กระบวนศึกตอนที่ ๔

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีตั้งแต่มาเฝ้าพระเจ้ารุงธนบุรีแล้ว กลับไปถึงเมืองพิศณุโลก ปฤกษากับเจ้าพระยาสุรสีห์เห็นพร้อมกันว่าเหลือกำลังที่จะรักษาเมืองต่อไปได้ ด้วยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก ต้องจ่ายอาหารให้รี้พลลดลง ผู้คนก็อดอยากอ่อนแอลงทุกที ถ้าช้าวันไปก็จะต้องเปนเชลยของพม่าทั้งหมด จึงตกลงกันให้เตรียมการที่จะทิ้งเมืองพิศณุโลก ให้ทหารในค่ายที่ตั้งประชิดพม่าถอยกลับเข้าเมือง พม่าก็ตามเข้ามาตั้งค่ายประชิดถึงชานกำแพงเมือง แล้วยกเข้าปีนปล้นเอาเมือง พวกทหารที่รักษาน่าเชิงเทินยิงระดมปืนใหญ่น้อยป้องกัน พม่าจะเข้าเมืองไม่ได้ก็ถอยกลับเข้าค่าย ตั้งยิงปืนโต้ตอบกันอยู่.

ถึงวันศุกร เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ เจ้าพระยาทั้ง ๒ ได้ทราบความว่ากองทัพหลวงล่าถอยไปแต่วันก่อนแล้ว จึงให้เจ้าน่าที่ระดมยิงปืนใหญ่น้อยหนายิ่งกว่าทุกวัน ตั้งแต่เวลาเช้าจนค่ำแลในเวลานั้นให้เอาปี่พาทย์ขึ้นไปตีตามป้อมให้ข้าศึกได้ยินเสียงประโคม หมายจะลวงให้พม่าเข้าใจว่าตระเตรียมจะตั้งสู้อยู่ในเมืองให้นานวัน แล้วให้จัดกระบวนทัพเปน ๓ กอง กองน่าเลือกล้วนพลรบที่ยังมีกำลังแขงแรงสำหรับจะตีฝ่าข้าศึกเปิดช่องให้กองอื่นตามไป กองกลางคุมครอบครัวราษฎร บรรดาราษฎรที่ฉกรรจ์แม้ผู้หญิงก็ให้มีเครื่องสาตราวุธสำหรับต่อสู้ป้องกันตัวทั่วทุกคน กองหลังไว้พลทหารสำหรับป้องกันข้างท้ายกระบวน ครั้นจัดกระบวนทัพพร้อมเสร็จ ถึงเวลายามเศษ (๙ ล. ท.) ก็ให้เปิดประตูเมืองยกกองทัพออกตีค่ายพม่าข้างด้านตวันออก พม่ายกออกต้านทานรบพุ่งกับกองน่าถึงตลุมบอน ไทยตีหักค่ายพม่าเปิดเปนทางไปได้ เจ้าพระยาทั้ง ๒ ก็ให้รีบเดินกองทัพไปทางบ้านมุงดอนชมพู แต่ครอบครัวราษฎรมากด้วยกัน ตามกองทัพเจ้าพระยาทั้ง ๒ ไปได้บ้าง แตกลงมาหากองทัพหลวงที่บางเข้าตอกบ้าง ที่ปลกเปลี้ยเลื่อยล้าพม่าตามจับไปได้บ้าง เจ้าพระยาทั้ง ๒ ก็ยกกองทัพข้ามเขาบันทัดไปตั้งรวบรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ แต่พม่าตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกอยู่ ๔ เดือนจึงเข้าเมืองได้.

