สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕

ตั้งแต่พม่าพ่ายแพ้ไทยไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๔๑ พม่าก็ตั้งรักษาอยู่แต่เมืองเชียงแสน ไม่ลงมารบกวนเมืองเชียงใหม่อิก ครั้นถึงปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๔ พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังมากขึ้น เห็นได้ทีจึงแต่งกองทัพยกออกไปตีเมืองสาด ซึ่งเปนหัวเมืองไทยใหญ่ขึ้นอยู่กับพม่า จับได้ตัวราชาจอมหงษ์เจ้าเมืองสาดกับลูกชายชี่อไหมขัติยะ ทั้งทูตพม่าชื่อสุริงมณี ซึ่งพระเจ้าปดุงให้เชิญราชสาส์นไปเมืองตังเกี๋ยแลเมืองญวนมาพักอยู่ที่เมืองสาด พระยากาวิละกวาดครอบครัวเมืองสาดมาประมาณ ๕,๐๐๐ คน แล้วบอกส่งตัวเจ้าเมืองสาดกับทูตพม่าลงมายังกรุงเทพ ฯ ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระเจ้าปดุงขัดเคืองพระยากาวิละ จึงให้กองทัพพม่ายกเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่อิกครั้ง ๑.

กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาครั้งนี้จำนวนพลเท่าใดไม่ปรากฎ มีในหนังสือพระราชพงษาวดารแต่ว่ายกมาเปน ๗ ทัพ อินแซะหวุ่นเปนแม่ทัพใหญ่คุมพลกอง ๑ ชิดชิงโปกอง ๑ ปไลโวกอง ๑ มะเดมะโยงโกงดอรัดกอง ๑ นามิแลงกอง ๑ ตองแพกะเมียหวุ่นกอง ๑ มะยอแพกะเมียหวุ่นกอง ๑ กองทัพพม่ามาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้ง ๔ ด้าน ทำค่ายคูแน่นหนา เสาค่ายซึ่งพม่าล้อมเมืองนั้นใหญ่ ๓ กำ ยาว ๓ วา ลงดิน ๔ ศอก ไว้หลังดิน ๘ ศอก มีเอ็นรอยตลอดกัน ๓ ชั้น มีกรอบกันปืน แผงบังตา สนามเพลาะสูง ๓ ศอก มีช่องปืนรายไปรอบค่าย คิดจะตั้งทำการแรมปีจึงล้อมไว้จะให้ชาวเมืองอดอยาก มิให้ตีหักออกไปได้.

ฝ่ายข้างกรุงเทพพระมหานครเมื่อทรงทราบว่า พม่ายกกองทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่อิก จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพในกรุงฯ หัวเมือง แลกองทัพเมืองเวียงจันท์ไปสมทบกันรบพม่า แลให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จขึ้นไปทรงบัญชาการศึกเหมือนครั้งก่อน เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราชแลเจ้านายฝ่ายวังน่า คือกรมขุนสุนทรภูเบศรแลพระองค์เจ้าลำดวนพระองค์เจ้าอินทปัตก็ไปตามเสด็จเหมือนครั้งก่อน แต่ขุนนางที่เปนแม่ทัพข้างวังน่า พระยากลาโหมราชเสนาคนเก่าเห็นจะถึงอนิจกรรม ปรากฎว่าในคราวนี้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงตั้งพระยาเสนหาภูธร ชื่อทองอิน ว่าเปนผู้ซึ่งทรงพระเมตตาเสมอกับเปนพระราชบุตรบุญธรรม ให้ว่าที่พระยากลาโหม เปนแม่ทัพสำคัญขึ้นอิกคน ๑ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพไปจากกรุงเทพฯ เมื่อราวเดือนยี่ แต่จำนวนพลที่ยกไปในครั้งนั้นจะมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร.

