ตอนที่ ๖

ในเดือนยี่ปีวอกนั้น เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือถึงครอเฟิดที่เมืองสิงคโปร์ฉบับ ๑ ตอบหนังสือที่มีมาเมื่อเดือน ๑๒ ว่าได้นำความในหนังสือนั้นขึ้นกราบบังคมทูลฯ แล้ว มีพระราชโองการดำรัสว่า ทรงยินดีที่อังกฤษทำสงครามกับพม่า เพราะพม่าเปนสัตรูกับไทย แต่ฝ่ายอังกฤษนั้นมีทางไมตรีดีกับกรุงเทพฯ การที่ไปมาค้าขายกันก็เจริญขึ้นเสมอ ข้อที่ครอเฟิดแจ้งมาในหนังสือว่า ถ้าหากไทยไปช่วยรบพม่า อังกฤษจะมีความยินดีนั้น บัดนี้ได้โปรดให้กองทัพยกออกไปช่วยรบพม่าแล้ว แลธรรมเนียมแต่ก่อนมา ถึงปีเคยโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองทัพมอญยกไปตระเวรด่าน กองทัพเคยเข้าไปทำลายค่ายคูยุ้งฉางของพม่าถึงในแดนเมืองเมาะตมะ เมืองมฤท เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลจับเอาผู้คนมาถามหวังจะทราบความคิดพม่าว่าตระเตรียมทัพศึกจะยกมารบพุ่งเมืองไทยอย่างไรบ้าง บัดนี้ได้ทรงทราบว่ากองทัพอังกฤษตั้งอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปยังเมืองเมาะตมะ เจ้าพระยามหาโยธาบอกมาว่า กองทัพอังกฤษหาได้ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตมะไม่ สืบได้ความว่ายกขึ้นไปทางเมืองหงษาวดีบ้าง ยกลงมาทางเมืองทวายบ้าง ครั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ในกรุงเทพฯ ทราบความว่าอังกฤษตีได้เมืองทวายเมืองมฤทแล้ว แต่ส่วนเจ้าพระยามหาโยธาบอกมาว่ายังหาทราบความจากแม่ทัพอังกฤษ ว่าการที่รบพุ่งกับพม่าเปนอย่างไรไม่ จึงโปรดให้มีหนังสือนี้มายังครอเฟิด จะได้บอกไปยังแม่ทัพอังกฤษให้ทราบ ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กองทัพออกไปช่วยอังกฤษแล้ว.

แต่หนังสือเจ้าพระยาพระคลังฉบับนี้ค้างอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยติดระดูมรสุม ไม่มีเรือไปเมืองสิงคโปร์ จนเดือน ๔ จึงได้ฝากเรือกำปั่นอังกฤษออกไปถึงครอเฟิด.

ความปรากฎในจดหมายเหตุอังกฤษว่า เมื่อในเดือนยี่ปีวอกนั้น เจ้าพระยามหาโยธามีหนังสือไปยังเซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษฉบับ ๑ ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงศรีอยุทธยาได้ทรงทราบว่าอังกฤษรบกับพม่า จึงโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ไปจากเมืองกาญจนบุรี เพื่อจะได้ช่วยอังกฤษรบพม่า เพราะพม่าเปนสัตรูของไทย แต่อังกฤษได้มีทางไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยามาช้านาน เจ้าพระยามหาโยธายกมาถึงเมืองเตรีน ทราบว่าอังกฤษตีได้เมืองเมาะตมะแล้ว ถ้าอังกฤษจะต้องการให้ไทยไปช่วยรบพม่า ก็จะให้กองทัพน่าขที่ไปตั้งอยู่ริมน้ำในแขวงเมืองเมาะตมะ มีจำนวนพล ๕,๐๐๐ ยกลงไปสมทบกับกองทัพอังกฤษ ทางพระราชไมตรีจะได้ถาวรวัฒนาการสืบไป.

