สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ พิเคราะห์ดูในรายวันการทัพที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร เห็นได้ว่าเปนการต่อเนื่องกับเรื่องพม่าตีเมืองสวรรคโลกที่กล่าวมาแล้ว ด้วยปรากฎว่าโปมะยุง่วนมาล้อมเมืองสวรรคโลกเมื่อเดือน ๓ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ ถึงเดือน ๔ ปีขาลนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพออกจากพระนครไปตีเมืองเชียงใหม่ ดังนี้ รายการในระหว่างนั้นจะพอสันนิฐานได้ว่า เมื่อเจ้าพระยาพิไชยราชาได้ทราบข่าวว่าพม่าจะยกกองทัพมา คงมีใบบอกลงมายังกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพม่ายกกองทัพมาถึงเมืองสวรรคโลกก็คงบอกตามลงมาอิกครั้ง ๑ ใบบอกเห็นจะมาถึงกรุงธนบุรีในเดือน ๓ ขณะนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงกลับลงมาจากเมืองเหนือ พึ่งมาถึงกรุงธนบุรีไม่ช้านัก ผู้คนแลพาหนะกองทัพเห็นจะยังไม่ทันกระจัดกระจายไป ครั้นได้ทราบความตามใบบอกว่า โปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกมาเองก็ทรงพระวิตก ด้วยหัวเมืองเหนือพึ่งตีได้ใหม่ๆ ผู้คนพลเมืองยังไม่เปนปึกแผ่น แลยังไว้ใจไม่ได้ทีเดียว เพราะเปนข้าศึกกันมาไม่ช้านัก ด้วยเหตุนี้จึงรีบรวบรวมผู้คนเข้ากองทัพหลวงเสด็จยกกลับขึ้นไปอิกในเดือน ๔ ปีขาล เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงกลางทาง เห็นจะเกือบถึงเมืองนครสวรรค์ จึงทรงทราบว่าพวกเจ้าเมืองเหนือได้ช่วยกันรบพุ่งตีพม่าแตกหนีไปหมดแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่เสด็จกลับลงมาพระนคร เลยยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองพิไชย เรียกกองทัพหัวเมืองเข้าสมทบแล้วเสด็จเลยไปตีเมืองเชียงใหม่ รายการเห็นจะเปนดังกล่าวมานี้.

เหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทำนองจะเปนด้วยทรงพระราชดำริห์เห็นว่า กำลังพม่าที่เมืองเชียงใหม่ไม่สู้มากมายใหญ่หลวงนัก ทางเมืองอังวะก็กำลังติดศึกจีนยังจะส่งกำลังมาช่วยไม่ได้ พม่าเมืองเชียงใหม่แตกไปจากเมืองสวรรคโลกใหม่ ๆ กำลังครั่นคร้าม ถ้าติดตามขึ้นไปทันทีบางทีจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ อนึ่งกองทัพที่จะไปตีเมืองเชียงใหม่ทั้งทัพหลวงแลทัพหัวเมืองก็มีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องกะเกณฑ์ผู้คนมาใหม่ เปนแต่สั่งให้ยกต่อขึ้นไป ถ้าตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จก็จะเปนประโยชน์อย่างสำคัญ เหมือนกับตัดกำลังพม่ามิให้มาทำร้ายได้เหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า โดยหากจะตีเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ก็ยังเปนประโยชน์ที่จะได้รู้ภูมิลำเนาไว้สำหรับคิดการข้างน่าต่อไป คงเปนเพราะทรงพระราชดำริห์ดังว่ามานี้ จึงยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อต้นปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔.

กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิไชย รวมจำนวนพลได้ ๑๕,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เปนนายทัพน่าคุมพลหัวเมืองยกไปก่อน แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเปนจอมพลยกกองทัพหลวงตามไป เดินทัพไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถินแลเมืองลี้ ครั้งนั้นพวกเจ้าเมืองรายทาง มีพระยาแพร่มังไชยเปนต้น มาสวามิภักดิ์ก็มาก ที่ไม่มาสวามิภักดิ์ก็มิได้ต่อสู้ กองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนได้โดยสดวก ฝ่ายโปมะยุง่วนเห็นข้าศึกยกขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วก็ไม่มาต่อสู้กลางทาง รีบให้กองทัพออกมาตั้งค่ายรับอยู่นอกเมือง กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ยกขึ้นไปถึงตีค่ายนอกเมืองแตก โปมะยุง่วนให้กองทัพถอยกลับเข้าเมือง ทิ้งแนวกำแพงชั้นนอก ซึ่งแก้ไขใช้เชิงเทินดินที่ทหารไทยสร้างครั้งสมเด็จพระนารายน์ล้อมเองเชียงใหม่นั้นเสีย รักษาแต่ป้อมปราการชั้นใน กองทัพกรุงธนฯ ก็เข้าไปตั้งล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าปล้นเมืองครั้ง ๑ รบกันตั้งแต่เวลาสามยามจนรุ่งสว่างเข้าเมืองไม่ได้ก็ต้องถอยกลับออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์ว่าเมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคง จึงมีคำปรัมปรากล่าวกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุทธยาว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่ ๒ จึงจะได้ฉนี้ กองทัพที่ยกขึ้นไปครั้งนั้นก็รีบรวบรวมยกไปโดยปัจจุบันทันด่วน ทั้งจำนวนพลแลเสบียงอาหารไม่พอจะทำการขับเคี่ยวตีเอาเมืองเชียงใหม่ได้ ก็สมกับคำพยากรณ์อยู่แล้ว เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ได้ ๙ วันจึงดำรัสสั่งให้ถอยทัพกลับมา.

ครั้งนั้นโปมะยุง่วนเห็นไทยถอยทัพได้ทีก็ให้กองทัพออกติดตามตี พวกพม่าก้าวสกัดยิงกองทัพหลังระส่ำระสายตื่นแตกมาจนถึงกองทัพหลวง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นกองทัพหลังเสียทีข้าศึกก็เสด็จลงไปคุมกองหลัง ทรงพระแสงดาบเข้าสู้รบข้าศึกเอง พวกนายไพร่พลทหารก็กลับใจได้ เข้ารุกรบข้าศึกถึงตลุมบอน ข้าศึกต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป แต่นั้นกองทัพกรุงธนฯ ก็กลับมาได้โดยสดวก พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับลงมาเรือพระที่นั่งที่เมืองพิไชย แล้วก็ล่องลงมายังพระนคร.

ฝ่ายกรุงกัมพูชา ตั้งแต่กองทัพไทยถอยมาจากเมืองพระตะบองแลเมืองเสียมราฐ เมื่อต้นปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ สมเด็จพระนารายน์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชาเข้าพระไทยว่า คงมีเหตุการณ์อย่างไรเกิดขึ้นในเมืองไทยก็คอยตรับฟังอยู่ ครั้นต่อมาได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพลงมาทางเมืองเหนือ ก็คาดว่าไทยคงจะแพ้พม่าอิก เห็นเปนท่วงทีจึงให้นักพระโสทศเจ้าเมืองเปี่ยมยกกองทัพมาตีเมืองตราษเมืองจันทบุรีเมื่อปลายปีขาล เวลานั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพเมืองจันทบุรีตีกองทัพเขมรแตกกลับไป พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับลงมาจากเมืองเชียงใหม่ ทรงขัดเคืองเขมร ครั้นพักรี้พลหายเหนื่อยแล้ว ถึงปลายระดูฝนก็ให้เตรียมทัพไปตีกรุงกัมพูชา ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีแขกไปตามเสด็จเมืองเหนือกลับมาถึงอสัญกรรม จึงทรงตั้งพระยายมราช (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์) ซึ่งรั้งตำแหน่งสมุหนายก เปนเจ้าพระยาจักรีเต็มตำแหน่ง แลตั้งพระยาราชบังสันบุตรเจ้าพระยาจักรีแขกเปนพระยายมราช แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่ทัพบกคุมพล ๑๐,๐๐๐ ยกไปทางเมืองปราจิณบุรี พาพระรามราชาไปในกองทัพสำหรับจะได้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรด้วย ให้กองทัพบกตีเมืองพระตะบองเมืองโพธิสัตว์เข้าไปจนถึงเมืองบันทายเพ็ชร ซึ่งเปนราชธานีของกรุงกัมพูชา ส่วนกองทัพเรือมีจำนวนเรือรบ ๑๐๐ ลำ เรือทเล ๑๐๐ ลำ จำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ให้พระยาโกษาธิบดีเปนกองน่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จเปนจอมพลในกองหลวง ยกออกจากพระนครเมื่อแรมเดือน ๑๑ ไปประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี ให้พระยาโกษาธิบดีกองน่ายกลงไปตีเมืองกำพงโสมก่อน ต่อมาอิก ๖ วันพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพหลวงตามลงไป เสด็จไปถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ ให้เกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศให้มาอ่อนน้อมโดยดี พระยาราชาเศรษฐีไม่มาอ่อนน้อม จึงมีรับสั่งให้ตีเมืองบันทายมาศ ก็ได้เมืองเมื่อณวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๒ นั้น พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองลงเรือหนีออกทเลไปได้ ครั้นได้เมืองบันทายมาศแล้วจึงเสด็จยกกระบวนทัพเรือเข้าคลองขุดไปยังเมืองพนมเป็ญ.

