สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐

เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้เมื่อเดือน ๗ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้วยกลงไปเมืองตราษ พอได้เมืองตราษก็พอเข้าระดูฝน เปนเวลามรสุมลงทางทเลตวันออก ต้องหยุดยั้งการรบพุ่ง แต้เจ้าตากไม่นิ่งอยู่เปล่า ให้ลงมือต่อเรือรบแลรวบรวมเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ เตรียมกำลังในระดูฝนนั้น หมายจะยกขึ้นมาชิงกรุงศรีอยุทธยาจากพม่าในระดูแล้ง ทั้งนี้เพราะเจ้าตากคิดเห็นการบ้านเมืองฦกซึ้ง ด้วยในเวลานั้นมีผู้ตั้งตัวเปนใหญ่หลายก๊กด้วยกัน ถ้าใครจะเปนใหญ่ให้ได้ทั่วทั้งเมืองไทย จำจะต้องทำลายอำนาจพม่าที่มีอยู่ในเมืองไทยอย่าง ๑ แลจะต้องทำอย่างไรให้พวกก๊กอื่นยอมอยู่ในอำนาจด้วยอิกอย่าง ๑ จึงจะได้เปนใหญ่ ความข้อนี้ก็คงคิดเห็นเหมือนกันทุกก๊ก ผิดกันแต่ความคิดที่จะทำการ พวกก๊กอื่นยังเห็นขัดข้อง จะต้องหาโอกาศแลเล่ห์อุบายให้เหมาะแก่การแลเวลาจึงรั้งรออยู่ มีแต่เจ้าตากผู้เดียวเห็นว่า ถ้าจะทำต้องรีบทำก่อนผู้อื่น แม้รั้งรอไปให้ก๊กอื่นทำได้ก่อนก็จะต้องเปนข้าเขาดังนี้ จึงมุ่งหมายจะยกมารบพม่าชิงเอากรุงศรีอยุทธยาให้ได้ก่อนพวกก๊กอื่น.

ในการที่ตั้งตัวเปนใหญ่ เจ้าตากเสียเปรียบก๊กอื่นอย่างไรได้กล่าวมาแต่ก่อนแล้ว แต่ข้อที่เจ้าตากได้เปรียบก๊กอื่นก็มีหลายอย่าง นับเปนเบื้องต้นแต่ที่เจ้าตากชนมายุหนุ่มกว่าหัวน่าก๊กอื่นทั้งหมด เจ้าตากเกิดเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ คิดดูเวลาเมื่อจะเข้ามากู้กรุงศรีอยุทธยา อายุพอย่างเข้า ๓๔ ปี เปนเวลาว่องไวทั้งกำลังกายแลกำลังปัญญา อิกอย่าง ๑ เจ้าตากเปนชาวกรุงศรีอยุทธยา แลเจริญไวยที่ในกรุง ฯ ได้คุ้นเคยคบหาเปนมิตรสหายกับข้าราชการชั้นรุ่นเดียวกัน มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์แลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเปนต้น เปนเหตุให้ได้ข้าราชการชั้นหนุ่มเหล่านั้นมาเข้าด้วยช่วยเปนกำลังโดยมาก อิกอย่าง ๑ เมื่อรบพุ่งพม่ารักษากรุงฯ เจ้าตากมีชื่อเสียงปรากฎว่าฝีมือรบพุ่งเข้มแขง แม้พวกพม่าข้าศึกก็ยกย่องยำเกรง ว่าเปนนายทหารสำคัญคน ๑ ในกรุงศรีอยุทธยา ข้อนี้เหมือนเปนอำนาจอยู่ในพระองค์ อิกอย่าง ๑ ตั้งแต่เจ้าตากพยายามตั้งตัวมาได้มีโอกาศรบพุ่งหลายครั้ง เสมอได้ฝึกหัดทหารในกองทัพอยู่เนืองๆ ทหารของเจ้าตากมียุทธวินัย แลชำนาญกระบวนยุทธยิ่งกว่าพวกอื่นๆ แต่ที่เปนข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น ที่เจ้าตากเปนนักรบโดยอุปนิสัย เอาพระองค์ออกน่านำทหารฝ่าฝืนภยันตรายทั้งปวงเปนนิจ พวกพลทหารก็พากันจงรักภักดี คนน้อยจึงอาจสู้คนมาก ไม่เคยแพ้ใครมาจนเวลานั้น.