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้รู้ว่ากองทัพไทยตีหักหนีไปจากเมืองแล้วก็เข้าตั้งอยู่ในเมืองพิศณุโลก แลในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าอะแซหวุ่นกี้ออกปากประกาศแก่พวกนายทัพนายกองทั้งปวงว่า “ไทยบัดนี้ฝีมือเข้มแขงนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน แลเมืองพิศณุโลกเสียครั้งนี้จะได้เสียเพราะฝีมือทแกล้วทหารแพ้เรานั้นหามิได้ เพราะเขาอดเข้าขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง แลซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายน่านั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญาแลฝีมือแต่เพียงเสมอเราแลต่ำกว่าเรานั้นอย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาไชยชนะเขามิได้ แม้นดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ไชยชนะ”

เรื่องสงครามตอนเมื่ออะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิศณุโลกแล้ว รายการในหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่าบกพร่องด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นเรื่องประกอบกัน แต่ต้องเก็บความทั้ง ๒ ฝ่ายมาเรียบเรียง เติมความสันนิฐานบ้าง จึงได้ความว่าเรื่องราวตอนอะแซหวุ่นกี้ตีได้เมืองพิศณุโลกแล้วเปนดังนี้ คือ

เมื่ออะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิศณุโลกแล้ว เห็นว่าเสบียงอาหารฝืดเคืองอัตคัดมาก จึงจัดกองทัพ ๒ กอง ให้มังแยยางูคุมมาทางเมืองเพ็ชรบูรณ์กอง ๑ ให้มารวบรวมเอาเสบียงอาหารที่เมืองเพ็ชรบูรณ์แลเมืองหล่มศักดิ์ส่งไป แลอิกประการ ๑ บางทีจะให้มาตีซ้ำเติมกองทัพเจ้าพระยาทั้ง ๒ ซึ่งยกหนีมาทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ด้วยก็จะเปนได้ แล้วให้กะละโบ่คุมกองทัพอิกกอง ๑ ยกมาทางเมืองกำแพงเพ็ชร ให้มาลาดหาเสบียงอาหารทำนองเดียวกัน พอมังแยยางูกะละโบ่ยกไปแล้วอะแซหวุ่นกี้ก็ได้รับท้องตราว่าพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตรได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้หากองทัพกลับไปเมืองอังวะโดยเร็ว อะแซหวุ่นกี้ได้ทราบก็ตกใจ ให้คนถือหนังสือไปตามกองทัพมังแยยางูก็ไม่ทัน อะแซหวุ่นกี้จะรั้งรออยู่ก็เกรงความผิด จึงเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติแลกวาดต้อนครอบครัวราษฎรที่จับได้ยกกองทัพกลับไปทางเมืองศุโขไทยเมืองตาก ไปออกทางด่านแม่ละเมาโดยทางที่มา สั่งให้กองทัพกะละโบ่รออยู่ในเมืองไทย คอยกลับไปพร้อมกันกับมังแยยางู ด้วยเหตุนี้กองทัพพม่าจึงตกค้างอยู่ ๒ กอง อังดีองปราบปรามขับไล่กันต่อมาอิกหลายเดือน.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่าอะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิศณุโลกแล้วเลิกทัพกลับไป ทรงโทมนัศน้อยพระไทยยิ่งนัก ความที่กล่าวนี้เมื่อคิดดูว่าพม่าเลิกทัพกลับไปก็เปนอันสิ้นสัตรู เหตุใดพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงกลับทรงโทมนัศ เห็นว่าคงเปนเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีหวังพระไทยอยู่ว่า ถ้าตั้งมั่นถ่วงเวลาไว้ได้ทั้งทางทัพหลวงแลทางพิศณุโลก ไม่ช้าเท่าใดเสมออิกสักเดือน ๑ กองทัพพม่าก็จะสิ้นเสบียงหมดกำลังเหมือนอยู่ในเงื้อมมือไทยที่จะทำได้ตามชอบใจ แต่ทางเมืองพิศณุโลกไม่รักษาเมืองไว้ให้ได้ ปล่อยให้พม่าได้เมืองแล้วเลิกทัพกลับไป ไม่ได้ทำให้สมคิด เห็นจะเปนข้อนี้ที่เปนเหตุให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโทมนัศน้อยพระไทยยิ่งนัก ในเวลานั้นคงเข้าพระไทยว่าพม่าเลิกทัพกลับไปด้วยขัดเสบียงอาหาร ยังไม่ทราบว่าเลิกไปเพราะมีท้องตราสั่งมาจากเมืองอังวะ.

