ภาคที่ ๑ ว่าด้วยพงษาวดาร

ปางเมื่อสมเด็จพระบรมโลกนารถศาสดาจาริย์ ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เปนองค์พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จจาริกโปรดเวไนยสัตว์ให้บรรลุมรรคผลมาโดยลำดับ จนถึงได้เสด็จมาทรงรับพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร ขณะเมื่อทรงจำพรรษาอยู่ในมหาวิหารนั้น วันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าสู่มหากรุณาสมาบัติ ทรงเลือกเล็งแลดูเวนัยเผ่าพันธุ์ อันควรจะได้มรรคผลธรรมวิเศษมีสรณะแลศีลเปนต้น ทรงเห็นบรรพตน้อยแห่งหนึ่งเรียกว่าเขาปถวี อยู่ในแว่นแคว้นแดนโยนกประเทศ ปรากฎในข่ายคือพระญาณ ทรงทราบว่าภูมิลำเนาแห่งเขาน้อยนั้น ในอนาคตกาลเบื้องน่าต่อไป จะเปนที่ก่อสร้างบุญกุศลของหมูมหาชน อันมาแต่ทิศานุทิศ หาที่สิ้นสุดมิได้ จะเปนประโยชน์แก่เทพยดามนุษย์ทั่วไป พระองค์ทรงพิจารณาเห็นเหตุดังนี้แล้ว จึงเสด็จด้วยพุทธปาฏิหารทางนภากาศ พอจวนจะถึงเขาปัถวี มหาเมฆก็บรรดานให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมา พระองค์จึงเสด็จประทับยืนพักพระอิริยาบถอยู่ที่เงื้อมผาเชิงเขานั้น ด้วยเดชพระพุทธานุภาพ เมล็ดฝนสักหยาดหนึ่งจะตกต้องพระบวรกายของพระองค์หามิได้ ท่อธารน้ำฝนนั้นไหลล้นไปยังเชิงเขาข้างหนึ่งทั้งสิ้นเปนมหัศจรรย์ ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงเปล่งพระรัศมีหกประการ ทรงอธิษฐานให้ฉายาพระพุทธรูปของพระองค์ไปประดิษฐานติดอยู่กับเพิงผานั้น เพื่อให้เทพยดามนุษย์ทั้งปวงมาพบเห็นเปนที่บ้งเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้นมัสการทำสักการบูชา อย่าให้รู้ลบเลือนทำลายหายสูญ จงดำรงอยู่โดยจิรฐีติกาล ให้ผู้มานมัสการได้เห็นพระฉายของพระองค์เสมอไป ครั้นภายหลังต่อมา ตำบลนั้นจึงได้เรียกกันว่า พระพุทธฉาย แลพระฉาย สืบ ๆ มาจนถึงในปัตยุบันทุกวันนี้

ในลำดับนั้น พระองค์จึงเสด็จไปยังเขาสุวรรณบรรพต ทรงประทับยืนอยู่ณแผ่นศิลาบนยอดเขานั้น ในขณะนั้น มีนายเนสาทพรานเนื้อคนหนึ่งชื่อว่าสัจ์จพันธ์ เที่ยวพเนจรล่าเนื้อในป่าเปนอาหาร มาได้เห็นสมเด็จพระพุทธองค์ ผู้เปล่งพระฉัพพรรณรังสีงามโอภาษ ประกอบด้วยพระทวัดดึงษมหาบุรุษลักษณะใหญ่ ๓๒ ประการ แลพระอสีตยานุพยัญชนะ พระลักษณน้อยๆ มี ๘๐ ประการ งามพิจิตรน่าพิศวงหาที่จะอุปมามิได้ นายพรานก็บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสเปนอันมาก จึงน้อมกายลงถวายอภิวาท แลกระทำการสักการบูชาด้วยดอกบุปผชาติในป่า แล้วกราบทูลอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ทรงพระกรุณาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ ณ แผ่นศิลา เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพตนั้น เพื่อเปนที่ไหว้ที่สักการบูชาของเทพยดามนุษย์สืบไปในภายหน้าสิ้นกาลช้านาน สมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดประทานเทศนาพระไตรยสรณคมแลศีลห้า ทรงทรมานนายพรานให้ตั้งอยู่ในพระไตรยสรณคมแลศีลห้าได้แล้ว จึงทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ให้ประดิษฐานอยู่เหนือแผ่นศิลานั้น ซ่นพระบาทนั้นอยู่ทางทิศตวันออก ปลายพระบาทนั้นอยู่ทางทิศตวันตก ยาว ๓ สอก กว้าง ๑ สอก กับ ๘ นิ้ว ลึก ๔ นิ้ว ในรอยพระพุทธบาทนั้นมีรอยลักษณ ๑๐๘ ประการ ครบบริบูรณ์

ครั้นแล้วพระองค์เสด็จจากเขาสุวรรณบรรพต ไปยังตำบลบ้านพ่อแอ่งในข้างทิศตวันตก ตำบลนั้นมีบึงใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้บึงนั้นมีพฤกษชาติใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งก้านใบอันสมบูรณ สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงกระทำปาฏิหารอยู่เหนือยอดพฤกษชาตินั้น คือทรงนั่งทรงไสยาศน์ ทรงพระดำเนินจงกรม แลทรงยืนบนยอดกิ่งไม้ใหญ่ มีพระอิริยาบถทั้งสี่เปนปรกติมิได้หวั่นไหว ในขณะนั้น ฝ่ายพฤกษเทพยดาทั้งหลายได้เห็นพระปาฏิหารของพระองค์เปนมหัศจรรย์ดังนั้น ก็บังเกิดปีติโสมนัศเลื่อมใสในพระคุณของพระองค์ จึงนำผลสมอดีงูแลผลสมอไทย อันเปนเทพโอสถ มากระทำอภิวาทน้อมเข้าไปถวายแด่พระพุทธองค์ ในขณะนั้นพระองค์ทอดพระเนตรเห็นแพะเล็กตัวหนึ่งอยู่ในที่ใกล้ ก็ทรงแย้มพระโอษฐ ฝ่ายพระอานนทเถรพุทธอนุชาเห็นพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐให้ปรากฎดังนั้น จึงกราบทูลถามถึงเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐว่าจะมีเปนประการใด สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าจึงตรัสพยากรว่าไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า แพะเล็กตัวนี้จะได้บังเกิดเปนกษัตริย์ครองราชสมบัติในประเทศนี้ จะมีเดชานุกาพมาก แลจะได้ทำนุบำรุงบทวลัญช์อันเปนรอยพระบาท กับรูปฉายาปฏิมากรของเราตถาคตสืบไป

ครั้นล่วงกาลนานมา สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๑๘ ปี จึงบังเกิดพระเจ้าศรีธรรมาโสกราช ได้ครองราชสมบัติในกรุงปาตลีบุตรมหานคร พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีการสร้างพระอาราม พระสถูปเจดีย์ แลขุดบ่อสระเปนต้นเปนอันมาก พระองค์ได้เสด็จประพาศทั่วไปในสกลชมพูทวีปตราบเท่าถึงเมืองสังขบุรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอยู่ในเมืองนั้นต่อไป พระองค์มีมหิทธิฤทธิ์เดชานุภาพมากล้ำเลิศกว่ากระษัตริย์ทั้งหลาย ได้ทรงบำรุงพระพุทธสาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองไปทั่วสกลชมพูทวีป ในคราวหนึ่งพระองค์ได้ตรัสแก่เสนาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งปวงของพระองค์ว่า พระองค์ได้มาบังเกิดเปนกษัตริย์ทั้งนี้ ด้วยบุญบารมีกฤษดาธิการของพระองค์ ตามพระพุทธทำนายซึ่งได้ตรัสพยากรณ์ไว้นั้นทุกประการ

ครั้นพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๘๓ ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็เสด็จสวรรคต

ในกาลนั้น มีฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่าสุภัตตา สร้างบรรณศาลาเปนที่อาไศรย เจริญฌานสมาบัติในที่แห่งหนึ่ง ข้างทิศตวันออกแห่งเมืองสังขบุรี ข้างทิศเหนือแห่งบรรณศาลาฤๅษีนั้นออกไป มีสระใหญ่แห่งหนึ่งประกอบด้วยเบญจปทุมชาติ ๕ ประการ น้ำในสระนั้นมีสีเขียวใสสอาด อยู่มาวันหนึ่งสุภัตตาดาบสเที่ยวเดินไปตามขอบสระ แลเห็นดอกปทุมใหญ่ดอกหนึ่งประมาณเท่าบาตร พิศดูแปลกประหลาดกว่าดอกบัวธรรมดา พระสุภัตตาฤๅษีจึงลงไปในสระเพื่อจะเด็ดดอกประทุมนั้น ครั้นเข้าไปใกล้ก็แลเห็นกุมารผู้หนึ่งมีรูปโฉมงาม กับเครื่องทิพยอาภรณ์มีอยู่ในดอกปทุมอันกำลังแย้มบานอยู่นั้น พระฤๅษีมีความยินดี จึงนำกุมารกับเครื่องทิพยอาภรณ์มายังบรรณศาลาที่อาไศรย กระทำพิธีบวงสรวงเทพยดาตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะเลี้ยงกุมารนี้ได้ ขอให้น้ำนมไหลออกมาจากองคุลีแห่งข้าพเจ้าเทอญ ในทันใดขิรธาราก็ไหลออกจากนิ้วมือแห่งพระฤๅษี ด้วยอานุภาพแห่งสัตยาธิษฐานนั้น พระฤๅษีก็อภิบาลบำรุงเลี้ยงกุมารนั้นมาจนเจริญไวยใหญ่ขึ้น ครั้นอยู่มาพระสุภัตตาดาบสจึงปรารภว่า กุมารนี้ต่อไปในภายหน้าจะเปนผู้มีบุญญาธิการ หรือหาบุญวาศนามิได้ประการใด ผู้เปนเจ้าจึงตั้งสัตย์อธิษฐานขอนิมิตรฝันต่อเทพยดา ให้เปนเทวโตปสังหรณ์ ซึ่งเรียกกันว่าเทวดามาบอกเหตุให้ ครั้นพระผู้เปนเจ้าจำวัตรหลับไป ก็นิมิตรฝันว่า สมเด็จอมรินทราธิราชเสด็จลงมาจากดาวดึงษเทวโลกตรัสบอกเหตุว่า กุมารที่ท่านได้ในดอกประทุมนั้น เปนผู้มีบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ จะได้เปนบรมกระษัตริย์ครองราชสมบัติในเมืองอินทปรัษฐ เมืองนั้นอยู่ข้างทิศตวันออกของเมืองสังขบุรีนี้ ท่านจงไปสืบเสาะหาดูเทอญ จะได้พบสมปราร์ถนา ครั้นรุ่งเช้าพระฤๅษีตื่นขึ้นก็จำนิมิตรนั้นไว้ มีใจยินดีนัก จึงพากุมารนั้นไปทางทิศตวันออก เที่ยวค้นหาเมืองตามสุบิน ก็ได้พบเมืองอินทปรัษฐสมดังในนิมิตรฝัน เมืองนั้นมีปรางปราสาทราชวัง พร้อมทั้งเครื่องราชูปโภคบริโภคสำหรับกระษัตริย์ครบบริบูรณ์ทุกประการ พระสุภัตตาดาบศก็มีจิตรเกษมสานต์โสมนัศยิ่งนัก จึงจัดการราชาภิเษกกุมารผู้มีบุญญาธิการมากนั้นเปนบรมกระษัตริย์ ครองราชสมบัติในกรุงอินทปรัษฐ ถวายพระนามว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ครั้นแล้วพระฤๅษีจึงเที่ยวบอกกล่าวป่าวร้องชาวชนบททั้งปวง อันอยู่รอบขอบเขตรแคว้นนครอินทปรัษฐนั้น ให้ชักชวนกันรวบรวมไพร่พลทั้งม้ารถคชยานพาหนะทางบก แลนาวาพาหนะทางน้ำ เข้ามาถวายเพิ่มพูนพระบารมีพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ขอเปนข้าแผ่นดินอยู่ในพระนครของพระองค์ พระนครอินทปรัษฐก็เต็มไปด้วยหมู่อำมาตยราษฎร แลเศรษฐีคหบดีมีทรัพย์มั่งคั่ง อยู่เย็นเปนศุขทั่วกันทั้งนั้นแล

ในกาลนั้น พระเจ้ากรุงจีนผู้ทรงพระนามว่า อูติมาง ได้ครอบครองกรุงคันธาเรศร์ อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์เสด็จออกไปประพาศสวนราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่เสวกามาตย์ราชบริพาร ทอดพระเนตรพรรณดอกไม้แลผลไม้อันมีต่าง ๆ ในขณะนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นจั่นหมากต้นหนึ่ง มีดอกใหญ่เกินประมาณ จึงเสด็จเข้าไปใกล้ต้นหมากนั้น ก็ทอดพระเนตรเห็นนางกุมารีผู้หนึ่งมีรูปโฉมงามบังเกิดอยู่ในดอกหมากนั้น ดูเปนมหัศจรรย์ พระองค์มีพระไทยชื่นชมยินดี จึงตรัสคั่งให้นำนางกุมารีนั้นไปยังพระราชวัง โปรดให้พระอรรคมเหษีเลี้ยงเปนพระราชธิดาบุญธรรม ทรงตั้งพระนามราชกุมารีนั้นว่า นางสร้อยดอกหมาก พระองค์กับพระอรรคมเหษี ทรงพระสิเนหาในพระราชธิดาบุญธรรมนั้นเสมอด้วยพระราชธิดาอันสมภพแต่พระองค์ ครั้นพระราชธิดานั้นเจริญไวยวัฒนาการ มีพระชนม์พรรษาได้ ๑๕ ปี มีพระรูปลักษณงามเจริญยิ่งขึ้น มีกิติศัพท์เลื่องลือไปในประเทศธานีใหญ่น้อยว่า พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนนั้น มีพระรูปศิริวิลาศงดงามหานางอื่นจะเปรียบเสมอมิได้ เสียงเล่าลือสรรเสริญนี้ทราบไปถึงพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ผู้ผ่านพิภพกรุงอินทปรัษฐ พระองค์มีพระหฤทัยยินดี ด้วยพระองค์ได้ราชาภิเษกเปนเอกองค์บรมกระษัตริยแล้ว ยังมิได้มีพระอรรคมเหษี จึงตรัสให้ตกแต่งพระราชสาส์นลงในแผ่นสุพรรณบัตร ขอพระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนมาอภิเษกเปนเอกอรรคมเหษี แลให้จัดราชทูต อุปทูต ตรีทูต เชิญพระราชสาสน์กับเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงคันธาเรศร์ พอราชทูตไปถึง พระเจ้ากรุงจีนก็ให้จัดการรับราชสาสน์แลราชทูตกรุงอินทปรัษฐ โดยสมควรแก่ราชประเพณี ราชทูตได้เข้าเฝ้าอ่านพระราชสาสน์ถวาย พระเจ้าอูติมางกรุงจีนได้ทราบในพระราชสาสน์ดังนั้น ก็มีพระไทยเปรมปรีดิ์ปราโมทย์ จึงมีพระราชดำรัสแก่ราชทูตว่า พระเจ้ากรุงอินทปรัษฐนี้เปนเอกราชของไทย เพราะฉะนั้นถ้าจะประสงค์จะเปนสัมพันธมิตรร่วมเขึ้อวงษ์กับเราแล้ว ให้พระเจ้ากรุงอินทปรัษฐยกพยุหโยธาทัพโดยสมควรแก่เกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินเอกราช มากระทำการอภิเษกที่กรุงของเรานี้ เราจึงจะยกราชธิดาเราให้ตามสมควรแก่ราชประเพณี ราชทูตจึงถวายบังคมลากลับมากราบทูลพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐ ตามพระราชดำรัสสั่งพระเจ้ากรุงคันธาเรศร์ทุกประการ

ครั้นพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐได้ทรงทราบดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัศยินดี จึงตรัสสั่งให้จัดกระบวนทัพเรือสำเภาใหญ่น้อย พร้อมด้วยพวกพหลพลโยธาเปนอันมาก ตั้งเปนกระบวนพยุหโยธาทัพเรือพร้อมสรัพทุกประการ จัดให้มหาอำมาตยหลายหมู่อยู่เฝ้ารักษาพระนคร ครั้นถึงศุภวารมหุดิฤกษ พระองค์ก็เสด็จเคลื่อนนาวาพยุหโยธาทัพออกจากท่ากรุงอินทปรัษฐ แล่นออกสู่พระมหาสมุท ครั้นกองทัพเรือเดินทางไปในมหาสมุทสาครได้หลายวัน พวกพลทั้งปวงอดหยากน้ำหามีน้ำจืดจะบริโภคไม่ น้ำจืดที่จัดมาในกองทัพจากกรุงอินทปรัษฐนั้นสิ้นไป มีแต่น้ำเค็มทั้งสิ้น พวกพลดื่มกินหาได้ไม่ ครั้นพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐได้ทราบดังนั้นก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน ยกพระบาทเบื้องขวาของพระองค์จุ่มลงในน้ำเค็มมหาสมุท ด้วยเดชะพระบารมีบุญญาธิการของพระองค์เปนมหัศจรรย์ น้ำเค็มนั้นก็กลายเปนน้ำจืดสนิทดี พวกพลทั้งกองทัพได้รับพระราชทานอิ่มหนำหายอยาก แลตักตวงขึ้นไว้ใช้กินต่อไปให้พอแก่ต้องการทั่วทั้งกองทัพ

ครั้นถึงกรุงคันธาเรศร์แล้ว พระองค์จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงคันธาเรศร์ ถวายเครื่องราชบรรณาการตามขัติยประเพณี ทูลขอพระราชธิดา พระเจ้ากรุงคันธาเรศร์ทรงเห็นว่า พระเจ้ากรุงอินทปรัษฐเปนผู้มีบุญญาธิการมากก็มีพระไทยโสมนัศยินดี จึงตรัสว่าเราจะอภิเษกราชธิดาเราให้เปนคู่บุญบารมีของพระองค์ในมงคลสถาน แลจัดการพิธีตามสมควร จึงตรัสสั่งวัตถุวิชาจาริย์ผู้รู้ดูภูมิ์ที่อันเปนมงคล เลือกหาภูมิประเทศอันเปนศิริไชยภูมิ์ได้แล้ว ให้ปลูกโรงราชพิธีเตรียมการขัติยมงคลทั้งปวงพร้อม จึงให้พระอรรคมเหษีแต่งองค์พระราชธิดาด้วยเครื่องอลังการสรรพาภรณ์เสร็จแล้ว ให้ขึ้นทรงสีวิกากาญจน์ มีนางสนมนาฏกำนัลนิกรนารีแห่ห้อมแวดล้อมเปนบริพาร เสด็จโปสู่โรงราชพิธีมงคลสถาน ฝ่ายนางพนักงานดนตรีก็บรรเลงเครื่องดีดสีตีเป่าประโคมเสียงประดังขึ้นกึกก้อง พระเจ้าคันธาเรศร์ก็อภิเษกพระราชธิดากับพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ในโรงราชพิธีตามพระราชประเพณี ครั้นเสร็จการอภิเษกแล้ว พระเจ้าอูติมางกรุงจีน ก็ทรงชักชวนให้พระเจ้าอินทปรัษฐประทับอยู่ณวังที่อภิเษกนั้นถึง ๗ เดือน

ครั้นอยู่มาเวลาวันหนึ่ง พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ทรงพระดำริว่า เรามาอยู่ในกรุงคันธาเรศร์นี้หลายเดือนแล้ว ควรจะคิดกลับคืนไปครอบครองพระนครของเราดังแต่ก่อน พระองค์จึงเข้าไปทูลลาพระเจ้าคันธาเรศร์ ๆ ก็ทรงอนุญาต พระองค์จึงพานางสร้อยดอกหมากลงสู่สำเภาพระที่นั่ง พร้อมด้วยนางสนมนารีราชบริพารแวดล้อม เสด็จยกพยุหโยธาทัพเรือกลับไปโดยทางมหาสมุท ครั้นถึงพระนครแล้ว จึงตรัสส่งให้ตั้งโรงราชพิธีทำการอภิเษกสมโภชพระมเหษีสร้อยดอกหมากอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้ากรุงจีนกับพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐ จึงได้เปนสัมพันธมิตรมีทางพระราชไมตรีต่อกันสืบมาสิ้นกาลช้านาน

อยู่มาพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ผู้ผ่านพิภพกรุงอินทปรัษฐนั้น มีพระราชโอรสแลพระราชธิดา กับพระนางสร้อยดอกหมากพระอรรคมเหษี คือพระราชโอรส ๔ พระราชธิดา ๓ รวมเปน ๗ พระองค์ด้วยกัน

พระเชษฐราโชรสพระองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่าพระปทุมกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ทรงพระนามว่าติโลกกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ทรงพระนามว่าสุรินทกุมาร พระราชโอรสองค์ที่ ๔ ทรงพระนามว่าอนุชากุมาร

พระราชธิดา ๓ พระองค์นั้น พระองค์ใหญ่ที่ ๑ ทรงพระนามว่าพระปทุมเทวี องค์ที่ ๒ ทรงพระนามว่าศิริมาลา องค์ที่ ๓ ทรงพระนามว่าสุวรรณมณี ครั้นถึงเวลาสมควร พระเจ้ากรุงอินทปรัษฐ จึงทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเปนพระมหาอุปราช พระราชทานเครื่องทิพยอาภรณ์ ที่เทพยเจ้าประสิทธิ์ไว้แก่พระองค์มาในดอกประทุมแต่แรกนั้น ให้ทรงเปนเครื่องราชาภรณ์ เครื่องทิพยอลงการอันบังเกิดสำหรับบุญญาธิการของพระองค์นั้น พระราชโอรสแลพระราชธิดาได้ประดับเปนพระเกียรติยศสืบต่อ ๆ กันไปในภายน่าทั้ง ๗ พระองค์ พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์โปรดเสวยพระสุธารสด้วยน้ำอันมาแต่สระเมืองลพบุรี สระใหญ่นั้นมีน้ำเขียวใสสอาด มีส่วยน้ำตักถวายเปนเวนกันตามฤดูเดือนปีที่กำหนดส่งมิได้ขาด

พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ ครองราชสมบัติมาในกรุงอินทปรัษฐโดยศุขสถาพร จนเสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๕๘ พรรษา แรกได้ราชสมบัติพระชนม์ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๔๓ พรรษา พระองค์ประสูตรณวันพฤหัศบดี

เชื้อวงษ์ของพระองค์ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมารวม ๑๕ พระองค์

อนึ่ง โอฆบุรี เมืองพิไชย เมืองพิจิตรปราการ (วิเชียรปราการ คือ กำแพงเพ็ชร์) เมืองทมันไป้ เมืองทั้ง ๔ ที่กล่าวมานี้ เชื้อพระวงษ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงษเปนผู้สร้างขึ้นไว้

จุลศักราช ๕๓๖ ปี พระเจ้าสุริยราชาซึ่งเปนเชื้อพระวงษของพระเจ้าปทุม สุริยวงษ ได้ทรงตบแต่งซ่อมแปลงเมืองพิจิตรปราการขึ้นใหม่ครองราชสมบัติต่อไป มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า ศิริสุทาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ด้วยพระอรรคมเหษี ทรงพระนามว่าจันทกุมาร พระเจ้าสุริยราชาเมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ พรรษา เสด็จสวรรคต พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษา พระองค์ประสูตรวันจันทร์

จุลศักราช ๕๗๐ พระจันทกุมารราชโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทราชา พระองค์ทรงสร้างเมืองศุโขทัย ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า สุริยาเทวี พระองค์เสวยน้ำสระเมืองลพบุรี พลเมืองชาวเมืองลพบุรีเปนส่วยน้ำเสวย อยู่มาวันหนึ่งพระองค์เสด็จไปประพาศป่าพร้อมด้วยพลโยธาทวยหารเปนอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมารีคนหนึ่งมีรูปโฉมลักษณงดงามยิ่งกว่านางมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์มีความเสนหา เล้าโลมแลได้ร่วมอภิรมย์ด้วยนางนั้น ครั้นแล้วพระองค์ก็มีพระไทยปฏิพัทธ์ผูกพันธ์ ตรัสชวนจะพานางไปสู่พระราชวัง จะตั้งไว้เปนเอกอรรคนารี นางจึงทูลว่าข้าพระองค์มิใช่เปนหญิงมนุษย์ เปนเชื้อชาตินางนาคกุมารี แปลงกายขึ้นมาเที่ยวในเมืองมนุษย์ จะตามเสด็จพระองค์ไปมิได้ ถ้าข้าพระองค์ได้อยู่ร่วมหมู่นางสนมนาฏราชบริจาริกาของพระองค์ในพระราชวัง ข้าพระองค์โกรธเคืองผู้ใดขึ้นมาแล้ว ก็จะพ่นพิษตามวิไสยนาค มนุษย์เหล่านั้นจะทนพิษของข้าพระบาทมิได้ จะพากันตายเสียสิ้น เพราะฉนั้น ข้าพระบาทจะขอบังคมลาพระองค์กลับไปยังเมืองนาค ทูลดังนั้นแล้วนางนาคกุมารีนั้นก็หายไปจากสถานที่นั้น กลับไปสู่นาคพิภพ พระเจ้าจันทราชาทรงเสียดายนางนาคกุมารยิ่งนัก ก็เสด็จกลับคืนเข้าสู่พระราชวัง ครั้นอยู่มานางนาคกุมารีนั้นมีครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาศแล้ว จึงขึ้นมายังเมืองมนุษย์ ตกฟองไว้ในไร่อ้อยแห่งหนึ่ง ฟองนั้นโตประมาณเท่าผลมะพร้าวห้าว ครั้นแล้วนางนาคกุมารีก็กลับคืนไปสู่นาคพิภพดังเก่า

ในขณะนั้น ยายกับตาสองสามีภรรยาผู้เปนเจ้าของไร่อ้อยพากันออกไปดูแลรักษาไร่ เห็นฟองนาคโตแปลกประหลาดดังนั้น ก็ยังไม่แจ้งว่าเปนฟองสิ่งไร จึงนำฟองนั้นไปเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ครั้นอยู่ไม่นานฟองนั้นครบกำหนดก็แตกออกเปนกุมาร มีรูปโฉมลักษณงามหาผู้เสมอมิได้ ยายตาได้เห็นดังนั้นก็มีความดีใจว่าได้บุตรบุญธรรม รักใคร่กุมารนั้นเปนอันมาก จึงหานุ่นมาเย็บเปนเบาะเมาะให้กุมารนั้นนอน แต่กุมารนั้นหาชอบนอนบนเบาะเมาะโดยปรกติไม่ มักร้องไห้เสือกกายขึ้นไปเสียเบื้องบนแห่งที่นอน ยายตาเห็นประหลาดดังนั้นจึงไปไต่ถามโหราจาริย์ว่า อาการของกุมารเปนดังนี้จะร้ายดีประการใด โหราจาริย์จึงทำนายว่า กุมารนี้เปนผู้มีบุญ จะเปนเชื้อชาติเทพยดาหรือพระยานาคเปนแน่ ถ้าท่านปราร์ถนาจะให้กุมารนี้หลับนอนเปนปรกติ จงตัดลำไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่บนตอไม้มาสานเปนเสื่ออ่อนปูให้นอน แต่ผ้าห่มนอนนั้นให้ลงเลขยันต์อาคมเสียก่อนแล้วจึงให้ห่ม ยายตาก็กระทำตามคำแนะนำของโหราจาริย์นั้นทุกประการ ตั้งแต่นั้นมากุมารก็รู้นอนโดยปรกติ มิได้รบกวนดังแต่ก่อน ครั้นอยู่มา กุมารนั้นเจริญไวยวัฒนาการขึ้นมีอายุได้ ๑๕ ปี มีรูปกายผ่องใสโสภา แลมีอานุภาพมาก จะออกปากกล่าวสั่งสิ่งใดให้เปนอย่างไร ก็มักให้เปนไปตามคำกล่าวดังนั้น ยายตามีความเสนหาต่อบุตรบุญธรรมยิ่งนัก จึงให้นามว่าพระร่วง

ครั้นอยู่มา กิติศัพท์อันนี้ทราบเข้าไปถึงพระเจ้าจันทราชาผู้ครองกรุงศุโขทัย ก็มีพระไทยพิศวง จึงทรงพระราชดำริห์ว่า กุมารผู้นี้เห็นจะเปนบุตรนางนาคกุมารีมาตกฟองไว้ให้เปนแน่ ถ้าเปนเช่นนั้นแล้ว กุมารนี้ก็คือเปนโอรสของเราเองโดยแท้ เมื่อพระองค์ทรงพระดำริห์ดังนี้แล้ว จึงตรัสสั่งราชบุรุษให้ไปหายายตาเจ้าของไร่อ้อย ให้พากุมารนั้นเข้ามาเฝ้าพระองค์

แต่เรื่องนี้จดหมายเหตุอีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า อยู่มาคราวหนึ่งพระองค์ให้ตั้งการราชพิธีสร้างปราสาทราชมณเฑียร ในขณะนั้นพวกราษฎรชาวบ้านในเมืองนอกเมือง พากันแตกตื่นเข้ามาดูงานพระราชพิธี ฝ่ายตายายก็พาพระร่วงบุตรบุญธรรมนั้นเข้ามาดูงานพระราชพิธีในเวลานั้นด้วย พระร่วงได้ออกปากพูดในท่ามกลางฝูงชนว่า เราเปนผู้รักษาที่นี้ พอพูดขาดคำลง เสาปราสาทนั้นก็โอนเอนหวั่นไหวเสทือนสท้านทั่วไป ฝ่ายเสนาอำมาตย์ได้เห็นเหตุมหัศจรรย์ดังนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าศุโขทัย พระองค์ได้ทรงฟังดังนั้นก็มีความพิศวง จึงตรัสสังให้หายายตาให้พากุมารนั้นเข้ามาเฝ้า จึงมีพระราชโองการตรัสถามยายตาทั้งสองว่า กุมารนี้ได้มาแต่ไหน ยายตาทั้งสองจึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบตามเหตุที่ได้กุมารนั้นมา ตั้งแต่ต้นจนปลาย พระเจ้าศุโขทัยได้ทรงฟังดังนั้นก็เข้าพระไทยทรงเชื่อแน่ว่า กุมารนี้เปนบุตรนางนาคกุมารีนั้น คือเปนพระโอรสของพระองค์โดยแท้ ด้วยอำนาจความเมตตากรุณาของบิดาอันเคยมีแก่บุตรสืบขันธสันดานมาแต่บุรพชาติปางก่อนนั้น บันดาลให้พระองค์ทรงพระสิเนหาแต่พระโอรสนี้ในปัจจุบันชาตินี้ จึงให้รับพระร่วงนั้นเลี้ยงไว้เปนราชโอรสของพระองค์ในพระราชวัง แลพระราชทานทรัพย์สิ่งของเปนรางวัลแก่ตายายทั้งสองเปนอันมาก

ครั้นต่อมา พระอรรคมเหษีใหญ่ของพระเจ้าสุโขไทยประสูตรพระราชโอรสองค์หนึ่ง สมเด็จพระราชบิดาพระราชทานพระนามว่าพระร่วงเหมือนกัน แต่พระราชโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งประสูตรจากนางนาคนั้นมีบุญญาธิการศักดานุภาพเปนอันมาก ถ้าพระองค์ชี้พระหัตถ์ตรัสสาปมนุษย์แลสัตว์ใด ๆ เช่นผู้คน ช้าง ม้า โค กระบือ ว่าให้กลายเปนหินหรือเปนสิ่งอันใด ก็กลับกลายแลเปนไปตามรับสั่งทั้งสิ้น วันหนึ่งพระองค์ตรัสสั่งว่าให้ต้นไม้ทั้งปวงเปนผล ต้นไม้นั้นก็กลายเปนผลตามรับสั่ง แลตรัสว่าให้ก้างปลาเปนปลามีชีวิตรไปตามเดิม ก็เปนไปได้ตามรับสั่งของพระองค์ ด้วยอำนาจสัจจบารมีอันแก่กล้าที่พระองค์ได้สร้างสมอบรมมาแต่หลัง จึงบรรดานให้เปนไปได้ดังนั้น เปนมหัศจรรย์นัก

ครั้นอยู่มา พระร่วงราชโอรสพระองค์ใหญ่จึงกราบทูลถามสมเด็จพระราชบิดาว่า ทุกวันนี้พระองค์ยังส่งส่วยน้ำแก่เมืองอินทปรัษฐ์อยู่หรือ พระราชบิดาจึงตรัสบอกว่า เรายังต้องส่งส่วยน้ำแก่เขาอยู่เสมอ พระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่จึงกราบทูลห้ามว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ขอพระองค์อย่าได้ส่งส่วยน้ำแก่เมืองอินทปรัษฐ์ต่อไปอีกเลย ถ้าพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐ์ให้ยกกองทัพมาย่ำยีแก่บ้านเมืองของพระองค์เปนประการใด ข้าพระองค์จะอาษาสู้รบเอาไชยชะนะให้จงได้ มิต้องให้พระองค์แลไพร่พลได้ความเดือดร้อน พระเจ้ากรุงศุโขทัยก็ทรงเชื่อตามคำทูลของพระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่ ด้วยได้ทรงเห็นอภินิหารอันเปนมหัศจรรย์ต่าง ๆ มาแต่หลังแล้ว

ฝ่ายพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐครั้นได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงศุโขทัยตั้งแขงเมืองไม่ส่งส่วยน้ำดังแต่ก่อน จึงตรัสสั่งพระราชโอรสผู้เปนพระมหาอุปราชว่า พระเจ้าจันทราชาเมืองศุโขไทยเคยส่งส่วยน้ำให้แก่เมืองเรา สืบต่อกันมาหลายชั่วผู้ครองเมืองแล้ว บัดนี้มาแปรภักตร์ไม่ยอมส่งส่วยน้ำให้แก่เรา เห็นจะคิดต่อสู้กับเรา เจ้าจงยกพยุหโยธาทัพไปตีเมืองศุโขไทย ให้มีไชยชะนะแก่พระเจ้าจันทราชาจงได้ พระมหาอุปราชถือรับสั่งพระราชบิดาแล้ว ก็กรีฑาพยุหโยธาทัพออกจากกรุงอินทปรัษฐ์ไปถึงเมืองศุโขไทย ก็ยกพลเข้าประชิดล้อมเมืองไว้

ฝ่ายพระเจ้าจันทราชาก็แต่งให้พระร่วงราชโอรสองค์ใหญ่ ยกพลนิกายกองทัพ ออกมากระทำยุทธสงครามกับกองทัพกรุงอินทปรัษฐ์ ทั้งสองฝ่ายได้กระทำยุทธนาการต่อกันโดยสามารถ ฝ่ายมหาอุปราชพระราชโอรสพระเจ้าอินทปรัษฐ์ ทานกำลังพระร่วงราชโอรสพระเจ้ากรุงศุโขไทยมิได้ ก็แตกหนีกลับไปยังพระนคร กราบทูลสมเด็จพระราชบิดาว่า ข้าศึกมีกำลังเข้มแขงนัก จึงต้องแตกพ่ายถอยมา จะขอรับพระราชอาญาแล้วแต่จะโปรด

ฝ่ายพระเจ้ากรุงอินทปรัษฐ์ ได้ทรงเห็นพระมหาอุปราชราชโอรสแตกพ่ายทัพหนีกลับมา ทูลขอจะรับพระราชอาญาดังนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า พระราชบุตรของพระองค์ยังอ่อนแก่การทัพศึกอยู่ ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานโทษให้ จึงตรัสว่า พระเจ้าจันทราชาผู้ครองเมืองศุโขไทยนั้นก็เปนพระญาติพระวงษ์ของเราเองมิใช่ผู้อื่น ถ้าเขาไม่สมัคจะส่งส่วยน้ำให้แก่เราก็ตามเถิด ตั้งแต่วันนี้ไปเราอย่าไปรบกวนย่ำยีทำสงครามกับเขาอีกเลย พระองค์จึงตรัสสั่งให้เลือกเมืองอื่นเปนเมืองส่วยน้ำแก่พระองค์ต่อไป

พระเจ้าอินทปรัษฐ์ผู้สืบพระวงษ์พระเจ้าปทุมสุริยวงษ์นั้น ได้ครองราชสมบัติในกรุงอินทปรัษฐ์ต่อมา ครั้นพระชนม์ได้ ๕๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๓๐ พรรษา เมื่อแรกได้ครองราชสมบัตินั้น พระชนม์ ๒๕ พรรษา ลุศักราช ๕๖๖

ฝ่ายพระเจ้าจันทราชาผู้ครองกรุงศุโขไทย เมื่อได้รับราชสมบัติ มีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา ครองราชสมบัติได้ ๓๐ พรรษา รวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษาถ้วน ก็เสด็จสวรรคต ในศักราช ๕๗๖

ในปีนั้น พระร่วงพระราชโอรสองค์ใหญ่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดาต่อไป พระองค์ได้เสด็จไปสร้างเมืองสวรรคโลกขึ้นใหม่ แลครองราชสมบัติในเมืองนั้น ในขณะนั้นพระอรรคมเหษีใหญ่ของพระองค์ผู้ทรงพระนามว่า ศรีจันทราเทวี ประสูตรพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนาม ว่าสุวรรณเทวี

ครั้นอยู่มาสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ภูมิลำเนาข้างทิศใต้เมืองศุโขไทยนั้นพื้นภูมิภาคเรียบราบ เปนไชยภูมิดีแห่งหนึ่ง สมควรจะสร้างสระใหญ่ลงไว้ให้เปนประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไป จึงตรัสสั่งให้ขุดสระใหญ่โดยรอบจตุรัสมีกำหนด ๑๕ วา ให้ช่างก่ออิฐเปนซุ้มคร่อมหลังสระ แลบนหลังซุ้มนั้น ก่อพระเจดีย์องค์หนึ่งเรียกว่าพระมหาธาตุ ในสระใหญ่นั้นให้ปลูกบัวเบญจพรรณ ครั้นแล้วพระองค์ทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานว่า ขออย่าให้น้ำในสระนั้นแห้ง แลอย่าให้ต้นบัวเบญจพรรณนั้นตาย ให้มีอยู่เสมอเปนนิจนิรันดรไป แลพระองค์ได้ทรงนำเมล็ดมขามมาโปรยรอบตามขอบเขตรสระ ทรงพระสัตยาธิษฐานว่า ให้มขามนี้ขึ้นมาเปนต้นมีผลเมล็ดพร้อมบริบูรณ์ บางต้นเมื่อมีผลเปนฝักให้มีแต่เนื้อ เมล็ดมขามที่หล่นตกลงไปในสระนั้น ให้กลายเปนเต่าปลามัจฉาชาติแลให้บินไปได้ ทรงพระอธิษฐานแล้ว ก็ทรงปลูกไว้รอบสระน้ำนั้น ปลาแลเต่าก็เปนไปตามพระสัตยาธิษฐานนั้นทุกประการ แล้วพระองค์ให้สร้างเฉลียงรอบสระนั้นมีทั้งศาลาแลธงปักครบครัน ครั้นขุดสระสำเร็จแล้ว ก็ให้ทำมหกรรมฉลองสระ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก

ในครั้งนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมะกะโท้เปนเชื่อชาติมอญ เปนบุตรชาวบ้านซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลตะเกาะวุนแขวงเมืองมุตะมะ ในรามัญประเทศ ได้เข้ามาเปนข้าสวามิภักดิในสมเด็จพระร่วงเจ้า พระองค์ทรงโปรดปรานชุบเลี้ยง มะกะโท้ผู้นี้เปนคนมีวาศนา ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือมีรูปโฉมลักษณดีเปนที่ชอบรักแก่ชนทั่วไป ๑ มีสติปัญญาดี ๑ มีความกตัญญูกตเวทีรู้คุณท่านผู้มีคุณ ๑

อยู่มาวันหนึ่งมะกะโท้กับพรรคพวก แลข้าทาษใช้สรอยรวมประมาณ ๓๐ คนให้หาบสิ่งของสินค้ามาเที่ยวค้าขาย มะกะโท้เปนนายคุมลูกหาบ ครั้นมาถึงเชิงเขานวรัตนคิรี เด็กคนใช้คนหนึ่งของมะกะโท้ป่วยลง มะกะโท้จึงให้คนเหล่านั้นช่วยกันหามเด็กที่ป่วยนั้นขึ้นไปพักรักษาตัวอยู่บนยอดเขา ในเวลานั้นไม่ใช่เทศกาลฤดูฝน บรรดานฝนตกฟ้าร้องเปนอันมาก ในทันใดนั้น อัสนีบาตผ่าถูกปลายไม้คานของมะกะโท้แตกแล่งออกไป แต่หาถูกผู้คนเปนอันตรายไม่ เมื่อมะกะโท้ได้ยินฟ้าผ่าลงมาดังนั้น จึงแลไปในอากาศเห็นแสงฟ้าเปนปราสาทราชมณเฑียร ประดับด้วยราชวัฎฉัตรธง มะกะโท้คิดเห็นประหลาดในใจ แต่ยังหารู้ว่าร้ายแลดีประการใดไม่ จึ่งคุมลูกหาบกับพรรคพวกออกจากตำบลนั้นมาถึงบ้านแห่งหนึ่ง มะกะโท้จึ่งเข้าพักอาไศรยในบ้านนั้นพร้อมด้วยพรรคพวกของตน ถามพวกชาวบ้านว่า ในตำบลบ้านนี้มีโหราจาริย์ผู้ทายนิมิตรร้ายดีบ้างหรือไม่ พวกชาวบ้านบอกว่า โหราจาริย์ผู้เฒ่ารู้ทายนิมิตรร้ายดีมีอยู่ จึ่งช่วยพามะกะโท้ไปให้ถึงเรือนโหราจาริย์ มะกะโท้ก็ไหว้นบเคารพท่านโหราจาริย์ผู้เฒ่าผู้นั้นแล้ว จึงเล่านิมิตรให้ฟังตั้งแต่ต้น แลถามเหตุผลร้ายดีว่าจะมีเปนประการใด ฝ่ายโหราจาริย์ผู้เฒ่าได้ฟังเล่านิมิตรดังนั้นก็รู้เหตุทั้งปวง แลรู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เปนคนมีวาศนาจะได้เปนใหญ่ในภายน่า จึงบอกว่า นิมิตรที่ได้เห็นนั้นเปนศิริสวัสดิ์มงคลใหญ่หลวงยิ่งนัก ท่านจงนำเงินทองมากองลงให้สูงเสมอเท่าจอมปลวก เปนการคำนับบูชาครูเราก่อน เราจึ่งจะทำนายให้แก่ท่านได้ ถ้าท่านทำสักการบูชาคำนับครูเราก่อนดังนั้นแล้ว เราก็จะพยากรทักทายนิมิตรของท่าน ให้ท่านได้ดีเปนใหญ่ให้เห็นคุณได้โดยเร็ว ถ้าท่านไม่นำเงินทองมาบูชาครูเราดังว่านั้นแล้ว เราก็ไม่อาจทำนายให้แก่ท่านได้ มะกะโท้ได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า สิ่งของสินค้าที่เรานำมาขายครั้งนี้ ถึงจะขายสิ้นแล้วจะรวมเงินทั้งทุนแลกำไรให้ได้เงินกองสูงเสมอเท่าจอมปลวกนั้นก็มิได้ ทำฉันใดดีเราจึ่งจะได้เงินทองมากองให้สูงเสมอเท่าจอมปลวกเล่า มะกะโท้คิดไปก็เห็นช่อง จึ่งถอดแหวนในนิ้วมือของตนไปตั้งลงเหนือยอดจอมปลวกแห่งหนึ่ง แล้วจึ่งบอกแก่โหราจาริย์ว่าข้าพเจ้าได้บูชาคำนับครูท่านด้วยทองเสมอเท่าจอมปลวกแล้ว ขอท่านได้เมตตาช่วยทายนิมิตรให้ข้าพเจ้าเถิด ฝ่ายโหราจาริย์ได้เห็นดังนั้นก็คิดว่า บุรุษหนุ่มผ้นี้เปนคนมีปัญญาเฉียบแหลม สืบไปเบื้องน่าคงจะได้เปนใหญ่แน่ จึ่งทำนายตามนิมิตรนั้นให้มะกะโท้ว่า ในเวลาไม่ช้านาน ท่านจะได้เปนเจ้าบ้านผ่านเมืองใหญ่โต มีอานุภาพมาก เพราะฉะนั้น ท่านอย่าทำการค้าขายเลย จงอุตส่าห์ทำราชการเถิดจะได้เปนใหญ่มียศศักดิรุ่งเรือง เมื่อท่านได้เปนใหญ่แล้วอย่าลืมเรา มะกะโท้กับทั้งพรรคพวกได้ฟังคำทำนายดังนั้นก็ดีใจ ลงกราบไหว้ขอบคุณโหราจาริย์เปนอันมาก จึงกล่าวว่าถ้าข้าพเจ้าได้ดีเปนใหญ่เหมือนคำทำนายของท่านแล้ว ข้าพเจ้าจะตอบแทนคุณท่านให้จงหนัก หาลืมคุณของท่านไม่ ว่าแล้วก็คำนับลาโหราจาริย์คุมลูกหาบไปขายสินค้าในเมืองศุโขไทย ครั้นขายของสิ้นแล้ว จึ่งพาพรรคพวกบ่าวไพร่ไปฝากไว้กับชาวบ้านที่รู้จักชอบกัน ครั้นแล้วมะกะโท้ จึ่งหาช่องเข้าไปพึ่งพักฝากตัวอยู่กับนายช้างพระที่นั่งโรงใน ซึ่งเปนมงคลคเชนทร์ตัวโปรดของสมเด็จพระร่วงเจ้า ช่วยดูแลรักษาเก็บกวาดมูลช้างล้างโรงให้สอาดอยู่เสมอ นายช้างก็มีความเมตตารักใคร่ใช้สอยมะกะโท้สนิทอยู่ทุกวัน

ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้า ก็เสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งของพระองค์อยู่เนือง ๆ ไม่ใคร่ขาด วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่ง ทรงเห็นโรงช้างปัดกวาดสอาดเรียบร้อยดี จึงตรัสถามนายช้างว่า ใครมาช่วยท่านแผ้วกวาดโรงช้างให้สอาดเรียบร้อยดังนี้ นายช้างจึงกราบทูลว่า มีมอญน้อยคนหนึ่งมาพึ่งพักอยู่กับข้าพระบาท ช่วยปัดกวาดล้างชำระโรงให้สอาดอยู่เสมอ พระองค์ได้ทรงฟังดังนั้นก็ชอบพระไทย จึงตรัสสั่งว่า ท่านจงเลี้ยงมอญน้อยนั้นไว้ให้ดีเถิด

อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไปทอดพระเนตรช้างพระที่นั่งณโรงในตามเคย ทรงประทับบนพระที่นั่งใกล้ช่องพระแกล บ้วนพระโอษฐลงไปที่แผ่นดิน ทอดพระเนตรเห็นเบี้ยตัวหนึ่งตกอยู่ จึงตรัสเรียกมะกะโท้ว่ามอญน้อยเจ้าจงมาดูเบี้ยนี้ มะกะโท้จึงคลานเข้าไปกราบถวายบังคม แล้วก็เก็บเบี้ยนั้นไว้ มีความดีใจว่าได้พระราชทานเบี้ยตัวหนึ่ง แล้วก็หมอบเฝ้าอยู่กับน่าพระที่นั่ง จนสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จกลับ

ฝ่ายมะกะโท้มีความยินดีที่ได้รับพระราชทานเบี้ย ๆ หนึ่ง จึงคิดว่าตั้งแต่นี้ไปเราจะตั้งใจคิดทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ เพื่อให้ได้ความชอบยิ่งขึ้น แลเบี้ยที่เราได้รับพระราชทานนี้ จะทำเปนประการใดดี จึงตรึกตรองเห็นช่องว่า จะซื้อเมล็ดพรรณผักกาดมาปลูกไว้จึงจะควร มะกะโท้จึงนำเบี้ยนั้นไปชื้อเมล็ดพรรณผักกาดที่ตลาด หญิงแม่ค้าผู้ชายเมล็ดพรรณผักกาดจึงบอกว่า เบี้ยๆ เดียวนั้นเราไม่รู้จะขายให้อย่างไรได้ มะกะโท้จึงว่า ขอจิ้มนิ้วมือลงแต่นิ้วเดียวพอติดเมล็ดได้เล็กน้อยเท่านั้น หญิงแม่ค้าผู้ชายเมล็ดพรรณผักกาดก็ยอมให้ มะกะโท้จึงชุบนิ้วมือให้ชุ่มด้วยเขฬะในปากเสียก่อน แล้วจึงจุ่มนิ้วลงในกระบุงเมล็ดพรรณผักกาด ๆ ก็ติดนิ้วมือขึ้นมาเปนอันมาก หญิงแม่ค้าเห็นดังนั้นก็ชมว่า มอญน้อยนี้ฉลาดมีความคิดเฉียบแหลมดี มะกะโท้จึงส่งเบี้ย ๆ เดียวนั้นให้แก่หญิงแม่ค้า แล้วนำเมล็ดพรรณผักกาดนั้นมา จึงขุดพื้นดินข้างโรงช้างอันเปนที่ว่างเปล่า ประสมมูลช้างให้เปนเชื้อบริหารปลูกเพาะเมล็ดพรรณผักกาดลงในที่พื้นใหม่นั้น ไม่ช้านานผักกาดนั้นก็ขึ้นงอกออกกอกาบงดงามตามกัน

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งถึงกำหนดสมเด็จพระร่วงเจ้า จะเสด็จมาทอดพระเนตรช้างที่โรง มะกะโท้จึงถอนต้นผักกาดที่ปลูกไว้ ล้างน้ำชำระให้สอาดแล้ว หาภาชะนะมารองเตรียมไว้เปนของถวาย พอสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จมาประทับบนพระที่นั่งในโรงช้างแล้ว มะกะโท้ก็นำถาดผักกาดเข้าไปตั้งถวายต่อน่าพระที่นั่ง จึงมีรับสั่งถามว่า มอญน้อยได้ผักกาดที่ไหนมาให้เรา มะกะโท้จึงกราบทูลว่า เบี้ย ๆ หนึ่งที่โปรดพระราชทานข้าพระพุทธเจ้า ๆ ไปซื้อเมล็ดพรรณผักกาดมาปลูกไว้ จึงได้นำมาถวายในครั้งนี้ พระองค์มีรับสั่งถามว่า เบี้ยๆ เดียวเท่านั้นซื้อกันได้เมล็ดพรรณผักกาดเท่าไร มะกะโท้ก็กราบทูลให้ทรงทราบความตั้งแต่ต้นจนที่สุด สมเด็จพระร่วงเจ้าได้ทรงฟังดังนั้นก็ตรัสสรรเสริญว่า มอญน้อยนี้มีปัญญาฉลาดเฉียบแหลมดี ควรจะชุบเลี้ยงไว้ จึงตรัสแก่นายช้างว่า เราจะขอมอญน้อยนี้เข้าไปใช้ราชการข้างใน จึงโปรดให้มะกะโท้เข้าไปรับราชการเปนพวกวิเศษเครื่องต้นอยู่ในพระราชวัง ครั้นอยู่มามะกะโท้ทำราชการดีมีความชอบ จึงโปรดเลื่อนขึ้นให้เปนกรมวัง

แต่ในพงษาวดารฝ่ายรามัญนั้นว่า สมเด็จพระร่วงเจ้าโปรดเลื่อนมะกะโท้เปนขุนวัง มีตำแหน่งในกรมวังนั้นเอง

ครั้นอยู่มาเกิดขบถกำเริบขึ้นในหัวเมืองขอบขัณฑเสมา สมเด็จพระร่วงเจ้าจะเสด็จกรีฑาทัพ ไปปราบปรามพวกขบถด้วยพระองค์เอง จึ่งตรัสสั่งให้มะกะโท้ผู้เปนกรมวังอยู่เฝ้ารักษาพระนคร แล้วพระองค์ก็เสด็จพยุหโยธาทัพไปยังเมืองนอกแดน อยู่ภายหลัง นางสุวรรณเทวีพระราชธิดาของสมเด็จพระร่วงเจ้ากับมะกะโท้นั้น ซึ่งเคยเปนคู่บุพเพสันนิวาศกันมาแต่บุรพชาติปางก่อน พเอินให้เห็นกันแล้ว ก็มีความปฏิพัทธผูกพันบังเกิดความเสนหารักใคร่กัน มะกะโท้ก็ลอบรักใคร่กับพระราชธิดานั้น ฝ่ายข้าราชการทั้งปวงในกรมวังได้รู้เหตุ ก็มีความกลัวเกรงต่อมะกะโท้ผู้เปนกรมวัง ด้วยเห็นสมเด็จพระร่วงเจ้าทรงโปรดปรานมะกะโท้อยู่เปนอันมาก จึ่งหามีผู้ใดจะว่ากล่าวขึ้นได้ไม่ ฝ่ายมะกะโท้จึ่งคิดปฤกษากับนางสุวรรณเทวีพระราชธิดาว่า จะอยู่ช้าฉนี้มิได้ ด้วยกลัวพระราชอาญาสมเด็จพระร่วงเจ้า จำเราจะพากันหนีไปเสียก่อน อย่าให้ทันพระองค์เสด็จกลับมา พระราชธิดาก็เห็นด้วย จึ่งรวบรวมทรัพย์สิ่งของแก้วแหวนเงินทองได้เปนอันมาก มะกะโท้ก็เกลี้ยกล่อมผู้คนข้าทาษได้ ๓๐๐ คนเศษ จึงพาพระราชธิดาขึ้นช้างพังตัวหนึ่งหนีออกจากเมืองศุโขไทย ไปโดยทางด่านกะมอกะลก รีบไปทั้งกลางวันแลกลางคืน ฝ่ายเสนาอำมาตยรู้ว่ามะกะโท้พาพระราชธิดาหนีไปดังนั้น ก็พากันติดตามจะจับตัวมะกะโท้ แต่ติดตามไปหาทันไม่ ด้วยมะกะโท้พาพระราชธิดากับผู้คน หนีข้ามด่านล่วงพ้นแดนไปเสียได้แล้ว เสนาอำมาตย์เหล่านั้นก็พากันกลับมา คอยท่าจะฟังพระราชโองการตรัสส่งของสมเด็จพระร่วงเจ้าต่อไป

ฝ่ายมะกะโท้พาพระราชธิดากับผู้คนไปถึงบ้านตะเกาะวุน ซึ่งเปนบ้านเดิมของตนแล้ว ก็จัดให้พระราชธิดานั้นอยู่เปนศุข แลผู้คนที่ไปทั้ง ๓๐๐ คนเศษ ก็จัดให้มีที่อยู่อาไศรยทำกินเปนศุขพร้อมเพรียงกัน

ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้า ทรงปราบปรามพวกขบถอันกำเริบให้สงบราบคาบ ทรงจัดบ้านเมืองปลายแดนให้เปนปรกติเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพกลับยังพระนคร เสนาอำมาตยทั้งปวงจึ่งนำความเรื่องมะกะโท้ลักพาพระราชธิดาหนีไป แลได้ไปติดตามจับจนสุดแดนหาทันไม่ ขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระร่วงเจ้าก็หาได้ทรงพระพิโรธแก่มะกะโท้ไม่ จึงตรัสว่า เรารู้มาแต่เดิมแล้วว่า มอญน้อยคนนี้มีลักษณดี นานไปภายน่าจะมีบุญได้เปนใหญ่ เราจึงมีใจรักใคร่เหมือนบุตร์ ถ้าเราจะสาปแช่งให้เปนอันตราย หรือจะให้ยกกองทัพไปติดตามจับมาลงราชทัณฑ์อย่างไรก็จะทำได้ทุกประการ แต่จะเปนเวรกรรมแก่เรา แลเสียเกียรติยศของบ้านเมือง เปนที่อัปรยศแก่นานาประเทศ ซึ่งมอญน้อยพาธิดาเราไป ถ้าตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ได้เมื่อใดแล้ว ก็คงจะตั้งแต่งให้ธิดาเราเปนใหญ่ยิ่งขึ้น จะเปนเกียรติยศแก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย อนึ่งบุพเพสันนิวาศแห่งธิดาเรากับมอญน้อยนั้น ก็ได้อบรมมาด้วยกันแต่ปางก่อนแล้ว จึ่งพเอินให้มามีจิตปฏิพัทธต่อกันดังนี้ เพราะเหตุนั้น เราจำเปนจะอวยพรแก่มอญน้อยแลธิดาเรา อย่าได้มีไภยอันตรายสิ่งใด ให้เกิดความศิริศุขสวัสดีด้วยกันเถิด

ซึ่งพระองค์มิได้ทรงพระโกรธแก่มะกะโท้ แลกลับทรงอำนวยพระพรให้ไปทั้งนี้ ด้วยอำนาจบุญบารมีของมะกะโท้จะได้เปนกระษัตริย์ใหญ่ในรามัญประเทศต่อไป

ตั้งแต่มะกะโท้พาพระราชธิดา ของสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงศุโขไทยไปอยู่บ้านตะเกาะวุน อันเปนบ้านเดิมของตนดังนั้นแล้ว มะกะโท้ก็มีสง่าราสีเกิดศิริมงคลยิ่งขึ้น ด้วยนางนั้นเปนราชธิดาของกระษัตริย์ผู้มีราชอิศริยยศใหญ่ยิ่ง พวกชาวบ้านชาวเมืองก็กลัวเกรงนับถือรักใคร่มะกะโท้แลพระราชธิดานั้นเสมอกัน ต่างคนต่างพากันเข้ามาสวามิภักดิฝากตัวเปนพรรคพวกข้าไทใช้สรอยมากขึ้นทุกที จนนับได้เปนคนหลายพันหลายหมื่น ฝ่ายมะกะโท้เปนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดทั้งองอาจกล้าหาญ รู้เจรจาหว่านล้อมผูกไมตรีแลช่วยปลดเปลื้องทุกข์ร้อนของชน ทั้งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ จึงเปนที่นับถือแก่ชนทั่วไป ครั้นมะกะโท้เห็นผู้คนนับถือรักใคร่ตนมากขึ้นแล้ว จึ่งประกาศเกลี้ยกล่อมคนทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในรามัญประเทศ ให้ร่วมสามัคคีพร้อมเพรียงน้ำใจเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้ามาอยู่ใต้อำนาจตนทั้งสิ้นแล้ว ก็ตั้งตัวขึ้นเปนกระษัตริย์ ครองราชสมบัติในเมืองมุตะมะ ชนทั้งปวงก็ยินดีถวายพรไชยมงคลแก่กระษัตริย์ใหม่ทั้งสิ้น แต่พระเจ้ามะกะโท้ยังหาได้ราชาภิเษกเฉลิมพระนามไม่

ครั้นต่อมา พระเจ้ามะกะโท้ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณของสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงศุโขไทย จึงให้แต่งพระราชสาสน์ลงในสุพรรณบัตร แลจัดเครื่องมงคลราชบรรณาการเปนอันมาก แต่งให้อำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่า โลกี เปนราชทูตจำทูลพระราชสาสน์คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ พร้อมด้วยพลพาหนะเข้าไปถวายสมเด็จพระร่วงเจ้าณกรุงศุโขไทย ครั้นราชทูตไปถึงแล้ว เสนาอำมาตย์ฝ่ายกรุงศุโขไทยจึงนำความขึ้นกราบทูล สมเด็จพระร่วงเจ้าก็โปรดให้อำมาตย์นำราชทูตเมืองมุตะมะเข้าเฝ้า ราชทูตก็เชิญพระราชสาสน์กับเครื่องมงคลราชบรรณาการเข้าไปถวายน่าพระที่นั่ง จึ่งมีรับสั่งให้อ่านในลักษณพระราชสาสน์นั้นว่า “ข้าพระบาทผู้มีชื่อว่ามะกะโท้ เปนข้าสวามิภักดิใต้พระบาทมุลิกากรของพระองค์ ผู้เปนพระมหากระษัตริย์ผ่านพิภพกรุงศุโขไทย พร้อมด้วยพระราชธิดาของพระองค์ ขอโอนอุตมงคเศียรเกล้า กราบถวายบังคมมาแทบพระยุคลบาทบงกชมาศของพระองค์ ซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงข้าพระบาททั้งสองให้มีความร่มเย็นเปนศุข พระเดชพระคุณปกป้องอยู่เหนือเกล้าข้าพระองค์ทั้งสอง หาที่จะเปรียบให้สิ้นสุดมิได้ ด้วยพเอินบุพเพสันนิวาศแห่งข้าพระบาททั้งสองมาดลบรรดานให้มีปฏิพัทธจิตรต่อกัน ข้าพระองค์ได้ลเมิดล่วงพระราชอาญา พาพระราชธิดาของพระองค์มา โทษานุโทษมีแก่ข้าพระองค์เปนล้นเกล้าฯ แต่บัดนี้ด้วยเดชะพระบารมีบรมเดชานุภาพของพระองค์ปกแผ่อยู่เหนือเกล้าฯ ข้าพระองค์ทั้งสอง ชนทั้งปวงจึ่งยินดีพร้อมกันอัญเชิญข้าพระองค์ขึ้นเปนกระษัตริยครองราชสมบัติในเมืองมุตะมะ เปนใหญ่ในรามัญประเทศทั่วไป เพราะฉนี้ข้าพระองค์ขอพระราชทานโทษานุโทษซึ่งมีผิดมาแต่หลัง ขอพระบารมีของพระองค์เปนที่พึ่งสืบไป ขอได้ทรงประสาทพระราชทานนาม กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการแก่ข้าพระองค์ผู้เปนกระษัตริย์ครองราชสมบัติใหม่ เพื่อเปนสวัสดีไชยมงคลแก่ข้าพระองค์ทั้งสองสืบไป เมืองมุตะมะนี้จะได้เปนสุพรรณปถพีแผ่นเดียวกันกับกรุงศุโขไทย อยู่ใต้พระเดชานุภาพของพระองค์สืบต่อไปจนตลอดกัลปาวสาน”

ครั้นสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้ทรงทราบความในพระราชสาสน์ดังนั้นแล้ว ก็มีพระไทยยินดี จึ่งตรัสสรรเสริญว่า มะกะโท้มอญน้อยนั้นเราได้ทำนายไว้แล้วว่าสืบไปจะมีบุญญาธิการ บัดนี้ได้เปนกระษัตริย์ครองรามัญประเทศแล้ว ต่อไปภายน่านอกจากเราผู้เดียวแล้ว จะหากระษัตริย์อื่นมีบุญยิ่งกว่ามะกะโท้นี้มิได้ พระองค์จึ่งทรงตั้งพระนามให้แก่มะกะโท้ว่า พระเจ้าวาริหู (ฟ้ารั่ว) กับพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการสำหรับกระษัตริย์ คือ พระขรรค์ ๑ ฉัตร ๑ พระมหามงกุฎ ๑ ฉลองพระบาททอง ๑ พัดวาลวิชนี ๑ รวมเปน ๕ ประการ จึงโปรดพระราชทานพระราโชวาทไปแก่ราชทูตว่า ให้เจ้าแผ่นดินมุตะมะอยู่ในทศพิธราชธรรม บำรุงปกครองแผ่นดินโดยยุติธรรม ให้ตั้งใจรักใคร่ราษฎรพลเมืองดุจดังบุตรในอุทร แลทรงประสาทพระพรว่า ให้เจ้าแผ่นดินมุตะมะปราศจากไภยอันตรายทั้งภายนอกภายใน ให้ครองราชสมบัติเปนศุขเจริญสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ

ราชทูตก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระร่วงเจ้า กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินมุตะมะให้ทราบทุกประการ แลถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ประการ พระเจ้ามะกะโท้ก็ทรงพระโสมนัศยินดี ขอบพระเดชพระคุณสมเด็จพระร่วงเจ้าหาที่สุดมิได้ จึ่งผินพระภักตร์เฉพาะมาตรงทิศกรุงศุโขไทย กราบถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า โดยความระลึกรู้พระคุณของพระองค์ อันยิ่งเหลือล้นไม่มีที่สิ้นสุดฉนั้น

ฝ่ายสมเด็จพระร่วงเจ้าผู้ผ่านพิภพกรุงศุโขไทย ได้ครองราชสมบัติเปนศุขมาช้านาน เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นมีพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ พรรษา รวมพระชนมายุ ๗๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต

ในปีนั้น พระลือซึ่งเปนพระอนุชาต่างพระมารดาขึ้นครองราชสมบัติ แทนสมเด็จพระเชษฐาธิราชต่อไป พระองค์เสด็จไปครองเมืองนครสวรรค์บุรี มีพระมเหษีทรงพระนามว่าสุธาเทวี พระลือองค์นี้เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนม์ ๓๐ พรรษา ครองราชสมบัติได้ ๔๕ พรรษา เสด็จสวรรคต รวมพระชนมายุ ๗๕ พรรษา พระองค์ประสูตรวันจันทร์

ในครั้งนั้น พระนครสวรรค์บุรีว่างกระษัตริย์ครอบครองอยู่ถึง ๕๐ ปี ลุศักราช ๖๖๑ ปี จึ่งมีขัติยวงษ์องค์หนึ่งเปนเชื้อพระวงษ์ของพระลือขึ้นครองราชสมบัติในเมืองนครสวรรค์บุรี มีพระมเหษีทรงพระนามว่า สุมณฑาเทวี ครองราชสมบัติได้ ๕๐ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๖๕ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันเสาร์

ขณะเมื่อพระองค์ยังมิได้เสด็จสวรรคตนั้น มีพวกทำไม้พวกหนึ่ง คุมกันไปตัดฟันไม้อยู่ในป่าแขวงเมืองนครสวรรค์ นายกองตัดไม้จัดให้คนผู้หนึ่งอยู่เฝ้าผู้รักษาที่ชุมรุม สำหรับหุงเข้าต้มแกงไว้ท่าพวกกันที่ไปตัดไม้นั้น จำเภาะจัดเลือกได้คนผู้มีบุญผู้หนึ่ง ซึ่งจะได้เปนกระษัตริย์ครองราชสมบัติต่อไป ให้อยู่รักษาที่พักในเวลานั้น พวกตัดไม้ทั้งปวงก็ไปตัดฟันไม้ซุงเสาใหญ่น้อยอยู่ในป่า ครั้นถึงเวลาผู้รักษาชุมรุมที่พักกับคนใช้ช่วยการด้วย จึ่งหุงเข้าไว้ท่าพวกตัดไม้ รายหม้อเข้าไปหลายเตาไฟ ครั้นหม้อเข้าเหล่านั้นเดือดพลุ่งขึ้นพร้อมกัน ในขณะนั้นจะหาไม้จ่าคนหม้อเข้าที่ไหนไม่ทัน จึ่งฉวยได้ไม้งิ้วดำท่อนหนึ่งอยู่ในที่ใกล้ๆ มาคนเข้าหม้อหนึ่ง เข้าก็ดำไปสิ้นทั้งหม้อ ผู้รักษาที่พักสำคัญว่าไม้คนเข้าเปนไม้รัก ครั้นเห็นเข้าดำไปทั้งหม้อดังนั้นแล้ว ก็เกรงพวกตัดไม้จะว่ากล่าวติเตียนได้ จึ่งคดเข้าดำในหม้อนั้นมากินเสียเองหมดทั้งหม้อ ครั้นกินแล้วก็รู้สึกตนว่า มีกำลังกายขึ้นเปนหนักหนา ดุจดังมีกำลังได้หลายช้างสาร จึ่งลองหักถอนต้นยางใหญ่ๆ ต้นยางเหล่านั้นทนทานกำลังไม่ได้ก็โค่นหักลงมาสิ้น แล้วเหนี่ยวต้นยางใหญ่ ๆ ลงมาแขวนหม้อเข้าหม้อแกงไว้กับกิ่งยอดเปนหลั่นๆ ลำดับกัน จึ่งปล่อยยอดไม้ยางนั้นให้กลับตั้งขึ้นอยู่ตามเดิม พอถึงเวลากินอาหาร พวกตัดฟันไม้เหล่านั้นพากันกลับมาจะกินเข้า หาเห็นหม้อเข้าหม้อแกงไม่ จึ่งแลดูขึ้นไปบนยอดยางเห็นหม้อเข้าหม้อแกงแขวนอยู่สลับสลอนกัน เปนการแปลกประหลาดดังนั้น ต่างสำคัญว่าโขมดป่าหรือรุกขเทวดาแกล้งนำขึ้นไปซ่อนไว้ จึ่งถามผู้เฝ้าที่ชุมรุมว่าเหตุผลอย่างไรจึ่งเปนดังนี้ คนผู้เฝ้าที่อยู่จึงบอกว่า ถ้าท่านทั้งปวงหิวเข้าแล้ว เราจะหยิบหม้อเข้าหม้อแกงลงมาให้ ว่าแล้วจึงโน้มน้อมต้นยางให้ยอดอ่อนลงมาถึงมือ หยิบหม้อเข้าหม้อแกงส่งให้แก่พวกตัดไม้เหล่านั้น ต่างคนต่างเห็นผู้นั้นมีกำลังมาก ก็มีความอัศจรรย์ใจ ยังไม่รู้ว่ากำลังของผู้นั้นเกิดขึ้นด้วยอย่างไร บ้างว่าผู้นั้นจะเปนบุญตัวพบลายแทงปฤษณา ได้กินว่านยามหากำลังของพระมหาฤๅษีที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือได้กินน้ำสุรามฤตย์ของพระอินทร์สิ้นโรค จึ่งเกิดเรี่ยวแรงยิ่งกว่าช้าง ดังที่พวกชาวบ้านนอกเล่าหลอกลวงกันมาแต่ก่อนๆ นั้นก็ไม่แจ้ง แต่เห็นคนผู้นั้นมีแรงมากเกินกว่าแรงมนุษย์ทั้งปวง เปนอัศจรรย์ดังนั้นแล้ว ก็ยำเยงเกรงกลัวกันไปสิ้น แลไม้สักซุงไม้เสาต้นยาวๆ ใหญ่ๆ ที่พวกตัดไม้ตัดฟันลงไว้เท่าใด ผู้ที่ได้กินเข้าด้วยยางไม้งิ้วดำนั้นก็สำแดงกำลังช่วยจับโยนคว่างทิ้งลงไปให้ถึงท่าน้ำทั้งสิ้น หาต้องใช้ฉุดลากด้วยแรงช้างแลแรงคนแรงกระบือไม่เลย ระยะทางที่คว่างทิ้งไม้ในป่าสูงไปถึงท่าน้ำนั้นประมาณหมื่นเส้น ครั้นไม้ตกถึงท่าหมดแล้ว พวกตัดไม้ก็ช่วยกันผูกเปนแพต่าง ๆ คนทั้งปวงจึ่งยกให้คนผู้ได้กินยาไม้งิ้วดำนั้นเปนหัวน่า คุมแพไม้ล่องลงมายังเมืองนครสวรรคบุรี

ในขณะนั้น กระษัตริย์ผู้ครองเมืองนครสวรรคบุรีเสด็จสวรรคตแล้ว ยังหามีเชื้อพระวงษ์องค์อื่นได้ครองราชสมบัติแทนไม่ พอบุญญาธิการของบุรุษผู้ได้กินไม้งิ้วดำอันเปนยานั้นมาถึง คนทั้งปวงกลัวเกรงกำลังวังชาไปสิ้น เสนาอำมาตย์จึ่งเชิญบุรุษผู้นั้นขึ้นเปนกระษัตริย์ครองราชสมบัติในพระนครสวรรค์สืบไป ทรงพระนามว่า พระญาโคตรตะบอง พระยาโคตรตะบององค์นี้ มีบุญญาธิการทรงอานุภาพมาก แลมีพระกำลังมากกว่าคนทั้งปวง คทาธรที่พระองค์ทรงถือนั้นเปนเหล็กโตเท่าลำตาล พระองค์ตรัสแก่เสนาอำมาตย์อยู่เสมอว่า “มนุษย์ในชมพูทวีปนี้ไม่มีผู้ใดจะต่อกรกับเราได้ เรามิได้กลัวผู้ใด เว้นไว้แต่มนุษย์ซึ่งเหาะมาได้ทางอากาศเท่านั้น เราจึ่งจะกลัว”

ในขณะนั้นเกิดแผ่นดินไหวอยู่เสมอ พระองค์จึ่งมีรับสั่งให้หาโหราจาริย์ เข้ามาทำนายว่าแผ่นดินไหวทั้งนี้ จะเปนเหตุร้ายดีประการใด โหราจาริย์จึ่งพยากรณ์ถวายว่า บัดนี้ผู้มีบุญมาบังเกิดอยู่ในครรภ์มารดา จึ่งบรรดานให้แผ่นดินไหวทั้งนี้ พระญาโคตรตะบองได้ทรงฟังดังนั้น ก็เกรงว่าผู้มีบุญบังเกิดขึ้นแล้วจะชิงราชสมบัติของพระองค์ จึ่งตรัสสั่งให้จับสัตรีที่มีครรภ์มาประหารชีวิตรเสียสิ้น แต่หญิงที่ผู้มีบุญมาบังเกิดอยู่ในครรภ์นั้น ด้วยเดชะบุญบารมีของบุตรให้มารดาหนีรอดไปได้

ครั้นอยู่มาหญิงนั้นมีครรภ์ถ้วนกำหนดทศมาศแล้ว ก็ประสูตรบุตรผู้มีบุญ ในขณะนั้นก็บังเกิดแผ่นดินไหวเปนมหัศจรรย์อีก พระญาโคตรตะบองจึ่งตรัสถามโหราจาริย์อีกเล่าว่า แผ่นดินไหวอีกทั้งนี้จะมีเหตุร้ายดีเปนประการ ใด โหราจาริย์จึงพยากรณ์ถวายว่า บัดนี้กุมารที่มีบุญนั้นประสูตรจากครรภ์มารดาแล้ว แผ่นดินจึ่งไหวเปนมหัศจรรย์ดังนี้ ครั้นพระองค์ได้ทราบดังนั้นจึ่งตรัสสั่งให้จับเด็กทารก ซึ่งนอนอยู่ในเบาะในเปลนั้นมาคลอกเพลิงเสียสิ้น ในเวลานั้นกุมารที่มีบุญนั้นก็ถูกจับไปด้วย พวกเผาเด็กจึ่งนำไปคลอกเพลิงที่ป่าช้านอกเมือง พร้อมด้วยเด็กลูกทารกชาวบ้านทั้งปวง แต่กุมารผู้มีบุญนั้นเพลิงหาได้ไหม้ทั้งต้วไม่ เปนแต่ถูกเปลวเพลิงลวกเอาตามมือแลเท้าเท่านั้น ดิ้นรนกลิ้งเกลือกออกไปพ้นเพลิงได้ พวกคนเผาหาได้สังเกตเห็นไม่ จึ่งนายผู้รักษาป่าช้าไปพบก็นำกุมารนั้นมาซ่อน เลี้ยงรักษาไว้ไม่ให้คนภายนอกรู้ แต่กุมารนั้นเปนคนพิการ ครั้นเติบใหญ่ขึ้นจะทำมาหากินสิ่งใดก็ไม่ถนัด จนเจริญไวยมีอายุได้ ๑๕ ปี เมื่อกุมารนั้นจะถึงที่มีบุญญาธิการได้เปนกระษัตริย์มีศักดานุภาพมาก จึ่งร้อนถึงสมเด็จอมรินทราธิราช ลงมาดลใจให้พวกชายหญิงชาวบ้านเมืองนครสวรรคบุรี ทั้งในเมืองนอกเมืองให้รู้ทั่วกัน ต่างพูดโจษกันเสียงอื้ออึงเซงแซ่ไปว่าจะมีผู้มีบุญใหม่ขี่ม้าเหาะมาทางอากาศ ขึ้นผ่านพิภพเมืองเรา พวกราษฎรพลเมืองบางเหล่าพูดโจษกันว่า ผู้มีบุญจะมาทางทิศตวันออก โดยทางอากาศในวันนี้เปนแน่ เพราะฉนั้น พวกพลเมืองทั้งในเมืองนอกเมือง จึ่งพากันแตกตื่นอุ้มลูกจูงหลานไปคอยผู้มีบุญอยู่ในที่กว้างกลางพระนคร ฝ่ายกุมารผู้พิการด้วยไฟลวกนั้น ก็อุตส่าห์ไปดูผู้มีบุญกับคนทั้งปวงด้วย ครั้นกุมารนั้นเดินไปถึงต้นโพใหญ่จวนจะถึงเมือง ในขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชจึ่งนฤมิตรเพศเปนมนุษย์ผู้เฒ่า จูงม้ามีเครื่องอานผูกครบตัว ๑ กับห่อเข้าทิพย์ ๑ ห่อ ขวดน้ำมัน ๑ ขวด เครื่องอาภรณ์สำหรับกระษัตริย์ ๑ ห่อ อันมีพร้อมกับทั้งพระขรรคาวุธด้วย มามอบให้แก่กุมารพิการนั้นรักษาไว้ จึงสั่งว่าถ้าหิวเข้าเมื่อใด จงแก้ห่อเข้านั้นออกกินเถิด ครั้นแล้วสมเด็จท้าวสหัสไนยเทวราชก็อันตรธานหายไปจากสถานที่นั้น ฝ่ายกุมารพิการนั้นนั่งคอยท่าอยู่ช้านาน ไม่เห็นผู้เฒ่าที่ฝากของนั้นกลับมา พอถึงเวลาหิวเข้าก็แก้ห่อเข้านั้นออกกิน ตามคำผู้เฒ่าเจ้าของสั่งไว้ ครั้นได้กินอาหารทิพย์อันมีโอชารศดังนั้นแล้ว ก็รู้สึกมีกำลังเปนศุขกายศุขจิตร เกิดกำลังสติปัญญาความคิดแปลกขึ้นกว่าเก่า จึ่งหยิบขวดน้ำมันมารินออกทาทั่วร่างกาย รอยบาดแผลที่ไฟไหม้ลวกตามมือแลเท้าให้ขัดข้อลำ แลโรคไภยในกายก็หายไปสิ้นในทันที กลับมีสีสัณฐ์พรรณผ่องใสงดงามแปลกตาของตนขึ้น เมื่อเห็นปรากฎดังนั้น กุมารนั้นก็นึกในใจว่า ผู้มีบุญที่จะมานั้นเห็นจะเปนตัวเราเองกระมัง จึ่งแก้ห่ออาภรณ์นั้นออกเห็นผ้านุ่งแลเครื่องประดับต่างๆ อันงดงาม จึงแต่งตัวนุ่งห่มแลประดับเครื่องอาภรณ์ของกระษัตริย์ เหน็บพระขรรคาวุธเสร็จแล้วก็ขึ้นขี่ม้า แท้จริงม้านั้นหาใช่ม้าตามธรรมดาของมนุษย์ไม่ เปนม้าเทวดา ก็พาเหาะขึ้นไปในอากาศเหนือพระนครสวรรค์บุรี

ในขณะนั้น พระญาโคตรตะบองทอดพระเนตรเห็นผู้มีบุญขี่ม้าเหาะมาทางนภากาศดังนั้น ก็สดุ้งตกพระไทยกลัว จึ่งตรัสว่าถ้าเราคว่างตะบองเหล็กไปตกลงในที่ตำบลใด เราก็จะตามตะบองไปสร้างเมืองลงในที่ตำบลนั้น จึงคว่างตะบองเหล็กไปโดยเต็มกำลังในทางทิศตวันออก ตะบองเหล็กนั้นไปตกลงถูกช้างตายถึงล้านตัว เพราะฉนั้นจึงได้เรียกที่ตำบลนั้นว่าล้านช้าง พระญาโคตรตะบองจึงทิ้งพระนครสวรรค์บุรีหนีไป สร้างนครลงที่ตำบลล้านช้าง เรียกว่า เมืองล้านช้าง ภายหลังจึงขนานนามว่า นครศรีสัตนาคนะหุต

ครั้นอยู่มามีอำมาตย์สยามผู้หนึ่งชื่อว่าแสนหัง เข้าแย่งชิงราชสมบัติได้ พระญาโคตรตะบองนี้ เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนม์ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๖๑ พรรษา รวมพระชนม์ ๘๑ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันเสาร์

ส่วนมงกุฎแลพระขรรค์นั้น ได้หล่อประดับกับพระรูปหล่อของพระองค์ไว้ พระรูปหล่อนั้นมีปรากฎอยู่มาจนถึงกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยาเสียแก่พม่า

ฝ่ายพระนครสวรรค์บุรีนั้น พระเจ้าภะรัตกับผู้ผ่านพิภพเสด็จสวรรคตแล้ว (พระเจ้าภะรัตกับนั้น เห็นจะเปนพระยาแกรก คือที่เรียกพระนามในภายหลังตามฉบับพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าสินธพอมรินทร์นั้น) จึ่งพระยาสายน้ำผึ้งซึ่งเปนมหาเสนาบดีได้ขึ้นครองราชสมบัติ ในพระนครสวรรค์บุรีต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า ดาราราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอรรคมเหษี มีพระนามว่าสุธรรมราชกุมาร พระเจ้าสายน้ำผึ้งพระองค์นี้ มีพระบุญญาภินิหารเปนอันมาก ถ้าพระองค์จะเสด็จประพาศไปในที่ตำบลใดอันเปนโขดเขินเนินหาดดินดอนก็ดี จะเสด็จโดยทางชลมารคไม่ได้ พระองค์ทรงชี้พระหัดถ์ไปในที่ตำบลใด ตำบลนั้นก็กลับกลายเปนน้ำไหลไปทั้งสิ้น ดุจดังสายน้ำผึ้งไหลเปนมหัศจรรย์ พระองค์เสด็จไปประพาศตำบลใด ก็โปรดทรงแพยนต์ไปทุกครั้งทุกคราว แพยนต์ของพระองค์ก็ล่องลอยไปตามน้ำไหลได้โดยสดวก จะได้ติดขัดน้ำ ณแห่งหนึ่งแห่งใดหามิได้ ครั้นพระราชโอรสสุธรรมราชกุมารของพระองค์ ทรงเจริญไวยวัฒนาการขึ้นแล้ว พระองค์จึงทรงโปรดให้เปนพระมหาอุปราช ทรงพระนามว่า พระสุธรรมราชา

พระเจ้าสายน้ำผึ้งเมื่อแรกได้ราชสมบัติ มีพระชนม์ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๓๐ พรรษา รวมพระชนมายุ ๔๕ พรรษา เสด็จสวรรคต

ในขณะนั้น พระสุธรรมราชามหาอุปราชผู้เปนพระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติในพระนครสวรรค์บุรีต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุธรรมราชา มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า ศิริปชาราชเทวี พระราชวงษ์แลพระญาติของพระองค์สืบเชื้อสายมาแต่ฝ่ายอำมาตย์โดยมาก

ครั้นอยู่มาพระองค์เสด็จไปสร้างพระนคร อยู่ณเมืองพิศณุโลก เมืองนี้มีแม่น้ำผ่านกลางพระนคร ประกอบด้วยพรรณมัจฉาชาติแลธัญญาหารบริบูรณ์ แลมีบ่อสระน่าสนานน่าเล่นเปนที่สนุกเปนอันมาก พระเจ้าสุธรรมราชาทรงพระศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปปฏิมากร ๒ องค์ องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระพุทธชินราช องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระพุทธชินสีห์ แลทรงสร้างพระอารามขึ้นสองอาราม โปรดให้อาราธนาพระสงฆ์ผู้เปนพระเถระรู้พระปริยัติธรรมไตรยปิฎกมาเปนเจ้าอาราม ให้บอกกล่าวพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนเปนอายุพระพุทธสาสนาสืบไป

พระองค์ทรงบำรุงพระพุทธสาสนา มีการปฏิสังขรณ์พระอาราม พระสถูปเจดีย์วิหารเปนต้น บำเพ็ญพระราชกุศลสิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก

พระเจ้าสุธรรมราชาเมื่อแรกได้ราชสมบัติ มีพระชนมายุ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๓๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๕๐ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันเสาร์

ในลำดับนั้น เชื้อพระวงษ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ขึ้นครองราชสมบัติในเมืองพระพิศณุโลกต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าพิศณุราชา มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า อินทวดีเทวี มีพระอนุชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พิชยราชา คือ พิไชยราชา พระเจ้าพิศณุราชาเสด็จไปสร้างพระนครพิจิตรบุรี มีรับสั่งให้นายจิตรกรรมช่างวาดเขียนรูปภาพแลลวดลายต่าง ๆ ที่ฝาผนังกำแพงพระราชวังชั้นในแลชั้นนอก เปนฝีมือประณีตงามอย่างยิ่ง จึ่งสมมุติเรียกนามเมืองนั้นว่า พระนครพิจิตรบุรี คือหมายเหตุว่าเปนเมืองงามด้วยลายรูปภาพเขียนต่าง ๆ

พระเจ้าพิศณุราชาครองราชสมบัติได้ ๓๐ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา รวมพระชนม์ ๕๐ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันเสาร์

ในลำดับนั้น พระพิไชยราชาผู้เปนพระอนุชาธิราชได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าพิไชยราชา มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า ศิริกัญญาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระศรีสิงห์ ครั้นต่อมาพระเจ้าพิไชยราชาเสด็จประพาศไปพร้อมด้วยหมู่ราชบริพารโยธาทวยหารทั้งปวง ทรงเลือกหาที่ไชยภูมิจะสร้างพระนครใหม่ให้สมควรกับพระนามของพระองค์ ครั้นได้ที่ไชยภูมิดีแล้วก็ทรงสร้างพระนครขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า พระนครพิไชยบุรี (เข้าใจกันว่าจะเปนเพ็ชร์บุรี) พระองค์เสด็จประทับสำราญพระไทยอยู่ในพระนครนั้น

พระเจ้าพิไชยราชาเมื่อแรกได้ราชสมบัติ มีพระชนม์ ๒๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๔๐ พรรษา รวมพระชนม์ ๖๕ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันเสาร์

จึ่งเสนาอำมาตย์ทั้งปวง เชิญพระศรีสิงห์พระราชโอรส ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีสิงห์ มีพระมเหษี ๒ พระองค์ พระมเหษีใหญ่ทรงพระนามว่า สุชาวดีเทวี พระมเหษีน้อยทรงพระนามว่าสุวรรณบัพพตา

พระมเหษีใหญ่มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่า พระเชษฐกุมาร พระราชโอรสองค์น้อยทรงพระนามว่า พระสุรินทราชา พระราชโอรสสองพระองค์นี้มีลักษณพระรูปโฉมงามลม้ายคล้ายกัน ภายหลังพระเชษฐกุมารพระราชโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ล่วงไป

ฝ่ายพระมเหษีน้อยก็มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ องค์หนึ่งทรงพระนามว่า สุริยวงษา องค์หนึ่งทรงพระนามว่า อนุราช อยู่มาวันหนึ่ง สุรินทราชาพระราชโอรส กราบถวายบังคมลาพระราชบิดา พาพลโยธาทวยหารเปนอันมาก เสด็จไปประพาศป่าตามสำราญพระไทย เสด็จล่วงแดนไปจนถึงป่าแห่งหนึ่ง ใกล้เขตรแคว้นแดนเมืองกัมพุชา ป่านั้นมีต้นไม้ขึ้นเปนพุ่มพงมีกิ่งก้านใบเขียวเหลืองหม่น แลแต่ไกลดุจดังสร้อยคอขนนกยูง มีช้างสีน้ำเงินประหลาดตัวหนึ่งอยู่ในป่านั้น พระราชโอรสสุรินทราชาให้คล้องจับช้างสีประหลาดนั้นได้ พาพวกพลเสด็จกลับมา ขึ้นเฝ้ากราบทูลพระราชบิดาถวายช้างสีประหลาดนั้น

ครั้นอยู่มา พระเจ้าศรีสิงห์ตรัสถามพระครูโหราจาริย์ว่า สืบไปเบื้องน่า บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุข หรือจะเกิดทุกข์ขุกเข็ญเปนประการใด พระครูโหราจาริย์จึงกราบทูลว่า ชาตาเมืองจะต้องย้ายพระนครไป ๓ แห่ง บ้านเมืองจึงจะยั่งยืนถาวรมั่นคงเปนปรกติดี พระองค์ได้ทรงฟังดังนั้น จึงเสด็จไปสร้างซ่อมแปลงพระนครสวรรค์บุรี แล้วเสด็จประทับอยู่ในพระนครนั้น โดยศุขสำราญพระไทย

พระเจ้าศรีสิงห์เมื่อแรกครองราชสมบัติ พระชนม์ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๓๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๕๐ พรรษา เสด็จสวรรคต

ในลำดับนั้น พระสุรินทราชาราชโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติในพระนครสวรรค์บุรีต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุรินทราชา มีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า จันทาเทวี

อยู่มาพระองค์ตรัสสั่งให้พระครูโหราจาริย์ คำณวนดวงพระชะตาของพระองค์ แลให้ทำนายพระเคราะห์ดีร้ายด้วย พระโหราจาริย์จึงคำณวนพระชะตาถวายพยากรว่า เกณฑ์พระชะตาของพระองค์มีพระเคราะห์จะต้องเสด็จสวรรคตด้วยยาพิษ ถ้าพระองค์จะเสดาะพระเคราะห์ให้มีพระชนม์ยืดยืนนาน แลให้มีพระเดชานุภาพแผ่ไพศาลไปแล้ว ขอให้พระองค์ทำพระราชพิธีเสดาะพระเคราะห์ร้ายรับพระเคราะห์ดี แล้วยกพยุหโยธาทัพ เสด็จประพาศไปเลือกหาภูมิ์ลำเนาอันเปนไชยมงคล สร้างพระนครใหม่ลงในที่นั้น เสด็จประทับอยู่ก็จะเคลื่อนคลายพระเคราะห์ พระองค์จึงตรัสสั่งให้ตั้งพระราชพิธีกระทำตามพระโหรทูลเสร็จแล้ว ก็เสด็จยกพยุหโยธาทัพออกจากพระนคร เที่ยวประพาศเลือกหาที่ไชยภูมิ์จะสร้างเมือง ถึงบ้านพวกพรานเนื้อแห่งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นตำบลนั้นเปนที่ไชยภูมิ์ดี จึงตรัสสั่งให้กองทัพคุมโยธาทวยหารเข้าตีบ้านนั้นให้แตกเปนฤกษไชยมงคล แต่อย่าให้ราษฎรชาวบ้านป่วยเจ็บล้มตายได้เปนอันขาด พวกกองทัพของพระองค์ก็ขับทหารโห่ร้องเข้าตีบ้านพราน พวกพรานในบ้านนั้นต่างแตกหนีไปสิ้น ครั้นพระองค์ได้ไชยชำนะเปนราชาฤกษแล้ว ก็ให้สร้างพระนครลงในตำบลบ้านนั้น จึงตรัสสั่งให้ไปเที่ยวป่าวร้องติดตามพวกพรานเนื้อทั้งปวงนั้นกลับมา พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเปนอันมากทั่วกันทุกคน แลโปรดให้เลือกตำบลยกพระราชทานที่ดินเปนกรรมสิทธิแก่พวกพรานบ้านหนึ่ง บ้านนั้นจึงมีชื่อเรียกว่าบ้านพรานเนื้อสืบมา ยังมีปรากฎอยู่จนเท่าทุกวันนี้