ในหนังสือเจ้าพระยามหาโยธาถึงแม่ทัพอังกฤษกล่าวความต่อมาว่า ซึ่งอังกฤษตีได้เมืองเมาะตมะนั้น ขอให้ช่วยพิทักษ์รักษาวัดวาอารามแลพระสงฆ์สามเณร กับทั้งทำนุบำรุงพวกมอญอันเปนไพร่บ้านพลเมืองด้วย เพราะเหมือนกับเปนพี่น้องของเจ้าพระยามหาโยธา เหตุด้วยร่วมชาติอันเดียวกัน พวกมอญทั้งปวงได้ถูกพม่ากดขี่ข่มเหงมาช้านานนักแล้ว จนต้องพากันหลบหนีเข้าไปอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาเปนอันมาก ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงทำนุบำรุง จึงได้เปนศุขพ้นจากความยากแค้น.

อนึ่งแต่ก่อนมา เมื่อถึงเดือนอ้ายเดือนยี่ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ เคยโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพเข้ามาในแดนพม่า ให้มาจับพม่ารามัญแลทวายไปทุกปี แต่เมื่อมาทราบในคราวนี้ ว่าอังกฤษได้เมืองเมาะตมะ เจ้าพระยามหาโยธาเห็นแก่ทางพระราชไมตรีที่ได้มีมากับอังกฤษช้านาน จึงมิได้ให้ตั้งด่านกักทางแลตรวจจับผู้คนดังแต่ก่อน ฝ่ายอังกฤษก็ขออย่าให้กดขี่กักขังไพร่บ้านพลเมืองที่ไปมายังเมืองเมาะตมะ เพราะราษฎรมีความปราถนาจะไปค้าขายที่เมืองเมาะตมะอยู่เปนอันมาก ความที่กล่าวมาทั้งนี้โดยความสัตยสุจริต หาเปนอุบายหลอกลวงอย่างใดไม่ แต่นี้ไปถ้าชาวเมืองเมาะตมะ เมืองทวาย แลเมืองมฤท ประสงค์จะมาค้าขายทางแดนไทย ขออย่าให้อังกฤษห้ามปราม ฝ่ายเจ้าพระยามหาโยธาก็จะไม่ห้ามปรามราษฎรทางแดนไทยที่จะไปมาค้าขายยังหัวเมืองที่อังกฤษตั้งรักษา อาณาประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเปนศุข ทางพระราชไมตรีสองพระนครก็จะได้สนิทยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน.

อนึ่งเจ้าพระยามหาโยธาได้ยินว่ากองทัพอังกฤษตีได้เมืองร่างกุ้งแล้ว ข้อนี้จริงฤๅอย่างไร ทั้งได้ยินว่าอังกฤษใดรบพุ่งมีไชยชนะพม่าก็หลายครั้งแล้ว การสงครามเดี๋ยวนี้เปนอย่างไรกัน ขอให้แม่ทัพอังกฤษแจ้งมาให้ทราบด้วย ถ้าหากว่าอังกฤษจะยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะ ขอให้บอกผู้ถือหนังสือนี้ให้รีบกลับมาโดยเร็ว จะได้บอกเข้าไปกราบบังคมทูล ฯ ยังกรุงเทพ ฯ แล้วจะได้ยกไปช่วยกันรบพุ่งไชยชนะพม่าข้าศึกให้จงได้ หนังสือมาณวันเดือนยี่ แรม ๑๒ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ หนังสือฉบับนี้เจ้าพระยามหาโยธาให้ขุนหมื่น ๓ คนถือไปจากเมืองเตรีน.

