เรื่องพระพุทธบาทแลพระฉาย

พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ ๕ แห่ง มีเนื้อความปรากฎมาในพระบาฬีดังนี้ว่า

สุวัณณมาลิเก คือรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาในลังกา วีปแห่ง ๑

สุวัณณปัพพเต รอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาสุวรรณบรรพต (ในสยามประเทศนี้) แห่ง ๑

สุมนกูเฏ รอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาสุมนกูฏแห่ง ๑

โยนกปุเร รอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในโยนกประเทศแห่ง ๑

นัมมทาย นทิยา รอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในแม่น้ำนัมมทานทีแห่ง ๑ รวมเปน ๕ แห่ง

รอยพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพตในสยามประเทศนี้ สัจจพันธพราหมณ์ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงประดิษฐานไว้ พระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ปางก่อน จึงได้ทรงสถาปนาพระมณฑปสรวมรอยพระพุทธบาทไว้ที่เขาสุวรรณบรรพต แลสถาปนาวัตถุเจดียสถานขึ้นในที่นั้นต่อมา ได้เอาทองคำแผ่นบางเท่าเปลือกกุ้ง ปิดเปนลายดอกดวงประดับพระมณฑปให้งดงามวิจิตร แลภายในพื้นพระมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทนั้น ทำเสื่อเงินปูลาดเต็มพื้นที่ ฝาผนังพระมณฑปใหญ่เอากระจกบานใหญ่ติดภายในประดับกระจกภายนอก

แลภายในพระมณฑปใหญ่ ได้ทรงสถาปนาบุษบกน้อย (สรวมรอยพระพุทธบาท) อีกชั้น ๑ ขื่อ ๔ ศอก สูง ๑๐ ศอก บุษบกน้อยนี้หุ้มทองคำ แลเพดานนั้นห้อยอุบะร้อยด้วยแก้วสีแดง ภายในบุษบกรอบรอยพระพุทธบาท เอาทองคำแผ่ทำเปนบัว แลเอาทองแผ่สลักลายลักษณพระพุทธบาท ประดับด้วยพลอยแดง ปิดไว้บนรอยพระพุทธบาท

ประตูพระมณฑปพระพุทธบาทนั้น ด้านตวันออกมี ๒ ประตู ด้านตวันตกมี ๒ ประตู ที่บานประตูนั้นเปนลายประดับมุก หลังคาพระมณฑปมุงด้วยตะกั่ว ที่ช่อฟ้าแลเครื่องบนปิดทอง แลที่ชลาชั้นทักษิณ ทำเปนกำแพงแก้วล้อมรอบ แลหุ้มด้วยตะกั่ว แลที่พื้นภายในกำแพงแก้วนั้น ก็ปูลาดด้วยตะกั่ว บนหลังกำแพงแก้วทำเปนพระเจดีย์ศิลาอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก ตั้งรายไว้รอบห่างกันราวกำมือหนึ่ง ต่อลงมาถึงเชิงพระมณฑปปราบที่ทำเปนลานทักษิณอีกชั้น ๑ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ กว้างตามทิศตวันออกถึงตวันตก ๒๐ วา กว้างตามทิศเหนือ, ใต้ ๒๐ วา แลกำแพงแก้วนั้นหุ้มด้วยดีบุกปิดทอง แลเอาทองแดงทำเปนดอกบัวก้านเหล็กปิดทองปักไว้ที่บนกำแพงโดยรอบมี ๑๕ ศอก มีถ้ำแห่ง ๑ มีพระพุทธปฏิมากรก่อด้วยอิฐขัดสมาธิใหญ่ ๑ มีพระพุทธรูปขัดสมาธิเพ็ชรสีไข่มุกอยู่ในถ้ำอีกแห่ง ๑ มีคลังสำหรับเก็บสรรพพัศดุของพระพุทธบาทหลัง ๑ แลมีเจ้าพนักงานผู้เก็บรักษาคลัง แลมีที่อยู่ข้าพระแลพวกชาวบ้าน พวกขุนโขลนนั้น เปนสร่วยน้ำมัน ขี้ผึ้ง สำหรับถวายบูชาแก่พระพุทธบาท บรรไดขึ้นพระพุทธบาทนั้นมีทางด้านใต้ทาง ๑ ด้านตวันตกทาง ๑ ด้านตวันออกแลเหนือไม่มีบรรได แลที่เชิงภูเขาพระพุทธบาทนั้น ได้ทรงสร้างพระอารามไว้ มีพระครูเจ้าคณะชื่อ มหามงคลเทพมุนีองค์ ๑ มีพระสงฆ์ตำแหน่งวินัยธร วินัยธรรม (สำหรับพิทักษ์รักษาพระพุทธบาท) พร้อมด้วยข้าพระซึ่งได้ยกถวายไว้ แลได้ทรงพระราชอุทิศกับปิจังหันไว้เปนประจำเดือนเสมอไม่ขาด พระครูแลถานานุกรมเหล่านั้น ต้องคอยดูแลซ่อมแปลงสิ่งซึ่งจะชำรุดหักพังในบริเวณพระพุทธบาทนั้นด้วย สมเด็จพระเจ้ามหาธรรมราชา (คือสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์) พระองค์เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ไปนมัสการพระพุทธบาท แลเมื่อพระองค์ประทับแรมอยู่ ๗ ราตรี ได้มีการมโหรศพสมโภชพระพุทธบาท แลพระราชทานพระราชทรัพย์เปนทานแจกจ่ายแก่ชาวบ้านชาวเมืองคนยากคนจน คือเครื่องผ้าพรรณนุ่งห่ม เครื่องเงินทอง เงินบาท เงินสลึง เงินเฟื้อง เข้าเปลือก เหล่านี้เปนต้น เมื่อครบกำหนด ๗ ราตรีแล้ว ได้เสด็จกลับสู่พระนคร

