ตอนที่ ๑ รบพม่าที่ลาดหญ้า

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จผ่านพิภพปราบดาภิเศกเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ พอทรงระงับดับยุคเข็ญในกรุงธนบุรีราบคาบ แลโปรดให้มีตราให้หากองทัพกลับมาจากกรุงกัมพูชาแล้ว ก็ให้เริ่มการย้ายพระนครข้ามฟากจากเมืองธนบุรีมาสร้างกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ ทางฝั่งตวันออกแต่ฝั่งเดียว ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่าศึกพม่าคงจะมีมาอีก จะวางใจไม่ได้ กรุงธนบุรีสร้างเอาแม่น้ำไว้กลางเมือง ตั้งแนวปราการแลคูเมืองทั้ง ๒ ฟากเหมือนอย่างเมืองพิศณุโลก การสู้รบรักษาเมืองคนข้างในจะช่วยกันรักษาน่าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามน้ำ ได้ทรงทราบมาแต่ครั้งรักษาเมืองพิศณุโลกสู้ศึกอะแซหวุ่นกี้ เมืองพิศณุโลกยังว่าลำน้ำแคบแลตื้น พอทำสพานข้ามได้ ที่กรุงธนฯ นี้แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งกว้างทั้งฦก จะทำสพานข้ามก็ยาก ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงกรุงธนบุรี การที่จะต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครเห็นจะลำบากยิ่งนัก ทรงพระราชดำริห์ว่าข้างฝั่งตวันออกเปนที่มีไชยภูมิเพราะเปนหัวแหลม ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่น้ำเปนคูเมืองทั้งด้านตวันตกแลด้านใต้ถึง ๒ ด้าน ต้องขุดคลองเปนคูเมือง แต่ด้านเหนือกับด้านตวันออกเท่านั้น ถึงจะมีข้าศึกมาก็จะพอต่อสู้ได้ไม่ลำบาก ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตวันออกแต่ฝั่งเดียว เปนยุติว่าจะตั้งราชธานีอยู่ที่บางกอกนี้ต่อไป ไม่คิดกลับคืนขึ้นไปตั้งที่กรุงศรีอยุทธยาอย่างโบราณ จึงมีรับสั่งให้ขึ้นไปรื้อกำแพงกรุงเก่าเอาอิฐลงมาสร้างป้อมปราการกรุงเทพฯ เพราะจะมิให้กรุงเก่าเปนที่อาไศรยของข้าศึกด้วยอิกประการ ๑ สร้างพระนครอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จเมื่อในปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๒๘ พอสมโภชพระนครแล้วไม่ช้า ในปีนั้นเองพม่าก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทย.

