สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐

เรื่องสงครามคราวนี้มีเนื้อความปรากฎในพงษาวดารพม่าประกอบกับหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อกองทัพไทยตีทัพพม่าที่ท่าดินแดงแตกไปในปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙ แล้ว พอถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์กับกรมพระราชวังบวร ฯ ก็ทรงปฤกษากันให้กะเกณฑ์กองทัพ มีจำนวนพล ๘๐,๐๐๐ กำหนดจะเสด็จไปตีเมืองพม่าในระดูแล้งปลายปีมะแมนั้น แต่กระบวนศึกจะได้ทรงพระราชดำริห์เปนอย่างไรหาปรากฎไม่ เพราะกองทัพยังไม่ทันยกไปก็ได้ข่าวลงมาถึงกรุงเทพฯ ว่า พม่ายกกองทัพ ๒ ทัพ เข้ามาตีเมืองป่าซางแลเมืองนครลำปาง จึงโปรดให้แบ่งกำลังที่เกณฑ์ไว้จัดเปนกองทัพมีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปปราบปรามพม่าทางข้างเหนือ ดังกล่าวมาแล้วในเรื่องสงครามครั้งที่ ๓ ครั้นกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกกองทัพไปแล้วทางนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ เสด็จไปตีเมืองทวายในปีมะแมนั้นเหมือนกัน.

ตรงนี้จะกล่าวอธิบายถึงเหตุที่ไทยคิดจะตีเมืองพม่า แลเหตุใดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงเสด็จไปตีเมืองทวายเสียก่อน อันเหตุที่ไทยคิดจะตีเมืองพม่านั้น เพราะประสงค์จะแก้แค้นพม่าที่ได้มาทำแก่ไทยให้ได้ความลำบากยากแค้นแสนสาหัส ความรู้สึกของไทยในสมัยนั้นเปนอย่างไร ในข้อนี้จะแลเห็นได้ในกลอนเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อจะไปตีเมืองพม่า เพลงยาวนี้พิมพ์ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ทั้งฉบับ แต่คัดมาลงไว้ต่อไปนี้ พอให้เห็นความเปนตัวอย่าง ว่า-

มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด จะทดแทนมันให้หมดสิ้น
มันจิตอหังการ์ทมิฬ จะล้างให้สิ้นอย่างสงกา
อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้ฤๅ จักพ้นเงื้อมมืออย่าสงไสย
พม่าจะมาเปนข้าไทย จะได้ใช้สร้างกรุงอยุทธยา
แม้นสมดังจิตรไม่ผิดหมาย จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาศนา
จะได้ชูกู้ยกนัครา สมดังปราถนาทุกสิ่งอัน
ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด จะพาใจเปนศุขเกษมสันต์
อ้ายชาติพม่ามันอาธรรม์ เที่ยวล้างขอบขันธ์ทุกภารา
แต่ก่อนก็มิให้มีความศุข รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา
จนบ้านร้างเมืองเซทุกวัดวา ยับเยินเปนป่าทุกตำบล
มันไม่คิดบาปกรรมให้ลำบาก ต้องพลัดพรากจากกันทุกแห่งหน
มันเหล่าอาสัตย์ทรชน ครั้งนี้จะป่นเปนธุลี

แลมีกระแสพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเรื่องเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทฉบับนี้ไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า

“ข้อความตามพระราชนิพนธ์นี้ ถ้าผู้อ่านพิจารณาด้วยญาณอันหยั่งลงว่าเปนเรื่องจริง ไม่ใช่อ่านเรื่องวงศ์ ๆ จักร ๆ จะรู้สึกน้ำใจท่านผู้เปนต้นตระกูลของเรา ว่ามีความอัปรยศทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญแค้นเคืองสักเพียงใด ความคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่กรมพระราชวังบวรฯ ย่อมมีทั่วไปในผู้มีบรรดาศักดิ์แลผู้มีปัญญาในเวลานั้น” ดังนี้