ทีนี้จะกล่าวเรื่องความตามหนังสือพระราชพงษาวดารต่อไป พอพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบว่าพม่าเลิกทัพกลับไปจากเมืองพิศณุโลก ก็ให้กองทัพออกติดตามตีพม่าในทันทีเปนหลายกอง ให้พระยาพิไชยกับพระยาพิไชยสงครามยกไปกอง ๑ พระยาเทพอรชุน พระยารัตนพิมล พระยานครไชยศรี (ยกไปกอง ๑) ให้พระยาทุกขราษฎร์เมืองพิศณุโลก หลวงรักษ์โยธา หลวงอัคเนศร เปนกองน่า พระยาสุรบดินทร์เปนกองหลวงยกไปกอง ๑ ให้พระยาธิเบศร์บดีคุมพลอาสาจามยกไปกอง ๑ ทั้ง ๔ กองนี้ให้ไปตามตีกองทัพอะแซหวุ่นกี้ที่กลับไปทางเมืองตาก แล้วให้พระยาพลเทพ จมื่นเสมอใจราช หลวงเนาวโชติ ยกไปกอง ๑ พระยาราชภักดียกไปกอง ๑ ไปตามกองทัพมังแยยางูซึ่งยกไปทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ แลให้พระยานครสวรรค์กับพระยาสวรรคโลก ยกไปตามกองทัพกะละโบ่ซึ่งยกไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร ส่วนกองทัพหลวงรอรับครอบครัวราษฎรซึ่งแตกฉานลงมาจากเมืองพิศณุโลกอยู่ ๑๑ วัน แล้วมีรับสั่งให้พระยายมราชมารักษาค่ายที่บางเข้าตอกคอยรวบรวมครอบครัวต่อไป ถึงณวันพฤหัศบดี เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงลงมาประทับอยู่ที่ค่ายบางแขมในแขวงเมืองนครสวรรค์.

ฝ่ายกองทัพที่ยกไปติดตามพม่า กองทัพพระยาพลเทพ พระยาราชภักดี ซึ่งยกไปทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ ไปพบกองทัพมังแยยางูตั้งอยู่ที่บ้านนายมข้างใต้เมืองเพ็ชรบูรณ์ ทำนองมังแยยางูจะได้รับคำสั่งอะแซหวุ่นกี้แล้วกำลังยกทัพกลับมา กองทัพไทยก็เข้าระดมตี พม่าต้านทานไม่ไหว จะกลับมาทางเมืองพิศณุโลกก็ไม่ได้ ด้วยกองทัพไทยสกัดอยู่จึงพากันหนีขึ้นไปทางเหนือ ไปเข้าในแดนล้านช้าง แล้วกลับไปเมืองพม่าทางเมืองเชียงแสน ด้วยในเวลานั้นทั้งเมืองเวียงจันท์แลเมืองหลวงพระบางอ่อนน้อมยอมขึ้นอยู่กับพม่า แลเมืองเชียงแสนพม่าก็ยังปกครองอยู่.

พิเคราะห์ดูเรื่องราวในตอนนี้สงไสยว่าความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารผิดอยู่ ๒ ข้อ คือข้อ ๑ ที่พม่าเมืองเพ็ชรบูรณ์หนีกลับไปทางเมืองอุไทยธานี สอบดูแผนที่เห็นว่าห่างไกลกันนัก ทั้งจะต้องเดินผ่านกองทัพไทยมาหลายระยะ เห็นจะไม่มาได้ คงหนีไปทางเมืองล้านช้างแลเชียงแสนดังกล่าวในพงษาวดารพม่า อิกข้อ ๑ ซึ่งกล่าวว่ากองทัพเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์ตีหักออกจากที่ล้อมที่เมืองพิศณุโลก ไปตั้งรวบรวมไพร่พลที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ พอทราบว่าพม่าเลิกทัพกลับไปเจ้าพระยาทั้ง ๒ ก็ยกจากเมืองเพ็ชรบูรณ์ไปทางป่าพระพุทธบาท แล้วขึ้นไปติดตามตีพม่าทางเมืองศุโขไทย ข้อนี้เห็นว่าถ้ายกจากเมืองเพ็ชรบูรณ์จะไปติดตามตีพม่าโดยหนทางที่กล่าวนั้นอ้อมค้อมมากนัก มีทางใกล้ที่อาจจะตัดข้ามไปได้เปนหลายทาง ทำไมจึงไม่ไป อิกประการ ๑ ถ้าหากว่าตั้งอยู่เมืองเพ็ชรบูรณ์ก็คงจะได้รบกับกองทัพมังแยยางูที่ยกไป นี่ก็หาปรากฎว่าได้รบกันไม่ จึงเข้าใจว่าพระยาทั้ง ๒ เห็นจะไม่ได้ตั้งอยู่ที่เมืองเพ็ชรบูรณ์นาน จะอยู่พอรวบรวมกำลังที่ติดตามไป และสะสมเสบียงอาหารได้พอแล้วก็ยกลงมาเกณฑ์กำลังทางเมืองนครราชสิมาเพิ่มเติม ด้วยประสงค์จะยกกองทัพกลับขึ้นไปรบพม่าอิก ทำนองจะตั้งอยู่ที่เมืองไชยบาดาลฤๅเมืองสระบุรีเหล่านี้ พอได้ข่าวว่ากองทัพพม่ากลับไปจากเมืองพิศณุโลก จึงยกกองทัพเดินทางป่าพระพุทธบาท ผ่านแขวงลพบุรีขึ้นไปข้างเหนือ.

