๒๖๑ ประกาศเรื่องจะพระราชทานเบี้ยหวัดพระโอรสพระธิดา ในพระบวรราชวัง

ปีฉลูสัปตศก

[๑]สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์นี้ ขอประกาศไว้แก่พระองค์เจ้าซึ่งเปนพระโอรสพระธิดา ของสมเด็จพระปวเรนทรราเมศร์มหิศเรศร์รังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ใหญ่ฝ่ายหน้า คือกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ ฝ่ายในคือพระองค์เจ้าดวงประภาแลเจ้านายแลข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ซึ่งเปนหลักเปนประธานในราชการแผ่นดิน บรรดาที่จะได้อ่านคำประกาศนี้ ให้ทราบทั่วกันเปนความจริง ข้าพเจ้าเมื่อก่อนปีกุญตรีศกขึ้นไปบวชเปนภิกษุอยู่ถึง ๒๗ กาลฝน ถือสิกขาวินัยมั่นคงไม่ได้รับแลเก็บเงินทองเอง ไม่ได้รู้จำนวนว่ามีเท่าไรต่อเท่าไร มีประตูที่ได้เงินมาเสมอก็แต่เบี้ยหวัดแลเงินเดือนที่ได้รับพระราชทาน เงินเดือนที่ได้รับพระราชทานแต่ในหลวง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปีวอกฉศก ศักราช ๑๑๘๖ มาจนปีชวดโทศกศักราช ๑๒๐๒ สิบเอ็จปีๆ ละสิบชั่ง ตั้งแต่ปีฉลูตรีศกมาจนปีจอโทศกสิบปี ได้รับพระราชทานปีละ ๑๕ ชั่ง แต่เงินเบี้ยหวัดนั้นได้ไว้บ้าง สัสดีเขาหักแทนตัวเลขเสียมาก ข้าพเจ้าเปนภิกษุอยู่ก็ไม่รู้ที่จะไปเร่งรัดเอาแก่ผู้ใด เพราะเปนการเบียดเบียนผู้อื่น เร่งรัดเอาเงินทองเห็นว่าไม่ควร แต่เงินเดือนได้รับพระราชทานเดือนละ ๕ ตำลึงเสมอทุกเดือน ใช้สรอยเสียหมดไม่เหลือเลย มีประตูได้อีกทางหนึ่ง คือภาษีอากรที่ขึ้นมาแต่ครั้งแผ่นดินทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชื่อรายขึ้นในชื่อข้าพเจ้าปีละ๗๐ ชั่งเศษ รายขึ้นในกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทูลกระหม่อมท่านยกพระราชทานให้ ตั้งแต่พระราชทานเพลิงกรมหลวงพิทักษ์มนตรีแล้ว มีจำนวน ๖๐ ชั่งเศษ รวมสองจำนวนเปนเงินขึ้นปีละ ๑๓๐ ชั่งเศษ เงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้ทุกปี ค้างอยู่ที่นายอากรรุงรังสูญหายไปเสียโดยมาก เพราะไม่มีอำนาจที่จะเร่งเอา มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถูกเฉลี่ยเมื่อเลิกอากรค่าน้ำ เงินตกไปทั้งสองรายโดยมาก เพราะแผ่นดินก่อนๆ ภาษีอากรต่างๆ มีแต่เตาสุราค่าน้ำตลาดสมพักสรบ่อนเบี้ยเท่านั้นไม่มีภาษีต่างๆ เหมือนอย่างครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยักย้ายอย่างธรรมเนียมภาษีอากรไปมากกว่าครึ่ง คงเงินในจำนวนชื่อข้าพเจ้าเพียงสักสี่สิบชั่งเศษ ก็จำนวนเงินขึ้นสองรายนี้ นายช้างที่เปนพระยาราชภักดีเปนเจ้าจำนวนเก็บมา ก็เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ท่านยังไม่สิ้นพระชนม์ ท่านเรียกรวบรวมไปเก็บไว้แล้วท่านให้แจกเบี้ยหวัดบ่าวข้าพเจ้าเสียทั้งผู้ชายผู้หญิงทุกปีๆ ละ ๕๐ ชั่งเศษ มาเมื่อปีมะแมสัปตศก