ตอนที่ ๑๓

ฝ่ายทางกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่เบอร์นีทราบว่าอังกฤษตีกองทัพพม่าแตกไปจากเมืองแปร ก็มีหนังสือมาถึงเสนาบดีเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ (ตรงกับวันพฤหัศบดี เดือนยี่ แรม ๑๑ ค่ำ) ความว่าได้รับหนังสือทราบข่าวมาว่าอังกฤษได้รบกับพม่าที่ริมเมืองแปร รบกันอยู่ ๓ วันตีกองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยิน จนพระเจ้าอังวะต้องให้ทูตมาขอเลิกรบพุ่งกับแม่ทัพอังกฤษ การสงครามจะเลิกกันโดยความตกลงว่า พม่าจะยกเมืองอัสสัมแลเมืองอื่นๆ ที่อยู่ทางทิศเดียวกันให้อังกฤษ แลจะยกหัวเมืองใต้ ๔ เมือง คือเมืองเร้ เมืองทวาย เมืองมฤท แลเมืองตะนาวศรี ให้แก่อังกฤษด้วย นอกจากนั้นพม่ายังจะต้องเสียเงินใช้ค่าที่อังกฤษต้องลงทุนมารบพุ่งอิกมากมาย อังกฤษจะได้เกียรติยศในการสงครามครั้งนี้ยิ่งนัก.

ขอให้ท่านเสนาบดีระฦกดูว่า ตั้งแต่นายร้อยเอกเบอร์นีเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ได้พยายามตักเตือนให้ส่งกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาให้ยกไปเมืองเมาะตมะสักกี่ครั้ง เพื่อจะให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ส่วนพระเกียรติยศอย่างนั้นบ้าง แต่เปนเคราะห์ของนายร้อยเอกเบอร์นี ที่ไม่สามารถจะทำให้ท่านเสนาบดีเชื่อถือได้ ครั้นจะกราบทูลต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเอง โดยนายร้อยเอกเบอร์นีเห็นว่าพระองค์ทรงพระปรีชาญาณยิ่งกว่าใคร ๆ ที่ในกรุงเทพ ฯ นี้ ก็ติดด้วยเปนการผิดขนบธรรมเนียมบ้านเมือง.

แต่นายร้อยเอกเบอร์นียังมีความประสงค์จะให้เปนความดีด้วยน้ำใจเปนไมตรีต่อกรุงสยามอยู่ไม่สิ้น เพื่อจะแสดงให้เห็นจริงในความที่กล่าวนี้ บัดนี้ขอกราบบังคมทูลฯ แลขอชักชวนท่านเสนาบดีกรุงสยามให้แต่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญา รีบไปเมืองเมาะตมะกับนายร้อยเอกเบอร์นี ฤๅนายร้อยเอกแมคฟาคาด้วยกันโดยเร็ว เพื่อจะได้ไปปฤกษากับข้าหลวงอังกฤษที่เมืองอังวะ ฟังดูว่าเมืองเมาะตมะฤๅเมืองใดควรจะได้มาเปนของไทยในขณะนี้ ทั้งจะได้สืบสวนถึงการที่จะปักปันเขตรแดนกรุงสยามกับเมืองทวายเมืองมฤท ที่ตกเปนของอังกฤษนั้นด้วย.

นายร้อยเอกเบอร์นีขอให้ท่านเสนาบดีอ่านอักษรสาส์น ซึ่งผู้สำเร็จราชการอินเดียให้นายร้อยเอกเบอร์นีเชิญมาถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามดูอิกสักครั้ง ๑ แล้วพิเคราะห์ประกอบกับถ้อยคำของนายร้อยเอกเบอร์นีที่กล่าวมาครั้งนี้ ก็จะเห็นได้ว่าชี้แจงโดยฐานที่เปนมิตรไมตรี เพื่อประโยชน์อย่างสำคัญของกรุงสยามอย่างแท้จริง สิ้นความในหนังสือของเบอร์นีเท่านั้น.