ทีนี้จะกล่าวเรื่องสงครามตอนขับไล่พม่าต่อไป ถึงเดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลบางแขม ได้ทรงทราบว่ามีพม่าตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชรประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ จึงตรัสสั่งให้กองทัพพระยายมราชเดินบกขึ้นไปทางแม่น้ำพิงฟากตวันตกกอง ๑ ให้กองทัพพระยาราชสุภาวดียกขึ้นไปทางฟากตวันออกกอง ๑ ให้พระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณบ้านโคนใต้เมืองกำแพงเพ็ชรยกขึ้นไปสมทบกันตีทัพพม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชร ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวงหนุนขึ้นไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง กองทัพไทยยกขึ้นไปยังไม่ทันถึง ได้ข่าวว่ากองทัพพม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชรยกหนีขึ้นไปข้างเหนือแล้วแต่ว่ามีกองทัพพม่าอิกกอง ๑ ประมาณคน ๑,๐๐๐ เศษยกวกหลังลงมาทางฝั่งตวันตก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้กองพระยานครสวรรค์ยกลงมาสมทบกองหลวง.

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ จึงยกกองทัพหลวงจากปากคลองขลุงกลับลงมาตั้งอยู่ที่ค่ายหลวงที่เมืองนครสวรรค์ ได้ข่าวว่ากองทัพพม่าที่เดินลงมาทางข้างตวันตกถึงเมืองอุไทยธานี เที่ยวเก็บทรัพย์จับคนแลเผาบ้านเรือนเสียแล้วยกเลยลงไปทางนารี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้เจ้าอนุรุธเทวากับหลวงเสนาภักดีคุมพลกองแก้วจินดาตามไปกอง ๑ แล้วให้มีตราสั่งกองทัพพระยายมราช พระยาราชสุภาวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโคนแขวงเมืองกำแพงเพ็ชร ให้ยกกลับลงมาตามกองทัพพม่าไปทางเมืองอุไทยธานีอิก ๒ กอง แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับคืนมายังพระนครเมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ.

ฝ่ายกองทัพพระยายมราชพระยาราชสุภาวดีได้รับตราสั่งก็ยกลงมาจากบ้านโคน เดินทางฟากตวันตกผ่านมาทางด่านเขาปูนด่านสลักพระ หมายจะไปตามตีพม่าทางเมืองอุไทยธานี มาพบกองทัพกะละโบ่กลับไปตั้งค่ายคอยกองทัพมังแยยางูอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ พระยาทั้ง ๒ มีกำลังน้อยตีค่ายพม่าไม่แตก จึงบอกลงมายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดำรัสสั่งให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ซึ่งกลับเข้ามาจากเมืองเพ็ชรบุรี คุมกองทัพขึ้นไปตีพม่าที่เมืองนครสวรรค์กอง ๑ แล้วให้พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ คุมทัพเรือจำนวนพล ๑,๐๐๐ ยกหนุนขึ้นไปอิกกอง ๑ แล้วไม่วางพระไทยเสด็จยกกองทัพหลวงโดยกระบวนเรือออกจากกรุงธนบุรีเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองไชยนาท ให้กรมขุนอินทรพิทักษ์กลับลงมารักษาพระนคร.