ศักราช๑๑๙๗ เงินขึ้นข้าพเจ้าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ท่านเอาไปทำวิหารวัดหงส์เสียหมดหาแจกแก่บ่าวข้าพเจ้าไม่ เลขทาสผู้ชายหลายคนเปนของกรมหลวงพิทักษ์มนตรี สั่งไว้ให้แจกหม่อมเจ้าที่เปนบุตรแลธิดาของท่าน ตัวเลขไม่สมัคให้แจกแยกย้ายกันไป สมัคจะอยู่กับข้าพเจ้าเปนอันมาก ยอมไปอยู่กับหม่อมเจ้าเหล่านั้นแต่น้อยตัว สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ท่านจึงชักเงินของท่านออกประทานให้หม่อมเจ้าที่จะได้ส่วนแบ่งปันตัวเลขต่อไป คิดนับตัวคนๆ ละชั่งมากกว่าเกษียณอายุ ตามลัทธิของท่านที่ถือว่าให้เงินถ่ายค่าตัวคนไปให้พอที่จะช่วยคนใช้ได้นั้น ตัวเลขทาสเหล่านั้นท่านประทานข้าพเจ้าไว้ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อท่านไปรับทำวัดหงส์ ท่านจะมาเรียกเอาคนเหล่านี้ไปทำวัด ข้าพเจ้าไม่ยอมถวายเพราะไม่มีใครจะใช้พายเรือ ท่านกริ้วข้าพเจ้าท่านลำเลิกของท่านท่านช่วยให้ ข้าพเจ้าจึงว่าถ้าอย่างนั้น ให้ท่านหักเอาเงิน ๕๐ ชั่งเศษของข้าพเจ้าที่เอาไปทำวัดนั้นเสีย เปนอันใช้เงินของท่าน ถึงเงินของข้าพเจ้าเกินไปก็ยอมถวายเปนกำไรดอกเบี้ยเงินของท่าน เมื่อท่านเห็นว่าตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เลขทาสเหล่านั้นนานปีมาแล้ว ดอกเบี้ยของท่านขึ้นถึงต้นเท่าดอกท่านจะให้ใช้จนต้นเท่าดอก ก็จะไปเที่ยวยืมเงินญาติพี่น้องขึ้นมาถวายให้เต็ม ด้วยเงินของข้าพเจ้าที่ท่านเอาไปทำวัดเสียนั้น ก็มากกว่าเงินเดิมของท่านอยู่แล้ว โดยจะต้องใช้ให้ต้นเท่าดอกก็ไม่มากนัก ความก็เปนนิ่งกันไป ตั้งแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์สิ้นพระชนม์แล้ว เงินภาษีอากรขึ้นปีละ ๕๐ ชั่งเศษ พระยาราชภักดีไปเก็บได้มาบ้างไม่ได้บ้าง จะเปนปีละเท่าไรข้าพเจ้าก็ไม่รู้เลย ก็แจกบ่าวไพร่ที่ได้ใช้สรอยเสียบ้าง ทำวัดบรมนิวาสวัดบวรนิเวศบ้าง กรมหมื่นมเหศวร กรมหมื่นวิษณุนาถเอาไปใช้บ้างก็หมดไป สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์เมื่อท่านประชวรจะสิ้นพระชนม์ ท่านมอบเงินให้กรมขุนกัลยามา ๑๕๐ ชั่งเศษ เปนส่วนมรดกของท่าน ๕๐ ชั่ง อีก ๑๐๐ ชั่งท่านรับสั่งว่าเปนเงินเบี้ยหวัดเดิมของข้าพเจ้าท่านทรงเก็บไว้ แลท่านได้เอาไปทรงใช้สรอยในการทำวัดหงส์เสียบ้าง รับสั่งว่าขอเสียเถิด กับท่านได้ประทานเงินอีก ๑๐๐ ชั่งมอบให้เจ้าพระยาพลเทพหลงมาส่งให้เงียบๆ ก็เงินซึ่งเปนมรดกสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์นั้น ข้าพเจ้าไม่ได้เอาไว้เลย ราย ๑๐๐ ชั่งซึ่งไปทำพระเจดียวัดบรมนิวาสหมด อีก ๕๐ ชั่งนั้นได้จ่ายจ้างช่างเขียนวัดบวรนิเวศ ๑๑ ชั่งเศษ เหลือนั้นทำบุญพระอัฐิสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์หมด เมื่อเวลาภายหลังแต่การถวายพระเพลิงนั้น เงินเบี้ยหวัดเดิมข้าพเจ้าอยู่ที่กรมขุนกัลยาสุนทร ๆ กับเจ้าพี่น้องทำปุยี่ปุยำไป เมื่อเวลากรมขุนกัลยาสุนทรกับเจ้าพี่น้องล่วงไปแล้วไม่ได้ตัวเงินมา ได้แต่รายจำหน่ายต่างๆ ที่จำหน่ายไม่ตกก็ได้สารกรมธรรมมาบ้าง สารกรมธรรมนั้นมีตัวลูกหนี้บ้าง ไม่มีตัวลูกหนี้บ้าง