ข่าวที่กองทัพกรุงฯ ยกขึ้นไปคราวนี้รู้ไปถึงพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่กับพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่พร้อม ๆ กัน แม่ทัพพม่าจึงให้กองทัพมาตั้งรักษาเมืองลำพูนสกัดทางอยู่กอง ๑ ด้วยคาดว่าไทยคงจะยกขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ทางเมืองนครลำปางทางเดียวเหมือนคราวก่อน ส่วนที่เมืองเชียงใหม่พม่าก็ให้ตั้งล้อมกวดขันขึ้นกว่าแต่ก่อน ประสงค์จะมิให้พวกที่อยู่ในเมืองไปมาถึงกันกับกองทัพไทยที่ยกขึ้นไปได้ พระยากาวิละจึงแต่งทหารเอกคน ๑ ชื่อว่าท้าวมหายักษ์ให้ลงมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน ท้าวมหายักษ์นั้นเปนคนกล้าหาญ ออกมาทางประตูด้านริมน้ำ เล็ดลอดหลีกกองทัพพม่าออกมาได้แล้ว ปักหนังสือบอกพม่าไว้ว่าจะกลับเข้าเมืองทางนั้นอิก ให้พม่าคอยระวังให้จงดี ครั้นขากลับท้าวมหายักษ์ก็เล็ดลอดกลับเข้าเมืองได้อิก พม่าคอยจับตัวหาได้ไม่.

ฝ่ายกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกกองทัพขึ้นไปครั้งนั้นไปประชวรเปนนิ่วกลางทาง เสด็จไปถึงเมืองเถินเมื่อเดือน ๓ พระอาการพระโรคกำเริบเกิดทุกขเวทนากล้า ไม่สามารถจะเสด็จต่อไปได้ ท้าวมหายักษ์ลงมาเฝ้าจึงโปรดให้ถือหนังสือกลับไปแจ้งความแก่พระยากาวิละว่า จะทรงแต่งกองทัพให้ยกขึ้นไปช่วยโดยเร็ว ให้รักษาเมืองไว้เถิดอย่าวิตกเลย ครั้นท้าวมหายักษ์ทูลลาไปแล้วจึงทรงจัดกองทัพให้ยกขึ้นไปเปน ๒ ทาง มีพระราชประสงค์จะให้ไปทำศึกประชันกันเหมือนกับครั้งก่อน ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช คุมกองทัพวังหลวงสมทบกับทัพหัวเมืองยกขึ้นไปทางเมืองลี้ทาง ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบศรกับพระองค์เจ้าลำดวนพระองค์เจ้าอินทปัต แลพระยากลาโหมทองอินคุมกองทัพวังน่ายกขึ้นไปทางเมืองนครลำปางอิกทาง ๑.

เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ยกขึ้นไปคราวนี้ จะเปนด้วยเวลาเกณฑ์ทัพมีน้อย ฤๅด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง กองทัพยกไปไม่พร้อมเพรียงกันเหมือนครั้งก่อน ขึ้นไปถึงเมืองลี้ได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่ลงมาจากเมืองป่าซาง เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชปฤกษากันเห็นว่ากองทัพไปไม่พรักพร้อมให้ถอยทัพลงมาเสียคราว ๑ แต่ที่จริงพม่ามาตั้งสกัดอยู่แต่ที่เมืองลำพูนแห่งเดียวหาได้ยกลงมาทางเมืองลี้ไม่ กองทัพวังน่ายกขึ้นไปทางเมืองนครลำปาง ได้รบพุ่งกับพม่าที่เมืองลำพูน ตีพม่าแตกหนีไปแล้ว กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์จึงได้ตามขึ้นไปบรรจบกันที่เมืองลำพูน แล้วยกไปเมืองเชียงใหม่พร้อมกันทั้ง ๒ ทัพ ตั้งค่ายโอบค่ายพม่าไว้ แต่กองทัพเมืองเวียงจันท์นั้นคราวนี้ยกมาช้ายังหาถึงไม่.

