๒๔๗ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีฉลูสัปตศก

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ชนทั้งปวง บรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้ทราบทั่วกันว่า ในปีฉลูสัปตศกนี้ วันอังคาร เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ เปนวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์จะขึ้นราษีเมษในเวลาย่ำค่ำแล้ว ๒๔ นาที วันพุธ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ เปนวันเนา วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ เปนวันเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ ๑๒๒๗ ในเวลา ๔ ทุ่มกับ ๕๑ นาที ๓๖ วินาที เพราะฉนั้นในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักษัตรฤกษสงกรานต์เปนสามวันตามเคยมีโดยมาก ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร ถืออะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวัง เทอญ

ลักษณะจดหมายวันคืนเดือนปีใช้ดังนี้ คือตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ไปจนถึงวันพุธ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวงให้ว่าปีฉลูยังเปนฉศก ถ้าจดจุลศักราชด้วยให้คงเปน ๑๒๒๖ อยู่ ตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ ไปจนถึงวันศุกร เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีฉลูนี้ ให้ใช้จดว่าปีฉลูสัปตศกลงเลขจุลศักราชว่า ๑๒๒๗ แก้เลข ๑๔ ตามปีแผ่นดินซึ่งเขียนไว้บนศกนั้น เมื่อเปลี่ยนสัปตศกแล้วให้เขียนเปนเลข ๑๕ ไปกว่าจะเปลี่ยนศกใหม่ เทอญ

ในปีฉลูสัปตศกนี้ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ วันหนึ่ง วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ วันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒสัตยา

วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น คือตั้งแต่วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำไป ห้ามไม่ให้ลงมือทำนาก่อน ฤๅในวันศุกรเดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ นั้นตลอดพระราชอาณาเขตร

วันวิสาขบูชาที่ถือตามนิยมในอรรถกถา ว่าเปนวันประสูติแลได้ตรัสรู้แลปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ปีนี้นักษัตรฤกษวิสาขบุรณมีตกในวันพุธ เดือน ๖ แรมค่ำหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวังนี้จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันศุกร เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ เปนการมงคลสำหรับพระราชวังตามเคยอย่างทุกปี

ในปีฉลูสัปตศกนี้ เดือน ๗ มีแรม ๑๕ ค่ำ เปนอธิกวาร คือเดือน ๗ เปนเดือนถ้วนนับ ๓๐ วัน คนฟั่นๆ เฟือนๆ เลื่อนๆ ใหลๆ จำการหลังไม่ได้ อย่าตื่นถามว่าทำไมเดือน ๗ เปนเดือนขาดจะเปนเดือนถ้วนได้หรือ ไม่เคยพบเคยเห็น ที่จริงนั้นเดือน ๗ เปนเดือนถ้วนอย่างนี้ได้เคยมีเมื่อปีระกาเอกศก ศักราช ๑๒๑๑ ครั้งหนึ่ง มีเมื่อปีขาลฉศก ศักราช ๑๒๑๖ ครั้งหนึ่ง มีเมื่อปีวอกโทศก ศักราช ๑๒๒๒ ครั้งหนึ่ง ในระยะ ๕ ปีบ้าง ๖ ปีบ้างมาแต่ก่อนอย่าให้สงสัยสนเท่ห์เลย

วันอาทิตย์ เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปุริมพรรษา วันเข้าปัจฉิมพรรษานี้ตามปักษ์คณนาชี้ วันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เปนวันเพ็ญ แต่เพราะเดือนนั้นอาทิตย์แลจันทร์เดินช้าจะเห็นเปนเวลาเพ็ญ ต่อวันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงแล้วไป ค่ำลงคงจะเห็นพระจันทร์ร่อยแรมแล้ว เพราะฉนั้นถ้าจะเข้าปัจฉิมพรรษาวันนั้นก็ได้ ฤๅจะเข้าต่อวันอังคาร เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ ตามเคยก็ตามใจ

วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เปนวันเฉลิมพระชนม์พรรษาในพระบวรราชวัง

วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาตี ๑๑ ทุ่มกับ ๑๓ นาที พระจันทร์เพ็ญเปนบุรณมีแล้วควรเปนวันมหาปวารณา วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เปนแรมแล้ว เพราะในภายในพรรษานี้มีวันแต่ ๘๘ วัน คือ นับแต่วันอาทิตย์ เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ ไป จนถึงวันพุธเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระจันทร์เพ็ญสามหนครบสามเดือนแล้วถ้าปวารณาต่อ ๑๕ ค่ำ ก็เปนวันเกินไปวันหนึ่ง แต่ถ้าไม่เชื่อคำที่ว่ามานี้ เพราะไม่เคยทำในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ จะทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำตามเคยก็ตาม การที่ว่ามานี้ว่าเตือนสติมาตามรู้เมื่อไม่เชื่อก็แล้วไป ไม่บังคับบัญชาอะไรด้วยการศาสนาดอก

วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๑๓ ค่ำ เปนวันเฉลิมพระชนม์พรรษาในพระบรมมหาราชวัง

วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เปนวันพระราชพิธีจองเปรียงยกโคม วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำ ๑ เปนวันลดโคม ให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรบรรดาซึ่งจะได้ยกโคมลดโคมให้รู้แล้วทำตามกำหนดนี้

วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำการพระราชพิธีกฤติเกยาณหอพระเทวสถาน

ถ้าจะทำพิธีมาฆบูชา ในปีนี้เพราะจวนอธิกมาสจะมาในปีหน้า จึงตกในวันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แลชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพิธีศิวาราตรีในหอพระเทวสถาน

พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ๒ ครั้ง คงทำในวันขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เดือน ๕ แลขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ แลพระราชพิธีสารทคงทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ สามราตรีให้การเปนเสร็จในขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑

พระราชพิธีตรียัมพวาย เริ่มแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ไปจนวันแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ สิบราตรี แลพระราชพิธีตรีปวาย เริ่มแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ไป การเปนเสร็จต่อวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ ห้าราตรี แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินคงทำตั้งแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ไป ๔ ราตรี ๕ วัน การเปนเสร็จในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ตามเคยเหมือนอย่างทุกปี ไม่ยักเยื้องอะไร

ในปีฉลูสัปตศกนี้ วันจันทร์เปนวันธงไชย แลเปนโลกาวินาศ วันเสาร์เปนวันอธิบดี วันอาทิตย์เปนวันอุบาสน์

อนึ่งวันอุโบสถเปนที่รักษาอุโบสถศีล แลทำมหาธรรมสวนะซึ่งผิดกับวันที่นับว่าวันอุโบสถ ฤๅวันพระตามเคยรู้ด้วยกันในชาวสยามทั้งปวงนั้น ในปีฉลูสัปตศกนี้ มี ๑๒ วัน คือ วันอังคารขึ้นค่ำ ๑ วันพุธขึ้น ๙ ค่ำ แรมค่ำ ๑ วันพฤหัสบดี แรม ๙ ค่ำ ในเดือน ๖ วันอาทิตย์ขึ้น ๑๔ ค่ำ วันจันทร์แรม ๗ ค่ำ ในเดือน ๑๑ วันเสาร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ วันอาทิตย์แรม ๗ ค่ำในเดือนอ้าย วันอังคารขึ้น ๑๔ ค่ำ วันพุธแรม ๗ ค่ำ ในเดือน ๓ รวมเปน ๑๒ วันเท่านี้เปนวันรักษาอุโบสถแลทำมหาธรรมสวนะโดยตรง นอกจาก ๑๒ วันนี้แล้วก็คงต้องกันในวันตามเคย คือในวันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ในเดือนถ้วน ฤๅแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ทุกเดือนตลอดชั่วปีไม่ยักเยื้องอะไร

วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ พระอาทิตย์เวลาเที่ยงตรงศีร์ษะในประเทศบางกอกขาขึ้นไปเหนือ

วันพุธ เดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงสุดทางเหนือ จะกลับลงใต้เปนอายันสงกรานต์เหนือเข้าวัสสันตรดู

วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ดวงพระอาทิตย์เปนเล็กลงที่สุด เพราะขึ้นอุจเปนสฏสีติ ฤๅพสุสงกรานต์เหนือ