ในจดหมายเหตุอังกฤษมีสำเนาหนังสือนายทัพไทยอิกฉบับ ๑ ไม่ปรากฎนาม เข้าใจว่าเห็นจะเปนพระยาสุรเสนา มีถึงนายทหารอังกฤษที่รักษาเมืองทวายเมื่อเดือน ๓ ในปีวอกนั้น ความว่าซึ่งมีหนังสือต่อว่าเข้ามาว่า ไทยออกไปจับชาวเมืองทวายแลเมืองมฤทเข้ามากว่าร้อยคนนั้น ข้อนี้เปนด้วยประเพณีมีมาแต่ก่อนที่กองตระเวรด่านเคยเข้าไปจับคนในแดนพม่ามาเสมอ พวกตระเวรด่านไม่ทราบว่าอังกฤษมาได้เมืองทวายแลเมืองมฤท จึงได้ไปจับทวายมาประมาณ ๑๕ คน แลส่งเข้าไปยังกรุงเทพ ฯ คนเหล่านั้นก็ได้รับความทำนุบำรุงเปนอันดี ครั้นที่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าเมืองทวายแลเมืองมฤทอังกฤษตีได้แล้ว เห็นแก่ทางพระราชไมตรีที่มีกับอังกฤษจึงได้ปล่อยคนเหล่านั้นกลับมายังบ้านเมือง แลให้ถือหนังสือนี้มายังนายทัพอังกฤษด้วย.

ฝ่ายเซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษ เมื่อทราบว่ามีคนถือหนังสือไปจากเจ้าพระยามหาโยธา จึงให้มารับผู้ถือหนังสือไปที่เมืองร่างกุ้ง ครั้นแปลหนังสือทราบความแล้ว จึงให้นายพันโทสมิทลงมารักษาเมืองเมาะตมะ แลให้เปนผู้พูดจากับเจ้าพระยามหาโยธา แล้วเซอร์อาชิบัลด์ แคมป์เบล มีใบบอกไปยังรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ว่าเดี๋ยวนี้มีกองทัพไทยยกไปแล้ว เซอร์อาชิบัลด์ แคมป์เบลคิดจะว่ากล่าวกับกองทัพไทยให้ยกจากเมืองเมาะตมะขึ้นไปตีเมืองหงษาวดี แล้วให้ไทยตีเมืองพม่าต่อขึ้นไปทางเมืองตองอูอิกทาง ๑ ให้ติดต่อกับกองทัพอังกฤษที่ยกขึ้นไป เปน ๒ ทางด้วยกัน แลจะขอให้ไทยแบ่งโคสำหรับฆ่ากินเปนอาหาร แลพาหนะมาช่วยกองทัพอังกฤษที่จะยกขึ้นไปทาง (ลำน้ำเอราวดี) ข้างด้านซ้ายของกองทัพไทยด้วย.

ส่วนนายพันโทสมิท ซึ่งแม่ทัพอังกฤษให้มาเปนผู้พูดจากับเจ้าพระยามหาโยธา เมื่อได้รับคำสั่งแล้วก็พาผู้ถือหนังสือออกจากเมืองร่างกุ้งมาถึงเมืองเมาะตมะเมื่อปลายเดือน ๓ แล้วทำหนังสือตอบให้ขุนหมื่นถือกลับไปยังเจ้าพระยามหาโยธาว่า เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบลแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษได้รับหนังสือซึ่งนายทัพกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยาซึ่งคุมทหารมอญ ๕,๐๐๐ มาตั้งอยู่ใกล้เมืองเมาะตมะส่งมา ได้ทราบความทุกประการแล้ว แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษให้เราผู้รักษาเมืองเมาะตมะตอบมาว่า อังกฤษกับไทยแลมอญทั้ง ๓ ชาตินี้ก็เปนมิตรไมตรีกันมาช้านาน ความข้อนี้แม่ทัพใหญ่ก็ทราบอยู่แก่ใจ จึงมีความยินดีพอใจนักที่ทางไมตรีนั้นจะมั่นคงยิ่งขึ้นในครั้งนี้.