แท้จริงความคิดที่อยากจะแก้แค้นพม่าคงมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีแล้ว แต่ในเวลานั้นพม่ายังพยายามยกกองทัพมารบพุ่ง ไทยเพิ่งตั้งตัวใหม่กำลังยังน้อยก็ได้แต่ต่อสู้รักษาบ้านเมือง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๑ เมื่อไทยสามารถตีทัพกระษัตริย์ของพม่าให้พ่ายแพ้ไปได้ถึง ๒ ครั้งติดๆ กัน จนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้ายกทัพมาอิก ก็เห็นเปนโอกาศว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะทำตอบแทนพม่าบ้าง จึงโปรดให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีเมืองพม่า แต่เมื่อเตรียมกองทัพจะยกไป เผอิญมีศึกพม่ามาตีเมืองป่าซางแลเมืองนครลำปาง ต้องแบ่งกำลังไปรักษาพระราชอาณาเขตรเสียเปนอันมาก การที่จะตีเมืองพม่าก็ขัดข้องไม่สมพระราชประสงค์ดังทรงพระราชดำริห์ไว้ จะเลิกทัพเสียทีเดียวก็ทรงเสียดาย จึงยกไปตีเมืองทวายแต่เมืองเดียว การที่ตีเมืองทวายครั้งนี้คงเปนด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า ตั้งแต่พ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มา กองทัพไทยไม่ได้ยกไปตีเมืองพม่าช้านานกว่า ๑๐๐ ปี ได้รบพุ่งกับพม่าแต่ในแดนของตนเองตลอดมา ยังเสียเปรียบอยู่ที่พม่ารู้ภูมิลำเนาเมืองไทยชำนาญ แต่ไทยในยุคนี้ยังหารู้ภูมิลำเนาเมืองพม่าไม่ อิกประการ ๑ พวกมอญถูกพม่ากดขี่หนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็มีมาก ที่ยังอยู่ในเมืองมอญก็อยู่โดยจำเปนมิได้มีใจนิยมต่อพม่า ถ้าหากว่าไทยยกออกไปตีหัวเมืองในแดนพม่าให้ปรากฎว่า ไทยอาจจะบุกรุกเข้าไปรบพม่าได้ ไม่อ่อนแอเหมือนแต่ก่อน พวกมอญคงจะพากันนิยมมาเข้ากับไทยช่วยเปนกำลังตีเมืองพม่าต่อไป ก็หัวเมืองขึ้นของพม่าที่สมควรจะไปตีได้ในเวลานั้น เมืองอื่นไม่เหมาะเหมือนเมืองทวาย เพราะเมืองทวายอยู่ห่างลงมาข้างใต้ พม่าจะยกกองทัพเพิ่มเติมลงมารักษาเมืองไม่สดวก ถึงรี้พลยกไปไม่มากนักก็เห็นจะพอทำการสำเร็จได้ ถ้าได้เมืองทวายก็คงได้เมืองตนาวศรีแลเมืองมฤทที่อยู่ข้างใต้ด้วยทั้ง ๒ เมือง จะได้เอาไว้เปนที่มั่นสำหรับทำสงครามตีเมืองพม่าต่อไป โดยที่สุดถึงจะตีไม่ได้เมืองทวายก็จะได้ประโยชน์ที่ได้รู้ภูมิลำเนาของข้าศึกไว้คิดอ่านการสงครามต่อไปข้างน่า เข้าใจว่ากระแสพระราชดำริห์ที่จะตีเมืองทวายคงจะเปนดังกล่าวมานี้ แลคงจะได้ทรงปฤกษาหาฤๅตกลงกันแต่เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ จะเสด็จยกกองทัพขึ้นไปทางเหนือ เพราะฉนั้นพอกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จไปแล้ว ทางนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองทวาย.

กองทัพไทยที่ยกไปตีเมืองทวายคราวนี้ โปรดให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเปนทัพน่ายกไปก่อนทัพ ๑ แล้วให้เจ้าพระยามหาเสนาพระยายมราชเปนกองน่าของทัพหลวงยกไปอิก ๒ กอง ส่วนทัพหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จเปนจอมพลโปรดให้พระยาพระคลังเปนเกียกกาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เมื่อยังดำรงพระยศเปนเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเปนยุกรบัตร แลเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เปนกองหลัง รวมจำนวนพลทั้งสิ้น ๒๐,๐๐๐ เศษ เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงเทพฯ ไปทางลำแม่น้ำไทรโยค ไปขึ้นบกที่เมืองท่าตะกั่ว ให้กองน่าทั้ง ๓ กองพล ๑๐,๐๐๐ เศษยกล่วงน่าไปก่อน แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไปโดยลำดับ.