วันพุธ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงตรงศีร์ษะณประเทศบางกอกขาลงไปใต้

วันเสาร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงถึงกึ่งกลางทางที่จะโอนไปเหนือใต้ เปนสามัญสงกรานต์ เข้าสารทรดู

วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงสุดทางใต้จะกลับมาเหนือ เปนอายันสงกรานต์ใต้ เข้ารดูสิสิร

วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พระอาทิตย์เปนดวงโตที่สุดเพราะตกนิตย เปนสฎสีติสงกรานต์ฤๅพสุสงกรานต์ ใต้วันนั้นเรียกว่าสงกรานต์ฝรั่ง เพราะศักราชฝรั่งขึ้นเปน ๑๘๖๖ ว่านี้พอให้คนใกล้ๆ ฝรั่งรู้ ผู้ว่าจะได้ถือสาสนาฝรั่งหาไม่

วันอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ พระอาทิตย์เที่ยงขึ้นมาถึงกึ่งทางเหนือใต้ ชื่อสามัญสงกรานต์เข้ารดูนิทาฆ

วันเวลาพระอาทิตย์ยกเปลี่ยนราศีใหม่ ซึ่งเรียกว่าสงกรานต์เดือน ในปีฉลูสัปตศกนี้ พระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษตั้งแต่วันอังคาร เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๒๔ นาฑีอยู่จนวันศุกร เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมงกับ ๑๒ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีพฤษภ จนวันจันทร์เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ เวลา ๓ ยามกับ ๓๖ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีเมถุน จนวันศุกร เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ แล้วยกไปอยู่ราศีกรกฎ จนวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๒๔ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีสิงห์ จนวันศุกร เดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงกับ ๑๒ นาที แล้วยกไปอยู่ราศีกันย์ จนวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่ม แล้วยกไปอยู่ราศีตุลย์ จนวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๒๔ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีพิจิก จนวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๑๑ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้วยกไปอยู่ราศีธนู จนวันศุกร เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำเวลาบ่ายโมงหนึ่ง กับ ๓๖ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีมังกร จนวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เวลา๒ ยาม แล้วยกไปอยู่ราศีกุมภ์ จนวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมงกับ ๓๖ นาฑี แล้วยกไปอยู่ราศีมิน จนวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาลยังเปนสัป๑๕ตศกอยู่ แลซึ่งกล่าวมานี้ เพื่อจะให้ท่านทั้งปวงได้รู้เทียบเคียงน้ำฝนแลน้ำมากน้ำน้อย ในปีหลังกับปีประจุบันนี้เปนประโยชน์ เพราะการซึ่งจะเทียบเคียงนั้นจะคิดแต่ง่ายๆ สั้นๆ แต่เพียงเดือนต่อเดือน คือ เดือน ๗ เดือน ๘ ในปีหลังมาเทียบเคียงกับเดือน ๗ เดือน ๘ ในปีนี้ แลเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ในปีหลังมาเทียบกับเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ในปีนี้ ดังนี้จะเปนแน่ไม่ได้ ต้องเทียบเดือนตามระยะพระอาทิตย์ยกดังกล่าวมาแล้วจึงเปนแน่ได้

ท่านผู้ต้องการจะหาฤกษ์ดีวันดี เมื่อรู้วันพระอาทิตย์ยกเปนวันห้ามการมงคลทั้งปวงแล้วจะได้หลีกเลี่ยงเสีย แลจะได้ประพฤติการมงคลในวันอื่นๆ นอกจากนั้นดังว่ามานี้