ในหนังสือนายพันโทสมิทถึงเจ้าพระยามหาโยธากล่าวความต่อไปว่า รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียมีความประสงค์แต่จะเปนไมตรีกันกับประเทศที่ใกล้เคียงอยู่เปนนิจ มิได้ไปก่อเหตุการณ์อันใดแก่พม่า แต่พม่าบังอาจกดขี่ข่มเหงคนในบังคับอังกฤษอย่างทารุณร้ายกาจมาเนือง ๆ จนอังกฤษเห็นว่าจะทนเสียเกียรติยศให้พม่าดูหมิ่นต่อไปไม่ได้ จำเปนต้องรบกับพม่า จึงให้กองทัพยกมาตีเมืองพม่าเปนหลายทาง อังกฤษมาทำสงครามครั้งนี้มิใช่จะต้องการบ้านเมืองไปเปนของอังกฤษ ด้วยเขตรแดนของอังกฤษก็ใหญ่โตอยู่แล้ว ยกมาด้วยประสงค์จะกำราบปราบปรามผู้ปกครองประเทศพม่ามิให้เย่อหยิ่งต่อไปดังแต่ก่อนเท่านั้น ความประสงค์ของอังกฤษที่มาทำสงครามก็สำเร็จไปหลายประการแล้ว เพราะได้รบพุ่งกองทัพพม่าแตกพ่ายไปจากเมืองร่างกุ้ง แล้วตีได้หัวเมืองของพม่าตามชายทเล แลทำลายล้างค่ายคูของพม่าเสียนับไม่ถ้วนว่ากี่แห่ง บัดนี้กองทัพอังกฤษก็กำลังยกมาอิกหลายทาง ทั้งทางบกทางน้ำ จะตีขึ้นไปให้ถึงราชธานีของพม่าให้จงได้.

ที่พม่ากดขี่ข่มเหงมอญมาแต่ก่อนอย่างไร อังกฤษเปนมิตรของมอญก็สงสารอยู่เสมอ ในคราวนี้เปนโอกาศแล้วที่มอญจะทำทดแทนพม่าได้บ้าง แลบางทีมอญจะกลับได้เปนอิศระเหมือนแต่โบราณมาก็อาจจะเปนได้.

แต่อังกฤษอยากจะทราบความประสงค์ของท่านผู้เปนแม่ทัพที่รับสั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามให้ยกมาตั้งอยู่ในเขตรเมืองเมาะตมะครั้งนี้ แลอยากจะแสดงให้เห็นว่าอังกฤษมีความนับถือในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ท่านแม่ทัพใหญ่จึงให้เราผู้เปนนายทหารผู้ใหญ่อยู่ในกองทัพมายังเมืองเมาะตมะ เพื่อจะได้ปฤกษาหาฤๅกับท่านแม่ทัพไทย ว่าจะควรช่วยกันรบพุ่งปราบปรามพม่าด้วยประการอย่างใดดี เราจึงได้พาผู้ถือหนังสือของท่านลงมายังเมืองเมาะตมะ (แล้วให้ถือหนังสือฉบับนี้มายังท่าน)

เราขอเชิญให้ท่านผู้เปนแม่ทัพมาพบปะกับเรา เพื่อจะได้ปฤกษาหาฤๅการงานให้เปนประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าหากว่าความที่ปฤกษาหาฤๅกันในข้อใดจะต้องบอกไปหาฤๅผู้ใหญ่ ก็จะได้รีบบอกไปหาฤๅตามสมควรแก่การ.

เราขอถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญศุข แลขอให้พระราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญมั่นคง แลขอให้ราชวงศ์กระษัตริย์มอญแต่ก่อนกลับได้คืนครอบครองรามัญประเทศดังแต่ก่อน เทอญ.

ในที่สุดเราขอให้ท่านวางใจในการที่จะทำสงครามต่อไปนี้ ถ้ามีเหตุการณ์อย่างไรที่อังกฤษจะช่วยเหลืออุดหนุนไทยได้คงจะช่วยเหลือทุกประการ หนังสือมาณวันที่ ๖ มีนาคม คฤศตศก ๑๘๒๕ (ตรงกับวัน ๑ ฯ๓ ๔ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗)

เจ้าพระยามหาโยธาได้รับหนังสือนายพันโทสมิท จึงแต่งให้จมื่นราชามาตย์ปลัดกรมตำรวจกับพระยาพระราม ซึ่งเปนบุตรคนใหญ่ของเจ้าพระยามหาโยธา ถือหนังสือตอบไปยังนายพันโทสมิท.

