สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒

มีความปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พม่าได้ให้มาขอเปนไมตรีกับไทยหลายครั้ง ครั้งแรกพระเจ้าปดุงให้มาขอเปนไมตรีในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗ ที่จริงเวลานั้นไทยยังแค้นพม่ามาก แต่เพื่อจะไม่ให้เสียราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปพบกับข้าหลวงพม่าที่ตำบลอังเงียว ริมลำน้ำปิลอก ใกล้ด่านพระเจดีย์สามองค์ ทั้ง ๒ ฝ่ายได้เจรจากัน แต่มิได้ตกลงทำทางไมตรี พอรุ่งปีขึ้น ถึงปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงก็ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย ไทยจึงจับได้ว่า ที่พม่าให้มาขอเปนไมตรีครั้งนั้นเปนการล่อลวงจะให้ตายใจ หาได้เปนความประสงค์โดยสุจริตไม่ เหตุเพราะพระเจ้าปดุงจะยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่ในปีนั้น เกรงไทยจะยกกองทัพไปตีเมืองพม่าข้างหลัง จึงแกล้งให้เข้ามาขอเปนไมตรีหน่วงเหนี่ยวไว้ทางข้างนี้ ตั้งแต่นั้นก็ไม่ไว้ใจพม่าอิกต่อมา ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ พระเจ้าปดุงให้เจ้าเมืองเมาะตมะมีหนังสือเข้ามาถึงพระยากาญจนบุรี ชวนไทยเปนไมตรีอิก จึงโปรดให้พระยากาญจนบุรีตอบไปว่า พม่าได้มาขอเปนไมตรีครั้งหนึ่งแล้วก็จับได้ว่าเปนอุบาย หาได้ประสงค์จะเปนไมตรีโดยสุจริตไม่ ถ้าพม่าประสงค์จะเปนไมตรีจริง ให้ทำอย่างไรให้ไทยไว้ใจได้แน่นอนก่อนจึงจะพูดด้วยต่อไป การก็เปนอันสงบกันมา ไม่ช้าพม่าก็ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ให้เห็นได้ว่าพม่าพูดเปนอุบายอิก ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ เสนาบดีเมืองพม่าให้ทูตถือหนังสือมาถึงพระยากาญจนบุรี ว่าจะขอเปนไมตรีกับไทย ทรงขัดเคืองว่าพม่าไม่ได้ขอเปนไมตรีโดยสุจริต ให้มาขอเปนไมตรีทีไร ต่อมาไม่ช้าก็ยกกองทัพมารบกวน จะให้เชื่อฟังอย่างไรได้ ให้พระยากาญจนบุรีขับไล่ทูตพม่าไปเสีย.

ต่อมาถึงปลายรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปดุงให้ทูตานุทูต มีพระยาอินทจักรเปนหัวน่า เข้ามาขอเปนไมตรีอิกครั้ง ๑ มีเนื้อความในจดหมายเหตุเก่า ว่าเวลานั้นเสนาบดีมีความวิตกอยู่ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระชราทุพลภาพอยู่แล้ว จึงปฤกษากันเห็นว่าควรจะรับเปนไมตรีกับพม่า แต่จะได้ทำทางไมตรีกันอย่างไรหาปรากฎไม่ ไปปรากฎในพงษาวดารพม่า ว่ามีทูตานุทูตไทยออกไปถึงเมืองพม่า ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าปดุงเมื่อเดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ แต่พม่าไปลงศักราชเปนปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ เร็วไป ๒ ปี ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า ครั้งหลังนี้ทำนองพม่าจะได้ทำอย่างไรให้พอพระราชหฤไทยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เช่นแต่งราชทูตที่มีบันดาศักดิ์เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องบรรณาการมาถึงกรุงเทพ ฯ ตามเยี่ยงอย่างโบราณราช ประเพณี จึงได้โปรดให้มีราชทูตไทยไปตอบแทนถึงเมืองพม่า ให้ต้องตามโบราณราชประเพณีบ้าง แต่การที่จะเปนไมตรีก็หาตกลงกันไม่ จะเปนเพราะเหตุใดไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้ ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า เห็นจะเปนเพราะฝ่ายไทยจะให้พม่าส่งไทยที่พม่ากวาดต้อนไปกลับคืนมาให้ ฤๅมิฉนั้นจะให้พม่าคืนเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทให้ก่อนจึงจะยอมเปนไมตรี ข้างพม่าไม่ยอมคืนจึงไม่ได้ทำทางไมตรีกัน

ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ นั้นเอง พระเจ้าปดุงก็ให้เกณฑ์กองทัพจะยกมาตีเมืองไทยอิก เห็นจะเปนด้วยทูตพม่ากลับไปทูลว่าในเมืองไทยแม่ทัพนายกองที่เข้มแขงทัพศึก เช่นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเปนต้นหมดตัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็ทรงพระชราทุพลภาพ จะเสด็จการพระราชสงครามไม่ได้ดังแต่ก่อนแล้ว พระเจ้าปดุงเห็นเปนโอกาศ จึงคิดจะมาตีเมืองไทยให้เปนเกียรติยศ ลบล้างความอายที่มาแพ้ไทยไปหลายครั้งแต่ก่อนมา.

ความปรากฏในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ถึงปลายปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปดุงให้อะเติงหวุ่นเปนแม่ทัพใหญ่ลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองพม่าแลเมืองมอญข้างใต้ ตลอดลงมาจนเมืองทวาย เปนจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ ให้ตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตมะ แต่ความคิดพม่าในครั้งนั้นจะยกมาทางไหนหาปรากฎไม่ ปรากฎแต่ว่าเมื่ออะเติงหวุ่นลงมาตั้งรวบรวมกองทัพครั้งนั้นจัดการไม่ดี ผู้คนที่ต้องเกณฑ์หลบหนีคราวละ ๔๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง มัวต้องเที่ยวไล่จับผู้คนที่หลบหนี การประชุมทัพไม่พรักพร้อมได้ทันตามกำหนด อะเติงหวุ่นเกรงความผิดจึงวิงวอนเสนาบดีพม่าให้ช่วยกราบทูลเบี่ยงบ่ายแก่พระเจ้าปดุง เสนาบดีพากันกราบทูลว่า เมื่อแต่ก่อนมาไม่ช้านักได้โปรดให้ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ยังไม่มีเหตุอริอันใดเกิดขึ้น จะยกกองทัพเข้าไปรบพุ่งไทยในเวลานี้ จะเกิดข้อครหาให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ขอให้ทรงพระราชวินิจฉัยเสียก่อน พระเจ้าปดุงก็เห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้มีตราบอกเลิกกองทัพมิให้ยกมา ทำนองในเวลาเมื่อกองทัพยังไม่ปล่อยคนไปหมด พม่าจะได้ข่าวว่าในเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ อะเติงหวุ่นจึงมีใบบอกย้อนขึ้นไปว่ากองทัพได้เตรียมแล้ว ทุนรอนก็ได้ลงไปเปนอันมาก ถ้าไม่โปรดให้เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา จะขอมาตีหัวเมืองไทยที่ต่อแดนพม่าข้างใต้ เก็บกวาดเอาผู้คนแลทรัพย์สมบัติให้คุ้มทุนที่ได้ลงไป พระเจ้าปดุงจึงอนุญาตให้อะเติงหวุ่นยกมาตีหัวเมืองไทยข้างปักษ์ใต้ฝ่ายทเลตวันตก ด้วยเหตุนี้ถึงเดือน ๑๑ ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๕๒ อะเติงหวุ่นจึงให้แยค่องเปนนายทัพ ถือพล ๔,๐๐๐ ยกมาทางเรือ ให้มาตีหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตกกอง ๑ ให้ดุเรียงสาระกยอเปนนายทัพ ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาทางบก มาตีหัวเมืองปักษ์ใต้อิกทาง ๑.

