สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗

พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ เพราะทราบว่าพม่าเตรียมจะมาตีกรุงธนบุรี แท้จริงตั้งแต่พระเจ้ามังระได้ทราบว่าพระยาตากตั้งตัวเปนกระษัตริย์ขึ้นในเมืองไทยก็คิดจะมาปราบปราม แต่มีศึกจีนมาติดเมืองพม่า พระเจ้ามังระต้องทำสงครามกับจีนจึงได้รอมา ครั้นเสร็จศึกจีนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๑๔ แลได้ทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอังวะเห็นว่าถ้ารั้งรอต่อไปไทยจะกำเริบนัก จึงตั้งต้นคิดการที่จะมาตีเมืองไทย หมายจะทำเสียให้ยับเยินอย่างคราวตีกรุงศรีอยุทธยาอิกสักครั้ง ๑ ความคิดของพระเจ้าอังวะที่จะมาตีเมืองไทยครั้งนี้ จะใช้ยุทธวิธีอย่างเดียวกับเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุทธยาได้ คือ จะให้กองทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ แลให้ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทาง ๑ ตีหัวเมืองเข้ามาประจบกันที่กรุงธนบุรีดังนี้ ครั้นถึงปีมะโรงเจ้าหลวงพระบางกับเจ้าเวียงจันท์วิวาทกัน เจ้าเวียงจันท์ให้ไปขอกำลังพม่ามาช่วย พระเจ้าอังวะให้โปสุพลายกกองทัพมาช่วยเมืองเวียงจันท์ ดังกล่าวมาแต่ก่อนแล้ว ครั้นโปสุพลามีไชยได้เมืองหลวงพระบาง พระเจ้าอังวะเห็นเปนท่วงทีที่จะคิดอ่านตีเมืองไทยต่อไป จึงสั่งให้โปสุพลา ลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อจะกีดกันมิให้กองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เสียชั้น ๑ ก่อน แล้วจะส่งกำลังเพิ่มเติมเข้ามา ให้โปสุพลาเปนตัวแม่ทัพที่จะยกลงมาตีกรุงธนบุรีทางเมืองเชียงใหม่ ส่วนกองทัพที่จะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น พระเจ้าอังวะให้ปะกันหวุ่น ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเปนเจ้าเมืองเมาะตมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้เปนแม่ทัพ ปะกันหวุ่นได้รับสั่งจึงให้ลงมือตระเตรียมการแต่ในปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖ ให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองที่ต่อแดนไทย ๓,๐๐๐ คนมอบให้แพกิจากับทหารพม่า ๕๐๐ คุมมาทำทางที่กองทัพจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพราะทางนั้นที่ตอนจะข้ามเขาบันทัดเปนทางกันดาร จึงคิดจะตั้งยุ้งฉางวางเสบียงไว้ตามระยะทางตั้งแต่เชิงเขาข้างแดนพม่ามาจนตำบลสามสบท่าดินแดงในแดนไทย มิให้กองทัพต้องขนเสบียงอาหารมาด้วยในตอนนี้.