เมื่อข่าวที่กรมพระราชวังบวร ฯ ประชวรทราบลงมาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระปริวิตก จึงโปรดให้กรมพระราชวังหลังรีบเสด็จตามขึ้นไปช่วยกรมพระราชวังบวรฯ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน เห็นกรมพระราชวังบวร ฯ ประชวรพระอาการมาก กรมพระราชวังหลังตกพระไทยทรงพระวิตก กรมพระราชวังบวรฯ ตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า จะขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่นั้นเห็นจะไม่ได้แล้ว ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์เถิด จึงพระราชทานพระแสงดาบให้กรมพระราชวังหลังทรงถืออาญาสิทธิ์ขึ้นไป แล้วให้มหาดไทยรับพระบัณฑูรมีสารตรากระแสรับสั่งว่า โปรดให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ ถ้ากรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงกองทัพกรุงฯ แล้ว (ถ้ากองทัพพม่ายังไม่ได้เมืองเชียงใหม่ก็ให้เร่งระดมตีให้แตกไป ถ้าพม่าตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้วก็) ให้เร่งระดมเข้าตีพม่าเอาเมืองเชียงใหม่คืนให้จงได้ อย่าให้คิดว่าพี่ว่าน้อง เอาแต่การแผ่นดินตามอาชญาทัพศึก เมื่อกรมพระราชวังหลังเข้าไปเฝ้าทูลลากรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เมืองเถินนั้น เห็นสมเด็จพระบิตุลาทรง พระประชวรซูบผอมพระอาการมากอยู่ ก็เปนห่วงใยทรงพระกรรแสงมิใคร่จะเสด็จไปได้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงตรัสแก่กรมพระราชวังหลังว่า “เจ็บไข้ยังไม่เปนไรดอก จะเอาชีวิตรไว้คอยท่าให้ได้ เร่งยกขึ้นไปเถิด”

ครั้นกรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ จึงมีพระบัญชาให้หานายทัพนายกองทั้งปวงมาประชุม ทรงไต่สวนการศึกทราบว่าพม่าหย่อนกำลังอยู่แล้ว จึงมีรับสั่งกำหนดให้กองทัพทั้งปวงยกเข้าตีค่ายพม่าที่ตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ให้แตกไปแต่ในเวลาเดียวให้จงได้ กำหนดในข้อรับสั่งว่า รุ่งขึ้นให้เข้าไปกินเข้าเช้าในเมืองเชียงใหม่ให้ทันจงทุกกอง ครั้นถึงวันกำหนดกองทัพไทยก็ยกเข้าตีค่ายพม่าแต่เวลาสามยามทุกทัพ พระยากาวิละก็ยกกองทัพข้างในเมืองตีกระหนาบออกมา พอรุ่งสว่างกองทัพวังน่าตีหักเข้าค่ายพม่าได้ แต่กองทัพวังหลวงเห็นปืนพม่ายังหนานักยังแอบคันนายิงกันอยู่กับพม่า หาบุกรุกเจ้าแหกค่ายพม่าไม่ ขณะนั้นพระยาพิไชย ชื่อโต เปนคนกล้าหาญ ร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิด แตกดอก” แล้วพระยาพิไชยก็นำน่าเข้าไล่รุกพม่า นายทัพนายกองทั้งปวงจึงตามเจ้าไปก็ตีได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย พวกพม่าพากันแตกฉาน พระยากาวิละให้ออกติดตามฆ่าฟันตายเสียเปนอันมาก ต่อพม่าแตกหนีไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว ๗ วัน กองทัพเมืองเวียงจันท์จึงได้ยกมาถึง.