ขณะนั้นทางเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จสวรรคตเมื่อเดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเสงนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยเสด็จผ่านพิภพได้ ๒ เดือน พม่าก็ยกกองทัพมา ครั้นใบบอกข่าวศึกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จึงโปรดให้พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ เปนข้าหลวงรีบลงไปเกณฑ์กองทัพเมืองไชยา แล้วให้ยกข้ามแหลมมลายูไปทางปากพนม ไปช่วยรักษาเมืองถลางก่อน แล้วเกณฑ์กองทัพกรุงเทพฯ ให้พระยาท้ายน้ำเปนทัพน่า เจ้าพระยายมราชน้อย ซึ่งภายหลังได้เปนเจ้าพระยาอภัยภูธรเปนแม่ทัพ ลงเรือไปขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช เกณฑ์กองทัพเมืองนคร ฯ แลเมืองขึ้นไปช่วยเมืองถลางอิกทัพ ๑ แล้วให้เกณฑ์กองทัพวังน่า ให้พระยาจ่าแสนยากร บัว เปนแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ ยกเดินบกลงไปช่วยเมืองปักษ์ใต้ทัพ ๑ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีกับเจ้าพระยาพลเทพลงไปรวบรวมพลจัดเปนกองทัพที่เมืองเพ็ชรบุรีอิกทัพ ๑ คอยต่อสู้พม่า เผื่อจะยกมาทางด่านสิงขร แล้วให้เกณฑ์คนเข้ากองทัพหลวง ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ เปนจอมพล ทัพนี้เข้าใจว่าเดิมเตรียมสำหรับต่อสู้ทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ก่อน ครั้นสืบได้ความแน่ว่าพม่าไม่ได้ตระเตรียมจะยกมาทางอื่น นอกจากลงไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวงลงไปทรงบัญชาการสงครามข้างฝ่ายใต้ รวมจำนวนพลที่ยกไปจากกรุงเทพฯ ทุกทัพเปนคน ๒๐,๐๐๐ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อณวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลานั้นมรสุมลงเสียแล้ว เสด็จโดยทางชลมารคได้เพียงเมืองเพ็ชรบุรี แล้วจึงเสด็จขึ้นบกตามกองทัพพระยาจ่าแสนยากรลงไปทางเมืองชุมพร.

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกไปตีหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตก ตีได้เมืองตะกั่วป่าเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ แล้วยกไปตีเมืองตะกั่วทุ่งได้อิกเมือง ๑ ด้วย ๒ เมืองนั้นผู้คนพลเมืองน้อย พอกองทัพพม่าไปถึงผู้คนก็พากันอพยพหลบหนีเข้าป่า ไม่มีผู้ใดต่อสู้ พม่าได้เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแล้ว จึงยกข้ามไปเกาะถลางขึ้นตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ ฝ่ายพระยาถลางตั้งแต่รู้ข่าวศึกพม่า ก็ให้บอกเข้ามากรุงเทพ ฯ แล้วเกณฑ์กรมการแลไพร่พลเข้าประจำรักษาเมืองคอยต่อสู้ข้าศึก พม่ายกขึ้นไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ๒๕ ค่าย ให้เข้าปล้นเมืองหลายครั้ง พวกเมืองถลางต่อสู้แขงแรง พม่าตั้งล้อมเมืองอยู่จนแรมเดือน ๑๒ ไม่ได้เมืองจึงคิดอุบายเลิกทัพกลับลงเรือออกจากเกาะถลางไป ทำเหมือนหนึ่งว่าจะกลับไปบ้านเมือง ฝ่ายพระยาถลางกับกรมการเข้าใจว่าพม่าเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว เวลานั้นคนในเมืองถลางถูกพม่าล้อมไว้ ได้ความอดอยาก พระยาถลางจึงปล่อยไพร่พลไปหาเสบียงอาหารตามภูมิลำเนา ฝ่ายพม่าเห็นจะไปซุ่มกองทัพอยู่ที่เกาะยาว อยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเกาะถลางนัก พอถึงเดือนอ้ายก็ยกกองทัพหวนกลับมาที่เกาะถลางอิกครั้งหนึ่ง ขึ้นที่ท่ายามูแขวงเมืองภูเก็จบ้าง ขึ้นที่ท่าเรือแลปากพระบ้าง พระยาถลางรู้ว่าพม่ากลับมาอิกก็ตกใจ ให้เรียกไพร่พลกลับเข้ารักษาเมืองไม่ได้พรักพร้อมเหมือนคราวก่อน แต่ที่เมืองภูเก็จผู้รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่ในค่าย พม่าจึงเข้าล้อมไว้ทั้งค่ายที่เมืองภูเก็จแลที่เมืองถลาง.