ครั้นพระองค์สร้างพระนครเสร็จแล้ว จึงทรงตั้งนามเมืองนั้นว่าพระนครไชยนาทบุรี ภายหลังต่อมา ชนทั้งปวงเรียกพระนามของพระองค์เปนสองพระนาม บางทีเรียกพระนามว่า พระเจ้าสุรินทราชา บางคราวเรียกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าไชยนาท ตามนามพระนครนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ตรัสถามพระครูโหราจาริย์อีกครั้งหนึ่งว่า พระชาตาของพระองค์ต่อไปจะเปนประการใดบ้าง ให้ทำนายตามตำราโดยจริง พระครูโหราจาริย์ก็ถวายคำพยากรยืนยันอยู่ตามที่ทำนายถวายมาแต่ก่อนว่า พระองค์จะเสด็จสวรรคตด้วยเสวยยาพิษ พระองค์ทรงดำริห์ว่าพวกโหรได้ทำนายเราถึง ๒ ครั้งแล้ว จึงมีรับสั่งให้พวกวิเศษชาวเครื่องต้น เจือยาพิษให้พระองค์เสวยทีละเล็กละน้อย เพื่อจะให้พระเคราะห์ของพระองค์บันเทาลง เพราะเหตุพระองค์เสวยยาพิษเสมอดังนี้ จึงไม่มีพระราชโอรส

พระเจ้าสุรินทราชาพระองค์นี้ ครองราชสมบัติได้ ๓๘ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติมีพระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนม์ ๕๓ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันพฤหัศบดี

ในลำดับนั้น พระสุริยวงษาซึ่งเปนพระอนุชาต่างพระมารดา ได้ครองราชสมบัติในพระนครไชยนาทต่อไป พระองค์มีพระมเหษีทรงพระนามว่าปทุมวดี

ในขณะนั้น อนุราชกุมารซึ่งเปนพระอนุชาเสด็จเข้าเฝ้าพระเชษฐาริราชมิได้ขาด อยู่มาอนุราชกุมารพระอนุชาลอบรักสมัคสังวาศกับนางปทุมวดี มเหษีของพระเชษฐาธิราช ภายหลังจึงพาพระมเหษีนั้นหนีไป ครั้นพระเจ้าสุริยวงษาได้ทราบก็ทรงพระพิโรธ จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการทั้งฝ่ายตำรวจแลทหาร คุมพลออกติดตามจับพระอนุชากับพระมเหษีให้จงได้ ข้าราชการทั้งสองกรมติดตามไปไม่ทันก็กลับมากราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นอยู่มา พระอนุราชผู้เปนพระอนุชาพาพระมเหษีปทุมวดีหนีไปนั้นส่องสุมพวกพลได้มากแล้ว จึงยกพลเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติได้ จับพระเชษฐาธิราชสำเร็จโทษเสีย

พระเจ้าสุริยวงษาครองราชสมบัติได้ ๓๒ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติ มีพระชนม์ ๒๕ พรรษา รวมพระชนม์ ๕๗ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันจันทร์

ในลำดับนั้น พระอนุราชผู้เปนพระอนุชาได้ขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จไปก่อสร้างซ่อมแปลงพระนครสิงหบุรี เสวยสวรรยาธิปัตอยู่กับพระปทุมวดีซึ่งเปนพระพี่สะใภ้มาก่อน แต่พระองค์หาได้ตั้งแต่งขึ้นเปนพระมเหษี ใหญ่ไม่ ให้เปนแต่พระสนมเอกอรรคนารีเท่านั้น ฝ่ายขุนนางข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลขอให้พระองค์ทรงตั้งพระปทุมวดีเปนตำแหน่งพระมเหษีใหญ่อีกฝ่ายหนึ่ง แต่พระเจ้าอนุราชไม่ยอมตามคำขอของขุนนางทั้งปวงตรัสว่า เราจะยกพระปทุมวดีขึ้นเปนมเหษีใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมดาสัตรีไม่ค่อยจะทิ้งนิสไสยเดิมของตน ถ้าขืนยกขึ้นให้เปนพระมเหษีใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งดังนั้นแล้ว เกรงจะเปนไปเหมือนอย่างครั้งพระเชษฐาธิราชของเรา แต่พระองค์ทรงระลึกถึงอุปการคุณของพระปทุมวดีว่ามีคุณอยู่กับพระองค์เปนหลายครั้ง พระองค์จึงยกส่วยอากรเปนอันมากจากหัวเมืองต่างๆ พระราชทานแก่พระปทุมวดีโดยสมควร

ครั้นอยู่มา พระอินทสุชาเทวี ซึ่งเปนพระมเหษีใหญ่แต่เดิมของพระองค์ ประสูตรราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อินทราชา ครั้นทรงพระเจริญไวยขึ้น พระราชบิดาจึงสถาปนาขึ้นเปนพระมหาอุปราช

พระเจ้าอนุราชพระองค์นี้ มีบุญญาธิการเปนพระสัจบารมี ทรงอธิษฐานให้เปนไปได้ตามพระไทยประสงค์แต่บางสิ่งบางส่วน เช่นในบางครั้งบางคราวพระองค์ทรงห้ามฝนให้หยุดได้ แลบรรดานฝนให้ตกได้ ครั้นอยู่ต่อมาพระองค์เกิดมีพระไทยโลภเจตนามากขึ้น มีรับสั่งให้เก็บริบเงินทองของราษฎรเสียหมดทั้งสิ้น ห้ามมิให้ราษฎรมีเงินทองใช้สอยมากกว่าพระราชบัญญัติที่ตั้งไว้ แลให้เก็บเงินภาษีอากรทั้งปวงทวีมากขึ้น ผิดจากราชประเพณีแต่โบราณ พระองค์ให้สร้างคลังมหาสมบัติใหญ่โตแน่นหนา ให้นำเงินทองที่เก็บริบมาได้จากราษฎรทั้งปวงนั้น เข้าเก็บไว้ในคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรเงินทองสิ่งของที่คลังมหาสมบัตินั้นทุก ๆ วันมิได้ขาด ทรงประทับสำราญอิ่มพระไทยไปด้วยเงินทองในคลังมหาสมบัตินั้น แลตรัสว่าพระองค์ทรงรักษาอุโบสถศีลณะที่นั้น เพราะเหตุนั้น ราษฎรพลเมืองทั้งปวง เห็นพระจริตกิริยาอาการของพระองค์ผิดแปลกไปกว่ากระษัตริย์อื่นๆ ซึ่งมีมาแต่หลัง จึงเรียกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าโลภมหาสมบัติ พระองค์ครองราชสมบัติมาได้ ๓๕ พรรษาก็เสด็จสวรรคต เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ ๒๐ พรรษา รวมพระชนม์ ๕๕ พรรษา พระองค์ประสูตรวันอังคาร

ต่อนี้ไปมีกระษัตริย์ ๘ พระองค์ ครองราชสมบัติโดยลำดับกัน แต่ไม่มีความพิศดาร

๑. ในลำดับนั้น พระราเมศวรได้ขึ้นครองราชสมบัติ

๒. ครั้นพระราเมศวรสวรรคตแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่าบรมราชา ได้ขึ้นครองราชสมบัติ

๓. ครั้นพระบรมราชาสวรรคตแล้ว มหาจักรวรรดิ ซึ่งเปนพระราชโอรสของพระองค์ได้ครองราชสมบัติ

๔. ครั้นเมื่อพระเจ้ามหาจักรวรรดิสวรรคตแล้ว พระโพธิสารผู้เปนพระราชโอรสของพระองค์ ได้ครองราชสมบัติ

๕. เมื่อพระเจ้าโพธิสารสวรรคตแล้ว ในลำดับนั้นพระเจ้าเอกราชา ซึ่งเปนพระราชวงษ์อื่น ได้ขึ้นครองราชสมบัติ

๖. เมื่อพระเจ้าเอกราชาสวรรคตแล้ว พระอนุชาของพระองค์ทรงพระนามว่า บรมติโลก ได้ครองราชสมบัติ

๗. ครั้นพระเจ้าบรมติโลกสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงษ์ของพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริภูปราชา

๘. เมื่อพระเจ้าศิริภูปราชาสวรรคตแล้ว พระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชาติราชา

ตามพงษาวดารฉบับเดิม เมื่อกระษัตริย์ทั้ง ๘ พระองค์ได้ครองราชสมบัติโดยลำดับกัน ไม่มีจำนวนพระชนมายุ แลไม่มีจำนวนพรรษาได้ครองราชสมบัติ ไม่ปรากฎพระนามพระอรรคมเหษี พระราชบุตร พระราชนัดดา แลข้อความก็หาได้มีพิศดารอย่างไรไม่

ในลำดับนั้นต่อมา เขึ้อพระวงษ์ของพระเจ้าชาติราชาได้ครองราชสมบัติในพระนครสิงหบุรีต่อไป ทรงพระนามว่า พระอินทราชา

อยู่มาพระองค์ทรงเห็นว่า พระมเหษีของพระองค์ไม่มีพระราชโอรส จึงทรงสถาปนาพระอนุชาของพระองค์ผู้ทรงพระนามว่า พระอู่ทอง ขึ้นเปนพระมหาอุปราช

ครั้นอยู่มา พระอินทราชาเสด็จไปสร้างซ่อมแปลงเมืองเพ็ชร์บุรี เปนนครหลวงประทับอยู่เปนที่สำราญพระไทยต่อไป พระมเหษีของพระองค์ผู้ทรงพระนามว่า มณีมาลามีพระครรภ์ประสูตรพระราชโอรสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าอู่ทอง พ้องต้องกับพระนามของพระมหาอุปราชผู้เปนพระเจ้าอาว ซึ่งมีพระนามดังนี้ เพราะว่าเมื่อเวลาประสูตรนั้น พระราชวงษานุวงษ์แลพระญาติทั้งปวง มีความชื่นชมยินดีที่พระองค์ได้พระราชโอรส ด้วยแต่ก่อนหมายว่าพระองค์จะไม่มีพระราชบุตรแล้ว จึงนำอู่ทอง ขันทอง อ่างทอง แต่มีอู่ทองโดยมาก มาถวายเปนของทำขวัญพระราชกุมาร ด้วยความชื่นชมทั่วกัน

ครั้นอยู่ต่อมาเปนวันปวารณาออกพรรษาในเดือน ๑๑ พระอินทราชาเสด็จไปพระราชทานพระกฐินแก่พระสงฆ์ในอารามต่าง ๆ แลทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีทรงบริจาคทานเปนต้นเปนอันมาก

พอถึงฤดูแล้งมรรคาเดินสดวกสบายแก่ชนทั้งปวงแล้ว พระองค์จึงยกโยธาพลากร พร้อมด้วยนิกรฝ่ายในทั้งพระมเหษีแลหมู่สนมนาฎราชนารีบริพาร เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทณยอดเขาสุวรรณบรรพต ในแดนเมืองลพบุรี เปนการศุขสำราญพระราชหฤไทย แลสนุกใจเบิกบานแก่พลโยธาทวยหาร ในการชมนกชมไม้ในไพรวันทั่วกัน พระองค์เสด็จประทับแรมอยู่ที่พลับพลาค่ายหลวงใกล้บริเวณพระพุทธบาทนั้นถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ในครั้งนั้นพระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์พระราชทานแก่ราษฎรทั้งปวง เปนเงินเฟื้อง เงินสลึง เงินบาท แลเข้าปลาอาหารเปนอันมาก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเปนอดิเรกทาน แล้วเสด็จกลับคืนยังพระนคร

พระองค์ครองราชสมบัติมาได้ ๓๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ ๒๐ พรรษา รวมพระชนม์ ๕๕ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตรวันจันทร์

ในขณะนั้น พระอู่ทองราชโอรสมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้ขึ้นครองราชสมบัติในพระนครเพ็ชร์บุรีต่อไป ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทองตามพระนามเดิม พระองค์มีพระมเหษีทรงพระนามว่า ภุมมาวดีเทวี

อยู่มาในเวลาราตรีหนึ่ง พระเจ้าอู่ทองทรงพระสุบินนิมิตรว่า มีเทพยดาองค์หนึ่งมาแจ้งเหตุต่อพระองค์ว่า ในทางทิศอุดรแต่พระราชวังนี้ไป เปนระยะทางประมาณ ๕๐๐ เส้น คือโยชน์หนึ่งกับ ๑๐๐ เส้น ในตำบลนั้นมีทรัพย์แผ่นดินทั้งแก้วแหวนเงินทองมูลมองเปนอันมาก หามีเจ้าของไม่ เปนทรัพย์มีอยู่ในแผ่นดินของพระมหากระษัตริย์ ก็เปนของพระองค์ทั้งสิ้น ขอเชิญพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรให้คนขุดแลขนเข้ามาไว้ในพระคลังหลวง พระองค์จะได้ใช้ในราชการ แลทรงบำเพ็ญทานเปนการพระราชกุศลสืบไป ครั้นพระองค์ตื่นบรรธมขึ้น ก็ทรงระลึกตามพระสุบินว่าเปนเทวโตปสังหรณ์ เทพยดามาบอกทรัพย์ให้ทั้งนี้ก็เปนพระราชลาภของพระองค์ ซึ่งได้ทรงสร้างบุญญนิธีไว้แต่ปางก่อนมาอำนวยผล พระองค์จึงเสด็จไปในที่ตำบลนั้นพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร มีรับสั่งให้คนขุดได้ทรัพย์แผ่นดินทั้งแก้วแหวนเงินทองเปนอันมาก สมตามเทพยดาบอกเล่าในพระสุบินนั้นทุกประการ ทรัพย์แผ่นดินที่ขุดได้ในเวลานั้น ต้องบรรทุกเกวียนถึง ๑๐๐ เล่ม ขนเข้ามาไว้ในพระคลังมหาสมบัติ แล้วพระองค์ทรงบริจาคบำเพ็ญทานการพระราชกุศลเปนอันมาก ทรงอุทิศผลพระราชกุศลไปยังเทพยดาผู้มาบอกเล่า แลเหล่าเทพยนิกรทั่วทิศานุทิศ แลทรงกระทำปัตติทานแผ่ผลพระราชกุศลแก่สรรพสัตว์ทั่วไปในสกลจักรวาฬ

ครั้นอยู่มา ในพระนครเพ็ชร์บุรี มีอุบัทวไภยบังเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ เข้าปลาอาหารแพง พวกประชาราษฎรอดหยากขัดสน ๑ ผู้คนแลช้างม้าโคกระบือเปนโรคป่วยไข้ ๑ ทั้งมนุษย์แลสัตว์พินาศล้มตายลงโดยมาก ๑ เมื่อเกิดไภยพิบัติขึ้นดังนี้ ราษฎรชาวพระนครเพ็ชร์บุรีก็เปนทุกข์เดือดร้อนไม่เปนอันทำมาหากิน บ้างอพยพหนีไภยไปจากภูมิ์ลำเนาของตนมีอยู่เนือง ๆ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นไภยอันบังเกิดขึ้นดังนั้น ก็ทรงพระดำริห์ว่า เมืองเพ็ชร์บุรีนี้จะไม่เปนที่ศุขสบายเสียแล้ว จำจะไปเที่ยวหาที่ไชยภูมิ์ดีสร้างพระนครอยู่ใหม่จึงจะสมควร จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งเสนาอำมาตย์ผู้มีสติปัญญา ให้คุมคนเที่ยวเสาะแสวงเลือกหาที่จะสร้างพระนครใหม่ แลให้ค้นตำหรับตำราของโบราณแต่เก่าก่อนมาตรวจดู พวกเสนาพฤฒามาตย์จึงกราบทูลว่า มีตำราเก่าเปนพระพุทธทำนายฉบับหนึ่งมีใจความว่า ในสมัยพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์อยู่ ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงกระทำปาฏิหารเสด็จจากพระเชตวันมหาวิหารมาโดยทางนภากาศ ถึงเขาปัถวีอันเปนภูเขาน้อยแห่งหนึ่งอยู่ในดินแดนโยนกประเทศ พอเปนเวลาฝนตกห่าใหญ่ พระองค์เสด็จเข้าประทับที่เพิงผาเชิงเขาปัถวีนั้น เมล็ดฝนมิได้ตกต้องพระกายของพระองค์สักหยาดหนึ่ง ครั้นฝนเหือดหายแล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระรัศมี ๖ ประการงามโชติช่วงรุ่งเรือง ทรงอธิฐานพระฉายแห่งพระบวรรูปกายอันบังเกิดแต่พระธรรมกายของพระองค์ ไปประดิษฐานติดอยู่ที่แผ่นเพิงผาแห่งเขาปัถวีนั้น มิให้ลบละลายหายสูญด้วยเพลิงแลน้ำอย่างหนึ่งอย่างใด ให้สถิตย์ธำรงอยู่สิ้นกาลนาน ด้วยอำนาจพระพุทธาธิษฐาน เพื่อเทพยดามนุษย์ซึ่งเปนเวไนยเผ่าพันธุ์ แลเปนพุทธบริษัทอันจะบังเกิดมาณภายน่า ได้พบเห็นเปนที่บังเกิดโสมนัศศรัทธาเลื่อมใส จะได้เปนที่ชักชวนกันมานมัสการกระทำสักการบูชา เปนบุญญกิริยาผลานิสงษ์ให้บังเกิดในสุคติทั่วกัน ชนทั้งหลายจึงได้เรียกเขาปัถวีนั้นว่า พระพุทธฉาย ยังมีปรากฎสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ข้างทิศเหนือแห่งเขาปัถวีนั้นไปมีแม่น้ำแห่งหนึ่ง ทางทิศเหนือแม่น้ำนั้นมีภูเขาหนึ่งเรียกว่าเขาสุวรรณบรรพต มีพรานเนื้อคนหนึ่งชื่อว่าสัจพันธ์ อาไศรยอยู่ที่ภูเขานั้นเปนนิจ ครั้นสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงเปล่งพระรัศมีอันเปนฉอพรรณรังสีรุ่งเรืองงามยิ่งนัก สัจพันธ์พรานเนื้อได้เห็นดังนั้นก็เลื่อมใส บังเก็ดปีติโสมนัศหาที่สุดมิได้ จึ่งปูผ้าลงกราบถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ แลเก็บดอกไม้ป่ามากระทำสักการบูชา แล้วกราบทูลอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ ทรงพระกรุณาเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพตนั้น เพื่อเปนที่นมัสการกระทำสักการบูชาของเทพยดามนุษย์สืบไปในภายน่าสิ้นกาลช้านาน สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงพระกรุณาแก่นายพรานเนื้อผู้นั้น จึงผินพระภักตรไปทางทิศตวันตก ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ให้เปนพระบทวลัญช์ปรากฎอยู่ในแผ่นศิลาเหนือยอดเขาสุวรรณบรรพตนั้น ภายหลังมาจึงเรียกภูเขานั้นว่า เขาพระพุทธบาท แลเรียกพระบทวลัญช์นั้นว่า รอยพระพุทธบาท สืบๆ มาจนถึงในทุกวันนี้

ครั้นแล้วพระพุทธองค์เสด็จจากเขาสุวรรณบรรพต ไปทางทิศตวันตกเฉียงใต้ถึงป่าแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้ป่านั้นมีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง เรียกว่าหนองโสน ในที่ใกล้หนองนั้นมีตอไม้ใหญ่ตอหนึ่ง พระพุทธองค์ก็เสด็จประทับอยู่บนตอไม้นั้น (หนองโสนนั้นในภาษาพม่าเรียกว่า พ่อไอ) ในขณะนั้นเทพยดาแลพรหมได้นำผลสมอทิพย์มาถวายพระพุทธองค์เปนทิพยโอสถ พระพุทธองค์ก็ทรงรับมาเสวยให้เกิดบุญญกิริยานิสงษผลแก่เทพยดาแลพรหมผู้เลื่อมใสในพระคุณ ในขณะนั้นพระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นมดเล็กตัวหนึ่ง ไต่อยู่ในที่ใกล้ตอไม้นั้น จึงทรงแย้มพระโอษฐให้ปรากฎ ฝ่ายพระอานนทเถรผู้เปนพุทธอนุชา จึงทูลถามถึงเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐนั้น สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสพยากรว่า มดเล็กตัวนื้ไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า จะได้บังเกิดเปนกระษัตริย์มีศักดานุภาพมาก จะสร้างราชธานีอยู่ณตำบลหนองโสนนื้ ให้เปนบ้านเมืองศุขสมบูรณ์ จะบำรุงรอยบทวลัญช์แห่งเราตถาคต จึงได้เหยียบไว้บนยอดเขาสุวรรณบรรพตนั้นให้รุ่งเรืองเจริญ เปนที่ไหว้ที่บูชาของเทพยดามนุษย์สืบไปในภายหน้าสิ้นกาลนาน

พระเจ้าอู่ทองได้ทรงฟังเสนาพฤฒามาตย์ ทูลถวายตามเรื่องราวพระพุทธทำนายดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัศยินดียิ่งนัก จึงตรัสว่า ตัวเราเองเห็นจะต้องด้วยพระพุทธพยากรแล้ว จึงตรัสสั่งให้เตรียมพหลโยธาเสนามาตย์ กวาดต้อนราษฎรชายหญิงอพยพออกจากพระนครเพ็ชร์บุรี เสด็จไปหาที่ไชยภูมิ์สร้างพระนครอยู่ใหม่ ครั้นเสด็จถึงเข้าพระพุทธบาท พระองค์ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส เสด็จขึ้นทรงกระทำอภิวาทถวายเครื่องสักการบูชาพระบทวลัญช์ ของสมเด็จพระพุทธองค์บนยอดเขาสุวรรณบรรพต พร้อมด้วยพลนิกายทั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน ล้วนมีจิตรเลื่อมใสชื่นชมโสมนัศ ได้นมัสการทำสักการบูชาพระพุทธบาททั่วกันทั้งสิ้น ครั้นแล้วพระเจ้าอู่ทองเสด็จประทับแรมณพลับพลาค่ายหลวง ใกล้บริเวณพระพุทธบาทนั้น จึงตรัสสั่งเสนาอำมาตย์ให้แยกย้ายกันไป เที่ยวค้นหาหนองโสนให้พบจงได้ พวกเสนาอำมาตย์ถวายบังคมลาพากันแยกย้ายเที่ยวค้นตรวจหาไป ก็ได้มาบรรจบพบหนองโสนพร้อมกัน ในที่ไม่สู้ไกลหนองนั้นมีแม่น้ำสายหนึ่ง ประกอบด้วยพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ พวกเสนาอำมาตย์เหล่านั้นก็รีบกลับไปกราบทูล ตามซึ่งได้พบหนองโสนให้พระองค์ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าอู่ทองได้ทรงฟังดังนั้นก็ดีพระไทยยิ่งนัก จึงยกพลนิกายรีบเสด็จมาถึงตำบลหนองโสน ประทับพักพลอยู่ในที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น ในขณะนั้นนทีเทพยดาซึ่งพิทักษ์รักษาอยู่ในลำแม่น้ำที่กล่าวนี้ จึงบรรดานดลใจปลากดคลังใหญ่ตัวหนึ่งในแม่น้ำนั้น ให้กระโดดขึ้นมาบนฝั่ง ร้องด้วยเสียงอันดังตามเพศของปลา แลในทันใดนั้น ฆ้องไชยใบหนึ่งซึ่งมีมาในกองทัพหลวงไม่มีผู้ใดเฆาะตีเลย พเอินฆ้องนั้นบรรดานให้มีเสียงลั่นดังขึ้นเอง เสียงฆ้องกับเสียงปลานั้นดังประสานขึ้นเปนเสียงเดียวกัน ดุจสำเนียงคนผู้ใดบอกว่าตำบลนี้เปนที่สมควรสร้างพระนคร สำเนียงนี้ให้ได้ยินทราบถนัดในพระโสตรพระเจ้าอู่ทอง หมู่เสนาอำมาตย์ข้าราชการแลไพร่พลทั้งปวงก็ได้ยินประจักษ์ทั่วไป พระเจ้าอู่ทองได้ทรงสดับศัพท์นิมิตรอันเปนอัศจรรย์ดังนั้นก็ดีพระไทยนัก จึงทรงพระราชดำริห์ว่า เทพยดาจะให้เราสร้างพระนครลงในที่นี้ จึงแสร้งบรรดานให้ปลาผุดขึ้นมาร้อง แลบรรดานฆ้องไชยให้ลั่นดังขึ้นเองเปนเสียงประสานกัน เหมือนเทพยดาจะบอกให้รู้แก่โสตรเรา แลให้ไพร่พลทั้งปวงได้ยินทั่วกันดังนี้ เปนโชคไชยนิมิตรมงคลอันประเสริฐ เราจะสร้างพระนครลงในตำบลจังหวัดนี้ ตามเทพยดาบอกเหตุจึงจะสมควร พระเจ้าอู่ทองได้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ ที่ปลากระโดดขึ้นมาร้องประสานกับเสียงฆ้อง ในภายหลังตำบลนั้นจึงได้เรียกว่า บ้านฆ้อง ปรากฎสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในขณะนั้น พระเจ้าอู่ทองจึงทรงตั้งพระสัตยาธิษฐานว่า พระองค์จะเสี่ยงพระบารมีขว้างพระแสงขรรค์ของพระองค์ไป ถ้าพระแสงขรรค์นั้นตกลงปักอยู่ในที่ใด พระองค์จะสร้างพระนครจะตั้งปรางค์ปราสาทราชวังลงในที่พระแสงขรรค์ตกลงปักอยู่นั้น ครั้นพระองค์เสี่ยงทายพระบารมีแล้ว จึงทรงขว้างพระแสงขรรค์ไป พระแสงขรรค์ก็ไปตกลงปักอยู่ที่ตำบลหนองโสน พระองค์จึงเสด็จตามพระแสงขรรค์ของพระองค์ไป พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์พลนิกร ครั้นทรงเห็นพระแสงขรรค์ของพระองค์แล้ว ก็เสด็จทอดพระเนตรที่ไชยภูมิอันจะสร้างพระราชวัง

ในขณะนั้น เทพยดาอารักษ์ซึ่งสิงสถิตย์รักษาอยู่ในตำบลจังหวัดหนองโสนนั้น มีจิตรยินดีจะช่วยเชิดชูพระปัญญาบารมีแลพระวิริยบารมีของพระเจ้าอู่ทอง ให้เปนพระเดชานุภาพปรากฎแก่คนทั้งปวง จึงสังหรณ์บรรดานพวกพลในกองทัพทั้งสิ้น ให้ร้องบอกเหตุปรากฎขึ้นว่า ถ้าผู้ใดจะสร้างพระนครลงในตำบลหนองโสนนี้แล้ว ผู้นั้นต้องมีฤทธิเดชกินเหล็กได้ แลยิงลูกศรไปลูกศรกลับมาหาเอง ไม่ต้องใช้คนไปเก็บ เสียงร้องสังหรณ์เกิดขึ้นในหมู่พวกพลทั้งปวงดังนี้ พระเจ้าอู่ทองได้ทราบเสียงสังหรณ์แต่คนทั้งหลายดังนั้น ก็ทรงเข้าพระไทยว่า สำเนียงพวกพลร้องขึ้นดังนี้ ก็เปนเหตุด้วยเทพยดาบรรดานจะให้คนทั้งหลายเห็นอานุภาพแห่งเรา พระองค์จึงทรงประกาศว่า เรานี้คือเปนมดเล็ก ที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงพยากรไว้ เราได้มาเปนพระเจ้าแผ่นดินมีอานุภาพมาก เหล็กเราก็กินได้ ลูกศรเรายิงไปให้กลับมาหาเราเองได้ ไม่ต้องให้ใครไปเก็บ พระองค์ทรงประกาศแล้ว จึงตรัสสั่งพวกวิเศษชาวพระเครื่องต้น ให้กรางเหล็กแท่งหนึ่งออกตำให้แหลกเปนผงกรองโดยเลอียดแล้ว ใส่คลุกลงในเครื่องพระกระยาหาร พระองค์เสวยพระสุธาโภชน์เปนผงเหล็กนั้นให้ปรากฎแก่คนทั้งปวงว่า พระองค์เสวยเหล็กได้ทุกๆ เวลา ผงเหล็กนั้นกลับมีโอชารศอร่อย ให้พระองค์เสวยพระกระยาหารได้มาก ดุจดังพระองค์ได้เสวยทิพยสุธาโภชน์ของเทพยดา แลผงเหล็กที่พระองค์เสวยนั้น กลับเปนพระโอสถวิเศษ ให้พระองค์มีพระฉวีวรรณงามผ่องใสขึ้นกว่าเก่า หามีพระโรคในพระกายเบียดเบียนไม่ แลพระองค์เสด็จลงประทับ ณพระตำหนักน้ำ ทรงแผลงศรยิงไปในทางเหนือน้ำ. ลูกศรตกลงในแม่น้ำแล้วลอยลงมา พระองค์ทรงกั้นไว้ด้วยคันศร ลูกศรก็เลื่อนลอยเข้ามาหาสู่แล่งศรที่พระองค์ทรงถืออยู่ในพระหัดถ์ ไม่ต้องตรัสใช้ราชบุรุษคนใดให้ไปเก็บลูกศรนั้นเลย คนทั้งปวงได้เห็นพระปรีชาฉลาดของพระองค์ ที่ทรงกระทำให้ต้องกับเสียงร้องของพวกพล อันเปนเทพยสังหรณ์บรรดานให้ร้องขึ้นดังนั้น ต่างคนต่างสรรเสริญพระปัญญาบารมีแลพระวิริยบารมีของพระองค์ เสียงแซ่ซ้องกึกก้องทั่วไปในหมู่กองพลนิกายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรามีพระบุญญาภินิหารเปนอันมาก ทรงพระปรีชาเฉียบแหลม สมควรจะสร้างกรุงลงในที่นี้ อันเปนที่ต้องด้วยพระพุทธทำนาย จะได้บำรุงพระพุทธสาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองสืบไป บ้านเมืองจะได้เปนศุขเกษมสานต์ไปสิ้นกาลช้านาน จนตลอดกัลปาวสาน ไพร่ฟ้าประชากรจะได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่เย็นเปนศุขจนตลอดตราบเท่าบุตรหลานเหลน ไม่มีไภยพาลมาย่ำยีเบียดเบียนได้ เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้ที่ไชยภูมิ์ดี แลได้โชคไชยมงคลนิมิตร แลศัพทเทพยสังหรณ์ อันเปนศิริสวัสดีต่าง ๆ ดังกล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว พระองค์ก็สร้างพระนครลงในที่ตำบลหนองโสนนั้น

ขณะเมื่อสร้างพระนคร พระองค์ให้ช่างลงมือจับการสร้างพระราชวังเปนที่เสด็จประทับก่อน ให้โหรพราหมณ์ตั้งการพระราชพิธีบูชาเทพยดาตามตำรา ให้สร้างพระมหาปราสาท ๓ องค์ เสาปราสาททุก ๆ ต้นนั้นให้ตั้งวงเวียนกันเช่นรูปสังทักษณาวัฏ อันเวียนแต่ซ้ายไปขวา ให้วางอิฐ ๘ แผ่นเรียงกันไปตามเสาปราสาททุก ๆ ต้น บนอิฐทั้ง ๘ แผ่นนั้นตั้งพานทอง มีหญ้าแพรกทั้ง ๘ พาน เปนการเสี่ยงทายตามแบบพิธีพราหมณ์ เมื่อยกเสาพระมหาปราสาท ๓ องค์ลงหลุม แลยกเครื่องบนพระมหาปราสาทขึ้นได้เปนหลายวันแล้ว หญ้าแพรกเสี่ยงทายในพานทองทั้ง ๘ พานนั้น คนมิได้ประพรมน้ำบำรุง ก็ยังสดชื่นเปนปรกติตามเดิม เปนที่มุ่งหมายเสี่ยงทายกันว่า พระนครที่สร้างใหม่นี้จะรุ่งเรืองสุกใสเปนศุขสืบไปในภายน่าสิ้นกาลช้านาน การก่อสร้างพระราชวังชั้นในมีตำหนักใหญ่น้อยทั้งคลังเงินคลังทอง คลังสรรพสิ่งของสิบสองพระคลัง ด้านนอกมีทั้งโรงช้างโรงม้า แลก่อกำแพงรอบพระนคร มีป้อมค่ายคูประตูหอรบครบการป้องกันไพรี แลสร้างสวนราชอุทยานอันตระการด้วยผลไม้ สวนขวัญมีพรรณดอกไม้ต่างๆ ขุดสระขุดบ่อให้มีน้ำใสไหลอยู่ไม่ขาดสาย ทางทิศตวันออกแลทิศตวันตกแห่งพระนคร ให้ปราบภูมิภาคเรียบราบเสมอเปนอันดี แลให้สร้างถนนหนทางหลายสาย คนเดินไปมาบรรจบถึงกันได้ แลให้สร้างศาลเทพารักษ์เปนศาลใหญ่แห่งหนึ่ง ในท่ามกลางพระนคร ครั้นการสร้างพระนครเปนการฝ่ายราชอาณาจักรได้ตั้งลงเปนหลักฐานแล้ว พระองค์จึ่งได้สร้างพระอารามต่าง ๆ เปนการทนุบำรุงพระพุทธสาสนาฝ่ายพุทธจักร ได้อาราธนาพระสังฆราชผู้รู้พระปริยัติธรรมแตกฉาน มาอยู่ในพระอารามหลวง ตำบลวัดท่าทรายแห่งหนึ่งให้เปนประธานสงฆ์ แลบอกกล่าวสั่งสอนพระปริยัติธรรมไตรยปิฎกแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง เพื่อให้เปนอายุพระพุทธสาสนาถาวรสืบไป ตำบลวัดท่าทรายนั้นอยู่ข้างทิศตวันออกแห่งพระนคร แลให้สร้างอารามหลวงอีกแห่งหนึ่งณตำบลจรเข้ ในข้างทิศตวันตกแห่งพระนคร พระองค์ทรงสร้างพระพุทธปรางค์ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูปปฏิมากรประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แลวิหารในอารามต่างๆ เปนอันมาก

ครั้นการสร้างพระนครฝ่ายราชอาณาจักร แลการสร้างอารามต่าง ๆ ฝ่ายพุทธจักรสำเร็จลงพร้อมกันแล้ว พระองค์จึ่งทรงตั้งนามพระนคร ให้เรียกว่ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ ตั้งแต่นั้นเสนาอำมาตย์ประชาราษฎรแลสมณชีพราหมณ์ ก็ได้อยู่เย็นเปนศุขถ้วนทั่วกัน ในกรุงที่สร้างใหม่ในตำบลหนองโสนนั้น ปราศจากไภยพิบัติคือเข้าแพง แลอหิวาตะกะโรคเปนต้น ฝูงชนพลเมืองรู้ทำมาหากิน มีการกสิกรรมทำไร่นา ทำพานิชกรรมแลกเปลี่ยนค้าขาย ทำการช่างหัตถกรรม เปนต้นว่าจักสาน ทำหม้อไห ตุ่ม โอ่ง ใช้ใส่เข้าใส่น้ำมากมูล ซื้อขายแก่กัน พวกราษฎรก็มีทรัพย์สินมั่งคั่งเจริญศุขสมบูรณ์ขึ้นทุกที

พระเจ้าอู่ทองได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในสยามประเทศแล้ว แต่ยังหาได้ทรงรับบรมราชาภิเษกจากพราหมณ์พิธีแท้ไม่ พระองค์ทรงพระราชดำริห์จะทรงรับบรมราชาภิเษกจากพวกเผ่าพันธุ์พราหมณ์เดิม ในแผ่นดินมัชฌิมประเทศ จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาสนลงในแผ่นสุพรรณบัตร แต่งราชทูตให้คุมเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี ขอพราหมณ์ราชพิธีที่เปนเผ่าพงษ์พราหมณ์แท้ มาทำการราชาภิเษกของพระองค์

ครั้นอำมาตย์ราชทูต เชิญพระราชสาสนลงเรือสำเภาไปถึงกรุงพาราณสีในแผ่นดินมัชฌิมประเทศนั้นแล้ว พระเจ้ากรุงพาราณสีก็โปรดสั่งให้จัดการรับรองราชทูตกรุงศรีอยุทธยา โดยสมควรแก่พระเกียรติยศทั้งสองพระนคร ราชทูตได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสีถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ จึงมีรับสั่งให้อ่านในพระราชสาสนนั้นว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทองผู้ครองกรุงศรีอยุทธยา เปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในสยามประเทศ มีกระมลเจตรจำนงผูกพันในสันฐวมิตรภาพ ต่อกรุงพาราณสีราชธานี ขอเจริญทางพระราชไมตรีมายังพระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ธำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมอันมหาประเสริฐ ด้วยบัดนี้กรุงศรีอยุทธยา ผู้เปนมิตรของพระองค์ ประสงค์จะใคร่ได้พราหมณ์ผู้รู้ราชพิธี ๘ คน อันเปนเผ่าพงษพราหมณ์แท้แต่อุภโตสุชาติ มากระทำการราชพิธีราชาภิเษก ให้เปนศิริสวัสดิพิพัฒมงคล แลเปนแบบอย่างราชประเพณีไว้ในประเทศสยาม สืบไปภายน่าสิ้นกาลช้านาน กรุงพาราณสีกับกรุงศรีอยุทธยาทั้งสองราชธานี จะได้เปนไมตรีต่อกันสืบไปในอนาคตกาล จนตลอดกัลปาวสาน

ครั้นพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทราบในราชสาสนดังนั้นแล้ว ก็มีพระไทยยินดีที่จะเปนไมตรีกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงตรัสสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทน แลจัดพวกพราหมณ์ราชพิธี ๘ คน มอบให้ราชทูตนำเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ราชทูตก็กราบถวายบังคมลาพระเจ้าพาราณสี พาพราหมณ์ลงสู่สำเภากลับเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา จึ่งนำพราหมณ์ราชพิธีทั้ง ๘ คนเข้าเฝ้าพระเจ้าอู่ทอง กราบถวายบังคมเครื่องราชบรรณาการตอบแทนพิททูลข้อราชการให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าอู่ทองก็มีพระไทยยินดี จึงโปรดพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแลบ้านเรือนที่อยู่แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ คน ครั้นถึงกำหนดการราชาภิเษก จึงโปรดให้พราหมณ์แท้ทั้ง ๘ คน ซึ่งมาจากกรุงพาราณสีนั้น จัดการราชพิธีราชาภิเษกถวายพระองค์ ให้ถูกต้องตามราชประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้นทุกประการ

ครั้นพระองค์ ได้ทรงรับราชาภิเษกจากพราหมณ์โดยพระราชสวัสดีมงคลแล้ว ก็มีพระหฤไทยยินดี ทรงบำรุงปกครองพระราชอาณาจักร แลบำรุงฝ่ายพุทธจักร ให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร แลสมณชีพราหมณ์มีความอยู่เย็นเปนศุขทั่วกัน

ในลำดับนั้น พระองค์ทรงระลึกถึงพระพุทธบาทของสมเด็จพระบรมโลกนารถ ณยอดเขาสุวรรณบรรพตนั้นว่า เปนพระมหาเจดีย์เปนที่ปูชนียสถานอันสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศสยาม ซึ่งจะเปนที่กระทำสักการบูชาของเทพยดามนุษย์ จะให้เกิดบุญญานิสงษ์หาที่สิ้นสุดมิได้ จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์เปนอันมากปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมณฑปพระพุทธบาท ให้ลงรักปิดทองงามเรืองรองอร่าม แลสร้างศาลาโรงธรรมแลศาลารายรอบบริเวณ ให้เปนที่พักอาไศรยแห่งคนไปมานมัสการ ครั้นการสร้างซ่อมแปลงเสร็จแล้ว พระองค์จึงเสด็จพร้อมด้วยโยธาทวยหาร ทั้งพระสนมนาฏราชบริพาร ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทแล้ว เสด็จประทับแรมณพลับพลาค่ายหลวงใกล้บริเวณพระพุทธบาท ให้มีมหกรรมฉลองการปฏิสังขรณ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงให้ซ่อมแปลงพระพุทธบาทในครั้งนี้ ทรงบริจาคบำเพ็ญทานการพระราชกุศลสิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก แล้วเสด็จกลับยังพระนคร

อยู่มา สมณพราหมณาจาริย์แลเสนาพฤฒามาตย์ มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธาน พร้อมประชาราษฎรเห็นว่าพระเจ้าอู่ทองได้ครอบครองราชสมบัติ ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมเปนอันดี ทรงทนุบำรุงพระราชวงษานุวงษ์เสนาอำมาตย์ข้าราชการ แลสมณชีพราหมณ์ราษฎรให้อยู่เย็นเปนศุขทั่วกัน มีพระเดชพระคุณแก่บ้านเมืองหาที่สุดมิได้ จึ่งพร้อมใจกันถวายพระนามใหม่ว่า พระเจ้ารามาธิบดีศรีสุริยปทุมสุริยวงษ์ พระเจ้ากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี พระองค์มีพระเกียรติยศเลื่องลือขจรแผ่ไปในทิศานุทิศ ปัจจามิตรครั่นคร้ามเกรงกลัวพระเดชานุภาพ ไม่สามารถจะมาย่ำยีขอบขัณฑสีมาของพระองค์ได้

พระองค์ดำรงราชสมบัติมาได้ ๔๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ ๑๕ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๖๐ พรรษา เสด็จสวรรคต

ในลำดับนั้นต่อไป พระราชบุตร พระราชนัดดา เชื้อพระราชวงษ์ของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี ได้ครองราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีเปนลำดับไปหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระพันวษา ภาษาพม่าเรียกว่า พระเจ้าวาตะถ่อง แปลว่าสำลีพันหนึ่ง พระเจ้า แผ่นดินพระองค์นี้มีพระราชปวัติพิศดาร แต่กล่าวได้โดยเอกเทศ พระองค์มีพระมเหษีทรงพระนามว่าสุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระมเหษี มีพระนามว่า พระบรมกุมาร

ครั้นอยู่มา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง มุ่งหมายจะเปนสัมพันธมิตรสนิทสนมกับกรุงเทพทวาราวดี จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีพระรูปลักษณงามเลิศ พึ่งเจริญพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พร้อมด้วยข้าหลวงสาวใช้ค่าทาษบริวาร กับเครื่องราชบรรณาการเปนอันมาก มีราชทูตเชิญพระราชสาสน พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์คุมโยธาทวยหาร เชิญพระราชธิดามาถวายพระพันวษาณกรุงเทพทวาราวดี ครั้นมาถึงในกลางทางข่าวนี้รู้ขึ้นไปถึงนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชกุมารผู้เปนพระเจ้าแผ่นดินนครเชียงใหม่ในเวลานั้น ไม่ชอบให้กรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างมาเปนมิตรไมตรีกับกรุงเทพทวาราวดี หยากจะให้กรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างไปเปนสัมพันธมิตรสนิทกับนครเชียงใหม่ จึงคุมกองทัพลงมาซุ่มอยู่ยกเข้าแย่งชิงพระราชธิดานั้นไปได้ ฝ่ายพวกพลกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พ่ายแพ้แตกหนีก็รีบกลับไปทูลแจ้งเหตุ แก่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นประพฤติเหตุนี้ทราบเข้ามาถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระพันวษาก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ทั้งปวงว่า เจ้านครเชียงใหม่ดูหมิ่นเดชานุภาพของเรา เปนผู้ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาแย่งชิงนางผู้ที่เขาจำนงใจจะมาให้แก่เราดังนี้ ก็ผิดต่อกรรมบถมนุษย์วินัย จำจะยกขึ้นไปปราบปรามเจ้านครเชียงใหม่ให้ยำเกรงฝีมือทหารไทยไม่ให้ประพฤติพาลทุจริตดูหมิ่นต่อเราสืบไป จึงมีพระราชโอการตรัสสั่งให้เตรียมทัพ แลตรัสสั่งพระหมื่นศรีมหาดเล็กผู้เปนขุนนางข้าหลวงเดิมคนสนิทไว้พระไทย ให้เลือกจัดหาทหารที่มีฝีมือกล้าศึกสงครามเข้ามาถวาย