ความในหนังสือเจ้าพระยามหาโยธาว่า มีความยินดีที่ได้รับหนังสือของนายพันโทสมิท แลได้รีบบอกข้อความเข้าไปยังเสนาบดีกรุงเทพ ฯ ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว.

เราผู้เปนแม่ทัพมาจากกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยาก็ทราบความอยู่ชัดเจน ว่าอังกฤษกับมอญได้เปนไมตรีกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงหงษาวดียังรุ่งเรืองอยู่แต่โบราณ หวังว่าถ้ารบชนะสัตรูในครั้งนี้แล้ว เมืองรามัญก็จะกลับรุ่งเรืองดังแต่ก่อน พวกมอญรามัญก็จะพากันขอบคุณนายพันโทสมิทตลอดไปชั่วลูกแลหลาน เพราะรามัญมิได้รู้อกตัญญูต่อผู้ที่มีพระคุณเลย.

ขณะนี้เรายังอยู่ที่เมืองเตริน ยังห่างไกล จะไปพบปะปฤกษาหาฤๅกันดังความประสงค์ของท่านยากนัก เราหมายจะยกเข้าไปตั้งที่บ้านตุระนะในไม่ช้า แต่บัดนี้ได้แต่งจมื่นราชามาตย์นาย ๑ กับพระยาพระรามผู้เปนบุตรของเราอิกนาย ๑ ถือหนังสือฉบับนี้มาแทนตัวเราก่อน ด้วยจะใคร่ทราบว่าท่านจะประสงค์ให้กองทัพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยายกไปที่ไหน เมื่อเวลาใด (ขอให้แจ้งความให้เราทราบด้วย) สิ้นเนื้อความในจดหมายเท่านี้.

จมื่นราชามาตย์กับพระยาพระรามไปถึงเมืองเมาะตมะ นายพันโทสมิทก็ต้อนรับเลี้ยงดูอย่างแขกเมืองที่มีเกียรติยศ ครั้นได้ทราบความในจดหมายของเจ้าพระยามหาโยธาแล้ว จึงไต่ถามจมื่นราชามาตย์แลพระยาพระรามต่อไปถึงความคิดของเจ้าพระยามหาโยธาที่จะรบพุ่งพม่า ทั้ง ๒ นายบอกว่ากองทัพไทยคอยจะรบพม่าอยู่ ถ้าอังกฤษจะให้ไปช่วยรบทางไหนก็จะไป สุดแต่ให้ได้ทำแก่พม่าให้ย่อยยับไปแลเปนประมาณ แต่เจ้าพระยามหาโยธาหมายว่าลงมาพบกับนายพันโทสมิทเอง ขอให้คอยพูดจากับเจ้าพระยามหาโยธาให้ตกลงกันเถิด นายพันโทสมิทถามต่อไปถึงที่จะให้กองทัพไทยยกขึ้นไปตีเมืองตองอูทางเมืองหงษาวดี จมื่นราชามาตย์กับพระยาพระรามตอบว่า ถ้าจะให้กองทัพไทยยกไปทางนั้น อังกฤษจะต้องเอาเรือรับกองทัพตอนที่จะข้ามน้ำสละวินที่เมืองเมาะตมะ แลจะต้องจ่ายเสบียงอาหารให้ นายพันโทสมิทว่าเสบียงอาหารที่อังกฤษได้ไว้จากพม่าที่เมืองเมาะตมะมีถมไป เรือที่จะส่งกองทัพก็มีมาก แลจะจัดที่สำรองไว้สำหรับกองทัพไทยจะได้มาพักอยู่ที่เมืองเมาะตมะด้วย ครั้นพูดจากันแล้ว จมื่นราชามาตย์พระยาพระรามพักอยู่ที่เมืองเมาะตมะได้ ๒ วันก็ลากลับไป.

