คำนำ

หนังสือเรื่องนี้ หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ เหตุที่จะได้หนังสือเรื่องนี้นั้น เดิมดอกเตอร์แฟรงเฟอเทอ บรรณารักษหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ทราบความจากนายทอเซียนโก บรรณารักษหอสมุดของรัฐบาลอังกฤษที่เมืองร่างกุ้ง ว่ามีหนังสือพงษาวดารสยามเปนภาษาพม่าอยู่ในหอสมุดนั้นเรื่อง ๑ เปนหนังสือเก่ายังไม่ได้เคยพิมพ์ ถามมาว่าหอพระสมุดวชิรญาณจะต้องการหรือไม่ กรรมการจึงได้ให้แสดงความขอบใจไปยังนายทอเซียนโก แลขอให้เขาช่วยคัดสำเนาหนังสือพงษาวดารฉบับนั้นส่งมาให้ เมื่อได้มาจึงให้มองต่อแปลออกเปนภาษาไทย สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๕ เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านคำแปลก็มีความปลาดใจแต่แรก ด้วยสังเกตเห็นพงษาวดารที่ได้มาจากเมืองพม่าฉบับนี้ รูปเรื่องละม้ายคล้ายคลึงกับหนังสือที่เราเรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” มากทีเดียว ข้าพเจ้าจึงได้ให้ถามไปยังนายทอเซียนโกว่า เขาทราบหรือไม่ว่าพงษาวดารสยามฉบับนี้ รัฐบาลอังกฤษได้มาจากไหน ได้รับตอบมาว่า หนังสือเรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษพบในหอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมันดะเล ครั้งตีเมืองพม่าได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ แลอธิบายต่อมาว่า หนังสือเรื่องนี้พวกขุนนางพม่าชี้แจงว่า พระเจ้าอังวะให้เรียบเรียงจากคำให้การของพวกไทยที่ได้ไปเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้ความดังนี้ก็ไม่มีที่สงไสยต่อไป เชื่อได้เปนแน่ว่า หนังสือเรื่องนี้เองเปนต้นเดิมของหนังสือซึ่งเรียกกันว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ฉบับที่ได้มาใหม่นี้ คือ คัดจากฉบับหลวงของพม่า เสียดายจริง ๆ ที่ไม่ได้หนังสือฉบับนี้มาทันทูลเกล้า ฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดเปนหนังสือเรื่อง ๑ ซึ่งมีปัณหามาในโบราณคดีสโมสรแต่รัชกาลที่ ๕ อันควรจะเล่าเรื่องราวให้ปรากฎในที่นี้ได้

เดิมหนังสือเรื่องที่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นั้นได้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธเปนครั้งแรก เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ รเบียบเรื่องเรียงเปน ๒ ตอน ตอนต้นเล่าเรื่องพงษาวดารกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดี (บุเรงนอง) ดีได้เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช (สังเกตความที่กล่าวขึ้นต้นเรื่องเขินๆ เห็นได้ว่าเรื่องข้างต้นนั้นยังมีอยู่อีก แต่ขาดฉบับไปเสีย ต่อมาตอนกลางเรื่องพงษาวดารยังขาดเล่ม ๖ สมุดไทยไปอีกเล่ม ๑ มาจับเอาเล่ม ๗) จบเพียงก่อนพม่ามาตีกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่เสียกรุง ต่อนั้นขึ้นเล่ม ๘ ว่าด้วยทำเนียบต่างๆ ตั้งต้นด้วยพรรณาภูมิลำเนากรุงศรีอยุทธยา เปนต้นว่าตลาดยีสานแลอะไรต่าง ๆ ตลอดจนราชประเพณีอีก ๔ เล่มสมุดไทย รวมทั้ง ๒ ตอนเปนหนังสือ ๑๐ เล่มสมุดไทย (ด้วยขาดฉบับเล่ม ๖ เสียเล่ม ๑) พิมพ์สมุดเล่มเดียวจบ หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้น เมื่ออ่านดูด้วยความพิจารณา เห็นทั้งเนื้อเรื่องแลถ้อยคำวิปลาศคลาดเคลื่อนมากนัก จึงเกิดเปนปัณหาขึ้นในโบราณคดีสโมสร ข้าพเจ้าเองเปนผู้นำปัณหาขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สงไสยว่าหนังสือเรื่องนี้ จะเปนหนังสือที่แต่งขึ้นในเมืองไทย มิใช่คำของขุนหลวงหาวัด (คือพระเจ้าอุทุมพรราชา ที่ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุทธยาต่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์) ไปให้การแก่พม่า เหตุที่ทำให้สงไสยนั้น

