- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
ตั้งแต่กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร ฯ เปนราชธานีของสยามประเทศ มาจนประเทศพม่าเสียอิศรภาพตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ รวมเวลา ๑๐๓ ปี ไทยได้ทำสงครามกับพม่ารวม ๑๐ ครั้ง เปนสงครามฝ่ายพม่ามาบุกรุก ๕ ครั้ง ฝ่ายไทยไปบุกรุก ๕ ครั้ง ถ้ากำหนดตามรัชกาล ไทยกับพม่าทำสงครามกันเมื่อในรัชกาลที่หนึ่ง ๗ ครั้ง รัชกาลที่สอง ครั้ง ๑ รัชกาลที่สาม ครั้ง ๑ รัชกาลที่สี่ ครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ห้าเปนแต่เพียงยกกองทัพไปขับไล่พม่า หาถึงรบพุ่งกันไม่ ถ้าว่าโดยกระบวนรบ รบกันเข้มงวดอยู่แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ยุคเดียว ต่อมาก็เปนอย่างวิวาทกันทางปลายแดน หาถึงรบรับขับเคี่ยวกันเหมือนเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ไม่.
ในรัชกาลที่ ๑ พระเจ้าปดุงได้ครองเมืองพม่า มีอานุภาพมากเหมือนทำนองพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองแต่ปางก่อน พยายามจะตีเอาเมืองไทยให้จงได้ ยกกองทัพมาเปนการใหญ่หลวงยิ่งกว่าศึกพม่าครั้งไหน ๆ ที่เคยปรากฎมาในพงษาวดาร ฝ่ายไทยต่อสู้ด้วยใช้ยุทธวิธีซึ่งคิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เอาไชยชำนะพม่าได้ ทีหลังพม่าก็ครั่นคร้าม ไทยจึงไปตีเมืองพม่าบ้าง แต่ได้เมืองพม่าไม่ ได้แต่หัวเมืองลื้อเขินของพม่ามาเปนของไทย.
ถึงรัชกาลที่ ๒ พม่าเตรียมจะมาตีเมืองไทยอิก แต่มีเหตุขัดขวางเสียทั้ง ๒ คราว คราวแรกเปนแต่มาปล้นหัวเมืองในมณฑลภูเก็จมีเมืองถลางเปนต้น กองทัพกรุงฯ ลงไปปราบปรามก็พ่ายแพ้ไป คราวหลังพอเตรียมทัพกันทั้ง ๒ ฝ่าย พเอิญเกิดเหตุในเมืองพม่า ๆ ต้องถอนกองทัพไปทางอื่น ก็เลยไม่ได้รบกัน คราวหลังจึงหานับในจำนวนสงครามไม่.
ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่ออังกฤษตีเมืองพม่าครั้งแรก อังกฤษมาขอให้กองทัพไทยไปช่วยรบพม่า กองทัพไทยได้ยกไปถึงเมืองเมาะตมะ แลได้ช่วยรบพุ่งบ้างแต่ไม่มากนัก เรื่องการสงครามครั้งนี้ในหนังสือพระราชพงษาวดารเปนแต่กล่าวถึง หามีรายการปรากฎไม่ ข้าพเจ้าได้พบรายการในจดหมายเหตุเก่าบ้าง พบในจดหมายเหตุของเฮนรีเบอร์นีทูตอังกฤษ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยในเวลาการสงครามครั้งนั้นบ้าง เห็นว่าเรื่องราวมีคติน่ารู้ จึงได้ลองคัดเนื้อความมาเรียบเรียงให้ปรากฎรายการในหนังสือเรื่องนี้ ที่ว่าเปนคติน่ารู้นั้นไม่ใช่ในกระบวนรบพุ่ง ที่จริงเรื่องรบพุ่งไม่สู้มีสาระอันใดนัก คติอยู่ในเรื่องราวที่ไทยกับอังกฤษเปนสัมพันธมิตรกันครั้งนั้นอย่างแปลกปลาด เพราะทั้ง ๒ ข้างต่างถือลัทธิธรรมเนียมต่างกัน ความนิยมก็ต่างกัน ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างไม่รู้ลัทธิธรรมเนียมแลความนิยมของกันแลกัน ใช่แต่เท่านั้น ซ้ำไม่ชอบกันแลไม่ไว้ใจกันด้วย ที่เกิดเปนสัมพันธมิตรกันเพราะอังกฤษอยากจะได้กำลังช่วยรบพม่า เห็นว่าไทยเปนศัตรูกับพม่าสืบมาแต่ชั่วปู่ย่าตายาย จึงมาชวนไทยไปรบ ด้วยเห็นว่าจะประโยชน์แก่อังกฤษ โดยไม่สู้ต้องลงทุนรอนแลกเท่าไรนัก ฝ่ายข้างไทยก็อยากจะรบพม่า เพราะเห็นว่าได้ทีที่พม่าติดศึกอิกทาง ๑ แต่มุ่งหมายจะทำแต่เพียงที่สมแก่ประโยชน์ของเมืองไทยเท่านั้น กิริยาที่เปนสัมพันธมิตรกันจึงเกิดเข้าใจผิดกันต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนปลาย บางคราวถึงเกือบจะเกิดรบกันขึ้นเองก็มี แต่รัฐบาลทั้ง ๒ ฝ่ายต่างพยายามรักษาทางไมตรีดีกันมาได้จนตลอดการสงคราม จึงเห็นว่าเรื่องเปนคติน่ารู้ แต่ต้องอ่านด้วยทรงไว้ในใจอย่าง ๑ ว่าในสมัยนั้นเรายังไม่ได้เคยสมาคมกับชาวยุโรป ทั้งความรู้แลความนิยมก็ยังเปนอย่างโบราณ ควรจะพิจารณาดูแต่ทางการอันเปนความมุ่งหมายของรัฐบาลในสมัยนั้น ก็จะแลเห็นว่าท่านตริตรองเลือกฟั้นด้วยรู้ว่าอย่างไรจะเปนประโยชน์ฤๅมิเปนประโยชน์แก่เมืองไทย แลพยายามรักษาประโยชน์ไว้ได้ในที่สุด ซึ่งที่แท้เห็นว่าควรจะสรรเสริญ.
ถึงรัชกาลที่ ๔ ไทยไปบุกรุกตีเมืองเชียงตุงจึงเกิดรบพม่า เหตุสงครามครั้งนี้ที่จริงเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๓ เปนมรฎกตกมาถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง เพราะเหตุการณ์ทำให้เห็นว่าจำเปน มิใช่ได้ตระเตรียมโดยปราถนาจะตีเมืองพม่า ด้วยเหตุนี้จึงทำการไม่สำเร็จ ไทยกับพม่าได้รบกันครั้งนี้เปนครั้งที่สุดซึ่งปรากฎมาในพงษาวดาร ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้ามินดงซึ่งครองแผ่นดินพม่าถูกอังกฤษชิงเอาหัวเมืองมอญเสียหมด หันมาปราถนาจะเปนไมตรีกับไทย ได้พยายามจะทำทางไมตรีหลายครั้ง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นประโยชน์ที่จะเปนไมตรีกับพม่าก็ทรงเฉยเสีย
ในรัชกาลที่ ๕ มีพวกพม่าเงี้ยวเขินซึ่งเปนคนของพม่า เข้ามาตั้งภูมิลำเนาที่เมืองเชียงแสน แต่แรกเปนแต่อพยพเข้ามาตั้งทำมาหากินคราวละครัวหนึ่งสองครัว ว่าจะมาขอพึ่งพระบารมีอยู่อย่างเปนราษฎรพลเมือง ครั้นนานเข้าพวกพม่ามาอยู่ด้วยกันมากขึ้นถึงพันเศษก็ตั้งต้นปกครองกันเอง ไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ จึงโปรดให้กองทัพเจ้านายในมณฑลพายัพยกขึ้นไปขับไล่พวกพม่าเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๑๘ พวกเมืองพม่าจึงทิ้งเมืองเชียงแสนหนีกลับไปเมืองพม่า.
การสงครามในระหว่างไทยกับพม่าในชั้นกรุงเทพฯ มีเรื่องราวเปนเค้าเงื่อนดังแสดงมา แต่นี้จะอธิบายรายการให้ปรากฎต่อไป.