พระหมื่นศรีจึ่งกราบทูลว่า ในทหารไทยในเวลานี้ผู้ใดจะเปนทหารเอกยอดดีไปกว่าขุนแผนนั้นไม่มี ด้วยขุนแผนเปนผู้รู้เวทมนต์เชี่ยวชาญใจกล้าหาญเปนยอดเสนา แลมีใจกตัญญูกตเวที รู้พระเดชพระคุณเจ้าหาตัวเปรียบได้ยาก บัดนี้ขุนแผนเปนโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ณคุก ถ้าโปรดให้ขุนแผนเปนทัพน่ายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้คงจะมีไชยชำนะโดยง่าย ไม่ต้องให้ร้อนถึงทัพหลวง แลทัพหลังเพียงปานใด สมเด็จพระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน ด้วยทราบว่าเปนทหารมีฝีมือมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษ มีรับสั่งให้พระหมื่นศรีนำขุนแผนเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว พระหมื่นศรีได้รับสั่งแล้ว ก็ไปบอกนครบาลให้ถอดขุนแผนจากเรือนจำ นำตัวเข้ามาหมอบเฝ้าถวายบังคมต่อน่าพระที่นั่งในท้องพระโรง ในขณะนั้น สมเด็จพระพันวษาจึงมีพระราชโองการตรัสถามขุนแผนว่า เฮ้ยอ้ายขุนแผน เองจะอาษากูยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบปรามเจ้าโยนกอันธพาลให้เห็นฝีมือทหารไทย รับนางคืนมาให้กูจะได้หรือมิได้ประการใด ขุนแผนจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระบาทผู้เปนข้าทหารชีวิตร์อยู่ในใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้ทรงพระเดชพระคุณปกเกล้า ฯ มาแต่ปู่แลบิดา ข้าพระองค์ขอรับอาษาขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบเจ้าโยนกให้กลัวเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ รับราชธิดาพระเจ้าลานช้างคืนมาถวายจงได้ ถ้าตีนครเชียงใหม่มิได้แล้วขอถวายชีวิตร์ สมเด็จพระพันวษา ได้ทรงฟังขุนแผนกราบทูลรับอาษาแขงแรงดังนั้นก็ดีพระไทยนัก จึ่งโปรดตั้งให้ขุนแผนเปนแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพทหารไทยยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ขุนแผนจึงกราบถวายบังคมลา ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร์ จึงแวะเข้าหาพระพิจิตร์เจ้าเมือง ขอใทัส่งดาบเวทย์วิเศษกับม้าวิเศษที่ฝากไว้แต่ก่อนคืนมาให้ จะไปใช้ในการรบศึก ดาบวิเศษของขุนแผนนั้น ในภายหลังต่อๆ มามีผู้เรียกว่า ดาบฟ้าฟื้น มีฤทธิ์เดชนัก ม้าวิเศษนั้นเรียกว่า ม้าสีหมอก ขับขี่เข้าสู้สงครามหลบหลีกข้าศึกได้แคล่วคล่องว่องไวนัก ขุนแผนได้ดาบเวทย์วิเศษแลม้าวิเศษแล้วก็ลาเจ้าเมืองพิจิตร์ รีบยกขึ้นไปถึงแดนนครเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุทธยายกขึ้นมา จึงแต่งกองทัพให้ยกออกมาสู้รบต้านทาน ขุนแผนแม่ทัพก็ขับพลทหารไทย เข้าต่อตีพลลาวยวนเชียงใหม่โดยสามารถ กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายแพ้หนีกลับเข้าเมือง จะปิดประตูลงเขื่อนก็ไม่ทัน ขุนแผนก็ยกติดตามรบรุกบุกบันเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพลลาวล้มตายลงเปนอันมาก ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่เห็นข้าศึกเข้าเมืองได้ ก็ตกใจไม่มืขวัญ จึงขึ้นม้าหนีออกนอกเมืองไป ขุนแผนจึงคุมทหารเข้าล้อมวัง ให้จับอรรคสาธุเทวีมเหษีพระเจ้าเชียงใหม่ กับราชธิดาอันมีนามว่าเจ้าแว่นฟ้าทองกับนางสนมน้อยใหญ่ของพระเจ้านครเชียงใหม่ให้รวบรวมไว้พร้อมด้วยกัน แลให้เชิญนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้านครลานช้าง ที่เจ้านครเชียงใหม่ไปแย่งชิงมาไว้ ให้ออกมาจากหอคำ จึงเชิญนางสร้อยทองพระราชธิดาพระเจ้าลานช้าง กับมเหษีราชธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ที่จับไว้ได้ เลิกกองทัพกลับลงมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา แลกราบทูลข้อราชการทัพที่มีไชยชำนะนั้น ให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระพันวษาก็มีพระไทยยินดีนัก จึงทรงพระดำริห์ถึงทศพิธราชธรรมตรัสว่า ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่สู้ฝีมือกองทัพไทยมิได้หนีออกจากเมืองไป ทิ้งเมืองให้ว่างเปล่าไว้ไม่มีเจ้าปกครองดังนั้นไม่ควร สมณชีพราหมณ์ราษฎรจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ให้เปนข้าหลวงขึ้นไปเกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองเชียงใหม่ไม่ให้แตกตื่นวุ่นวาย ให้เสนาข้าราชการชาวเชียงใหม่นั้นไปติดตามเชิญพระเจ้านครเชียงใหม่ กลับเข้ามาครอบครองบ้านเมืองอยู่เปนปรกติตามเดิมดังเก่า

ในขณะนั้น พระองค์จึงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัล เปนต้นว่าเงินทอง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ขุนแผนผู้เปนแม่ทัพ แลนายทัพนายกองตลอดจนพลโยธาทวยหาร ผู้ไปรบศึกมีไชยชำนะมาในครั้งนั้นเปนอันมาก ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงตั้งนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตลานช้าง เปนพระมเหษีซ้าย แลตั้งนางแว่นฟ้าทองราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่เปนพระสนมเอก แต่มเหษีเจ้านครเชียงใหม่ผู้เปนมารดานางแว่นฟ้าทองพระสนมเอกนั้น โปรดแต่งข้าหลวงพร้อมด้วยพวกพลพาขึ้นไปส่งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ โดยพระไทยทรงพระกรุณา ฝ่ายข้าคนชายหญิงชาวนครล้านช้างแลชาวนครเชียงใหม่นั้น ก็ทรงโปรดให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามภูมิ์ลำเนาในกรุงศรีอยุทธยา

ครั้นอยู่มา สมเด็จพระพันวษาทรงพระดำริห์ตามตำราราชนิติศาสตร์ซึ่งมีความว่า ราชประเพณีของพระมหากระษัตริย์มี ๗ ประการ ซึ่งกระษัตริย์ในพระนครใดผูกสัมพันธมิตร์ทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินในประเทศหนึ่งประเทศใด ก็ย่อมให้บ้านเมืองเกิดความศุขความเจริญ นับเปนข้อหนึ่งในราชประเพณี ๗ ประการนั้น บัดนี้สมควรกรุงศรีอยุทธยา จะกระทำสัมพันธมิตร์ผูกทางพระราชไมตรีกับประเทศพม่า ด้วยเปนแผ่นดินใหญ่ทวยราษฎรไปมาค้าขายถึงกัน เปนประโยชน์แก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย ทรงพระราชดำริห์ดังนี้แล้วจึงตรัสสั่งให้อาลักษณแต่งพระราชสาสน์ จัดเครื่องราชบรรณาการแลแต่งราชทูตอุปทูต มีพลทหาร ๕๐๐ คน คุมกำกับราชทูตกับเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงรัตนปุรอังวะประเทศพม่า ในจุลศักราช ๘๕๒ ปี

ครั้นราชทูตไปถึงกรุงอังวะแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพม่าก็มีรับสั่งให้จัดการรับรองราชสาสน์ แลราชทูตโดยสมควรแก่เกียรติยศทั้งสองประเทศ ราชทูตกรุงศรีอยุทธยาได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ แลเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้ากรุงพม่า จึงมีรับสั่งให้อ่านในพระราชสาสน์นั้นว่า “สมเด็จพระพันวษาพระเจ้าแผ่นดินสยามผู้ครองกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา มีกระมลจิตร์ยินดีต่อกรุงรัตนปุระอังวะ จึงแต่งราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรี ต่อพระเจ้ากรุงรัตนปุระอังวะประเทศพม่า เพื่อม่งหมายให้กรุงศรีอยุทธยา กับกรุงรัตนปุระอังวะ ตั้งอยู่ในสัมพันธมิตร์สนิทเสนหภาพต่อกันโดยฉันทมหามิตร์ ราษฎรพานิชทั้งสองพระนครจะได้ไปมาค้าขายถึงกันให้เปนประโยชน์แก่บ้านเมืองทั้งสองฝ่าย สองพระนครจะได้มีกำลังบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป จนตลอดกัลปาวสาน” พระเจ้ากรุงรัตนปุระอังวะผู้ครองประเทศพม่า ได้ทราบในพระราชสาสน์ดังนั้น ก็มีพระไทยยินดีนัก จึงตรัสปราไสยถามถึงข่าวทุกข์ศุขแห่งพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระอรรคมเหษี พระราชบุตร พระราชธิดา เสนาบดีมุขมนตรีตลอดลงไปถึงราษฎรพลเมืองทั่วกัน ราชทูตก็กราบทูลว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทั้งพระอรรคมเหษี พระราชบุตร์พระราชธิดาทรงพระเจริญศุขอยู่สิ้น แลเสนาอำมาตย์กับทั้งราษฎรทั่วขอบขัณฑสีมาก็เปนศุขอยู่ทั่วกัน ด้วยพระเดชานุภาพของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาผู้ทรงธรรม ปกแผ่ให้ชนทั้งปวงเปนศุขพร้อมเพรียงกัน

พระเจ้ากรุงพม่าได้ทรงฟังราชทูตกราบทูลดังนั้น ก็มีพระไทยชื่นชมยินดี จึงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ราชทูตเปนอันมาก แลให้เลี้ยงดูราชทูตโดยสมควร ราชทูตก็กราบทูลลาออกจากที่เฝ้ามาพักอยู่ยังที่สำนัก

เครื่องราชบรรณาการพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ถวายพระเจ้าอังวะในครั้งนั้น มีจำนวนดังนี้ พานทอง พานเงิน ๔ สำรับ พานเท้าเปนรูปครุธประดับพลอยสองแถว พระสุวรรณภิงคาร คือพระเต้าน้ำทองฝาประดับพลอย ขันทองคำประดับพลอย แพรม้วน กำมะหลิด พระภูษาทรงต่างๆ

ในเวลาวันหนึ่ง เจ้าพนักงานนำราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะอีก จึงมีรับสั่งถามราชทูตว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาตรัสสั่งมาด้วยกิจสิ่งใดอีกบ้างหรือไม่ ให้ราชทูตทูลไปเถิด ราชทูตได้พระโอกาศดังนั้นแล้วจึงกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีรับสั่งมา ให้กราบทูลว่า พระองค์มีพระราชประสงค์เครื่องดนตรีพม่า แลเครื่องลครต่าง ๆ กับครูดนตรีแลครูลคร พระเจ้าอังวะก็โปรดให้ช่างจัดทำเครื่องลครเครื่องดนตรี แลให้เลือกครูลครครูเครื่องดนตรี มอบให้ราชทูต แลให้แต่งพระราชสาสนตอบมีใจความว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงรัตนปุระอังวะ ผู้ครองประเทศพม่ามีพระหฤไทยยินดีต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายิ่งนัก ซึ่งมุ่งหมายสัมพันธมิตร์ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนคร ให้มีต่อกันมั่นคงถาวรจนตลอดกัลปาวสานนั้น กรุงรัตนปุระอังวะได้รับโดยความโสมนัศยิ่งนัก ตั้งแต่บัดนี้ไปขอให้กรุงศรีอยุทธยา กับกรุงรัตนปุระอังวะ เปนสุวรรณปัถพีแผ่นเดียวกัน โดยฉันทมหามิตร์สนิทสัณฐวะต่อกันสืบไป จิรฐีติกาลนานชั่วฟ้าดินเทอญ

แล้วโปรดสั่งให้จัดเครื่องราชบรรณาการตอบแทน คือ พระภูษาทรงลายทองต่างๆ อย่างดีที่สุดในประเทศพม่า กับเครื่องราชูประโภคหลายอย่าง ล้วนประดับด้วยทองเงินเพ็ชร์ทับทิม แลเม็ดเพ็ชร์ทับทิมอย่างดีอีกเปนอันมาก แต่งให้ราชทูตพม่าเชิญพระราชสาสนคุมเครื่องราชบรรณาการตอบแทนมาพร้อมกับราชทูตไทย ราชทูตกรุงศรีอยุทธยากับราชทูตพม่า กราบถวายบังคมลาพระเจ้าอังวะพร้อมกัน ราชทูตไทยพาราชทูตพม่ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา นำราชทูตพม่าเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวพระพันวษา กราบถวายบังคมถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ เครื่องดนตรีเครื่องลคร ทั้งครูดนตรีแลครูลครพร้อมกัน แลกราบทูลข้อราชการทั้งปวงให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ได้ทราบความตามพระราชสาสนตอบของพระเจ้ากรุงพม่าดังนั้นแล้ว ก็มิพระราชหฤไทยยินดีนัก จึงตรัสสั่งให้เลี้ยงดูราชทูตพม่าโดยสมควรแก่เกียรติยศทั้งสองฝ่าย แลโปรดพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราชทูตพม่าเปนอันมาก แลให้ส่งราชทูตพม่ากลับคืนไปยังประเทศของตนโดยศุขสวัสดี

ตั้งแต่นั้น ประเทศพม่ากับประเทศสยามมีทางพระราชไมตรีเปนสัมพันธมหามิตร์ต่อกัน พ่อค้าพาณิชไปมาค้าขายถึงกัน มีความนับถือรักใคร่กับคนไทย ไม่ทะเลาะวิวาทต่อกัน บ้านเมืองทั้งสองฝ่ายก็เปนศุขสืบมา

ฝ่ายขุนแผน ซึ่งเปนทหารเอกยอดดีมีชื่อเสียงปรากฎในกรุงศรีอยุทธยาในครั้งนั้น เมื่อคิดเห็นว่าตนแก่ชราแล้ว จึงนำดาบเวทวิเศษของตนเข้าถวายสมเด็จพระพันวษา เพื่อเปนพระแสงทรงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระองค์ทรงรับไว้เปนพระแสงทรงสำหรับพระองค์ แล้วจึงทรงประสิทธิ์ประสาทนามว่าพระแสงปราบสัตรู แลทรงตั้งนามพระแสงขรรค์แต่ครั้งพระยาแกรกนั้น ว่าพระขรรค์ไชยศรี โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวา แลมีรับสั่งให้เชิญพระรูปพระญาแกรกกับมงกุฎของพระญาแกรกเข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง พระรูปพระญาแกรกกับมงกุฎทรงยังมีปรากฎอยู่ จนตราบเท่าทุกวันนี้

พระเจ้าพันวษาครองราชสมบัติมาได้ ๒๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษา เสด็จสวรรคต

ในลำดับนั้น พระบรมกุมารซึ่งเปนพระราชโอรส ได้ขี้นครองราชสมบัติต่อไป ทรงพระนามว่า พระปรเมศวร พระองค์มีพระมเหษีสององค์ พระมเหษีขวามีพระนามว่า จิตรวดี พระมเหษีซ้ายมีพระนามว่า ศรีสุดาจันทร์

พระมเหษีขวา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระเฑียร พระราชโอรสองค์น้อยทรงพระนามว่า พระไชย พระองค์ทรงพระกรุณาแก่พระมเหษีสองพระองค์นี้ยิ่งนัก แต่พระองค์โปรดศรีสุดาจันทร์พระมเหษีซ้ายยิ่งกว่าพระมเหษีขวา มีรับสั่งให้พระมเหษีซ้ายศรีสุดาจันทร์ เฝ้าอยู่ข้างพระที่มิได้ขาด ราชการในฝ่ายน่าฝ่ายในต่างๆ ถ้าศรีสุดาจันทร์มเหษีซ้ายเพ็ททูลคัดง้างอย่างไรแล้วก็ทรงเชื่อฟังทั้งสิ้น

ขณะเมื่อพระองค์บรรธมนั้น ต้องมีนายมหาดเล็กคนหนึ่งชื่อนายบุญศรี มาร้องลำข้บกล่อมเสมอทุกๆ เวลา พระองค์จึงจะบรรธมหลับได้ อยู่มาวันหนึ่ง ศรีสุดาจันทร์มีจิตร์เสน่หาผูกพันต่อนายบุญศรี จึงลอบกระทำชู้กับนายบุญศรีผู้ขับร้องนั้น ครั้นอยู่มาศรีสุดาจันทร์ก็กราบทูลพระปรเมศวร ขอให้ตั้งนายบุญศรีเปนเสนาบดีกรมวัง ว่าเปนผู้มีความซื่อสัจสวามิภักดิ์ต่อราชการ จะเปนที่ไว้วางพระไทยในราชการได้ พระองค์ก็ทรงเชื่อศรีสุดาจันทร์ จึงโปรดตั้งนายบุญศรีเปนขุนเชียนนเรศ (ขุนชินราช) เสนาบดีกระทรวงวัง พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนเครื่องยศสำหรับเสนาบดีพร้อมทุกประการ

ตั้งแต่นั้น ขุนชินราชได้ว่าราชการสิทธิ์ขาดในพระราชวังทั้งสิ้น มีคนยำเกรงนัก พระปรเมศวรครองราชสมบัติมาได้ ๒๓ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนม์ ๓๘ พรรษา เสด็จสวรรคต พระองค์ประสูตร์วันจันทร์

เมื่อพระปรเมศวรสวรรคตแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนชินราชก็มีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดราชการบ้านเมืองทั้งปวง ไม่มีใครคัดค้านได้

วันหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดกับขุนชินราช จะยกขุนชินราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน จึงสั่งให้พระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเข้าไปเฝ้าในพระราชวัง แล้วปฤกษาว่าพระราชสามีของเราสวรรคตแล้ว ยังไม่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองบ้านเมือง เมื่อพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ ได้ทรงตั้งแต่งให้ขุนชินราชเปนเสนาบดีบังคับบัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณของพระองค์ เราเห็นว่าขุนชินราชนี้สามารถจะปกครองบ้านเมืองได้ ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด บันดาพระราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการทั้งปวงเกรงอาญาท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็พากันนิ่งอยู่มิรู้จะคัดค้านประการใด ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้พระราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการทั้งปวงถือน้ำกระทำสัตย์สาบาลต่อขุนชินราช แล้วยกขุนชินราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนตนก็ดำรงอยู่ในตำแหน่งอรรคมเหษี ขุนชินราชก็ให้พระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการทั้งปวงคงตำแหน่งเดิม เหมือนเมื่อครั้งพระปรเมศวรยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ แต่พระราชโอรสของพระปรเมศวร ๒ พระองค์ คือ พระเฑียรองค์ ๑ พระไชยองค์ ๑ นั้น ขุนชินราชมิได้ยกย่องประการใด แต่นั้นมาขุนชินราชก็บังคับบัญชาการสิทธิ์ขาดตามอำเภอใจ บันดาพระราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการทั้งปวงพากันได้ความเดือดร้อนต่างๆ คิดจะใคร่กำจัดขุนชินราชอยู่เปนนิตย์ แต่ยังไม่มีใครเปนต้นคิดที่จะกำจัดได้ ก็สงบอยู่

เมื่อขุนชินราชได้เปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาพงษาวดารเก่า ๆ สำหรับบ้านเมืองเผาไฟเสียบ้าง ทิ้งน้ำเสียบ้าง ด้วยเหตุนี้ พงษาวดารเก่าๆ จึงขาดเปนตอนๆ แต่นั้นมา

ต่อมา พระยากลาโหมพระพี่เลี้ยงพระเฑียรผู้เปนพระราชโอรสผู้ใหญ่ของพระปรเมศวร จึงปฤกษากับพระพิเรนทรเทพว่า บัดนี้บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนต่าง ๆ เพราะศรีสุดาจันทร์ไปลอบลักรักใคร่กับขุนชินราช ยกขุนชินราชซึ่งมีตระกูลต่ำขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีความละอายเอื้อเฟื้อต่อพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว ควรพวกเราซึ่งเปนข้าในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท จะช่วยกันคิดกำจัดขุนชินราชเสีย แล้วยกพระเฑียรราชโอรสเจ้านายของเราขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน จึงจะชื่อว่ากตัญญูกตเวที เมื่อพระยากลาโหมปฤกษาฉนี้ พระพิเรนทรเทพก็เห็นชอบด้วย

วันหนึ่ง พระยากลาโหมจึงปฤกษากับพระพิเรนทรเทพว่า เราจะพากันไปเสี่ยงเทียนดู ว่าใครจะมีบุญควรครองบ้านเมืองได้ พระพิเรนทรเทพก็เห็นชอบด้วย จึงพากันลอบเข้าไปในวิหารพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวัง จุดเทียนเสี่ยงทายแทนพระเฑียรเล่ม ๑ แทนขุนชินราชเล่ม ๑ แล้วอธิษฐานว่า ถ้าพระเฑียรซึ่งเปนพระราชโอรสเจ้านายของข้าพเจ้าจะมีบุญญาธิการสมควรครองบ้านเมือง แลจะมีไชยชนะแก่ขุนชินราชไซ้ ขอให้เพลิงเทียนเสี่ยงทายของพระเฑียรรุ่งเรืองงามดี ถ้าพระองค์ท่านหาบุญมิได้จะพ่ายแพ้แก่ขุนชินราชแล้ว ขอให้เทียนเสี่ยงทายนั้นดับก่อนเทียนขุนชินราช ดังนี้ ครั้นอธิษฐานแล้ว ก็จุดเทียนทั้ง ๒ เล่มพร้อมกันสักครู่หนึ่งก็เกิดอัศจรรย์ สำแดงเหตุที่พระเฑียรจะได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน เทียนของขุนชินราชก็ดับเองเหมือนคนดับ ส่วนเทียนของพระเฑียรนั้นรุ่งเรืองเปนปรกติอยู่ พระยากลาโหมกับพระพิเรนทรเทพเห็นดังนั้นก็มีความยินดี จึงพูดกันว่า การที่เราคิดกันนี้จะสำเร็จเปนแน่ แต่นั้นมา พระยากลาโหมกับพระพิเรนทรเทพ ก็เกลี้ยกล่อมข้าราชการให้เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้เปนอันมาก คอยหาโอกาศที่จะกำจัดขุนชินราชอยู่

มาวันหนึ่ง พระยากลาโหมจึงเข้าไปเฝ้าขุนชินราชแล้วทูลว่า บัดนี้ได้ทราบว่ามีช้างเผือกตัวหนึ่งงดงาม สมควรเปนราชพาหนะ เที่ยวอยู่ในป่าแขวงเมืองสรรคบุรีข้างทิศเหนือ ขอเชิญพระองค์เสด็จโดยทางชลมารคไปจับช้างเผือกนั้นเถิด ขุนชินราชไม่รู้กลอุบายก็รับคำพระยากลาโหม ๆ เห็นได้ช่องก็ตระเตรียมขบวนเรือ จัดให้มหาดเล็กแลตำรวจที่เปนคนสนิทของตนตามเสด็จ สั่งให้ตามไปห่างๆ แล้วจัดให้คนสนิทของตน เตรียมเครื่องศาสตราวุธลงเรือไปซุ่มคอยอยู่ที่ทางขุนชินราชจะไป สั่งว่า ถ้าเรือขุนชินราชไปถึงที่ซุ่มแล้ว ท่านทั้งหลายจงจับฆ่าเสียให้ได้ ครั้นเตรียมเสร็จแล้วก็เชิญเสด็จขุนชินราชลงสู่เรือพระที่นั่ง ส่วนพระยากลาโหมกับพระพิเรนทรเทพก็ลงเรือตามไปข้างหลัง ครั้นเรือขุนชินราชไปถึงเรือที่พระยากลาโหมให้ซุ่มอยู่ พวกเรือที่ซุ่มอยู่เห็นได้ที ก็พายเรือตรงเข้าไปที่เรือขุนชินราช ๆ เห็นดังนั้นก็ตกใจจึงถามว่า เหตุใดพวกเหล่านี้จึงบังอาจถือศาสตราวุธเข้ามาใกล้เรือเราดังนี้ พวกที่ซุ่มก็ตอบว่า ท่านไม่รู้หรือ ซึ่งพวกเรามาคอยอยู่ดังนี้ประสงค์จะจับตัวท่านฆ่าเสียให้สิ้นชีวิตร์ ว่าแล้วก็กรูกันขึ้นบนเรือขุนชินราช เอาดาบฟันขุนชินราชตายอยู่ในเรือนั้น ขุนชินราชได้ราชสมบัติเมื่ออายุ ๒๐ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปี เมื่อตายอายุได้ ๒๒ ปี ขุนชินราชเกิดวันจันทร์ ตระกูลอำมาตย์

เมื่อพระยากลาโหมเปนต้นคิดกำจัดขุนธินราชแล้ว จึงพร้อมกันยกพระเฑียรขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน เวลานั้นพระเฑียรพระชนม์พรรษาได้ ๑๐ ปี พระยากลาโหมเห็นว่ายังทรงพระเยาว์นัก จะบังคับบัญาชาการแผ่นดินไม่ได้ เวลาออกขุนนาง พระยากลาโหมจึงให้พระเฑียรนั่งบนตักแล้ว บังคับบัญชาราชการแทน ต่อเมื่อพระเฑียรมีพระชนมพรรษาได้ ๑๖ ปี จึงทำการราชาภิเศกถวายพระนามว่า พระมหาจักรวรรดิ ๆ มีพระมเหษีทรงพระนามว่า พระมหาเทวี ๆ มีพระราชธิดาพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระบรมดิลก มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระมหินทร์ แลพระไชยผู้เปนพระอนุชาธิราชของพระมหาจักรวรรดิ์นั้น พระมหาจักรวรรดิ์ทรงพระกรุณาไว้วางพระไทยในกิจการบ้านเมืองทั้งปวง จึงโปรดให้พระไชยไปครองเมืองพิศณุโลก ขนานพระนามใหม่ว่า พระสุธรรมราชา เวลานั้นมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ คือพระมหาจักรวรรดิ์พระองค์ ๑ พระสุธรรมราชาพระองค์ ๑ ดังนี้ พระสุธรรมราชานั้นมีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า พระบรมเทวี ๆ มีพระราชธิดาองค์ ๑ มีพระนามว่า สุวรรณกัลยา มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ มีพระนามว่า พระนเรศวรองค์ ๑ พระเอกาทศรฐองค์ ๑

ฝ่ายพระมหาจักรวรรดิ์ซึ่งครองกรุงศรีอยุทธยานั้น เมื่อพระมหินทร์ราชโอรสทรงพระเจริญขึ้น มีพระราชประสงค์จะให้พระมหินทร์ครองราชสมบัติ จึงทรงตั้งพระมหินทร์ไว้ในตำแหน่งรัชทายาท ข้อความอันนั้นทราบไปถึงพระสุธรรมราชา ๆ ก็น้อยพระไทยว่า พระเชษฐาไม่ยกย่องพระองค์ จึงตั้งแขงเมืองเอาพระมหาจักรวรรดิ์ มิได้เสด็จลงมาเฝ้าเลย

พระมหาจักรวรรดิ์นี้มีบุญญาธิการมาก ได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง คือ ช้างเผือกพลาย ๔ ช้าง ชื่อบรมฉัททันต์ ๑ อนันตจักรพาฬ ๑ อัญชนคชา ๑ มหาคชสาร ๑ ช้างเผือกพัง ๓ ช้าง ชื่อทิพกิริณี ๑ ศิริไอยรา ๑ รัตนคชินทรา ๑

กิตติศัพท์ที่พระมหาจักรวรรดิ์ได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้างนั้น ปรากฎไปในนานาประเทศ พระเจ้าช้างเผือกหงษาวดีมีพระราชประสงค์จะใคร่ได้ช้างเผือกบบ้าง จึ่งรับสั่งให้พวกอาลักษณ์จาฤกพระราชสาสน์ในพระสุพรรณบัตร์ เปนตัวอักษร ๓ ตัว ๆ ๑ ความว่า ต้องการช้างเผือก ตัว ๑ ความว่า เชือก ตัว ๑ ความว่า ถ้าไม่ให้จะเอาเชือกผูกจับเอา ๑ ครั้นจาฤกแล้ว จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระมหาจักรวรรดิ์ทรงทราบพระราชสาสน์ของพระเจ้าหงษาวดีดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธ จึงรับสั่งให้อาลักษณ์จาฤกพระราชสาสน์ตอบเปนอักษร ๓ ตัวบ้าง ตัว ๑ ความว่า ถ้าขอทานแล้วจะให้ ตัว ๑ ความว่า ไม่กลัว ตัว ๑ ความว่า เราผูกจับก็เปน ครั้นเสร็จแล้วจึงให้ราชทูตหงษาวดีนำไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ จึงให้จัดทัพบกมีจำนวนพล ๕๐๐,๐๐๐ เสด็จยกกองทัพมาทางเมืองระแหง ถึงตำบลหนองพะนี พวกกองด่านลาดตระเวรสืบได้ความว่า พระเจ้าหงษาวดีเสด็จยกกองทัพใหญ่มาดังนั้น จึงบอกเข้ามากราบทูลพระมหาจักรวรรดิ์ ๆ ก็ตระเตรียมพยุหโยธาเปนอันมาก แล้วเสด็จขึ้นสู่ช้างมหาพิไชยนาค ดำรงที่จอมพล เสด็จยกออกไปตั้งรับทัพพระเจ้าหงษาวดีที่ทุ่งมโนรมย์ เมื่อ ๒ ทัพประทะกันแล้ว กันเปนสามารถ พลทั้ง ๒ ฝ่ายล้มตายในที่รบเปนอันมาก ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน

พระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า ซึ่งเรายกทัพมารบคราวนี้ พลทหารทั้ง ๒ ฝ่ายก็ล้มตายเปนอันมาก ถ้าเราจะรบพุ่งเขี้ยวขับกันไปอย่างนี้อีก แม้ถึงจะได้ราชสมบัติ ผู้คนก็พินาศหาประโยชน์มิได้ อย่าเลยเราจะคิดอุบายรบกันแต่สองต่อสองเถิด ทรงพระดำริห์ฉนี้แล้ว จึงให้อาลักษณ์จาฤกเปนพระราชสาสน์ ใจความว่า เราทั้ง ๒ เปนกระษัตริย์อันประเสริฐเหมือนกัน ซึ่งมาทำสงครามกันคราวนี้ ก็หวังจะขยายอำนาจแผ่พระราชอาณาจักร์ให้กว้างขวางเปนพระเกียรติยศด้วยกัน แต่เรามาคิดสงสารไพร่พลที่มาพลอยตายเสียมากกว่ามาก บัดนี้เรามีประสงค์จะใคร่รบกันแต่ลำภัง ขอเชิญพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาออกมาชนช้างกันกับเรา จะได้เปนเกียรติยศสืบไปในภายน่า เมื่อจาฤกเสร็จแล้วก็ให้ทูตนำไปถวายพระมหาจักรวรรดิ์ ๆ ได้ทรงทราบพระราชสาสน์ของพระเจ้าหงษาวดีดังนั้น ก็ทรงยินดี จึงรับสั่งว่า ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์เช่นนี้สมควรนัก ธรรมเนียมเปนกระษัตริย์ ย่อมได้ทรงฝึกหัดในยุทธวิธีทั้ง ๒ อย่าง คือ ชนช้างอย่าง ๑ ขี่ม้ารำทวนอย่าง ๑ เมื่อรับสั่งดังนี้แล้ว ก็ให้อาลักษณ์จาฤกพระราชสาสน์ มีความเช่นเดียวกันตอบไปให้พระเจ้าหงษาวดี ทั้ง ๒ พระองค์ก็ทรงทำสัญญาแก่กันว่า ให้ออกทำยุทธหัตถีในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันนี้ไป ถ้าฝ่ายใดไม่ยอมทำยุทธหัตถี ฝ่ายนั้นเปนแพ้ เมื่อสัญญากันแล้ว พระมหาจักรวรรดิ์ก็ยกทัพกลับคืนเข้าพระนคร แล้วให้ปรนช้างม้าให้มีกำลัง พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จกลับพลับพลา ให้ปรนช้างม้าให้มีกำลังเหมือนกัน

ครั้นถึงวันที่ ๗ ครบสัญญาที่นัดกันไว้ พระเจ้าหงษาวดีทรงช้างพระที่นั่ง ยกพลทหารเสด็จออกมารอท่าที่ทุ่งมโนรมย์ (ทุ่งมโนรมย์นี้ อักษรพม่าเขียนว่า มโนรัมมา)

ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุทธยา เมื่อถึงวันที่ ๗ พระมหาจักรวรรดิทรงพระประชวรมาก เสด็จออกชนช้างไม่ได้ บรรดาชนชาวพระนครเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงประชวรดังนั้นก็พากันตกใจ กลัวบ้านเมืองจะเสียแก่ข้าศึก ฝ่ายพระมหาเทวีผู้เปนพระอรรคมเหษีพระมหาจักรวรรดิ จึงได้ประชุมพระราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการทั้งปวง ทรงปฤกษาว่า บัดนี้ถึงวันสัญญาที่จะทำยุทธหัตถีแล้ว พระราชสามีของเราก็ทรงพระประชวรมาก พระราชโอรสก็ยังทรงพระเยาว์นัก จะหาใครออกทำยุทธหัตถี ต่อสู้กับข่าศึกแทนพระราชสามีแห่งเราได้ ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีตามสัญญาในวันนี้ ก็จะต้องยอมเสียราชสมบัติให้แก่ข้าศึกตามสัญญา ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านประการใด ขณะนั้น พระบรมดิลกซึ่งเปนพระราชธิดามีพระชันษาได้ ๑๖ ปี จึงกราบทูลว่า พระราชบิดาได้ทรงทำสัญญาไว้กับพระเจ้าหงษาวดีแน่นหนามาก ถ้าไม่ออกไปทำยุทธหัตถีในวันนี้ ก็จำจะต้องยกราชสมบัติให้แก่เขาตามสัญญา คราวนี้ไม่มีใครที่จะออกต่อสู้ด้วยข้าศึกแล้ว กระหม่อมฉันจะขอรับอาษาออกไปชนช้างกับพระเจ้าหงษาวดี ฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชบิดา ถึงแม้กระหม่อมฉันจะเสียชีวิตรในท่ามกลางข้าศึก ก็มิได้คิดอาไลย จะไว้ชื่อให้ปรากฎในแผ่นดินชั่วกัลปาวสาน

เมื่อพระบรมดิลกกราบทูลดังนั้น พระมหาเทวีก็ทรงห้ามปรามด้วยความสิเนหาอาไลยเปนหลายครั้ง พระบรมดิลกก็ไม่ฟัง พระมหาเทวีก็จำต้องทรงอนุญาต

พระบรมดิลก ก็ทรงเครื่องพิไชยยุทธอย่างพระมหาอุปราชเสร็จแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดามารดา สมเด็จพระราชบิดามารดาก็รับสั่งว่า พระราชธิดาของเรานี้แลอาจจะเปนผู้ช่วยทุกข์ของราษฎรทั้งปวงได้ แล้วจึงพระราชทานพรว่า เจ้าจะออกไปทำยุทธหัตถีกับข้าศึกในคราวนี้ จงมีไชยชนะแก่สัตรูหมู่ปัจจามิตร ขอให้ข้าศึกพ่ายแพ้แก่บุญบารมี อย่าให้ต่อสู้กับเจ้าได้ เจ้าจงระมัดระวังตัวอย่าได้ประมาท ดังนี้

พระบรมดิลกราชธิดารับพระพรของสมเด็จพระราชบิดามารดาแล้ว ก็ถวายบังคมลาออกมาทรงช้างต้นบรมฉัททันต์ เวลานั้นช้างต้นบรมฉัททันต์กำลังคลั่งมันอยู่ด้วย พระบรมดิลกก็ยกพลออกไปที่ทุ่งมโนรมย์ ครั้นกองทัพมาถึงพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ก็ยกธงขึ้นเปนสัญญา แล้วต่างก็เข้าทำยุทธหัตถีชนช้างกัน พระบรมดิลกเปนสัตรีไม่ชำนาญการขับขี่พระคชาธาร ก็เสียทีแก่พระเจ้าหงษาวดี ช้างต้นบรมฉัททันต์เบนท้ายให้ท่าแก่พระเจ้าหงษาวดี พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระแสงง้าวฟันถูกพระบรมดิลกตกจากช้างทรง พระบรมดิลกร้องได้คำเดียวก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังเสียง จึงทราบชัดว่าเปนสัตรีปลอมออกมาทำยุทธหัตถีกับพระองค์ ก็เสียพระไทย ทั้งลอายแก่ไพร่พลทั้งปวง จึงตรัสในที่ประชุมว่า ครั้งนี้เราเสียทีเสียแล้ว ด้วยเราไม่พิจารณาให้แน่นอน หลงทำยุทธนาการกับสัตรีให้เสื่อมเสียเกียรติยศ กิติศัพท์จะลือชาปรากฎไปชั่วกัลปาวสาน ว่าเราเปนคนขลาดจึงมาทำยุทธนาการสู้รบกับสัตรี เมื่อพระเจ้าหงษาวดีตรัสดังนี้แล้ว ก็ได้รวบรวมผู้คนช้างม้ายกทัพกลับคืนพระนคร

ฝ่ายนายทัพนายกองข้างกรุงศรีอยุทธยาก็เชิญพระศพพระบรมดิลกกลับเข้าพระนคร นำความที่พระบรมดิลกชนช้างเสียทีพระเจ้าหงษาวดีสิ้นพระชนม์ในที่รบ กราบทูลพระมหาจักรวรรดิ์แลพระมหาเทวีให้ทรงทราบ พระมหาจักรวรรดิ์แลพระมหาเทวีก็ทรงพระกรรแสงโศกเศร้าเสียพระไทยเปนอันมาก ครั้นแล้วจึงรับสั่งให้ทำพระเมรุพระศพพระราชธิดาแลให้มีการมโหรศพสมโภช แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน แก่สมณะพราหมณาจารย์ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก แล้วพระราชทานเพลิงพระศพพระราชธิดา ที่พระเมรุซึ่งพระราชทานเพลิงนั้นให้ก่อเปนพระเจดีย์ แล้วบรรจุพระอัฐิพระราชธิดา ที่นั้นมีนามปรากฎว่าตำบลเนินเจ้ามาจนทุกวันนี้ พระมหาจักรวรรดิ์พระมหาเทวี ทรงพระเสน่หาอาไลยในพระราชธิดาดังพระชนม์ชีพของพระองค์ จึงรับสั่งให้ช่างหล่อพระรูปพระบรมดิลกด้วยทองคำหนัก ๒๗๐ บาท ประดับด้วยเพ็ชร์ พลอย นิล ทับทิม มรกฏต่าง ๆ ควรค่าถึง ๕๐๐๐ ครั้นเสร็จแล้วให้เชิญพระรูปพระบรมดิลกนั้นเข้าไปไว้ข้างที่พระบรรธม ต่อมาในรัชกาลหลังจึงให้เชิญพระรูปพระบรมดิลกไปไว้ณหอพระเปนที่สักการบูชา ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ พระบรมดิลกสิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๙๒๑ ปี

ครั้นจุลศักราช ๙๒๓ ปี พระเจ้าหงษาวดียกทัพมีจำนวนพล ๙๐๐๐๐๐ มาตีกรุงศรีอยุทธยาอีก ตั้งทัพที่ทุ่งมโนรมย์

พระมหาจักรวรรดิ์ทรงทราบว่าพระเจ้าหงษาวดียกทัพมาดังนั้น จึงรับสั่งให้คนขึ้นประจำรักษาค่ายคูประตูหอรบให้มั่นคงแล้ว ก็ตระเตรียมขบวนทัพ ยกออกไปตั้งรับทัพพระเจ้าหงษาวดีที่ทุ่งมโนรมย์ กันเปนสามารถ ผู้คนทั้ง ๒ ฝ่ายล้มตายลงเปนอันมาก ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน ต่างถอยทัพกลับเข้าค่าย

ฝ่ายพระมหาจักรวรรดิ์จึงทรงเลือกคัด พลทหารที่มีฝีมือเข้มแขง ๔๐๐ คน สำหรับจะได้ติดตามช้างพระที่นั่ง แล้วให้เอาสุรากรอกช้างพลายวิไชยซึ่งเปนพระคชาธาร ซึ่งกำลังคลั่งมันอยู่ให้มึนเมาแล้วให้เอารองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนามใส่เท้าช้างทั้ง ๔ เท้า ให้เอาปลอกเหล็กสวมงาทั้ง ๒ ข้างให้มั่นคง เวลาเมื่อเข้าสู้สงครามอาจจะแทงค่ายคูประตูหอรบให้หักทำลาย แล้วให้เอาเกราะโซ่พันงวงช้างสำหรับจะได้จับกุมยื้อแย่งค่ายคูประตูหอรบมิได้เจ็บปวด ครั้นเตรียมเสร็จแล้ว เวลากลางคืน พระมหาจักรวรรดิ์ก็เสด็จขึ้นทรงช้างพลายวิไชยให้พวกพลที่เข้มแขงทั้ง ๔๐๐ คนนั้นตามเสด็จ ลอบไปถึงค่ายพระเจ้าหงษาวดีเห็นผู้คนประมาทมิได้รักษาให้มั่นคง ได้ทีแล้วพระมหาจักรวรรดิ์กับทหาร ๔๐๐ คนก็ระดมกันเข้าปล้นค่าย พวกพลของพระเจ้าหงษาวดีไม่ทันรู้ตัวว่าข้าศึกมามากน้อยเท่าใด ก็พากันตกใจแตกกระจัดกระจาย พระเจ้าหงษาวดีเห็นผู้คนระส่ำระสายแตกพ่ายดังนั้น ก็ขึ้นทรงช้างพระที่นั่งหนีออกจากค่าย พระบาทของพระองค์ถูกอาวุธ พระโลหิตไหลออกมาหน่อยหนึ่ง นายช้างจึงเอาผ้าขาวซับแลพันให้แน่น พระเจ้าหงษาวดีก็รวบรวมพลทหารที่แตกกระจายให้เปนหมวดเปนหมู่แล้วให้ตั้งค่ายมั่นคงอีก พระมหาจักรวรรดิ์ก็เสด็จกลับคืนเข้าพระนคร พระเจ้าหงษาวดีก็นัดให้พระมหาจักรวรรดิ์ออกรบอีก

ฝ่ายข้าราชการที่เปนนายทัพนายกองทั้ง ๒ ฝ่าย ที่มีสติปัญญาจึงปฤกษากันว่าบัดนี้เจ้านายแห่งเราทั้ง ๒ ฝ่าย ได้ยกพยุหโยธามาทำสงครามกันหลายครั้งหลายหนก็ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน ผู้คนล้มตายลงด้วยกันมากทั้ง ๒ ฝ่าย สมณชีพราหมณ์ แลอาณาประชาราษฎรทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนเปนอันมาก ควรที่พวกเราทั้ง ๒ ฝ่ายจะทูลเจ้านายของตนให้พระองค์ทรงทำพระราชไมตรีต่อกัน จึงจะเปนศุขด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อปฤกษาเห็นพร้อมกันดังนี้แล้ว ต่างก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินของตนของตน ตามข้อความที่ได้ปฤกษาหารือตกลงกันมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ทุ่งมโนรมย์ ครั้นถึงเวลากำหนดนัดทั้ง ๒ กระษัตริย์ก็เสด็จมาพร้อมกันที่พลับพลา บันดาพวกพลทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นห้ามมิให้ใครถืออาวุธยุทธภัณฑ์ กระษัตริย์ทั้ง ๒ นั้นก็กระทำปฏิสัณฐารทางพระราชไมตรี แลกระทำสัตย์ต่อกัน เมื่อกระทำสัตย์ต่อกันแล้ว พระมหาจักรวรรดิจึงตรัสว่า แต่ก่อนเราทั้ง ๒ เปนสัตรูกัน มาบัดนี้เปนไมตรีมีพระราชอาณาจักรเปนทองแผ่นเดียวกันแล้ว ธรรมดาช้างเผือกทั้งหลายย่อมเกิดสำหรับบุญของกระษัตริย์ผู้มีบุญ เราตั้งใจว่านอกจากพระองค์แล้วจะไม่ยอมให้ใครเลย บัดนี้จะถวายแก่พระองค์ช้าง ตรัสดังนี้แล้วจึงถวายช้างบรมฉัททันต์แก่พระเจ้าหงษาวดี ครั้นแล้วทั้ง ๒ กระษัตริย์ก็ให้จาฤกศิลาประกาศทางพระราชไมตรี มีใจความว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดีกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยามีพระราชไมตรีต่อกันแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงรักษาไมตรีต่อกัน ที่สุดแต่หญ้าเส้นหนึ่งก็อย่าให้ใครล่วงเกินกันเลย ดังนี้ เมื่อจาฤกแล้ว ให้ยกเสาศิลาไปปักไว้ที่แดนต่อแดน พระเจ้าหงษาวดีก็ยกกองทัพกลับพระนครหงษาวดี พระมหาจักรวรรดิก็เสด็จคืนเข้าพระนคร

ครั้นต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ทราบว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีช้างเผือก ๗ ช้าง เปนผู้มีบุญญาธิการมาก ปราร์ถนาจะเปนสัมพันธมิตรสนิทกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา จึงแต่งราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีรูปลักษณเปนอันงามมีนามว่า รัตนมณีเนตร กับเครื่องราชบรรณาการ ให้ทูตจำทูลพระราชสาสน์เจริญทางพระราชไมตรีเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาถวายพระราชธิดา มีใจความในพระราชสาสน์นั้นทูลขอช้างเผือกด้วยเชือกหนึ่งเพื่อจะเอาไปเปนศรีพระนคร พระมหาจักรวรรดิ์ก็มีพระไทยยินดีรับพระราชธิดาพระเจ้านครล้านช้าง แล้วจึงพระราชทานช้างเผือกพังให้ กิตติศัพท์อันนั้นทราบไปถึงพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาไม่อยู่ในยุติธรรม ไปผูกไมตรีกับพระเจ้าล้านช้างให้ช้างเผือกพังไปกับพระเจ้าล้านช้าง เมื่อทำสัตย์สาบาลกับเรานั้น ว่านอกจากเราแล้วจะไม่ให้แก่ใครเลย ตรัสแล้วก็ให้พวกพลทหารไปคอยซุ่มสกัดทาง คอยแย่งชิงช้างซึ่งพระมหาจักรวรรดิ์พระราชทานไปแก่พระเจ้าล้านช้าง เมื่อทูตเมืองล้านช้างพาช้างไปถึงที่พวกหงษาวดีซุ่มอยู่ พวกหงษาวดีก็ออกสกัดฆ่าฟันพวกล้านช้างแย่งชิงเอาช้างเผือกพังไปได้ นำไปถวายพระเจ้าหงษาวดี

พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสว่า บัดนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาไม่ตั้งอยู่ในสัจธรรม เมื่อทำไมตรีกับเรานั้นได้พูดไว้ว่า นอกจากเราแล้วจะไม่ยอมให้ช้างเผือกแก่ใครเลย มาบัดนี้ไปผูกไมตรีกับพวกล้านช้าง ให้ช้างเผือกพังแก่พวกล้านช้างอีกเล่า เราเห็นว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทำการหาซื่อตรงต่อเราไม่ เหตุฉนี้ เราจะยกพลไปตีกรุงศรีอยุทธยาให้ยับเยิน ริบทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คนมาเปนเชลยให้สิ้น

เมื่อพระเจ้าหงษาวดีรับสั่งดังนั้นแล้ว จึงให้มีท้องตราบอกไปยังเมืองอังวะ เมืองภุกาม เมืองปะเย เมืองสระถุง ให้เกณฑ์ผู้คนช้างม้ามายังเมืองหงษาวดีให้สิ้นเชิง เมื่อหัวเมืองทั้งปวงถึงพร้อมกันแล้ว พระ เจ้าหงษาวดีก็ให้จัดกองทัพบกทัพเรือมีจำนวนพล ๙๐๐,๐๐๐ พร้อมเสร็จแล้ว พระองค์เปนจอมพล เสด็จมาทางเมืองพิศณุโลก เมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ครั้นถึงเมืองพิศณุโลกแล้ว ให้ตั้งค่ายประชิดเมืองพิศณุโลกโดยสามารถ