ข้อ ๑ คือ เรื่องราวทั้งพงษาวดารแลทำเนียบต่างๆ ที่เล่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ เมื่อมาสอบสวนดูในชั้นนี้ รุ่ได้เปนแน่ว่า ผิดความจริงในที่สำคัญหลายแห่งมาก ถ้าเปนคำให้การขุนหลวงหาวัด พระองค์ย่อมทรงทราบราชการบ้านเมือง จะเล่าผิดอย่างนั้นไม่ได้

ข้อ ๒ ลักษณถามคำให้การชาวต่างประเทศถึงการบ้านเมืองนั้นๆ เปนประเพณีที่มีมาแต่ก่อนเหมือนกันทุกประเทศ คือถ้าได้ชนต่างชาติมาไว้ในอำนาจก็ดี หรือแม้ชนชาติเดียวกันเองได้ไปเมืองต่างประเทศใดมาก็ดี ถ้าเห็นว่าได้รู้เห็นการงานบ้านเมืองนั้นๆ ก็เรียกตัวมาให้ข้าราชการซึ่งเปนเจ้าน่าที่หลาย ๆ คนพร้อมกันเปนทำนองกรรมการซักไซ้ไต่ถาม แลจดคำให้การไว้เปนความรู้ในราชการ ในเมืองไทยเราก็เคยถามคำให้การอย่างนี้ เช่นถามแม่ทัพนายกองพม่าที่เราจับตัวมาได้เปนต้น เรื่องพงษาวดารพม่าที่ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร โดยมากรู้ได้ด้วยกระบวนถามคำให้การอย่างว่านี้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ากรุงธนบุรีตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพม่าได้ไทยไป พระเจ้าอังวะก็คงจะตั้งข้าราชการพม่าซึ่งรู้แบบแผนขนบธรรมเนียมเปนกรรมการถามคำให้การทำนองเดียวกัน แต่การถามคำให้การอย่างนี้ ผู้ถามกับผู้ตอบพูดไม่เข้าใจภาษากัน ต้องใช้ล่ามแปลทั้งคำถามแลคำตอบ แล้วแต่ล่ามจะแปลว่ากะไร เมื่อล่ามแปลได้ความอย่างไร ก็จดลงเปนภาษาพม่าอย่างเราจดคำให้การพม่าลงเปนภาษาไทย เพราะฉนั้นหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ถ้ามีจริงต้นฉบับเติมคงเปนภาษาพม่ามิใช่ภาษาไทยที่หมอสมิธเอามาพิมพ์

ข้อ ๓ ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ถ้ามี คงจะมีอยู่ในหอหลวงเมืองพม่า ถ้าจะมีนอกจากฉบับหอหลวง ก็คงจะมืสำเนาอยู่ในกระทรวงเสนาบดีที่ได้มีน่าที่ถามคำให้การ เช่นกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงกระลาโหมของพม่า ว่าอย่างมากจะมีไม่เกิน ๔-๕ ฉบับ ทำไมจึงจะเข้ามาได้ถึงเมืองไทย แลมากลายเปนภาษาไทยอย่างวิปลาศเลอะเทอะเช่นหมอสมิธพิมพ์ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงสงไสยว่า หนังสือที่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นี้ น่าจะเปนเรื่องราวที่ชาวกรุงเก่าผู้มีอายุอยู่มาจนในกรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงขึ้นไว้ตามรู้ตามเห็น ต่อมาเมื่อไม่รู้ว่าใครแต่ง จึ่งไปเหมาให้เปนคำให้การของขุนหลวงหาวัดดอกกระมัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้ว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ฉบับเดิมได้มาอย่างไรแลได้มาเมื่อไรไม่ทรงทราบ แต่ฉบับหอหลวงของเรามีจริง ได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน แต่ไม่เหมือนกับฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ แลทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่าเปนหนังสือมีหลักฐาน ในพระราชนิพนธ์หลายแห่ง คือในจาฤกฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าเปนต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่เรียกในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดหลายพระองค์ หนังสือเรื่องนี้ทรงพระราชดำริห์ว่า ฉบับเดิมคงมีหลักฐานอยู่อย่างไรเปนแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเชื่อถือ แต่ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ มีผู้ใดได้แทรกแซงเพิ่มเติมจนเลอะเทอะเต็มทีเสียแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดไว้ดังนี้

