสูติแต่พระสนม เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้านั้นสิ้นชีพในปีกุญเบญจศก เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตแล้วนั้นพระองค์เจ้านั้นมีพระชนมายุได้ ๕ ขวบเปนกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา ทรงพระกรุณามาก ภายหลังล่วงมาปีหนึ่ง พระองค์เจ้านั้นตามเสด็จลงไปลอยกระทง วิ่งเล่นตกน้ำหายไป คนทั้งปวงตกใจ เที่ยวหาอยู่ครู่หนึ่ง จึงพบพระองค์เจ้าไปเกาะทุ่นหยวกอยู่หาจมน้ำไม่ ผู้พบเชิญเสด็จกลับมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดมากขึ้น มีพระราชโองการดำรัสว่า พระองค์เจ้านี้เจ้าจอมมารดาก็เปนฝ่ายลาว ไอยกาธิบดีคือตัวเจ้าเวียงจันท์ก็ยังอยู่ ควรจะให้เลื่อนที่เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า การพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวัง แต่ตั้งแผ่นดินมาก็ยังหาได้ทำไม่ ถ้าถึงคราวโสกันต์จะได้ทำให้เปนแบบอย่างในแผ่นดิน จึงโปรดพระราชทานพระสุพรรณบัฏ ให้เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เจ้าฟ้านั้นเมื่อถึงปีมะโรงสัมฤทธิศกศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๐๘ พระชนมายุครบ ๑๑ ปีถึงกำหนดที่จะโสกันต์ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพินทวดีที่เปนผู้ชี้การมาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง ๗ ปี ถึงกระนั้นแบบแผนตัวอย่างการต่างๆ ที่เจ้าฟ้าพินทวดีได้ทรงจัดไว้ มีผู้ได้เรียนรู้เห็นอยู่เปนอันมาก แลได้ดูอย่างการที่ทำแต่ก่อนในพระบวรราชวังสามครั้งนั้นด้วย จึงได้จัดการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เต็มตามตำรา คือตั้งพระราชพิธีพระมหาปราสาทคล้ายกับพระราชพิธีตรุษ แลมีเขาไกรลาส ราชวัตร ฉัตรทอง ฉัตรเงิน แลฉัตรรายทาง นั่งกลาบาศ แลการเล่นต่างๆ อย่างสูง แลแห่มีมยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง นางสระแห่เครื่องขาว เสด็จมาทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์สามวัน แล้วแห่มาเวลาเช้าโสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเสด็จขึ้นเขาไกรลาส ครอบเครื่องต้นแล้วแห่เวียนเขาไกรลาส ๓ รอบ แล้วแห่กลับในเวลาเช้า ครั้นเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงมาสมโภชวันนั้นแล้วต่อไปอิก ๒ วัน วันที่ ๗ จึงแห่พระเกศาไปลอย การเปนเสร็จโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในเดือน ๔ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีคฤศตศักราช ๑๘๐๙
ครั้นล่วงมาอิก ๖ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมพระราชวังบวรได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนแผ่นดินที่ ๒ เจ้าฟ้าพระราชโอรสสองพระองค์นั้นก็เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงปฤกษาด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ว่าการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ได้ทำลงเปนอย่างมีแบบแผนเปนจดหมายเหตุอยู่แล้ว แต่การพระราชพิธีลงสรงตั้งพระนามเจ้าฟ้า โดยอย่างเต็มตามตำราครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า ยังหาได้ทำเปนแบบอย่างไม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเห็นก็แก่ชรา เกือบจะหมดไปแล้วจะสาบสูญเสีย จะใคร่ทำไว้ให้เปนเกียรติยศเยี่ยงอย่างสักครั้งหนึ่ง ข้าราชการเห็นพร้อมตามกระแสพระราชดำริห์ ครั้นถึงปีระกาเบญจศกศักราช ๑๑๗๕ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๓ จึงได้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ผูกแพไม้ไผ่ที่ท่าราชวรดิษฐ มีกรงที่สรงอยู่กลางล้อมด้วยซี่กรงชั้นหนึ่งตารางไม้ไผ่อิกชั้นหนึ่ง ร่างแหอิกชั้นหนึ่ง ผ้าขาวอิกชั้นหนึ่ง