พระสุธรรมราชา ทรงทราบว่าพระเจ้าหงษาวดียกทัพมาครั้งนั้นมากมายหนักหนา เห็นว่าจะต้านทานสู้รบมิได้ ก็มิได้ออกสู้รบ จึงให้แต่งเครื่องราชบรรณาการ แล้วพาพระสุวรรณกัลยาราชธิดากับพระนเรศวรแลพระเอกาทศรฐ ออกไปเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ ยอมสวามิภักดิโดยดี พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงยินดี จึงให้ประกาศพวกพลนิกายทั้งปวงมิให้ทำร้ายอาณาประชาราษฎร ถ้าผู้ใดขัดขืนทำล่วงลเมิดจะเอาตัวเปนโทษถึงสิ้นชีวิตร เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้เมืองพิศณุโลกแล้ว จึงให้พระเอกาทศรฐราชโอรสองค์น้อยของพระสุธรรมราชา อยู่รักษาเมืองพิศณุโลก พระสุวรรณกัลยากับพระนเรศวรนั้นให้ตามเสด็จในกองทัพหลวงด้วย ให้พระสุธรรมราชาเปนทัพน่า ยกเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ครั้นถึงจึงให้ล้อมพระนครศรีอยุทธยาเข้าไว้ให้มั่นคงทั้ง ๔ ด้าน ส่วนข้างภายในพระนครศรีอยุทธยานั้น ก็ได้จัดการป้องกันไว้เปนสามารถ พระเจ้าหงษาวดีให้เข้าตีหักเปนหลายครั้งก็ยังไม่ได้ จึงให้ตั้งล้อมพระนครอยู่

ในขณะเมื่อพระเจ้าหงษาวดีเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่นั้น พระมหาจักรวรรดิ์ทรงพระประชวรสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหินทร์ราชโอรสขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน

คราวนั้น พระยาจักรีข้าราชการในกรุงศรีอยุทธยา คิดคดต่อพระมหินทร์ จึงลอบออกไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีแล้วทูลว่า บัดนี้เสบียงอาหารในพระนครจวนจะหมดสิ้น ราษฎรอดหยากระส่ำระสายเกือบสิ้นกำลังอยู่แล้ว ทั้งพระมหาจักรวรรดิ์ก็สวรรคตแล้ว พระมหินทร์ซึ่งขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ก็อ่อนแอบังคับบัญชาการไม่สิทธิ์ขาด ถ้าพระองค์ให้เข้าระดมตีโดยสามารถคราวนี้เห็นจะได้พระนครเปนมั่นคง ด้านนั้นเข้มแขง ด้านนั้นอ่อนแอ ข้าพระองค์จะคอยเปิดประตูรับ เมื่อพระยาจักรีกราบทูลความลับดังนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้ามาในพระนคร

พระเจ้าหงษาวดีได้ช่องดังนั้น ก็ให้พลนิกายเข้าระดมตีเปนสามารถ พวกพลทหารซึ่งรักษาน่าที่เชิงเทินก็พากันระส่ำระสาย พระสุธรรมราชาจึงกราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า บัดนี้ชาวพระนครระส่ำระสายคับแคบเหมือนปลาที่ติดอยู่ในลอบแล้ว พระองค์จงเร่งนายทัพนายกองให้เข้าระดมตีโดยสามารถเถิด พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงกำชับให้นายทัพนายกองเข้าระดมตีโดยสามารถ ให้ตีเอาพระนครให้จงได้ นายทัพนายกองทั้งปวงกลัวพระราชอาญา ก็เร่งกันเข้าระดมตีโดยแขงแรงยิ่งกว่าเก่า มิได้คิดแก่ชีวิตร

ฝ่ายพระยาจักรีเห็นพวกหงษาวดี เข้าตีพระนครโดยสามารถดังนั้น ได้ทีก็เปิดประตูรับกองทัพหงษาวดีเข้าในพระนคร เมื่อพวกหงษาวดีเข้าในพระนครได้แล้ว ก็ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายเปนอันมาก พระนครศรีอยุทธยาก็เสียแก่หงษาวดีในครั้งนั้น

พระเจ้าหงษาวดี จึงให้เก็บทรัพย์สินเงินทองปืนใหญ่ปืนน้อยผู้คนช้างม้า กับช้างเผือกอีก ๕ ช้าง ทั้งรูปหล่อต่างๆ ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองที่อยู่ในหอ คือ รูปคน รูปพรหม รูปช้างเอราวรรณ รูปม้า รูปราชสีห์ รูปคชสีห์ รูป นรสิงห์ รูปแกะ รูปวัว-ธนู รูปหงษ์ รูปนกกะเรียน รูปนกใหญ่ รูปนกยูงตัวผู้ รูปนกยูงตัวเมีย เหล่านี้ พระเจ้าหงษาวดีก็ให้เอาไปด้วย แล้วมอบราชสมบัตให้พระสุธรรมราชา พระมหินทร์กับพระสุวรรณกัลยาแลพระนเรศวรนั้น พระเจ้าหงษาวดีให้เอาไปด้วย พระยาจักรีซึ่งเปนไส้ศึกนั้นพระเจ้าหงษาวดีก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลเปนอันมาก อยู่ประมาณเจ็ดวันทรงเห็นว่าพระยาจักรีนี้ไม่ซื่อตรงต่อเจ้านายของตน เจ้านายของตนชุบเลี้ยงให้มียศบันดาศักดิ์ถึงเพียงนั้นแล้วยังคิดร้ายเปนไส้ศึก ถ้าจะเลี้ยงพระยาจักรีไว้อีกก็จะเปนไส้ศึกต่อไป จึงรับสั่งให้เอาตัวพระยาจักรีไปประหารชีวิตรเสีย แต่พระมหินทร์นั้นพระเจ้าหงษาวดีให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์เสมอ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสระฤง พระมหินทร์ไม่ยำเกรงหยาบช้าต่อพระเจ้าหงษาวดี ๆ ทรงพระพิโรธ จึงรับสั่งให้เอาถ่วงน้ำเสีย

เมื่อพระเจ้าหงษาวดีเสด็จไปถึงเมืองหงษาวดีแล้ว ก็ให้ปูนบำเหน็จทแกล้วทหารเปนอันมาก นางสุวรรณกัลยาราชธิดาของพระสุธรรมราชานั้น พระเจ้าหงษาวดีทรงตั้งให้เปนอรรคมเหษี พระนเรศวรนั้นก็ทรงโปรดปรานเหมือนพระราชบุตรในพระอุทร

ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงษาวดียังประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุทธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ ๑ ที่ตำบลทุ่งเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

ฝ่ายพระสุธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้อยู่ครองกรุงศรีอยุทธยานั้น ทรงพระดำริห์เห็นว่า พระนเรศวรราชโอรสไปอยู่เมืองหงษาวดีแล้ว จึงโปรดตั้งให้พระเอกาทศรฐเปนพระมหาอุปราชแทนพระนเรศวร แต่ให้ลงมาอยู่กรุงศรีอยุทธยา เมื่อพระสุธรรมราชาได้ราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต รวมพระชนม์ ๓๕ พรรษา พระสุธรรมราชาสมภพวันพุฒ

เมื่อพระสุธรรมราชาสวรรคตแล้ว บันดาข้าราชการทั้งปวงจะยกพระเอกาทศรฐขึ้นครองราชสมบัติ พระเอกาทศรฐไม่ยอมว่าพระเชษฐาของเรายังมีอยู่ที่เมืองหงษาวดี พระเอกาทศรฐก็ยังคงตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม แต่บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินทั่วไป

ฝ่ายข้างกรุงหงษาวดี วันหนึ่งพระมหาอุปราชากับพระนเรศวรเล่นชนไก่กัน ไก่ของพระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชาก็ขัดใจ จึงแกล้งพูดเปนทีเยาะเย้ยว่าไก่ชะเลยเก่ง ชนชนะไก่เราได้ พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นก็น้อยพระไทย ผูกอาฆาฏพระมหาอุปราชา แกล้งตรัสตอบไปเปนไนยว่า ไก่ของหม่อมฉันนี้พระองค์อย่าเข้าพระไทยว่าจะชนะแต่ไก่ของพระองค์จะชนเอาบ้านเอาเมืองก็จะได้ดังนี้

พระนเรศวรทรงแค้นพระไทยพระมหาอุปราชาไม่วายเลย ครั้นต่อมาจึงทรงพระดำริห์ว่า ซึ่งเราจะมานั่งน้อยหน้าอยู่ในบ้านเมืองเขาให้เขาดูหมิ่นอย่างนี้ไม่สมควร จำจะคิดอุบายหนีไปให้จงได้ วันหนึ่งจึงเข้าไปเฝ้าพระสุวรรณกัลยาแล้ว ทูลความตามที่คิดไว้นั้นทุกประการ แล้วทูลจะให้พระพี่นางเธอหนีกลับพระนครศรีอยุทธยาด้วย พระสุวรรณกัลยาจึงตอบว่า บัดนี้พี่ก็มีบุตร์ด้วยพระเจ้าหงษาวดีแล้ว จะหนีไปอย่างไรได้ พ่อจงกลับไปเถิด ตรัสแล้วจึงอวยไชยให้พรแก่พระนเรศวรว่า ขอให้น้องเราไปโดยศิริสวัสดิ์ อย่าให้สัตรูหมู่ปัจจามิตร์ย่ำยีได้ แม้ใครจะคิดร้ายก็ขอให้พ่ายแพ้แก่เจ้า เจ้าจงมีไชยชนะแก่ข้าศึกสัตรูกู้บ้านกู้เมืองคืนได้ดังปราร์ถนา เทอญ ดังนี้

พระนเรศวรได้ฟังดังนั้น แกล้งตรัสตอบเปนทีล้อพระพี่นางเธอว่า รักผัวมากกว่าญาติ แล้วก็ทูลลามาสู่ที่ตำหนัก ชักชวนมหาดเล็กที่สนิทไว้เนื้อเชื่อใจแลมีฝีมือเข้มแขงได้ ๖๐ คน แล้ว ก็ลอบหนีออกจากเมืองหงษาวดี

ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบว่าพระนเรศวรหนีไปจากกรุงหงษาวดี จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า บัดนี้พระนเรศวรหนีไปแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสายกพลไปจับตัวให้จงได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสห้ามว่าเจ้าอย่าไปตามเลย พระนเรศวรนี้เปนคนมีบุญญาธิการมาก ทั้งฝีมือก็เข้มแขง บิดาจะเล่าให้ฟัง วันหนึ่งบิดาเรียกพระนเรศวรเข้ามาเฝ้า พอพระนเรศวรย่างเข้ามาถึงอัฒจันท์ พระราชมณเฑียรที่บิดาอยู่นั้นหวั่นไหว บิดาจึงเห็นว่าพระนเรศวรนี้มีบุญมาก เจ้าอย่าไปเลย พระมหาอุปราชาไม่ฟังจึงให้จัดกองทัพเปนอันมาก แล้วก็ยกไปตามพระนเรศวรทางพระเจดีย์ ๓ องค์ พระนเรศวรตั้งคอยสู้รบอยู่ที่พระเจดีย์ ๓ องค์ พระมหาอุปราชาก็ยกพลเข้าตีพระนเรศวร ๆ เห็นกำลังพระมหาอุปราชามาก ก็ถอยมาตั้งรับที่ตำบลอะสันดี พระมหาอุปราชาก็ตามตีที่ตำบลอะสันดี พระนเรศวรเห็นจะสู้ไม่ได้ก็ถอยมาตั้งที่เมืองสุพรรณ

ในขณะนั้น พระเอกาทศรฐมหาอุปราชาทรงทราบว่า พระนเรศวรผู้เปนพระเชษฐาธิราชหนีมาจากหงษาวดี พระมหาอุปราชาหงษาวดีตามตีถึงเมืองสุพรรณ จึงให้จัดเสบียงอาหารให้กองลำเสียงคุมไปส่งที่เมืองสุพรรณ พวกลำเลียงยังไม่ทันไปถึง พอพระมหาอุปราชาให้กองเสือป่ามาซุ่มสกัดฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเปนอันมาก แล้วแย่งเอาเสบียงอาหารไปได้

พระเอกาทศรฐทรงทราบว่าพระมหาอุปราชายกพลมามาก จึงให้รีบจัดไพร่พลช้างม้าเสบียงอาหารเพิ่มเติมไปอีก พระองค์เสด็จเปนจอมพลไปด้วย ครั้นถึงเมืองสุพรรณจึงเข้าไปเฝ้าพระนเรศวรๆ ก็ตรัสเล่าสาเหตุอันเกิดขึ้นที่เมืองหงษาวดี จนกระทั่งหนีมาถึงเมืองสุพรรณบุรี แลพระสุวรรณกัลยามิได้เสด็จมาด้วย ให้พระเอกาทศรฐฟังทุกประการ พระเอกาทศรฐได้ทรงฟังดังนั้น จึงกราบทูลรับอาสาว่า ถ้ากระนั้นพระองค์จงพักผ่อนเสียให้สำราญพระไทยเถิด กระหม่อมฉันจะขอรับอาสาตีทัพพระมหาอุปราชาให้แตกพ่ายจงได้ พระนเรศวรจึงตรัสห้ามว่าอย่าเลย น้องเรายังอ่อนนักจะสู้ฝีมือเขาไม่ได้ พระมหาอุปราชานี้ชำนาญในการสงครามฝีมือเข้มแขงนัก พิ่จะออกรบเอง เจ้าจงจัดผู้คนช้างม้าไว้ให้พร้อม คอยช่วยพี่เถิด พระนเรศวรสั่งดังนั้นแล้ว ก็ยกทัพออกไปรบกับพระมหาอุปราชา กันเปนสามารถยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน ผู้คนทั้ง ๒ ฝ่ายล้มตายลงด้วยกันเปนอันมาก ต่างราทัพจากกัน พระนเรศวรจึงไสช้างออกไปน่าทัพแล้วท้าทายพระมหาอุปราชาว่า เราทั้ง ๒ รบกันยังไม่แพ้ไม่ชนะ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก น่าสงสารไพร่พลซึ่งมาพลอยตายด้วยเราทั้ง ๒ ซึ่งเกิดสงครามคราวนี้มีสาเหตุก็เพราะเราแต่ ๒ คน เพราะฉนั้น ควรเราจะรบกันแต่ ๒ ต่อสอง ชนช้างกันโดยทำนองยุทธหัตถี จะได้ประกาศเกียรติยศแลความกล้าหาญ ซึ่งได้เกิดมาเปนชายชาติกระษัตริย์ ใครดีใครก็จะได้ไชยชนะไม่พักต้องลำบากแก่ไพร่พล เมื่อพระนเรศวรชวนเชิญเปนทีเยาะเย้ยดังนี้ พระมหาอุปราชาหงษาวดีก็เกิดมีมานะกระษัตริย์ จึงตรัสว่าดีแล้ว ดังนี้ แล้วก็ให้เอาธงใหญ่มาปักลงตรงน่าช้างทั้ง ๒ ทำสัญญาแก่กันว่าถอนธงขึ้นเมื่อไรก็ให้เข้าทำยุทธหัตถีกันเมื่อนั้น สัญญากันแล้ว ต่างพระองค์ก็เปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ทรงเครื่องเกราะตามอย่างวิธีที่จะทำยุทธหัตถี เวลานั้นช้างทรงของพระนเรศวรกำลังติดมัน เมื่อแต่งพระองค์เสร็จพร้อมทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว ต่างก็คอยฤกษอยู่ ในขณะนั้น ด้วยบุญญาภินิหารของพระนเรศวรที่จะได้ไชยชนะแก่พระมหาอุปราชา ทั้งจะได้เปนพระมหากระษัตริย์ด้วย ก้อนเมฆบนอากาศบันดานเปนรูปเสวตรฉัตรกางกั้นอยู่ตรงพระคชาธารพระนเรศวร พระบรมธาตุโตเท่าผลมะงั่วก็ทำปาฏิหารเสด็จผ่านมาทางกองทัพพระนเรศวร พระองค์ก็ทรงยินดียกพระหัตถขึ้นนมัศการ พร้อมทั้งนายทัพนายกองทั้งปวง พอได้ฤกษ์แล้วต่างพระองค์ก็ให้ถอนธงสัญญาที่ปักไว้ ทั้ง ๒ พระองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีชนช้างกัน ขณะนั้น พระมหาอุปราชาจะเอาจักรคว่างพระนเรศวร ๆ เห็นดังนั้นจึงตรัสว่า พระเชษฐาทำอะไรอย่างนี้ เห็นจะเคยใช้อุบายทำร้ายเขาอย่างนี้เสมอดอกกระมัง ซึ่งเราพี่น้องมาทำสงครามกันคราวนี้เปนธรรมยุทธวิธี ซึ่งพระเชษฐาจะลอบทำร้ายอย่างนี้ไม่สมควร พระมหาอุปราชจึงตอบว่า เราลองใจดูด็อก มิได้คิดว่าจะเอาจักรขว้างพระน้องจริง ๆ ตรัสแล้วต่างพระองค์ก็เข้าทำยุทธหัตถีกันอีก ช้างพระนเรศวรกำลังน้อยเสียท่าเบนท้ายให้ช้างพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชก็ทรงพระแสงง้าวฟันพระนเรศวร ๆ หลบทัน ถูกแต่พระมาลาขาดไปประมาณ ๒ นิ้ว ช้างพระนเรศวรถอยหลังไปถึงจอมปลวกแห่ง ๑ ในป่าพุทรายันได้ถนัด ก็เอาเท้าทั้ง ๒ ยันกับจอมปลวกขยับแทงถูกโคนงาช้างพระมหาอุปราช ช้างพระมหาอุปราชเบนท้ายจะหนี พระนเรศวรเห็นได้ทีก็เอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้าง ที่ช้างพระนเรศวรยันนั้นก็มีนามปรากฎว่าพุทรากะแทก ยังมีอยู่จนทุกวันนี้

ฝ่ายนายทัพนายกองหงษาวดีทั้งปวง ครั้นเห็นพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ตกใจกลัวแตกกระจัดกระจายกันไป พระนเรศวรก็ห้ามมิให้พวกพลทำร้ายแก่พวกหงษาวดี ให้ประกาศแก่ชาวหงษาวดีว่า อย่าให้นายทัพนายกองทั้งปวงตกใจกลัวเลย ซึ่งเราทำสงครามคราวนี้ มิได้คิดจะให้ไพร่พลทั้งปวงได้ความลำบาก คิดแต่จะแก้แค้นพระมหาอุปราชา ซึ่งหมิ่นประมาทเราอย่างเดียวเท่านั้น บัดนี้เราแก้แค้นได้แล้ว ตรัสดังนี้แล้วก็โปรดให้นายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงกลับไปเมืองหงษาวดี พวกนายทัพนายกองแลพลทหารทั้งปวงก็กราบถวายบังคมลากลับไปยังเมืองหงษาวดี นำความที่พระมหาอุปราชชนช้างเสียทีแก่พระนเรศวรสิ้นพระชนม์บนคอช้าง กราบทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาตัวนายทัพนายกองที่ไปกับพระมหาอุปราชานั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่เท่านั้นยังไม่คลายพระพิโรธ จึงเสด็จไปสู่พระตำหนักพระสุวรรณกัลยา เอาพระแสงฟันพระนางสุวรรณกัลยากับพระราชธิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์

เมื่อพระนเรศวรมีไชยชนะแก่พระมหาอุปราชแล้ว ก็เสด็จกลับยังพระนครศรีอยุทธยา ให้ทำนุบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้เรียบร้อยปรกติตามภูมิลำเนา ข้าราชการทั้งปวงจึงทำการราชาภิเษกยกพระนเรศวรขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน พระนเรศวรจึงทรงตั้งพระเอกาทศรฐไว้ในตำแหน่งพระมหาอุปราช ทรงตั้งมหาดเล็กซึ่งตามเสด็จมาแต่เมืองหงษาวดี ได้ทำการรบพุ่งร่วมชีวิตร์กับพระองค์มานั้น ให้มียศบันดาศักดิ์ทุกๆ คนแล้ว พระราชทานบำเหน็จรางวัลเปนอันมาก แล้วทรงพระกรุณาโปรดมิให้ต้องเสียส่วยสาอากรทั้งปวงด้วย พระแสงที่ทรงฟันพระมหาอุปราชนั้น พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาแสนพลพ่าย หรือเจ้าพระยาพระแสง พระแสงของ้าวของพระองค์เมื่อชนช้างกับพระมหาอุปราชนั้น ยังมีปรากฎอยู่จนเสียกรุงศรีอยุทธยา ช้างทรงที่ทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชนั้น พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ แล้วพระนเรศวรทรงพระดำริห์เห็นว่า คราวนี้คงจะเกิดศึกใหญ่เปนแน่ จึงให้ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเดิม ให้ทำค่ายคูประตูหอรบให้แน่นหนา ผ่อนเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนครเปนอันมาก ปรนปรือผู้คนช้างม้าให้บริบูรณ์แล้ว จึงให้สร้างพระพุทธปฏิมากรสูง ๒๐ ศอกพระองค์ ๑ สำเร็จแล้ว ก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระพุทธปฏิมากรนั้นเปนอันมาก ถวายพระนามว่า ติโลกนารถ

เมื่อพระนเรศวรทรงจัดการบ้านเมือง แลบำเพ็ญพระราชกุศลเสร็จแล้ว จึงเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงแสน เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองตานี ครั้นตีได้เมืองเหล่านี้แล้ว ก็รวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมาก เสด็จยกทัพกลับพระนคร ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายทัพนายกองเปนอันมาก เมื่อมีกำลังผู้คนช้างม้ามากขึ้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าจะทำศึกใหญ่ได้ จึงจัดทัพใหญ่มีจำนวนพลเมืองแปดหมื่นสี่พัน เปนขบวนช้างรวางมืชื่อ ๔๘ ช้าง ช้างที่ไม่มีชื่อรวางร้อยเศษ ขบวนม้ารวางมืชื่อ ๑๕๖ ม้า ม้าไทย ๑๐๐ ม้า ม้าฮ่อ ๑๐๐ ม้า ม้าปีกขวาชั้นใน ๑๐๐ ม้า ม้าปีกซ้ายชั้นใน ๑๐๐ ม้า ม้าทหารปีน ๑๐๐ ม้า ม้าทหารตีฆ้อง ๑๐๐ ม้า ม้าทหารปืนยาว ๑๐๐ ม้า ม้าเร็ว ๑๐๐ ม้า ให้จัดช้างทรง ๔ ช้าง คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ ๑ เจ้าพระยาศิริไชยจักร์ (ปราบไตรจักร์) ๑ เจ้าพระยาปราบศึก (ศรีไชยศักดิ์) ๑ เจ้าพระยาจักร์มหินทร์ (จักร์มหิมา) ๑ ช้างนายทัพนายกองข้างหน้า ๘ ช้าง ข้างหลัง ๑๒ ช้าง คือ พลายมงคลจักร (พาฬ) ๑ พลายพิมานจักรพรรดิ์ ๑ พลายสวาสิทธิไชย ๑ พลายตรังโลกนาเค ๑ พลายแก้วจักรรัตน์ ๑ พลายมทรุงเทพ (มัทธยมเทศ) ๑ พลายจุนไชยราชา กุญชรราชา ๑ พระยา (มหา) คชสาร ๑ พลายสังหารคชสีห์ ๑ หัศดีวิไชย ๑ พลายหัตถไชย ๑ พลายไอยราพต ๑ พลายเอราพต ๑ พรายอรุณจักรพรรดิ์ (โจมจักรพาฬ) ๑ พลายมารติไชย (มารติไชย) ๑ พลายคชรัตน์ ๑ พลายสุวัตติกุจเฉยะ ๑ พลายบรมนาเค (นทร) ๑ พลายกรินทรัตน (กเรนทรรัตน) ๑ ช้างหน้า ๘ ช้างนั้นให้มีควาญหน้า ๑ ควาญท้าย ๑ กลาง ๓ ครั้นแล้วทรงให้จัดเปนกองร้อย กองพัน กองหมื่น พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธใหญ่น้อยเสร็จแล้ว ให้พระเอกาทศรฐเปนแม่ทัพน่า พระนเรศวรเปนแม่ทัพหลวง ยกออกจากพระนครศรีอยุทธยา พระเอกาทศรฐยกไปตีได้เมืองแญ เมืองกรุงสิลพารา เมืองหาง เมืองโยนกสุเร แลเขตรแดนเมืองหาง เก็บรวบรวมผู้คนช้างม้าได้เปนอันมาก ทรงจัดบ้านเมืองให้เรียบร้อยให้ราษฎรคงอยู่ตามภูมิลำเนาแล้ว พระเอกาทศรฐก็ยกไปตีเมืองหงษาวดี ให้เข้าล้อมเมืองหงษาวดีไว้

พระเจ้าหงษาวดีก็มิได้สู้รบ เปนแตให้กวาดต้อนผู้คนช้างม้าเสด็จหนีไปอยู่เมืองตองอู พระเอกาทศรฐก็ยกพลตามตีพระเจ้าหงษาวดีไปถึงเมืองตองอู ให้เข้าตีเมืองเปนหลายครั้งก็ไม่ได้ ด้วยเมืองตองอูมีผู้คนเสบียงอาหารบริบูรณ์ แลชาวเมืองสู้รบเปนสามารถ พระเอกาทศรฐจึงมีใบบอกมากราบทูลพระนเรศวร มีใจความว่า ได้ยกไปล้อมเมืองตองอูแลให้ตีหักเปนหลายครั้งก็ยังหาได้ไม่ ด้วยเมืองตองอูมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แลผู้คนรักษาแขงแรงดังนี้ พระนเรศวรก็ยกทัพจากเมืองหาง ไปทางตำบลเขาเขียว เทพารักษ์ซึ่งรักษาเขาเขียวนั้น บันดานให้พระองค์เสด็จสวรรคตบนคอช้างพระที่นั่งพิศณุราชาณตำบลเขาเขียวนั้น เมื่อพระนเรศวรเสวยราชย์พระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี เมื่อเสด็จสวรรคตพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา พระนเรศวรสมภพวันพฤหัศบดี เสด็จสวรรคตเมื่อจุลศักราช ๙๖๐ ปี

ฝ่ายพระเอกาทศรฐซึ่งตั้งล้อมเมืองตองอูอยู่นั้น ครั้นทรงทราบว่าพระนเรศวรสวรรคตแล้ว ก็ให้เลิกทัพกลับจากเมืองตองอู มาเชิญพระศพพระนเรศวรกลับมายังพระนครศรีอยุทธยา บันดาข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญเสด็จพระเอกาทศรฐขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระเอกาทศรฐได้ครองราชสมบัติแล้ว จึงให้ทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระเชษฐาธิราช แล้วทรงสร้างวัดอุทิศพระราชกุศลถวายพระเชษฐาธิราชวัด ๑ พระราชทานนามว่า วัดวรเชษฐ์ แล้วให้หล่อพระพุทธรูปใหญ่สูง ๑๘ ศอกพระองค์ ๑ ทุ้มด้วยทองคำหนัก ๑๗๙ ชั่ง ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ ครั้นสำเร็จแล้วให้สร้างวัดในเมืองอีก ๒ วัด คือ วัดราชวงษ์วัด ๑ วัดโพธารามวัด ๑

เมื่อพระเอกาทศรฐเสด็จไปตีเมืองหางนั้น ได้เอาพระทนต์คาบพระแสง องค์ ๑ ปีนค่าย ยังมีรอยพระทนต์ปรากฎอยู่ พระแสงองค์นั้นยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

สมเด็จพระเอกาทศรฐมีพระมเหษีถึง ๘ พระองค์ แต่มิได้มีพระราชโอรสธิดา แลพระองค์ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนายิ่งนัก ทรงพระอุสาหะเสด็จไปนมัศการพระพุทธบาทที่เขารังรุ้งอันมีอยู่ใกล้เมืองหาง เมื่อเสด็จไปในท่ามกลางทางนั้น เสด็จประทับแรมที่วัดพุทธสรวนอันอยู่ในเมืองนะติกขะรา ครั้นเสด็จออกจากวัดพุทธสรวนแล้ว เสด็จไปนมัศการพระพุทธบาทที่เขารังรุ้ง ทรงพระราชศรัทธาถวายพระมหามงกุฎกับสังวาลย์ของพระนเรศวรเปนพุทธบูชา แล้วเสด็จไปประทับที่เมืองหาง ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แลพระพุทธรูปที่เมืองหาง เสร็จแล้วก็เสด็จกลับยังกรุงศรีอยุทธยา ให้ซ่อมพระที่นั่งมังคลาภิเษก ๒ องค์ ซึ่งได้สร้างไว้แต่ครั้งพระมหาจักรวรรดิ ขึ้นใหม่ แลได้จัดให้พระสงฆ์เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนพระองค์ก็ได้ทรงเล่าเรียนพระกรรมฐานมิได้ขาด ครองราชสมบัติอยู่ตราบเท่าเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรฐได้เสวยราชย์เมื่อพระชนม์ ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๙ พรรษา พระชนม์ได้ ๓๙ พรรษาก็เสด็จสวรรคต

บันดาข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเปนพระราชนัดดาของพระสุธรรมราชาขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อจุลศักราช ๙๗๙ ปี ถวายพระนามว่า พระเจ้าติโลกนารถ ๆ มีพระมเหษี ๒ พระองค์ ทรงพระนามว่า จันทราชาพระองค์ ๑ ขัตติยเทวีพระองค์ ๑ พระนางจันทราชามีพระราชธิดา ๔ พระองค์ องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า ปทุมาเวที องค์ที่ ๒ พระนามว่า สุริยา องค์ที่ ๓ พระนามว่า จันทาเทวี องค์ที่ ๔ พระนามว่า ศิริกัลยา พระนางขัตติยเทวีมีพระราชธิดา ๔ พระองค์ องค์ที่ ๑ พระนามว่า อุบลเทวี องค์ที่ ๒ พระนามว่า นภาเทวี องค์ที่ ๓ พระนามว่า อรบุตรี องค์ที่ ๔ พระนามว่า ขนิษฐาเทวี

แลพระเจ้าติโลกนารถนั้นมีพระราชนัดดาองค์ ๑ ทรงนามว่า สุริยกุมาร เปนเชื้อพระวงษ์ฝ่ายพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกนารถ พระสุริยกุมารนี้ มีอัธยาไศยผิดกว่าคนธรรมดามาแต่ยังเยาว์ เวลาที่เล่นกับเพื่อนทารกด้วยกันนั้น พระสุริยกุมารให้เอาเครื่องลาด ๆ บนจอมปลวกแล้วเสด็จขึ้นนั่ง ตั้งแต่งพวกทารกให้เปนเสนาบดีแลข้าราชการแล้ว ก็เล่นว่าราชการวินิจฉัยพระราชกฤษฎีกากฎหมายอย่างทำนองกระษัตริย์ ดังนี้เนือง ๆ

พระเจ้าติโลกนารถนั้น ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกมาก ทรงพระราชศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธสาสนายิ่งกว่ากระษัตริย์ก่อนๆ ทรงสมาทานศีล ๕ เปนนิจ ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๔ ครั้ง ทั้งทรงพระอุสาหะบอกพระไตรปิฎกแก่ภิกษุแลสามเณร ทรงเล่าเรียนพระกรรมฐาน ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดให้ปรกติขึ้นเปนอันมาก แม้กิจการบ้านเมืองทั้งปวง ก็เอาเปนพระราชธุระวินิจฉัยโดยราชธรรมเที่ยงตรง คดีที่ถึงประหารชีวิตร์ ทรงลดหย่อนผ่อนให้เบาลงเพียงจองจำพอสมควร คดีที่ควรจะรับพระราชอาญาหนักก็ให้รับแต่อาญาที่เบา คดีที่เบาก็ให้ยกโทษพระราชทานเสียทีเดียว แลพระเจ้าติโลกนารถนั้นทรงพระอุสาหะ เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทไม่ใคร่ขาด ครั้นต่อมาทรงเห็นว่าลำบากแก่ข้าราชการนัก นานๆ จึงจะเสด็จครั้ง ๑

พระเจ้าติโลกนารถ ทรงตั้งพระสุริยกุมารให้เปนพระมหาอุปราช ทรงมอบราชการบ้านเมืองทั้งสิ้นให้แก่พระสุริยกุมาร ส่วนพระองค์ทรงเปนพระราชธุระแต่กิจทางพระพุทธสาสนา

คราวนั้นมีพวกพ่อค้าญี่ปุ่นบรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ในพระนครศรีอยุทธยาลำหนึ่ง อำมาตย์คน ๒ เปนคนทุจริตแอบอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ซื้อสิ่งของต่าง ๆ ครั้นพวกพ่อค้ายี่ปุ่นขายให้แล้ว อำมาตย์นั้นก็เอาเงินแดงให้แก่พ่อค้ายี่ปุ่น ๆ รับเงินแดงไว้โดยไม่ทันพิจารณา ครั้นอำมาตย์นั้นไปแล้วพ่อค้ายี่ปุ่นจึงเอาเงินออกดูเห็นเปนเงินแดงทั้งนั้น ก็โกรธว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาไม่ตั้งอยู่ในธรรมใช้เงินแดงจึงให้คนใช้มีฝีมือ ๔ คน ซ่อนอาวุธลอบเข้าไปในพระราชวัง กำลังพระเจ้าติโลกนารถเสด็จออกบอกพระปริยัติธรรมพระสงฆ์อยู่ ยี่ปุ่นเข้าไปครั้นถึงจึงชักอาวุธออกจะทำร้าย แต่ด้วยบุญญาภินิหารของพระเจ้าติโลกนารถ บันดานให้ยี่ปุ่นทั้ง ๔ คนนั้นชักอาวุธไม่ออก ข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่เห็นพิรุธก็พากันจับค้นได้อาวุธทั้ง ๔ คน พระเจ้าติโลกนารถจึงรับสั่งถามเอง ว่าเหตุใดพวกเจ้าเหล่านี้จึงซ่อนอาวุธมาจะทำร้ายเรา ยี่ปุ่นทั้ง ๔ จึงทูลว่า พระองค์ใช้อำมาตย์ผู้ ๑ เอาเงินแดงไปซื้อสิ่งของ ๆ นายสำเภาพวกข้าพเจ้า นายสำเภาโกรธว่าพระองค์ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมใช้เงินแดง จึงใช้ข้าพเจ้ามาทำร้ายพระองค์ พระเจ้าติโลกนารถจึงรับสั่งให้สืบสวนจับได้อำมาตย์ทุจริตนั้นมาซักถาม ได้ความเปนสัตย์ว่าเอาเงินแดงไปซื้อสิ่งของยี่ปุ่นจริง จึงพระราชทานเงินดีให้ไปแก่นายสำเภา แล้วปล่อยพวกยี่ปุ่นเสียมิได้เอาโทษ

ต่อมา พระเจ้าติโลกนารถ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์เล่าเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นอีก ๒ วัด คือ วัดพุทไธสวรรย์ ๑ วัดรัตนมหาธาตุหนึ่ง แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมปราสาทกระจกแดง แลปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอีกเปนอันมาก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลจนตราบเท่าเสด็จสวรรคต

เมื่อพระเจ้าติโลกนารถเสด็จสวรรคตแล้ว บันดาข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระสุริยกุมารขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระเจ้ารามาธิเบศร ๆ ก็ยกพระราชธิดาของพระเจ้าติโลกนารถทั้ง ๘ พระองค์ ขึ้นเปนพระมเหษีซ้ายขวาฝ่ายละ ๔ องค์ ฝ่ายขวา ๔ นั้น คือ พระปทุมาเทวี ๑ พระสุริยา ๑ พระจันทาเทวี ๑ พระศิริกัลยา ๑ ฝ่ายซ้าย ๔ นั้นคือ พระขัตติยเทวี ๑ พระนภาเทวี ๑ พระอรบุตรี ๑ พระกนิษฐาเทวี ๑

พระปทุมาเทวีนั้นมีพระราชโอรส ๔ องค์ คือ พระไชยองค์ ๑ พระติกูฐานองค์ ๑ พระอภัยทศองค์ ๑ พระไชยทิศองค์ ๑

พระสุริยานั้นมีพระราชโอรส ๓ องค์ คือ พระขัตติยวงษ์องค์ ๑ พระติจักรองค์ ๑ พระสุรินทรกุมารองค์ ๑ รวมพระโอรสทั้ง ๒ พระมเหษีเปน ๗ องค์ด้วยกัน พระมเหษีอีก ๖ องค์นั้น จะได้มีโอรสธิดาหามิได้

วัน ๑ พระเจ้ารามาธิบดีบรรธมหลับอยู่ในปราสาท ทรงพระสุบินนิมิตร์ว่า ที่จอมปลวกซึ่งพระองค์เคยเสด็จขึ้นว่าราชการเล่นแต่เมื่อครั้งยังเปนกุมารนั้น มีปราสาททองฝังอยู่ พอรุ่งเช้าตื่นจากบรรธมแล้ว จึงรับสั่งให้ราชบุรุษไปขุดดูที่จอมปลวกนั้น ก็ได้ปราสาททองคำ ๙ ชั้น สูงประมาณ ๑ ศอก จึงรับสั่งให้นำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระ เพราะที่ได้ปราสาททองนั้นเปนเหตุ พระเจ้ารามาธิเบศรจึงมีพระนามปรากฎอีกอย่าง ๑ ว่า พระเจ้าปราสาททอง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดพระไชย ซึ่งเปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ ยิ่งกว่าพระราชโอรสทั้งปวง มีพระราชประสงค์จะใคร่มอบราชสมบัติให้แก่พระไชย แต่เกรงพระราชโอรสทั้งปวงจะเสียพระไทย อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าปราสาททองมีพระราชประสงค์จะใคร่ทดลองว่า พระราชโอรสองค์ไหนจะมีบุญ จึงให้หาพระราชโอรสทั้ง ๗ องค์เข้ามาแล้ว เอาพระแสง ๗ องค์วางเรียงไว้ แล้วทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระโอรสองค์ใดมีบุญสมควรจะครองบ้านเมืองแล้ว ขอให้หยิบถูกพระแสงสำหรับบ้านเมือง ครั้นทรงอธิษฐานแล้วจึงรับสั่งให้โอรสทั้ง ๗ องค์ หยิบพระแสงองค์ละเล่มโดยลำดับ พระแสงสำหรับบ้านเมืองนั้นได้แก่พระสุรินทรกุมารซึ่งเปนราชโอรสองค์เล็ก ต่อมาพระเจ้าปราสาททองก็ได้ทรงทดลองด้วยช้างอีก ข้างต้นมงคลหัตถีก็ได้แก่พระสุรินทรกุมารอีก พระเจ้าปราสาททองก็ทรงเสียพระไทย ด้วยการเสี่ยงทายไม่สมพระประสงค์ ต่อมาพระเจ้าปราสาททองก็ทดลองด้วยม้าอีก ม้าต้นซึ่งสมมติว่าเปนมงคลนั้นก็ได้แก่พระสุรินทรกุมารอีก เมื่อพระเจ้าปราสาททองทอดพระเนตรเห็นประจักษ์ถึง ๓ ครั้งดังนั้น ก็ยิ่งทรงพระอาไลยในพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เปนอันมาก ด้วยทรงเห็นว่าจะไม่ได้ครองบ้านเมืองเสียแล้ว แต่นั้นมาก็พระราชทานโอวาทแก่พระราชกุมารทั้งหลายเนือง ๆ ว่า เจ้าทั้ง ๗ พี่น้องจงรักใคร่ยำเกรงต่อกัน ผู้ใหญ่จงกรุณาต่อผู้น้อย ผู้น้อยจงเคารพต่อผู้ใหญ่ แต่พระสุรินทรกุมารราชโอรสองค์เล็กนั้น พระเจ้าปราสาททองทรงสั่งสอนมากกว่าองค์อื่นๆ รับสั่งว่าเจ้าเปนคนเล็กกว่าเขา จงเคารพต่อพี่ชายใหญ่ๆ ให้มากๆ อย่าได้คิดขัดแขงให้ผิดใจกับผู้ใหญ่ อย่าประพฤติล่วงอคติทั้ง ๔ ประการ

ครั้นต่อมา พระเจ้าปราสาททองให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่อีก ๓ องค์ พระราชทานนามว่า สุริยาศน์อมรินทร์ องค์ ๑ วิชัย (จักรวัติไพชยนต์) องค์ ๑ ทิพยอาสน์ ไอสวรรย์ทิพอาศน์ที่บางปะอินองค์ ๑ แล้วให้สร้างพระราชมณเฑียรแลพระคลังขึ้นอีกเปนอันมาก ให้สร้างพระอารามขึ้นอีก ๒ พระอาราม พระราชทานนามว่า ทยามะ ไชยวัฒนารามอาราม ๑ ราชทุลาราราม อาราม ๑ ให้จำหน่ายเครื่องแต่งพระองค์ต่างๆ ตั้งแต่ครั้งเมื่อยังไม่ได้ราชสมบัติ เอาทรัพย์ที่ได้มานั้นสร้างพระเจดีย์องค์ ๑ แผ่ทองคำหุ้มทั้งองค์ เวลาปวารณาพรรษาแล้วเสด็จพระราชทานพระกฐินตามพระอารามทั้งปวงเปนนิจ แล้วให้หล่อพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเก่า ๆ จาฤกประวัติไว้ให้ปรากฎพระเกียรติยศทุกพระองค์

วันหนึ่งฟ้าผ่าลงที่พระที่นั่งมังคลาภิเศก เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ข้าราชการทั้งปวงขึ้นไปช่วยกันดับเพลิงนั้นก็หาดับไม่ พอพระสุรินทรกุมารขึ้นไปช่วยดับ เพลิงนั้นจึงดับ เวลาเมื่อพระสุรินทรกุมารขึ้นไปนั้น ข้าราชการแลประชาชนทั้งปวงเห็นเปน ๔ กร จึงโจษกันอื้ออึงไป แลพากันนิยมนับถือพระสุรินทรกมารว่าเปนผู้มีบุญแต่นั้นมา

พระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์เมื่อพระชนม์ได้ ๒๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๕ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๔๕ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต พระเจ้าปราสาททองสมภพวันเสาร์

เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคตแล้ว ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระสุรินทรกุมารขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระนารายน์ เพราะที่แลเห็นเปน ๔ กรเมื่อขึ้นไปดับเพลิงนั้นเปนเหตุ พระนารายน์มีพระมเหษี ๒ องค์ พระมเหษีฝ่ายขวาพระนามว่า พระกระษัตรีย์ พระมเหษีฝ่ายซ้ายพระนามว่า พระพันปี พระกระษัตรีย์มีพระราชธิดาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุดาเทวี พระนารายน์ทรงพระกรุณาแก่พระราชภาคิไนยองค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระศรีสิงห์ เปนโอรสของพระไชยทิศซึ่งเปนพระเชษฐา จึงตั้งไว้ในที่เปนพระโอรสบุญธรรมของพระองค์ แลพระนารายน์ให้ซ่อมพระราชวังใหม่ ปูพื้นด้วยแผ่นศิลา ฝาผนังพระที่นั่งทั้งปวงให้ลงรักปิดทองประดับกระจกงดงาม ให้ขุดสระทั้งทิศเหนือทิศใต้พระราชวัง ให้ซ่อมเขื่อนคูประตูหอรบให้แน่นหนาบริบูรณ์ทุกแห่งทุกตำบล

เมื่อพระนารายน์ครองราชสมบัติได้ ๑๐ พรรษา แล้วเสด็จไปสร้างเมืองเก่า คือเมืองลพบุรี สร้างพระราชวังแลพระที่นั่งทั้งปวงเสร็จแล้ว พระนารายน์ก็เสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรี พระราชทานพระนามพระที่นั่งที่เมืองลพบุรีนั้นว่า ดุสิตมหาปราสาท แล้วให้สร้างพระที่นั่งซ้ายขวาดุสิตมหาปราสาทอีก ๒ องค์ พระราชทานนามพระที่นั่งองค์ขวาว่า สุทธาสวรรค์ องค์ซ้ายว่า จันทรพิสาล ให้ตั้งเสวตรฉัตรแลเครื่องสูงไว้ครบทุกประการ แล้วให้สร้างอ่างแก้วน้ำพุไว้ในทิศเหนือแลทิศใต้พระที่นั่งเหล่านั้น

เมื่อพระนารายน์เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองลพบุรีนั้น ได้ช้างเผือกช้าง ๑ พระราชทานนามว่า บรมรัตนากาศคิรี พระนารายน์นี้มีบุญญาธิการมาก วันหนึ่งมีผู้จับช้างเถื่อนซึ่งยังมิได้ฝึกหัดมาถวาย พระนารายน์จึงตรัสว่า เราจะขึ้นขี่ขับช้างเถื่อนนี้มิให้ไปพ้นที่ ๔ ศอกได้ดังนี้แล้ว เสด็จขึ้นทรงช้างเถื่อนในที่ประชุมข้าราชการทั้งปวง ช้างเถื่อนก็มิได้ทำพยศไปพ้นจากที่ตามรับสั่ง คราวหนึ่งจึงรับสั่งให้นำช้างเถื่อนซึ่งกำลังติดมันมาทรงอีก ช้างนั้นก็มิได้ทำพยศอยู่ในบังคับบัญชาของพระองค์ทุกอย่าง

ต่อมามีทูตฝรั่งเข้ามาเฝ้า พระนารายน์จึงรับสั่งให้เอาพรมมาปูที่น่าพระลาน แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างกำลังติดมันอยู่ให้ทูตฝรั่งดู ทรงไสช้างนั้นหมุนไปหมุนมา บังคับมิให้ช้างนั้นล่วงเลยไปจากพรมได้ ทูตฝรั่งเห็นดังนั้นก็มองดูหน้ากันแล้วสั่นศีร์ษะพากันสรรเสิญว่า สืบไปเบื้องน่าจะไม่มีใครที่ชำนาญช้างชำนาญม้ายิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้อีกแล้ว ดังนี้