พระฉาย

ที่เขาปถวีอยู่ทางทิศเหนือพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตข้ามฟากแม่น้ำไป ระยะทางห่างวัน ๑ มีเพิงเขาแห่ง ๑ เหมือนอย่างพังพานพระยานาค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาอาไศรยบังฝนอยู่ที่เพิงเขาแห่งนี้ ที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับอาไศรยนั้น จึงมีรอยพระพุทธฉายบ่ายพระภักตร์ออกมาทางข้างน่าติดอยู่ยังกระเพิงผานั้น โดยอำนาจพระพุทธปาฏิหารพระรูปพระรัศมี ผ้ากาสาวพัตรแห่งพระพุทธองค์ ยังแลเห็นเปนสืเหลืองอยู่เสมอไม่เศร้าหมอง ยังคงเปนสีผ้ากาสาวพัตรอยู่จนบัดนี้ รอยพระพุทธฉายซึ่งทรงประดิษฐานติดอยู่กับเงื้อมผานั้น หาได้มีพระมณฑปหรือวิหารสร้างขึ้นปกคลุมกำบังไว้ไม่ แม้เวลาฝนตกน้ำฝนไหลลงมาตามเงื้อมผา ก็ไหลหลีกรอยพระพุทธฉายไป มิได้ต้องฉายาของพระพุทธองค์ แต่ก่อนมาพระมหากระษัตริยาธิราชเจ้าเคยให้สร้างพระมณฑปแลพระวิหารขึ้นหวังจะปกป้องรอยพระพุทธฉาย สมเด็จอมรินทรเทวราชก็บันดาลให้หักพังทำลายเสีย เทพยเจ้าหาพอพระไทยจะให้มีอะไรปิดรอยพระพุทธฉายไม่ ด้วยเหตุนี้พระมหากระษัตริยาธิราชเจ้าแต่ก่อนมาจึงให้ปราบแต่พื้นที่ให้ราบคาบ แลให้ทำบรรไดแต่พื้นขึ้นไปสู่ที่องค์พระพุทธฉาย

ระดูนมัสการพระพุทธฉายนี้ ในกำหนดเดือน ๔ ทุกปี มีพระมหากระษัตริย์แลเสนามาตย์ราษฎรชาวบ้านชาวเมือง ไปนมัสการกราบไหว้ แลมีการมโหรศพสมโภชเปนงานปีเสมอทุกปีมิได้ขาด.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