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลปัตยุบันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดที่เปนตัวฉบับหลวงมาเล่มสมุดไทย ๑ ลายมือเขียนตัวรงรู้ได้เปนแน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ ๔ ชื่อเรื่องก็ไม่ได้เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เรียกว่า “พระราชพงษาวดารแปลจากภาษารามัญ” ได้เอาหนังสือเล่มฉบับหลวงนี้สอบกับฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ ก็ปรากฎแน่นอนว่า ฉบับพิมพ์นั้นมีผู้ได้แทรกแซงข้อความลง ตรงตามที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสั่ง แลได้หลักฐานเนื่องในประวัติของหนังสือเรื่องนี้ที่ยังไม่รู้ขึ้นอีก ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ ได้ความรู้ว่า หนังสือที่เรียกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ได้มีผู้แปลจากภาษาพม่าเปนภาษารามัญไว้เสียชั้น ๑ แล้ว เห็นจะเปนพวกพระมอญที่ไปเที่ยวเมืองหงษาวดี ไปได้ฉบับภาษารามัญมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อ ๒ หนังสือเรื่องนี้ พึ่งแปลออกเปนภาษาไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แต่การที่แปลน่าจะไม่ได้มีผู้รู้ตรวจสอบทางภาษาที่เรียบเรียงไว้ แม้ในฉบับหลวงจึ่งยังไม่เรียบร้อย

เมื่อได้ฉบับเดิมภาษาพม่ามาแปลออกเปนภาษาไทยในคราวนี้ ได้สอบกันดูทั้ง ๓ ฉบับก็เห็นได้ว่า ฉบับภาษารามัญเคลื่อนคลาดจากฉบับภาษาพม่าบ้าง แต่ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้น มีผู้อื่นเอาเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งไม่มีในฉบับภาษาพม่า แต่ปลอมลงไปไว้เปนอันมากทีเดียว นับว่าเปนลาภของบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีที่ได้ฉบับพม่ามา จะได้เห็นหนังสือเรื่องนี้ว่าที่จริงเปนอย่างไร

