สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐

เรื่องราวการสงครามครั้งนี้ เนื้อความในพงษาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงษาวดารยุติต้องกัน แลมีเพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์กรมมหาดไทยฝ่ายพระราชวังบวรฯ ซึ่งได้ไปทัพคราวนี้แต่งพรรณาไว้ด้วยอิกเรื่อง ๑ ตรวจสอบหนังสือทั้ง ๓ เรื่องประกอบกันได้ความดังนี้

ตั้งแต่กองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองนครลำปางแลที่มาตีเมืองป่าซางเสียทีหนีไทยไปทั้ง ๒ ทัพ ดังได้กล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๓ นั้น พระเจ้าปดุงยังไม่สิ้นเสียดายอาณาเขตรลานนาที่ไทยแย่งเอามาเสีย คิดมานะจะตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนไปอิกให้จงได้ แต่ในระหว่างนั้นพระเจ้าปดุงต้องทำสงครามอยู่ทางอื่นจึงได้รอมาจนปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐ จึงให้เกณฑ์กองทัพยกมาอิกครั้ง ๑ ให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระเปนแม่ทัพใหญ่ ยกมาจากเมืองอมระบุระเมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ มาตั้งประชุมทัพที่เมืองนาย เกณฑ์ไทยใหญ่ในหัวเมืองประเทศราชเข้าสมทบ รวมได้จำนวนพลทั้งสิ้น ๕๕,๐๐๐ แล้วจัดเปน ๗ กองทัพ ให้เนมะโยกยอช่องเปนนายทัพที่ ๑ เนมะโยกยอช่องนรทาเปนนายทัพที่ ๒ อุบากองเปนนายทัพที่ ๓ เนมะโยกยอดินสีหะเปนนายทัพที่ ๔ แมงยีสิงกายาเปนนายทัพที่ ๕ แมงยีนันทกยอดินเปนนายทัพที่ ๖ เนมะโยกยอดินสีหะสุระแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพที่ ๗ ครั้นจัดพลพร้อมเสร็จจึงให้กองทัพที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ยกตรงมาเมืองเชียงใหม่ ด้วยในเวลานั้นพระยากาวิละไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ส่วนกองทัพที่ ๕ ให้ยกอ้อมลงมาทางเมืองปั่น กองทัพที่ ๖ ให้ยกมาทางเมืองริน ตรวจหาเสบียงอาหารรวบรวมมาบรรจบกันที่เมืองเชียงใหม่ แล้วแม่ทัพใหญ่ก็ยกตามเข้ามา.

ครั้นกองทัพพม่ายกมาถึงเมืองเชียงใหม่ เห็นพระยากาวิละตระเตรียมป้องกันเมืองไว้เปนสามารถ ก็เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้เปนสามชั้น ประสงค์จะทำการแรมปีตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ แล้วให้เนมะโยกยอข่องคุมกำลัง ๑๐,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองป่าซางแห่ง ๑ ให้กองทัพอิก ๑๐,๐๐๐ ใครจะเปนแม่ทัพหาปรากฎไม่ มาตั้งรักษาเมืองลำพูนอิกแห่ง ๑ คอยสกัดทางมิให้กองทัพกรุง ฯ ยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ได้.

ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครได้ทรงทราบว่าพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเชียงใหม่ แลครั้งนั้นเจ้าอนุเปนอุปราชเมืองเวียงจันท์รับอาสาจะยกกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ มาช่วยรบพม่า จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพในกรุงเทพ ฯ แลหัวเมืองจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ยกไปสมทบกับกองทัพเมืองเวียงจันท์ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จเปนจอมพลไปทรงบัญชาการศึก ให้กรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ แลพระยายมราชตามเสด็จด้วย ส่วนข้างฝ่ายวังน่า กรมขุนสุนทรภูเบศรกับลูกเธอของกรมพระราชวังบวร ฯ ที่เจริญพระชนมายุแรกจะไปทัพได้ คือพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็ได้โดยเสด็จด้วย รวมเปน ๓ พระองค์ ทั้งข้าราชการวังน่าก็ไปตามเสด็จโดยมาก.

กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปตั้งชุมนุมพลที่เมืองเถิน ให้พระยานครสวรรค์คุมพล ๓,๐๐๐ รีบขึ้นไปสืบราชการที่เมืองนครลำปางก่อน ครั้นได้ทรงทราบกระบวนทัพพม่าที่มาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แล้ว จึงดำรัสสั่งให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพหัวเมือง จำนวน ๘,๐๐๐ ยกขึ้นไปรักษาเมืองนครลำปางไว้เปนที่มั่น อย่าให้พม่าลงมาตีได้ก่อนกองทัพไทยขึ้นไปถึงพร้อมกัน แล้วให้กรมขุนสุนทรภูเบศรกับพระยากลาโหมราชเสนาคุมกองทัพพระราชวังบวร ฯ จำนวนพล ๘,๐๐๐ กับกองทัพหัวเมืองสมทบอิก ๒,๐๐๐ รวมเปนหมื่นหนึ่งยกตามขึ้นไป แล้วให้กรมพระราชวังหลังกับเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎายกตามไปเปนกองหนุน สำหรับจัดส่งเสบียงอาหารแลเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ส่งตามขึ้นไป.

ครั้นกองทัพขึ้นไปถึงเมืองนครลำปางพร้อมกันแล้ว จึงกะการที่จะไปตีกองทัพพม่าซึ่งมาตั้งรับอยู่ที่เมืองลำพูน เปนทำนองประชันกันในระหว่างกองทัพวังหลวงกับวังน่า เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกไปก่อน ไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ห้วยแม่ทา กรมขุนสุนทรภูเบศรกับพระยากลาโหมราชเสนาคุมกองทัพวังหน้าสมทบกับกองพระยานครสวรรค์ยกตามไปตั้งที่ห้วยแม่สาย สืบได้ความว่ากองทัพพม่าที่มาตั้งอยู่ที่เมืองลำพูนกำลังพลประมาณ ๘,๐๐๐ ตั้งค่ายรายรักษาอยู่ข้างนอกเมืองพวก ๑ อิกพวก ๑ ที่เปนกองหนุนตั้งอยู่ในเมืองลำพูน ฝ่ายข้างทัพไทยจึงปฤกษากันให้จัดกองทัพที่จะยกเข้าตีค่ายพม่าเปน ๒ กอง จำนวนพลกองละ ๕,๐๐๐ เท่ากัน กองข้างวังหลวง เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ให้ปลัดกรมเปนผู้นำทัพ ให้กองทัพเมืองสวรรคโลกเมืองศุโขไทยแลเมืองพิจิตรเมืองพิไชยเปนกองน่า กองทัพเมืองนครราชสิมาเปนกองหลวง ส่วนข้างวังน่ากรมขุนสุนทรภูเบศรให้พระยากลาโหมราชเสนาเปนผู้นำทัพ พระยานครสวรรค์เปนกองอิศระนำน่า พระยาพิไชยบุรินทราพระยาไกรโกษาเปนกองหนุนพระยานครสวรรค์ แล้วถึงพระไตรภพเปนกองน่าของพระยากลาโหมราชเสนา พระยาทศโยธาเปนปีกขวา พระยาเสนาธิเบศรเปนปีกซ้าย พระยาโยธีเปนกองหลัง พระยาสุนทรพิทักษ์กับพระยานรานุกิจมนตรีพระยาบำเรอพิทักษ์เปนกองหนุน ทั้ง ๒ ทัพยกเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกัน ได้สู้รบกันเปนสามารถ ไทยยิงนายทัพพม่าตาย พม่าต้านทานไม่ได้ก็ทิ้งค่ายหนีกลับเข้าไปรักษาอยู่แต่ในเมืองลำพูน.

ครั้นกองทัพไทยตีได้ค่ายพม่าข้างนอกเมืองลำพูนหมดแล้ว จึงเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ กองทัพวังหลวงตั้งล้อมข้างด้านใต้ กองทัพวังหน้าจำนวนพลมากกว่าวังหลวง ตั้งล้อมข้างด้านตวันตกเฉียงเหนือ อันเปนทางกองทัพพม่าที่ตั้งอยู่เมืองป่าซางจะยกมาช่วยเมืองลำพูน ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อแม่ทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ทราบว่าไม่มีกองทัพไทยยกไปทางเมืองลี้ ยกไปแต่ทางเมืองนครลำปางทางเดียว จึงให้กองทัพพม่าที่ตั้งอยู่เมืองป่าซางยกลงมาช่วยเมืองลำพูน กองทัพวังน่าก็ตีแตกยับเยินไป แล้วกองทัพไทยจึงพร้อมกันเข้าระดมตีเมืองลำพูนเปนสามารถ รบกันอยู่ ๗ วัน ถึงเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมเมีย พ.ศ. ๒๓๔๑ เพลาบ่าย ๔ โมง กองทัพไทยเข้าเมืองลำพูนได้ ฆ่าฟันพม่าล้มตายเปนอันมาก ที่เหลือก็พากันแตกหนีกลับไปยังค่ายพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่.