ฝ่ายพระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ ลงไปเกณฑ์คนเมืองไชยาได้แล้ว ยกข้ามแหลมมลายูไปทางปากพนม เดินไปถึงปากน้ำพังงา ไปติดขัดด้วยไม่มีเรือจะบรรทุกกองทัพข้ามไปเกาะถลาง ต้องตั้งพักเที่ยวหาเรืออยู่เพียงนั้น กองทัพเจ้าพระยายมราชไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้วสมทบกับกองทัพเจ้าพระยานคร ฯ พัฒน์ ยกข้ามแหลมมลายูไปถึงเมืองตรัง อันเปนท่าเรือของเมืองนคร ฯ ข้างฝ่ายทเลตวันตก ก็ไปติดขัดด้วยเรือไม่พอจะบรรทุกกองทัพไปอย่างเดียวกัน เจ้าพระยายมราชจึงให้รวบรวมเรือของราษฎรตามแต่จะหาได้ บรรทุกพลกอง ๑ ให้พระยาท้ายน้ำรีบยกไปช่วยเมืองถลางก่อน พระยาท้ายน้ำยกไปถึงเกาะชนัก พบเรือกองทัพพม่าพวกที่ตั้งอยู่เมืองภูเก็จ ทำนองจะมาเที่ยวลาดหาเสบียงอาหาร ได้รบกับพม่าที่ในทเล เรือพม่าไม่มีปืนใหญ่ ด้วยเอาขึ้นตั้งที่ค่ายล้อมเมืองภูเก็จเสียหมด สู้กองทัพไทยไม่ได้ก็ถอยหนีไป แต่ขณะเมื่อรบกันอยู่นั้นละอองไฟปลิวไปตกลงในถังดินปืนในเรือพระยาท้ายน้ำ ดินปืนระเบิดถูกพระยาท้ายน้ำกับคนที่ไปในเรือลำนั้นตายเกือบหมดทั้งลำ เรือก็แตกจมลงในทเล หลวงสุนทรกับหลวงกำแหงที่คุมเรือไปกับพระยาท้ายน้ำ เห็นว่าแม่ทัพถึงอนิจกรรมเสียแล้ว เหลือกำลังที่จะยกไปรบพุ่งพม่าถึงเมืองถลาง ก็ให้เรือแล่นเข้าอ่าวไปทางตวันออก ไปรวบรวมกันอยู่ที่ปากน้ำลาวแขวงเมืองกระบี่.

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ดุเรียงสาระกยอคุมมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้นั้น ยกมาทีหลัง ตีได้เมืองมลิวัน เมืองระนอง แลเมืองกระบุรีแล้ว ก็ยกข้ามแหลมมลายูมาตีได้เมืองชุมพรอิกทาง ๑ ยังไม่ทันจะตีต่อไปที่อื่น กองทัพไทยก็ยกลงไปถึง กรมพระราชวังบวร ฯ มีรับสั่งให้กองทัพพระยาจ่าแสนยากรยกเข้าตีพม่า รบกันอยู่วันเดียวพม่าก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไป ที่หนีไม่ทันถูกกองทัพไทยฆ่าฟันแลจับเปนได้ก็มาก กองทัพกรมพระราชวังบวร ฯ ปราบปรามข้าศึกลงไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า ครั้นพม่าแตกหนีไปหมดแล้วก็ตั้งกองทัพหลวงรอฟังข่าวทางเมืองถลางอยู่ที่เมืองชุมพร.

ฝ่ายแยค่องนายทัพพม่ารู้ว่ากองทัพไทยยกไปช่วยเมืองถลางเห็นว่ารอช้าไปจะเสียที จึงแบ่งกำลังที่ตั้งล้อมเมืองถลางมาเพิ่มเติมตีเมืองภูเก็จ ครั้นได้เมืองภูเก็จแล้วก็รวบรวมกองทัพพม่าไประดมตีเมืองกลาง พระยาถลางกับกรมการต่อสู้เปนสามารถ แต่กำลังที่รักษาเมืองน้อยกว่าคราวก่อน เพราะเรียกคนไม่ทันดังกล่าวมาแล้ว ต่อสู้รักษาเมืองมาได้ ๒๗ วัน สิ้นเสบียงอาหารก็เสียเมืองถลางแก่พม่าเมื่อเดือนยี่ ขึ้น ๘ ค่ำ พม่าให้เที่ยวจับผู้คนพลเมืองทั้งชายหญิง แลเก็บริบทรัพย์สมบัติทั้งปวงเอาไปรวบรวมไว้ที่ค่าย แล้วให้เผาเมืองเสีย.