ถึงณวันอาทิตย์เดือนยี่ แรม ๑๔ ค่ำ เสนาบดีให้พระยาพิพัฒโกษามีหนังสือตอบเบอร์นี ความว่า เดิมแม่ทัพอังกฤษมีหนังสือมาว่า พม่าเปนชาติที่ชั่วร้าย เที่ยวเปนสัตรูของเมืองอื่นทั่วไป พม่าจะไปทำร้ายอังกฤษ ๆ จึงได้ให้กองทัพยกมาตีเมืองพม่า ไทยก็เปนสัตรูของพม่ามาแต่โบราณ ทั้งเปนมิตรมีทางไมตรีกับอังกฤษ ๆ จึงทูลขอต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้ทรงแต่งกองทัพไทยไปสมทบกับกองทัพอังกฤษ ช่วยกันรบพม่าให้ถึงเมืองอังวะอันเปนราชธานีของข้าศึก จนกระทั่งพม่าพ่ายแพ้ยับเยินให้จงได้ อังกฤษกับไทยจะได้อยู่เย็นเปนศุขสืบไป.

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบความในหนังสือซึ่งอังกฤษมีมาก็ทรงพระโสมนัศ ตั้งพระราชหฤไทยจะให้กองทัพไทยยกไปช่วยรบพม่า แลกองทัพที่จะยกไปนั้น มิใช่จะให้ไปแต่เปนหมวดกองน้อยๆ จะให้กองทัพใหญ่ยกไปตีเมืองพม่าทาง ๑ ฝ่ายอังกฤษจะได้ตีขึ้นไปอิกทาง ๑ จึงโปรดให้มีหนังสือตอบไปยังแม่ทัพอังกฤษว่า ถ้าได้เมืองทวายแลเมืองเมาะตมะไว้ในบังคับบัญชาของไทย ก็จะให้กองทัพใหญ่ยกไป หนังสือนี้ก็ได้ให้นายร้อยเอกเบอร์นีดู แลได้บอกให้ทราบว่า ถ้าแม่ทัพอังกฤษยินยอมตามที่เสนาบดีว่าไปในหนังสือนั้นแล้ว กองทัพไทยก็จะยกไป แต่ข้างฝ่ายอังกฤษ มีหนังสือของผู้รักษาเมืองเมาะตมะมาหลายครั้ง ก็เปนแต่เร่งจะให้กองทัพไทยยกไปโดยเร็ว แต่ส่วนเรื่องเมืองทวายแลเมืองเมาะตมะหาตอบมาว่าประการใดไม่ ก็มอญแลทวายที่เปนพรรคพวกของพม่าข้าศึก ยังมีอยู่ในพื้นเมืองเปนอันมาก ถ้าหากว่าไม่ได้บ้านเมืองที่กองทัพจะต้องยกผ่านไปไว้ในอำนาจ ให้ผู้บังคับบัญชาผู้คนในท้องที่ได้ กองทัพจะยกเข้าไปก็ไม่เปนที่ไว้วางใจ ท่านเสนาบดีเห็นว่าเพราะอังกฤษอยากจะเอาเมืองเมาะมตะแลเมืองทวายไว้เปนของอังกฤษ จึงไม่ตอบมาว่าประการใดให้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้กองทัพไทยจึงต้องรออยู่ ยังยกไปไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ว่าพระเจ้าอังวะให้ทูตมาที่เมืองมะลวน แลยอมจะเสียเงินให้แก่อังกฤษ ๆ ก็จะยอมอย่าทัพกับพม่าแล้ว เมื่อเช่นนั้นกำลังกองทัพไทยเดี๋ยวนี้ก็ไม่เปนประโยชน์อย่างใดแล้ว.