อนึ่งเมื่อเจ้าตากเตรียมกองทัพอยู่ที่เมืองจันทบุรีนั้น มีข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุทธยาที่หลบหนีพ้นพม่าได้ ทราบว่าเจ้าตากรวบรวมรี้พลจะมาแก้แค้นพม่าก็ลงไปเข้าด้วยหลายคน มีหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก แลนายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก (คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ทั้ง ๒ นี้เปนต้น เจ้าตากได้นายทัพนายกองเพิ่มเติมมากขึ้น พอถึงเดือน ๑๑ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ สิ้นมรสุม เจ้าตากต่อเรือรบได้ ๑๐๐ ลำ รวบรวมทหารทั้งไทยจีนได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ก็ยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรีในเดือน ๑๑ นั้น เมื่อมาถึงเมืองชลบุรีพวกราษฎรพากันกล่าวโทษนายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งเจ้าตากตั้งให้เปนพระยาอนุราฐอยู่รักษาเมืองชลบุรี ว่าประพฤติเปนโจร ให้สมัคพรรคพวกเที่ยวตีปล้นเรือลูกค้าเก็บเอาทรัพย์สมบัติ ชำระได้ความเปนสัตย์เจ้าตากก็ให้ประหารชีวิตรนายทองอยู่นกเล็กเสีย พอจัดการเมืองชลบุรีเรียบร้อยแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยาในข้างขึ้นเดือน ๑๒.

ฝ่ายนายทองอินซึ่งพม่าให้ตั้งรักษาเมืองธนบุรี รู้ว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำ ก็ให้รีบขึ้นไปบอกแก่สุกี้เแม่ทัพที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกคนขึ้นรักษาป้อมวิไชยประสิทธิ์ แลน่าที่เชิงเทินเมืองธนบุรีคอยจะต่อสู้ ครั้นกองทัพเจ้าตากยกขึ้นมาถึง พวกรี้พลที่รักษาน่าที่เห็นว่าเปนกองทัพไทยยกมาก็ไม่เปนใจที่จะต่อสู้ รบพุ่งกันหน่อยหนึ่งเจ้าตากก็ตีได้เมืองธนบุรี จับตัวนายทองอินได้ให้ประหารชีวิตรเสีย แล้วให้เร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุทธยา ฝ่ายสุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้นได้ทราบความจากคนที่นายทองอินให้ไปบอกข่าว ไม่ช้าพวกที่แตกหนีไปจากเมืองธนบุรีก็ตามไปถึง บอกสุกี้ว่าเสียเมืองธนบุรีแก่ไทยแล้ว สุกี้ได้ทราบก็ตกใจ ให้รีบเตรียมรักษาค่ายโพธิ์สามต้น แลเวลานั้นเปนเวลาระดูน้ำ สุกี้เกรงว่ากองทัพไทยจะขึ้นไปถึงเสียก่อน จึงให้มองย่านายทัพรองคุมพลพวกมอญแลไทยที่ไปยอมอยู่ด้วย ยกเปนกองทัพเรือลงมาตั้งสกัดคอยต่อสู้อยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกขึ้นไปถึงกรุง ฯ ในค่ำวันนั้น ได้ความว่ามีกองทัพข้าศึกลงมาตั้งอยู่ที่เพนียด ยังไม่ทราบว่ากำลังข้าศึกจะมามากน้อยเท่าใดก็ยั้งอยู่ ฝ่ายพวกไทยที่มาในกองทัพมองย่ารู้ว่ากองทัพไทยด้วยกันยกขึ้นไปก็รวนเรจะหลบหนีไปบ้าง จะมาเข้ากับเจ้าตากบ้าง มองย่าเห็นพวกไทยไม่เปนใจต่อสู้ข้าศึก เกรงจะพากันเปนขบถขึ้น ก็รีบหนีเอาตัวรอดกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในค่ำวันนั้น พอรุ่งเช้าขึ้นเจ้าตากทราบความจากพวกไทยที่หนีพม่ามาเข้าด้วย ว่าข้าศึกถอยหนีจากเพนียดหมดแล้วก็รีบยกตามขึ้นไป แลค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นนั้นตั้งข้างฟากตวันออกค่าย ๑ ข้างฟากตวันตกค่าย ๑ ตัวสุกี้แม่ทัพอยู่ค่ายข้างฟากตวันตก ค่ายนี้พม่ารื้อเอาอิฐตามวัดมาก่อกำแพงทำเชิงเทินมั่นคงมาแต่ครั้งเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่อยู่เมื่อล้อมกรุง ฯ จึงเปนที่มั่นของสุกี้ต่อมา เจ้าตากยกตามมองย่าขึ้นไปถึงโพธิ์สามต้นเวลาเช้า ก็สั่งให้ทหารระดมตีค่ายพม่าข้างฟากตวันออก พอเวลา ๓ โมงเช้า (๙ ก ท.) ก็ได้ค่ายนั้น เจ้าตากจึงให้เข้าตั้งรักษาค่าย แล้วให้ทำบันไดสำหรับจะพาดปีนค่ายพม่าข้างฟากตวันตกแต่เวลาเช้าวันนั้น ครั้นพร้อมเสร็จพอเวลาค่ำก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิไชยนายทหารจีน คุมกองทหารจีนไปตั้งประชิดค่ายสุกี้ทางด้านวัดกลาง พอรุ่งเช้าก็ให้กองทหารไทยจีนเข้าระดมตีค่ายสุกี้พร้อมกัน รบกันแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพเจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ ฆ่าสุกี้แม่ทิพพม่าตายในที่รบ พวกไพร่พลที่เหลือตายมองย่าพาหนีไปได้บ้าง แต่ที่จับได้แลที่เปนไทยยอมอ่อนน้อมโดยดีนั้นเปนอันมาก เจ้าตากตีได้ค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นก็ได้กรุงศรีอยุทธยากลับคืนมาเปนของไทย.