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปถึงค่ายหลวงเมืองไชยนาทดำรัสสั่งให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์กับเจ้าพระยามหาเสนา ยกขึ้นไปตีทัพกะละโบ่ซึ่งตั้งอยู่เมืองนครสวรรค์ แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามขึ้นไปเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ แต่จะมีเหตุอันใดเกิดขึ้นหาปรากฎไม่ ปรากฎแต่ว่าถึงณวันพุฒ เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ เสด็จกลับลงมายังกรุงธนบุรี ฝ่ายกองทัพกรมขุนอนุรักษ์สงครามกรมขุนรามภูเบศร์ แลเจ้าพระยามหาเสนายกขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เมืองนครสวรรค์ พม่าตั้งค่ายอยู่ประมาณจำนวนพลสัก ๑,๐๐๐ เศษ กองทัพไทยเข้าตีค่าย พม่าต่อสู้แขงแรง รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวันพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากกรุงธนบุรีอิกเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ พอเสด็จขึ้นไปถึงเมืองไชยนาทก็ได้ความว่าพม่าทิ้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์หนีลงมาทางเมืองอุไทยธานี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้กองทัพพระยายมราชกับกองทัพพระยาราชสุภาวดีแลกองมอญพระยารามัญวงศ์ยกไปสมทบกับกองทัพเจ้าอนุรุธเทวาซึ่งยกลงไปแต่ก่อน ช่วยกันติดตามตีทัพพม่าให้แตกฉาน กองทัพไทยไปทันพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวชแขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อกับเมืองสรรค์ ได้รบพุ่งกันพม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

เรื่องสงครามคราวนี้ พงษาวดารไทยกับพงษาวดารพม่ากล่าวความผิดกันเปนข้อสำคัญอยู่อย่าง ๑ ซึ่งควรจะวินิจฉัยตรงนี้ คือตามความในหนังสือพระราชพงษาวดารดังได้แสดงมา ดูเหมือนการที่รบกันคราวนี้ พม่าได้เปรียบแต่ต้นมาจนตีเมืองพิศณุโลกได้ ฝ่ายไทยเปนแต่รักษาตัวได้ไม่พ่ายแพ้พม่า เพราะฉนั้นเนื้อความดูประหนึ่งว่าที่อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาครั้งนี้มาทำได้ตามมุ่งหมายหมด เปนแต่พระเจ้าอังวะให้หากองทัพพม่าจึงได้เลิกทัพกลับไป แต่ในพงษาวดารพม่าหาว่าเช่นนั้นไม่ พงษาวดารพม่ากล่าวเหมือนกันหมดทุกฉบับว่าอแซหวุ่นกี้ยกกองทัพมาตีเมืองไทยคราวนี้ เอาไพร่พลมาล้มตายเสียเปนอันมาก ไม่สำเร็จประโยชน์อย่างใดแต่สักอย่าง ๑ รอดตัวแต่กลับไปได้เอง ไม่แตกหนีไทยไปเท่านั้น ความที่กล่าวแตกต่างกันอย่างนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่ามีความจริงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ตอนต้นพม่ามีรี้พลมากกว่าไทย รบพุ่งได้เปรียบไทยดังปรากฎรายการในหนังสือพระราชพงษาวดาร ครั้นเมื่อตีเมืองพิศณุโลกได้แล้วพม่าจึงจับเสียเปรียบไทยแต่นั้นมา ด้วยพม่าตีได้เมืองพิศณุโลกก็ได้แต่เมืองเปล่าของที่จำเปนต้องการ กล่าวคือเสบียงอาหารสำหรับกองทัพหามีในเมืองพิศณุโลกไม่ ด้วยเหตุนี้อะแซหวุ่นกี้จึงต้องแบ่งกองทัพให้ไปเที่ยวหาเสบียงอาหารที่เมืองเพ็ชรบูรณ์ทาง ๑ ที่เมืองกำแพงเพ็ชรทาง ๑ ให้ปลัดคุมทัพไปทั้ง ๒ ทาง ยังไม่ทันจะได้เสบียงอาหารก็ได้รับท้องตราให้หากองทัพกลับ เพราะฉนั้นเมื่ออะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพกลับไปนั้น เสมอทิ้งกองทัพมังแยยางูแลกองทัพกะละโบ่ไว้ให้ไทยทำตามชอบใจทั้ง ๒ ทัพ พิเคราะห์ตามรายการรบพุ่งที่ปรากฎ เข้าใจว่ากองทัพมังแยยางูแลกะละโบ่จะเหลือรี้พลกลับไปถึงเมืองพม่าได้น้อยทีเทียว แม้กองทัพอะแซหวุ่นกี้เองเมื่อยกกลับไปก็ไปในเวลาไพร่พลกำลังอดอยาก ผู้คนคงเจ็บป่วยล้มตายระส่ำระสายไปตลอดทาง หากลับไปเปนขบวนทัพอย่างเรียบร้อยได้เหมือนเมื่อขามาไม่ พวกกองทัพไทยที่ยกไปติดตาม แต่แรกบางทีจะยังสำคัญว่ากองทัพอะแซหวุ่นกี้มีกำลังมาก ไม่กล้าติดตามคลุกคลีเข้าไปใกล้นัก ทีหลังเห็นพม่าล้าเลื่อยล้มตายมีมากขึ้น จึงทราบว่ากองทัพอะแซหวุ่นกี้ระส่ำระสาย แต่รู้ต่อเมื่อทัพพม่าหนีไปเสียไกลแล้วจึงติดตามทุ่มเทด้วยทัพใหญ่ไม่ทัน ความที่กล่าวมานี้ก็มีเนื้อความในหนังสือพระราชพงษาวดารประกอบว่า เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากเมืองไชยนาท ถึงเมืองนครสวรรค์ดำรัสสั่งให้กรมขุนรามภูเบศร์กับเจ้าพระยาอินทรอภัยอยู่รักษาค่ายที่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกกองทัพหลวงเลยขึ้นไปเมืองตาก ให้นายทัพนายกองออกเที่ยวติดตามพม่า จับเปนมาได้ ๓๐๐ เศษ พม่าหลบหนีออกไปนอกพระราชอาณาเขตรหมดแล้วจึงเสด็จกลับคืนมายังกรุงธนบุรีดังนี้.