ครั้นต่อมา พระศรีสิงห์ซึ่งพระนารายน์ทรงเลี้ยงไว้เปนราชโอรสคิดขบถ วันหนึ่งจึงซ่อนอาวุธเข้าไปถึงข้างที่พระบรรธม เงื้ออาวุธขึ้นจะฟัน พระนารายน์ก็จับอาวุธได้มิได้เปนอันตราย แต่พระนารายน์มิได้ให้ลงโทษ เพราะทรงเห็นว่าพระศรีสิงห์ยังเยาว์มีพระชนม์พรรษา ๑๕ ปีเท่านั้น ทั้งเปนพระราชภาคิไนยอันสนิท เมื่อพระเชษฐายังมีพระชนม์อยู่นั้น ได้ทรงฝากฝังไว้ว่าหนักหน่อยเบาหน่อยก็ขอให้ทรงพระกรุณาตามสมควร ดังนี้ พระนารายน์จึงให้ปล่อยตัวไป ต่อมาพระศรีสิงห์คิดขบถอีก คือวันหนึ่งพระนารายน์จะเสด็จออกพระที่นั่งตำหนักดิน พระศรีสิงห์จึงถือพระแสงของพระมหินทร์ ไปคอยจะทำร้ายอยู่ทางประตูวังข้างทิศใต้ เพอินพระนารายน์ไม่เสด็จออกทางนั้น เสด็จออกเสียทางประตูข้างทิศเหนือ ข้าราชการเห็นพระศรีสิงห์ทำกิริยาพิรุธ ถืออาวุธแฝงอยู่ข้างบานประตู ก็พากันจับไปถวายพระนารายน์ ๆ ก็ทรงพระพิโรธว่า พระศรีสิงห์คิดร้ายต่อพระองค์ ๒ ครั้งแล้วจะเลี้ยงไว้ไม่ได้ จึงรับสั่งให้เพ็ชฆาฏเอาตัวพระศรีสิงห์ไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี ประเพณีที่จะสำเร็จโทษเจ้านายในครั้งนั้น เอาถุงแดงสรวมตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท แล้วเอาเชือกรัดให้แน่น เอาท่อนจันทน์ทุบให้สิ้นพระชนม์แล้วเอาใส่หลุมฝัง ให้เจ้าหน้าที่รักษาอยู่ ๗ วัน ดังนี้

เพ็ชฆาฏก็เอาพระศรีสิงห์ไปสำเร็จโทษตามรับสั่ง แต่ทำโดยความเลินเล่อ พระศรีสิงห์มิได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเจ้าน่าที่รักษาอยู่ ๗ วัน เห็นว่าพ้นกำหนดแล้วก็พากันกลับ พวกมหาดเล็กของพระศรีสิงห์ไปขุดศพเห็นยังไม่สิ้นพระชนม์ ก็นำพระศรีสิงห์ไปรักษาอยู่ที่ตำบลบ้านขาว ครั้นพระศรีสิงห์หายเปนปรกติแล้ว ก็ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนเปนกำลังได้เปนอันมาก เพราะคนเหล่านั้นเชื่อว่าพระศรีสิงห์เปนผู้มีบุญ แต่ถูกทุบแล้วฝังไว้ ๗ วันยังไม่สิ้นพระชนม์ คราวนั้นทิพโยธาอำมาตย์ หลวงจ่าแสนธิบดี ราชาบาลออกมะวัน นันทะจอกิน (ออกมะวันนันทะจอกินนี้แปลไม่ได้ความ) พากันลอบเอาช้างพิศณุหงส์ ซึ่งเปนช้างทรงของพระนารายน์ ไปเข้าเปนสมัคพรรคพวกพระศรีสิงห์ พระศรีสิงห์ก็ยกเข้ามาทางประตูพรหมจักรด้านทิศตวันออก เข้าไปถึงพระราชวังชั้นใน พระนารายน์ไม่ทันรู้พระองค์ก็ตกพระไทย จึงรีบเสด็จหนีออกจากพระราชวัง พระศรีสิงห์ก็ให้ทำพิธีราชาภิเษก ขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้วัน ๑ กับคืน ๑

เมื่อพระนารายน์หนีออกไปได้แล้ว ก็ให้รวบรวมได้ไพร่พลเปนอันมากยกเข้ามาจับพระศรีสิงห์ได้ จึงให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสียอย่างครั้งก่อน พวกเพ็ชฆาฏนำพระศรีสิงห์ไปแล้ว เอาถุงแดงสรวมผูกให้มั่นคง เอาท่อนจันทน์ทุบจนเลอียด เลอียดแล้วจึงเอาลงหลุมฝัง ส่วนทิพโยธาอำมาตย์ หลวงจ่าแสนธิบดี ราชาบาล ออกมะวัน นันทะจอกิน กับพรรคพวกอีกเปนอันมากนั้น พระนารายน์ก็รับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตร์เสีย ในขณะนั้นพระพรหมซึ่งเปนอาจารย์ของพระนารายน์ จึงเข้าไปถวายพระพรขอพระราชทานโทษคนเหล่านั้น พระนารายน์ก็พระราชทานให้ แต่ให้ส่งไปเปนพวกเกี่ยวหญ้าช้างหญ้าม้าที่เมืองสุพรรณบุรี เมืองสุพรรณบุรีจึงเปนส่วยหญ้าช้างหญ้าม้ามาแต่คราวนั้น

ตั้งแต่เกิดเหตุเรื่องพระศรีสิงห์ขึ้น พระนารายน์ก็ทรงพระปริวิตกด้วยหาพระราชโอรสจะสืบพระวงษ์มิได้ จึงรับสั่งให้พระอรรคมเหษีตั้งสัตยาธิฐานขอพระโอรส แต่นางนักสนมทั้งปวงนั้นมิได้รับสั่งให้ขอ ด้วยไม่ไว้วางพระไทยกลัวจะเปนขบถอย่างพระศรีสิงห์ ที่สุดนางนักสนมคนใดมีครรภ์ขึ้นก็ให้รีดเสียเพื่อมิให้เกิดโอรสธิดาได้

อยู่มาวันหนึ่งพระนารายน์ทรงพระสุบินนิมิตรว่า เทวดามาบอกว่า นางนักสนมของพระองค์ซึ่งมีนามว่า นางกุสาวดีมีครรภ์ โอรสที่เกิดกับนางกุสาวดีนั้นมีบุญมาก ดังนี้ ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนารายน์ก็มิได้แพร่งพรายให้พระอรรคมเหษีแลข้าราชการทั้งปวงทราบพระสุบิน เปนแต่รับสั่งให้มหาดเล็กไปนิมนต์พระอาจาริย์พรหมเข้ามายังพระราชวัง แล้วทรงเล่าให้ฟังจนตลอด พระอาจาริย์พรหมจึงถวายพระพรว่า นิมิตรของพระองค์นี้เปนมหามงคลวิเศษนัก พระองค์จะได้พระราชโอรสผู้มีบุญพระองค์ ๑ ซึ่งเกิดแต่นางกุสาวดี พระนารายน์จึงตรัสว่า ไฉนพระผู้เปนเจ้าจึงทำนายดังนี้ โยมได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่า จะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางนักสนม เพราะกลัวว่าจะเปนขบถอย่างพระศรีสิงห์ พระอาจาริย์พรหมจึงถวายพระพรว่า ซึ่งพระองค์จะทรงตั้งพระไทยอย่างนั้นไม่ควร ผู้ที่จะคิดขบถแล้ว ถึงจะเกิดแต่พระอรรคมเหษีก็คิด ผู้ที่จะไม่คิดขบถแล้ว ถึงจะเกิดกับผู้ใดก็ไม่คิด เพราะฉนั้นพระองค์อย่าทรงประพฤติเหมือนอย่างแต่ก่อนเลย จะเปนเวรกรรมติดตามไปในภายน่า จงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ทั่วถึงเกิด จะได้สืบราชตระกูลต่อไป ถ้าพระองค์ไม่ชุบเลี้ยงแล้ว นานไปเมืองลพบุรีก็จะเปนของผู้อื่นเสีย เมื่อพระอาจาริย์พรหมถวายพระพรดังนั้น พระนารายน์จึงตรัสว่า ที่พระคุณว่านี้ก็ชอบแล้ว แต่โยมได้ปฏิญาณเสียแล้ว ก็จำจะต้องรักษาวาจาให้มั่นคง ได้แต่จะต้องคิดผ่อนผันด้วยอุบายอย่างอื่น พระพรหมก็ถวายพระพรลากลับไปยังพระอาราม

พระนารายน์ จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าไปเฝ้าแล้วตรัสว่า บัดนี้ นางกุสาวดีสนมของเรามีครรภ์ขึ้น เราได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงลูกสนม เจ้าจงเอานางนี้ไปเลี้ยงเปนภรรยา ถ้าลูกในครรภ์นั้นเปนชายเจ้าจงว่าลูกของเจ้า ต่อเปนหญิงจึงส่งมาให้เรา แล้วพระนารายน์ก็ทรงมอบนางกุสาวดีให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ๆ ก็พาไปเลี้ยงไว้ ครั้นถ้วนกำหนดแล้วนางกุสาวดีก็คลอดโอรสเปนชาย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็นำความกราบบังคมทูลพระนารายน์ พระนารายน์จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่กุมารนั้นเปนอันมาก

ครั้นกุมารนั้นอายุได้ ๗ ขวบ เจ้าพระยาสุรสีห์พาเข้าเฝ้าพระนารายน์ ๆ ทอดพระเนตรเห็นพระโอรสมีรูปโฉมงดงาม มีลักษณกล้าหาญก็ทรงพระเมตตาเปนอันมาก จึงพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาสีห์สูจักร (คือศรีสุรศักดิ์) พระราชทานเครื่องยศอย่างทำนองเจ้า สูงกว่าข้าราชการอื่น ๆ ให้มีตำแหน่งเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ได้เปนนิตย์

เมื่อเจ้าพระยาสีห์สูจักรมีอายุเจริญรุ่นหนุ่มแล้ว ได้รักใคร่กันกับบุตรสาวเจ้าพระยาราชวังสัน คอยหาโอกาศที่จะร่วมรักลักพาอยู่เสมอ เจ้าพระยาราชวังสันก็ทราบ ว่าเจ้าพระยาสีห์สูจักรรักใคร่บุตรสาวของตนคอยหาโอกาศที่จะร่วมรักลักพาอยู่ วันหนึ่งเจ้าพระยาราชวังสันพบกับเจ้าพระยาสีห์สูจักรในพระราชวังจึงพูดว่า สิ่งใดที่ท่านคิดเกี่ยวข้องกับเรา ๆ ทราบแล้ว ถ้าท่านอาจจะคิดโดยลับๆ ไม่ให้เราแลใครๆ รู้ได้ เรายอมอนุญาตให้ เจ้าพระยาสีห์สูจักรจึงตอบว่า ท่านพูดกับเราดังนี้ยังจะจริงหรือ เจ้าพระยาราชวังสันก็ตอบว่าจริง เจ้าพระยาสีห์สูจักรจึงว่า ถ้ากระนั้นเราจะพยายามให้สำเร็จความปราร์ถนาในคืนวันนี้ พูดกันแล้วต่างคนก็หลีกไป ในวันนั้นเจ้าพระยาราชวังสัน จึงสั่งให้ค่าทาษของตนรักษาโดยกวดขัน แลให้มีมโหรศพการรื่นเริงเปนเพื่อนรักษาด้วย ครั้นดึกประมาณ ๒ ยามเศษ เจ้าพระยาสีห์สูจักรจึงเอาทรายมาเศกเป่าแล้วสาดเข้าไปในพวกที่รักษา พวกที่รักษาถูกทรายสกดของเจ้าพระยาสีห์สูจักรก็เคลิ้มหลับไปสิ้น เจ้าพระยาสีห์สูจักรจึงลอบเข้าไปหาบุตรสาวเจ้าพระยาราชวังสัน ได้ร่วมรักเปนสามีภรรยากันในคืนวันนั้น แล้วจึงขอแหวนของนางนั้นสอดนิ้วมาวง ๑ ครั้นถึงเวลาเข้าเฝ้าจึงใส่แหวนที่นางให้มานั้นไปด้วย ครั้นพบกับเจ้าพระยาราชวังสันจึงถอดแหวนออกอวด แล้วแกล้งพูดว่า แหวนวงนี้ราคาสักเท่าไร เจ้าพระยาราชวังสันเห็นแหวนก็จำได้ เข้าใจว่าเจ้าพระยาสีห์สูจักรได้ไปหาบุตรสาวของตนได้เสียกันแล้ว ก็มิได้ตอบประการใด เปนแต่พูดว่า ท่านนี้ดีจริง ดังนี้ เจ้าพระยาสีห์สูจักรก็แจ้งความตามจริง แล้วขอโทษที่ตนได้ล่วงเกินเพราะที่พูดท้าทายกันไว้ เจ้าพระยาราชวังสันเห็นว่า เจ้าพระยาสีห์สูจักรเปนคนเชี่ยวชาญในเวทมนต์ แลมีลักษณกล้าแขง เห็นว่าจะมีบุญต่อไปข้างน่า ก็เลยยกธิดาของตนให้

วันหนึ่ง เจ้าพระยาสีห์สูจักรเข้าไปเฝ้า พบเจ้าพระยาวิชาเยน ซึ่งเปนคนชาติฝรั่งเศษเข้ามาสวามิภักดิรับราชการอยู่ แลพระนารายน์โปรดปรานมาก พอเจ้าพระยาวิชาเยนก้มลงกราบถวายบังคม เจ้าพระยาสีห์สูจักร ก็แกล้งเหยียดเท้าไปถูกศีร์ษะเจ้าพระยาวิชาเยน พระนารายน์ทอดพระเนตรเห็นจึงมีรับสั่งว่า อ้ายคนนี้มันเปนเด็กไม่รู้เดียงสาอย่าถือโทษแก่มันเลย เจ้าพระยาวิชาเยนก็ทูลให้อภัย มิได้ยกโทษประการใด

เจ้าพระยาสีห์สูจักรนี้ชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้ายิ่งกว่าผู้อื่น ช้างม้าที่ใคร ๆ ฝึกหัดทรมานไม่ได้ เจ้าพระยาสีห์สูจักรฝึกหัดทรมานได้ทั้งสิ้น

วันหนึ่งพระนารายน์เสด็จประพาศป่าด้วยข้าราชการทั้งปวง เจ้าพระยาสีห์สูจักรขี่ม้าพยศนำน่า พอไปถึงพระปรางค์ (วัดมหาธาตุ) ก็เกิดลมพยุห์ใหญ่ ม้าเจ้าพระยาสีห์สูจักรตกใจกระโดดข้ามกำแพงแก้วสูงประมาณ ๖ ศอกไป พระนารายน์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงพระปริวิตกกลัวจะเปนอันตราย จึงรับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปดู อำมาตย์ผู้นั้นไปดูเห็นเจ้าพระยาสีห์สูจักรมิได้เปนอันตราย ก็กลับมากราบทูลแก่พระนารายน์ ๆ จึงรับสั่งให้ไปบอกให้มาขึ้นช้างกับพระองค์ เจ้าพระยาสีห์สูจักรก็ให้กราบทูลว่าจะฝึกหัดม้าตัวนี้ให้เรียบร้อย แล้วขี่ข้ามกำแพงกลับไปจงได้ ดังนี้ แล้วเจ้าพระยาสีห์สูจักร ก็ควบขับให้ม้านั้นโดดข้ามกำแพงออกไปอย่างเดิม มิได้เปนอันตราย ครั้นพระนารายน์เสด็จประพาศป่าแล้วก็เสด็จกลับยังพระนคร

ต่อมาพระนารายน์ทรงพระดำริห์ว่า กุมมามังเจ้าเมืองเชียงใหม่ มีราชบุตรองค์ ๑ ชื่อว่าโภริสังสา ๆ เปนคนกล้าหาญในการทำสงคราม ชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้าเปนตัน ประชาชนสรรเสิญว่าเปนคนมีบุญมาก กับได้ทรงทราบว่า พระเจ้าเชียงใหม่มีพระพุทธรูปวิเศษ ๓ พระองค์ ตามตำนานพระพุทธรูป ๓ พระองค์นั้น กล่าวไว้ดังนี้ คือ

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคย์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว พระมหาอุปคุตเถรเจ้าได้มาที่เมืองเชียงใหม่ ดำริห์จักใคร่สร้างพระพุทธรูปพระองค์ ๑ จึงตั้งพิธีบวงสรวงเชื้อเชิญเทวดาแลพระยานาคทั้งปวงมาแล้ว ขอให้เทวดาแลนาคที่มีอายุยืนทันพระพุทธองค์ นฤมิตรพระรูปสมเด็จพระผู้มีพระภาคย์ ครั้นเทวดาแลนาคนฤมิตรให้ดูแล้ว พระผู้เปนเจ้าก็เอานวโลหะทั้งปวงมาหล่อเปนพระพุทธรูป เทวดาแลนาคก็ช่วยกันทำให้พระรูปละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคย์ยังทรงพระชนม์อยู่

อีกพระองค์ ๑ ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้หล่อขึ้น แล้วเอาแก้วมณีมีอานุภาพมากฝังเปนพระเนตร ถวายพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์ ด้วยอำนาจแก้วมณีวิเศษที่ฝังเปนพระเนตรนั้น พระพุทธสิหิงค์จึงทำปาฏิหารเหาะเหินเดินอากาศได้

อีกพระองค์ ๑ ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้แกะเปนพระนาคปรกด้วยไม้จันทน์แดงทั้งแท่ง

พระนารายน์ได้ทรงทราบเกียรติยศของโภริสังสา แลพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๓ พระองค์ดังกล่าวมานี้ ก็มีพระราชประสงค์จะใคร่ทำสงคราม แลจะใคร่ได้พระพุทธปฏิมากรณ์มาไว้สักการบูชา จึงให้จัดทัพบกทัพเรือ ขบวนทัพบกนั้นดังนี้ คือ ให้ราชภัฎกับหลวงเดชคุมพลทหารเดินเท้า ๒๐,๐๐๐ ให้พระศรีศรพาดกับพระพิพัฒน์คุมพลทหารโล่ ๒๐,๐๐๐ ให้จันทราชากับหลวงสิทธิคุมพลทหารธนูน่าไม้ ๒๐,๐๐๐ ให้หลวงจักรกับหลวงฤทธิ์คุมพลทหารราบ ๒๐,๐๐๐ รวมจำนวนพล ๙๐,๐๐๐ ให้พระยาโกษาเปนแม่ทัพใหญ่

แล้วให้จัดกองทัพช้างมีจำนวนพล ๓๐๐๐ ให้ขุนพิพัฒน์คุมพลกอง ๑ ขุนนรินทร์กอง ๑ พระมนตรีกอง ๑ ราชามาตย์กอง ๑ ราชาบาลกอง ๑ พระพิเรนทรเทพกอง ๑ พระอินทรเทพกอง ๑ ขุนสัสดีกอง ๑ ราชมนูกอง ๑ ทิพเสนีกอง ๑ มหามนตรีกอง ๑ ราชวรินทร์กอง ๑ อินทรเดชกอง ๑ ขบวนช้างเหล่านี้แบ่งเปนช้างที่สำหรับทำยุทธหัตถี ๑๐๐ ช้าง สรวมเกราะตลอดกาย ช้างตัวหนึ่งๆ มีหอกผูกผ้าแดง ๒ เล่ม มีปืนใหญ่หันปลายออกข้างขวา ๑ บอก ข้างซ้าย ๑ บอก มีนายทหารแลพลทหารสรวมเกราะโพกผ้าถืออาวธประจำทั่วทุกตัวคน ขึ้นขี่ทั้งคอแลกลาง แลท้ายช้าง ให้พระยาราชภัฎเปนแม่ทัพใหญ่ แล้วให้จัดช้างทรงมีนามว่า พระบรมรัตนากาศ มีข้างบริวาร ๑๓๐๐ ช้าง

แล้วให้จัดพลม้ามีจำนวน ๘๐,๐๐๐ แยกเปน ๘ กอง ให้ราชสงกรานต์ถือพลกอง ๑ สุธรรมากอง ๑ พระยามหาเสนากอง ๑ พระพิไชยกอง ๑ พระพิพัฒน์กอง ๑ หมื่นพรหมกอง ๑ หมื่นวาสุเทพกอง ๑ ม้าตัวหนึ่งตัวหนึ่ง มีพลทหารถือทวน ๒ เล่ม ง้าว ๑ เล่ม มีดคร่ำเงิน ๒ เล่ม ให้พระยาอภัยราชาเปนแม่ทัพใหญ่

แล้วให้จัดขบวนทัพเรือดังนี้ คือ เรือพระที่นั่ง ๒ ลำ ชื่อครุธพาหะลำ ๑ สุวรรณหงส์ลำ ๑ เรือครุธพาหะนั้นมีรูปครุธปักเสวตรฉัตร ๔ คัน มีเครื่องสูงบริบูรณ์ ให้ราชามาตย์ ๑ ราชาบาล ๑ ทิพเสนา ๑ วิสูตรโยธามาตย์ ๑ แต่งตัวถือพระแสงประดับพลอยเปนองครักษ

เรือสุวรรณหงษนั้น เขียนลายรดน้ำเปนรูปหงษ ปักธงแดงมีรูปหณุมาน ให้วิเสฐนาวากับวิทินาปัจจะเปนนายท้ายซ้ายขวา ให้ราชเสนหากับราชาสนิทเต้นรำประจำเรือ เรือพระที่นั่งเหล่านี้ เจ้าพนักงานจัดฝีพายเรียบร้อยมิได้ลักลั่น ที่จะพักจะพายก็พร้อม ๆ กันมิได้ขัดจังหวะ พระมหาเทพตำรวจน่าถือพระแสงประดับพลอย คุมพวกตำรวจประจำเรือราชทิพ สำหรับน่าน่าเรือพระที่นั่ง มหามนตรีตำรวจขวาถือพระแสงประดับพลอย คุมพวกตำรวจประจำเรืออลงกฏนาวาแซงขวาเรือพระที่นั่ง ราชสุรินทรตำรวจซ้ายถือพระแสงประดับพลอย คุมพวกตำรวจประจำเรือไชยรัตน์แซงซ้ายเรือพระที่นั่งอภัยสุรินทร์ ตำรวจหลังถือพระแสงประดับพลอย คุมพวกตำรวจประจำเรือสูกกาญจนพิมาน สำหรับตามเรือพระที่นั่ง

รายชื่อเรือที่ตามเสด็จนั้นดังนี้ คือ

เรือสุรสีห์พิมานฝ่ายขวา เรือพิมานไชยราชฝ่ายซ้าย เรือบัลลังก์รัตน์ฝ่ายขวา เรือไชยสวัสดิ์ฝ่ายซ้าย เรือไชยรัตนพิมานฝ่ายขวา เรือนาคไชยฝ่ายซ้าย เรือนาควาสุกรืฝ่ายขวา เรือสีหนาทฝ่ายซ้าย เรือสีหาสนนาวาฝ่ายขวา เรือมงคลมหรณพฝ่ายซ้าย เรือมังกรบรรพตฝ่ายขวา เรือนรสีห์วิสุทธ์ฝ่ายซ้าย เรือเสือสินธุฝ่ายขวา เรือนรสิงห์ฝ่ายซ้าย เรือโตมหรณพฝ่ายขวา เรือโตสรสินธุฝ่ายซ้าย เรือสุวรรณหงษฝ่ายขวา เรือกาญจนรัตน์ฝ่ายซ้าย เรือนพเซตฝ่ายขวา เรือสารพิมานฝ่ายซ้าย เรือเอกไชยฝ่ายขวา เรือเหล่านี้มีศีร์ษะแลท้ายเปนรูปราชสีห์ รูปนรสิงห์ รูปช้าง รูปม้า รูปนาคเปนต้น ล้วนลงรักปิดทองประดับกระจกงดงาม มีเสวตรฉัตร ๙ ชั้นบ้าง ๗ ชั้นบ้าง พร้อมด้วยเครื่องสูงทั้งปวง

แล้วให้จัดเรือรบสำหรับนำทัพหลวง ดังนี้

ให้โยธาสุรสาตร์กับโยธาสุรสีห์องครักษถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสือสักลาดเขียวขลิบทอง พร้อมด้วยศาสตราวุธ ๒๐๐๐ คน กอง ๑

ให้โยธานรยุทธ์กับโยธานรนยังค์องครักษถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสื้อสักหลาดเหลืองขลิบเงิน พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธ ๒๐๐๐ คน กอง ๑

ให้โยธาสังหังองครักษถือพระแสงประดับพลอย คุมพลทหารสรวมเสื้อสักลาดสีม่วงขลิบเงิน พร้อมด้วยเครื่องอาวุธ ๒๐๐๐ คน กอง ๑

แล้วให้จัดเรือรบสำหรับตามทัพหลวง ดังนี้

ให้ศรีโยธารักษ์กับสิทธิโยธาหังองครักษ์ถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสื้อสักหลาดแดงขลิบทอง พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธ ๒๐๐๐ คน กอง ๑

ให้สูรสีห์กับกรีธาธุชองครักษถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสื้อสักลาดดำขลิบเงิน ถือธนู ๒๐๐๐ คน กอง ๑

ให้สุดเทศวิกายไชยกรรมกับทารสรติองครักษถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสื้อสักลาดสีน้ำเงินขลิบเงิน ถือง้าว ๒๐๐๐ คน กอง ๑

ให้สิทธิกับฤทธิองครักษถือพระแสงทอง คุมพลทหารสรวมเสื้อสักลาดสีไข่กาขลิบเงิน ถือทวน ๒๐๐๐ คน กอง ๑

นายทัพนายกองซึ่งประจำเรือรบนำเสด็จแลตามเสด็จเหล่านี้ แต่งตัวเต็มยศทั้งสิ้น เรือรบลำหนึ่งลำหนึ่งปักธงสีต่างๆ อย่างสีเสื้อพลทหารลำละ ๓ คัน ๆ มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอกชนิดเล็ก ๒ บอกทุกลำ

ให้อรรคนิไสยแต่งตัวถือพระแสงประดับพลอย ประจำกองเรือรบล่วงหน้า คุมพลทหารสวมเสื้อสักลาดสีจำปา ถือโล่ ๒๐๐๐ คน ในเรือนั้นปักธงสีจำปา ๓ ต้น มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก ชนิดเล็ก ๒ บอก

ให้สิทธิแลเดชแต่งตัวเปนแม่ทัพ คุมเรือรบปักธงแพรเหลืองลำละ ๓ คันๆ๑๐๐๐ ลำมีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอกชนิดเล็ก ๒ บอกทุกๆ ลำ บรรจุทหารถือหอกใบเข้าคร่ำเงินแลทอง เปนทัพหลัง

ให้พระยาชนังถือพระแสงสำฤทธิ์เปนแม่ทัพน่า คุมเรือราชสีห์ ปักธงสีตากุ้ง ๓ คัน มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก ชนิดเล็ก ๒ บอก บรรจุทหารถือเครื่องศาสตราวุธเปนอันมาก

ให้พระยาธิเบศร์จักรพรรดิแต่งตัวถือพระแสงโมราเปนแม่ทัพใหญ่ ทัพหลัง คุมเรือคชสีห์ปักธงสีมันกุ้ง ๓ คัน มีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก ชนิดเล็ก ๒ บอก บรรจุทหารถือเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก

ให้เจ้าพระยาพระคลังกับเจ้าพระยากลาโหมแต่งตัวถือพระแสงโมรา คุมเรือไชยเพ็ชร์กับเรือมีรูปลายรดน้ำปักธงแดงสีมันกุ้ง ๗ คัน

แลบันดาข้าราชการทุกกรมทุกกระทรวงที่ตามเสด็จนั้น ล้วนแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ เมื่อจัดกระบวนดังกล่าวมานี้สำเร็จแล้ว ให้จัดเรือบรรทุกกระสุนดินดำเรือบรรทุกเครื่องสาตราวุธแลสะเบียงอาหาร ที่สุดจนกระทั่งเรือสำหรับบรรทุกศพพร้อมทุกประการ เมื่อพระนารายณให้จัดทัพเรือเสร็จแล้ว ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องไชยสามลา เคลื่อนพยุหยาตราพร้อมทั้งทัพบกทัพเรือมีจำนวนพลถึง ๒๕๐๐๐๐ เต็มไปในทางน้ำแลทางบก เสด็จยกออกจากกรุงคัรือยุทธยา

เมื่อพระนารายน์ยกพลออกจากกรุงศรีอยุทธยานั้น เสด็จประทับแรมตามระยะทางโดยลำดับเมืองแลตำบลดังนี้ คือ

๑. เมืองวิเศษไชยชาญ ๒. เมืองลพบุรี ๓. เมืองนครสวรรค์ ๔. เมืองพิศณุโลก ๕. เมืองพิจิตร ๖. เมืองสรรคบุรี ๗. เมืองศุโขไทย ๘. เมืองสวรรคโลก ๙. เมืองพิไชย ๑๐. เมืองพิจิตรพากา ๑๑. เมืองสิงคบุรี ๑๒. เมืองอินทบุรี ๑๓. เมืองพรหมบุรี ๑๔. เมืองไชยนาท ๑๕ เมืองมโนรมย์ ๑๖. เมืองทุ่งยั้ง ๑๗. เมืองวังโพ ๑๘. เมืองลับแล ๑๙. เมืองนครสง ๒๐. เมืองนครไทย ๒๑. เมืองตุกลงบุรี ๒๒. เมืองแปบ ๒๓. เมืองแถ ๒๔. เมืองสระกำ ๒๕. เมืองพาด ๒๖. เมืองวัดบุตร ๒๗. เมืองเชียงเงิน ๒๘. เมืองเชียงทอง ๒๙. เมืองระแหง ๓๐. เมืองอุไทยธานี ๓๑. เมืองเถิน ๓๒ เมืองลครเต็ม ๓๓. เมืองแพร่ ๓๔ เมืองละแวก รวม ๒๕ ราตรี ลุถึงตำบลบ้านวังฉันแขวงเมืองเชียงใหม่ จึงรับสั่งให้ตั้งค่ายหลวงลงที่ตำบลบ้านวังฉัน แล้วให้ทำพิธีตัดไม้ข่มนามเสร็จแล้ว ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ์ จึงให้เจ้าพระยาราชวังสันเปนแม่ทัพ ให้พระยาสีหราชเดโชกับเจ้าพระยาโกษาธิบดีเปนปีกซ้ายปีกขวา แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ทราบว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกกองทัพมาดังนั้น ก็จัดขบวนทัพใหญ่ยกออกมาตั้งรับนอกพระนคร ครั้น ๒ ทัพประทะกันแล้วได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พลปืนต่อปืนก็เข้ารบกัน พลช้างต่อช้าง พลม้าต่อม้า พลทวนต่อทวน พลดาบต่อดาบก็เข้ารบกัน ควันปืนกลุ้มตลบไป ทั้งอากาศ ไม่เห็นแสงตวัน ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเปนอันมาก

ขณะนั้นพระยาสีหราชเดโชก็ขี่ม้ารำทวนออกน่าทัพ แล้วร้องประกาศไปว่าเราชื่อพระยาสีหราชเดโช ใครมีฝีมือดีจงออกมารบกับเรา พวกลาวก็พากันนิ่งอยู่สิ้นมิได้มีใครขันสู้ พระยาสีหราชเด่โชเห็นลาวนิ่งอยู่ไม่ออกมาสู้รบดังนั้น จึงถือดาบขึ้นหลังม้ากลั้นใจหายตัวควบไปควบมาให้ลาวแลเห็นแต่ดาบ กับได้ยินแต่เสียงมิได้เห็นตัว พวกลาวเห็นดังนั้นก็สดุ้งตกใจกลัวพากันแตกหนีไม่เปนขบวน พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้รวบรวมผู้คนที่แตกกระจัดกระจายได้แล้ว ก็ล่าทัพกลับเข้าพระนคร ให้ปิดประตูลงเขื่อนแน่นหนา ขับพลขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินเปนสามารถ ให้ขั้วทรายหลอมตะกั่วเคี่ยวชันน้ำมันยาง สำหรับเทสาดเมื่อข้าศึกเข้าตีปล้นกำแพง ฝ่ายนายทัพนายกองข้างกรุงศรีอยุทธยาเห็นลาวแตกกระจัดกระจายไปดังนั้น ก็ขับพลเข้าล้อมเมืองไว้ทั้ง ๔ ด้าน

ตกเวลากลางคืนพวกลาวพากันตีฆ้องขานยาม เสียงฆ้องได้ยินไปถึงพระกรรณพระนารายน์ ๆ จึงตรัสถามเจ้าพระยาโกษาธิบดีว่า เสียงฆ้องที่ไหน เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า เสียงฆ้องขานยามในเมืองเชียงใหม่ พระนารายน์จึงตรัสว่า เหตุใดพวกเจ้าจึงตั้งค่ายใกล้ชิดกับเมืองเชียงใหม่ดังนี้เล่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า ระยะทางตั้งแต่เมืองเชียงใหม่มาถึงค่ายหลวงนี้ห่างกันถึงโยชน์ ๑ พระนารายน์จึงรับสั่งให้ไปวัดชัณสูตร์ดูก็ห่างโยชน์ ๑ จริงดังเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูล จึงรับสั่งว่า ทางไกลกันถึงโยชน์ ๑ เหตุใดจึงได้ยินเสียงฆ้องยามดังนี้เล่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า ซึ่งได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้ เปนนิมิตรดีที่พระองค์จะตีได้เมืองเชียงใหม่ แลฆ้องนั้นจะมาสู่โพธิสมภารของพระองค์ ได้ทรงฟังก็ทรงยินดีเปนอันมาก จึงรับสั่งว่าใครจะอาสาไปเอาฆ้องนั้นได้บ้าง ในขณะนั้นพวกที่ทำผิดล่วงพระราชกำหนดกฎหมายต้องโทษจำขังอยู่ ๒๐ คน จึงรับอาสาทำทัณฑ์บนถวายว่าจะไปเอาฆ้องมาถวายให้ได้ ถ้าไม่ได้ให้ประหารชีวิตรเสีย พระนารายน์ก็โปรดให้นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นพ้นโทษ นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นก็เตรียมเครื่องสาตราวุธครบมือแล้ว พากันไปถึงกำแพงเมืองเชียงใหม่เศกเวทมนต์สกดพวกรักษาน่าที่เชิงเทินแล้ว ลอบเข้าไปลักเอาฆ้องใหญ่นั้นได้ นำมาถวายพระนารายน์ ๆ ก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นักโทษทั้ง ๒๐ คนเปนอันมาก แล้วรับสั่งให้ลงรักปิดทองฆ้องนั้นเปนอันดี

อยู่มา ๒- ๓ วันพระนารายน์ไม่เห็นกองทัพเชียงใหม่ยกออกมารบ จึงรับสั่งปฤกษากับข้าราชการทั้งปวงว่า บัดนี้พวกเชียงใหม่ตั้งรักษาเมืองมั่นไว้มิได้ยกทัพออกมารบให้เห็นแพ้แลชนะ แลไม่นำเครื่องบรรณาการมาถวายตามธรรมเนียม ห่านทั้งปวงจะคิดประการใด ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า ควรจะมีพระราชสาสน์เข้าไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ ให้ออกมารบกันตามธรรมเนียม มิฉนั้นให้ออกมาอ่อนน้อมเสียโดยดี พระนารายน์ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงให้อาลักษณจาฤกพระราชสาสน์มีใจความว่า

พระราชโองการ มาณพระบัณฑูร สูรสิงหนาท ราโชวาทอมรฤทธิ มโหฬาราดิเรก อเนกบุญญาธิบดินทร หริหรินทรธาดา อดุลยคุณาธิบดี ตรีโลกเชษฐ์ ธิเบศวรดิลก ศรีปทุมสุริยวงษ์ องค์เอกาทศรถ จักรพรรดิราชา ชยันตมหาสมมติวงษ์ พระเจ้ากรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมยราช ประสาสน์สุนทรธรรมแถลง มาถึงพระเจ้าเชียงใหม่ ด้วยเรายกพยุหโยธามาครั้งนี้ มิได้มีจิตรยินดีที่จะชิงเอาราชสมบัติบ้านเมืองแก้วแหวนเงินทองผู้คนช้างม้าของท่านโดยโลภเจตนา เราจะมีจิตรศรัทธาเลื่อมใส จะใคร่เชิญพระพุทธปฏิมากร พระพุทธสิหิงค์กับพระพุทธปฏิมากรซึ่งแกะด้วยไม้จันทน์แดงทั้ง ๒ พระองค์ ขอให้พระเจ้าเชียงใหม่ส่งพระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นั้นออกไป เมืองเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุทธยาก็จะได้เปนทองแผ่นเดียวกัน มิฉนั้นให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกพลโยธาหาญ ออกไปทำยุทธนาการตามราชประเพณี โดยวิธียุทธสงครามช้างม้าหรือขบวนยุทธ์อย่างไรก็ตามที ครั้นให้จาฤกพระราชสาสน์แล้ว ก็ให้ทูตนำไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึงให้อาลักษณ์จาฤกพระราชสาสน์ตอบ มีใจความว่า มหามหิศรราชภูมิบาล สุรสุรินทร ปรมินทราทิตย ขัติยมหาสาล ผู้ผ่านพิภพเชียงใหม่ ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ด้วยพระไอยกาเราได้ผ่านพิภพศรีสัตนาคนหุต พระบิดาเราก็ได้ผ่านพิภพจันทบุรี ตัวเรานี้ก็ได้ผ่านพิภพเชียงใหม่ พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นี้ไซ้ ได้ด้วยบุญบารมีของ เรา ๆ ก็มีจิตรเลื่อมใสทำสักการบูชาอยู่เปนนิตย์ ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกพยุหโยธามาทำสงคราม ให้ได้ความเดือดร้อนแก่สมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร เพื่อจะใคร่ได้พระปฏิมากรนั้นเราไม่ยอมให้แล้ว เรายอมถวายชีวิตรแก่พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ เมื่อจาฤกเสร็จแล้วให้ทูตนำไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระนารายน์ทรงทราบราชสาสน์ของพระเจ้าเชียงใหม่ดังนั้น จึงทรงจาฤกพระราชสาสน์ด้วยพระองค์เองมีใจความว่า กิจของสมณชีพราหมณ์ก็คือพยายามตั้งหน้ารักษาศีลเจริญภาวนา กิจของพระมหากระษัตริย์ก็มีการทำสงครามเปนราชประเพณี ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่จะมานั่งงอมืองอเท้าอยู่ฉนี้ ดูกิริยาเหมือนสัตรีมีชาติอันขลาด ถ้าไม่ยอมให้พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์แล้ว จงรักษาพระนครไว้ให้มั่นคง เราจะเข้าปล้นหักเอาให้ได้ ทรงจาฤกแล้วให้ทูตเชียงใหม่นำไปถวายเจ้านายของตน พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ตอบประการใด เปนแต่ให้รักษาพระนครมั่นไว้

พระยาสีหราชเดโชจึงทูลรับอาสาว่าจะตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ แล้วพระยาสีหราชเดโชจึงขึ้นม้าถือทวนนำหน้าทหารทั้งปวงเข้าไปใกล้กำแพงเมืองเชียงใหม่แล้วร้องด้วยเสียงอันดังว่า กูชื่อพระยาสีหราชเดโช เปนทหารเสือของพระนารายน์ ใครมีฝีมือดีจงออกมารบกับกู แล้วพระยาสีหราชเดโชก็ขับพลเข้าประชิดกำแพงเมือง พวกพลทหารลาวที่รักษาน่าที่เชิงเทิน ก็พุ่งสาตราวุธแหลนหลาวระดมปืนลงมาดังห่าฝน เทสาดตะกั่วทรายชันน้ำมันยางอันขั้วเคี่ยวไว้ลงมาเปนอันมาก พลทหารไทยก็มิได้ย่อท้อถอยหลัง พากันเข้าขุดทำลายกำแพงเมืองเปนสามารถ พระยาสีหราชเดโชก็ถือดาบปืนกำแพงเมืองเข้าไปได้ ไล่ฆ่าฟันพวกรักษาน่าที่เชิงเทินแตกกระจัดกระจาย พลทหารก็ทำลายกำแพงเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเปนอันมาก พระโพธิสารเจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกอาวุธพิราไลยในที่รบ พวกทหารไทยจับได้นางทิพลีลามเหษีพระเจ้าเชียงใหม่ กับเจ้าวงษ์โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ แลพอริสังสาอำมาตย์ แลขุนนางข้าราชการทั้งปวงได้เปนอันมาก เก็บริบแก้วแหวนเงินทองได้เปนอันมากแล้วนำมาถวายพระนารายน์ ครั้นพระนารายน์มีไชยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว จึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่พลับพลา ให้มีการมโหรศพสมโภชเปนอันมาก แล้วตรัสถามพระยาแสนหลวงอำมาตย์ของพระเจ้าเชียงใหม่ว่า เราได้ทราบข่าวว่า พระพุทธสิหิงค์นี้มีอานุภาพเหาะเหิรเดิรอากาศได้จริงหรือ พระยาแสนหลวงกราบทูลว่า แต่เดิมเมื่อพระพุทธสิหิงค์ย้งประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรนั้นเหาะเหิรเดิรอากาศได้จริง แต่มีคนทุจริตมาควักเอาแก้วมณีที่ฝังเปนพระเนตรไปเสีย แต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ก็เหาะเหิรเดิรอากาศไม่ได้ ต่อมาเจ้าเมืองสรรคบุรีเชิญไปจากเมืองปาตลีบุตร ไปประดิษฐานที่เมืองสรรคบุรี ต่อนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ต่อไปนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่นี้

เมื่อพระนารายน์จะเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ จึงตั้งเจ้าวงษ์ซึ่งเปนโอรสพระเจ้าโพธิสารเปนพระเจ้าเชียงใหม่ พระมเหษีแลขุนนางข้าราชการทั้งปวงนั้น ก็ให้คงอยู่เมืองเชียงใหม่ตามเดิม แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ลงประดิษฐานณเรือเอกไชย เสด็จยกทัพกลับยังพระนครศรีอยุทธยา เมื่อเรือเอกไชยมาถึงพระฉนวนน้ำแล้ว ทรงประกาศให้ขุนนางข้าราชการแลราษฎรทั้งปวง เล่นมโหรศพสักการบูชา หนทางที่จะเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ชื้นนั้นก็ให้โปรยทรายปักราชวัตรผูกต้นมะพร้าวต้นกล้วยต้นอ้อยเปนต้น แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศ กั้นพระกลดขลิบทอง ๔ คัน เสวตรฉัตร ๔ คัน เชิญไปประดิษฐานไว้ที่หอพระในพระราชวัง แล้วให้ทำการสมโภชเปนอันมาก ในขณนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ทำปาฏิหารต่าง ๆ แลฆ้องไชยซึ่งได้มาแต่เมืองเชียงใหม่นั้น พระนารายน์ก็ให้นำไปไว้สำหรับตีขานยามในพระราชวัง พวกเมืองเชียงใหม่ซึ่งลงมากับขบวนทัพหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับคืนไปยังเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น แต่นั้นมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็นำเครื่องบรรณาการมาถวายเปนนิตย์มิได้ขาด

แลพระนารายน์นี้ได้ทรงศึกษาวิทยาคมในสำนักพระอาจารย์พรหม ๆ นี้มีอายุมากเปนผู้เฒ่าใบหูทั้ง ๒ ข้างยานถึงบ่า เปนผู้ชำนาญในทางเวทมนต์มีอานุภาพเหาะเหิรเดิรอากาศได้ เพราะฉนั้นพระนารายน์จึงมีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิมาก วัน ๑ เสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลดแล้วทรงเอาพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์ ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึงรับสั่งให้น้ำขึ้นแล้วทรงพระแสงฟันลงอีก น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระนารายน์มีพระราชประสงค์อย่างไรก็เปนไปตามทั้งสิ้น พระเกียรติยศของพระนารายน์นั้นแผ่ไปทั่วทุกทิศ มีชาวต่างประเทศ เมืองแขกอรวง เมืองโครส่าน ฝรั่งเมืองฝรั่งเศส นำเครื่องบรรณาการดอกไม้เงินทองมาถวายขอเปนพระราชไมตรี เมื่อพระนารายน์เสวยราชย์พระชนม์ไต้ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๕ พรรษา ครั้นพระชนม์ไต้ ๔๐ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต พระนารายน์สมภพวันอังคาร

เมื่อพระนารายน์เสด็จสวรรคตแล้ว ข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าพระ นารายน์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบพระวงษ์ ปฤกษากันว่าควรจะยกราชสมบัติถวายแก่ใคร พวกที่รู้ประวัติเจ้าพระยาศรีสรศักดิจึงพูดขึ้นว่า พระราชโอรสของพระนารายน์มีอยู่ คือเจ้าพระยาศรีสรศักดิบุตรนางกุสาวดี ที่พระราชทานไปแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ด้วยพระนารายน์ได้ตั้งสัตย็ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางนักสนม ครั้นนางกุสาวดีมีครรภ์ขึ้น จึงแกล้งยกย้ายถ่ายเทไปเสีย เพราะฉนั้นควรจะยกสมบัติให้แก่เจ้าพระยาศรีสรศักดิ เมื่อปฤกษาเห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้วจึงเชิญเจ้าพระยาศรีสรศักดิขึ้นครองราชสมบัติ แต่เจ้าพระยาศรีสรศักดิไม่รับ ว่าบิดาของเรายังมีอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชิญบิดาของเราขึ้นครองราชสมบัติเถิด ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็เชิญเจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาสุรสีห์มีพระนามเปน ๒ อย่าง ๆ ๑ ว่า สมเด็จพระธาดาธิบดี พระนาม ๑ ว่าพระราเมศวร ๆ ทรงตั้งนางอุปละเทวีเปนพระมเหษีฝ่ายขวา ทรงตั้งพระสุดาเทวีราชธิดาพระนารายน์เปนมเหษีฝ่ายซ้าย พระสุดาเทวีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าพระขวัญ ในเวลาที่พระขวัญประสูตร์จากครรภ์พระมารดานั้น มีเหตุเปนนิมิตรต่างๆ เปนต้นว่าแผ่นดินไหว ประชาชนพากันเลื่องลือว่าผู้มีบุญมาเกิด

