- คำนำ
- ภาคที่ ๑ ว่าด้วยพงษาวดาร
- ภาคที่ ๒ ว่าด้วยตำนานแลทำเนียบต่างๆ
- ลำดับกระษัตริย์
- ตำนานของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ
- จดหมายเหตุรบพม่า
- ชื่อเมือง
- มหาเจดียสถาน
- เรื่องพระพุทธบาทแลพระฉาย
- แผนที่กรุงศรีอยุทธยา
- ชื่อวัด (พระอารามหลวง) ในกรุงศรีอยุทธยา
- พระราชวังหลวง
- ปราสาทราชมณเฑียร
- พระราชวังบวร
- บาญชีพระนามเจ้านาย
- ชื่อขุนนางวังหลวง
- เครื่องยศขุนนาง
- รวางช้างต้น
- ชื่อรวางม้าต้น
- รถพระที่นั่ง
- ชื่อเรือพระที่นั่ง
- ชื่อเรือขบวน
- สมณศักดิ์
- ชื่อปืนใหญ่สำหรับกรุงศรีอยุทธยา
- ราชประเพณีกรุงศรีอยุทธยา
พระราชพิธี ๑๒ ราษีตามพระตำรา
พระราชพิธีละแลงสุก (เถลิงศก) เมื่อสงกรานต์ (๑) (พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จไป) สรงน้ำพระ (พุทธปฏิมากร) ศรีสรรเพชญ์ (เทวรูป) พระพิฆเนศวร (๒) โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามาสรงน้ำแลรับพระราชทานอาหารบิณฑบาต แลจตุปัจจัยทาน ที่ในพระราชวังทั้ง ๓ วัน (๓) ทรงก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ แลมีการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย (๔) ตั้งโรงท่อทานเลี้ยงพระแลราษฎรซึ่งมาแต่จาตุรทิศ มีเครื่องโภชนาหารคาวหวาน น้ำกินน้ำอาบแลยารักษาโรค พระราชทานทั้ง ๓ วัน
เดือน ๖
พระราชพิธีจรดพระนังคัล (คือแรกนาขวัญ) พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาโปรดให้พระภิกุมาร (พระจันทกุมาร) แรกนาต่างพระองค์ ส่วนพระมเหษีนั้นก็จัดนางเทพีต่างพระองค์เหมือนกัน ผู้แรกนานั่งเสลี่ยงเงิน มีกระบวนแห่เปนเกียรติยศ แห่ไปยังโรงพิธีซึ่งตั้งที่ตำบลวัดผ้าขาว ครั้นถึงเวลามงคลฤกษ์ พระภิกุมารถือคันไถอันเทียมด้วยโคอุศุภราช (ออกยา) พลเทพจูงโคไถ ๓ รอบ นางเทพีหว่านพันธุเข้าเสร็จแล้วจึงปลดโคอุศุภราชออกให้กินน้ำ แลถั่วงา เข้าเปลือก ถ้ากินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่าง ๆ ภายในเวลาการพระราชพิธีจรดพระนังคัล ๓ วันนี้ ยกพระราชทานภาษีค่าท่า แลอากรขนอนตลาดแก่พระภิกุมาร เมื่อได้ทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลแล้ว ราษฎรจึงลงมือไถหว่านทำนาได้
เดือน ๗
พระราชพิธีตุลาพาน พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จประทับเหนือสุวรรณราชบัลลังก์ ทรงเสดาะพระเคราะห์ แล้วทำพระราชพิธีมังคลาภิเศก แล้วเอาเงินบาทชั่งให้หนักเท่าพระองค์พระราชทานแก่พราหมณ์
เดือน ๘
พระราชพิธีอาสาธ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา (๑) ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวชนาค เปนภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง รวมจำนวนเท่าพระชนมายุ (๒) มีการมโหรศพสมโภชพระพุทธสุรินทร (ในหนังสือเรื่องนี้หมายความว่า พระพุทธสิหิงค์) ๓ วัน ๓ คืน (๓) ทรงหล่อเทียนพรรษาจบพระหัดถ์แล้วในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ส่งไปถวายเปนพุทธบูชาตามพระอาราม ทั้งในกรุงแลหัวเมือง
เดือน ๙
พระราชพิธีนารายน์ปธมสินธุ มีการมโหรศพที่พระที่นั่งมหาปราสาทปัญญารัตนา (เบ็ญจรัตนามหาปราสาท) พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาสรงมุรธาภิเศก แล้วเปลื้องเครื่องทรงเมื่อสรงสนานพระราชทานแก่พราหมณ์
เดือน ๑๐
พระราชพิธีภัทรบท (๑) พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงฉลองพระภิกษุสามเณร ซึ่งทรงพระกรุณาให้บวชเปนนาคหลวง (๒) พวกพราหมณ์ทำพิธีรำขอทอดเชือกดามเชือก (๓) สนานช้างต้นม้าต้น