ข้อที่นายร้อยเอกเบอร์นีอยากจะให้ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายไทยที่มีสติปัญญา ไปพูดจากับแม่ทัพอังกฤษ เผื่อจะได้เมืองเมาะตมะ ฤๅเมืองอื่นเมืองใดมาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเสนาบดีขอบใจนายร้อยเอกเบอร์นีแล้ว ที่ฝ่ายไทยบอกไปว่าต้องประสงค์เมืองทวายเมืองเมาะตมะแต่ก่อนนั้น ก็เพราะเห็นว่าจะต้องยกกองทัพไปสมทบกับอังกฤษตีเมืองพม่า แต่เดี๋ยวนี้กองทัพไทยก็ไม่ได้ยกไป อังกฤษก็เลิกรบกับพม่าแล้ว เมืองทวายแลเมืองเมาะตมะอังกฤษตีได้ก็เอาไว้เปนของอังกฤษเถิด ไทยหาต้องการไม่ ส่วนเขตรแดนที่ต่อกับพระราชอาณาเขตรเมื่อครั้งเมืองเหล่านั้นยังเปนของพม่าอย่างไรก็ให้เปนไปอย่างนั้น ไทยหาปราถนาจะไปเหลื่อมล้ำเขตรแดนของอังกฤษไม่ อย่าให้นายร้อยเอกเบอร์นีมีความวิตกเลย ที่เจ้าเมืองบังกล่าให้นายร้อยเอกเบอร์นีเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี แลคิดอ่านให้การค้าขายเจริญขึ้น ฝ่ายไทยก็ขอบใจในการที่นายร้อยเอกเบอร์นีได้มาทำมีความประสงค์จะให้การค้าขายแลทางไมตรีในระหว่างไทยกับอังกฤษเจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเหมือนกัน.

ข้อที่นายร้อยเอกเบอร์นีขอให้นำความที่ว่ามาในหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลนั้น เดี๋ยวนี้ก็สิ้นคดีที่ควรจะกราบบังคมทูลเสียแล้ว ท่านเสนาบดีจึงขอแจ้งให้นายร้อยเอกเบอร์นีทราบแต่ท้องตราที่โปรดให้มีสั่งไปตามหัวเมือง ด้วยเจ้าพระยามหาโยธาบอกมากราบบังคมทูลฯ ว่าแม่ทัพอังกฤษมีหนังสือมาว่า เดี๋ยวนี้พม่ายอมแพ้อังกฤษ การสงครามเลิกกันแล้ว อย่าให้กองทัพไทยยกออกไปเลย จึงโปรดให้มีท้องตราสั่งให้งดกองทัพที่ได้กะเกณฑ์เตรียมจะยกไปช่วยอังกฤษนั้นเสีย เพราะอังกฤษได้ยอมดีกับพม่าเสียแล้ว ส่วนกองทัพที่ได้ยกไปแล้วก็ให้กลับคืนมายังบ้านเมือง ให้เจ้าเมืองกรมการระวังตรวจตราด่านทางแลให้คิดอ่านจับพม่ามาถามตามประเพณีแต่ก่อน ให้ได้ความว่าบ้านเมืองที่อังกฤษตีได้แล้ว เอาไว้เปนของอังกฤษเพียงไหน แลคืนให้พม่าเพียงไหน กระแสรับสั่งมีดังนี้แล้ว ท่านเสนาบดีจึงมิอาจจะนำความในหนังสือของนายร้อยเอกเบอร์นีขึ้นกราบบังคมทูล.

หนังสือนี้พระยาพิพัฒโกษาเขียนตามบัญชาท่านเสนาบดีเมื่อณวันอาทิตย์เดือนยี่แรม ๑๔ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๘๗ พ.ศ. ๒๓๖๘.

เบอร์นีมืหนังสือมาถึงเสนาบดีอิกฉบับ ๑ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ คฤศตศก ๑๘๒๖ (ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๑๔ ค่ำ) ว่าขอให้นำความในหนังสือที่มีมาเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ให้จงได้ ถ้าไม่กราบทูล ฯ เห็นเจ้าเมืองบังกล่าจะว่าไม่รักษาทางไมตรี.

เสนาบดีจึงตอบไปเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ว่าเสนาบดีได้พร้อมกันให้เจ้าพระยาพระคลังนำความในหนังสือของนายร้อยเอก เบอร์นี มีมาฉบับหลัง ขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ให้ทรงทราบแล้ว มีกระแสรับสั่งว่ากรุงเทพมหานครได้รบพุ่งกับพม่าแต่โบราณมากว่า ๑๐๐ ปี ไม่เคยได้ยินว่าพระมหากระษัตราธิราชแต่ปางก่อนยอมคืนบ้านเมืองที่ตีได้ให้แก่พม่า ฤๅยอมลดหย่อนผ่อนผันให้แก่พม่าอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งนายร้อยเอกเบอร์นีคิดเห็นโดยสติปัญญาสามารถ ว่าจะไปคิดอ่านเอาเมืองเมาะตมะมาถวายนั้น ก็เปนเจตนาอันดี มีความขอบใจแล้ว แต่เมืองเมาะตมะอยู่ห่างไกลกับกรุงเทพ ฯ เปนที่ล่อแหลมไม่ติดต่อกับแดนไทย ถึงได้เมืองเมาะตมะจะรักษาไว้ก็ยาก ไพร่บ้านพลเมืองก็คงจะไม่พอใจ เพราะไทยไปรักษาเมืองอยู่ก็จะพาให้ต้องรบพุ่งกับพม่าเนือง ๆ

ถ้าหากว่าอังกฤษยังรบอยู่กับพม่า ไทยยกกองทัพไปช่วยอังกฤษก็จะใคร่ได้เมืองเมาะตมะไว้เปนที่ตั้งยุ้งฉาง รวบรวมเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ แต่เดี๋ยวนี้อังกฤษก็เลิกสงคราม กลับเปนไมตรีดีกับพม่าแล้ว ก็อย่าลำบากด้วยเรื่องเมืองเมาะตมะต่อไปเลย.

ข้อที่จะใคร่ทราบว่าพรมแดนเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี เมืองทวาย ต่อกับพระราชอาณาจักรตรงไหนนั้น เพราะพม่ากับไทยทำสงครามกันมาเสมอ จะปักปันเขตรแดนกันอย่างไรได้ ถ้าอังกฤษอยากจะทราบว่าเขตรแดนเดิมอยู่ตรงไหน ก็ให้สืบถามพวกชาวเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี เมืองมฤท ที่เปนผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ที่ริมชายแดนว่ารู้เห็นมาอย่างไร ก็ให้พาไปชี้เขตรแดนที่ต่อกับไทยนั้นเถิด.

เมืองมฤท เมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เดี๋ยวนี้ก็เปนของอังกฤษแล้ว อังกฤษกับไทยก็เปนมิตรมีไมตรีกันสนิท ควรจะให้ไพร่บ้านพลเมืองทั้งสองฝ่ายไปมาค้าขายถึงกันได้โดยสดวก คนข้างไหนจะไปมาก็ให้มีหนังสือเดินทางถือไปให้อิกฝ่ายหนึ่งทราบ ห้ามอย่าให้ไทยไปล่วงล้ำเขตรแดนของอังกฤษ แลอย่าให้ผู้รักษาด่านทางเข้าไปจับผู้คนในบ้านเมืองของอังกฤษแห่งหนึ่งแห่งใด เหมือนอย่างเมื่อเปนแดนพม่าอยู่แต่ก่อนต่อไป อย่าให้อังกฤษมีความวิตกด้วยเรื่องจับคนข้ามแดนต่อไปเลย.

กระแสรับสั่งนี้ ท่านเสนาบดีมีบัญชาให้พระยาพิพัฒโกษาจดเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีระกาสัปตศก.

ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๖ (ตรงกับวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำนั้น) เบอร์นีมีหนังสือถึงเสนาบดีอิกฉบับ ๑ ความว่านายร้อยเอกเบอร์นีขอเรียนให้ท่านเสนาบดีกรุงสยามทราบ ด้วยนายร้อยเอกเบอร์นีพึ่งได้รับสำเนาหนังสือของแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษความว่า ในหนังสือสัญญาซึ่งอังกฤษได้ทำกับพม่า มีข้อสัญญาว่าไว้โดยเฉภาะข้อหนึ่ง (ในข้อ ๑๐) ว่าด้วยไทยเปนสัมพันธมิตรของอังกฤษ ถ้าไทยต้องประสงค์ประโยชน์จากสัญญานั้น ก็จะยอมให้ไทยได้รับประโยชน์ในการที่เลิกสงครามกันนั้นด้วย.

