คำนำ

ในงานฌาปนกิจศพ นางอนงค์ สิงหศักดิ์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม กำหนดวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นายอุทัย สิงหศักดิ์ ผู้เป็นสามี ได้มาแจ้งแก่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่ามีความประสงค์จะขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือ เรื่องนิราศไทรโยค พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์

นิราศไทรโยคนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสน้ำตกไทรโยคเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ทรงพระนิพนธ์แสดงพระนามในฐานะผู้ประพันธ์ไว้ในโคลงบทที่ ๑๔๓๙ ว่า

“สังเวชอนิตย์ลักษณโอ้ อนาถองค์
นราธิปประพันธ์พงศ์ ชื่อข้า
วรวรรณพจบบรรจง จบนิราศ แล้วรา
อีกไม่นานไม่ช้า ชื่อทั้งตัวตาย

เรื่องนิราศไทรโยคนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์เป็นโคลงสี่สุภาพรวม ๑๔๔๑ บท เป็นทำนองบันทึกประจำวัน ทรงบรรยายธรรมชาติและสถานที่ต่างๆ ที่เรือผ่านไป ทรงพรรณนาถึงธรรมชาติตลอดจนความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนในที่ต่างๆ เหล่านั้น ทรงสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้พระนิพนธ์เรื่องนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างมากด้วย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันเหตุการณ์สถานที่และสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงกล่าวถึงในนิราศนี้ได้เปลี่ยนแปลงสูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนคุณค่าทางด้านวรรณคดีนั้น พระองค์ได้ทรงเลือกสรรถ้อยคำได้งดงามเหมาะแก่ลีลาของเรื่องแต่ละตอน ในที่บางแห่งทรงใช้ถ้อยคำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงน้ำไหล อันเป็นลักษณะองค์ประกอบของวรรณศิลปที่สำคัญ ซึ่งกวีน้อยคนจะสามารถทำได้ อีกประการหนึ่งได้ทรงแสดงลักษณะพิเศษของพระองค์ในการเรียบเรียงร้อยกรองถ้อยคำอันเป็นคุณลักษณะที่ควรสรรเสริญ นับได้ว่านิราศไทรโยคเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าน่าอ่านและน่าศึกษาอย่างยิ่ง

หนังสือเรื่องนิราศไทรโยคนี้ ต้นฉบับเป็นพิมพ์ดีด ซึ่งนายโชติ ยุวสุทธ์ ได้กรุณานำมาให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ เข้าใจว่ายังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่เลย ทั้งนี้เพราะผู้ทรงพระนิพนธ์ได้แสดงพระประสงค์ไว้มิให้ตีพิมพ์เรื่องนิราศไทรโยคนี้ออกเผยแพร่จนกว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ดังปรากฏในบทพระนิพนธ์ว่า

“อนึ่งเป็นความลับล้วน จริงใจ พี่รา
สารพัดชมสิ่งใด พบด้วย
ใช่เสกใส่สรรพ์พิไลย นิราศเรื่อง ลมเลย
ทุกสิ่งสิงขรห้วย แห่งได้ไปเห็น
บางคำเป็นข้อเรี่ยว แรงกระมัง แม่เอย
โอสถผสมสัตย์ฟัง เผื่อนบ้าง
ใครชิมผิดชอบสัง เวชชอบ อ่านแม่
ฉวยพิโรธปองโทษมล้าง พี่แล้วเหลือระอา
พี่ยายังไม่ม้วย มรณ์ลา โลกเอย
จงอย่าเผยพจนา นิราศนี้
พี่ฝากพี่ฝังคา รมลับ หนะแม่
เผื่อบุตรสุดสวาทดิ์ชี้ ช่องให้เห็นทาง”