ฝ่ายพวกมอญไม่ชอบพม่าอยู่โดยธรรมดา เพราะเหตุที่ถูกพม่ากดขี่ข่มเหงมาช้านาน เมื่อพม่าเกณฑ์มาทำทางคราวนั้นต้องมาด้วยจำใจ มีพระยามอญเปนหัวน่ามาด้วย ๔ คน คือพระยาเจ่งเจ้าเมืองเตรินคน ๑ พระยาอู่คน ๑ ตละเซี่ยงคน ๑ ตละเกล็บคน ๑ กำลังมอญพวกนี้มาทำทางอยู่ในป่า ทางเมืองเมาะตมะ ปะกันหวุ่นเกณฑ์มอญเข้ากองทัพอิกพวก ๑ มีคนหลบหนีพม่าจึงจับคนในครัวเรือนไปเปนตัวจำนำ ถูกลูกหลานญาติ์พี่น้องของพวกมอญที่มาทำทาง พม่าเอาไปจำจองเร่งรัดลงอาญาได้ความเดือดร้อนกันเปนอันมาก ที่บางคนหนีได้ตามมาบอกแก่พวกมอญที่ทำทาง ต่างก็โกรธแค้นว่าพม่าใช้ตัวมาแล้วยังข่มเหงครอบครัวซึ่งอยู่ข้างหลังอิก พวกมอญจึงคบคิดพร้อมกันทั้งนายไพร่ จับแพกิจากับทหารพม่าฆ่าเสียที่ท่าดินแดงในแดนไทยทั้งหมดแล้วรวมกันยกเปนกองทัพกลับไป ฝ่ายพวกมอญที่อยู่ตามหัวเมืองรายทาง รู้เรื่องก็พากันมาเข้ากับพวกพระยาเจ่งเปนอันมาก พวกมอญขบถเห็นว่ามีกำลังมากก็ยกตรงไปตีเมืองเมาะตมะ เข้าปล้นเมืองเวลากลางคืน แกล้งโห่ร้องเปนเสียงไทยให้พม่าสำคัญว่ากองทัพไทยยกไป ฝ่ายปะกันหวุ่นกับพวกกรมการพม่าทั้งปวงไม่รู้ตัวก็ตกใจไม่สู้รบ พากันทิ้งเมืองเมาะตมะลงเรือหนีกลับไปเมืองร่างกุ้ง พวกมอญขบถได้เมืองเมาะตมะแล้วพระยามอญที่เปนหัวน่าปฤกษากันเห็นว่า เปนท่วงทีที่จะชิงเอาเมืองมอญทั้งปวงได้ จึงประกาศเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองเมาะตมะ แลพวกมอญตามหัวเมืองที่ใกล้เคียง มีคนพากันเข้าด้วยอิกเปนอันมาก จนพวกพระยาเจ่งมีรี้พลควบคุมกันเปนกองทัพใหญ่ ยกขึ้นไปตีเมืองสะโตงแลเมืองหงษาวดีก็ได้อิกทั้ง ๒ เมือง เพราะพวกพลเมืองเปนมอญไม่มีใครต่อสู้ จึงยกเลยไปตีเมืองร่างกุ้ง รบพุ่งกับพม่าติดพันกันอยู่.

ฝ่ายข้างกรุงธนบุรีตั้งแต่ได้ทราบกิติศัพท์ว่า พม่าเตรียมทัพจะมาตีเมืองไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระราชดำริห์การที่จะต่อสู้อยู่แล้ว พอได้ข่าวมาว่ามอญเปนขบถต่อพม่าลุกลามใหญ่โต เห็นว่าพม่าจะต้องติดปราบปรามพวกมอญขบถอยู่นาน จะยกเข้ามาตีเมืองไทยยังไม่ได้ มีช่องควรจะชิงตีเมืองเชียงใหม่ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ให้ยกไปคอยรับเสด็จอยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตากแล้วให้เกณฑ์คนในกรุง ฯ แลหัวเมืองชั้นในเปนกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนเรือออกจากพระนคร เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ขึ้นทางเมืองกำแพงเพ็ชร ไปตั้งประชุมทัพที่บ้านระแหงตรงที่ตั้งเมืองตากทุกวันนี้.

ขณะเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีประชุมกองทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น ได้ข่าวเข้ามาว่าพระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้เชื้อพระวงศ์เปนแม่ทัพใหญ่ ลงมาปราบพวกมอญขบถที่ขึ้นไปตีเมืองร่างกุ้ง พวกมอญสู้ไม่ได้แตกหนีพม่าลงมาแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระวิตกด้วยเห็นว่าโอกาศที่จะตีเมืองเชียงใหม่มีเวลาน้อยเสียแล้ว เพราะถ้าพม่าคิดตามพวกมอญลงมาจนถึงเมืองเมาะตะมะ พวกมอญคงหนีเข้ามาเมืองไทยเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า พม่าก็เห็นจะยกกองทัพเข้ามาตามในไม่ช้า แต่จะงดการตีเมืองเชียงใหม่เสียเล่าก็น่าเสียดาย ด้วยกองทัพได้ยกขึ้นไปใกล้ถึงเพียงนั้นแล้ว ถ้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ทัน ถึงพม่าจะยกเข้ามาทางข้างใต้ สู้รบก็จะค่อยเบามือ เพราะตัดกำลังข้าศึกเสียทาง ๑ แล้ว แต่ถ้าไปตีเชียงใหม่ไม่สำเร็จ ฤๅว่าได้เมืองช้าไป ก็อาจจะถูกข้าศึกยกเข้ามาตีตัดข้างหลัง ทั้งทางเมืองกาญจนบุรีแลทางเมืองตาก จำเปนจะต้องตัดสินเฉียบขาดในขณะนั้นว่าจะทำอย่างไรดี เห็นจะถึงประชุมแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ปฤกษากัน แลตกลงเห็นกันว่ามีเวลาพอจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์) เปนแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพหัวเมืองเหนือยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนกองทัพหลวงนั้นตั้งรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตมะอยู่ที่เมืองตาก กองทัพเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกขึ้นไปทางเมืองนครลำปาง.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อโปสุพลาทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปครั้งนั้น ให้โปมะยุง่วนซึ่งเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่รักษาเมือง แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมพวกชาวเมืองมีจำนวน ๑,๐๐๐ เปนกองน่ายกลงมาก่อน แล้วตัวโปสุพลาคุมกองทัพมีจำนวนพล ๙,๐๐๐ ยกตามลงมา หมายจะมาตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเปนชาวเมืองเชียงใหม่ ต้องอยู่กับพม่ามาด้วยความจำใจ ครั้งนั้นครั้นลงมาถึงเมืองนครลำปาง รู้ว่าไทยมีกำลังพอจะเปนที่พึ่งได้แล้ว ก็พาพวกกองน่ามาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี ๆ ให้พระยาจ่าบ้านพระยากาวิละถือน้ำกระทำสัตย์แล้ว จึงให้คุมพลชาวเมืองกลับนำทัพไทยขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายโปสุพลายกลงมาถึงกลางทางรู้ว่าพระยาจ่าบ้านพระยากาวิละกลับไปเข้ากับไทยก็ตกใจ รีบถอยทัพกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้กองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงเก่าข้างเหนือเมืองนครลำพูนกอง ๑ ส่วนตัวโปสุพลากับโปมะยุง่วนนั้น ตระเตรียมต่อสู้อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ มีเนื้อความในหนังสือพระราชพงษาวดารดังนี้.

อันเรื่องพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละมาเข้ากับไทยครั้งนั้น มีในพงษาวดารพม่ากับหนังสือตำนานโยนกเรื่องราวพิศดาร ความประกอบกันชอบกล มีเนื้อความว่าเมื่อพระเจ้าอังวะให้โปมะยุง่วนมาเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น มีท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่เปนผู้ใหญ่อยู่ ๔ คน คือพระยาแสนหลวงคน ๑ พระยาสามล้านคน ๑ พระยาจ่าบ้านคน ๑ แลพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางคน ๑.