ครั้นมีไชยชนะพม่าข้าศึกที่เมืองเชียงใหม่แล้ว กรมพระราชวังหลังกับเจ้านายแลแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ กับทั้งพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ แลพระยาคำโสมเจ้าเมืองนครลำปาง ก็พากันลงมาเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กราบทูลให้ทรงทราบรายการที่ได้รบพุ่งพม่าข้าศึกทุกประการ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงขัดเคืองตรัสบริพาษพวกกองทัพวังหลวงเปนอันมาก แล้วมีพระบัณฑูรสั่งให้ปรับโทษ กองทัพวังหลวงแลกองทัพเมืองเวียงจันท์ ให้ยกกลับขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนทั้ง ๒ ทัพ ให้ขับไล่พม่าไปเสียให้พ้นเขตรลานนาไทยให้จงได้ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพวังน่ากลับคืนมายังพระนครกับกรมพระราชวังหลังด้วยกัน.

ที่กองทัพวังหลวงไปออกช่องย่อหย่อนให้ปรากฎว่าทำศึกสู้กองทัพวังน่าไม่ได้ในคราวที่กล่าวมานี้ เปนมูลเหตุให้เกิดการร้ายขึ้นในภายหลังต่อมา เพราะพวกแม่ทัพนายกองรุ่นใหม่ในฝ่ายวังน่า คือพระองค์เจ้าลำดวนพระองค์เจ้าอินทปัตแลพระยากลาโหมทองอินเปนต้นที่ไปมีชื่อเสียงมาในคราวนี้ พากันประมาทหมิ่นข้าราชการวังหลวง ครั้นกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ อาการพระโรคกำเริบหนักขึ้น เสด็จสวรรคตเมื่อเดือน ๑๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๖ เจ้าทั้ง ๒ องค์ กับขุนนางวังน่าบางคน มีพระยากลาโหมทองอินนั้นเปนต้นก็กำเริบกระด้างกระเดื่อง แล้วเลยคิดประทุษฐ์ร้ายในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จนต้องรับพระราชอาญาถึงสิ้นชีวิตรดังปรากฎเรื่องราวอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร.

ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราช ซึ่งถูกปรับโทษให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนกับกองทัพเมืองเวียงจันท์ด้วยกันนั้น กลับขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ก็พอเข้าระดูฝน เปนเทศกาลที่ราษฎรจะต้องทำไร่นา จึงต้องตั้งพักกองทัพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ในปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๖ จนถึงระดูแล้ง ครั้นจะยกกองทัพขึ้นไปเมืองเชียงแสน ยังต้องรอกองทัพเมืองเวียงจันท์ แลกองทัพเมืองเชียงใหม่เมืองนครลำปางเมืองน่านซึ่งจะไปด้วยกัน กว่าจะพรักพร้อมจนเดือน ๔ จึงได้ยกออกจากเมืองเชียงใหม่ ขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสนเมื่อเดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พม่าเห็นกองทัพยกขึ้นไปมากก็ไม่ออกมารบพุ่งเปนแต่ตั้งรักษาเมืองมั่นอยู่ กองทัพที่ยกขึ้นไปก็เข้าตั้งล้อมเมืองเชียงแสนไว้.

กองทัพที่ยกขึ้นไปครั้งนั้น เพราะคนเปนหลายพวกหลายเมือง มุลนายไม่พรักพร้อมเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์แลพระยายมราช ก็ปรากฎว่าไปด้วยต้องถูกปรับโทษ จะบังคับบัญชาการก็จะไม่ใคร่ได้เด็ดขาด จึงเปนแต่ไปตั้งล้อมเมืองเชียงแสนอยู่ถึง ๒ เดือน ครั้นถึงเดือน ๗ เข้าระดูฝน ผู้คนในกองทัพที่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์พระยายมราชคุมขึ้นไปเปนชาวใต้ก็พากันป่วยเจ็บ ทั้งเสบียงอาหารก็อัตคัดขัดสน ซ้ำมีข่าวว่าพม่าจะให้กองทัพมาช่วยเมืองเชียงแสน เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ปฤกษากับพระยายมราชเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ด้วยกำลังกองทัพบอบช้ำอิดโรยเสียมากแล้ว จึงให้เลิกทัพกลับมา แต่ที่จริงในเวลานั้นข้างในเมืองเชียงแสนสิ้นเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยากถึงต้องฆ่าช้างม้าพาหนะกินจะหมดสิ้นอยู่แล้ว พอกองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กลับมา ทางโน้นพวกลาวชาวเมืองเชียงแสนก็เปนขบถต่อพม่า พากันเปิดประตูเมืองรับกองทัพเข้าไปไล่ฆ่าฟันพม่า แม่ทัพที่รักษาเมืองเชียงแสนก็ตายในที่รบ พวกพม่าที่เหลืออยู่ก็พากันแตกหนีข้ามแม่น้ำโขง แล้วเลยกลับไปเมืองพม่าหมด ไม่คิดที่จะตั้งมั่นอยู่ในแว่นแคว้นลานนาไทยอิกต่อไป.