กองทัพไทยได้เมืองลำพูนแล้ว เสบียงอาหารหมดลง ต้องรอจนโคต่างบรรทุกเข้าสาร ๓,๐๐๐ ถัง ซึ่งกรมพระราชวังหลังจัดส่งตามไปขึ้นไปถึง จึงยกตามพม่าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทั้ง ๒ ทัพ ในพงษาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่แต่งกองทัพมาซุ่มคอยสังดักไทยในทางที่จะยกไปเมืองเชียงใหม่กอง ๑ แต่ไทยยกอ้อมไปเสียข้างใต้ หาไปทางนั้นไม่ ในเพลงยาวของพระยาสุนทรพิทักษ์ว่า พม่าทำทำนบปิดลำน้ำพิงเก่า ไขน้ำให้ไปเดินทางลำน้ำพิงใหม่ ประสงค์จะให้กองทัพไทยที่เมืองลำพูนกันดารน้ำ คงเปนด้วยเหตุนี้จึงเดินทัพหลีกลงมาหาทางน้ำข้างใต้.

กองทัพกรมพระราชวังหลังแลเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาตามขึ้นไปทันในตอนนี้ ทั้งกองทัพเจ้าอนุเวียงจันท์ก็มาถึงพร้อมกันที่เมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยมีกำลังรวมกันเปนคน ๔๐,๐๐๐ จึงพร้อมกันเข้าระดมตีค่ายพม่าที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่เมื่อณวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์เข้าตีข้างด้านตวันตก กองทัพกรมขุนสุนทรภูเบศรเข้าตีทางด้านแม่น้ำพิง กองทัพเจ้าอนุเวียงจันท์เข้าตีทางด้านห้วยแม่ข่า กองทัพกรมพระราชวังหลังแลเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเข้าตีทางด้านวังตาล พระยากาวิละก็ยกกองทัพตีพม่าออกมาจากเมืองเชียงใหม่อิกทาง ๑ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ในวันเดียวพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน เนมะโยกยอดินสีหะสุระนายทัพพม่าตายในที่รบคน ๑ อุบากองนายทัพพม่ายกมาจะตีโอบหลังไทย ๆ จับได้อิกคน ๑ พม่าถูกไทยฆ่าฟันล้มตายแลจับเปนได้เปนอันมาก ทั้งเครื่องสาตราวุธแลช้างม้าพาหนะไทยก็ได้ไว้เกือบหมด พม่าที่เหลือตายพากันหนีกลับไปเมืองเชียงแสน ครั้นพระเจ้าปดุงทราบว่าตีเมืองเชียงใหม่ไม่สำเร็จ ก็ให้มีตราให้หากองทัพกลับไปเมืองพม่า ฝ่ายกองทัพไทยมีไชยชนะข้าศึกแล้ว กรมพระราชวังบวร ฯ ก็เสด็จยกกองทัพกลับคืนมายังพระนคร.

มีเรื่องเกร็ดเนื่องจากการสงครามครั้งนี้เรื่อง ๑ คืออุบากองนายทัพพม่าที่จับได้คราวนี้ มีตำราดูฤกษ์อย่าง ๑ ทำเปนยันต์คล้ายๆ ตาหมากรุกมีตัวเลขในยันต์สักติดตัวไว้ที่แขน แล้วคิดคำณวนเลขตามยันต์นั้นให้รู้ฤกษ์ดีแลร้าย เมื่ออุบากองมาต้องจำอยู่ในคุกได้บอกตำรานี้แก่ไทย จึงเรียกกันว่า “ยันต์อุบากอง” แต่ก่อนนี้มีผู้เชื่อถือมาก มักพอใจสักไว้ที่แขน แล้วผูกวีธีดูฤกษ์ตามตำรานี้ไว้เปนกลอนท่องจำกันได้ว่า

“สูญหนึ่งอย่าพึงจร แม้นรานรอนจะอัปรา
สองสูญแม้นยาตรา จะได้ลาภสวัสดี” เปนต้น.
  1. ๑. หนังสือพระราชพงษาวดารลงศักราชผิดเร็วไป ๒ ปี แลพลความมีน้อย แต่เพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์กับพงษาวดารพม่ามีพลความพิศดารแลยุติต้องกันจนถึงวันคืนที่รบ.

  2. ๒. ที่ว่าให้ปลัดกรมเปนผู้นำทัพตรงนี้ กล่าวตามรายการในเพลงยาวของพระยาสุนทรพิทักษ์ ข้าพเจ้าสงไสยว่าพระยาสุนทรพิทักษ์ไปในกองทัพวังน่า จะไม่สู้รู้รายการในกองทัพฝ่ายวังหลวงนัก แต่ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะสอบ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