จะกล่าวถึงวงศ์สกุลของพระยากาวิละแทรกลงตรงนี้สักหน่อยหนึ่งก่อน พระยากาวิละนี้เปนบุตรนายชายแก้ว ซึ่งพระเจ้าอังวะตั้งให้เปนเจ้าฟ้าเมืองนครลำปาง จึงเรียกกันมาว่าเจ้าฟ้าชายแก้ว ๆ มีบุตร ๗ คน ธิดา ๓ คน รวม ๑๐ คน มีลำดับดังนี้ คือ

ที่ ๑ บุตรชื่อกาวิละ เมื่อโปมะยุง่วนมาเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทำนองจะไม่ไว้ใจเจ้าฟ้าชายแก้ว เอาตัวเจ้าฟ้าชายแก้วไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละจึงได้ว่าราชการเมืองนครลำปางแทนบิดา พระยากาวิละนี้ได้เปนพระยาเชียงใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงตั้งเปนพระเจ้าเชียงใหม่

ที่ ๒ บุตรชื่อคำโสม ได้เปนพระยานครลำปางเมื่อรัชกาลที่ ๑

ที่ ๓ บุตรชื่อน้อยธรรม ได้เปนพระยาเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒ เรียกกันว่าพระยาเชียงใหม่ช้างเผือก เพราะได้พระยาเสวตรไอยรามาถวาย

ที่ ๔ บุตรชื่อดวงทิพ ได้เปนพระเจ้านครลำปางในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๕ ธิดาชื่อศิริรจนา (ชาวมณฑลพายัพเรียกกันว่าเจ้าศรีอโนชา) ได้เปนพระอรรคชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทรัชกาลที่ ๑

ที่ ๖ ธิดาชื่อศรีปัญญา

ที่ ๘ บุตรชื่อหมูล่า ได้เปนพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๘ บุตรชื่อคำฟั่น ได้เปนพระยาเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๙ ธิดาชื่อศรีบุญทัน