ขณะนั้นพอกองทัพพระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ์ที่ยกไปจากปากน้ำพังงา แลกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าพระยานคร ฯ น้อย แต่ยังเปนพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองคุมไปจากเมืองตรัง แลกองทัพแขกมลายูยกไปช่วยจากเมืองไทรบุรีใกล้จะถึงเกาะถลางทั้ง ๓ ทัพ ชรอยพม่าจะได้ข่าวอยู่แล้ว ครั้นคืนวันหนึ่งเกิดลมกล้า พม่าอยู่ที่เมืองถลางได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง สำคัญว่าเสียงปืนกองทัพไทย นายทัพพม่าก็ตกใจรีบสั่งให้อพยพผู้คนขนทรัพย์สิ่งของลงเรือหนีไปโดยด่วน พม่ายังไปไม่หมดกองทัพไทยก็ไปถึง เข้าล้อมไล่ฆ่าฟันแลจับพม่าที่ยังเหลืออยู่ ได้ผู้คนแลทรัพย์สิ่งของคืนมาเปนอันมาก ต่อมาอีก ๔-๕ วัน พม่ากองลำเลียงเสบียงอาหารคุมเรือเสบียงมาส่งกัน ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าหนีไปแล้ว มาถึงเข้าไทยก็จับได้หมดทั้งเรือแลผู้คนเสบียงอาหาร.

เมื่อมีไชยชนะพม่าคราวนั้นแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองถลางพม่าก็เผาเสียแล้ว จะกลับตั้งขึ้นใหม่ก็ไม่เปนที่ไว้ใจได้ ด้วยกำลังที่จะรักษาบ้านเมืองอ่อนลงกว่าแต่ก่อน ถ้ากองทัพพม่ายกจู่มาอิกก็จะรักษาไว้ไม่ได้ หัวเมืองจะไปช่วยก็ไม่ทัน เพราะเมืองถลางเปนเกาะ จึงโปรดให้รวบรวมผู้คนพลเมืองถลางที่หลบหนีอยู่ รับข้ามมาตั้งภูมิลำเนาที่ตำบลลำน้ำพังงาแขวงเมืองตะกั่วทุ่ง จัดการปกครองที่นั้นยกขึ้นเปนเมือง ส่วนเกาะถลางนั้นให้เมืองนครศรีธรรมราชดูแลรักษาต่อมา จนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงกลับตั้งเมืองถลางขึ้นอย่างเดิม ส่วนเมืองที่มาตั้งขึ้นชั่วคราวยังมีผู้คนคงอยู่เปนภูมิลำเนา จึงโปรดให้ตั้งเปนเมืองพังงาขึ้นอิกเมืองหนึ่ง.

คราวขัดตาทัพพม่า ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓

ครั้งนี้ที่จริงไทยกับพม่าไม่ได้รบกัน แต่พม่าได้ตระเตรียมการทุกอย่าง ที่จะยกกองทัพมาตีเมืองไทย ไทยก็ได้ตระเตรียมการทุกอย่างที่จะรบพุ่งกับพม่า ชั่วแต่มีเหตุเกิดขึ้นขัดขวางเสียพม่าจึงมิได้ยกมา เรื่องราวรายการมีคติในทางความรู้ไม่ควรงดเสีย จึงได้กล่าวไว้ด้วย แต่มิได้นับเข้าลำดับในจำนวนการสงคราม.