หนังสือพงษาวดารตำนานแลทำเนียบของเก่า ที่มีผู้แต่งปลอมแทรกแซงเสียจนเสียเรื่อง ไม่ใช่แต่คำให้การขุนหลวงหาวัดเรื่องเดียว ยังมีเรื่องอื่นอีก บางทีเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ผู้แต่งหลอกลวงว่าเปนหนังสือเก่าได้มาจากตำหรับตำราของผู้นั้นผู้นี้ซึ่งไม่มีจริง หนังสือหลอกลวงเหล่านี้มีผู้พิมพ์ขึ้นจำหน่ายหลายเรื่อง จนถึงชำระสะสางกันเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ถ้าใครอยากทราบเรื่อง จงดูหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ ๓๑ มินาคม ร.ศ. ๑๑๙ แลฉบับวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ ก็จะทราบความได้โดยพิศดาร ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาสาธกไว้ โดยประสงค์จะตักเตือนบรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีที่เสาะแสวงหาตำหรับตำราแลพงษาวดารตำนานต่างๆ อันเปนหนังสือเก่า ข้าพเจ้าขอตักเตือนว่า ก่อนที่จะลงเนื้อเชื่อถือหนังสือเรื่องใด ควรสืบสวนที่มาแลพิจารณาหนังสือนั้นเสียก่อน ลักษณที่จะพิจารณาหนังสือเก่ามีวิธีหลายอย่าง ถ้าต้นฉบับเปนหนังสือเขียนจะสังเกตได้ด้วยลายมือที่เขียนประการ ๑ ลายมือครั้งรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ผิดกับครั้งรัชกาลที่ ๓ ลายมือครั้งรัชกาลที่ ๓ ผิดกับรัชกาลที่ ๔ ลายมือรัชกาลที่ ๔ ยังผิดกับในรัชกาลที่ ๕ ผู้ที่เคยสังเกตอาจจะรู้ได้ว่าเปนหนังสือเขียนในรัชกาลไหน อีกอย่าง ๑ อาจจะสังเกตอายุเรื่องได้ด้วยสำนวนที่แต่ง สำนวนที่แต่งหนังสือย่อมผิดกันตามสมัยเปนชั้นๆลงมา สำนวนหนังสือครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานี เช่นศิลาจาฤกแลหนังสือไตรภูมิพระร่วง วิธีเดินความแลใช้ศัพท์ ผิดกับหนังสือที่แต่งครั้งกรุงเก่า หนังสือที่แต่งครั้งกรุงเก่า ผิดกับหนังสือที่แต่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หนังสือที่แต่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน ๓ รัชกาลนั้น สำนวนยังผิดกับที่แต่งในรัชกาลที่ ๔ หนังสือที่แต่งในรัชกาลที่ ๔ ยังผิดกับในรัชกาลที่ ๕ ถ้าเปนหนังสือแทรกแซงแปลงปลอมของเก่า จะจับได้ด้วยสำนวนไม่เสมอกัน อีกประการ ๑ ยังสังเกตอายุหนังสือได้ด้วยถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือนั้น เพราะถ้อยคำเปนของมีแปลกขึ้นแลเปลี่ยนแปลงมาเสมอๆ ยกตัวอย่างดังคำว่า ประปาหรือไปรสนีย์ โทรเลข เหล่านี้ พบที่ใดต้องรู้ได้ว่าเขียนลงไม่ก่อนรัชกาลที่ ๕ ด้วยคำเหล่านี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ผู้ศึกษาโบราณคดีต้องรู้จักสอบสวนจึงจะไม่ถูกหลอกลวงให้หลงไปในทางที่ผิด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า ถ้าใครมีความอุสาหะจะแต่งหนังสือเรื่องอะไรขึ้น ควรจะบอกไว้ว่าตัวเปนผู้แต่ง ถ้าไม่อยากจะบอกชื่อตัว ก็ควรจะบอกเสียตรงๆ ว่าเปนหนังสือแต่งใหม่ หรือหากว่าถ้าผู้ใดเห็นหนังสือเก่าเรื่องใดวิปลาศคลาดเคลื่อน พบหลักฐานสอบได้ความเปนอย่างอื่นก็ดี หรือแม้แต่จะคิดเห็นว่า ความจริงจะเปนอย่างอื่นก็ดี ถ้าจะแก้จะไข ก็ควรจะบอกไว้เสียว่าตัวคิดเห็นอย่างนั้น แก้ไขด้วยเหตุอย่างนั้น ถึงความคิดของตนจะพลาดพลั้งไปบ้าง ก็ไม่มีความเสียหาย ใครเลยจะไม่รู้จักพลาดพลั้ง ที่จริงผู้ที่มีความอุสาหะแต่งหนังสือขึ้นใหม่ หรือสอบสวนตรวจตราหนังสือเก่า ถ้าทำโดยสุจริต แม้ที่สุดจะพลาดไปบ้าง ก็ยังควรจะได้รับความสรรเสริญด้วยเปนผู้มีความอุสาหะ หาควรจะเอาความอุสาหะไปใช้ในทางทุจริต เช่นไปคิดแทรกแซงแปลงปลอมหนังสือเก่าไม่ พระองค์ทรงพระปรารภในเรื่องนี้ จึงโปรดให้เปนน่าที่อย่าง ๑ ของโบราณคดีสโมสร ที่จะช่วยกันเลือกหาบรรดาหนังสืออันเกี่ยวเนื่องในโบราณคดีที่เปนฉบับดีมาตรวจสอบเสียก่อน แล้วจึงลงพิมพ์ให้แพร่หลาย ได้พระราชทานพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วไว้สำหรับโบราณคดีสโมสรองค์ ๑ จึงได้ใช้รูปพระราชลัญจกรนั้น เปนสำคัญเครื่องหมายดังจะเห็นได้ในสมุดเล่มนี้