เมื่อเจ้าตากมีไชยชนะพม่าแล้ว ตั้งพักกองทัพอยู่ที่ในค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้นผู้คนแลทรัพย์สมบัติซึ่งสุกี้ยังมิได้ส่งไปเมืองพม่า เอารวบรวมรักษาไว้ในค่ายแม่ทัพ มีพวกข้าราชการที่พม่าจับเอาไปไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็ก เปนต้น ต่างพากันมาเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงที่พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ที่ในกรุง ฯ แลทูลว่ายังมีเจ้านายซึ่งพม่าจับได้ ต้องกักขังอยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ ที่เปนพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ คือ เจ้าฟ้าสุริยาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าจันทวดีพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์ ๑ รวม ๔ พระองค์ ที่เปนชั้นหลานเธอ คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) องค์ ๑ หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรองค์ ๑ หม่อมเจ้ามณี ธิดากรมหมื่นเสพภักดีองค์ ๑ หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจืดองค์ ๑ รวม ๔ องค์ เจ้านายทั้ง ๘ องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรอยู่ จึงยังมิได้ส่งไปเมืองอังวะ เจ้าตากทราบก็มีความสงสาร แลแต่ก่อนมาเมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรีนั้น ก็ได้พบพระองค์เจ้าทับทิมราชธิดาสมเด็จพระเจ้าเสือพระองค์ ๑ ซึ่งพวกข้าพาหนีไปเมืองจันทบุรี เห็นจะเปนเพราะเจ้าจอมมารดาจะเปนญาติกับพระยาจันทบุรี เจ้าตากก็อุปการะทำนุบำรุงไว้ จึงสั่งให้จัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร แลให้ปล่อยคนทั้งปวงที่ถูกพม่ากักขังไว้ แล้วแจกจ่ายทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคประทาน ให้พ้นทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น แล้วจึงให้ปลูกพระเมรุดาดผ้าขาวที่ท้องสนาม แลให้สร้างพระโกษฐ์กับเครื่องประดับสำหรับงานพระบรมศพตามกำลังที่จะทำได้ ครั้นเตรียมการพร้อมเสร็จเจ้าตากจึงเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลาอยู่ที่ในกรุง ฯ ให้ขุดพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศเชิญลงพระโกษฐ์ประดิษฐานที่ในพระเมรุที่สร้างไว้ ให้เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ นิมนต์มารับทักษิณานุปทานแลสดัปกรณ์ตามประเพณี แล้วเจ้าตากกับเจ้านายในพระราชวงศ์เดิม แลข้าราชการทั้งปวงก็ถวายพระเพลิงพระบรมศพ แลประจุพระอัฐิธาตุตามเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารกล่าวว่า เมื่อเจ้าตากทำการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสร็จแล้ว คิดจะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุทธยา ตั้งเปนราชธานีดังแต่ก่อน จึงขึ้นทรงช้างที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตรในบริเวณพระราชวัง แลประพาศตามท้องที่ในพระนคร เห็นปราสาทราชมณเฑียรตำหนักใหญ่น้อย ทั้งอาวาศวิหารแลบ้านเรือนชาวพระนครถูกข้าศึกเผาทำลายเสียเปนอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นน้อย ก็สังเวชสลดพระหฤไทย ในวันนั้นเสด็จเข้าไปประทับแรมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืน อันเปนท้องพระโรงที่เสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน เจ้าตากทรงพระสุบินว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่มิให้อยู่ ครั้นรุ่งเช้าจึงดำรัสเล่าพระสุบินให้ข้าราชการทั้งปวงฟัง แล้วรับสั่งว่า เดิมเราคิดจะปฏิสังขรณ์พระนครให้คืนดีดังเก่า แต่เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉนี้ เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด แล้วเจ้าตากจึงให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรีแต่นั้นมา.

เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์ที่ปรากฎในเรื่องพระราชพงษาวดารต่อมา เห็นว่าที่เจ้าตากลงมาตั้งเมืองธนบุรีเปนราชธานีครั้งนั้นเหมาะแก่ประโยชน์ทุกอย่าง ถ้าหากว่าสมเด็จพระอดีตมหาราชได้มาขับไล่เจ้าตากมิให้ตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา ก็ขับไล่ด้วยไมตรีจิตร ตักเตือนมิให้พลาดพลั้งไปด้วยเห็นแก่เกียรติยศ แลน่าเชื่อว่าเจ้าตากจะชอบพระไทยในพระสุบินนั้นด้วย เพราะกรุงศรีอยุทธยาถึงเปนที่มีไชยภูมิด้วยลำน้ำล้อมรอบ แลเปนเมืองมีป้อมปราการมั่นคงก็จริง แต่ถ้ามีข้าศึกมา จำต้องมีรี้พลมากจึงจะรักษากรุงฯ ไว้ได้ รี้พลของเจ้าตากที่มีอยู่ไม่พอจะรักษากรุงศรีอยุทธยาต่อสู้ข้าศึก แลขณะนั้นสัตรูก็ยังมีมาก ทั้งพม่าแลไทยก๊กอื่นอาจยกมาย่ำยีในเมื่อหนึ่งเมื่อใด กรุงศรีอยุทธยาอยู่ในทางที่ข้าศึกจะมาถึงได้สดวกทุกทาง ถ้ามีกำลังไม่พอจะรักษา ขืนตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาก็คงเปนอันตราย การที่ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็ไม่ห่างไกลกับกรุงศรีอยุทธยา มีอำนาจอยู่ที่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีอำนาจอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา แต่ได้เปรียบที่เมืองธนบุรีตั้งอยู่ที่น้ำลึกใกล้ทเล แม้ข้าศึกมาทางบกไม่มีทัพเรือเปนกำลังด้วยแล้ว ก็ยากที่จะมาตีเมืองธนบุรี ถึงจะมีข้าศึกมา เมืองธนก็มีป้อมปราการแลเปนเมืองขนาดย่อม พอกำลังกองทัพบกทัพเรือของเจ้าตากจะรักษาได้ โดยที่สุดถ้าจะรักษาไว้ไม่ได้จริง ๆ ก็อยู่ใกล้ปากน้ำ อาจจะลงเรือล่าทัพกลับไปเมืองจันทบุรีอย่างเดิมได้โดยสดวก ลงมาตั้งอยู่เมืองธนบุรี เหมาะแก่วิธียุทธดังกล่าวมานี้ประการ ๑ แลยังเหมาะในทางการบ้านเมืองอันเปนข้อสำคัญอิกอย่าง ๑ เมืองธนบุรีตั้งปิดปากน้ำทางที่หัวเมืองเหนือทั้งปวงจะไปมากับต่างประเทศ อย่างเดียวกับกรุงศรีอยุทธยา เปนที่กีดกันมิให้หัวเมืองเหนือที่ตั้งตัวเปนใหญ่อยู่ก๊กอื่นหาเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์มาจากต่างประเทศได้ แต่เจ้าตากเองอาจจะหาได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เจ้าตากตั้งอยู่เมืองธนบุรีก็เหมือนมีฉายาอำนาจตลอดขึ้นไปถึงหัวเมืองทั้งปวง คงจะเปนด้วยแลเห็นประโยชน์ดังกล่าวมานี้ เจ้าตากจึงลงมาตั้งเมืองธนบุรีเปนราชธานี ความดำริห์ก็ถูกต้อง ดังจะเห็นผลที่ปรากฎในเรื่องราวต่อไปข้างน่า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