มูลเหตุที่จะเกิดเตรียมสงครามครั้งนี้ เพราะเหตุการณ์มีขึ้นภายในเมืองพม่าเอง ด้วยในตอนเมื่อพระเจ้าปดุงทรงชรา เกิดมีประสงค์จะบำเพ็ญเปนสาสนูปถัมภกเพื่อประโยชน์โพธิญาณอย่างแรงกล้า จึงทรงดำริห์จัดการต่างๆ เปนต้นว่าแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติของสงฆมณฑลให้ประพฤติแปลกปลาดต่างๆ ตามพระอัธยาไศรย แลให้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่เมืองเมงกุนองค์ ๑ หมายจะไม่ให้มีพระเจดียสถานที่ไหนใหญ่โตเสมอทั่วทั้งโลก พระเจ้าปดุงถึงมอบราชการแผ่นดินให้พระมหาอุปราชาบังคับบัญชารักษาพระนครแทนพระองค์ แล้วเสด็จออกไปตั้งพลับพลาประทับทรงอำนวยการสร้างพระมหาธาตุด้วยพระองค์เองอยู่ที่เมืองเมงกุน กะเกณฑ์ผู้คนพลเมืองในบรรดาหัวเมืองพม่ารามัญ แลเมืองประเทศราชชาติต่างๆ ที่ขึ้นแก่พม่าให้ผลัดเปลี่ยนกันมาทำการสร้างพระมหาธาตุ มีคนประจำทำงานอยู่นับด้วยหมื่นเสมอ จึงเปนเหตุให้ไพร่บ้านพลเมืองเดือดร้อนทั่วไป จนครัวมอญใหม่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ ถึง ๕๐,๐๐๐ เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๕๘ ก็เพราะมอญถูกกะเกณฑ์ไปทำพระมหาธาตุนั้นเปนเหตุ ในที่สุดเสนาบดีพม่าปฤกษากันเห็นว่าไพร่บ้านพลเมืองเดือดร้อนระส่ำระสายนัก เกรงจะเกิดเปนขบถขึ้น จึงคิดอุบายหาเหตุให้เกิดสงครามกับเมืองมณีบุระ ให้พระเจ้าปดุงต้องไปทรงกังวลด้วยการสงคราม จึงได้งดการสร้างพระมหาธาตุที่เมืองเมงกุน พระมหาธาตุนั้นยังค้างอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะต่อมาไม่ช้านักพระเจ้าปดุงก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๖๒ เดิมพระเจ้าปดุงตั้งจันกาสุริยะราชโอรสองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราชา แต่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เสียก่อนพระเจ้าปดุง ๆ จึงตั้งจักกายแมงราชนัดดา ซึ่งเปนโอรสองค์ใหญ่ของจันกาสุริยะให้เปนพระมหาอุปราชาต่อมา เมื่อพระเจ้าปดุงสิ้นพระชนม์ จักกายแมงจึงได้ครองราชสมบัติ นับเปนรัชกาลที่ ๗ ในราชวงศ์อลองพญา แล้วย้ายกลับไปตั้งเมืองอังวะเปนราชธานีดังแต่ก่อน.

ขณะเมื่อพระเจ้าจักกายแมงขึ้นครองเมืองพม่า ไพร่บ้านพลเมืองยังไม่สิ้นระส่ำระสายด้วยเรื่องพระเจ้าปดุงเกณฑ์สร้างพระมหาธาตุ ถึงปีะมโรง พ.ศ. ๒๓๖๑ พระเจ้าจักกายแมงได้ข่าวไปว่าในเมืองไทยเกิดอหิวาตกะโรค ผู้คนล้มตายระส่ำระสายมาก เห็นเปนโอกาศจึงให้เตรียมกองทัพ หมายจะเข้ามาตีเมืองไทยให้ปรากฎเกียรติยศว่าเข้มแขงศึกสงครามเหมือนพระเจ้าปดุงผู้เปนพระไอยกา ไพร่บ้านพลเมืองจะได้พากันยำเกรง.