การสงครามคราวอะแซหวุ่นกี้มาตีหัวเมืองเหนือครั้งนี้ ไทยกับพม่ารบกันมาตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ จนเดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ รวมเวลาได้ ๑๐ เดือนจึงได้เลิกรบ ไม่ได้ไชยชนะกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ฝ่ายพม่ายกมารบพุ่งเสียรี้พลเปนอันมากไม่สำเร็จประโยชน์ที่ยกทัพมา ถึงได้ครัวชาวเมืองพิศณุโลกไปบ้างอย่างมากก็จะไม่กว่า ๒,๐๐๐ คน ไม่คุ้มค่าที่มาเสีย เพราะฉนั้นผู้แต่งพงษาวดารพม่าจึงลงเนื้อเห็นว่าอะแซหวุ่นกี้มาแพ้ไทยไป.

  1. ๑. พม่ากองนี้ คือกองกะละโบ่ ซึ่งกล่าวในพงษาวดารพม่าว่าอะแซหวุ่นกี้ให้อยู่รอกองทัพมังแยยางู คงไม่ทราบว่ามังแยยางูหนีไปทางล้านช้างแล้ว.

  2. ๒. พม่าทางตวันตกมีแต่พวกกะละโบ่พวกเดียว ที่ว่าวกหลังลงมาก็ดี ที่ไปเผาเมืองอุไทยก็ดี คงเปนพวกกะละโบ่นั้นเอง.

  3. ๓. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พม่ากองนี้หนีไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร แต่พงษาวดารพม่าว่า กะละโบ่หนีไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะถูกตามพงษาวดารพม่า เพราะทางเหนือขัดสนเสบียงอาหาร ทั้งมีกองทัพไทยสกัดอยู่หลายกอง กะละโบ่เห็นจะมาออกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ข้าพเจ้าจึงแก้ความตรงนี้เข้าหาพงษาวดารพม่า.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