กรมหมื่นวิษณุนาถเรียกร้องอย่างไรก็ไม่รู้เลย แต่ลูกหนี้ที่เปนผู้มีบรรดาศักดิ์ทอดสู้เอาไม่ใช้จนทุกวันนี้ ฤๅตายไปในเร็วๆ ก็ยังมี ก็ยังเงินๆ ภาษีอากรบ้าง เงินเบี้ยหวัดที่เหลือจากสัสดีหักไว้แลใช้สรอยบ้างนั้น กรมหมื่นวิษณุนาถเก็บไว้เปนตัวเงิน ที่มีอยู่เมื่อปลายปีจอจัตวาศก ๑๐๐ ชั่งเศษ เปนทุนเดิมของข้าพเจ้าก่อนเข้ามาในพระบรมมหาราชวังนี้ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ท่านผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงยอมให้ข้าพเจ้าเปนเจ้าแผ่นดิน ได้เข้ามาอาศรัยอยู่ในคลังสุภรัตก่อนราชาภิเษกเดือนครึ่ง เจ้าภาษีนายอากรต่างๆ เอาเงินมาเพิ่มเติมให้รายละเล็กน้อยประมาณ ๖๐ ชั่ง ก็ครั้งนั้นเพราะจัดแจงการแผ่นดิน แลให้ข้างโน้นข้างนี้ต่างๆ ในเวลาว่างยังไม่ได้ราชาภิเษก ข้าพเจ้าไม่ให้ใช้เงินคลังเพราะยังไม่ได้เปนเจ้าแผ่นดินจะใช้เงินคลังในการของตัวไม่ควร เงิน ๑๖๐ ชั่งเศษนั้นก็หมดแต่ก่อนราชาภิเษก เมื่อราชาภิเษกแล้วเงินเหลืออยู่ ๑๐๐ บาท ข้าพเจ้าจึงได้มาร้องแก่กรมหลวงวงศาธิราชสนิทว่า ข้าพเจ้าเปนเจ้าชีวิตมีเงินชั่งเดียวเหมือนชาวนอกว่าเจ้าชีวิตเห็นจะมีเงินถึงชั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงปฤกษาเสนาบดีบังคับให้ชาวคลังยกเงินคงคลังให้ข้าพเจ้าใช้สรอยครั้งหนึ่ง ๑๐๐ ชั่ง แล้วเพิ่มให้อีก ๑๐๐ ชั่งด้วยตัดสินกันว่า เมื่อเวลาว่างเจ้าแผ่นดินที่ราชาภิเษกแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้ออกเงินของข้าพเจ้าไปในราชการต่างๆ มาก ข้าพเจ้าก็เอาเงิน ๒๐๐ ชั่งนั้นทำทุนหากำไรต่อมา ได้ซื้อสินค้าฝากเรือไปขาย แลให้มีผู้กู้ยืมเอาดอกเบี้ย ภายหลังมีผู้เกื้อหนุนแต่ข้างโน้นข้างนี้อีกก็ค่อยมีทรัพย์เจริญมา เพราะตั้งแต่ราชาภิเษกแล้ว การจับจ่ายทั้งปวงใช้เงินงวดเงินคลังตามธรรมเนียมเดิมทุกอย่างไม่ต้องชักเงินทุนเรือนออกใช้ เมื่อข้าพเจ้าเปนเจ้าแผ่นดินอยู่นี้ ข้าพเจ้าไว้ตัวเปนผู้รักษาแผ่นดิน ไม่ได้สำคัญเงินทองพระคลังของเก่าของใหม่ข้างในข้างหน้า ว่าเปนทรัพย์สินของตัว เงินที่มีในจำนวนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเก็บไว้ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เอาไปข้างไหน รวบรวมไว้สำหรับแผ่นดินตามเดิมทั้งเงินทั้งทอง ได้จ่ายไปแต่เงินรายหมื่นชั่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เขียนหนังสือขอทำพระอารามที่ค้าง จึงได้จ่ายไปในการพระอารามที่ค้างมาแต่แผ่นดินนั้นหมดไปบ้าง ก็แลการจ่ายต่างๆ ตามเคยอย่างแต่ก่อน