แลพระราเมศวรนั้นไม่ใคร่พอพระไทยในทางยศศักดิ์ แม้จะเสด็จประพาศที่ใดๆ ก็ไม่มีขบวนแห่แหน ให้แต่องครักษตามเสด็จเล็กน้อยเท่านั้น พอพระไทยที่จะบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุขอย่างเดียว จึงทรงตั้งเจ้าพระยาศรีสรศักดิ์เปนพระมหาอุปราช ดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระองค์ ในเวลานั้นพระมหาอุปราชถืออาญาสิทธิ สำเร็จราชการบ้านเมืองต่างพระองค์พระราเมศวรทั้งสิ้น พระราเมศวรให้สร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ วัดบุรบาริมวัด ๑ วัดวัตนาปราสาทวัด ๑ วัดบรมราชาสัตย์วัด ๑ วัดชังคะยีวัด ๑ แล้วปฏิสังขรณ์วัดสุมังคลารามวัด ๑ เมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์พระชนม์ได้ ๕๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๔พรรษา ครั้นพระชนม์ ได้ ๖๙ พรรษาก็เสด็จสวรรคต พระราเมศวรสมภพวันศุกร์

ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระมหาอุปราชขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อณวัน ๗ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๖๓ ในวันเมื่อทำการราชาภิเศกนั้นเกิดมหัศจรรย์มีแสงสว่างทั่วไปทั้งพระราชวัง ข้าราชการทั้งปวงถือเอานิมิตรนั้นเปนเหตุ ถวายพระนามว่า พระเจ้าสุเยนทราธิบดี ภายหลังปรากฎพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า นรามรินทร์ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี มีพระมเหษีทรงพระนามว่า พระพันปีหลวง

ครั้นต่อมาพระขวัญราชโอรสพระราเมศวรมีพระชนม์ได้ ๑๔ ปี คิดร้ายต่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ตั้งซ่องสุมผู้คนไว้เปนอันมาก กิติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ จึงรับสั่งให้เชิญพระขวัญเข้ามาเฝ้าในพระราชวัง แล้วรับสั่งถามว่า เจ้าตั้งซ่องสุมผู้คนจะคิดร้ายต่อเราจริงหรือ พระขวัญรับว่าการที่ตั้งซ่องสุมผู้คนนั้นจริง แต่ไม่ได้ประสงค์จะทำร้ายต่อพระองค์ ประสงค์จะป้องกันบ้านเมือง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงพระราชดำริห์เห็นอาการพิรุธ จึงทรงปฤกษากับข้าราชการทั้งปวง ๆ จึงยกบทพระไอยการขึ้นพิพากษาว่า ผู้ที่ตั้งซ่องสุมผู้คนจะคิดประทุษฐร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ชอบให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็รับสั่งให้เอาตัวพระขวัญไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี

พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระราชโอรสด้วยพระมเหษีใหญ่ ๓ องค์ องค์ที่ ๑ พระนาม สุรินทกุมาร องค์ที่ ๒ พระนามวรราชกุมาร องค์ที่ ๓ พระนามว่า อนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก วัน ๑ รับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป ที่มีกำลังน้อยจมตายบ้างก็มี กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น

แลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีราชบุตรอันเกิดด้วยพระสนมอีก ๓ พระองค์นามว่า เจ้ากุมารอินทร์องค์ ๑ เจ้ากิ่งองค์ ๑ เจ้าติงองค์ ๑

ครั้นต่อมาพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีให้สร้างมณฑปพระพุทธบาทมียอดสูง ๒๕ ศอก หุ้มทองแดงลงรักปิดทอง แล้วให้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลโพธิช้างล้ม ๒ วัด พระราชทานนามว่า พระอารามบรมกระษัตริย์วัด ๑ ทุพิยารามวัด ๑ ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์ ๑ ลงรักปิดทองให้งดงาม พระราชทานนามว่า สุขวัญโพธิเพ็ชร์เจดีย์ แล้วให้เอาโลหะทั้ง ๕ มาสร้างพระปฏิมากรองค์ ๑ สูง ๑๖ ศอก พระราชทานนามว่า สยัมภูทุตกามาลี

ในปีนั้นเจ้าเมืองกาญจนบุรีจับได้ช้างเผือกพังช้าง ๑ ช้างเผือกพลายช้าง ๑ นำมาถวาย จึงพระราชทานนามช้างเผือกพังว่า อินทไอยรา พระราชทานนามช้างเผือกพลายว่า บรมจักรบุปผาทันต์

พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิ์ ชำนาญในทางเวทมนต์กายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาศฟังกิจศุขทุกข์ของราษฎร แลทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนต์ให้เปนมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบใครมีเวทมนต์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เปนอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เปนข้าราชการ ผูใดที่โอ่อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก เต่าปลามัจฉาชาติในน้ำแต่พอแลเห็นเงาก็ยิงถูก แลทรงชำนาญในทางโหราสาตร รู้คำณวนฤกษ์ยามชตาบ้านเมือง ได้ทรงพยากรณ์กาลอนาคตเปนพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ว่า น้ำในแม่น้ำแลคลองทั้งปวงจะแดงเปนโลหิต เมฆแลท้องฟ้าจะแดงเปนแสงไฟ แผ่นดินจะไหวโดยมาก ยักษ์แลผีป่าจะเข้าเมือง เสื้อเมืองจะหลีกเลี่ยง ฤดูหนาวจะเปนฤดูร้อน โรคไภยจะเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ทั้งปวง โอชาว่านยาแลผลไม้จะถอยรศ เทพยดาที่รักษาพระสาสนาจะรักษาแต่คนพาล พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ มิตรจะกลับเปนสัตรู เมียจะคิดทรยศต่อผัว คนต่ำตระทูลจะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย ศิษย์จะสู้ครู พวกพาลจะมีอำนาจ พวกปราชญ์จะตกต่ำ น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะลอย ผู้ดีจะเดิรตรอก ขี้ครอกจะเดิรถนน มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย จะเกิดเข้ายากหมากแพง ฝูงมนุษย์จะอดหยาก ผีแลเปรตจะปนอยู่กับคน สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจ จะเกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุม ที่ลุ่มจะกลับดอนที่ดอนจะกลับลุ่ม พระพุทธสาสนาจะเศร้าหมอง คนที่สนุกเฮฮาจะได้ครองสมบัติ คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเปนเจ้านาย ดังนี้

อยู่มามีบัณฑิตย์คน ๑ ชื่ออ้ายธรรมเถียรพึ่งศึกออกจากพระสำแดงตัวเปนผู้วิเศษ โกหกว่าตัวเปนเจ้าพระขวัญ ซึ่งพระสุริเยนทราธิบดีให้เอาตัวไปสำเร็จโทษเสีย ว่ายังไม่สิ้นพระชนม์ เทวดาพาไปเลี้ยงไว้ อ้ายธรรมเถียรแซ่งแต่งตัวทำท่าทางเหมือนพระขวัญ ล่อลวงให้คนเชื่อถือเปนอันมาก ครั้นมีผู้นับถือมากขึ้น ก็ตั้งเกลี้ยกล่อมได้สมัคพรรคพวกประมาณ ๒๐๐๐ เศษ ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธจะยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา เมื่อมาถึงเมืองนครราชสีมา หลวงเทพราชาผู้ว่าราชการเมืองก็เข้าเปนสมัคพรรคพวกกับอ้ายธรรมเถียร จึงเอาช้างทรงพระบรมรัตนากาศมาให้อ้ายธรรมเถียร ๆ ก็ตั้งหลวงเทพราชาให้เปนอำมาตย์ของตนแล้ว ก็ขึ้นขี่ช้างกั้นเสวตรฉัตร์คุมพรรคพวกประมาณ ๒๐๐๐ เศษ พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธยกเข้ามาทางบ้านเนินกระทุ่ม เกลี้ยกล่อมผู้คนตลอดมา

กิติศัพท์ที่อ้ายธรรมเถียรยกทัพเข้ามานั้นทราบไปถึงกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจึงรับสั่งห้ามมิให้ราษฎรทั้งปวงเอิกเกริกวุ่นวายให้สงบอยู่ ครั้นอ้ายธรรมเถียรยกเข้ามาถึงคลองคูพระนคร ก็ขึ้นขี่ช้างข้ามมาทางสพานคูนั้น พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็ให้ออกสู้รบ ทรงพระแสงปืนไปประทับอยู่ที่ป้อมมหาไชยบนเชิงเทินกำแพง พออ้ายธรรมเถียรมาถึงกลางสพาน ก็ทรงยิงด้วยพระแสงปืน ถูกอกอ้ายธรรมเถียร ๆ ตกจากหลังช้างตายอยู่ที่สพานนั้น แล้วพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็ให้จับพวกที่เปนหัวหน้า แลหลวงเทพราชาไปประหารชีวิตรเสีย นอกจากนั้นมิได้เอาโทษให้ปล่อยไปทั้งสิ้น

พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาด ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุข มิได้มีพระไทยยินดีที่จะทำศึกสงครามให้ได้ความลำบากแก่ไพร่บ้านพลเมือง มีแต่ทรงพระอุสาหะบำเพ็ญพระราชกุศล จนพระเกียรติยศเกียรติคุณปรากฎไปในนานาประเทศทั้งปวง

พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีบุญญาภิสมภารแลพระเดชานุภาพมาก จึงจัดเครื่องราชบรรณาการแลพระราชธิดาซึ่งมีพระชนมพรรษาได้ ๑๕ ปี ให้ราชทูตถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ก็ให้จัดเครื่องราชบรรณาการแลทรงแสดงความยินดีตอบแทนตามราชประเพณี แล้วโปรดให้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเปนพระมเหษีฝ่ายซ้าย ให้สร้างตำหนักให้อยู่ใหม่ ชนทั้งหลายจึงพากันเรียกพระมเหษีฝ่ายซ้ายว่า เจ้าตำหนักใหม่ บันดาข้าราชการซึ่งตามเสด็จพระมเหษีฝ่ายซ้ายมานั้น โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านมะม่วงหวาน

ในรัชกาลนั้นมีชายคน ๑ ชื่อว่า ศรีปราชญ์ ฉลาดในทางโหราสาตร์ แลพระไตรปิฎก ชำนาญในทางแต่งกาพย์โคลงบทกลอนทั้งปวงด้วย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีพอพระไทยในทางโหราสาตร์ นัติสาตร์ พระไตรปิฎก กาพย์โคลง บทกลอน ทรงทราบว่าศรีปราชญ์เปนคนฉลาดในทางนั้น ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ ศรีปราชญ์แต่งกาพย์โคลงบทกลอนต่าง ๆ ถวาย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดพระราชทานรางวัลเนือง ๆ

อยู่มาศรีปราชญ์ลอบมีเพลงยาวเข้าไปถึงนางสนมในพระราชวัง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีจับได้ก็ทรงพระพิโรธ แต่มิได้ให้ลงพระราชอาญาอย่างร้ายแรง เปนแต่ให้เนียรเทศไปอยู่เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช ด้วยทรงเห็นว่าศรีปราชญ์เปนพหูสูตรฉลาดในบทกลอน แลมิได้คิดประทุษฐร้ายอย่างร้ายแรงอะไร

เมื่อศรีปราชญ์ออกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชก็ยังประพฤติเช่นนั้นอีก ด้วยนิไสยใจฅอชอบทางเจ้าชู้ คราว ๑ แต่งเพลงยาวลอบไปให้ภรรยาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจับได้ก็โกรธ สังให้คนจับศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย พวกที่ชอบพอกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็พากันห้าม ว่าท่านอย่าให้ฆ่าศรีปราชญ์เสียเลยจะเกิดเหตุใหญ่ แต่เมื่อศรีปราชญ์ยังอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาลอบให้เพลงยาวแก่นางสนมพระเจ้าแผ่นดิน ๆ จับได้ยังไม่ให้ประหารชีวิตร ด้วยทรงพระอาไลยว่าเปนคนฉลาดในการแต่งหนังสือ เพียงแต่ให้เนียรเทศมาชั่วคราว ถ้าท่านฆ่าศรีปราชญ์เสีย เห็นว่าจะมีความผิดเปนแน่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ไม่ฟัง ให้เอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย เวลาที่จะลงดาบศรีปราชญ์จึงประกาศแก่เทพยดาแล้วแช่งว่า ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด เมื่อสินคำแช่งก็พอลงดาบ ศรีปราชญ์ก็ตายอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น

ฝ่ายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนั้น ถ้าทอดพระเนตรเห็นบทกลอนของศรีปราชญ์ก็ดี ทรงแต่งบทกลอนขัดข้องก็ดี ก็ทรงรลึกถึงศรีปราชญ์เนือง ๆ อยู่มาวัน ๑ คลายพระพิโรธแล้ว จึงรับสั่งให้ข้าราชการไปตามตัวศรีปราชญ์เข้ามา ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงออกไปเมืองนครศรีธรรมราชแจ้งความแก่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่า

บัดนี้มีรับสั่งให้หาศรีปราชญ์ชั่งเนียรเทศออกมาอยู่เมืองนี้ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงแจ้งเหตุที่ได้ให้ฆ่าศรีปราชญ์ให้ข้าราชการผู้รับรับสั่งฟังทุกประการ ข้าราชการผู้รับรับสั่งจึงทำใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงให้มีท้องตราออกไป ให้เอาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารชีวิตรเสียด้วยดาบที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้น

เมื่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเสวยราชย์นั้น พระชนม์ได้ ๔๙ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๗ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๕๖ พรรษาก็เสด็จสวรรคต เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๙ ปี พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีสมภพวันจันทร์

เมื่อพระสุริเยนทราธิบดีสวรรคตแล้ว ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระสุรินทรกุมารซึ่งเปนพระราชโอรสของพระสุริเยนทราธิบดีขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระเจ้าภูมินทราชา ภายหลังปรากฎพระนามอีกอย่าง ๑ ว่า พระเจ้าบรรยงก์รัตนนาศน์ พระเจ้าภูมินทราชามีพระอรรคมเหษีทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าทองสุกๆ มีพระราชโอรส ๔ องค์ มีพระนามว่าเจ้าฟ้านรินทร์องค์ ๑ เจ้าฟ้าอภัยองค์ ๑ เจ้าฟ้าปรเมศองค์ ๑ เจ้าฟ้าทับองค์ ๑ มีพระราชธิดา ๒ องค์ มีพระนามว่าเจ้าฟ้าเทพองค์ ๑  เจ้าฟ้าประทุมมาองค์ ๑  เจ้าเสฐมเหษีรองมีพระราชโอรสองค์ ๑ มีพระนามว่า เจ้าฟ้าพจน มีพระราชริดา ๓ องค์ มีพระนามว่า เจ้าฟ้าปุกองค์ ๑ เจ้าฟ้าหงส์องค์ ๑ เจ้าฟ้าพินองค์ ๑ รวมพระราชโอรสธิดาทั้งสองพระมเหษีเปน ๑๐ องค์ ด้วยกัน

พระเจ้าภูมินทราชาทรงตั้งพระวรราชกุมารเปนพระมหาอุปราช ตั้งโอรสผู้ใหญ่ของพระมหาอุปราชเปนผู้ช่วย แลพระเจ้าภูมินทราชาให้สร้างวัดขึ้นวัด ๑ พระราชทานนามว่า วัดมเหยงคณ ให้สร้างพระนอนไว้ในวัด (ป่าโมกข์นั้น) องค์ ๑ ยาว ๖๐ ศอก

ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๖ ปี พวกญวนใหญ่ยกทัพเข้ามาตีกรุงกัมพูชา นักเทศเจ้ากรุงกัมพูชาสู้ญวนไม่ได้ ก็พาครอบครัวกับบริวารรวมทั้งสิ้น ๕๐๐ คน แลช้างเผือกช้าง ๑ เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธสมภาร ถวายช้างเผือกแก่พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าภูมินทราชาก็ให้รับช้างเผือกไว้ พระราชทานนามว่า บรมรัตนากาศเกลาศศิริวงษ์ แล้วรับสั่งให้ยกกองทัพใหญ่ไปตีกรุงกัมพูชา พวกญวนก็พากันแตกพ่ายหนีไปสิ้น พระเจ้าภูมินทราชาจึงรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปปกครองบ้านเมืองตามเด้ม พวกญวนรู้ว่าทหารไทยกลับแล้วแลพระเจ้ากรุงกัมพูชาออกมาอยู่อย่างเดิม ก็ยกทัพมาตีกรุงกัมพูชาอีก พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็หนีเข้ามากรุงศรีอยุทธยาอีก แต่เปนอย่างนี้หลายครั้ง ในครั้งหลังพระเจ้าภูมินทราชาให้ทหารยกเข้าไปตีกรุงกัมพูชาคืนได้แล้วรับสั่งให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาออกไปอีก พระเจ้ากรุงกัมพูชาก็ทรงพระกรรแสงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้อาไศรยพระบารมีปกเกล้าฯ มาหลายครั้งแล้วก็รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้ ข้าพระองค์ไม่ไปแล้ว ขอรับราชการในกรุงศรีอยุทธยาไปกว่าชีวิตรจะหาไม่ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงข้าพระองค์ไว้ในกรุงศรีอยุทธยาเถิด พระเจ้าภูมินทราชาก็โปรดให้พระเจ้ากรุงกัมพูชาอยู่ในพระนครศรีอยุทธยาตามประสงค์

ครั้นต่อมา พระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศจึ่งปฤกษากันว่า พระบิดาเราทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เห็นจะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน ถ้าพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วราชสมบัติจะตกอยู่กับพระมหาอปราช ควรเราซึ่งเปนราชโอรสจะซ่องสุมผู้คนใว้ให้มาก เวลาพระบิดาสวรรคตแล้วจะได้ต่อสู้รักษาราชสมบัติไว้ มิให้ตกไปเปนของพระมหาอุปราช แลถึงในเวลานี้ก็ควรจะเกียจกันอย่าให้พระมหาอุปราชเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนทราบพระอาการได้ เมื่อปฤกษาเห็นพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็ตั้งซ่องสุมผู้คนช้างม้าเปนกำลังไว้เปนอันมาก แลอ้างรับสั่งห้ามมิให้ใครเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการของพระเจ้าภูมินทราชาได้ ถึงพระมหาอุปราชก็ให้เข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการได้แต่เปนบางคราว พระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวรหนักลงก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระเจ้าภูมินทราชาได้เสวยราชย์พระชนม์ใด้ ๓๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๔ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษา ก็เสด็จสวรรคต เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๓ ปี

เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศก็ปิดความมิให้แพร่งพรายให้ใครรู้ว่าพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ให้ตระเตรียมสาตราวุธแลผู้คนตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง

ฝ่ายพระมหาอุปราชทรงสังเกตได้ระแคะระคายว่าเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศเกียจกันจะเอาราชสมบัติ เห็นว่าจะเกิดเปนข้าศึกกันเปนแน่แล้ว จึงเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากรุงกัมพูชาแลคนอื่นๆ ได้เปนอันมาก ตั้งมั่นอยู่ยังมิได้ทำการรบพุ่งประการใด เพราะไม่ทรงทราบว่าพระเชษฐาธิราชสวรรคต ครั้นจะลงมือรบพุ่งในเวลานั้น กลัวจะเปนคิดขบถต่อพระเชษฐาธิราช ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมรงเอาพระมหาอุปราช ๆ ให้สืบว่าพระเชษฐาธิราชมีพระอาการเปนประการใด ก็ยังไม่ได้ความ จึงให้ตั้งสงบไว้มิได้ทำการสู้รบโต้ตอบ เปนแต่ให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ผู้คนที่ถูกเจ็บป่วยเพื่อจะรักษาน้ำใจไว้ เมื่อข้าราชการทั้งหลายทราบว่าจะเกิดสงครามในเมืองเปนแน่ ก็พากันไปเข้ากับพระมหาอุปราชเปนอันมาก เพราะเห็นว่ามีพระไทยโอบอ้อมอารี ในขณะนั้นมีผู้เขียนหนังสือลับบอกข่าวที่พระเจ้าภูมินทราชาเสด็จสวรรคตแล้วผูกติดกับช้างต้นพระเกษยเดชปล่อยไปจากพระราชวัง เพื่อจะให้พระมหาอุปราชทรงทราบความจริง ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระมหาอุปราช ช้างนั้นก็ข้ามน้ำตรงไปยังสำนักพระมหาอุปราช เหมือนดังมีคนขี่ขับไป พวกข้าราชการในพระมหาอุปราชเห็นดังนั้นก็พากันจับ เห็นหนังสือผูกติดกับช้างดังนั้น ก็นำไปถวายพระมหาอุปราช ในเวลานั้นม้าทรงของพระมหาอุปราชตัว ๑ หลุดพลัดออกจากโรง เที่ยวเตะถีบขบกัดหญิงชายเปนอลหม่าน พวกชาวเมืองกลัวม้าเปนกำลัง พากันโจทย์อื้ออึงไปว่า พระมหาอุปราชให้ทหารหายตัวขึ้นขี่ม้าเที่ยวปราบปรามข้าศึก กิตติศัพท์ทราบไปถึงเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศ แลไพร่พลของเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศ ต่างก็พากันย่อท้อตกใจกลัวเปนอันมาก

ในขณะนั้นมหามนตรีจางวางแลพระยาธรรมาเสนาบดีกรมวังกับนายสุจินดามหาดเล็กเชิญพระแสง ๓ คน จึงเขียนหนังสือลับมีใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่เวลาปฐมยาม เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ คิดการลับจะทำร้ายพระองค์ บันดาข้าราชการพากันเบื่อหน่ายเอาใจออกหาก แลย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เปนอันมาก ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ ครั้นเขียนแล้วก็ส่งให้คนสนิทลอบออกไปถวายพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความดังนั้นก็ทรงยินดี เวลาย่ำรุ่งก็ตระเตรียมไพร่พลเปนอันมาก ยกเข้ามายังพระราชวัง เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศทราบว่าพระมหาอุปราชยกเข้ามาแล้ว ก็เอาพระแสงชื่อพระยากำแจกที่กำจัดภัย เปนของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก กับพระธรรมรงค์ค่าควรเมืองแลแก้วแหวนเงินทองภูษาอาภรณ์ของดีๆ มีราคา ทั้งสเบียงอาหารเปนอันมากให้คนขนลงบรรทุกเรือ พาข้าราชการที่สนิทชิดใช้หนีไปยังตำบลบ้านตาลาน

ในขณะนั้น ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหาอุปราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระมหาธรรมราชา เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชย์แล้วทรงทราบว่า เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ เอาพระธรรมรงค์กับพระแสงสำหรับพระนครแลพาข้าราชการไปมาก จึงให้อำมาตย์คุมพลทหารออกเที่ยวตามจับ เจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศทราบว่าพระมหาธรรมราชาให้คนออกเที่ยวตามจับ จึงเก็บเอาสิ่งของแต่พอกำลังแล้วให้ล่มเรือจมน้ำเสีย พระธรรมรงค์กับพระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น แล้วก็พากันหนีซุกซ่อนกระจัดกระจายไป เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ ได้นายบุญคงมหาดเล็กตามไปด้วยคน ๑ เที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ในป่า ครั้นหลายวันเข้า สเบียงอาหารก็หมดลง นายบุญคงเปนคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้านายของตน ก็อุสาหะเที่ยวแสวงหาอาหารมาถวาย พวกอำมาตย์ของพระมหาธรรมราชาที่เที่ยวติดตามไปพบนายบุญคงในกลางป่า สงสัยจึงจับมาเฆี่ยนถาม นายบุญคงได้ความเจ็บปวดเปนสาหัศทนไม่ได้ ก็รับเปนสัตย์ พวกอำมาตย์จึงให้นำไปจับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศได้ทั้ง ๒ พระองค์ นำมาถวายพระมหาธรรมราชา ๆ จึงรับสั่งให้เอาเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศไปสำเร็จโทษเสีย พวกพ้องของเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศ ซึ่งหนีซุกซ่อนไปในทิศทางต่าง ๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตรเสียสิ้น แต่นายบุญคงนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เลี้ยงไว้ ด้วยรับสั่งว่าเปนคนซื่อสัตย์กตัญญต่อเจ้านาย

พระมหาธรรมราชานี้มีพระมเหษี ๓ องค์ พระมเหษีใหญ่มีพระนามว่า กรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหษีที่ ๒ พระนามว่า กรมหลวงพิจิตรมนตรี พระมเหษีที่ ๓ พระนามว่า อินทสุชาเทวี กรมหลวงอภัยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์ คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์ ๒. เจ้าฟ้าหญิงบรม ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงษ์ ๖ เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี ๗ เจ้าฟ้าหญิงสุริยา กรมหลวงพิจิตรมนตรีมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่าเจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑ มีพระราชธิดา ๖ พระองค์ พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยบุรพาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสัตรีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑ อินทสุชาเทวีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่าเจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑ พระมหาธรรมราชามีพระราชโอรสธิดาเกิดแต่นางนักสนมอีกเปนอันมากรวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์

ครั้นต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงตั้งเจ้าฟ้านราธิเบศร์เปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าฟ้านุ่มเปนพระมเหษี แต่เจ้าฟ้านุ่มไม่มีพระโอรสธิดา

แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เปนพระมหาอุปราชนั้น เจ้าฟ้านราธิเบศร์มีเจ้าหญิงมิตร์ เจ้าหญิงชื่น เจ้าชายฉัตร์ เกิดแต่หม่อมเหญก มีเจ้าชายสีสังเกิดแต่หม่อมจัน มีเจ้าหญิงดาราเกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงส้อย มีเจ้าชายมิ่งเกิดแต่หม่อมด่วน มีเจ้าหญิงชี เจ้าหญิงชาติ เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม ๘ องค์

ในปีนั้น เจ้าฟ้านักกายฟ้าเจ้าเขมรนำช้างเผือกพังมาถวายพระมหาธรรมราชาช้าง ๑ พระมหาธรรมราชาพระราชทานนามว่า วิไชยหัศดี เจ้าฟ้านักพระอุไทยพระเจ้ากรุงกัมพูชาให้นำช้างเผือกพลายมาถวายช้าง ๑ พระราชทานนามว่า พระบรมราชไทยศวร ช้างเผือกตัวนี้มีข้างเบื้องซ้ายขาวมากกว่าข้างเบื้องขวา พระยานครศรีธรรมราชจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมคชลักษณสุประดิษฐ เจ้าเมืองเพ็ชร์บุรีจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมนาเคนทร กรมการจับช้างเผือกเข้าพเนียดเมืองนครไชยศรีได้ ๔ ช้างมาถวาย พระราชทานนามว่าบรมคชช้าง ๑ บรมพิไชยช้าง ๑ บรมจักรช้าง ๑ จอมพลสำเนียงช้าง ๑ แล้วให้มีการมโหรศพสมโภชเปนอันมาก

คราวนั้นสมิงทอรามัญซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาเปนขบถ คุมสมัคพรรคพวกเปนอันมากเที่ยวตีบ้านเล็กเมืองน้อยตามชายพระราชอาณาเขตร ข้าราชการซึ่งรักษาน่าที่ก็คุมพลทหารออกไปรบ จับสมิงทอแลพรรคพวกสมิงทอฆ่าเสีย แต่นั้นมากรุงศรีอยุทธยาก็ปราศจากเสี้ยนหนามมีความศุขความเจริญ เข้าปลาอาหารก็บริบูรณ์ ด้วยพระมหาธรรมราชาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาเปนเนืองนิตย์

ครั้นจุลศักราช ๑๐๙๕ พระมหาอุปราชทิวงคต พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าฟ้าท้าวต่อยธิดาของพระมหาอุปราชที่ทิวงคตให้เปนพระมเหษี

คราวนั้นกระษัตริย์ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงลังกาให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุทธยา ข้าราชการจึงกราบทูลพระ มหาธรรมราชาให้ทรงทราบ พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เกณฑ์พลเมืองตกแต่งถนนหนทางให้เรียบร้อยสอาด ให้พวกพ่อค้าออกตลาดตามฟากถนน แลให้แต่งช้างบุบผาทนต์ประดับเครื่องคชาภรณ์ พร้อมด้วยพลช้างพลม้าพลรถพลเดินเท้าทุกหมวดทุกกอง ซึ่งแต่งตัวเต็มยศสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ยืนประจำตามระยะทางซ้ายขวาบ่าติดๆ กัน ให้ปลูกปรำเปนระยะทั้ง ๑ ฟากถนน มีมโหรศพเต้นรำประจำอยู่ตามปรำทั้งมีเครื่องดนตรีพิณพาทย์ระนาดฆ้องตลอดระยะทาง ราชบัลลังก์ที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น ก็ให้ตกแต่งให้งดงาม ตั้งเสวตรฉัตรรายรอบด้วยเครื่องอภิรมย์ตามขัติยยศ ให้พระราชวงษานุวงษ เจ้าประเทศราช แลข้าราชการทั้งปวงแต่งตัวเต็มยศเข้าเฝ้าอยู่ตามถานานุศักดิ์ พระมหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้เบิกทูตลังกาเข้ามาในพระนครตามระยะทางที่ตกแต่งไว้ เมื่อทูตลังกาไปถึงขบวนใด ๆ เช่นขบวนจตุรงคเสนาขบวนเหล่านั้นก็ทำความเคารพตามธรรมเนียม ไปถึงพวกดนตรี ๆ ก็ประโคมขับร้อง ไปถึงข้าราชการ เจ้ากระทรวง เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ก็ทำปฏิสัณฐารต้อนรับแสดงความปราไสยต่อกัน จนกระทั่งถึงที่ประทับพระที่นั่งมหาปราสาทข้างหน้า ทูตลังกาจึงถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ ในพระราชสาสนมีใจความว่า ข้าพระองค์ผู้เปนพระอนุชาผ่านพิภพสิงหฬทวีป ขอโอนเศียรเกล้าถวายบังคม มายังพระเชษฐาธิราชพระเจ้ามหาธรรมราชาผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติยศเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราช ว่าทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณะชีพราหมณาจารย์ถ้วนหน้า บำรุงพระพุทธสาสนาเปนสาสนูปถัมภก โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฎกเปนนิตยกาล แลคัดลอกจดจารแบบแผนพระไตรปิฎกไว้ พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างต่างประเทศ ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี อนึ่งข้าพระองค์ก็มีจิตรยินดีเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา แตในลังกาทวีปมีแบบแผนพระปริยัติธรรมขาดบกพร่องเคลื่อนคลาศ ทั้งภิกษุสงฆ์ที่เฉลียวฉลาดอาจจะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็ไม่มี โดยเหตุนี้ข้าพระองค์ขอพระบารมีพระเชษฐาธิราชเจ้า โปรดพระราชทานซึ่งภิกษุสงฆ์ที่รอบรู้พระปริยัติสาสนา เพื่อได้สั่งสอนชาวลังกาที่เลื่อมใส เปนอายุพระพุทธสาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ

เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบพระราชสาสนแล้ว จึงมีพระราชปฏิสันถารถามถึงพระเจ้ากรุงลังกา แลพระมเหษี พระราชโอรส เสนามาตย์ข้าราชการ เข้าปลาอาหาร บ้านเมืองชนบท ว่าเรียบร้อยเปนศุขสำราญอยู่หรืออย่างไร ราชทูตก็กราบทูลว่าเจริญศุขอยู่ทุกประการ ครั้นสมควรเวลาแล้วเสด็จขึ้น ราชทูตก็ออกไปพักอยู่ที่สถานทูต

พระมหาธรรมราชาจึงให้ข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้าพร้อมแล้วรับสั่งว่า บัดนี้พระเจ้ากรุงลังกามีราชสาสนเข้ามาขอพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก ท่านทั้งปวงจงเลือกคัดพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก กับพระปฏิมากรเปนธรรมบรรณาการส่งไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา ข้าราชการรับพระราชโองการแล้ว ก็เลือกคัดได้พระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระอุบาฬี ๑ พระอริยมุนี ๑ กับพระสงฆ์อีก ๕๐ องค์ แลพระปฏิมากร พระยืนห้ามสมุท กับพระปฏิมากรอื่นอีก ๑๐ องค์ แลพระไตรปิฎกกับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกเปนอันมาก ครั้นจัดเสร็จแล้วจึงกราบทูลพระมหาธรรมราชา ๆ จึงทรงตั้งให้ข้าราชการที่เฉลียวฉลาด ๓ คน คือ พระสุนทร ๑ พระสุธรรมไมตรี ๑ กุมมรไทย ๑ เปนราชทูตอุปทูตตรีทูตกำกับไปกับอำมาตย์ราชทูตเมืองลังกา ครั้นสำเภาแล่นออกไปในมหาสมุท ก็บังเกิดเปนแสงแดงโตประมาณเท่าผลหมากตรงศีร์ษะเรือ พวกกัปตันแลต้นหนเห็นแล้วก็สดุ้งตกใจ ด้วยเคยสังเกตว่าอากาศชนิดนี้ เคยเกิดลมอันร้ายแรง จึงสั่งให้ พวกในสำเภากินเข้าปลาอาหารขึ้งจะอิ่มทนได้หลายๆ วัน แลให้นุ่งห่มผ้า น้ำมันเตรียมพร้อมทุกตัวคน ขณะนั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนี แลพระสงฆ์ทั้งปวงจึงให้เชิญพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทมาประดิษฐานที่ศีร์ษะเรือสำเภา แล้วพากันนั่งเรียงแถวทั้งซ้ายขวาพระปฏิมากร เจริญพระพุทธมนต์เปนปรกติอยู่ ไม่ช้าก็เกิดลมสลาตันกล้าขึ้นกล้าขึ้นทุกที กระทั่งเปนสีแดงไปทั่วอากาศ พัดตรงมาที่เรือ พวกมนุษย์ในเรือก็พากันร้องไห้รักตัวเปนอันมาก ด้วยอำนาจพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุท แลอำนาจพระพุทธมนต์แลศีลาทิคุณแห่งพระผู้เปนเจ้าเหล่านั้น พอลมสลาตันพัดมาถึงเรือก็หลีกเปนช่องเลยไป ลูกคลื่นใหญ่ ๆ มาใกล้เรือก็หายไป พวกกับตันแลต้นหนเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็พากันยินดี จึงให้จดวันคืนที่เกิดลมสลาตันไว้ แลพากันสรรเสิญคุณพระรัตนไตรยเปนอันมากแล้วพากันทำสักการบูชา ครั้นสำเภาไปถึงกรุงลังกาแล้ว ราชทูตลังกาก็พากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ากรุงลังกาว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระกรุณาโปรด พระราชทานพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก กับพระสงฆ์มาอีกหลายรูป แล้วกราบทูลความที่เกิดคลื่นลมร้ายแรงขึ้น แลพระสงฆ์ได้พากันตั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์ แลคลื่นลมหายไป ถวายพระเจ้ากรุงลังกาทุกประการ พระเจ้ากรุงลังกาทรงยินดีเปนอันมาก รับสั่งให้ลาดปูพรมเจียม แลดาดผ้าขาวตั้งแต่พระราชวัง กระทั่งถึงท่าเรือ ให้ประดับประดาวิจิตรงดงาม แล้วให้แห่แหนพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก กับพระสงฆ์ทั้งปวงเข้าไปในพระราชวัง แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์ทั้งปวงนั่งบนอาศน ทรงทำปฏิสัณฐารถามถึงศุขทุกข์ไพร่บ้านพลเมืองข้างกรุงศรีอยุทธยาตามพระราชประเพณี แสดงความยินดีต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ซึ่งได้มีพระไทยเอื้อเฟื้อเปนอันมากแล้ว ให้สร้างปราสาทเชิญพระปฏิมากรแลพระไตรปิฎกประดิษฐานไว้ ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งปวงนั้นพระเจ้ากรุงลังกาก็ให้สร้างอารามถวาย แลทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมิให้เดือดร้อน ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ให้บุตรแลทาษบวชเปนภิกษุสามเณรรวม ๕๐๐ เศษ ฝ่ายพระอุบาฬี พระอริยมุนี ก็ตั้งใจสั่งสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมมิได้ขาด ครั้นนานมาเห็นว่าพระปริยัติธรรมแพร่หลาย มีศิษย์ที่เชี่ยวชาญมากแล้ว จึงเข้าไปถวายพระพรกับพระเจ้ากรุงลังกาว่าจะขอถวายพระพรลากลับพระนครศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้ทำการสมโภช แล้วจัดไทยธรรมถวายเปนอันมาก ให้พวกสำเภารับมาส่งยังกรุงศรีอยุทธยา ครั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนีมาถึงกรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชา ทูลความตั้งแต่ไปสำเภาถูกลมสลาตัน ตลอดกระทั่งได้สั่งสอนให้ภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แล้วทูลลาพระเจ้ากรุงลังกากลับ ถวายพระมหาธรรมราชาทุกประการ พระมหาธรรมราชาก็ทรงยินดีเปนอันมาก

ต่อมาพระมหาธรรมราชาให้จัดเครื่องราชบรรณาการ คือ พานพระศรี พระเต้า พระสุวรรณภิงคาร พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราชกับผ้าแพรพรรณต่าง ๆ แล้วให้จาฤกพระราชสาสนลงในพระสุพรรณบัฏ ให้พระทราเปนราชทูตเชิญพระราชสาสนเจริญทางพระราชไมตรี แลคุมเครื่องราชบรรณาการไปยังเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะก็ให้ข้าราชการจัดขบวนรับทูตกรุงศรีอยุทธยาโดยแข็งแรง พระทราจึงเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน กับเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้าอังวะ ๆ ทรงทราบพระราชสาสนเจริญทางพระราชไมตรี ก็ทรงยินดี จึงให้ทูตกรุงศรีอยุทธยาไปพักอยู่ที่สถานทูต แลให้เลี้ยงดูเปนอันมาก รุ่งขึ้นวันใหม่พระเจ้าอังวะจึงให้อาลักษณ์จาฤกพระราชสาสน แลจัดเครื่องราชบรรณาการ คือ อำพันทองก้อน พานพระศรีขนาดน้อย พานพระศรีขนาดใหญ่ พระเต้า พระสุวรรณภิงคาร พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช ก้อนดินสอแก้ว น้ำมันดิน ผ้าแพรพรรณต่างๆ แล้วให้ราชทูตพม่าพาทูตไทยมาส่งยังกรุงศรีอยุทธยา แต่นั้นมาเมืองอังวะกับกรุงศรีอยุทธยาก็เปนไมตรีต่อกัน

แลพระมหาธรรมราชานั้นมีพระราชศรัทธามาก ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง ๗ พระอาราม คือ วัดคูหาสระ ๑ วัดกุฎีดาว ๑ วัดวรเสลา ๑ วัดราชบุรณะ ๑ วัดวรโพธิ์ ๑ วัดพระปรางค์ ๑ วัดปราไทย ๑ สร้างพระนอนใหญ่ขึ้นองค์ ๑ พระราชทานนามว่า พระนอนจักรศรี เสร็จแล้วบริจาคพระราชทรัพย์ บำเพ็ญพระราชกุศลเปนการฉลองเปนอันมาก แลทรงพระกรุณาโปรดห้ามมิให้ใครฆ่าสัตว์ในบริเวณพระนครศรีอยุทธยา ข้างทิศเหนือทิศใต้ทิศตวันตกทิศตวันออก ข้างละโยชน์ ๆ ในกาลนั้นมีบ่อทองเกิดขึ้นที่บางตะพาน มีผู้ร่อนทองเข้ามาถวาย บางตะพานจึงเปนส่วยทองแต่นั้นมา

แลพระมหาธรรมราชานั้น ไต้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคแก้วแหวนเงินทองพระราชทานแก่ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก แลให้ทำฉลากมีนามพระมเหษี พระราชโอรส พระราชธิดา พระสนม ช้างม้ารถ เครื่องทรง แล้วทรงแจกจ่าย ใครได้ฉลากอย่างไรให้นำมาขึ้นพระราชทานค่าไถ่ถอนตามสมควรมากแลน้อย

พระมหาธรรมราชาพระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามที่ชำรุดซุดโซมปีละร้อย พระราชทานผ้าไตรเพื่อกฐินกิจปีละร้อยไตร แลพระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับมีมโหรศพสมโภช พระพุทธรูป ๔ พระองค์ คือ พระพุทธรูปสุรินทร์องค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่เมืองนครศรีธรรมราชองค์ ๑ พระพุทธรูปที่เมืองพิศณุโลกองค์หนึ่ง พระพุทธรูปสำหรับกรุงศรีอยุทธยา องค์ ๑ องค์ละ ๕๐ ทุกๆ ปีมิได้ขาด พระราชทานทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทอีกปีละร้อย แลให้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าทุกๆ วันมิได้ขาด เวลามีสุริยุปราคา จันทรุปราคา ก็พระราชทานเสื้อ ผ้า เงินเฟื้อง เงินสลึง เข้าปลาอาหาร แก่พวกยาจกวรรณิพกคนเจ็บไข้แลทารกเปนต้น ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๘ ครั้ง บันดาพระราชวงษานุวงษ์แลมหาดเล็กทั้งปวงนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบท ก็ทรงเปนพระธุระในการจัดให้อุปสมบท ถ้ายังมิได้อุปสมบทแล้ว ก็ยังไม่ให้รับราชการ

ต่อมา พระมหาธรรมราชาทรงพระดำริห์ว่า พระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตนั้น มีวัดวาอารามที่พระมหากระษัตริย์แต่ก่อนให้สร้างขึ้น ชำรุดซุดโซมมาก จึงให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งสิ้น แลมณฑปพระพุทธบาทนั้นให้ลงรักปิดทอง ข้างในมณฑปให้แผ่เงินปูเต็มตลอดพื้น ฝาผนังให้ประดับกระจกงดงาม บนเพดานแลขื่อนั้นก็ให้ลงรักปิดทองฉลุเปนกระหนกช่อห้อย แขวนโคมแก้วโคมระย้าสีต่าง ๆ รอยพระพุทธบาทนั้น ให้บุทองคำเปนลายบัวหงายประดับรอบ แล้วให้เอาทองคำมาจำลองเปนรอยพระพุทธบาทประดับพลอยทับทิมสรวมครอบลงข้างบนพระพุทธบาท ประตูสำหรับเข้าออกนั้นให้ประดับด้วยมุกด์เปนลวดลาย กันสาดครอบมณฑปนั้นให้มุงกระเบื้องแล้วด้วยดีบุกทั้งสิ้น ตามลวดลายมณฑปนั้นให้ลงรักปิดทองเปนพื้น ระเบียงรอบมณฑปแลพื้นระเบียงให้ประดับปูลาดตัวอิฐดีบุกทั้งสิ้น แล้วให้ก่อพระเจดีย์สิลาอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก ห่างกันประมาณคืบ ๑ หรือกำมา ๑ รอบกำแพงแก้ว แล้วให้ก่อกำแพงแก้วแล้วด้วยอิฐดีบุกรอบลานพระพุทธบาท มีด้านกว้างแลด้านยาวพ้นออกไปจากมณฑปด้านละ ๒๐ วาแล้วลงรักปิดทอง ทำเปนกอบัว ใบบัว ดอกบัวบุทองแดงประดับ ลงรักปิดทองพาดตามกำแพงรอบ แล้วขุดอุโมงค์ในกำแพงแก้วกว้างยาว ๑๕ วา ๑ ศอกเท่ากันแล้วก่อด้วยอิฐ สร้างพระพุทธรูปประดับมุกด์ไว้องค์ ๑ แลก่อตึกภัณฑาคารสำหรับเก็บสิ่งของที่คนนำมาบูชาพระพุทธบาท จัดให้มีเจ้าพนักงานรักษา เกณฑ์ให้ราษฎรตำบลบ้านขุนโขลนเปนส่วยขี้ผึ้งน้ำมันสำหรับจุดบูชาพระพุทธบาท แลให้สร้างบรรไดที่จะขึ้นลงทางทิศใต้ทาง ๑ ทิศตวันตกทาง ๑ ที่เชิงเข้าพระพุทธบาทนั้นให้สร้างอารามขึ้นอาราม ๑ ให้พระครูมหามงคลเทพมุนี ๑ พระครูรองพระวินัย ๑ อยู่ประจำรักษาพระอาราม แลตั้งให้เจ้าพนักงานรักษาพระอารามส่งของขบฉัน ดูแลซ่อมแซมมิให้ชำรุดซุดโซมได้ เวลาเดือน ๔ พระมหาธรรมราชาเสด็จไปนมัศการกับด้วยพระราชวงษแลเสนาข้าราชการเปนอันมากทุก ๆ ปี ประทับอยู่ที่พระพุทธบาท ๗ ราตรี ให้มีมโหรศพสมโภชแลทรงบริจาค เสื้อ ผ้า เงินบาท เงินสลึง เงินเฟื้อง เข้าปลาอาหารพระราชทานแก่ยาจกวรรณิพกถ้วนทั้ง ๗ วันแล้วจึงเสด็จกลับ ดังนี้มิได้ขาด

ต่อแต่พระพุทธบาทไปทางลำแม่น้ำทิศเหนือมีภูเขาอยู่แห่ง ๑ ชื่อ เขาปถวี เขาปถวีนั้นมีเพิงผาชะโงกเงื้อมออกไปเหมือนงูแผ่แม่เบี้ยในเงื้อมเขานั้นมีพระฉายหันพระภักตร์ไปข้างทิศบุรพาปรากฎอยู่ สีผ้าทรงพระฉายนั้นยังสดใสอยู่มิได้เศร้าหมอง ที่พระฉายนั้นไม่มีมณฑปที่จะกันแดดแลฝนเพราะว่าฝนตกไม่ถูก น้ำฝนไหลอ้อมไปทางอื่น พระมหากระษัตริย์แต่โบราณได้สร้างพระมณฑปขึ้นหลายครั้งก็หาคงอยู่ไม่ มีคำเล่ากันว่าพระอินทร์แลเทวดามาทำลายเสีย สร้างได้แต่ศาลาสำหรับคนขึ้นนมัศการพักอาไศรยกับบรรไดสำหรับขึ้นลงเท่านั้น เมื่อถึงฤดูเดือน ๔ พระมหากระษัตริย์แต่ก่อนๆ ย่อมพาราชบริพารเสด็จขึ้นไปนมัศการ มีการสมโภชแลบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอ ๆ เปนประเพณี พระมหาธรรมราชานี้ก็ได้เสด็จไปนมัศการอยู่เสมอ ๆ เหมือนกัน

