ตอนที่ ๗

เจ้าพระยามหาโยธากลับมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ ก่อนงานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย กราบบังคมทูลแถลงถึงที่พวกมอญทั้งเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรพากันนิยมยินดีที่กองทัพไทยยกออกไป แลที่อังกฤษต้อนรับกองทัพโดยไมตรีให้ทรงทราบฯ แลต่อมาไม่ช้าในปลายเดือน ๕ นั้น นายพันโทสมิทผู้รักษาเมืองเมาะตมะมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยามหาโยธา ให้กรมการมอญ ๓ คนถือมาส่งที่ด่าน หนังสือฉบับนี้หามีสำเนาปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุอังกฤษที่ได้มาไม่ แต่เข้าใจความได้โดยสำนวนหนังสือที่ตอบไปว่า เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษให้นายพันโทสมิทชี้แจงเรื่องเหตุการณ์ทางเมืองมฤทตามรายงานของนายพันตรีฟริทที่กล่าวมาแล้ว แลกล่าวโทษพระยาชุมพรว่า ละเมิดคำสั่งของรัฐบาลไทย ไปจับผู้คนเปนเชลยแต่โดยพลการ ผิดกับที่เสนาบดีแลเจ้าพระยามหาโยธาได้สัญญาไว้แต่ก่อน แต่ขออย่าให้เหตุการณ์เพียงเท่านั้นทำให้ขุ่นหมองทางไมตรีที่เจ้าพระยามหาโยธาได้มีกับอังกฤษ ๆ คอยฟังอยู่ว่า เจ้าพระยามหาโยธาจะคิดอ่านในเรื่องราชการทัพต่อไปประการใด ขอให้แจ้งความไปให้ทราบ.

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามที่กล่าวมา จึงมีรับสั่งให้สอบถามพวกครัวเมืองมฤทที่พระยาชุมพรส่งเข้ามา ก็ได้ความสมจริงว่า พวกครัวที่สมัคมาเองมีน้อย ที่พระยาชุมพรกวาดต้อนเอามานั้นมาก เกิดเหตุขึ้นเพราะพระยาชุมพรลเมิดท้องตราที่ได้ส่งไปครั้งหลัง ก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้ถอดพระยาชุมพร (ซุย) เสียจากตำแหน่ง แล้วเอาตัวเข้ามาจำไว้ในกรุงเทพ.

ส่วนการสงครามทางเมืองพม่า ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ถ้าช่วยอังกฤษรบพม่าต่อไปจะเปนประโยชน์แก่ราชการ ดีกว่าจะเพิกเฉยเสีย จึงโปรดให้เรียกตัวกรมการมอญที่ถือหนังสือของนายพันโทสมิทเข้ามายังกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คน ให้ไต่ถามข้อราชการทางเมืองพม่าจนสิ้นกระแสความแล้ว โปรดให้เจ้าพระยามหาโยธามีหนังสือตอบนายทัพโทสมิทไปฉบับ ๑ แลให้เสนาบดีมีหนังสือถึง เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษด้วยฉบับ ๑ มอบให้กรมการมอญถือกลับไป.

ในหนังสือเจ้าพระยามหาโยธามีเนื้อความว่า ได้รับหนังสือที่มีมาทราบความทุกประการแล้ว ตั้งแต่เจ้าพระยามหาโยธากลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ยังคิดถึงทางไมตรีที่ได้มีกับอังกฤษ แลยังคิดจะไปช่วยรบพม่าอยู่เสมอ เรื่องผู้คนทางเมืองมฤทนั้น ที่จริงเคยไปมาหาญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงศรีอยุทธยามาเสมอ ที่ว่ากองทัพเมืองชุมพรไปกวาดครัวมา เจ้าพระยามหาโยธาก็หาได้ทราบความไม่ พึ่งได้ทราบเมื่อนายพันโทสมิทมีหนังสือบอกมาครั้งนี้ จึงได้นำความขึ้นเรียนเสนาบดี แลเอาหนังสือที่มีมาเสนอให้ทราบด้วย ท่านเสนาบดีมีบัญชาว่า ซึ่งนายพันโทสมิทมีหนังสือมาทั้งนี้เพราะเห็นแก่ไมตรี ถ้าเช่นนี้ทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงเทพฯ กับอังกฤษก็จะถาวรวัฒนาการสืบไป ท่านจึงสั่งให้เบิกกรมการผู้ถือหนังสือเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อณวันเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ ไต่ถามข้อราชการแล้วเลี้ยงดูแลให้เงินตราผ้าเสื้อเปนบำเหน็จรางวัลทั้ง ๓ คน.