ที่ ๑๐ บุตรชื่อบุญมา ได้เปนพระเจ้าลำพูนในรัชกาลที่ ๓

มีเรื่องราวปรากฎว่า เมื่อโปมะยุง่วนมาเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ มาตัดรอนอำนาจแลผลประโยชน์ของพวกท้าวพระยาลงกว่าแต่ก่อน พวกท้าวพระยาพากันไม่พอใจ แต่มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยอยู่ในอำนาจพม่าก็ต้องนิ่งอยู่ ครั้นมีศึกจีนมาติดเมืองพม่า พระเจ้าอังวะเกณฑ์กำลังเมืองเชียงใหม่ไปช่วยรักษาเมืองพม่า พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังไป ครั้นเสร็จสงครามจึงทูลขอต่อพระเจ้ามังระให้ได้มีอำนาจว่ากล่าวผู้คน แลมีผลประโยชน์เหมือนอย่างแต่ก่อน พระเจ้ามังระเห็นว่าพระยาทั้ง ๒ มีความชอบก็อนุญาตให้ตามที่ทูลขอ เสนาบดีจึงให้พระยาจ่าบ้านถือท้องตรากลับมา ครั้นพระยาจ่าบ้านมาถึงเมืองเชียงใหม่ ให้น้องชายเชิญตราไปวางที่สนามหลวง ฝ่ายโปมะยุง่วนไม่พอใจอยู่แล้วไม่ยอมรับท้องตรา ว่าพระยาจ่าบ้านไม่มาวางตราเองผิดธรรมเนียม เปนการลบหลู่พระเกียรติยศของพระเจ้าอังวะ โปมะยุง่วนให้พาตัวพระยาจ่าบ้าน ๆ ก็ขัดขืนเสียไม่มา โปมะยุง่วนจึงให้ทนายไปจับตัวพระยาจ่าบ้าน พวกพระยาจ่าบ้านไม่ยอมให้จับ เกิดต่อสู้กับทนายของโปมะยุง่วน ฆ่าฟันกันล้มตายทั้ง ๒ ฝ่าย พระยาจ่าบ้านจึงหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ตามไปหาโปสุพลาแม่ทัพพม่า ซึ่งตั้งค้างฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖ ไปเล่าความที่โปมะยุง่วนกดขี่ข่มเหงให้โปสุพลาฟัง ฝ่ายโปสุพลานั้นไม่ชอบกับโปมะยุง่วนอยู่แล้ว ก็รับพระยาจ่าบ้านไว้ในกองทัพจนยกกลับมาเมืองเชียงใหม่ ในพงษาวดารพม่าเมื่อกล่าวถึงเรื่องตอนวิวาทกันนี้ ไม่ได้ออกชื่อพระยากาวิละ แต่คงเกี่ยวข้องด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเปนพวกพระยาจ่าบ้านมาแต่เดิม โปมะยุง่วนจึงบอกกล่าวโทษพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละออกไปยังเมืองอังวะ ว่ามาก่อการกำเริบต่าง ๆ ครั้นกองทัพไทยยกขึ้นไปคราวนี้ โปสุพลาให้เกณฑ์พระยาจ่าบ้านคุมคนลงมาชำระแก่งแต่งทางน้ำสำหรับกองทัพเรือจะล่องลงมาเมืองตาก โปมะยุง่วนขัดขวาง อ้างว่าพระยาจ่าบ้านมีความผิดติดตัวอยู่ ขอให้โปสุพลาส่งตัวไปให้ ฝ่ายโปสุพลาไม่ยอมส่ง อ้างว่าพระยาจ่าบ้านจะต้องคุมคนลงไปชำระแก่ง พวกไพร่พลที่เกณฑ์ลงไปล้วนแต่ชาวเมือง จะหาผู้อื่นไปบังคับบัญชาแทนไม่ได้ โปมะยุง่วนก็มิรู้ที่จะทำประการใด ครั้นพระยาจ่าบ้านยกลงมาแล้ว ทางโน้นพอมีท้องตรามาจากเมืองอังวะ ตอบใบบอกที่โปมะยุง่วนกล่าวโทษพระยาจ่าบ้านพระยากาวิละไปแต่ก่อน ว่าให้ส่งตัวพระยาทั้ง ๒ ไปชำระที่เมืองอังวะ โปมะยุง่วนจึงให้ไปขอตัวพระยาทั้ง ๒ ที่โปสุพลา ๆ ก็ไม่ยอมส่งให้ ว่าพระยาจ่าบ้านคุมคนยกไปเสียแล้ว พระยากาวิละนั้นก็ได้ให้ช่วยนายทัพพม่ารักษาเมืองนครลำปางอยู่ จะไปถอนตัวกลับมาเกรงจะเสียราชการสงคราม โปมะยุง่วนก็ขัดใจ เห็นว่าจะเอาตัวพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละไม่ได้ จึงให้จับเจ้าฟ้าชายแก้วบิดาพระยากาวิละกับบุตรภรรยาพระยาจ่าบ้านเปนตัวจำนำ ให้คุมส่งไปเมืองอังวะ ขณะนั้นพระยาจ่าบ้านอยู่ที่เมืองฮอด ทราบความจึงให้รีบไปปอกพระยากาวิละนัดหมายกันแล้ว พระยาจ่าบ้านก็ฆ่าพวกพม่าที่กำกับเสียทั้งสิ้น แล้วพาพรรคพวกลงมาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี นำกองทัพไทยขึ้นไปเมืองนครลำปาง ฝ่ายพระยากาวิละครั้นทราบว่าพม่าจับบิดาไป ก็ฆ่านายทัพพม่าที่อยู่เมืองนครลำปางเสีย แล้วคุมพรรคพวกรีบตามไปชิงเอาบิดาของตัวกับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านกลับมาได้ ครั้นกองทัพเจ้าพระยาจักรียกขึ้นไป พระยากาวิละก็ออกมาสามิภักดิ์รับกองทัพไทยเข้าเมืองนครลำปาง แล้วรับอาสาจะช่วยรบพม่าต่อไป เรื่องพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละมาสามิภักดิ์ต่อไทย ได้ความตามพงษาวดารพม่าแลตำนานโยนกประกอบกันดังกล่าวมานี้.

ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองนครลำปางนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก มีครัวมอญหนีพม่าเข้ามาทางด่านเมืองตากพวก ๑ ขุนอินทคิรีนายด่านพาตัวนายครัวชื่อสมิงสุหร่ายกลั่นมาเฝ้า ดำรัสถามได้ความว่า มอญเสียทีแตกหนีพม่าลงมาจากเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวจะเข้ามาอยู่เมืองไทยเปนอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นจะได้ทรงทราบข่าวอันนี้พร้อมๆ กับได้รับข่าวจากเจ้าพระยาจักรี ว่าพระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละพาพวกชาวเมืองเชียงใหม่มาเข้ากับไทย ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าการสงครามทางเมืองเชียงใหม่ได้ทีอยู่ จึงดำรัสสั่งลงมายังกรุงธนบุรีให้พระยายมราชแขก คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทัพ ๑ ให้พระยากำแหงวิชิตคุมกองทัพจำนวน ๒,๐๐๐ ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเมืองตากอิกทาง ๑ แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงจากบ้านระแหงเมื่อณวันศุกร เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่.

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรียกขึ้นไปจากเมืองนครลำปาง ไปถึงเมืองลำพูนพบกองทัพพม่ามาตั้งค่ายสกัดทางอยู่ริมลำน้ำพิงเก่า ข้างเหนือเมืองลำพูน ก็ให้เข้าตีค่ายพม่า รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปถึงเมืองลำพูน เมื่อณวันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ พอเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์แลเจ้าพระยาสวรรคโลกตีทัพพม่าที่มาตั้งสกัดทางอยู่ที่ริมแม่น้ำพิงเก่าแตกหนีกลับไปเมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองลำพูน ส่วนกองทัพเจ้าพระยาจักรียกติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ ให้ตั้งค่ายล้อมเมือง ๓๔ ค่าย ชักปีกกาถึงกันตลอดทั้ง ๓ ด้าน ยังแต่ด้านเหนืออันเปนน่าที่เจ้าพระยาสวรรคโลก ลงมือทีหลังค่ายยังไม่แล้วตลอดด้าน เจ้าพระยาจักรีบอกลงมายังกองทัพหลวงว่า พอตั้งค่ายด้านเหนือแล้วจะให้เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทีเดียว พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งห้ามไปว่าพม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง ซึ่งจะกรูเข้าไปพร้อมกันนั้นไม่ชอบกล ถ้าทางไหนเสียทีก็จะพาทางอื่นเสียทีไปตามกัน อย่าให้เข้าตีพร้อมกันเลย ถ้าตั้งค่ายล้อมเมืองมั่นคงแล้ว จะทำทางด้านไหนก็ให้ทำเข้าไปเฉภาะด้านนั้น ให้ขุดคูวางขวากแลวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย แล้วให้ขุดคูทางเดินเข้าไปประชิดเมืองให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตีก็ให้ไล่คลุกคลีติดตามเข้าเมืองทีเดียว เจ้าพระยาจักรีก็เร่งตระเตรียมการตามรับสั่ง.

ฝ่ายโปสุพลาโปมะยุง่วนนายทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่ เห็นไทยไปตั้งค่ายล้อมเมืองก็คุมพลออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วให้มาปล้นค่ายไทยหลายครั้ง ถูกไทยยิงไพร่พลล้มตายต้องถอยกลับเข้าค่ายทุกที จนไพร่พลย่อท้อก็ได้แต่รักษาค่ายป้องกันเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ที่แตกฉานไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ในป่า เห็นไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเปนอันมาก ทั้งพวกที่อยู่ในเมืองก็พากันเล็ดลอดหลบหนีออกมาหาไทยเนือง ๆ ได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า ๕,๐๐๐ คน