ทางที่กองทัพไทยจะยกไปเมืองทวายไปได้ ๒ ทาง ทางข้างฝ่ายใต้เดินทางด่านบ้องตี้ (ที่ทำทางโทรเลขภายหลัง) ทางนี้เมื่อข้ามเขาบันทัดแล้วต้องเดินผ่านในเมืองตะนาวศรีไปก่อน แล้วจึงถึงเมืองทวาย ทางเหนือขึ้นไปอิกทาง ๑ เรียกว่าช่องเขาสูง ข้ามเขาบันทัดแล้วตรงเข้าเมืองทวายทีเดียว ทางนี้เปนทางใกล้ กองทัพหลวงยกไปเมืองทวายครั้งนั้นประสงค์จะไปทางใกล้ แลบางทีจะลัดหลีกทำเลที่พม่าจะตั้งต่อสู้ได้ถนัด จึงยกไปทางช่องเขาสูง ทางนี้ชรอยผู้ที่กะการทัพคราวนั้นจะไม่ทราบว่าเปนแต่ทางสำหรับคนเดิน ด้วยไม่ใคร่มีไทยเคยไปมารู้เห็นภูมิลำเนามาแต่ก่อน ต่อเดินทัพไปถึงจึงได้ปรากฎเปนทางกันดารยิ่งนัก กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ตอนที่จะข้ามเขาบันทัดนั้นภูเขาสูงชัน ถึงช้าางต้องเอางวงยึดต้นไม้เหนี่ยวตัวขึ้นไป ช้างบางตัวเดินพลาดพลัดตกเหวตายทั้งช้างทั้งควาญขี่ก็มี ถึงต้องปลงของลงจากหลังช้างให้คนแบกขนข้ามไป แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็ต้องเสด็จลงทรงพระดำเนินด้วยพระบาท ให้ผูกราวตามต้นไม้ค่อยเหนี่ยวพระองค์ขึ้นไปแต่เช้าจนเที่ยงจึงถึงยอดเขา ขาลงก็ต้องลงเช่นนั้นอิก จนถึงออกพระโอษฐตรัสว่า “ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยาก พาลูกหลานมาได้ความลำบากหนักหนา” ความตรงนี้เปนอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ไทยตีเมืองพม่าในเมื่อรัชกาลที่ ๑ ยากกว่าที่พม่ามาตีเมืองไทยอย่างไร.

ฝ่ายพม่าที่รักษาเมืองทวายในครั้งนั้น ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพพม่าที่ยกลงมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกเมื่อปีมะเสงยังตั้งอยู่ที่เมืองทวาย เกงหวุ่นแมงยีเปนแม่ทัพที่ต่อสู้ไทย แต่ในจดหมายเหตุของนายพันตรี ไมเคล ไซม์ ทูตอังกฤษที่ไปเมืองพม่าภายหลังการสงครามครั้งนี้สัก ๕ ปี ว่าพระเจ้าปดุงตั้งอะแซหวุ่นกี้ลงมาเปนอุปราชครองหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาเตะมะในเวลานั้น อะแซหวุ่นกี้เปนแม่ทัพต่อสู้รักษาเมืองทวาย แต่ความที่กล่าวนี้น่าสงไสยอยู่ ด้วยเมื่ออะแซหวุ่นกี้มาตีเมืองพิศณุโลก เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ บอกว่าอายุ ๗๒ ปี ถ้ามารบคราวรักษาเมืองทวายในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ นี้ อายุจะถึง ๘๔ ปี เห็นจะแก่นัก.