ครั้นต่อมาถึงวันที่ ๑๒ มีนาคม (ตรงกับวัน ๗ ฯ๙ ๔ ค่ำ) นายพันโทสมิทได้ทราบจากพวกราษฎรว่า กองทัพไทยยกกลับไปเสียหมดแล้วก็ตกใจ ให้เที่ยวหาผู้ที่เคยไปมาอยู่กับไทยมาสืบถามก็เล่ากันต่างๆ บางคนว่าเห็นมีข้าหลวงออกมาที่กองทัพแล้วกองทัพก็เลิกกลับไป บางคนว่าเห็นแม่ทัพนายกองถุ้งเถียงกันแล้วก็ยกกองทัพกลับไป บางคนว่าได้ยินว่าที่ในกรุงเทพฯ สงไสยว่าเจ้าพระยามหาโยธาจะมาพึ่งอังกฤษ โดยประสงค์จะครองเมืองหงษาวดี จึงเรียกกองทัพกลับไปเสีย บางคนก็ว่าได้ยินว่าที่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนรัชกาลแล้วเกิดจลาจล กองทัพจึงต้องยกกลับไป.

ครั้นถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม (ตรงกับวัน ๑ ฯ๑๐ ๔ ค่ำ) นายพันโทสมิทได้รับจดหมายของเจ้าพระยามหาโยธามีไปฉบับ ๑ ความว่าขอบใจนายพันโทสมิทที่ได้ต้อนรับพระยาพระรามผู้บุตร ทั้งที่รับจะจัดเรือแลเสบียงอาหารให้กองทัพนั้น เจ้าพระยามหาโยธาได้คิดอยู่ว่าจะลงไปพบกับนายพันโทสมิทในวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จะได้ปฤกษาหาฤๅกันด้วยราชการทัพ แต่เดี๋ยวนี้ข้าหลวงเชิญท้องตรามาจากกรุงเทพ ฯ ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า จวนจะถึงระดูฝนแล้ว ถ้ารอช้าไปจนฝนตกชุก กองทัพก็จะกลับไม่ได้ทั้งทางบกทางเรือ ผู้คนก็จะไม่ได้ทำไร่นา จึงโปรดให้หากองทัพกลับคืนไปกรุงเทพ ฯ เจ้าพระยามหาโยธาไม่อาจจะขัดรับสั่ง จึงต้องเลิกกองทัพกลับไป แต่ถ้าหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างใด ที่นายพันโทสมิทมีความประสงค์จะพูดจาให้ถึงเจ้าพระยามหาโยธา ก็ขอให้แต่งคนถือหนังสือไปส่งยังด่านเมืองไทรโยคฤๅเมืองกาญจนบุรี ให้กองมอญที่รักษาด่านรับไปเถิด

อนึ่งแต่นี้ไป ถ้ามอญก็ดีฤๅไทยก็ดี ที่อยู่ในพระราชอาณาเขตรจะมีกิจธุระออกไปถึงเมืองเมาะตมะ ขอให้อังกฤษช่วยสงเคราะห์ด้วย ถ้าหากคนของอังกฤษจะมีกิจธุระเข้ามาในพระราชาอาณาเขตร ฝ่ายไทยจะเปนธุระให้เหมือนกัน ทางพระราชไมตรีจะได้มั่นคงสนิทสนมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ได้ส่งงากิ่งคู่ ๑ กับขี้ผึ้งมาให้นายพันโทสมิทด้วย ขอให้มีความจำเริญยิ่งๆ เทอญ สิ้นความในหนังสือเจ้าพระยามหาโยธาเท่านี้

นายพันโทสมิทได้รับหนังสือเจ้าพระยามหาโยธา เข้าใจว่ากองทัพกลับมาเพราะที่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนรัชกาล แล้วเกิดเหตุจลาจลขึ้น จึงมีใบบอกเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงไปยังแม่ทัพอังกฤษ แลแสดงความเสียใจว่า การจวนจะสำเร็จประโยชน์อยู่แล้ว มามีเหตุเกิดขัดขวางขึ้นเสีย.