อนึ่งในหมายสงกรานต์เก่าๆ มีคำทำนายทายน้ำทายฝนว่าปีนี้นาคให้น้ำกี่ตัวๆ บันดาลให้ฝนตกกี่ร้อยห่าต่อกี่ร้อยห่า ตกในเขาเท่านั้น ในป่าเท่านั้น ในทเลเท่านั้น ในมนุษย์โลกเท่านั้น แล้วก็แบ่งฝนเปนสามมือ คือต้นมือกลางมือปลายมือ ถ้าในมือใดตำราบอกว่าฝนมากก็ทายว่าฝนงาม ถ้าตำราบอกว่าฝนน้อย ก็ทายว่าฝนงามพอดี ไม่มีทายว่ามากเกินไปเลย ก็การทายเปนแต่อวยชัยให้พรบ้านเมือง ไม่ทายจริงๆ ตามตำรา ด้วยกลัวว่าคนจะตกใจจะคิดอย่างไรๆ ไป ฤๅจะเปนอัปมงคลแก่บ้านเมืองไป ว่าแต่พอรู้ในทีเปนอย่างธรรมเนียมมา แล้วก็ทายน้ำงามในปีนั้นๆ ว่าจะมากกว่าปีหลังคืบหนึ่งบ้างศอกหนึ่งบ้าง ฤๅจะน้อยกว่าปีหลังคืบหนึ่งบ้างศอกหนึ่งบ้าง ที่แท้การทายอย่างนี้ตำราก็เหม่นเหม่ไม่น่าเชื่อ จึงได้ยกเสีย หาได้บอกมาในประกาศสงกรานต์แต่ก่อนๆ ไม่ ก็ยังมีนักปราชญ์จำพวกหนึ่งซึ่งใช้ตำราโหรสังเกตพระเคราะห์ในอากาศ ด้วยโคจรแห่งพระพุธพระศุกร แล้วก็ทายขึ้นใหม่ๆ ว่าฝนปีใดจะมากฝนปีใดจะน้อย ก็นักปราชญ์พวกนั้นสังเกตการต่างๆ มาก อย่างสังเกตโคจรพระอาทิตย์พระจันทร์แลราหู แล้วก็ทายเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ก็ทายถูกได้ทุกวัน ก็วิชาทายน้ำขึ้นน้ำลงนั้น ในเมืองไทยแต่ก่อนก็ไม่มี ก็เมื่อมีขึ้นเปนความสัตย์ความจริงก็มีขึ้นในเมืองนี้ จะได้ไปเรียนของฝรั่งมาก็หาไม่ แต่ที่ทายฝนนี้นักปราชญ์พวกนั้นทายก็ยังหาสู้ถูกถนัดไม่ อย่างในปีชวดฉศกที่ล่วงมาแล้วนักปราชญ์พวกนั้นทายว่าฝนมากน้ำจะมาก ก็น้ำมากนั้นฉเพาะไปเปนมากแต่ข้างเมืองพม่า แลแผ่นดินไทยใกล้เขตรแดนพม่า แต่ในบ้านเมืองของไทยในระยะกลางตลอดเหนือ แลระยะตวันออกน้ำก็น้อยฝนก็น้อยไป ฯ แต่ในปีฉลูสัปตศกนี้ นักปราชญ์พวกนั้นทายไว้ว่าฝนจะน้อยน้ำจะน้อย คล้ายกับปีที่ฝนน้อยน้ำน้อยมาแต่ก่อน สังเกตดูอากาศก็เปนที่น่ากลัวนัก ว่าจะเปนดังนั้นจริงด้วย บัดนี้รดูลมสำเภาแล้วลมก็อ่อนฝนชะลานก็ไม่มีมา ท้องฟ้าก็ผ่องแผ้วไปไม่มีเมฆตั้งทั้งกลางวันกลางคืนโดยมาก เพราะฉนั้นขอประกาศมาให้ท่านทั้งหลายทั้งปวงคิดพยายามทำนาปรังนาเพาะเลยแลเข้าไร่ให้ได้มากๆ ให้รีบทำตั้งแต่เดือน ๖ ไป โดยฝนน้อยเข้าไร่จะได้รอดตัวอยู่ นาปรังจะได้ตั้งตัวอยู่ด้วยน้ำท่าวิดสาดบ้าง ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการแขวงอำเภอ ป่าวร้องราษฎรให้คิดทำนาเข้าไร่ นาปรังเตรียมตัวไว้ เกลือกปีนี้ฝนแลน้ำจะน้อย นาใหญ่จะไม่มีผล คนถูกอัตคัดมาปีหนึ่งแล้วจะได้ความลำบากมากไป