ต่อนี้ไปจะอธิบายเฉภาะหนังสือฉบับเมืองพม่าที่ได้แปลแลพิมพ์ในเล่มนี้ เมื่อได้ตรวจสอบทราบประวัติดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ควรลงเนื้อเห็นได้ว่าหนังสือเรื่องนี้เปนหนังสือซึ่งพระเจ้าอังวะ ที่ทรงพระนามในทางราชการของพม่าว่า พระเจ้าศิริปวรสุธรรมมหาราชานินทาธิบดี ที่ไทยเราเรียกว่าพระเจ้ามังระ ผู้ที่ให้ตีกรุงศรีอยุทธยาได้ เมื่อปีกุญ พ,ศ, ๒๓๑๐ มีรับสั่งให้เรียบเรียงตามคำให้การของไทยที่ได้ไปในคราวนั้น รวมทั้งพระเจ้าอุทุมพรที่เรียกว่า ขุนหลวงหาวัดด้วย ไม่ใช่คำให้การขุนหลวงหาวัดแต่พระองค์เดียว ที่รู้ความข้อนี้ได้ ด้วยสังเกตเรื่องราวที่เล่า บางแห่งเล่าลเอียดถ้วนถี่ บางแห่งก็เล่าแต่ย่อๆ แลที่สุดบางเรื่องเล่าซ้ำกันเปน ๒ สำนวนก็มี จึงเห็นได้ว่าเปนคำให้การหลายคนด้วยกัน เมื่อจดคำให้การไปแล้ว พม่าเอาไปเรียบเรียงเข้าเรื่อง ข้างต้นว่าด้วยพงษาวดารไทยเริ่มต้นตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธฉายไว้ที่เขาปัถวี ลำดับเรื่องมาจนเสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่า ต่อพงษาวดารมาว่าด้วยทำเนียบแลประเพณีต่างๆ ในกรุงศรีอยุทธยา ตอนนี้ดูพม่าอยู่ข้างจะถามลเอียดลออมาก เห็นจะตั้งใจเอาความรู้ภูมิประเทศแลขนบธรรมเนียมของไทยให้ได้ให้หมด แต่ฉบับพม่าที่ได้มา วิธีเรียบเรียงเรื่องตอนทำเนียบดูไขว้เขวสลับสับสนอยู่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า หนังสือเรื่องนี้ต้นฉบับเดิมในหอหลวงเมืองอังวะเห็นจะจานหรือเขียนลงใบลานเรียงลำดับไว้ ตอนทำเนียบนี้ใบลานจะเกิดพลัดลำดับกันในคราวใดคราวหนึ่ง ผู้ที่เอาเรียบเรียงกลับเข้าลำดับใหม่ ไม่ได้เอาใจใส่สอบสวนเรื่องตามสมควร หรือเปนผู้หย่อนความรู้อยู่อย่างไร เรียงเอาเข้าลำดับคลาดเคลื่อนของเดิมไปหลายแห่ง แต่เมื่อมาแปลออกเปนภาษาไทยพอจับเค้าได้ว่า ต้นเดิมเขาจะเรียงอย่างไร ข้าพเจ้าจึงให้เรียงลำดับในตอนทำเนียบเสียใหม่ให้เรียบร้อย