ก็ดูอย่างตามแบบบาญชีเก่าแล้วจ่ายไปทุกช่องทุกประตู ก็การจ่ายซึ่งเปนการใหม่ๆ คือยกไปเปนเบี้ยหวัดเงินเดือนในพระบวรราชวังก็ดี เพิ่มเบี้ยหวัดเงินเดือนเจ้าต่างกรมไม่มีกรมก็ดี จ่ายหัดทหารขึ้นก็ดี ทำเรือรบเรือกลไฟก็ดี ทำการพระราชวังแลพระนครก็ดี ข้าพเจ้าได้ปฤกษาเจ้านายผู้ใหญ่ แลท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันตั้งลงเปนตำราแล้ว จึงได้ใช้จ่ายไป ที่ยังไม่ได้ปฤกษาก็ใช้ไปตามแบบเก่าจนทุกวันนี้ ก็เงินที่ได้นอกจากจำนวนขึ้นท้องพระคลังตามตราตั้งเจ้าภาษีนายอากร แลเงินส่วยหัวเมือง แลตัวเลขไพร่หลวงส่วยตามเคยสำหรับแผ่นดิน ฤๅบรรณาการแต่หัวเมืองขึ้นแก่แผ่นดิน เงินทั้งปวงนี้ก็ใช้ในรวมเบี้ยหวัดอย่างหนึ่ง จ่ายราชการต่างๆ ตามตำราเก่า แลตำราใหม่อย่างหนึ่ง เปนเงินสิ้นไปปีหนึ่งๆ สองหมื่นชั่งขึ้นไปไม่ต่ำลงมา ก็แต่เพราะข้าพเจ้าอุส่าห์เสือกสนหาตามกำลังด้วยไว้ตัวเหมือนอย่างไม่ได้เปนเจ้าแผ่นดิน ก็มีเงินขึ้นด้วยค้าขายได้กำไรบ้าง ท่านข้างโน้นข้างนี้มีคุณูปการช่วยหาให้บ้าง ให้ชาวนอกประเทศกู้ยืมได้ดอกเบี้ยบ้าง มีขึ้นจึงได้จับจ่ายให้เปนคุณแก่บุตรภรรยาข้าพเจ้า นอกจากเบี้ยหวัดแลเงินเดือน ซึ่งพระเจ้าลูกเธอแลเจ้าจอมข้างในได้รับพระราชทานมา เบี้ยหวัดแลเงินเดือนที่แจกแก่บุตรภรรยาข้าพเจ้า แลพี่เลี้ยงนางนมของบุตรข้าพเจ้า ที่เอาเงินคลังไปนั้นก็แต่ตามตำราเก่า ตามอย่างก่อนเจ้านายในพระบรมมหาราชวังได้ไปเท่าใดก็ให้ไปเท่านั้นตามใหญ่ตามน้อย เหมือนอย่างแต่กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ก็ได้เบี้ยหวัดปีละ ๑๕ ชั่ง เงินเดือนๆ ละ ๕ ตำลึง เหมือนกับกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหมือนอย่าง “ยิ่งเยาวลักษณ” “ทักษิณชา” “โสมาวดี” เปนลูกใหญ่โกนจุกแล้วก็ให้เบี้ยหวัดแห่งละ ๑๐ ชั่ง เงินเดือนๆ ละ ๓ ตำลึง เหมือนพระองค์เจ้าดวงเดือน เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชายจุฬาลงกรณ์ ตั้งเปนต่างกรมแล้ว ก็ให้เบี้ยหวัด ๑๐ ชั่ง เงินเดือนๆ ละ ๕ ตำลึง เหมือนอย่างตัวข้าพเจ้าเมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรนอกนั้นให้แห่งละ ๕ ชั่งบ้าง ๔ ชั่งบ้าง ๓ ชั่งบ้าง ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ๒ ชั่งถ้วนบ้าง ตามที่ใกล้แลไกลใหญ่แลน้อย ที่ได้ใช้สรอยเรียกว่าใกล้ ที่ไม่ได้ใช้สรอยเรียกว่าไกล อายุมากเรียกว่าใหญ่ อายุเด็กเรียกว่าน้อย แจกดังนี้ตามอย่างเก่า คล้ายกับบาญชีเก่าในแผ่นดินที่ล่วงแล้ว