ในปีฉลูสัป๑๕ตศกนี้ วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จะมีจันทรุปราคา จะเห็นขอบพระจันทร์หมองข้างทิศอาคเน ตั้งแต่เวลา ๓ ยามกับ ๓๐ นาที คือ ๓ นาฬิกากึ่งแต่เที่ยงคืนไปจนเวลาตี ๑๐ ทุ่ม ๙ นาฑี คือ ๔ นาฬิกากับ ๙ นาฑี แต่เที่ยงคืน พระจันทร์จึงจะขาดขอบข้างทิศอาคเณแล้วจะจับหันเร่ไปข้างทิศทักษิณ จะจับเพียงเกินบาทคราธน้อยหนึ่ง คือจับส่วนหนึ่งเหลือสองส่วนถึงกลางคราธเวลาตี ๑๑ ทุ่มกับ ๑๐ นาฑี คือ ๕ นาฬิกา ๑๐ นาที แต่เที่ยงคืน แล้วจะคลายออกเยื้องข้างทิศหรดี จนเวลาสว่างแล้วเปนตี ๑๑ ทุ่มกับ ๕๓ นาฑี ในกรุงเทพมหานครนี้ ก็จะเห็นพระจันทร์ทั้งคราธค้างตกไป ยังไม่โมกษบริสุทธิ จะหลุดกันต่อเวลาย่ำรุ่งแล้ว คือ ๖ นาฬิกา ๑๑ นาฑี แต่เที่ยง ในฟ้าที่เมืองไทยแลไม่เห็น แต่เมืองอื่นตั้งแต่เบงคอลไปเขาจะเห็นได้