อันมูลเหตุที่เจ้าพระยามหาโยธาเลิกทัพกลับมาครั้งนั้น ที่จริงเกิดเพราะกองทหารอังกฤษที่ตั้งอยู่เมืองมฤทจับเรือกองทัพพระยาชุมพร (ซุย) เมื่อเดือนยี่ มีเรื่องราวปรากฎอยู่ในใบบอกนายพันตรีฟริทผู้บังคับทหารอังกฤษที่รักษาเมืองมฤท กับทั้งที่กล่าวในหนังสือเสนาบดีไทยมีถึงอังกฤษประกอบกัน ได้ความเปนยุติดังนี้ คือ

เมื่อเดือนยี่ปีวอกนั้น นายพันตรีฟริทคุมทหารอยู่รักษาเมืองมฤทได้ทราบความว่ามีกองทัพเรือของไทยไปเที่ยวต้อนจับคนในแขวงเมืองมฤท จึงแต่งให้นายร้อยโท เดรเวอ คุมทหารสิป่ายลงเรือไปสืบความ ไปพบเรือรบไทยอยู่ห่างเมืองมฤททางสัก ๓ ชั่วโมง เปนเรือชนาดใหญ่ มีกันเชียงตีลำละ ๖๐ จนถึง ๘๐ กันเชียงอยู่ด้วยกันประมาณ ๓๐ ลำ นายร้อยโท เดอเวอ จึงให้ยกธงอังกฤษ กับธงขาวขึ้นเปนสัญญา เรือรบไทยก็ยกธงตอบแล้วรออยู่ นายร้อยโท เดรเวอ ไปพบนายทัพไทย (คือพระยาชุมพร ซุย) จึงบอกว่าเมืองมฤทนี้อังกฤษตีได้แล้ว ผู้คนพลเมืองนับว่าเปนคนของอังกฤษ ๆ กับไทยก็เปนมิตรกัน ขอให้ปล่อยพวกชาวเมืองมฤทที่จับมานั้นเสีย นายทัพไทยชี้แจงว่าเมื่อยกไปไม่ทราบว่าอังกฤษตีได้เมืองมฤท จึงได้จับผู้คนโดยสำคัญว่าเปนพวกพม่าข้าศึก พรุ่งนี้จะแวะไปที่เมืองมฤทแล้วปล่อยคนที่จับมาให้ตามประสงค์ ครั้นวันรุ่งขึ้นนายทัพไทยก็ไปแวะที่เมืองมฤท มีเรือรบไปด้วยแต่ ๙ ลำ บอกว่าอิกสักวัน ๑ พอเรือมาถึงพร้อมกันแล้ว จะปล่อยชเลยให้หมดทั้ง ๔๐๐ ที่ได้มา แต่จะต้องขอหนังสือสำคัญของผู้รักษาเมืองมฤทไปด้วย จะได้บอกเข้าไปยังกรุงเทพฯ ให้ทราบว่า เพราะอังกฤษตีได้เมืองมฤทเสียแล้ว กองทัพที่ยกมาจึงมิได้ทำแก่ข้าศึกได้ดังคำสั่ง นายพันตรีฟริทรับว่าเมื่อกองทัพไทยปล่อยชเลยให้หมดแล้วจะทำหนังสือสำคัญให้ตามประสงค์ นายทัพไทยพักอยู่ที่เมืองมฤท ๓ วัน มีเรือรบตามมาอิก ๓ ลำ ได้ปล่อยชเลยให้อังกฤษแต่ ๙๐ คน นายพันตรีฟริทให้ไปบอกว่า ที่นายทัพไทยรับไว้แล้วแลไม่ได้จริงดังสัญญาอย่างนั้นไม่พอใจเลย (ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นจะใช้ภาษาขู่เข็ญหยาบคายอย่างไร อันไม่น่าพึงใจ) ในค่ำวันนั้นพอน้ำขึ้นเรือรบไทยก็ออกไปจากเมืองมฤทหมด ขณะนั้นพอเรือกำปั่นรบอังกฤษมาถึง นายพันตรีฟริทจึงให้ทหารลงเรือโบตของกำปั่นรบ กับทั้งเรือในพื้นเมืองออกเที่ยวติดตามแต่เปนเวลากลางคืนก็หาพบเรือรบไทยไม่ ต่อมาวันหลังพวกทหารอังกฤษที่เที่ยวติดตามไปพบเรือกองทัพพระยาชุมพรพลัดอยู่ ๖ ลำ จึงจับเรือแลคนทั้งนายไพร่ที่อยู่ในเรือนั้น รวมจำนวน ๑๔๕ คน มีพระเทพไชยบุรินทรเมืองท่าแซะเปนหัวน่า เอาไปจำไว้ที่เมืองมฤทว่าถ้าไทยส่งชเลยชาวเมืองมฤทคืนให้หมดเมื่อใด จึงจะปล่อยไทยที่จับไว้ให้กลับมา.