มีบันไดเงินบันไดทองลง ๒ ข้าง บันไดกลางเปนเตียงหลั่นหุ้มผ้าขาว เรียกว่าบันไดแก้ว ในกรงมีมะพร้าวคู่ปิดเงินปิดทอง แลปลาทองปลาเงิน กุ้งทองกุ้งเงิน ลอยอยู่ทั้งสี่ทิศ กรงนั้นมีพระมณฑปสวมมีราชวัตร ฉัตรทอง ฉัตรนาค ฉัตรเงิน ล้อมสามชั้น มีทหารนั่งรายรอบ แลมีเรือจุกช่องล้อมวง แพที่สรงแทนเขาไกรลาสในการโสกันต์การพระราชพิธีนอกนั้น คือการขึ้นพระมหาปราสาท แลการแห่ทางแห่การเล่นต่างๆ ก็เหมือนกับการโสกันต์ แห่เครื่องขาว เสด็จไปทรงฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ขึ้นมหาปราสาทสามวัน วันที่ ๔ จึงแห่เสด็จลงไปท่าราชวรดิษฐ สรงในแพที่สรงแล้วแห่กลับ แล้วจึงเสด็จมารับพระสุพรรณบัฏขึ้นมหาปราสาท พระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์พงศอิศวรกระษัตริย์ขัติยราชกุมาร ครั้นเวลาบ่ายแห่เครื่องแดงทรงเครื่องต้น มาสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้งนั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมาน ในวันนั้นแลต่อไปอิกสองวันเปนสามเวลา เสร็จการพระราชพิธีลงสรง ครั้นเสร็จการแล้วมีพระราชโองการดำรัสว่า การลงสรงเช่นนี้ทำแต่ครั้งเดียวนี้เถิด พอเปนตัวอย่างไว้ไม่ให้สูญพิธีโบราณ เพราะการโสกันต์เปนอันจำจะต้องทำสำหรับยศเจ้าฟ้า ทุกๆ พระองค์ การลงสรงทำเปนสองซ้ำก็หาต้องการไม่ ไพร่ๆ ที่เขาลงท่าลูกเขานั้น เพราะเขาร้อนรนจะเร่งเอาของขวัญเก็บเอาเงินคนอื่นมาใช้ เขาจึงรีบด่วนทำการลงท่าก่อนเวลาโกนจุก เพราะเขาเห็นว่าการโกนจุกนั้นยังช้าอยู่ ก็ในหลวงไม่ได้ร้อนรนอะไรไม่ควรจะทำให้เปนสองซ้ำสามซ้ำทำแต่โสกันต์เถิด ด้วยเปนของต้องจำใจทำตามธรรมเนียม ครั้นมาเดือน ๔ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๑๗๘ เปนเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๗ ได้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎนั้นเปนการใหญ่เหมือนกันกับครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ครั้นมาเดือน ๔ ปีมะโรงอัฐศก ศักราช ๑๑๘๒ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๑ ได้มีการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอิศวเรศจุฑามณีอิกครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสแลการอื่นๆ เหมือนกันกับการสองครั้งก่อน เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระโอรส ๓ พระธิดา ๑ เปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ พระองค์ใหญ่ประสูติในปีชวดอัฐศกศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๖ พระนามว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระองค์ที่ ๒ ประสูติในปีเถาะเอกศก ศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๙ พระนามว่าเจ้าฟ้ามหามาลา พระองค์ที่ ๓ เปนเจ้าฟ้าหญิงประสูติเมื่อศักราช ๑๑๘๒ สิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ พระองค์ที่ ๔ ประสูติในปีมะเมียจัตวาศก ศักราช ๑๑๘๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๒ พระนามว่าเจ้าฟ้าปิ๋ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงพระราชดำริห์ไว้จะทำการโสกันต์ให้เต็มตามตำราเหมือนกัน ก็แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคตในปีวอกฉศกศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ก็แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ข้างพระบวรราชวังมีการโสกันต์สองครั้ง คือโสกันต์พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ครั้งหนึ่ง ในเดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก ศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๓ อิกครั้งหนึ่งมีการโสกันต์พระองค์เจ้าน้อยนฤมล ในเดือน ๔ ปีจอฉศก ศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับเดือนมาร์ช ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๑๕