เมื่อวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษย์ในโลกทั้งปวงณกาลบัดนี้ มีประมาณเพียงแปดสิบปี แลต่ำลงมากว่าแปดสิบปีนั้นก็หมดไปสิ้นไป ใกล้ต่อเวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ ด้วยกันทุกคนๆ ความตายนั้นไม่เลือกหน้าว่าผู้ใดๆ เปนคนจนคนมีผู้ดีแลไพร่ คนคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีใครล่วงพ้นจากความตายนั้นได้เลย ก็แลสัตว์ทั้งปวงคนทั้งปวงมีชีวิตของตัวเปนที่รักหมดด้วยกัน กลัวตายไม่อยากตายโดยมากเปนธรรมดา แต่ว่าหาเสมอกันไม่ ลางคนได้ความทุกข์ความยากมาก เบื่อหน่ายในชีวิตของตัวบ้างคลั่งไคล้ฟั่นเฟือนเห็นวิปริตไปต่างๆ บ้าง ศรัทธาล้นเหลือเฟือฟายคิดจะทำบุญด้วยชีวิตบ้าง ผูกคอตายเชือดคอตายกินยาตายแลเผาตัวเสียก็มี ฤๅอวดกล้าหาญแขงแรงเกินประมาณไป ขึ้นไม้สูงแลเข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืน แลเข้าปล้ำปลุกกับสัตว์ร้าย ว่ายน้ำฦก แล่นเรือเล็กฝ่าคลื่นฝ่าลมแลเข้าชกต่อยตีรันฟันแทงแย่งยิงกับผู้อื่นไม่อาลัยในชีวิตคิดว่าตายไหนตายลง ฤๅกล้าเสพสุรามากเกินประมาณ ฤๅกินยากล้าแรงยิ่งนัก ด้วยอยากจะให้โรคหายเร็ว คนเช่นนี้ลางทีก็เพลี่ยงพล้ำทำให้ชีวิตตัวเสียไปก็มีบ้าง ถึงกระนั้นมีอยู่ห่างๆ ก็ผู้ที่รักชีวิตไม่อยากตายกลัวตายนั้นมีโดยมาก ถึงกระนั้นลางคนยากจนไม่มีทรัพย์สินเย่าเรือนเคหา บุตรภรรยาซึ่งเปนที่ห่วงใยอาลัย แลเห็นว่าชาติตระกูลตัวก็ต่ำ พาหนะเปนกำลังก็ไม่มี สติปัญญาก็น้อยอายุแลวัยก็ล่วงไปมากแล้ว ก็บ่นอยู่อึงๆ ว่าจะอยู่ก็อยู่ จะตายก็ตายตามแต่กำลังบุญแลบาปกรรม ฤๅตามแต่ผีสางเทวดาจะอนุเคราะห์แลไม่อนุเคราะห์ดังนี้ก็มีโดยมาก ก็ในผู้ที่มีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์โตใหญ่นั้นเล่า บางพวกก็มีปัญญาอันอบรมด้วยพระไตรลักษณปัญญาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ว่าเกิดมาคงถึงแก่ความตายไม่เที่ยง แลการทั้งปวงย่อมแปรผันไปต่างๆ ในชีวิตสัตว์ทั้งปวงแล้วความทุกข์เปนพื้น สุขเปนดอกดวงมีแต่ละเมื่อละขณะ ถึงเวลาปลายคงกลายลงหาความทุกข์ ความสุขที่ได้แล้วฤๅที่หมายว่าจะได้คงจะกลับมาเปนอารมณ์แก่ใจให้เกิดความเศร้าโศกทุกขโทมนัสมากในเวลานั้น สรรพสิ่งทุกอันในตัวนอกตัวไม่เปนตนไม่อยู่ในใต้อำนาจความอยากความปราถนา ผู้ใดปลงปัญญาเห็นดังนี้จริงๆ ผู้นั้นถึงมีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์มากก็อาจไว้อัธยาศรัยเปนกลางๆ อยู่ได้ ก็ผู้ใดไม่มีใจไม่ได้อบรมในทางปัญญาอย่างนี้ มีจิตรไม่ได้เจริญอย่างนี้ก็ย่อมรักชีวิตมาก กลัวความตายมาก ถึงแก่ชราทุพลภาพมีโรคภัยอย่างไรไปแล้ว ถ้ามีความปราถนาความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจในความคิด ก็ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงแก่ความตายมากนัก ผู้ใดกลัวตายแล้ว ถ้าจะหลบหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้เข้าเคียงช้างร้ายเสือร้ายสัตว์ร้าย ไม่ขึ้นไม้สูงไม่ว่ายน้ำฦกไม่แล่นเรือเล็กออกทเลฦก ไม่เข้าป่าเข้าดงเข้าศึกเข้าสงคราม แลการชกตีฟันแทงกับผู้อื่น แลไม่เข้าใกล้ไฟเข้าใกล้ดินปืน ไม่กินสุรามากไม่กินยาร้ายยาแรง ไม่กินของแสลงเมื่อหน้าไข้หน้าเจ็บ แลไม่ประพฤติการผิดๆ ที่เปนเหตุจะให้ต้องราชทัณฑ์ การดังว่ามานี้นั้นเปนการอันสมควรที่จะเห็นจริงด้วยกันว่าเปนทางที่จะหลีกหนีความตายอยู่แล้ว แต่ความกลัวของคนบางพวกยังยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถึงหลีกเลี่ยงดังว่ามานี้แล้ว ก็ยังมีความระแวงว่าตัวตั้งอยู่ในที่ใกล้แห่งความตาย ยังพรั่นพรึงว่าอันตรายแห่งชีวิตจะมีมา ยังคิดหาเครื่องกันความตายแลทางหลีกเลี่ยงอย่างอื่นอีกมากพ้นที่จะพรรณนา แต่การทั้งปวงนั้นไม่อาจที่จะเห็นจริงพร้อมกันได้ แต่ในคำนักปราชญ์ที่สั่งสอนสืบมาในพระคัมภีร์ที่มีในพระพุทธสาสนา ที่เปนทางกรรมวาทกิริยวาทนั้นท่านสรรเสริญทานบางอันศีลวัตรบางอย่าง กุศลกรรมบถบางตัวแลการขวนขวายบางทาง ภาวนาบางอารมณ์ บูชาบางวิธี ว่าเปนที่จะให้ออกผลให้อายุยืนในทิฏฐธรรมชาตินี้แลสัมปรายภพชาติหน้า แต่ที่จะห้ามความตายให้ขาดไม่ให้มีมานั้นไม่ได้ ถ้ายังเกิดเปนกายเปนใจอยู่ตราบใดก็คงยังต้องอยู่ในอำนาจความตายจะประหารอยู่ตราบนั้นไม่มีใครพ้นเลย ถึงใครอายุยืนมากแล้วก็ไม่ไกลกว่าคนอายุสั้นนัก เหมือนไม้แก่นไกลกว่าต้นกล้วยต้นอ้อย