เดือน ๑๑
พระราชพิธีอาสวยุช (๑) พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงเรือพระที่นั่งกิ่งลำ ๑ พระอรรคมเหษีทรงลำ ๑ แข่งเรือกัน แล้วโปรดให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลายแข่งเรือกันโดยอันดับ ทำพระราชพิธีนี้ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำจนแรมค่ำ ๑ รวม ๓ วัน พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงเครื่องขาว พระมหามงกุฎก็ทำด้วยเงิน (๒) เวลากลางคืนพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จลงลอยพระประทีปอุทิศถวายเปนพุทธบูชาแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งกิ่งประทับยืนไปในเรือ พร้อมด้วยเรือเสนาอำมาตย์อันประดับด้วยประทีปแห่เสด็จรอบพระนคร (๓) มีการเลี้ยงลูกขุนพระราชทานข้าราชการทั้งปวง (๔) เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินตามพระอารามในกรุง ส่วนพระอารามตามหัวเมืองนั้น พระราชทานไปให้เจ้าเมืองกรมการทอด
เดือน ๑๒
(๑) พระราชพิธีจองเปรียง ตามประทีป (ชักโคม) ในพระราชวัง แลตามบ้านเรือนทั้งในพระนครนอกพระนครทั่วกัน กำหนด ๑๕ วัน (๒) ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอผ้าให้เสร็จในวันเดียวแล้ว (เอาผ้าผืนนั้นพระราชทานพระกฐิน)
เดือนอ้าย
พระราชพิธีคลิม (น่าจะหมายความว่าขอลม) คือพิธีชักว่าวเรียกลม
เดือนยี่
พระราชพิธีบุษยาภิเศก ตั้งพระมณฑป เอาดอกไม้ ๗ สีมาเรียงไว้ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จประทับเหนือบัลลังก์ดอกไม้นั้น จำเริญพระนขา แล้วพราหมณ์จึงถวายมุรธาภิเศก
เดือน ๓
พระราชพิธีขั่นด่อ (น่าจะหมายความว่าธานยะเทาะห์) (คือพิธีเผาเข้าก็เปนได้ แต่รายการพิธีที่กล่าวในหนังสือนี้ เปนพระราชพิธีตรียัมพวายไป) คือ ตั้งเสาสูง ๔๐ ศอก ๒ เสา กว้าง ๘ ศอก มีขื่อ เอาเชือกผูกแขวนแผ่นกระดานแผ่น ๑ ยาว ๔ ศอก กว้าง ๒ ศอก พราหมณ์ ๔ คนขึ้นนั่งเหนือกระดานนี้โล้ชิงช้า ข้างน่าชิงช้ามีเสาสูง ๔๐ ศอกปักอีกเสา ๑ เอาเงิน ๔๐ บาทใส่ถุงห้อยไว้ที่เสานี้ ให้พราหมณ์โล้ชิงช้าไปคาบเงินที่ห้อยไว้ ถ้าคาบได้ก็ได้เงินนั้น ถ้าแลคาบมิได้พราหมณ์นั้นก็ต้องถูกฝังดินเพียงบั้นเอว แลไม้กระดานชิงช้านั้น เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว เอาลงฝังไว้ในแผ่นดิน ในการพระราชพิธีนี้ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาโปรดให้ (ออกยา) พลเทพ เสนาบดีกรมนาต่างพระองค์ แห่ไปยังที่พราหมณ์โหนชิงช้า นั่งในมณฑป แต่เอาเท้าลงดินได้แต่ข้างเดียว ถ้าเมื่อยเผลอเอาเท้าลงดินทั้ง ๒ ข้างแล้ว ถูกปรับของที่ได้รับพระราชทาน คือ สร่วยแลอากรซึ่งมาแต่หัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการที่เข้ามาในระหว่างพิธีนั้น ต้องตกเปนของพราหมณ์ทั้งสิ้น
เดือน ๔
พระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาเจริญพระพทธมนต์ ๓ วัน แลสวดอาฏานาฏิยสูตร เวลาสวดมนต์นั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระมหามงคล อันผูกต่อกับสายสิญจน์ ครั้นถึงวันคำรบ ๓ ซึ่งสวดอาฏานาฏิยสูตร เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยรอบทั้งกำแพงพระราชวังแลกำแพงพระนคร เมื่อเสร็จการพิธีแล้ว ให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์สรรพาวุธมาประน้ำมนต์ แลประน้ำมนต์ช้างต้นม้าต้นด้วย เปนเสร็จการพระราชพิธี ๑๒ ราษีซึ่งมีตามตำรากรุงศรีอยุทธยาเพียงเท่านี้