ครั้ง ๑ ฝนแล้ง ราษฎรทำนาไม่ได้ผล ทั้งผลไม้แลผักปลาก็กันดาร พระเจ้ามหาธรรมราชาจึงรับสั่งให้นิมนต์พระอาจารย์อรัญญวาสีอริยวงษ์มหคุหา (คือสมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ) กับพระอาจารย์คามวาสีพระพิมลธรรมมาแล้วจึงรับสั่งว่า บัดนี้เกิดภัยคือฝนแล้งราษฎรพากันอดอยาก ท่านอาจารย์ทั้ง ๒ จะคิดประการใด จึงจะให้ฝนตกได้ พระอาจารย์ทั้ง ๒ ก็รับอาสาว่า ถึงวันนั้นคืนนั้นจะทำให้ฝนตกให้ได้ แล้วพระอาจารย์ทั้ง ๒ นั้นก็ไม่กลับไปยังพระอาราม อาไศรยอยู่ในพระราชวัง ตั้งบริกรรมทางอาโปกสิณ แลเจริญพระพุทธมนต์ขอฝน ด้วยอำนาจสมาธิแลพระพุทธมนต์ของพระผู้เปนเจ้าทั้ง ๒ นั้น พอถึงกำหนดวันสัญญา ก็เกิดมหาเมฆตั้งขึ้นทั้ง ๘ ทิศ ฝนตกลงเปนอันมาก แต่นั้นมาถ้าเกิดความไข้เจ็บขึ้นชุกชุมในบ้านเมืองแล้ว พระเจ้ามหาธรรมราชาก็ให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้ามาเจริญพระพทธมนต์ มีสัตตปริตแลภาณวารเปนต้น ในที่ประชุมพระราชวงษานุวงษแลข้าราชการทั้งปวง แลให้ยิงปืนอาฏานามหามงคล ๑๐ นัดบ้าง ๑๕ นัดบ้าง ครั้นรุ่งเช้าก็ให้เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอันประณีต

พระเจ้ามหาธรรมราชานี้ทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนไตรยยิ่งนัก โปรดให้นิมนต์พระภิกษุมารับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในพระราชวังวันละร้อยรูปเปนนิตย์ ทรงบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เปนศุขด้วยพระกรุณาดุจดังว่าบิดาอันกรุณาต่อบุตร์ พระเจ้ามหาธรรมราชานี้มิได้ทำศึกกับประเทศใดเลย มีแต่ให้ทำไมตรีกับนานาประเทศอย่างเดียว บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเปนศุขปราศจากศึกสงครามแลโจรผู้ร้าย จนบ้านเรือนของราษฎรทั้งหลายไม่ต้องล้อมรั้วลงสลักลิ่มแลกลอน

พระเจ้ามหาธรรมราชาพระองค์นี้มีบุญญาธิการมาก บริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิปัญญา พระเกียรติคุณข้อนี้ ทำให้นานาประเทศยำเกรงพระบารมีนำเครื่องบรรณาการมาทูลเกล้าฯ ถวายถึง ๕๐ เมือง แลมีเมืองซึ่งมาเปนพระราชไมตรีอีก ๕๐ เมือง ตลอดถึงพระเจ้ากรุงจีนซึ่งดำรงพระอิศริยยศเปนกระษัตริย์ใหญ่พระองค์ ๑ ยังให้ราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชาได้เสวยราชย์ พระชนม์ได้ ๕๑ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๗๘ พรรษาก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชาจวนเสด็จสวรรคตนั้น เกิดนิมิตรหลายประการ เปนต้นว่าอุกาบาตตกลงในท่ามกลางพระนคร แลเกิดมีดาวหาง อากาศแดงเปนแสงไฟ สำแดงเหตุใหญ่หลายประการ เปนนิมิตรสำหรัมผู้มีบุญจะสิ้นอายุ พระเจ้ามหาธรรมราชาสมภพวันเสาร์

เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชาสวรรคตแล้ว พระราชวงษานุวงษ์ แลข้าราชการทั้งปวงยังไม่ถวายพระเพลิง เชิญพระโกษฐ์ซึ่งทรงพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งมหาปราสาท ซึ่งประดับประดาเปนอันดี แล้วออกประกาศให้ชนทั่วพระราชอาณาจักรโกนผมไว้ทุกข์ แล้วเชิญพระมหาอุปราช คือ พระอุทุมพรจะให้ครองราชสมบัติ พระมหาอุปราชยังไม่รับ ด้วยทรงเห็นว่า เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เปนพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่จึงเสด็จไปทรงวิงวอนเจ้าฟ้าเอกทัศจะให้ครองราชสมบัติ เจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับ เมื่อเจ้าฟ้าเอกทัศไม่รับแล้ว พระมหาอุปราชจึงรับครองราชสมบัติ บรรดาพระราชวงษานุวงษข้าราชการทั้งปวงก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อพระอุทุมพรราชาทั้งสิ้น เว้นแต่เจ้าแขก เจ้ามังคุด เจ้าพัน ๓ องค์พี่น้องซึ่งต่างพระมารดากับพระอุทุมพรราชา เจ้าทั้ง ๓ องค์นี้ไม่ยอมถือน้ำ พากันไปตั้งซ่องสุมผู้คนเพื่อจะมาแย่งชิงเอาราชสมบัติ พระราชาคณะรูป ๑ รู้เหตุอันนั้นจึงปฤกษากับพระสงฆ์ทั้งปวง แล้วให้เชิญเจ้าแขก เจ้ามังคุด เจ้าพันเข้ามาแล้ว ถวายพระพรว่า เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชายังมีพระชนม์อยู่ ได้ทรงมอบหมายให้พระอุทุมพรราชาเปนรัชทายาท บัดนี้อาณาประชาราษฎรก็ได้ยกขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินสมพระราชประสงค์แล้ว ควรที่บพิตรทั้ง ๓ พระองค์จะประพฤติตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสมณพราหมณาจารย์จะได้มีความร่มเย็น ทั้งจะเปนพระเกียรติยศสรรเสริญถึงนานาประเทศ ว่าผลัดเปลี่ยนแผ่นดินก็ไม่มีเหตุ เรียบร้อยดีเปนปรกติดี ถ้าหาไม่จะเกิดข้อครหานินทาทั่วไป ว่าพระบิดาสวรรคตไม่ทันไร ชรอยพระองค์จะทรง จัดการไว้ไม่เรียบร้อย บ้านเมืองจึงไม่ปรกติ เปนข้อเสื่อมเสียถึงสมเด็จพระชนกาธิราช แลถึงพระราชโอรสทั้งปวง ว่าล่วงละเมิดไม่เคารพต่อพระราชบิดา เหตุนี้บพิตรทั้ง ๓ พระองค์ควรจะกระทำตามพระราชประสงค์ของพระชนกาธิราช เมื่อพระราชาคณะถวายพระพรดังนี้ เจ้าทั้ง ๓ องค์ก็เห็นชอบด้วย จึงได้ยอมถือน้ำทำสัตย์สาบานถวายพระเจ้าอุทุมพรราชา

ครั้นต่อมา เจ้าแขก เจ้ามังคุด เจ้าพัน คิดขบถตั้งซ่องสุมผู้คนอีก ข้าราชการนำความกราบทูลพระเจ้าอุทุมพรราชา ๆ จึงรับสั่งว่าพวกนี้ไว้ใจไม่ได้เสียแล้ว รับสั่งให้ข้าราชการไปหาด้วเข้ามา เจ้าแขก เจ้ามังคุด เจ้าพัน ทราบว่า พระเจ้าอุทุมพรราชารับสั่งให้หา ก็ให้สมัคพรรคพวกเตรียมเครื่องสาตราวุธเข้ามายังพระราชวัง ครั้นถึงประตู พวกรักษาประตูก็ห้ามมิให้คนเหล่านั้นเข้ามา แล้วจับเจ้าแขก เจ้ามังคุด เจ้าพัน ไปถวายพระเจ้าอุทุมพรราชา ๆ จึงรับสั่งให้เอาเจ้าทั้ง ๓ องค์ไปสำเร็จโทษเสีย

ครั้นต่อมาพระเจ้าอุทุมพรราชาจึงให้สร้างวัดขึ้นวัด ๑ พระราชทานนามว่า วัดอุทุมพรารามเสร็จแล้ว ให้นิมนต์พระธรรมเจดีย์มาเปนเจ้าอาวาศ แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมมณฑปพระพุทธบาทที่ซุดโซม ลงรักปิดทองขึ้นใหม่ฉลองเสร็จแล้วเสด็จไปนมัศการพระพุทธบาท ครั้นเสด็จกลับพระนครก็สละราชสมบัติออกทรงผนวช พระเจ้าอุทุมพรราชาอยู่ในราชสมบัติได้ ๓ เดือน เมื่อออกทรงผนวชนั้น วัน ๖ ๑๒ จุลศักราช ๑๑๐๒ ปี

ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชสมบัติ ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะขึ้นครองราชสมบัตินั้น เกิดนิมิตรอัศจรรย์ ลมพยุพัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตวันออกแห่งพระราชวังหัก ยอดมะเดื่อที่หักนั้น หันมาทางพระราชมณเฑียร ข้าราชการทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล เจ้าฟ้าเอกทัศจึงรับสั่งว่า นิมิตรซึ่งเกิดขึ้นนี้เปนมงคล พวกเจ้าทั้งหลายจงนำไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนแท่นเถิด ข้าราชการทั้งปวงก็ไปตั้งพิธีบวงสรวงมีมโหรศพสมโภช แล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนพระแท่น เมื่อสำเร็จแล้วจึงจัดการราชาภิเศก ให้เจ้าฟ้าเอกทัศทรงเครื่องสำหรับกระษัตริย์เสร็จแล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ ครื่นได้ฤกษ์แล้วปุโรหิตอาจารย์ก็โอมอ่านคาถาไชยมงคล พวกพราหมณ์ก็เป่าสังข์ทักษิณาวัฏ ชาวประโคมก็ประโคมเครื่องดุริยางคดนตรี พระอาลักษณ์จึงเชิญพระสุพรรณบัตร์ประดับพลอยรอบ ๓ ชั้นซึ่งจาฤกพระนามอ่านถวาย มีใจความว่า อาเปกขศรีสุรเดช บรมราชาธิราชรามาธิบดี ศิริขัง ปัจจังมหาจักรวรรดิ สรทยาธิบดี ศิริสัจ ติรัสหังสจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดี ทะหะริมายะนะทะปธานาธิบดี ศิริวิบูลย์คุณอรรคเนตถจิตรุจิตรีภูวนารถ ตรังคติพรหมเทวา เทพภูมินทราธิราช รัตนากาศสมมุติวงษ์ องค์เอกาทศรฐ วิสูตรโสตรบรมติโลกนารถ อาทิวิไชยสมทรทโรมันท อนันตคุณวิบูลย์สุนทรธรรมมิกราชเดโชชาติ โลกนารถวริสสาธิราชชาติพิเชษฐ์ เดชทศพลญาณสมันตมหันตพิชิตมาร วสุริยาธิบดิขัติยวงษ์องค์รามาธิบดีตรีภูวนารถธิปัจจโลกเชษฐ์วิสุทธิมกุฎรัตนโลกเมาฬี ศรีประทุมาสุริยวงษ์ องค์ปัจจุพุทธางกูร ดังนี้ เสร็จแล้วเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพานทองประดับพลอย ๒ ชั้น เสร็จแล้วก็ทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประเพณี ครั้นแล้วเอานามกรุงทวาราวดีซึ่งจาฤกลงในพระสุพรรณบัตรอ่านถวาย มีใจความว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ แล้วพระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการทั้งปวงก็ถวายตัวใหม่ทั้งสิ้น เจ้าฟ้าเอกทัศให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์ แล้วทรงออกพระราชบัญญัติการใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงเครื่องวัดต่างๆ ทั้งเงินบาทเงินสลึงเงินเฟื้องให้เที่ยงตรงตามราชประเพณี แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ ในภายใน ๓ ปี แลโปรดให้ปล่อยนักโทษในเรือนจำ ครั้นพระพุทธรูปเท่าพระองค์สำเร็จแล้วก็ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ทำการฉลอง แล้วให้เชิญไปไว้กับพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระวิหารในพระราชวัง แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างพระอาราม ๒ พระอาราม พระราชทานนามว่า วัดละมุด ๑ วัดครุธาวาศ ๑ เมื่อถึงเวลาเดือน ๔ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาย่อมเสด็จไปนมัศการพระพุทธบาททุก ๆ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาพระองค์นี้ทรงพระศรัทธาอุสาหะบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์เครื่องประดับประดาอาภรณ์ทั้งปวง พระราชทานแก่ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก ครั้นต่อมาทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระศพพระราชบิดานั้นประดิษฐานอยู่นานแล้ว จึงรับสั่งให้จัดการทำเมรุใหญ่ที่วัดพระปรางค์ ทิศตวันออกเฉียงใต้พระนคร เสร็จแล้วเชิญพระศพไปถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการแลราษฎรทั้งปวง

ในปีนั้นราชมนซึ่งเปนเชื้อแขกจับได้ช้างเผือกบริบูรณ์ด้วยลักษณเล็บครบ ๒๐ นำมาถวาย พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการอื่นๆ อีกเปนอันมาก พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้จัดการสมโภชช้างเผือกแล้วพระราชทานนามว่า พระบรมฉัททันต์มหันตภูมกุฎคช แล้วให้นำไปไว้ในโรงภายในพระนคร

ในปีนั้นปูนีชาติฝรั่งอังกฤษนำนกกระจอกเทศสูง ๓ ศอกคืบตัว ๑ สิงโตสูง ๓ ศอกตัว ๑ กับม้าเทศ ๓ ม้ามาถวาย พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้เจ้าพนักงานเลี้ยงไว้ในพระราชวัง

ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๑ พระยาเกียรติ์พระยาพระรามชาติมอญกับครอบครัวประมาณ ๓๐๐ เศษอพยพจากเมืองเมาะตะมะ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงรับไว้ แล้วโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเขาน้ำพุห่างจากพระนครทาง ๓ วัน

คราวนั้นมีสำเภาพวกแขกพรังตี่เดินเรือผิดทางเข้าจอดที่ท่าเมืองมฤท ซึ่งเวลานั้นยังเปนอาณาเขตรของกรุงศรีอยุทธยา แลในสำเภานั้นมีพวกพม่าโดยสานมาด้วย พวกกรมการเมืองมฤทจับไว้ แล้วมีใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ๆ รับสั่งว่าพวกสำเภาเดินเรือผิดสัญญาให้ริบเสียให้สิ้น พวกข้าราชการจึงกราบทูลห้ามปรามว่าในเรือนั้นมีพวกพม่าโดยสานมามากอย่าให้กักขังไว้เลยจะเสียทางพระราชไมตรี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ไม่ทรงเชื่อ ให้ริบสิ่งของในสำเภาแลจับพวกพม่าไว้ กิตติศัพท์นั้นทราบไปถึงพระเจ้ามังลองเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจึงมีพระราชสาสนมาขอว่า พวกสำเภานั้นเปนพวกเมืองอังวะ ขอให้ปล่อยไปเถิด ถ้าไม่ปล่อยไปกรุงอังวะกับกรุงศรีอยุทธยาจะผิดใจกัน พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้ประชุมข้าราชการทั้งปวงมาปฤกษาว่า บัดนี้จะเกิดความใหญ่โตแล้ว ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า เมื่อได้เกินเลยแล้วจำเปนต้องบากบั่นไม่ถอยหลัง ควรจะตระเตรียมผู้คนช้างม้าสเบียงอาหารไว้ให้บริบูรณ์ ศึกพม่ามีมาเมื่อไรจะได้สู้กันโดยเต็มกำลัง พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นชอบด้วย จึงให้ปรนปรือผู้คนช้างม้าสเบียงอาหารไว้ให้บริบูรณ์ ซ่อมแซมค่ายคูประตูหอรบไว้ให้มั่นคง แล้วเกณฑ์ให้กองทัพออกไปตั้งกักด่านทุกแห่งทุกตำบลในประเทศหนทางที่พม่าจะมานั้น

ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อให้ราชทูตเข้ามาขอให้ปล่อยพวกสำเภาไม่ได้แล้วจึงยกทัพใหญ่มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา พวกลาดตระเวนซึ่งออกไปตั้งอยู่ปลายแดน ครั้นสืบได้ความว่าพม่ายกทัพใหญ่มาดังนั้น ก็มีใบบอกเข้ามากราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ว่าพม่ายกมาทางเมืองมฤททาง ๑ เมืองตนาวศรีทาง ๑ ท่ากระดานทาง ๑ เชียงใหม่ทาง ๑ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้เกณฑ์กองทัพออกไปตั้งรับข้าศึกตามใบบอกทุกแห่ง แล้วรับสั่งกับข้าราชการทั้งปวงว่าบัดนี้มีทัพศึกเกิดขึ้นแล้ว ควรจะไปเชิญพระอุทุมพรราชาอนุชาของเราซึ่งทรงผนวชอยู่ ให้ลาผนวชออกมาช่วยกันคิดการสงคราม พวกข้าราชการก็เห็นด้วย จึงพากันไปเชิญพระอุทุมพรราชาให้ลาผนวช พระอุทุมพรราชาก็ทรงรับ

ในเวลานั้นมีที่ปฤกษาราชการแผ่นดินอยู่ ๓ คน คือ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) ซึ่งเปนน้องพระมเหษีคน ๑ เจ้าพระยาพินธุ์คน ๑ พระยาราชวังสันคน ๑ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงระแวงเจ้าพระยาพินธุ์กับพระยาราชวังสัน จึงมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตรเสีย แล้วยกเจ้าแมลงเม่าซึ่งเปนพระกนิษฐาชื้นเปนพระอรรคมเหษี เจ้าแมลงเม่ามีพระราชธิดาองค์ ๑ พระนามว่า เจ้าฟ้าศรีจันทาเทวี ราชประเพณีในกรุงศรีอยุทธยาคราวนั้น ถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีพระเจ้าลูกเธอเปนเจ้าฟ้าชาย เวลาประสูตรต้องประโคมดนตรี ๔ ครั้ง ถ้ามีเจ้าฟ้าหญิงต้องประโคมดนตรี ๓ ครั้ง

เมื่อพระเจ้าอังวะยกกองทัพใหญ่มาครั้งนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้สงกรานต์ ๑ วิสูทธามาตย์ ๑ พระยามหาเสนา ๑ พระยาพิไชย ๑ พระพิพัฒน์ ๑ หมื่นปรุง ๑ หมื่นวาสุเทพ ๑ คุมพลทหารคนละพัน ๆ ในกอง ๑ กอง ๑ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีทหารขี่ คอ ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ แลมีพวกทหารตามช้างอีกช้างละร้อย ๆ ให้เจ้าพระยาอภัยราชาถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพใหญ่ยกไปรับทัพพม่าทางเมืองเชียงใหม่

ให้ราชามาตย์ ๑ ราชาบาล ๑ พระทิพโยธา ๑ พระประธมพรรดิ  ๑ พระเพ็ชร์พงษา ๑ หลวงจาโร ๑ หลวงหรไทย ๑ พระยาพิพัฒน์  ๑ พระพิพัฒน์โกษา ๑ ขุนพิพัฒน์ ๑ คุมพลทหารคนละพันละพัน มีช้างคลุมเกราะเหล็กกองละ ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ ตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีพลทหารขี่คอ ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ แลมีพลทหารถือทวนตามช้างอีกช้างละร้อยคน ให้พระยาอภัยมนตรีเปนแม่ทัพใหญ่ยกไปคอยรับทัพพม่าทางตำบลท่ากระดาน พระเจ้าอังวะหาได้ยกมาทางเชียงใหม่แลท่ากระดานไม่ มาเสียทางเมืองมฤทเมืองตะนาวศรี พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงทราบว่า พม่ายกไพร่พลมามากกว่ามาก มาทางเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี จึงให้พระราชสงกรานต์ ๑ พลสู ๑ สรทิพรรดิ ๑ พระยาราชมังสังเสนี ๑ พระยาตานอง ๑ พระศรีพัฒน์ ๑ ธรรมรง ๑ พระยาเดโช ๑ พระท้ายน้ำ ๑ พระพิไชยนรินทร ๑ พระพิไชยรณรงค์ ๑ อินทรเทพ ๑ หลวงภิรมย์อินทรา ๑ หลวงรถาสอนไพ ๑ คุมทหารคนละพัน ในกอง ๑ กอง ๑ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ๆ ช้างตัว ๑ ตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควานประจำ คอ ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ แลมีพลทหารถือทวนตามช้าง ช้างละร้อยคน ให้เจ้าพระยาพระคลังเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่ตำบลกิ่งดุง (เห็นจะเปนตำบลกุ่มดอง)

ให้พระยาราชสมบัติ ๑ พระยาจุหล่า ๑ พระสวีสวาสา ๑ พระสวีสวาภา ๑ หลวงทองบุญ ๑ หลวงศรีวรรักษ์ ๑ หลวงศรีรุต ๑ หลวงราชพิมล ๑ หลวงแมน ๑ พระยาจ่าแสน ๑ มหาเทพ ๑ มหามนตรี ๑ ราชรินทร์ ๑ อินทรเดช ๑ คุมพลทหารคนละพันละพัน ในกอง  ๑ กอง ๑ มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ๆ ช้างตัว ๑ ตัว ๑ มีปืนใหญ่ ๒ บอก มีทวน ๒ เล่ม มีควาญหัว ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ แลมีพลทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละร้อยๆ ให้พระยานครศรีธรรมราชเปนแม่ทัพยกไปตั้งที่เมืองราชบุรี

ภายในพระนครนั้น พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ให้จัดค่ายคูประตูหอรบให้มั่นคง เอาปืนใหญ่ขึ้นจุกตามช่องเสมา ให้ไพร่พลขึ้นรักษาโดยกวดขัน ฝ่ายกองทัพที่ยกไปทางเมืองมฤทนั้นครั้นประทะกับทัพพม่า ก็ได้รบพุ่งกันเปนสามารถถึง ๑๕ วัน ไพร่พลข้างกรุงศรีอยุทธยาพานจะอ่อนแอสู้ฝีมือพม่าไม่ได้ล้มตายมาก ก็พากันถอยหนีจากเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี มาบรรจบกับกองทัพเจ้าพระยาพระคลังซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลกิ่งดุง แล้วแยกย้ายกันเปนกองน่ากองหนุนกองละ ๕๐๐ บ้าง ๑๐๐๐ บ้าง ทัพใหญ่ถอยมาตั้งที่เมืองราชบุรี

ฝ่ายกองทัพพม่าเห็นทัพไทยถอยไปดังนั้น ก็เพิ่มเติมตามตีต่อไป ทัพกรุงศรีอยุทธยาจึงแบ่งพลทหารออกเปน ๕ กอง ๆ ละ ๑๐๐๐ แยกย้ายรบพุ่งเปนสามารถ นายทัพนายกองแลพลทหารที่มีฝีมือเข้มแขง ต้องสาตราวุธล้มตายเปนอันมาก นายทัพนายกองทั้งปวงจึงปฤกษากันว่า เราจะขืนตั้งสู้รบขับเขี้ยวอยู่ในที่นี้เห็นจะเสียทีพม่า เพราะที่นี้เปนที่เตียนไม่มีที่กำบัง ผู้คนเราน้อยกว่า ควรจะถอยไปหาที่มั่นในที่อื่น ปฤกษากันแล้วก็ถอยทัพมาตั้งค่ายมั่นลงที่บ้านกงบ้านพาน พม่าก็ยกตามตีแตกถอยมากระทั่งกรุงศรีอยุทธยา พม่าก็ให้เข้าล้อมกรุงศรีอยุทธยาไว้โดยรอบ

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงทรงปฤกษากับนายทัพนายกองทั้งปวงว่าทัพพม่ายกมาครั้งนี้มากมายนัก ฝ่ายเราให้ยกทัพไปตั้งรับหลายตำบลก็เสียทีแก่พม่า ถ้าจะตั้งเขี้ยวขับกันอยู่อย่างนี้ ก็จะได้ความเดือดร้อนแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก ควรจะให้คนที่เฉลียวฉลาดออกไปเจรจาขอทำไมตรีกันเสีย ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด บันดาข้าราชการทั้งปวงก็เห็นชอบตามพระราชดำริห์ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้พระยาราชเสนีอำมาตย์ ๑ พระมนะภัย ๑ ขุนสุดวาสวรรค์ ๑ ออกไปเจรจาทัพ ครั้นข้าราชการทั้ง ๓ คนไปถึงค่ายพม่าจึงชี้แจงให้นายทัพนายกองพม่านำความกราบทูลพระเจ้าอังวะว่า พระนครอังวะกับพระนครศรีอยุทธยา ๒ ประเทศนี้ เปน าชธานีมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองทั้ง ๒ ประเทศ ตามประเพณีพระมหากระษัตริย์แล้วย่อมตั้งพระไทยที่จะบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่เย็นเปนศุข แลแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางโดยยุติธรรม ถึงคราวจำเปนที่จะทำศึกสงครามปราบปรามบ้านเมือง หรือป้องกันข้าศึกสัตรูก็ต้องผันผ่อนทำแต่ที่จำเปน อย่าให้ถึงแก่ไพร่บ้านพลเมืองได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งพระเจ้าอังวะยกทัพใหญ่มาคราวนี้ ก็มีพระราชประสงค์จะแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวาง ข้างกรุงศรีอยุทธยาก็จำเปนที่จะต้องป้องกันบ้านเมืองเพื่อรักษาอำนาจแลเกียรติยศ เปรียบเหมือนหนึ่งช้างสารที่สู้กันบันดาพืชพรรณไม้แลใบหญ้าที่เกิดขึ้นตามพื้นแผ่นดินก็มีแต่จะแหลกลเอียดย่อยยับไป เหมือนราษฎรแลไพร่พลที่ย่อยยับล้มตายลงด้วยการทัพศึก บัดนี้พม่ากับไทยก็ได้สู้รบกันมาหลายครั้ง พลทหารก็ล้มตายลงด้วยกันเปนอันมาก แม้หากจะได้ไชยชนะกันข้าง ๑ ก็ไม่เพียงพอกับที่เสียหาย เพราะฉนั้นให้ท่านทูลเจ้านายของท่านให้ยอมทำไมตรีเปนทองแผนเดียวกันเสีย บ้านเมืองจะได้ปราศจากเสี้ยนหนามทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งจะได้ปรากฎพระเกียรติยศเปนที่ยกย่องสรรเสริญทั้ง ๒ ฝ่าย ว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ประเทศมีพระไทยประกอบด้วยพระกรุณาไพร่ฟ้าประชาชนมิให้เดือดร้อน เมื่อพวกกรุงศรีอยุทธยาออกไปเจรจากับนายทัพนายกองพม่าดังนี้ นายทัพนายกองพม่าก็นำความกราบทูลพระเจ้าอังวะ ๆ ก็ไม่ยอมตาม ข้าราชการทั้ง ๓ ก็กลับมากราบทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ๆ ก็ให้คนรักษาน่าที่เชิงเทินให้มั่นไว้ พระเจ้าอังวะก็ให้เข้าตีหักเอาพระนครศรีอยุทธยาเปนสามารถ ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเข้ามาในเมืองเปนห่าฝน แต่ระดมตีเมืองอยู่ ๒-๓ ว้นก็หักเอาไม่ได้ จึงให้เผาบ้านเรือนราษฎรในภายนอกพระนครเสียสิ้นแล้วพระเจ้าอังวะก็ยกทัพกลับพระนครทางตำบลวัสลูโพะแร

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นพม่ายกไปหลายวันแล้ว จึงให้ซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎรที่พม่ายื้อแย่งแลเผาไฟให้เปนปรกติ พระราชทานให้ราษฎรอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ครั้นบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว พระอุทุมพรราชาก็กลับออกทรงผนวชตามเดิม

ครั้นศักราช ๑๑๒๔ พระยาเกียรติ์ พระยาพระราม ซึ่งพาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ แลพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาโปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลเขาน้ำพุนั้นเปนขบถ เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือนราษฎรตามแถวเมืองนครนายก กิตติศัพท์ทราบไปถึงกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงให้พระยากาญจนบุรีคุมพลออกไปปราบปราม พระยากาญจนบุรีก็ยกพลออกไปจับตัวพระยาเกียรติ์ พระยาพระรามกับพรรคพวกได้ ให้ประหารชีวิตรเสียสิ้น

ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๕ มะกะโลชาอุดองส่าเจ้าเมืองทวายนำเครื่องบรรณาการเข้ามาถวายขอเปนข้าขึ้นในกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ให้รับไว้

ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๖ พระเจ้าอังวะมีราชสาสนมาจะให้ส่งเจ้าเมืองทวาย ถ้าไม่ส่งจะยกทัพมารบ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ไม่ยอมส่งให้ แล้วก็ให้ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธไว้ป้องกันข้าศึกโดยแขงแรง ให้เกณฑ์ทหารออกไปให้รักษาด่านโดยกวดขัน คือ ให้จัดกองทัพเรือ ๙ กอง ๆ ละ ๒๐ ลำ บรรจุทหารกองละ ๑๔๐๐ คนพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธทั้งปวง เรือรบลำ ๑ มีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ ๑ บอก ขนาดเล็ก ๒ บอก ให้พระยาราชสงกรานต์คุมออกไปตั้งคอยรับทัพพม่าทางปากน้ำเจ้าพระยาทาง ๑ ให้หลวงหรไทยคุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางปากน้ำลำทองทาง ๑ ให้พระยาจุหล่า (แขก) คุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางปากน้ำพระมะดัง (พระประแดง) ทาง ๑ ให้ศรีวรข่านคุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางปากน้ำประสบทาง ๑ ให้หลวงศรียุทธคุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางปากน้ำหิงลาทาง ๑ ให้หม่อมมหาดเล็กวังน่าคุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางแม่น้ำเมืองสิงหบุรีทาง ๑ ให้หม่อมเทไพคุมออกไปตั้งคอยรับกองทัพพม่าทางแม่น้ำเมืองอินทบุรีทาง ๑ ให้หม่อมทิพยุพันคุมออกไปตั้งรับทัพพม่าทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรีทาง ๑ ให้ศรีภูเบศร์คุมออกไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองไชยนาททาง ๑

ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเปนแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพ ๑๓ กอง ในกอง ๑ มีพลทหารพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ๑๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก ๒ บอก มีควานหัว ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ มีพลทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละ ๑๐๐ คน ให้ราชสงกรานต์คุมกอง ๑ พระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองตากกอง ๑ พิไชยนเรศร์กอง ๑ พระยายมราชบดีกอง ๑ มนตรีกอง ๑ ราชภัฎกอง ๑ ศรีสรพัฒน์กอง ๑ พระพิพัฒน์กอง ๑ จันทราชากอง ๑ หลวงสิทธิกอง ๑ หลวงศักดิ์กอง ๑ หลวงฤทธิกอง ๑ หลวงเดชกอง ๑ ยกไปคอยรับทัพพม่าที่เมืองมฤท เมืองตะนาวศรี

ให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพ ๑๑ กอง ในกอง ๑ มีพลทหารพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ๑๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก ๒ บอก มีควานหัว ๑ กลาง ๓ ท้าย ๑ มีพลทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละ ๑๐๐ คน ให้พระหมื่นศรีคุมกอง ๑ พระหมื่นเสมอใจกอง ๑ พระหมื่นไวยกอง ๑ พระอินทภัยกอง ๑ จ่ายงกอง ๑ จ่ายวดกอง ๑ หลวงหรไทยกอง ๑ หลวงทองหมื่นกอง ๑ พระสิวพัตรกอง ๑ พระมหาเสนากอง ๑ พระพิไชยกอง ๑ ยกออกไปตั้งรับทางเมืองสวรรคโลก

ให้ศิริธรรมราชาเปนปลัดทัพ ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเปนแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพ ๗ กอง กอง ๑ กอง ๑ มีพลทหารพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ๑๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ชนิด เล็ก ๒ บอก มีควานหัว ๑ กลาง ๓ ท้าย ๑ มีพลทหารตามหลังช้างอีกช้างละ ๑๐๐ คน ให้หลวงกลาโหมคุมกอง ๑ หลวงใจกอง ๑ พระพินจางวางช้างกอง ๑ ขุนนครกอง ๑ ขุนนรากอง ๑ หมื่นปรงกอง ๑ ราชสงกรานต์ (พลับ) กอง ๑ ยกไปรับพม่าทางตำบลท่ากระดาน

ให้เจ้าพระยากลาโหมคุมกองทัพ ๑๕ กอง กอง ๑ มีพลทหารพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ๑๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑ มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก ๒ บอก มีควานหัว ๑ กลาง ๓ ท้าย ๑ มีพลทหารตามช้างอีกช้างละ ๑๐๐ คน ให้ขุนพิพัฒน์คุมกอง ๑ ขุนณรงค์กอง  ๑ พระมนตรีกอง ๑ ราชามาตย์กอง ๑ ราชาบาลกอง ๑ ทิพเสนากอง ๑ มหามนตรีกอง ๑ ราชรินทร์กอง ๑ อินทรเดชกอง ๑ พระยาธรมากอง ๑ พระอินทมาตย์กอง ๑ พลทิพกอง ๑ อินทรเทพกอง  ๑ ขุนพัดสัดกอง ๑ ราชมณีกอง ๑ ยกไปคอยรับทัพพม่าทางเมืองราชบุรี

ให้พระยาธิเบศร์เปนแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพ ๑๔ กอง กอง ๑ มีพลทหารพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ ๑๐๐๐ คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัว ๑มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก ๒ บอก มีควานหัว ๑ กลาง ๓ ท้าย ๑ มีพลทหารตามหลังช้างอีกช้างละ ๑๐๐ คน ให้หลวงโชฎึกคุมกอง  ๑ หลวงท่องสือกอง ๑ หลวงนรโชกอง ๑ หลวงโยธากอง ๑ พระเพ็ชร์พงษากอง ๑ หลวงราชรักษากอง ๑ หลวงรักษาจงกอง ๑ หลวงเดโชกอง ๑ หมื่นจงกอง ๑ หมื่นไวยกอง ๑ ฤทธิ์สดึงกอง ๑ จงนารถกอง ๑ พระยามลพัฒน์กอง ๑ หลวงศรียุทธกอง ๑ ยกไปรับพม่าทางเมืองนครสวรรค์

เมื่อกองทัพทั้งปวงไปถึงตำบลตามสั่งแล้ว ส่วนทางพระนครก็ให้ซ่อมแซมค่ายคูประตูหอรบให้มั่นคง เอาปืนใหญ่ขึ้นประจำตามช่องเสมา ตั้งพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ แล้วตั้งกองสอดแนมคอยตรวจตรามิได้ขาด

ครั้นจุลศักราช ๑๑๒๖ พระเจ้าอังวะให้มหานรธาเปนแม่ทัพใหญ่ยกพลเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา แต่หาได้ยกมาทางตำบลท่ากระดานทางเมืองกาญจนบุรีไม่ ยกมาทางเมืองมฤทเมืองทวาย ได้ต่อสู้รบพุ่งกับกองทัพไทย ซึ่งออกไปตั้งอยู่ทางเมืองมฤทเมืองทวายเปนสามารถ ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเปนอันมาก ต่างก็ขยาดฝีมือรากัน เปนแต่รบพุ่งกันบ้างเล็กน้อย ตั้งรอคอยทีกันอยู่สิบวัน แต่พวกทหารไทยน้อยกว่า เมื่อเห็นพวกกันล้มตายมากลงก็ท้อถอย พวกพม่าเห็นไทยท้อถอยดังนั้นก็ยกทัพรดมเข้าตีทัพไทย ทัพไทยก็แตกหนีถอยมาบรรจบกับกองทัพที่ตั้งอยู่เมืองราชบุรีตั้งมั่นอยู่ที่เมืองราชบุรีนั้น

ฝ่ายกองทัพที่ยกไปทางเมืองเชียงใหม่นั้น ครั้นเมื่อทัพพม่ายกมาถึง ก็ออกสู้รบเปนสามารถถึงสิบสามวัน ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเปนอันมาก ขณะนั้นนายทหารไทยที่มีฝีมือเข้มแขง คือ หมื่นมหาดเล็ก หมื่นเด็กชาย หมื่นชิตภูบาล หมื่นชาญภูเบศร หลวงกลาโหม หลวงตราสู หลวงประเจียด หลวงใจขุนกิจพัฒน ขุนศรีพะองค์ พิไชยอินทรา หมื่นยุทธรัตนามาศ ขุนสัสดี ราชภูมินทร์ ขุนโค พระปลัด หมื่นรัตนาอมาตย์ รวม ๑๗ นาย รับอาสาขี่ม้ารำทวนรำดาบโล่ห์หอกออกยั่วทัพพม่า ฝ่ายนายทหารพม่าก็ขี่ม้ารำทวนรำดาบโล่ห์หอกออกสู้รบ แล้วพม่าให้พลทหารม้ายกออกตีกระหนาบทางซ้ายทางขวา นายทหารไทยทานกำลังพม่าไม่ได้ก็แตกหนีเข้าค่าย ที่หนีไม่ทันพม่าไล่ฆ่าฟันตัดศีร์ษะไปได้ ๗ นาย เมื่อไทยเสียทีแก่พม่าดังนั้นก็เสียใจ จึงปฤกษากันว่าตำบลนี้มีไชยภูมิที่ไม่เหมาะควรจะถอยไปหาที่ไชยภูมิอื่นปฤกษากันดังนี้แล้ว จึงพากันล่าถอยไปบรรจบกับกองทัพเมืองไชยนาท

ฝ่ายทัพพม่าเห็นทัพไทยถอยไปดังนั้น ก็ยกติดตามตีลงมาจนกระทั่งเมืองไชยนาท ให้ตั้งค่ายประชิดค่ายที่เมืองไชยนาท

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงทราบว่าทัพไทยแตกถอยมาดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธเปนอันมาก มีรับสั่งว่านายทัพนายกองเหล่านี้มันไม่เอาใจใส่ในราชการ จึงเสียทีแก่พม่า ไม่ควรเลี้ยงไว้ให้หนักแผ่นดิน ควรเอาตัวไปประหารชีวิตรเสียให้สิ้น แต่มันผิดครั้งหนึ่งจะยกโทษให้ ให้นายทัพนายกองทั้งปวงทำการแก้ตัวเอาไชยชำนะแก่พม่าให้จงได้ รับสั่งแล้วจึงให้ส่งปืนใหญ่ไปยังกองทัพเหล่านั้นกองละ ๓ บอก แลให้ประกาศราษฎรในกรุง มิให้พากันตื่นตกใจ

ฝ่ายกองทัพที่ตั้งอยู่ในเมืองราชบุรีนั้น ได้รับขับเขี้ยวกับพม่าเปนหลายวัน ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน วันหนึ่งพวกทหารไทยให้ช้างคลุมเกราะเหล็กกินสุรามากเกินไป เวลาออกรบเอาไว้ไม่อยู่ทำให้เสียขบวน พม่าเห็นได้ทีก็ยกเข้าตีเปนสามารถ กองทัพไทยก็แตกกระจัดกระจายหนีเข้ามากรุงศรีอยุทธยา มหานรธาก็ให้ยกทัพติดตามเข้ามาตั้งอยู่ที่ตำบลสีกุก ห่างจากกรุงศรีอยุทธยา ๓๐๐ เส้นเศษ มะยินหวุ่นดิ่นปลัดทัพพม่ายกเข้ามาตั้งทางโพสามต้น ห่างจากกรุงศรีอยุทธยา ๓๐ เส้นเศษ พม่าตั้งค่ายใหญ่ล้อมพระนครคราวนั้นถึง ๑๖ ค่าย ระยะไม่สู้ห่างกัน ชักปีกกาถึงกัน

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ให้ปิดประตูลงเขื่อนแน่นหนาให้ทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินเปนสามารถ แล้วให้หลวงหรไทยคุมพลกองหนึ่ง พระพิไชยกองหนึ่ง พระยาจุฬากองหนึ่ง หลวงศรีวรข่านกองหนึ่ง ให้พระยาเพ็ชร์บุรีเปนแม่ทัพยกออกรบพม่าทางหนึ่ง ให้หลวงศรียศคุมพลกองหนึ่ง หลวงราชพิมลกองหนึ่ง พระเฑียรอมาตย์กองหนึ่ง อินทรเดชกองหนึ่ง ให้พระยาตาก (สิน) เปนแม่ทัพยกออกรบทางหนึ่ง ให้หมื่นปลงคุมพลกองหนึ่ง หมื่นวาสุเทพกองหนึ่ง ขุนพิพัฒน์กองหนึ่ง ขุนนรินทร์กองหนึ่ง พระยาราชนครเสมังกองหนึ่ง ขุนนเรศรกองหนึ่ง ให้พระยานครราชสีมาเปนแม่ทัพยกออกรบทางหนึ่ง ให้พระยาพิไชยนเรศรคุมพลกองหนึ่ง พระกบินทร์กองหนึ่ง หลวงหฤไทยกองหนึ่ง ขุนพตากกองหนึ่ง ให้ศรีโลกเปนแม่ทัพยกออกรบทางหนึ่ง ให้พระหมื่นศรีคุมพลกองหนึ่ง ขุนพตะกองหนึ่ง หลวงราจอกองหนึ่ง พระทิพโยธากองหนึ่ง ให้พระยาอภัยราชาเปนแม่ทัพยกออกรบทางหนึ่ง ให้มหาเทพคุมพลกองหนึ่ง มหามลกองหนึ่ง พระมหาเสนาบดีกองหนึ่ง พระยาเดโชกองหนึ่ง ให้เจ้าพระยาพระคลังเปนแม่ทัพยกออกรบทางหนึ่ง ในทัพเหล่านี้มีจำนวนทัพละ ๕๐๐๐ กองหนึ่งมีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ ช้าง ช้างตัวหนึ่ง ๆ มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก ๒ บอก มีควาญหัว ๑ กลาง ๑ ท้าย ๑ แลด้านที่ทัพบกทัพหนึ่ง ๆ จะยกไปนั้น จัดให้มีทัพเรือด้านละ ๓๐ ลำ เรือลำหนึ่งมีปืนใหญ่ชนิดใหญ่ ๑ บอก ชนิดเล็ก ๒ บอก มีพลทหารปืนใหญ่ลำละ ๓ คน ๆ

ครั้นจัดเสร็จแล้วก็ให้ยกแยกออกไปตีทัพพม่า ซึ่งตั้งล้อมอยู่โดยรอบ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พลทหารไทยเจ็บป่วยล้มตายเปนอันมาก พระยาเพ็ชรบุรีตายในที่รบ พระยาตาก (สิน) หนีเอาตัวรอดได้ ที่เหลือนั้นก็แตกกระจัดกระจายไป ที่หนีเข้าเมืองทันก็รอดชีวิตร พม่าจับได้ผู้คนช้างม้าเปนอันมาก

พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นนายทัพนายกองแตกพ่ายเข้ามาดังนั้น ก็ให้ปิดประตู ให้ทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินมั่นไว้มิได้ออกรบ คราวนั้นพระยาพลเทพข้าราชการในกรุงศรีอยุทธยาเอาใจออกหาก ลอบส่งเครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุทธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตวันออกในเวลากลางคืน เมื่อณ ๓ ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๘ ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเปนอันมาก เอาไฟเผาโรงร้านบ้านเรือนภายในพระนครศรีอยุทธยาเสียเปนอันมาก ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาแลพระมเหษีพระราชโอรสธิดา กับพระราชวงษานุวงษ์ก็หนีกระจัดกระจายกันไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จหนีไปซุ่มช่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต

พวกพม่าก็ตามจับได้พระมเหษีแลพระโอรสธิดา พระราชวงษานุวงษ์ แล้วให้กวาดต้อนผู้คนช้างม้า เก็บริบแก้วแหวนเงินทองไปยังกรุงอังวะเปนอันมาก

เมื่อใกล้จะเสียพระนครศรีอยุทธยานั้น เกิดลางร้ายต่าง ๆ คือ พระพุทธปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหล พระพุทธปฏิมากรติโลกนารถ ซึ่งแกะด้วยไม้พระศรีมหาโพธินั้นพระทรวงแยกออกเปนสองภาค พระพุทธปฏิมากรทองคำเท่าตัวคน แลพระพุทธสุรินทร์ซึ่งหล่อด้วยนาคอันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวังนั้น มีพระฉวีเศร้าหมอง พระเนตรทั้งสองหลุดหล่นลงอยู่บนพระหัตถ์ มีกาสองตัวตีกัน ตัวหนึ่งบินโผลงตรงยอดเหมฉัตรเจดีย์ที่วัดพระธาตุ อกสรวมลงตรงยอดพระเจดีย์เหมือนดังคนจับเสียบไว้ เทวรูปพระนเรศวรนั้นมีน้ำพระเนตรไหลแลเปล่งศัพทสำเนียงเสียงอันดัง อัศนีบาตตกลงหลายครั้งหลายหน พระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในสัจธรรม สำแดงเหตุที่จะเสียพระนครศรีอยุทธยาหลายอย่างหลายประการดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น

  1. ๑. เห็นจะหมายว่าที่ท้องสนามหลวงที่เคยทำพระเมรุ์ อันอยู่ไม่ห่างวัดพระราม

  2. ๒. ชื่อข้าราชการไทยที่เรียกในฉบับพม่าแปลไม่ออกหลายชื่อ จึงคงไว้ตามฉบับเดิม

  3. ๓. ในต้นฉบับพม่าเรียกพระยาตากสินทุกแห่ง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