ทานนั้นคือให้เครื่องกันอันตรายชีวิตสัตว์คือผ้ากรองน้ำเครื่องน้ำแลอื่นๆ แลเครื่องอุดหนุนชีวิตสัตว์ คืออาหารแลสิ่งอื่นๆ แลยาฤๅเครื่องยารักษาไข้เจ็บ แลบริจาคทรัพย์จ้างหมอให้มารักษาโรคต่างๆ แลเสียทรัพย์ช่วยให้สัตว์ที่จะตายเร็วๆ ให้รอดตายไปคราวหนึ่งๆ

ศีลนั้นคือเว้นจากปาณาติบาต แลวิหิงสาการเบียดเบียนท่านผู้อื่นเบียดเบียนสัตว์ฯ กรรมบถนั้นคือ อนภิชฌาพยาบาท การที่ไม่มุ่งหมายทรัพย์สิ่งของๆ ท่านผู้อื่น ด้วยความโลภจนถึงแช่งให้ผู้นั้นตายเพื่อประสงค์ของท่านมาเปนของตัวฯ การขวนขวายนั้น คืออุสาหะรักษาพยาบาลคนไข้ ขวนขวายหาหมอมารักษาคนไข้แลขวนขวายหายาแลแต่งอาหารที่ชอบโรคให้คนไข้ แลให้กำลังช่วยผู้รักษาไข้เจ็บฯ ภาวนาวิธีนั้น คือ ประกอบความเมตตากรุณาให้ผู้อื่นทั่วไปเสมอกับตัว แลผู้ที่เปนที่รักของตัว

บูชาวิธีนั้น คือว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัตถุสถานที่บูชานับถือแลที่อยู่ที่อาศรัย ที่สำเร็จสุขประโยชน์ทั่วไปแก่ชนเปนอันมากนั้นๆ ให้เปนปรกติดำรงอยู่สิ้นกาลนาน การทั้งปวงดังกล่าวมานี้ ท่านได้สรรเสริญว่าเปนเหตุจะให้สำเร็จเปนสภาคผล เปนเครื่องจะให้ชนมายุของสัตว์ยืนยาวในทิฏฐธรรมชาตินี้ แลสัมปรายภพชาติหน้า ก็แต่การที่หลบผีหนีสางล้างจังไรไม่เยี่ยมเยียนใกล้กลายผู้ตายผู้ไข้ หลีกเลี่ยงไปไม่ขอได้ยินข่าวไข้ข่าวตาย ด้วยกลัวว่าจะเปนอวมงคล ความร้ายความอุบาทว์จะพลอยตามมาถึงตัวด้วยดังนี้ ก็ผู้ที่ถือความสอาดดังว่ามานี้ เมื่อพิเคราะห์สืบสาวไปก็เห็นว่าตายไปๆ ต้องให้คนที่คลุกคลีอยู่กับทรากศพกินนอนอยู่ในป่าช้าฝังเผาเสียเนืองๆ ไม่รู้ขาด เพราะการที่ถืออย่างนั้นไม่เห็นจริงพร้อมกัน แลไม่ถูกต้องตามคำนักปราชญ์ที่กล่าวสอนไว้ดังว่าแล้วในข้างต้นนั้น

เพราะฉนั้นขอท่านผู้มีปัญญา จงรีบร้อนขวนขวายประพฤติการบุญการกุศลเปนความสุจริตให้มาก ด้วยกายวาจาแลใจโดยเปนการเร็ว เหมือนอย่างชนที่ศีร์ษะเพลิงไหม้ แล้วรีบร้อนจะดับไฟในศีร์ษะของตนฉนั้น สรรพการกุศลทั้งปวงพึงส่ำสมทำให้พร้อมมูลในสันดานด้วยความไม่ประมาท ด้วยประการทั้งปวงเทอญ.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