วิธีที่พม่าต่อสู้ไทยครั้งนี้ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าพม่าให้กองทัพมาตั้งสกัด ๓ แห่ง คือให้นัดมิแลงถือพล ๓,๐๐๐ มาตั้งสกัดที่ด่านวังปอ เข้าใจว่าตรงช่องที่จะลงไปจากเขาบันทัดแห่ง ๑ อิกกอง ๑ ใครเปนแม่ทัพหาปรากฎชื่อไม่ จำนวนพล ๑,๐๐๐ ตั้งรักษาเมืองกลิอ่อง ทำนองจะเปนกองหนุนของกองรักษาด่านวังปอ อิกกอง ๑ ตัวพระยาทวายถือพล ๔,๐๐๐ มาตั้งสกัดทางในท้องทุ่งที่จะเดินจากเมืองกลิอ่องไปเมืองทวาย ตรงนี้ตั้งค่ายหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันมั่นคง ส่วนตัวพม่าแม่ทัพใหญ่นั้นตั้งรักษาอยู่ที่เมืองทวาย.

ฝ่ายกองทัพไทยเดินข้ามเขาลงไป พระยาสุรเสนาพระยามหาอำมาตย์กองน่าของเจ้าพระยารัตนาพิพิธถือพล ๕,๐๐๐ ยกไปถึงด่านวังปอเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ เข้าตีค่ายพม่าที่ด่านวังปอ รบพุ่งกันเปนสามารถ พระยาสุรเสนาพระยาสมบัติบาลตายในที่รบ ตียังไม่ได้ค่ายพม่า สู้รบติดพันกันอยู่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนายกลงไปถึงเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ พร้อมกันเข้าระดมตีค่ายพม่า ก็ได้ค่ายที่ด่านวังปอในวันนั้น นัดมิแลงนายทัพพม่าล่าถอยกลับไปรักษาเมืองกลิอ่อง กองทัพไทยตั้งพักรวบรวมผู้คนอยู่ที่ด่านวังปอ ๒ วัน แล้วก็ยกตามลงไปตีเมืองกลิอ่อง พม่าต่อสู้อยู่วันกับคืน ๑ เหลือกำลังก็ถอยหนี กองทัพไทยได้เมืองกลิอ่องเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาค่ำยามเศษ เข้าตั้งพักรวบรวมผู้คนอยู่ในเมืองนั้น กองทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไปตั้งอยู่ที่ด่านวังปอ ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่าตั้งค่ายปีกการายรับอยู่ท้องทุ่ง จึงดำรัสสั่งกองทัพน่าให้ตระเตรียมยกเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้ง ๒ กอง ให้ได้ค่ายแตในเพลาเดียว เจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนาจัดกระบวนทัพพร้อมแล้วก็ยกไปตีค่ายพม่าที่ท้องทุ่ง สู้รบกันอยู่แต่เช้าจนค่ำ กองทัพไทยก็ตีได้ค่ายพม่าทั้งหมดเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ แล้วก็รีบยกติดตามลงไปเมืองทวายในเพลากลางคืนวันนั้น.

ฝ่ายแม่ทัพพม่าที่รักษาเมืองทวายเห็นกองทัพที่ให้ไปตั้งสกัดทางแตกถอยมาหมด กองทัพไทยติดตามมาจวนจนจะถึงเมือง ไม่ไว้ใจทวายชาวเมืองว่าจะมาเข้ากับไทยฤๅจะยำเกรงพม่าอยู่อย่างเดิม จึงพากองทหารทั้งปวงข้ามแม่น้ำไปตั้งอยู่ข้างฟากโนัน ทิ้งเมืองทวายไว้ให้ไทย กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนายกไปถึงเมืองทวายเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ไม่เห็นกองทัพพม่ารักษาน่าที่เชิงเทิน เห็นแต่ประตูเมืองปิดอยู่ จะยกเข้าไปในเมืองเกรงว่าพม่าจะแต่งกลซุ่มทหารไว้ จึงตั้งค่ายรายล้อมเมืองอยู่ข้างนอกตั้ง ๓ ด้าน เปิดไว้แต่ทางด้านแม่น้ำ กองทัพหลวงก็เสด็จยกตามไปตั้งค่ายที่ใกล้เมืองทวาย ห่างค่ายกองทัพน่ามาประมาณ ๕๐ เส้น กองทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จไปตั้งในระหว่างค่ายกองทัพน่ากับทัพหลวงต่อเข้ามา ฝ่ายแม่ทัพพม่าเห็นว่าพวกทวายไม่เข้ากับไทยก็กลับเข้ามาตั้งรักษาเมืองอยู่ดังแต่ก่อน แต่มิได้ออกสู้รบกองทัพไทยต่อไป.