พิเคราะห์ดูเนื้อเรื่องตอนพงษาวดาร เข้าใจว่าคงจะเปนคำให้การตามที่พวกไทยจำได้คนละเล็กละน้อย ช่วยกันปะติดปะต่อไม่ได้มีหนังสือพงษาวดารไทยติดไปด้วย อีกประการ ๑ จะเปนด้วยพวกไทยที่ถูกพม่าถาม ประสงค์จะรักษาเกียรติยศมิให้พม่าข้าศึกรู้เหตุการณ์อันใด ซึ่งจะเปนเหตุให้หมิ่นประมาทชาติไทย ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเรื่องราวในพระราชพงษาวดาร แม้ที่จำได้ ให้แก่พม่าทุกอย่างไป เรื่องพงษาวดารตามคำให้การนี้จึงเคลื่อนคลาดนัก ส่วนทำเนียบต่างๆ นั้น พม่าเห็นจะถามรายตัวไทยตามแต่ใครจะรู้การอย่างไรมาก เช่นพระนามแลจำนวนราชตระกูลก็ถามเจ้านาย แบบแผนราชการในแพนกใดก็ถามข้าราชการในกรมนั้นๆ ซึ่งได้ตัวไป มีชั้นผู้ที่รอบรู้บอกได้มากบ้าง ที่เปนแต่ผู้น้อยบอกได้แต่ย่อๆ ผิดๆ ถูกๆ ตามรู้ตามเห็นบ้าง ทำเนียบต่างๆ จึงไม่ถ้วนถี่เสมอกันทุกอย่าง ถึงกระนั้นตอนทำเนียบนี้มีข้อความต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้ปรากฎแก่ชาวเราชั้นหลังหลายอย่าง จะเปนเครื่องประกอบการศึกษาโบราณคดีสมัยกรุงเก่าตอนปลายได้ดีมาก น่าเสียดายแต่ที่หนังสือเรื่องนี้เปนภาษาพม่า เมื่อเอามาแปลเปนภาษาไทย กระบวนเนื้อเรื่องพอสอบสวนสังเกตเอาความได้ มาลำบากอยู่ด้วยเรื่องเรียกชื่อ เพราะพม่าเอาชื่อไทยไปเขียนตามเสียงพม่า จะแปลกลับออกเปนภาษาไทยให้ถูกต้องยากไม่น้อยทีเดียว ฉบับที่มองต่อแปลมา ตอนพงษาวดารโวหารไทยยังไม่สนิทดี ข้าพเจ้าจึงให้นายพันตรีหลวงโยธาธรรมนิเทศ (แจ่ม) คน ๑ นายแสง (เปรียญ) คน ๑ ช่วยกันตรวจแก้ถ้อยคำให้ดีขึ้น แต่ในตอนทำเนียบอันล้วนแล้วแต่ด้วยเรื่องชื่อเสียง ผู้แปลจำต้องเปนผู้รู้ดีทั้งภาษาพม่าแลภาษาไทย ข้าพเจ้าเที่ยวสืบหาผู้แปล ได้หลวงประพันธ์พัฒนาการ (ศร) เห็นพอจะทำได้ จึงให้หลวงประพันธ์พัฒนาการแปลตอนทำเนียบนี้ใหม่อีกครั้ง ๑ สอบกับฉบับที่มองต่อแปล พระยาโบราณราชธานินทร์กับข้าพเจ้าช่วยกันตรวจด้วยกันอีกชั้น ๑ ถึงกระนั้นชื่อต่างๆ ตามที่พม่าจดไว้ ยังรู้ไม่ได้ว่าที่จริงจะเปนอย่างไรในภาษาไทยก็ยังมีอยู่มาก บรรดาชื่อที่พิมพ์ในเล่มนี้ ข้าพเจ้าให้คงไว้ตามอย่างพม่าจด ชื่อใดที่แปลออกหรือที่คาดว่าในภาษาไทยเปนอย่างไร ก็เปนแต่ให้จดกำกับลงไว้ไม่แก้ของเดิม ไว้ให้ผู้ศึกษาโบราณคดีมีโอกาศสอบสวนด้วยกันทั่วไป

แต่พระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า ตามที่ปรากฎในหนังสือพงษาวดารฉบับที่ได้มาแต่เมืองพม่านี้ น่าจะเปนพระนามที่สมมตเรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลแล้ว ดังข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคำอธิบายพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นมีอยู่บ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอนุมัติตาม ได้ทรงแก้พระนามพระเจ้าแผ่นดินในชั้นหลัง ซึ่งหนังสือพระราชพงษาวดารยังเรียกพระนามอยู่ตามปากตลาด ไปตามหลักฐานที่ได้ในหนังสือเรื่องนี้หลายพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แก้เปนสมเด็จพระรามาธิเบศร์ สมเด็จพระเพทราชา แก้เปน สมเด็จพระธาดาธิเบศร์ สมเด็จพระเจ้าเสือ แก้เปน สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แก้เปน สมเด็จพระภูมินทราธิบดี สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ แก้เปน สมเด็จพระมหาบรมราชา แต่เมื่อได้ฉบับพม่ามาแปลใหม่ครั้งนี้ ปรากฎพระนามคลาดกับพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงแก้ไว้ ๒ แห่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ตามฉบับพม่าเรียก พระมหาธรรมราชา ส่วนสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่เปนพระชนกาธิราชของสมเด็จพระนเรศวร ตามฉบับพม่าเรียก พระสุธรรมราชา ผิดกันอยู่ดังนี้