ได้เมืองเชียงแสนคราวนี้ ได้ครอบครัวคนต่างชาติต่างภาษาที่อยู่กับพม่ากว่า ๒๓,๐๐๐ คน พระยากาวิละกับท้าวพระยาที่ยกกองทัพไป ให้แบ่งครัวเปน ๕ ส่วน ส่งลงมากรุงเทพ ฯ ส่วน ๑ ส่งไปเมืองเวียงจันท์ส่วน ๑ เมืองน่านส่วน ๑ เมืองเชียงใหม่ส่วน ๑ เมืองนครลำปางส่วน ๑ แลให้รื้อทำลายเมืองเชียงแสนเสีย มิให้เปนที่อาไศรยของข้าศึกได้ต่อไป แล้วจึงพากันเลิกทัพกลับมา แต่กองทัพเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ แลพระยายมราชเคราะห์ร้ายแต่ต้นจนปลาย กลับมาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็ทรงขัดเคือง ว่าไม่ได้ราชการอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้ลงพระราชอาญาขังเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงยกโทษพระราชทาน.

ส่วนพระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ในการสงครามคราวนี้มีบำเหน็จความชอบมากมาแต่ต้นจนปลาย ปรากฎในพงษาวดารเชียงใหม่ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระกรุณาโปรดให้สถาปนาเกียรติยศขึ้นเปนพระเจ้าเชียงใหม่ เจ้าขันธสีมาเสมอกับเกียรติยศเจ้านครเวียงจันท์ มีราชทินนามว่า พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรศักดิ์สมยา มหาขัติยราชชาติราไชสวรรย์ เจ้าขันธสิมา พระนครเชียงใหม่ราชธานี เปนใหญ่ในลานนา ๕๗ หัวเมือง

ครั้นได้เมืองเชียงแสนแล้ว ในปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ นั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า พม่าที่แตกหนีไปจากแว่นแคว้นลานนาไทย บางทีจะไปตั้งมั่วสุมอยู่ตามหัวเมืองลื้อเขิน ซึ่งเปนประเทศราชขึ้นอยู่แก่พม่า จะไปหากำลังกลับมาเบียดเบียฬบ้านเมืองที่ได้มาเปนพระราชอาณาเขตรต่อไปอิก พม่าก็พ่ายแพ้แตกหนีไปหลายคราวครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ควรจะปราบปรามให้สิ้นห่วงหัวเมืองข้างฝ่ายเหนือเสียสักทีหนึ่ง จึงโปรดให้มีตราสั่งเจ้าเมืองประเทศราชข้างฝ่ายเหนือ ให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองลื้อเขินตลอดจนแว่นแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเปนเมืองขึ้นของพม่า ครั้นถึงระดูแล้งพระเจ้ากาวิละจึงยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปกับกองทัพเมืองนครลำปาง เมืองแพร่ เมืองเถินทาง ๑ กองทัพเมืองน่านยกขึ้นไปกับกองทัพเมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์อิกทาง ๑.