ในตอนนี้จะต้องขอย้อนไปเล่าเรื่องพงษาวดารพม่าเสียก่อน คือเมื่อพระเจ้าอลองพญาผู้เปนต้นราชวงศ์สิ้นพระชนม์ มังลอกราชบุตรองค์ใหญ่ได้ครองแผ่นดินพม่าต่อมา พระเจ้ามังลอกมีราชบุตรกับพระมเหษีองค์ ๑ ชื่อว่ามังหม่อง เมื่อพระเจ้ามังลอกสิ้นพระชนม์ มังหม่องยังเปนทารกอยู่ ราชสมบัติจึงได้แก่มังระราชอนุชา ครั้นมังหม่องเติบใหญ่ขึ้นพระเจ้ามังระมีความรังเกียจเกรงจะชิงราชสมบัติ คิดจะประหารชีวิตมังหม่องเสีย แต่นางราชชนนีผู้เปนย่าของมังหม่องขอชีวิตไว้ รับว่าจะให้ไปศึกษาบวชเรียนอยู่ในวัดจนตลอดชีวิต มิให้มาเกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดิน พระเจ้ามังระจึงมิได้ทำอันตรายแก่มังหม่อง พระเจ้ามังระเสวยราชย์มา มีราชบุตร ๒ องค์ ๆ ใหญ่เรียกกันว่าจิงกูจา แปลว่าผู้กินส่วยเมืองจิงกู เปนลูกพระมเหษี องค์น้อยชื่อแชลงจาเปนลูกพระสนม จิงกูจาพอโตขึ้นก็ชอบคบคนเสเพล ชักชวนให้ประพฤติพาลมาเนืองๆ พระเจ้ามังระมิใคร่เต็มพระไทยจะให้รับราชสมบัติ ครั้นปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ามังระประชวรหนักจวนจะสิ้นพระชนม์ จะมอบราชสมบัติให้ผู้อื่นเกรงจะเกิดเหตุไม่เรียบร้อย จึงมอบราชสมบัติแก่จิงกูจาราชบุตรใหญ่ พระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติแล้วสงไสยว่ามีผู้จะคิดร้าย จึงให้จับแชลงจาราชอนุชาสำเร็จโทษเสีย แล้วให้หาอะแซหวุ่นกี้กลับไปจากเมืองพิศณุโลก ไปถึงก็พาลหาเหตุถอดอะแซหวุ่นกี้เสียจากยศบรรดาศักดิ์ แล้วจับพระเจ้าอาว์องค์ใหญ่ชื่อมังโป ซึ่งเรียกกันว่าตะแคงอะเมียง ตามตำแหน่งยศเปนเจ้าของเมืองอะเมียง สำเร็จโทษเสียอิกองค์ ๑ แลให้เนรเทศพระเจ้าอาว์อิก ๓ องค์ คือ มังเวงตะแคงปดุง มังจุตะแคงพุกาม แลมังโพเชียงตะแคงแปงตะแลไปเสียจากเมืองอังวะ เอาไปคุมไว้ในหัวเมือง พระเจ้าจิงกูจามีมเหษีแต่ไม่มีราชบุตร แล้วได้ธิดาของอำมาตย์อะตวนหวุ่นมาเปนนางสนม แต่แรกมีความเสนหาแก่นางนั้นมาก ถึงยกขึ้นเปนพระสนมเอก รองแต่พระมเหษีลงมา บิดาของนางก็เอามายกย่องให้มียศเปนขุนนางผู้ใหญ่ แต่พระเจ้าจิงกูจานั้นมักเสวยสุราเมามาย แลประพฤติทารุณร้ายกาจต่าง ๆ อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าจิงกูจากำลังเมา เกิดพิโรธให้เอานางสนมเอกนั้นไปถ่วงน้ำเสีย แล้วถอดบิดาของนางลงเปนไพร่ อะตวนหวุ่นโกรธแค้นจึงไปคบคิดกับตะแคงปดุงซึ่งเปนพระเจ้าอาว์องค์ใหญ่ แลอะแซหวุ่นกี้ซึ่งถูกถอดนั้น ปฤกษากันจะกำจัดพระเจ้าจิงกูจาเสียจากราชสมบัติ ทำนองตะแคงปดุงจะเกรงเจ้าน้องอิก ๒ องค์จะไม่ยอมให้ราชสมบัติ ในชั้นแรกจึงอุดหนุนมังหม่อง ซึ่งบวชเปนสามเณรอยู่ให้คิดชิงราชสมบัติ เพราะมังหม่องเปนลูกมเหษีของพระเจ้ามังลอกอันอยู่ในที่ควรจะได้ราชสมบัติมาแต่ก่อนแล้ว.

ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ พระเจ้าจิงกูจาออกไปประพาศหัวเมือง ทางนี้มังหม่องจึงศึกจากสามเณร คุมสมัคพรรคพวกเข้าปล้นได้เมืองอังวะโดยง่าย มังหม่องจะมอบราชสมบัติถวายพระเจ้าอาว์ ๓ องค์ แต่พระเจ้าอาว์ไม่รับ มังหม่องจึงขึ้นว่าราชการ แต่พอมังหม่องขึ้นนั่งเมืองก็ปรากฎว่าไม่สามารถจะปกครองแผ่นดินได้ ด้วยปล่อยให้เหล่าโจรที่เปนพรรคพวกช่วยปล้นเมืองอังวะ ไปเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติของพวกชาวเมืองตามอำเภอใจ มังหม่องควบคุมไว้ไม่อยู่ เกิดวุ่นวายขึ้นทั้งเมืองอังวะ พวกข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมกันไปเชิญตะแคงปดุงครองราชสมบัติ ด้วยเปนราชบุตรคนที่ ๔ ของพระเจ้าอลองพญา มังหม่องนั่งเมืองอยู่ได้ ๑๑ วัน พระเจ้าปดุงก็จับสำเร็จโทษเสีย.