ฝ่ายกองทัพไทยเมื่อไปตั้งล้อมเมืองทวายอยู่นั้น การลำเลียงเสบียงอาหารขัดข้องส่งถึงกันไม่ทันใช้ จึงเกิดเปนปัญหาว่าจะควรถอยกองทัพกลับมา ฤๅจะรีบหักโหมตีเอาเมืองทวายเสียให้ได้โดยเร็ว ปรากฎว่าแม่ทัพนายกองกราบทูลอาสาจะเข้าตีเมืองทวาย แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็หาได้โปรดให้เข้าตีไม่ ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาเมืองทวาย เห็นว่าทางที่จะติดต่อกับเมืองไทยไปมายาก ทรงพระราชดำริห์ว่า ถึงจะตีได้เมืองทวายในคราวนั้นก็จะรักษาไว้ไม่ได้ ยกเข้าตีเมืองก็เปลืองไพร่พลเปล่า ๆ ถ้าตีไม่ได้เสียทีพม่าลงอย่างไร ก็จะถอยทัพกลับมาได้โดยยาก ด้วยการทั้งปวงที่ตระเตรียมไปในครั้งนั้นเหมือนเปนการทดลอง ก็สำเร็จประโยชน์อยู่อย่างหนึ่งแล้ว เพราะฉนั้นพอพักรี้พลครบ ๑๕ วันแล้วก็โปรดให้เลิกทัพกลับมา แลการที่ถอยทัพกลับมาครั้งนั้นเพราะกองทัพไทยมีกำลังบริบูรณไม่บกพร่องบอบช้ำ ก็เดินกระบวนทัพกลับมาโดยเรียบร้อย พม่ายกกองทัพออกติดตามก็ไม่สามารถจะทำอันตรายแก่กองทัพไทยได้ จึงถอยกลับมาได้โดยสดวกตลอดทาง.

ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ครั้นเสร็จการปราบพม่าที่เมืองนครลำปางแลเมืองป่าซางแล้ว เสด็จยกกองทัพกลับมาถึงกลางทาง ทรงทราบว่าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จถอยกองทัพหลวงกลับจากเมืองทวายก็ตกพระไทย ทรงสำคัญว่าเสียทีข้าศึกมา จึงยกกองทัพวังน่าตามออกไปช่วย ไปทันเฝ้าฯ เมื่อเสด็จกลับเข้ามาถึงลำน้ำเมืองไทรโยค กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตั้งกองทัพรออยู่ที่นั่น คอยระวังพม่าเผื่อจะติดตามล่วงแดนเข้ามา ครั้นเห็นพม่าไม่ยกตามมาก็เลิกทัพกลับคืนมาพระนคร.

  1. ๑. จำนวนพลกว่า ๖๐,๐๐๐ ตรงนี้ ว่าตามที่กล่าวในพงษาวดารพม่า ดูจะสูงเกินไป งามจะไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ เปนอย่างมาก ถ้าเช่นนั้นยอด ๘๐,๐๐๐ ข้างบนต้องลดลงมาเปน ๕๐,๐๐๐ เห็นว่าจะพอสม.

  2. ๒. ทรงหมายความว่าจำพวกหนังสือเรื่องแต่งสำหรับอ่านกันในท้องตลาด อันมักชอบใช้ชื่อว่า “วงศ์” ฤๅ “จักร์” เช่นเรื่องวงศ์เทวราชน สินสุริย์วงศ์ จักรแก้ว เปนต้น

  3. ๓. ตรงนี้หนังสือพระราชพงษาวดารว่าพม่าคิดเปนกลอุบาย แต่ข้าพเจ้าเห็นตามกระแสพระราชนิพนธ์ในหนังสือพระราชวิจารณ์.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