กองทัพที่ไปจากเมืองเชียงใหม่ ยกขึ้นไปทางเมืองเขินถึงเมืองยอง เจ้าเมืองยองไม่ต่อสู้ ออกมาอ่อนน้อมโดยดี เจ้าเมืองเขียงตุงแลเขินทั้งปวงรู้ว่ากองทัพไทยได้เมืองยองพากันเกรงกลัว มายอมสามิภักดิ์ขอขึ้นกรุงเทพฯ ทุกเมือง.

ฝ่ายกองทัพเมืองน่านกับเมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันท์ ยกขึ้นไปตีได้เมืองหลวงภูคาในสิบสองปันนา พวกเจ้าเมืองลื้อประเทศราช ทั้งแต่เมืองเขียงรุ้งลงมาก็ไม่ต่อสู้ ต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี แต่ที่เมืองเชียงแขงนั้นมีพม่ามาตั้งกำกับอยู่ เจ้าเมืองเขียงแขงรู้ว่าเจ้าเมืองเชียงรุ้งมายอมขึ้นต่อไทยแล้ว เกรงไทยจะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงแขง จึงฆ่าฟันขับไล่พวกพม่าเสียหมด แล้วก็มาขออ่อนน้อมเปนข้าขอบขันธสิมากรุงเทพ ฯ

ครั้งนั้นได้หัวเมืองทั้งใหญ่น้อยที่เคยเปนเมืองขึ้นของพม่ามาเปนข้าขอบขันธสิมากรุงสยามรวม ๔๐ เมือง ครอบครัวพลเมืองที่กองทัพรวบรวมไว้ได้ ๗๐,๐๐๐ เศษ ครั้นถึงเดือน ๖ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘ ท้าวพระยานายทัพนายกองจึงพาเจ้าเมืองลื้อเขินที่สามิภักดิ์ แลกวาดต้อนครอบครัวลงมา เมื่อได้ทรงทราบความตามใบบอก ทรงพระราชดำริห์ว่า ความประสงค์ที่จะขับไล่พม่าให้ห่างพ้นพระราชอาณาเขตรก็สำเร็จแล้ว แลเมืองลื้อเขินสิบสองปันนาทั้งปวงนั้นอยู่ต่อแดนทั้งไทยจีนแลพม่า ห่างไกลกรุงเทพพระมหานครนัก ยากที่จะปกครองไว้ให้มั่นคงถาวรได้ เจ้าเมืองเหล่านั้นก็ได้อ่อนน้อมยอมสามิภักดิ์โดยดี จะกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองมาให้ได้ความเดือดร้อนหาควรไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลเจ้าเมืองลื้อเขินที่เข้ามาสามิภักดิ์ทั่วกัน แล้วโปรดให้คืนครอบครัวกลับไปบ้านเมืองทั้งสิ้นด้วยกัน ตั้งแต่นั้นหัวเมืองประเทศราชลื้อเขิน ซึ่งเคยขึ้นพม่าอยู่แต่ก่อนก็มาขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร แผ่พระราชอาณาเขตรข้างฝ่ายเหนือขึ้นไปจนติดต่อกับแดนจีน พระราชอาณาเขตรกรุงสยามในรัชกาลที่ ๑ จึงกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ายุคไหนๆ ที่เคยปรากฎมาในพงษาวดารของประเทศนี้.

เรื่องราวรบพม่าในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เปนที่สุดเพียงครั้งที่ ๗ ที่กล่าวมานี้.

  1. ๑. พระยากลาโหมทองอินนี้ เปนบุตรเจ้าจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์ เพราะฉนั้นเปนหลานพระเจ้ากรุงธนบุรี.

  2. ๒. มีในพงษาวดารเมืองเชียงใหม่แต่งในกรุงเทพฯ อิกฉบับ ๑ ว่าพระยากาวิละได้เปนพระเจ้าเชียงใหม่ต่อในรัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าเห็นว่าที่ถูกเห็นจะได้เปนในรัชกาลที่ ๑ ในคราวที่กล่าวนี้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