อนึ่งเดี๋ยวนี้พม่าก็ยอมสัญญาแล้ว ว่าจะไม่มาทำร้ายไทยอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป ขอให้เสนาบดีนำความตามหนังสือของนายร้อยเอกเบอร์นีทั้งฉบับที่มีไปเมื่อณวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ แลฉบับนี้ขึ้นกราบบังคมทูลฯ โดยเร็ว เมื่อได้ทรงทราบแล้วคงจะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรที่จะกำชับสั่งข้างฝ่ายไทย มิให้ไปทำร้ายแก่พม่าเหมือนกัน.

อนึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม กับท่านเสนาบดีคงจะต้องเห็นตามการที่ปรากฎมาครั้งนี้ ว่ารัฐบาลอังกฤษประพฤติโดยตั้งใจจะเปนไมตรีกับไทยจริง ๆ สิ้นความในหนังสือเบอร์นีเท่านี้.

ถึงเดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ เสนาบดีให้พระยาพิพัฒโกษามีหนังสือตอบเบอร์นี ความว่า เสนาบดีปฤกษากันให้เจ้าพระยาพระคลังนำความตามหนังสือของนายร้อยเอกเบอร์นีขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว.

มีพระราชโองการดำรัสสั่งว่า ซึ่งอังกฤษไม่ให้พม่ามารบพุ่งทำร้ายไทย ก็เพราะอังกฤษเปนมิตรเห็นแก่ไมตรีที่มีกับไทย ที่ปราถนาจะไม่ให้ไทยไปทำร้ายพม่านั้น ก็ด้วยเห็นว่า ถ้าไทยกับพม่าเลิกรบพุ่งกัน ต่างฝ่ายต่างอยู่บ้านเมืองของตนก็จะเปนศุขสบาย ที่ว่ามานี้ก็เปนการสมควรนักหนา แต่วิสัยพม่าไม่มีสัตย์ พูดจาว่ากระไรจะเชื่อฟังไม่ได้ ที่พม่ายินยอมก็เพราะกลัวอังกฤษ จึงต้องจำใจสัญญาว่าจะไม่มาทำร้ายไทยอิกต่อไป ต่อไปภายน่าถ้าพม่าเห็นไทยเผลอเมื่อใดก็คงจะมาทำร้ายอิก เวลาได้ช่องจะทำร้ายก็จะไม่คิดถึงที่ได้รับสัญญาไว้ ที่ไทยจะประมาทโดยหลงไว้ใจพม่านั้นไม่ได้ จำจะต้องคอยระวังตัวอยู่เสมอ ถ้าหากนายร้อยเอกเบอร์นีอยากจะใคร่ทราบว่าพม่าเคยประพฤติทุจริตมาอย่างไร ก็ให้เสนาบดีเอาจดหมายเหตุแลหนังสือพระราชพงษาวดาร ที่ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ทั้งที่พม่าได้เคยมาพูดจาว่ากับไทยแต่ก่อน ๆ ประการใด แจ้งให้นายร้อยเอก เบอร์นี ทราบ แล้วให้ใคร่ครวญดูตามเรื่องราวนั้นเถิด กระแสพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ ดังนี้ ท่านเสนาบดีจึงให้พระยาพิพัฒโกษาคัดเรื่องราวตามจดหมายเหตุมาแจ้งให้นายร้อยเอก เบอร์นี ทราบ คือ

เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ประมาณได้ ๑๘ ปีมาแล้ว พม่าให้พระยาอินทจักร ๑ อรรคภังคี ๑ พระยาจักร ๑ สุรจะกิโว ๑ เปนทูตเข้ามาแต่เมืองเมาะตมะ ว่าพม่ามีความประสงค์สันติศุข จะขอทำทางพระราชไมตรีให้มีกับไทย ครั้งนั้นเสนาพฤฒามาตย์ราษฎรมีความวิตกอยู่ ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระบรมไอยกาธิราช ทรงพระชราทุพลภาพ เสนาบดีจึงปฤกษากันเห็นว่าควรจะรับเปนไมตรีกับพม่า ต่อมาจึงมิได้ให้ตรวจตราตระเวรด่าน งดการที่เคยให้ไปจับผู้คนในแดนพม่ามาอย่างแต่ก่อน จะคอยดูว่าพม่าจะทำดีด้วยอย่างไร ในปีนั้นเองพม่าก็ให้เกณฑ์กองทัพแลต่อเรือรบที่เมืองทวาย ฝ่ายไทยไม่ได้ไปจับผู้คนในแดนพม่ามาดังแต่ก่อน ก็ไม่ทราบความว่าพม่าเตรียมกองทัพ ครั้นรุ่งขึ้นปีมะเสง จุลศักราช ๑๑๗๑ พม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองถลาง ไทยจะให้กองทัพไปรักษาเมืองก็ไม่ทัน จึงเสียเมืองถลางแก่พม่า เพราะอยู่ห่างไกลกับกรุงเทพฯ เมื่อพม่าได้เมืองถลางแล้วก็เก็บริบทรัพย์สมบัติ กวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเปนเชลยแล้วจะยกไปตีหัวเมืองอื่นอิก หากกองทัพกรุงฯ ยกลงไปตีพม่าแตกพ่ายไป จึงได้เมืองถลางคืนมา ถึงกระนั้นเมืองถลางก็ป่นปี้ยับเยิน เพราะไทยหลงเชื่อถ้อยคำพม่าไม่ไปจับผู้คนมาไต่ถามดังแต่ก่อน แต่นั้นไทยก็ต้องคอยคุมเชิงพม่ามิได้ประมาท พม่าจึงไม่อาจล่วงล้ำเข้ามาทำร้ายได้.

ต่อมาถึงปีมะแม จุลศักราช ๑๑๗๓ พม่าให้เอาหนังสือมาแขวนไว้ที่ปลายด่าน ว่าจะใคร่เปนไมตรีกับไทย จะแต่งทูตให้เข้ามาเจรจาความเมือง ขอให้ไทยห้ามชาวด่านอย่าให้จับกุม แต่ไทยมิได้เชื่อ ด้วยเห็นว่าพม่าพูดจามาคราวใด ก็เปนเหตุอุบายจะหลอกลวงทุกคราว จึงแต่งกองอาทมาทให้ออกไปจับคนมาสืบสวนเหตุการณ์ กองอาหมาทกอง ๑ เข้าไปในแดนพม่าถึงแม่น้ำปราณ ระหว่างเมืองเร้กับเมืองทวาย พบเรือพม่าลงมาจากเมืองอังวะลำ ๑ จึงจับคนในเรือมา ได้ตัวขุนนางพม่า ๒ คนกับคนเข้ารีตคฤศตังเปนนายเรือคน ๑ ครั้นสอบถามได้ความว่าเปนขุนนางคนสนิทของพระเจ้าอังวะคน ๑ พระเจ้าอังวะให้ถือท้องตราลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองมอญลงมาจนถึงเมืองทวาย ให้ไปเข้ากองทัพที่เมืองเมาะตมะ จะให้ยกมาตีเมืองไทย ครั้นได้ทราบความดังนี้ จึงโปรดให้กองทัพยกไปตั้งรักษาด่านทางที่พม่าจะยกมา แล้วสืบได้ความว่า ครั้งนี้พระเจ้าอังวะให้จักกายหวุ่นยีเปนแม่ทัพใหญ่ มีขุนนางเมืองอังวะลงมาเปนนายทัพนายกองอิกมาก เกณฑ์พม่าเมืองอังวะแลพวกชาวเมืองมอญ เมืองทวาย รวบรวมเปนกองทัพตั้งอยู่ณเมืองเมาะตมะ แต่เมื่อพม่ารู้ว่ากองทัพไทยไปตั้งสกัดอยู่ ก็ไม่กล้ายกเข้ามาในพระราชอาณาเขตร ตั้งรออยู่จนถึงระดูฝนก็เลิกทัพกลับไป ที่กล่าวมาถึงความทุจริตของพม่าทั้งนี้ล้วนเปนความจริง เพราะพม่าพูดจาสัญญาแก่ไทยอย่างไร เคยแต่เปนเท็จไป ไทยจึงจะหลงเชื่อคำพม่าอิกไม่ได้

พระยาพิพัฒโกษาได้เขียนกระแสรับสั่งนี้ ตามบัญชาท่านเสนาบดี แลได้คัดสำเนาจดหมายเหตุเรื่องสงครามในระหว่างไทยกับพม่า แจ้งให้นายร้อยเอกเบอร์นีทราบ เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีระกาสัปตศก.