เรื่องสงครามถึงตอนนี้ เหตุการณ์ข้างเหนือกับข้างใต้เกิดกระชั้นกันเข้าทุกที พอพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปถึงเมืองลำพูนแล้วไม่ช้า ก็ได้ข่าวขึ้นไปจากเมืองตากว่า พม่ายกกองทัพตามครัวมอญเข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็กแขวงเมืองตากกอง ๑ ประมาณพลสัก ๒,๐๐๐ จึงดำรัสสั่งให้แบ่งพลในกองทัพหลวง ๑,๘๐๐ คน ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์คุมยกลงมาทางบ้านจอมทอง ให้มาต่อสู้ทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็กเมืองตาก ครั้นต่อมาได้รับใบบอกเมืองตากว่าสุวรรณเทวะกับทามุมวยคุมครัวมอญเมืองเริงเข้ามาถึงเมืองตาก ให้การว่าเดิมครอบครัวมาด้วยกันประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ มาถึงตำบลอุวาบ พม่าตามมาทัน พวกครัวต่อสู้ยิงจักกายวอซึ่งเปนแม่ทัพพม่าตาย แล้วพากันแตกหนีมาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก ได้ทรงทราบทรงพระราชดำริห์เห็นว่าพม่าที่มาตามครัวมอญเห็นจะไม่แขงแรงดังเมืองตากบอกไปครั้งก่อน จึงให้หากองทัพเจ้ารามลักษณ์กลับไปช่วยรบทางเมืองเชียงใหม่ แล้วดำรัสสั่งให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิตให้แบ่งกำลังที่เมืองตาก ออกไปตั้งรักษาด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก คอยรับครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป.

ถึงณวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองลำพูนไปประทับที่ค่ายหลวงริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ แล้วไปทอดพระเนตรค่ายที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ หวังจะเร่งให้ตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้โดยเร็ว ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีก็ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่าซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมืองข้างด้านตวันออกแตกหมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกเข้าตีค่ายพม่าที่ออกมาตั้งรับตรงประตูท่าแพได้หมดทั้ง ๓ ค่าย ในค่ำวันนั้นโปสุพลากับโปมะยุง่วนก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ ซึ่งเปนน่าด้านเจ้าพระยาสวรรคโลก ๆ ตั้งค่ายล้อมเมืองยังไม่เสร็จ ข้าศึกก็ตีหักออกไปได้ กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายแลชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เปนอันมาก.

รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราเข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ แม่ทัพนายกองแลพวกท้าวพระยาชาวเมืองมาเฝ้าพร้อมกัน จึงทรงตั้งพระยาจ่าบ้าน เปนพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเปนพระยานครลำปาง ให้พระยาลำพูน ซึ่งทำนองจะสามิภักดิ์เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่เมืองลำพูน เปนพระยาไวยวงศา คงเปนเจ้าเมืองตามเดิม.