ในสมัยนั้นอังกฤษจัดตั้งเกาะหมาก ซึ่งเช่าไปจากพระยาไทรบุรีขึ้นเปนบ้านเมือง มีเรือเมืองพม่าลงมาค้าขายถึงเกาะหมากเนือง ๆ แลในเวลานั้นเจ้าพระยาไทรปะแงรันเกิดอริกับตนกูปัสนูน้องชาย ซึ่งได้เปนพระยาอภัยนุราชเจ้าเมืองสตูล เจ้าพระยานครฯ น้อยเข้าข้างพระยาอภัยนุราช เจ้าพระยาไทรมีความโทมนัศขัดเคืองไทย พม่าได้ทราบเหตุอันนี้จึงแต่งคนมาเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาไทร ๆ ก็เอาใจออกหาก จะรับช่วยพม่าตีหัวเมืองไทยขึ้นไปทางข้างใต้อิกทาง ๑ พระเจ้าจักกายแมงเห็นได้ทีจึงให้เกณฑ์คนหัวเมืองพม่าแลเมืองแปรตลอดลงมาจนหัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้เข้าเปนกองทัพ ให้หวุ่นยีมหาเสนาบดีเปนแม่ทัพใหญ่ หวุ่นยีนรทาเปนปลัดทัพ มาตั้งประชุมพลแลรวบรวมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองเมาะตมะ ดูทำนองพระเจ้าจักกายแมงคิดจะยกมาเอง แต่ในพงษาวดารพม่าหาได้กล่าวชัดไม่.

ข่าวที่พม่าเตรียมกองทัพครั้งนั้นทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ด้วยกองมอญอาทมาทที่ตระเวรด่านเข้าไปสืบสวนข่าวคราวในแดนพม่าถึงแขวงเมืองเร้ข้างเหนือเมืองทวาย จึงได้ขุนนางพม่าผู้เชิญตราลงมาเกณฑ์ทัพเมืองทวายจึงทราบ ว่าพม่าเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองไทย จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพ จัดเปนทัพใหญ่ ๔ ทัพ แต่จำนวนพลเท่าใดหาปรากฎไม่ กองทัพที่ ๑ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนแม่ทัพ เสด็จไปตั้งรักษาเมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพที่ ๒ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ คือ กรมพระราชวังบวร ฯ ในรัชกาลที่ ๑ เปนแม่ทัพ เสด็จไปรักษาเมืองเพ็ชรบุรี คอยต่อสู้พม่าที่จะยกมาทางด่านสิงขร กองทัพที่ ๑ ที่ ๒ ที่กล่าวมานี้ยกออกจากกรุงเทพฯพร้อมกัน เมื่อณวันศุกร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ (เข้าใจว่ากองมอญพระยามหาโยธา ทอเรีย เปนกองน่าของทัพที่ ๑ แลเกณฑ์กองทัพน้อยให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ตั้งรักษาเมืองราชบุรีอิกกอง ๑ ด้วยในจดหมายเหตุกล่าวถึง ๒ กองนี้ในตอนต่อไปข้างน่า) กองทัพที่ ๓ ให้พระยากลาโหมราชเสนาเปนแม่ทัพ ยกไปรักษาเมืองถลาง กองทัพที่ ๔ ให้พระยานคร ฯ น้อย เวลานั้นยังเปนแต่พระยานคร ฯ เปนแม่ทัพ พระยาวิชิตณรงค์เปนปลัดทัพ พระพงศ์นรินทรเปนยกรบัตรทัพ คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ในเวลานั้นเรื่องที่เจ้าพระยาไทรไปเข้ากับพม่ายังไม่ปรากฎเปิดเผย แต่เห็นจะรู้ระแคะระคายอย่างไรอยู่บ้างแล้ว จึงปรากฎในจดหมายเหตุว่า โปรดให้พระยาสรสำแดงคุมพลไปตั้งรักษาเมืองสงขลา แลให้พระยาพิไชยสงครามไปตั้งรักษาเมืองพัทลุง แล้วเกณฑ์คนทั้ง ๒ เมืองนั้นสมทบกันไปตั้งต่อเรือรบที่เมืองสตูลอิกกอง ๑ การเหล่านี้เปนส่วนระวังข้าศึกทางเมืองไทรบุรีทั้งนั้น การที่ตระเตรียมต่อสู้พม่าครั้งนี้ ยังไม่พบจดหมายเหตุ ว่าทางหัวเมืองข้างเหนือตระเตรียมอย่างไรบ้างฤๅไม่ น่าเข้าใจว่าคงจะเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือไปตั้งรักษาที่เมืองตาก ระวังพม่าที่จะมาทางด่านแม่ละเมาด้วยอิกกอง ๑.

ความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า แม่ทัพพม่าแต่งคนเข้ามาสอดแนม ได้ความว่าไทยตระเตรียมกองทัพไว้คอยต่อสู้อยู่ทุกทาง พม่าก็ยั้งอยู่หายกเข้ามาไม่ กองทัพไทยก็ยกไปตั้งขัดตาทัพครั้งนั้นตั้งอยู่จนเข้าปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๖๔ พม่าก็ไม่ยกมา ให้สืบสวนได้ความว่าพม่าเปนแต่ขนเสบียงอาหารมาขึ้นยุ้งฉางไว้ในแดนพม่า ยังไม่มีท่าทางที่จะยกเข้ามา ครั้นเข้าระดูฝนพ้นเวลาที่ข้าศึกจะเดินกองทัพมาได้ จึงโปรดให้กองทัพพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร แลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ กลับเข้ามากรุงเทพฯ ให้กองทัพเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์กับพระยามหาโยธารักษาการอยู่ จนกองทัพพระยากลาโหมราชเสนากลับมาถึง จึงโปรดให้พระยากลาโหมราชเสนาคุมพล ๘,๒๐๐ ตั้งรักษาอยู่ที่เมืองราชบุรีแห่งเดียว จนถึงระดูแล้งปลายปีมะเสง ได้ความว่าพม่าเลิกกองทัพกลับไปหมด เหตุด้วยเมืองมณีบุระกำเริบขึ้น ฝ่ายไทยก็เลิกการตระเตรียมกองทัพทั้งปวง.

ในปีมะเสงนั้น ได้ความปรากฎชัดว่าเจ้าพระยาไทรปะแงรันไปเข้ากับพม่า ด้วยตนกูม่อมน้องชายเจ้าพระยาไทรมาฟ้องที่เมืองนครฯ ทาง ๑ พระยาถลางจับได้ตัวทูตพม่ากับหนังสือรับสั่งของพระเจ้าจักกายแมงมีถึงเจ้าพระยาไทรส่งเข้ามาทาง ๑ โปรดให้มีตราหาเจ้าพระยาไทรมาแก้คดี เจ้าพระยาไทรเลยตั้งแขงเมือง จึงโปรดให้เจ้าพระยานครฯ น้อยยกกองทัพลงไปตีเมืองไทรบุรี ตีได้เมื่อเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ปีมะเสงตรีศกนั้น เจ้าพระยาไทรหนีไปอาไศรยในแดนอังกฤษ จึงทรงตั้งให้พระภักดีบริรักษ์ แสง บุตรเจ้าพระยานคร ฯ น้อย เปนพระยาไทรต่อมา เรื่องตีเมืองไทรยังมีข้อความพิศดารอยู่ในพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ นำมากล่าวในที่นี้เฉภาะแต่ที่เนื่องด้วยเรื่องศึกพม่าครั้งนั้น.

พม่าเลิกทัพกลับไปครั้งนั้นแล้ว ยังไม่สิ้นปราถนาที่จะมาตีเมืองไทย ต่อมาอิก ๒ ปี ถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ พระเจ้าจักกายแมงให้ราชทูตไปเมืองญวน ชวนพระเจ้าเวียดนามมินมางให้ยกกองทัพญวนตีเมืองไทยขึ้นมาทางข้างใต้ พระเจ้าจักกายแมงจะยกกองทัพพม่าเข้ามาทางตวันตกให้พร้อมกัน แต่ญวนไม่เข้าด้วย บอกความเข้ามาให้ไทยทราบ ต่อมาพระเจ้าจักกายแมงไปติดทำสงครามทางเมืองมณีบุระ เลยเกิดรบพุ่งกับอังกฤษ จึงมิได้มีโอกาศที่จะมาปองร้ายแก่เมืองไทยต่อไป

  1. ๑. เรื่องนี้มีในจดหมายเสนาบดีไทย แจ้งความแก่ เฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษ ที่เข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๓ เรื่องจะปรากฎต่อไปข้างน่า.

  2. ๒. นายนรินทรธิเบศร์ อิน (นรินทรอิน) แต่งโคลงนิราศที่นับถือกันนัก เมื่อไปตามเสด็จคราวนี้.

  3. ๓. เมืองนี้พม่าเรียกว่า เมืองเย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