หนังสือโต้ตอบกับเบอร์นีในเรื่องการสงคราม สิ้นสำเนาความเพียงเท่านี้ สรุปรวมใจความก็คือไทยไม่ต้องการดินแดนทางเมืองพม่า แลไม่ปราถนาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาที่อังกฤษทำกับพม่าด้วยทั้ง ๒ สถาน เมื่อมาคิดดูว่าเหตุใดในที่สุดไทยจึงไม่อยากเกี่ยวข้องต้องการแดนพม่าในครั้งนั้น คิดไปก็แลเห็นว่ามิใช่เพราะไม่รู้จักประโยชนที่แท้จริงของฝ่ายไทย ดังเบอร์นีเข้าใจ การทั้งปวงคงจะได้ปฤกษาหาฤๅกันในรัฐบาล แลเห็นเปนการยุติว่า ถ้าหากไทยมีความปราถนาจะได้เขตรแดนของพม่าในครั้งนั้นก็จะต้องร้องขอจากอังกฤษ ๆ ก็คงจะขอเอาเมืองไทรเปนของแลกเปลี่ยนตอบแทน ความข้อนี้ฝ่ายไทยพึ่งรู้แน่เมื่อเบอร์นีเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ก็แลเมืองไทรนั้นไทยได้ลงไปอยู่ปกครองเปนของไทยแล้ว ทั้งอยู่ติดต่อกับแดนเมืองนคร เมืองสงขลา ไปมาก็ได้โดยง่าย ส่วนเมืองเมาะตมะเมืองทวายแลเมืองมฤทอยู่ห่างไกล โดยอังกฤษจะยอมยกให้ทั้งนั้น ฤๅแต่เมืองหนึ่งเมืองใด ไทยก็จะต้องเข้าไปปกครองคนชาติอื่น อยู่ท่ามกลางระหว่างแดนอังกฤษฝ่าย ๑ แดนพม่าฝ่าย ๑ คงจะมีความลำบากในวันน่ายิ่งกว่าที่จะเปนประโยชน์อย่างใด แท้จริงประโยชน์ที่ฝ่ายไทยต้องการเปนข้อสำคัญ คือที่จะไม่ให้พม่ามีที่มั่นสำหรับมาตีเมืองไทยดังแต่ก่อน ถาเมืองเหล่านั้นขาดจากเขตรของพม่า ถึงจะตกเปนของอังกฤษของมอญก็เปนประโยชน์แก่ไทยเหมือนกัน คงเปนด้วยคิดเห็นดังกล่าวมานี้จึงได้ยุติว่าเอาเมืองไทรไว้ดีกว่าจะเอาไปแลกเสียกับหัวเมืองขึ้นของพม่า ข้อที่ไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วยในหนังสือสัญญาที่อังกฤษทำกับพม่านั้น คิดดูก็พอแลเห็นได้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใด เพราะถ้าไทยไปทำสัญญาด้วย ผู้เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นก็จะเปน ๓ พวกด้วยกัน คืออังกฤษไทยแลพม่า ถ้าวันน่าพม่าก่อการร้ายแก่ไทยอย่างไร ไทยก็จะต้องบอกกล่าวฟ้องร้องต่ออังกฤษก่อน ถ้าไทยไปทำอะไรแก่พม่าโดยพลการ แม้ดังเช่นกองอาทมาทเข้าไปตรวจตระเวรด่านทางดังเคยทำมาแต่ก่อน อังกฤษก็จะว่าไทยไม่ประพฤติตามสัญญา คงจะเห็นว่าเสมือนหนึ่งจะยอมให้อังกฤษเปนผู้ว่ากล่าวอยู่ในระหว่างไทยกับพม่า จึงไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วยในสัญญาที่ทำกัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าข้อความที่กล่าวมานี้คงอยู่ในความวินิจฉัยของรัฐบาลไทยในครั้งนั้น แต่เปนการคาดคะเน จะถูกฤๅผิดอย่างไรก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะคิดเห็น.