ในหนังสือกล่าวต่อไปว่า เมื่อก่อนที่เจ้าพระยามหาโยธาจะได้รับหนังสือของนายพันโทสมิท ก็มีพวกชาวเมืองมฤทได้ร้องต่อท่านเสนาบดี ว่าจะขอกลับไปบ้านเมือง ท่านเสนาบดีจึงมีบัญชาให้ประกาศแก่บรรดาพวกชาวเมืองเมาะตมะ เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤท ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ อนุญาตว่าแล้วแต่ใครจะสมัคกลับไปบ้านเมืองฤๅจะอยู่ในกรุงฯ ก็ตามใจ มิได้ห้ามปราม แต่ก่อนมาพวกชาวเมืองเมาะตมะที่ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มีความประสงค์จะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่เมืองเมาะตมะก็มี พวกที่อยู่เมืองเมาะตมะประสงค์จะเข้ามาเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุง ฯ ก็มี แต่ไม่ใคร่กล้าจะไปมาหากัน ด้วยเกรง พม่าจะคอยจับกุมกดขี่ ตั้งแต่เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองเตริน ได้มีหนังสือไปถึงแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษที่เมืองร่างกุ้ง แลได้พูดจาเปนทางไมตรีกันมา ราษฎรทั้งสองฝ่ายก็ได้ไปมาค้าขายถึงกันโดยสดวก แต่นายทัพนายกองบางคนไปบังคับขืนใจเอาผู้คนมา ด้วยเข้าใจว่าจะได้บำเหน็จความชอบอย่างเมื่อทำสงครามกับพม่าครั้งก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้ท่านเสนาบดีจึงให้ประกาศให้แล้วแต่ใจไพร่สมัค ใครจะมาฤๅจะกลับไปก็ไม่ขัดขืน บัดนี้มีผู้สมัคจะกลับไปทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่รวม ๑๐๕ คน เจ้าพระยามหาโยธาจึงได้มอบให้กรรมการผู้ถือหนังสือพากลับมา แลได้มอบหนังสือท่านเสนาบดีมีด้วยข้อราชการถึงแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษ ให้กรมการมอญถือมาด้วยอิกฉบับ ๑.

ในท้ายหนังสือว่า ส่วนเรื่องราชการทัพนั้นขออย่าให้อังกฤษมีความวิตกในข้อใดข้อหนึ่งเลย กรุงเทพฯ คงจะช่วยทุกประการ ขอผัดให้พ้นระดูฝน พอถึงเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เจ้าพระยามหาโยธาจะยกกองทัพออกไปช่วยรบพุ่งเอาไชยชนะพม่าให้สำเร็จความประสงค์ให้จงได้ ทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงเทพ ฯ กับอังกฤษซึ่งมีมาช้านานแล้วได้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

ความในหนังสือเสนาบดีว่า เมื่อเดือนยี่ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปช่วยอังกฤษรบพม่าข้าศึก แลเมื่อเจ้าพระยามหาโยธาตั้งอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี ได้ให้จัดการตรวจตรารักษาด่านทางที่พม่าข้าศึกเคยยกเข้ามาโดยกวดขัน แล้วได้มีหนังสือบอกมายังเรา ว่าอังกฤษตีเมืองเมาะตมะแลหัวเมืองขึ้นของพม่าได้หลายเมืองแล้ว เราได้ทราบก็มีความยินดีด้วยพม่าเปนข้าศึกกับกรุงเทพฯ มาช้านาน เดี๋ยวนี้เมืองเมาะตมะอังกฤษได้ไว้ ก็เหมือนอย่างเปนดินแดนอันเดียวกับกรุงศรีอยุทธยา ไพร่บ้านพลเมืองทั้งสองฝ่ายก็จะได้ไปมาถึงกันโดยสดวก.

เมื่อเจ้าพระยามหาโยธายกลงไปถึงเมืองเตริน มีหนังสือบอกเข้ามาอิก ว่าได้บอกความไปให้ท่านผู้เปนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษทราบ ว่าทรงพระกรุณาโปรดให้กองทัพไทยยกออกไปเพื่อจะช่วยรบพม่า แลแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษให้ตอบมาว่าขอบใจนัก เราได้ทราบก็มีความยินดี แต่ในเวลาที่กำลังปฤกษากันอยู่นั้นเผอิญมีราชการขึ้นในกรุงเทพ ฯ จึงจำเปนต้องให้กองทัพเจ้าพระยามหาโยธากลับมาเสียคราว ๑.

อนึ่งเรื่องที่ว่าพระยาชุมพรไปกวาดต้อนเอาผู้คนมาจากเมืองมฤทนั้น เราก็ได้ให้ไต่สวนแล้ว ได้ความว่าคนเหล่านั้นที่จะมาหาญาติพี่น้องในกรุง ฯ ก็มีบ้าง แต่พระยาชุมพรหมายจะหาบำเหน็จความชอบ ทำการเกินไป เพราะแต่ก่อนมาเมื่อหัวเมืองเหล่านั้นยังเปนเมืองของพม่า ๆ มาทำสงครามกับไทย ชาวเมืองเหล่านั้นก็ช่วยพม่ารบพุ่งไทย นับว่าเปนข้าศึกกัน แต่เดี๋ยวนี้หัวเมืองเหล่านั้นกับกรุงศรีอยุทธยาเหมือนกับแผ่นดินอันเดียวกันแล้ว เพราะอังกฤษกับกรุงเทพฯ เปนไมตรีกัน ราษฎรทั้ง ๒ ฝ่ายคงจะไปมาถึงกันได้โดยสดวกต่อไป เราจึงได้สั่งให้ประกาศอนุญาตแล้วแต่ใครจะกลับไปฤๅจะอยู่ก็ให้เปนไปตามใจสมัค คนเหล่านั้นเราก็ได้ทำนุบำรุงเลี้ยงดูทั่วทุกคน.