อนึ่งเมื่อครั้งแผ่นดินก่อน เจ้าจอมอยู่งานมีครรภ์พระเจ้าอยู่หัวท่านประทานเงินเลี้ยงครรภ์รายละ ๑๐ ชั่งบ้าง ๘ ชั่งบ้าง ๗ ชั่งบ้าง แลเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแต่รายละ ๕ ชั่ง แล้วพระราชทานสายสอิ้งทองคำหนัก ๘ บาทบ้าง ๙ บาทบ้างทุกราย ก็เงินที่จ่ายเลี้ยงครรภ์แลทองสายสอิ้งรักษาครรภ์นั้นก็เอาเงินทองในท้องพระคลังจ่ายไปทุกแผ่นดิน มีฎีกาหมายรับสั่งเบิกมีบาญชีจดเอิกเกริกไป ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนการอะไรมิรู้อยู่ ตั้งแต่ข้าพเจ้าเข้ามามีบุตรถึง ๖๖ แล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้เบิกไม่ได้เรียกเงินคลังเปนเงินเลี้ยงครรภ์เลย ข้าพเจ้าให้เงินของข้าพเจ้าเองไปทุกราย แต่ทองนั้นข้าพเจ้าให้ย้ายเสียจากสายสอิ้งครรภ์รักษา ให้ทำเปนจอกมีพานรองมีช้อนตัก รวมเปนทองหนัก ๘ บาทบ้าง ๑๐ บาทบ้าง ให้แก่บุตรที่เกิดใหม่เปนขวัญแรก ทองที่ทำจอกขันช้อนนี้ ข้าพเจ้าให้เบิกเอาแต่พระคลังทองเพื่อจะไม่ให้สูญตำรา ที่อย่างเก่าเคยมีมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสายสอิ้งครรภ์รักษานั้น แต่ไม่ยกชื่อว่าเปนของมารดา ให้ยกชื่อว่าเปนของบุตรที่นับเข้าในเชื้อสายเจ้านายในแผ่นดิน จะว่าถึงเบี้ยหวัดเจ้านายในพระบวรราชวังนั้น ข้าพเจ้ามีความเสียใจนัก เพื่อจะยืนยันอย่างธรรมเนียม ตามที่ได้ดูบาญชีเก่าเปนตำรามาทั้งสามแผ่นดินที่ล่วงแล้ว เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อปีมีกรมพระราชวังอยู่เจ้านายในพระบวรราชวังตั้งแต่เจ้าฟ้าพิกุลทองลงมา ไม่มีนามในบาญชีเบี้ยหวัดแลเงินเดือนเลย มีแต่แบ่งเงินไปแจกเบี้ยหวัดในพระบวรราชวังปีละ ๕๐๐ ชั่ง แต่เงินเดือนในพระบวรราชวังนั้น ต้นแผ่นดินสามปีมีบาญชีว่าเดือนละ๕ ชั่ง แล้วต่อมาอีกเจ็ดปีมีบาญชีว่าเดือนละ ๑๐ ชั่ง ต่อมาอีกสิบเอ็จปีมีบาญชีว่าเดือนละ ๒๐ ชั่ง ต่อมาภายหลังเมื่อกรมพระราชวังไม่มีแล้ว เจ้านายในพระบวรราชวังจึงมีบาญชีเบี้ยหวัดองค์ละ๒ ชั่งขึ้นไป ๑๐ ชั่งลงมา ตามใหญ่ตามน้อย แต่เงินเดือนมีเจ้าฟ้าพิกุลทองที่เปนกรมขุนศรีสุนทร แลกรมหมื่นเสนีเทพแลพระองค์เจ้าดุษฎีเท่านั้น ครั้นเมื่อตั้งวังหน้าใหม่ที่พระราชวังเดิม ข้าราชการในพระบวรราชวังขุนนางข้างหน้ามารับในพระบรมมหาราชวังหมด เงินรวมทั้งปีมากๆ น้อยๆ ไม่เสมอกัน แต่เจ้านายนั้นได้รับพระราชทานบ้าง ไม่ได้รับพระราชทานบ้าง ได้รับพระราชทานแต่ที่ได้เข้ามาเฝ้าในพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงรู้จักแล้วรับสั่งให้พระราชทานจึงได้ ไม่ได้รับสั่งแล้วก็ไม่ได้ การเปนดังนั้นมาแต่ครั้งเปนต่างกรม แต่ข้าราชการข้างในนั้นได้รับพระราชทานแต่คุณศรีที่เรียกว่าคุณผู้เดียว นอกนั้นได้รับพระราชทานแต่จ่าทนายเรือนแลโขลนที่ยกแบ่งไปจากพระบวรราชวังเก่า ถึงกระนั้นก็ได้มารับพระราชทานในบาญชีรวมพร้อมกันกับข้าราชการในพระบวรราชวังเก่า ซึ่งรักษาพระบวรราชวังอยู่นั้น แต่เงินเดือนในพระบวรราชวังนั้นแต่แรกได้ตั้งพระราชทานไปแต่เดือนละชั่ง ภายหลังพระราชทานเดือนละ ๓ ชั่ง ของจับจ่ายทุกสิ่งเบิกแต่พระคลังในพระบรมมหาราชวังบ้าง จัดซื้อเอาแต่เงินกำไรสำเภาบ้าง ว่าถึงการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเท่านี้