ในครั้งหลังมีเขาไกรลาสด้วย แต่ย่อมกว่าในพระบรมมหาราชวัง การที่ทำนั้นก็คล้ายกับการโสกันต์เจ้าฟ้า เพราะทรงนับถือว่าพระองค์เจ้าสองพระองค์นั้น ประสูติแต่พระมารดาเปนธิดาเจ้ากรุงธนบุรี แต่เพราะมีเหตุจึงหาได้โปรดให้เปนเจ้าฟ้าไม่ ว่าด้วยการโสกันต์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสิ้นเท่านี้
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อปีจออัฐศก ศักราช ๑๑๘๘ มาจนปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๙๐ คือเปนปีมีคฤศตศักราช ๑๘๒๖,๑๘๒๗,๑๘๒๘ นั้น เจ้าอนุเวียงจันท์คิดขบถบ้านเมืองมีการทัพศึกไม่เปนปรกติ พระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ค้างอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทถึง ๒ ปี ครั้นการพระบรมศพแล้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทชำรุดต้องรื้อทำใหม่ในปีชวดสัมฤทธิศก พระชนมายุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า บ้านเมืองมีราชการทัพศึกอยู่หาสู้สบายไม่ พระมหาปราสาทก็ต้องรื้อทำใหม่ไม่มีที่ตั้งพระราชพิธีโสกันต์ ทำแต่สังเขปเอาเถิด จึงตั้งพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรยปราสาทใหม่ไม่มีเขาไกรลาส แต่การแห่นั้นก็คล้ายกับกระบวรพยุหยาตรา โสกันต์ในวันที่ ๔ แล้วเวลาบ่ายแห่ทรงเครื่องต้นสมโภชเวลาเดียวเปนเสร็จการโสกันต์สังเขปครั้งนี้เปนอย่างลงแล้ว ก็เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหามาลาก็ดี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าปิ๋วก็ดี ศักราช ๑๑๙๓ แลปีมะเมียฉศก ศักราช ๑๑๙๒ มีพระราชโองการดำรัสว่า เมื่อโสกันต์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ ทำเพียงเท่าไรก็ทำเพียงเท่านั้นเถิด ก็มีการแห่เหมือนกัน แต่เปลี่ยนไปโสกันต์แลสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทงาน ๔ วันเลิกเหมือนกัน ก็การ ๓ ครั้งนี้มีคนบ่นซุบซิบอยู่มาก ว่าการเปนเช่นนั้นเพราะไม่มีเจ้าของ ในพระบวรราชวังแผ่นดินนั้นมีการโสกันต์ ๓ ครั้งแห่เปนพยุหยาตรา เจ้าที่โสกันต์ ๓ ครั้งก็เปนแต่พระองค์เจ้ามิใช่เจ้าฟ้า กรมพระราชวังนั้นมีพระราชบุตรพระองค์ ๑ แต่พระอรรคชายาทรงพระนามพระองค์ดาราวดี เปนพระราชธิดากรมพระราชวังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชบุตรพระองค์นี้ตามศักดิ์ที่มีในกฎหมายอย่างธรรมเนียมก็เปนเจ้าฟ้า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวหาได้โปรดให้เปนไม่ เรียกพระนามแต่ว่าพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ ๆ นั้นมีพระชนมายุถึงกำหนดโสกันต์ กรมพระราชวังสวรรคตก่อนแต่พระองค์เจ้านั้นยังไม่ได้โสกันต์ เมื่อโสกันต์มาโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังด้วยพิธีไม่มีแห่แหนเหมือนพระองค์เจ้าสามัญ ก็มีผู้คนกระซิบกันว่าเปนอย่างนี้เพราะไม่มีเจ้าของเหมือนก่อนนั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับหม่อมเจ้าหญิงธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ ๗ เดือนมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง โปรดปรานมากยิ่งกว่าพระราชบุตรพระราชธิดา พระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนที่ให้เปนพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทำท่วงทีเหมือนจะให้เปนเจ้าฟ้า ด้วยพิธีเมื่อเวลาเลื่อนหม่อมเจ้าให้เปนพระองค์เจ้านั้น คล้ายกับเมื่อเลื่อนพระองค์เจ้าหญิงให้เปนเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ครั้นพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระเจริญชนมายุถึงกำหนดโสกันต์ในปีมะเมียอัฐศกศักราช ๑๒๐๘ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๖ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ คล้ายกับโสกันต์เจ้าฟ้าเปนแต่ไม่มีเขาไกรลาส ปลูกพระเบญจาที่สรงแลพลับพลาเปลื้องเครื่องบนชลาพระมหาปราสาทแทน การอื่นๆ ก็เหมือนกันกับเจ้าฟ้าแห่ถึง ๖ วัน เปนแต่วันที่ ๗ ไม่มีแห่พระเกศา ก็โสกันต์ครั้งนี้อย่าว่าแต่พวกอื่นเลย ถึงพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็บ่นว่าพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีมีบุญมากไปกว่าพระองค์เจ้าลูกเธอทั้งปวงอีก การโสกันต์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นเท่านี้ ครั้นล่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีกุญตรีศก ศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๑ จึงพระราชวงศานุวงศ์ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมใจกันเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติรับพระบรมราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง แลเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศวเรศจุฑามณีให้รับพระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง ตามอย่างยศพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์อย่างแต่ก่อน เพราะเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ๒ พระองค์นี้มีพระบารมีเล่าฦๅชาปรากฎเปนที่นับถือของคนใกล้แลไกลเปนอันมาก ด้วยได้มีการลงสรงแลโสกันต์เปนการใหญ่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึง ๓ ครั้งดังกล่าวมาแล้ว แล้วพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันว่า พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีได้เปนพระองค์เจ้ามียศใหญ่ได้มีการโสกันต์อย่างเจ้าฟ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามแลเกียรติยศฦๅชาปรากฎสมควร จึงได้กราบทูลถวายตั้งเปนสมเด็จพระนางเธอเปนเจ้าเปนใหญ่ข้างใน สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงพระครรภ์ได้ ๗ เดือน ประชวรลง ประสูติพระราชโอรสในกำลังประชวร พระราชโอรสนั้นเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชาย เรียกพระนามตามพระมารดาว่าเจ้าฟ้าโสมนัส มีพระชนม์อยู่เพียง ๓ นาฬิกา ก็สิ้นพระชนม์เพราะพระกำลังยังอ่อนนัก สมเด็จพระนางเธอนั้น ก็ประชวรหนักลงพระอาการหาคลายไม่ สิ้นพระชนม์ภายหลังพระโอรส ๕๐ วัน คือในวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๒ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนออกตอเบอรปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๒ ครั้นภายหลังมาพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลเสนาบดีพร้อมใจกันถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ผู้พระธิดาของพระเจ้าลุงของสมเด็จพระนางเธอซึ่งสิ้นพระชนม์แล้วนั้น ให้เปนสมเด็จพระนางเธอสืบฐานันดรนั้นต่อไป
สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ประสูติพระราชบุตรใหญ่พระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในกลางปีฉลูเบญจศก ศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับเดือนเสปเตมเบอร คฤศตศักราช ๑๘๕๓ แล้วประสูติพระราชธิดาอิกพระองค์ ๑ ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑล ในปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๒๑๗ ตรงกับเดือนเอปริลในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๕ แล้วประสูติพระราชบุตรอิกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี ในปลายปีมะโรงอัฐศกศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับเดือนยันนุวารีปีมีคฤศตศักราช ๑๘๕๗ แลประสูติพระราชบุตรอิกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษี ในปลายปีมะแมเอกศก ศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับเดือนยันนุวารีในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๐ สมเด็จพระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์นั้นประชวรพระโรคในพระทรวงมาปีเศษสิ้นพระชนม์ ในเดือน ๑๐ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนเสปเตมเบอรคฤศตศักราช ๑๘๖๒ แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑลก็สิ้นพระชนม์ลงในเดือน ๖ ปีกุญเบญจศก ๑๒๒๕ ตรงกับเดือนเมคฤศตศักราช ๑๘๖๓ ยังคงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ๓ พระองค์
ก็ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔ มีการโสกันต์ในพระบวรราชวังครั้งหนึ่ง มีเขาไกรลาสแลการแห่การเล่นใหญ่กว่าปรกติแต่ไม่เต็มตำรา การคล้ายกันกับเช่นเคยมีในพระบวรราชวังแต่ก่อนมา ภายหลังแต่ครั้งนั้นมาในพระบวรราชวังเมื่อโสกันต์พระองค์เจ้าคราวใดก็มีการแห่เครื่องสูงกลองชนะทุกครั้ง แต่ทำการนั้นในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน ไม่ได้ทำเปนการใหญ่ไม่ได้ตั้งเขาไกรลาสแลมีการเล่นนักดูประชุม ถึงกระนั้นการก็เปนอย่างลงในการโสกันต์พระองค์เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ แต่ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้าลูกเธอที่มีพระชนมายุเจริญจนถึงกำหนดจะโสกันต์ยังหามีไม่ จนถึงปีระกาตรีศก
ครั้นมาเมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณมีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ พระราชวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีกราบทูลพระกรุณา ว่าการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เว้นว่างมานานหาได้ทำไม่ถึง ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ผู้ที่ได้เคยเห็นการในครั้งก่อนก็มีน้อยตัวแล้ว ถึงได้เห็นจะจำการก็ไม่ถนัด แต่ผู้ที่ไม่ได้เห็นนั้นมากกว่ามาก ขอพระราชทานให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ ในการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าเปนปฐม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจะได้เปนแบบอย่างต่อไปภายหน้า ครั้งนั้นจึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ มีกระบวรแห่แลมีนางเชิญมยุรฉัตร นางเชิญเครื่อง นางสระ แลการเล่นอื่นๆ แต่ไม่มีเขาไกรลาส แลได้มีการพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ มหาบุรุษรัตนราชรวิวงศ์วรพงศ์บริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร แทนพระราชพิธีลงสรงแต่ไม่มีพระมณฑปขึ้นแพในที่สรง
การพระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้มีในเดือน ๔ ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับเดือนมาร์ชในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓ เมื่อการพระราชพิธีโสกันต์ได้มีลงเปนอย่างดังนี้แล้ว ครั้นมาเมื่อปีจอจัตวาศก พระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์คือพระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี พระองค์เจ้าหญิงประภัศรมีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงได้โปรดให้มีการแห่โสกันต์เปนการใหญ่อย่างครั้งก่อนอิกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีจอจัตวาศก ศักราช ๑๒๒๔ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๓
แลในเดือน ๔ ปีจอจัตวาศกนั้น ในพระบวรราชวังได้มีการโสกันต์พระองค์เจ้าอิกครั้งหนึ่งเปนการใหญ่ มีการแห่แลการเล่นแลเขาไกรลาสน้อย คล้ายกับเมื่อปีชวดจัตวาศกโน้นแล