อนึ่งเจ้าพระยามหาโยธาแจ้งความว่า ได้ทราบข่าวมาจากเกาะหมาก ว่ากองทัพอังกฤษที่ตั้งอยู่เมืองร่างกุ้ง ไพร่พลพากันเจ็บป่วยมาก เราได้ทราบก็มีความวิตกอยู่ แต่ก็ยังไม่เชื่อ เพราะระยะทางห่างไกลกันนัก ยากที่จะรู้ความจริงได้ เราจึงให้นายกองมอญ ๔ นาย ถือหนังสือสำหรับตัวออกมากับกรมการแลพวกเมืองมฤทที่จะกลับไปบ้านเมือง เพื่อจะได้สืบข้อราชการตามที่จริงว่าเปนอย่างไร.

อนึ่งเจ้าพระยามหาโยธามาแจ้งความแก่เราว่า กรมการมอญ คุมไพร่ ๓๐ คน ถือหนังสือของนายพันโทสมิทมาส่งที่ด่านมันวะ เราได้ทราบก็มีความยินดี แลข้อราชการที่แจ้งมาในหนังสือนั้นก็ได้ทราบมาถึงเราแล้ว เราพิจารณาความแล้วจึงสั่งอนุญาตแก่กรมการแลชายหญิงที่เข้ามาจากเมืองมฤทว่า จะอยู่ในกรุง ฯ ฤๅจะกลับไปบ้านเมืองก็แล้วแต่ใจสมัค เราได้มอบครัวใหม่ให้กรมการมอญพากลับไป ๗๙ คน แลยังมีครัวเก่าที่เข้ามาอยู่นานแล้วสมัคจะกลับไปอิก ๒๖ คน เราจึงได้มอบมา รวมเบ็ดเสร็จเปน ๑๐๕ คน พวกทวายแลชาวตะนาวศรีที่เข้ามาตั้งภูมิลาเนาอยู่ในกรุง ฯ ช้านานแล้วก็มีอยู่บ้าง เราก็ได้ประกาศให้ทราบเหมือนกันว่า ใครจะสมัคอยู่ฤๅจะกลับไปก็ตามแต่ใจสมัค ที่เราทำเช่นนี้เพราะเห็นแก่ทางไมตรี แลพระประสงค์จะช่วยอังกฤษปราบปรามพม่าข้าศึกให้พ่ายแพ้จงได้.

เรามีหนังสือนี้แจ้งข้อราชการมาให้ทราบไว้ก่อน แต่พอสิ้นระดูฝนเมื่อใดจะโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธากองทัพไปสมทบกับอังกฤษช่วยกันรบพม่าข้าศึก เราได้สั่งให้เตรียมกองทัพอยู่แล้ว ถ้าช่วยกันปราบปรามพม่าให้ราบคาบได้เมื่อใด บ้านเมืองก็จะมีความศุขสำราญ ทางพระราชไมตรีก็จะเจริญถาวรต่อไป หนังสือนี้ได้เขียนเปนภาษาไทยฉบับ ๑ แปลเปนภาษาพม่าฉบับ ๑ เนื้อความต้องกัน สิ้นความในหนังสือเสนาบดีมีถึงแม่ทัพอังกฤษเท่านี้ แล้วมีหนังสือเสนาบดีไปถึง ครอเฟิด ที่เมืองสิงคโปร์ฉบับ ๑ แลอังกฤษผู้รักษาเมืองมฤทฉบับ ๑ บอกให้ทราบโดยทำนองเดียวกัน ว่าถึงระดูแล้งกองทัพไทยจะยกออกไปช่วยอังกฤษอิก

  1. ๑. ในหนังสือมีชื่อนายกองมอญทั้ง ๔ คน แต่อังกฤษเขียนเพี้ยนนัก เข้าใจได้แต่ว่า พระยารัตนจักรคน ๑ สมิงนครอินทรคน ๑.

  2. ๒. ชื่อกรมการคนนี้ เขียนเปนภาษาอังกฤษ อ่านว่า มุเย.

  3. ๓. หนังสือที่มีไปจากกรุงเทพฯ ครั้งนั้น คำแปลที่ส่งกำกับไปสิงคโปร์ใช้ภาษามลายู ไปถึงอังกฤษทางเมืองพม่า ชั้นแรกใช้ภาษาเปอเซีย ชั้นหลังใช้ภาษาพม่า เหมือนคำแปลของอังกฤษที่มีมา เพราะไม่มีล่ามภาษาอังกฤษในกรุงเทพ ฯ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