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระราชทรัพย์ขัดสน เงินท้องพระคลังจะแจกข้าราชการไม่พอ ต้องลดกึ่งแลแบ่งสามให้แต่สองแทบทุกปี เงินไม่มีต้องเอาผ้าตีให้ก็มีบ้าง มีบาญชีแต่ว่าไปขอยืมเงินในพระบวรราชวังมาแจกเบี้ยหวัด แล้วจึงเก็บเงินค้างใช้คืน เพราะครั้งนั้นในพระบวรราชวังค้าสำเภามีกำไรมาก เงินพอเบี้ยหวัดเปนข้าราชการในพระบวรราชวัง ต่อปีไรสำเภาในพระบวรราชวังเสียพระราชทานขึ้นไปบ้างน้อยๆ มากๆ ไม่เสมอตำรา แต่เงินเดือนๆ ละ๒๐ ชั่งเสมอ แต่พระองค์เจ้านั้นเมื่อกรมพระราชวังยังมีอยู่ ได้รับพระราชทานตามบาญชีเดิมที่เคยได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรมหมื่นธิเบศรบวร พระองค์เจ้าประชุมวงศ ได้รับพระราชทานองค์ละ ๓ ชั่ง นอกนั้นก็ได้น้อยๆ ลงมาจนถึงที่พระเยาว์ยังไม่โสกันต์ได้องค์ละ๕ ตำลึง โสกันต์แล้วองค์ละ ๑๐ ตำลึง ที่มาแต่วังบ้านหลวงเดิมก็ดี ที่ประสูติใหม่ในพระบวรราชวังก็ดี ที่ยังไม่ได้โสกันต์ได้รับพระราชทาน ๕ ตำลึง ที่โสกันต์แล้วก็ ๑๐ ตำลึง เหมือนกับหม่อมเจ้าในวังเจ้าต่างกรม แลว่ากันว่าพระองค์เจ้าในพระบวรราชวัง ในแผ่นดินปัตยุบันเวลานั้นๆ ควรได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดในเงินรวมสำหรับในพระบวรราชวัง ซึ่งได้พระราชทานไปดังว่าแล้วนั้น แต่ตามบาญชีเก่าที่เคยมาแต่แผ่นดินก่อน ต่อมาถึงปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๑๗๗ กรมพระราชวังไม่มีแล้ว พระองค์เจ้าในพระบวรราชวังจึงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมากขึ้น คือพระองค์เจ้าประยงก์เปนพระองค์ใหญ่ โปรดให้เปนกรมหมื่นธิเบศรแล้วพระราชทานเบี้ยหวัด ๑๐ ชั่ง พระองค์เจ้าหนูปานซึ่งเปนกรมหมื่นอมรมนตรีบัดนี้ กับพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ประชุมวงศ ได้รับพระราชทานองค์ละ ๕ ชั่ง นอกนั้นได้รับพระราชทานองค์ละ ๓ ชั่งบ้าง ๒ ชั่งบ้าง ชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ชั่งหนึ่งบ้างตามใหญ่แลน้อย แต่เงินเดือนเจ้านายในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีบาญชีว่าได้รับพระราชทานแต่ตามเคยได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่พระราชทานขึ้นใหม่ไม่มี ๆ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมาได้วังหม่อมเหมนเปนวังแล้ว เบี้ยหวัดที่หม่อมเหมนเคยได้สามสิบชั่งทุกปี เงินเดือนๆ ละ ๑๐ ตำลึงทุกเดือนก็ได้รับพระราชทานแต่ปีแรกมาอยู่วังนั้น จนสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ



[๑] ประกาศฉบับนี้ไม่จบ เห็นจะทรงร่างไว้ไม่ได้ออก แต่เห็นท้องเรื่องเปนคติจึงนำมาพิมพ์ไว้ด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