ภายหลังมาเมื่อปีชวดฉศก พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์คือพระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ์ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชาธิเบศรมหาราชปราสาททอง ได้มีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอินณที่ประทับเกาะบ้านเลนเปนอย่างมา ก็ครั้งนี้พระราชวังที่ประทับเปนที่ประพาสก็มีหลายตำบล จึงโปรดให้มีการแห่โสกันต์เปนการใหญ่อย่างครั้งก่อน ที่พระนครคิรีณเมืองเพ็ชรบุรี ตามอย่างซึ่งเคยมีในโบราณนั้นอิกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีชวดฉศก ศักราช ๑๒๒๖ ตรงกับปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๔
เมื่อว่าการตามเหตุที่ควร พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าซึ่งมิใช่เจ้าฟ้า ก็ไม่ควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบวรราชวังได้มีการแห่โสกันต์พระองค์เจ้าเกินธรรมเนียมเก่า ๒ ครั้ง ๓ ครั้งมาแล้ว แลในแผ่นดินปัจจุบันนี้ในพระบวรราชวังก็มีการเกินธรรมเนียมเก่านำหน้าเปนอย่างมาก่อนถึง ๒ ครั้งแล้ว ฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจึงต้องทำตามไป การเปนทั้งนี้ก็เพราะการโสกันต์เปนการใหญ่ไม่ได้มีมานานแล้ว ผู้จะใคร่ดูมีมากแลจะคอยเวลาภายหน้าก็ไม่ไว้ใจการว่าจะเปนแน่ที่จะได้ดู จึงกราบทูลขอให้ทำขึ้น
บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์พระองค์ใหญ่มีพระชนมายุได้เต็ม ๑๒ ปีแต่ปีประสูติ ถึงกำหนดเวลาควรจะมีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่ ด้วยได้พระราชทานพระอิศริยยศต่างๆ เสมออย่างพระองค์ ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทุกประการแล้ว ครั้งนี้จึงควรให้มีการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เต็มตามตำรา ซึ่งมีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๒ ครั้งนั้น เพื่อจะได้เปนแบบอย่างไปภายหน้า ท่านผู้ที่จ้างเกณฑ์รับราชการใดๆ ในบัดนี้จงมีความยินดีคิดฉลองพระเดชพระคุณทุกท่านทุกนายให้เต็มตามกำลังเทอญ
ฝ่ายชนชาวต่างประเทศที่ไม่รู้เรื่องเดิมมา ขอเสียอย่าบ่นต่างๆ ว่าการครั้งนี้ไม่เปนคุณประโยชน์อะไรแก่บ้านเมือง ทำให้คนเปนอันมากป่วยการเสียเวลาด้วยต้องเกณฑ์ทำการต่างๆ แลพากันเพลิดเพลินมาดูการเล่นหลายวันหลายเวลาแลอื่นๆ เพราะการพระราชพิธีโสกันต์เปนการใหญ่เต็มตามตำราโดยธรรมเนียมในสยามเช่นนี้ เปนของเคยมีสืบๆ มาแต่โบราณ ในแผ่นดินหนึ่งก็ไม่มีมากเคยมีแต่ครั้งหนึ่ง ๒ ครั้งเท่านั้น เมื่อจะตัดเสียจะไม่ให้มีเปนแบบอย่างแล้วท่านผู้ที่รู้ขนบธรรมเนียมโบราณก็จะมีความเสียใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือการต่างประเทศมากมาเลิกละทิ้งการธรรมเนียมโบราณเสียสิ้นง่ายนัก ควรจะต้องรักษาแบบโบราณราชประเพณีไว้ไม่ให้เสื่อมสูญจึงจะชอบ
การที่ในการโสกันต์นี้ ท่านทั้งหลายทั้งปวงเปนอันมากย่อมนำสิ่งของทองเงินมาถวายพระเจ้าลูกเธอที่โสกันต์ เปนการสมโภชโดยอย่างธรรมเนียมทำต่อๆ มา การนี้ท่านเปนอันมากทำก็โดยชอบพอคุ้นเคยในพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าที่โสกันต์นั้นตามใจในหลวงไม่ได้ขอร้องกะเกณฑ์อะไรดอก ใครพอใจจะถวายก็ถวายไม่ถวายก็ได้ไม่มีความผิดอะไร
ถ้ามีที่ได้ถวายสมโภชพระเจ้าลูกเธอแล้วนั้น มีการโกนจุกบุตรหลานเมื่อใด ให้กราบทูลให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท จะได้พระราชทานตอบแทนให้มีกำไรบ้างคุ้มทุนบ้าง อย่างการเลื่อนลงแขกลงขันกันข้างนอกตามประเพณีบ้านเมือง เพราะฉนั้นอย่าให้ผู้ใดๆ เข้าใจผิด บ่นพึมพำผิดๆ ไปในอันใช่เหตุเลยเปนอันขาดทีเดียว
ประกาศมาณวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ เปนวันที่ ๕๓๔๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้