การที่ไทยเกี่ยวข้องกับอังกฤษในครั้งนั้น เมื่อเสร็จสิ้นข้อความที่กล่าวว่ากันด้วยเรื่องหัวเมืองพม่าแล้ว ก็ยังเหลือแต่เรื่องเมืองมลายูกับเรื่องที่จะทำหนังสือสัญญาค้าขาย เสนาบดีจึงปฤกษาว่ากล่าวกับเฮนรี เบอร์นี ทูตของรัฐบาลอังกฤษต่อมา การที่พูดจากันในชั้นหลัง ไทยได้เปรียบสมประสงค์ ด้วยได้เปนสัมพันธมิตรในคราวอังกฤษรบพม่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปรบพุ่งด้วยมากมายก็ดี การที่ไทยได้ช่วยแลที่สุดที่ไทยไม่ทำให้อังกฤษต้องเปนกังวลทางเมืองไทยก็เปนการอุปการะช่วยอังกฤษมากอยู่ เปนเหตุให้อังกฤษรู้สึกว่าสมควรจะต้องตอบแทนไทยอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อไทยไม่ยอมรับประโยชน์ทางหัวเมืองพม่า อังกฤษจึงยินยอมให้สมปราถนาของไทยทางเมืองไทร คือรับจะส่งตัวเจ้าพระยาไทรไปเสียให้พ้นเกาะหมาก เอาไปคุมไว้เสียเมืองอื่นให้ห่างเมืองไทร แล้วรับจะเปนธุระระวังมิให้พวกเจ้าพระยาไทรมาทำร้ายต่อไทยที่ปกครองเมืองไทรได้ เมื่ออังกฤษยินยอมในเรื่องเมืองไทรดังว่ามานี้แล้ว ข้างฝ่ายไทยก็ยอมปล่อยเมืองแปะระ แล้วแต่จะขึ้นใครตามใจสมัค แล้วอังกฤษกับไทยก็ทำหนังสือสัญญาการค้าขายกันเมื่อณวันอังคาร เดือน ๗ แรมค่ำ ๑ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๘๘ พ.ศ. ๒๓๖๙ อนุญาตให้อังกฤษเข้ามาค้าขายที่ในกรุงเทพ ฯ การครั้งนั้นก็เปนเสร็จธุระกันโดยปรองดอง.

แต่ที่อังกฤษคิดจะรวมหัวเมืองมอญจัดตั้งเปนกรุงกระษัตริย์ดังแต่ก่อนนั้น ครั้นหาเชื้อวงศ์พระเจ้าหงษาวดีไม่ได้ แลไม่ได้เจ้าพระยามหาโยธาไปดังประสงค์ เห็นพระยามอญในพื้นเมืองไม่มีใครจะสามารถเปนหัวน่าได้ก็ระงับความคิด คืนเมืองเมาะตมะแลหัวเมืองมอญข้างเหนือลำน้ำสละวินให้แก่พม่า แต่หัวเมืองข้างฝ่ายใต้ลำน้ำสละวินเอาไว้เปนของอังกฤษ ตั้งแต่เมืองเมาะลำเลิงลงมาจนถึงเมืองมฤท แดนอังกฤษจึงปิดหนทางที่พม่าเคยยกมาตีเมืองไทยเสียแต่นั้นมา เปนเสร็จสิ้นเรื่องการสงครามครั้งช่วยอังกฤษรบพม่าเพียงเท่านี้.

  1. ๑. เบอร์นีได้จดไว้ในที่อื่นว่า ได้แนะนำให้เจ้าพระยาพระคลังไปเอง.

  2. ๒. คือฉบับที่มีมาเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๖.

  3. ๓. ถ้าพูดกันอย่างโวหารทุกวันนี้ ก็เห็นจะว่า “ถ้าพม่าได้ช่องจะทำร้ายเมื่อใด หนังสือสัญญานั้นก็จะเปนแต่อย่างเศษกระดาษแผ่น ๑.”

  4. ๔. ทั้ง ๔ คนนี้เห็นเขียนชื่อถูกแต่พระยาอินทจักรคนเดียว จะเปนเชื้อไทยครั้งกรุงเก่า ฤๅเปนมอญ ข้อนี้สงไสยอยู่.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