เรื่องราวเหตุการณ์ที่บรรยายมานี้เปนคำข้างฝ่ายอังกฤษกล่าว แต่ที่พระยาชุมพรบอกเข้ามากรุงเทพฯ นั้น ว่าพระยาชุมพรคุมกองทัพเรือไปลาดตระเวรที่เมืองมฤทเมืองทวายแลเมืองตะนาวศรี เมื่อไปถึงเขตรเมืองมฤท พบเจ้าพนักงานฝ่ายอังกฤษบอกว่าขอให้แวะที่เมืองมฤท พระยาชุมพรก็ได้แวะไปตามประสงค์ อังกฤษผู้เปนนายใหญ่ที่รักษาเมืองมฤทก็ได้ต้อนรับโดยทางไมตรี ครั้นลงมาจากเมืองมฤทแล้ว พระยาชุมพรแล่นเรือจะกลับมาบ้านเมือง มาถึงกลางทางพบพวกชาวเมืองมฤทที่พาครอบครัวหนีกองทัพอังกฤษมา ว่าสมัคจะเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องที่ได้เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตรแต่ก่อนแล้ว พระยาชุมพรจึงรับครัวเหล่านั้นมาด้วย อังกฤษให้ทหารลงเรือรบ ๔๐ ลำตามมาจนในแดนไทย เอาปืนระดมยิงเรือกองทัพพระยาชุมพรที่ล้าหลังอยู่ จับเรือไป ๖ ลำ กับทั้งผู้คนนายไพร่ในเรือนั้นรวม ๑๔๕ คน ใบบอกพระยาชุมพรเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในต้นเดือน ๓ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงทราบข่าวทางกองทัพเจ้าพระยามหาโยธา ว่าได้ไปพบปะปรองดองกับอังกฤษ เห็นอังกฤษบังอาจจับเรือแลผู้คนกองทัพไทยทางเมืองชุมพรก็ทรงขัดเคือง จึงโปรดให้มีท้องตราให้หากองทัพเจ้าพระยามหาโยธากลับมาเสียจากเมืองเมาะตมะ ฝ่ายข้างอังกฤษเมื่อความทราบไปถึงอินเดีย ว่ามีกองทัพไทยออกไปกวาดครัวที่เมืองมฤท แลกองทัพไทยที่ยกออกไปเมืองเมาะตมะเลิกทัพกลับมาเสีย ลอดอัมเฮิสต์ก็ขัดใจ มีหนังสือสั่งมาว่าอย่าให้ขวนขวายให้ไทยช่วยเหลือต่อไปอิกเลย ในครั้งนั้นการที่ว่าไทยกับอังกฤษจะช่วยกันรบพม่าเกือบจะเลิกกันไปเสียคราว ๑ แต่เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษเห็นพม่ายังมีกำลังมากนัก อยากจะได้กองทัพไทยไปถ่วงกำลังพม่าไว้อิกทาง ๑ ตามที่ได้คิดไว้แต่เดิม จึงชี้แจงตอบโต้รัฐบาลอินเดียขอให้คงคิดอ่านเอากองทัพไทยไปช่วยอิกต่อไป.

  1. ๑. คำว่าข้าหลวง อังกฤษไปแปลเปนเสนาบดี

  2. ๒. ในจดหมายเหตุอังกฤษว่า มีกรมการเมืองมฤทคน ๑ เรียกชื่อว่า โซระมุละคี อยู่ในพวกที่พระยาชุมพรเอาตัวมาด้วย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