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรียกกองทัพบกลงไป ตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ แลเมืองบริบูรณ์เข้าไปโดยลำดับ ยังแต่จะถึงเมืองบันทายเพ็ชร สมเด็จพระนารายน์ราชาเห็นว่าจะสู้รบต้านทานไม่ไหวก็ทิ้งเมืองบันทายเพ็ชรอพยพครอบครัวหนีไปเมืองบาพนม เจ้าพระยาจักรีได้เมืองบันทายเพ็ชร ให้พระรามราชาตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนอยู่ที่นั้นแล้ว ก็ลงไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองพนมเป็ญ จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพตามไปยังเมืองบาพนม แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไป ไปได้ความว่าสมเด็จพระนารายน์ราชาหนีลงไปเมืองญวนแล้ว ก็เสด็จกลับมาประทับอยู่ที่เมืองพนมเป็ญ.

ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีตีได้เมืองกำพงโสมแล้ว จะไปตีเมืองกำปอดต่อไป แต่พระยาปังกลิมาเจ้าเมืองกำปอดมายอมอ่อนน้อมโดยดี จึงพาพระยาปังกลิมามาเฝ้าณเมืองพนมเป็ญ ฝ่ายเจ้าพระจักรียกไปถึงเมืองบาพนมไม่มีใครต่อสู้ ครั้นจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาเฝ้าที่เมืองพนมเป็ญเหมือนกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชาแก่พระรามราชาแล้ว ก็เลิกทัพกลับคืนมาพระนครในเดือนอ้าย ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔.

ครั้นกองทัพกรุงธนบุรีกลับมาแล้ว สมเด็จพระนารายน์ก็ขอกำลังญวนป้องกันตัว กลับขึ้นมาตั้งอยู่ที่แพรกปรักปรัด แต่กลัวไทยไม่กล้ามาอยู่เมืองบันทายเพ็ชรอย่างเดิม ฝ่ายพระรามราชาก็ตั้งอยู่ณเมืองกำปอดไม่กล้าขึ้นไปอยู่เมืองบันทายเพ็ชรด้วยกลัวญวน หัวเมืองในกรุงกัมพูชาจึงแยกกันเปน ๒ ฝ่าย ฝ่ายใต้ขึ้นแก่สมเด็จพระนารายน์ ฝ่ายเหนือขึ้นแก่พระรามราชา เปนดังนี้มาจนพวกไกเซินเปนขบถขึ้นในเมืองญวน ราชวงศ์ญวนเสียบ้านเมืองแก่พวกขบถ สมเด็จพระนารายน์ไม่ได้อำนาจญวนอุดหนุนก็ว้าเหว่ จึงให้มาว่ากล่าวกับพระรามราชาขอปรานีประนอมจะยอมให้พระรามราชาครองกรุงกัมพูชา ส่วนสมเด็จพระนารายน์จะลดลงมาเปนที่ ๒ พระรามราชาก็บอกเข้ามายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบก็ทรงพระโสมนัศ จึงโปรดให้อภิเษกนักองค์นนท์เปนสมเด็จพระรามราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงตั้งนักองค์ตน ซึ่งเปนสมเด็จพระนารายน์ให้เปนที่มหาอุปโยราช แลให้นักองค์ธรรมเปนที่มหาอุปราช แต่นั้นกรุงกัมพูชาก็เปนประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีเหมือนอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อนมา.

  1. ๑. เรื่องเขมรมาตีเมืองตราษเมืองจันทบุรี มีในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา แต่หามีในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