หนังสือเรื่องนี้ เมื่อได้ฉบับเดิมมาสอบสวนถึงที่สุดแล้ว ได้ความเปนแน่ว่า เปนพงษาวดารตอน ๑ เปนทำเนียบตอน ๑ มิใช่มีแต่พงษาวดารอย่างเดียว จะเรียกว่าหนังสือพงษาวดารอย่างฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ตรง ครั้นจะเรียกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัดอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน ก็ไม่ตรงอีก ด้วยรู้แน่ว่าเปนคำให้การของคนหลายคน มิใช่แต่ขุนหลวงหาวัดพระองค์เดียว กรรมการหอพระสมุดจึงได้ตกลงให้เรียกชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า” ส่วนการพิมพ์นั้น เมื่อกรรมการกำลังปรารภที่จะพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย พอพระยาเจริญราชธน (มิ้น) มาแจ้งความแก่กรรมการว่า มีประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานศพอิ่น จ. จ. ภรรยาพระเจริญราชธน (เท่ง) ผู้มารดา ขอให้กรรมการช่วยเลือกหาเรื่องหนังสือให้ แลพระยาเจริญราชธนอยากจะได้เรื่องซึ่งเนื่องด้วยพงษาวดาร กรรมการจึงเห็นว่าสมควรจะให้พระยาเจริญราชธนพิมพ์หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่านี้เปนของแจกตามปราร์ถนา ด้วยเชื่อแน่ว่าเปนหนังสืออันประกอบด้วยสารประโยชน์ แลจะเปนที่พอใจของบรรดาผู้ที่จะได้ไปอ่านทั่วกัน แท้จริงตั้งแต่ ๒ ปีล่วงมาแล้ว ได้มีผู้นิยมในการพิมพ์หนังสือแจกเปนของชำล่วยในงานต่าง ๆ ขึ้นมากกว่าแต่ก่อน วิธีพิมพ์หนังสือแจกอย่างนี้ เปนที่พอใจกันทั่วไปทั้งผู้แจกแลผู้ได้รับ แลเปนความยินดีของกรรมการหอพระสมุดด้วยเปนอันมาก เพราะหนังสือเก่าซึ่งเปนหนังสือหายากอยากจะพิมพ์ขึ้นไว้ให้แพร่หลาย เพื่อรักษาเรื่องไว้มิให้สาบสูญมีอยู่เปนอันมาก หนังสือเหล่านี้โดยมากยากที่จะพิมพ์เปนการจำหน่ายขายซื้อ เพราะยังไม่มีความหวังใจได้ในเวลานี้ ว่าจะมีผู้ซื้อจนคุ้มทุน ทุนขอหอพระสมุดเองก็ไม่มีมากมายเหลือเฟือ ต้องใช้สรอยโดยเขม็ดแขม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ กรรมการหอพระสมุดรู้สึกว่า บรรดาผู้ที่มารับพิมพ์หนังสือให้แพร่หลาย เปนผู้ที่ได้ทำคุณหลายประการ คือทำให้เจริญความรู้รุ่งเรืองขึ้นประการ ๑ และเปนผู้มีคุณแก่หอพระสมุด ที่ได้ช่วยรับธุระให้สำเร็จการในน่าที่ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงตั้งหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเปนหอสมุดสำหรับพระนคร เพื่อประโยชน์อันนี้ แลสมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จดำรงพระเกียรติยศเปนสภานายกแรกของหอสมุดสำหรับพระนคร ได้ทรงเปนพระราชธุระในการที่จะพิมพ์หนังสือเก่าเปนเดิมมา ด้วยเหตุเหล่านี้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณจึงเต็มใจที่จะช่วยเปนธุระให้สมประสงค์ของบรรดาผู้ที่จะรับพิมพ์หนังสือเสมอมา

การที่พระยาเจริญราชธนรับพิมพ์หนังสือเรื่องนี้เปนของแจกในงานศพสนองคุณท่านอิ่มผู้มารดา นับว่าบำเพ็ญการกุศลทักษิณานุประทานอันเกิดแต่ความกตัญญูกัตเวทิตาธรรมเปนมูลเหตุ สมควรที่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้จะอนุโมทนาในการกุศลนั้นทั่วกัน.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