ที่ว่า “บางคำเป็นข้อเรี่ยว แรงกระมัง พี่รา” นั้น ก็เพราะได้ทรงบันทึกแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง ความประพฤติของเจ้านาย ขุนนางและบุคคลชั้นสูงในวงราชการหลายคน ตลอดจนทรงแสดงความรู้สึกนึกคิดส่วนพระองค์ที่มีต่อราชการและสังคม ตลอดจนการต่างประเทศสมัยนั้นไว้หลายประการ ซึ่งทรงเกรงว่าจะเป็นข้อบาดหมาง อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าพระนิพนธ์เรื่องนี้ได้สะท้อนภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ชัดเจนและยังได้ทรงแทรกคติและปรัชญาของชุมชนไว้เป็นอันมาก ตัวอย่างเช่น การปราบปรามผู้ร้ายที่ราชบุรี ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“ราชบุรีมีแต่ปล้น สดมยิง กันนา
ถึงจับถึงเอาจริง ไม่คร้าม
เป็นแหล่งนักเลงพิง พะรอบ ด้านแม่
ตามจับกลับหนีข้าม เขตรไผล้ไปมา
เห็นว่าจักสงบด้วย แสดงฤทธิ์
ไว้สง่าอาญาสิทธิ์ อย่างแกล้ว
ให้ระย่อฝ่อใจคิด กลัวโทษ ไภยแม่
ขืนหง่อยค่อยจับแล้ว ยากห้ามปรามเข็ญ
เช่นคิดกันคิดแก้ โรคา ก็ดี
กับโรคเบาแรงยา แพทยด้วย
การแก้โรครักษา ลำบาก แม่เอย
บ้างก็หายบ้างม้วย ไม่พ้นคนฉาว”

การที่กรมศิลปากรได้ให้จัดพิมพ์พระนิพนธ์เรื่องนี้ก็เพื่อสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมทางวรรณคดี และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของผู้ทรงพระนิพนธ์ ในฐานะกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้พยายามแสวงหาฉบับมาตีพิมพ์เผยแพร่ ดังได้ฟื้นฟูพิมพ์พระนิพนธ์เรื่องสำคัญ ๆ ไปแล้วหลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่องพระลอ รุไบยาต เป็นต้น และต่อไปจะพยายามจัดหาพระนิพนธ์เรื่องอื่น ๆ มาตีพิมพ์เผยแพร่อีก

พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันนี้หาฉบับอ่านและศึกษาได้ยาก กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พิจารณาเห็นว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมควรจะจัดพิมพ์ทระนิพนธ์ของพระองค์ให้แพร่หลาย เป็นการเทิดทูนพระเกียรติคุณให้กว้างขวางและยังเป็นทางสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมทางวรรณคดีของชาติให้ยั่งยืนสืบต่อไปอีกด้วย ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จึงขอประทานอนุญาตจาก พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เจอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในฐานะที่ทรงเป็นทายาท ก็ประทานอนุญาตให้กรมศิลปากรพิมพ์พระนิพนธ์ดังกล่าวเผยแพร่ได้ทุกกรณี กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์จึงแสวงหาฉบับมาตีพิมพ์ และได้ฟื้นฟูพิมพ์พระนิพนธ์เรื่องสำคัญ ๆ ไปแล้วหลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่องพระลอ รุไบยาต เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะพยายามจัดหาพระนิพนธ์เรื่องอื่น ๆ มาตีพิมพ์โดยแพร่อีก

การจัดพิมพ์นิราศไทรโยคครั้งนี้ ได้ให้พิมพ์ตามต้นฉบับทุกประการ ทั้งนี้เพือจะให้ผู้อ่านได้ศึกษาวิธีเขียนหนังสือของคนในสมัยเมื่อแปดสิบกว่าปีมาแล้วด้วย

อนึ่ง เจ้าภาพได้เรียบเรียงประวัติ นางอนงค์ สิงหศักดิ์ ผู้วายชนม์ ให้พิมพ์ไว้ต่อจากคำนำนี้

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทานซึ่งเจ้าภาพได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ นางอนงค์ สิงหศักดิ์ และได้ให้พิมพ์หนังสือนี้แจกจ่ายเป็นกุศลสาธารณประโยชน์ ขออำนาจกุศลทั้งปวงนี้จงเป็นพลวปัจจัยส่งเสริมให้นางอนงค์ สิงหศักดิ์ ผู้วายชนม์ ประสบแต่อิฏฐคุณมนุญผลตามควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ สมดังมโนปณิธานของเจ้าภาพทุกประการ เทอญ.

(สมภพ ภิรมย์)

อธิบดีกรมศิลปากร

กรมศิลปากร

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