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น ได้พาหนะแลเครื่องสาตราวุธของข้าศึกเปนอันมาก มีปรากฎจำนวนแต่ปืนใหญ่น้อยรวม ๒,๑๑๐ กระบอก กับม้า ๒๐๐ ม้า แต่คงจะทรงปีติโสมนัศที่เสร็จสงครามได้ทันพระประสงค์นั้นยิ่งกว่าอย่างอื่น ด้วยการที่ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น เมื่อคิดดูโดยทางได้ทางเสีย เสียเปรียบข้าศึกถึงสองเอาหนึ่ง คือ ถ้าไปแพ้ข้าศึกก็ดี ฤๅแม้แต่เพียงไปรบพุ่งติดพันอยู่นานวันไม่ได้เมืองเชียงใหม่ก็ดี กองทัพพม่าก็จะยกเข้ามาตีตัดหลัง ทั้งที่เมืองตากแลที่กรุงธนฯ ในเวลากำลังของไทยขึ้นไปติดอยู่เสียทางเมืองเชียงใหม่โดยมาก การที่ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น กล้ายกไปอย่างเด็ดเดี่ยว โดยเชื่อแน่ว่าจะชนะ แลเชื่อว่าจะชนะได้ก่อนข้าศึกทางข้างใต้เข้ามาถึงด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะทรงเปนห่วงหลังร้อนพระราชหฤทัยอยู่ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้เมืองเชียงใหม่ เพราะเหตุนี้ จึงปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารแลจดหมายเหตุเก่า ว่าวันเมื่อเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกเข้าตีค่ายพม่าที่รักษาเมืองเชียงใหม่นั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ข้าหลวงไปสืบรายการมากราบทูลเนืองๆ พอข้าหลวงคน ๑ กลับมาทูลว่า เจ้าพระยาจักรีตีได้ค่ายพม่าข้างด้านใต้แลด้านตวันตกหมดแล้ว ข้าหลวงอิกคน ๑ ก็มาถึงในขณะนั้นทูลว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ตีค่ายประตูท่าแพด้านตวันออกได้หมดแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟัง ยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้ง ๒ ข้าง ออกพระโอษฐ์ว่า “นี่จะว่าพี่ฤๅน้องดีกว่ากันไฉนในครั้งนี้” ดังนี้ ก็เพราะรู้สึกสิ้นวิตกโล่งพระหฤไทยในทันที ด้วยเห็นว่าพม่าหมดทางต่อสู้ คงได้เมืองเชียงใหม่ในวันสองวันนั้นเปนแน่ ก็ได้จริงทันพระราชประสงค์ พอได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ต่อมาในวันสองวันนั้นเองใบบอกเมืองตากก็ขึ้นไปถึง ว่ามีกองทัพพม่ายกตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามาอีกทัพ ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย ส่วนพระองค์เองประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่พอได้ ๗ วัน ถึงวันศุกร์ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงรีบกลับลงมายังเมืองตาก.

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ให้พวกท้าวพระยาไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมไพร่บ้านพลเมืองที่แตกฉานไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามห้วยเขาป่าดงที่ต่างๆ ให้กลับคืนมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม พวกชาวเมืองในแว่นแคว้นลานนาเปนชาติไทย ต้องอยู่ในอำนาจพม่าด้วยความจำใจ ครั้นไทยชาวใต้ขึ้นไปเปนใหญ่ ก็พากันมีความนิยมยอมอ่อนน้อมโดยดีไม่ต้องใช้กำลังปราบปราม ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีให้ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองน่าน ก็ยินดีมาสามิภักดิ์เปนข้าขอบขัณฑสีมาอิกเมือง ๑ จึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน แลเมืองแพร่กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตรกรุงไทยในครั้งนั้น นับตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ เปนต้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

  1. ๑. พงษาวดารพม่าเรียกโปสุพลาว่า เนเมียวสีหบดี ชื่อนี้เหมือนกับแม่ทัพที่ตีกรุงศรีอยุทธยาได้ แม่ทัพคนนั้นเมื่อพระเจ้าอังวะปูนบำเหน็จได้เลื่อนให้เปนที่ศรีอยุทธยาหวุ่น เพราะฉนั้นคงเลื่อนโปสุพลาเปนเนเมียวสีหบดีเมื่อได้เมืองหลวงพระบาง แต่จะเรียกในหนังสือนี้ ว่าโปสุพลาตามพระราชพงษาวดารต่อไป มิให้ยากแก่ผู้อ่าน.

  2. ๒. คือ เจ้าเมืองภุกาม

  3. ๓. พระยาเจ่งนี้ที่เปนต้นสกุลคชเสนี แลเมืองเตรินนั้นทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน.

  4. ๔. เมื่อพระยากาวิละมาสามิภักดิ์ ยังเปนแต่ผู้รั้งเมืองนครลำปาง น่าจะยังไม่ได้เปนพระยาด้วยซ้ำไป จึงทรงตั้งเปนพระยา คงมีราชทินนามแต่หากไม่ปรากฎ ปรากฎแต่ว่าเมื่อทรงตั้งเปนพระเจ้าเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒ มีนามว่าพระบรมราชา.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