ผ่ายพระเจ้าจิงกูจาซึ่งออกไปประพาศอยู่หัวเมือง เมื่อข่าวปรากฎไปถึง ว่ามังหม่องชิงได้เมืองอังวะ พวกไพร่พลที่ติดตามไปด้วยก็พากันหลบหนีทิ้งไปเสียเปนอันมาก เหลือแต่ขุนนางคนสนิทติดพระองค์ไม่กี่คน แต่แรกพระเจ้าจิงกูจาคิดจะหนีไปอาไศรยอยู่เมืองกะแซ แต่เปนห่วงนางราชชนนีจึงลอบลงมาใกล้เมืองอังวะ แล้วมีหนังสือเข้าไปทูลให้ทราบว่าจะหนีไปเมืองกะแซ นางราชชนนีให้มาห้ามปรามว่า เกิดมาเปนกระษัตริย์ถึงจะตายก็ชอบแต่จะตายอยู่ในเมืองของตัว ที่จะหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเปนข้าหาควรไม่ พระเจ้าจิงกูจาก็เกิดมานะพาพวกบริวารที่มีอยู่ตรงเข้าไปในเมืองอังวะ ทำองอาจเหมือนกับเสด็จไปประพาศแล้วกลับคืนมายังพระนคร พวกพลไพร่ที่รักษาประตูเมืองเห็นพระเจ้าจิงกูจาก็พากันเกรงกลัวไม่มีใครกล้าจะต่อสู้ พระเจ้าจิงกูจาเข้าไปได้จนในเมือง พออะตวนหวุ่นพ่อนางสนมเอกที่พระเจ้าจิงกูจาให้ฆ่าเสียทราบความจึงคุมรี้พลมาล้อมจับพระเจ้าจิงกูจา อะตวนหวุ่นเองฟันพระเจ้าจิงกูจาสิ้นพระชนม์ที่ในเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงทราบความว่าอะตวนหวุ่นฆ่าพระเจ้าจิงกูจาก็ทรงพระพิโรธว่า ควรจะจับมาถวายโดยลม่อม ไม่ควรจะฆ่าฟันเจ้านายโดยพลการ ให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตเสีย ตรงนี้ผู้ที่แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารเข้าใจผิดไปว่าประหารชีวิตอะแซหวุ่นกี้ ที่จริงอะแซหวุ่นกี้นั้นเมื่อพระเจ้าปดุงได้ราชสมบัติแล้ว เอากลับมายกย่องตั้งแต่งเปนขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้เปนอุปราชสำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ที่เมืองเมาะตมะจนตายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ แลว่าได้เปนแม่ทัพมารบไทยอิกคราว ๑ คราวไทยยกไปตีเมืองทวายเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ (แต่ความข้อหลังนี้ข้าพเจ้าสงไสยอยู่.)

ขณะเมื่อเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันวุ่นวายในเมืองพม่าครั้งนั้น เหล่าหัวเมืองขึ้นของพม่าก็พากันกระด้างกระเดื่อง ถึงบังอาจคุมกำลังไปปล้นเมืองอังวะซึ่งเปนราชธานีก็มี พระเจ้าปดุงต้องทำสงครามปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินอยู่หลายปี แต่พระเจ้าปดุงนั้นเข้มแขงในการศึกยิ่งกว่าบรรดาราชวงศ์ของพระเจ้าอลองพญาองค์อื่น ๆ เมื่อปราบปรามพวกที่คิดร้ายราบคาบทั่วทั้งเขตรพม่ารามัญแลไทยใหญ่แล้ว จึงสร้างเมืองอมระบุระขึ้นเปนราชธานีใหม่ แล้วยกกองทัพไปตีประเทศมณีบุระทางฝ่ายเหนือ แลประเทศยะไข่ทางตวันตกได้ทั้ง ๒ ประเทศ แผ่ราชอาณาเขตรกว้างขวางยิ่งกว่ารัชกาลก่อน ๆ โดยมาก พระเจ้าปดุงเสวยราชย์มาได้ ๓ ปี จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศสูงเสมอมหาราชแต่ปางก่อน เช่นพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ด้วยในขณะนั้นพระเจ้าปดุงมีรี้พลบริบูรณ์ แลทำสงครามมีไชยชนะมาทุกแห่ง พลทหารกำลังร่าเริงคล้ายๆ กัน.

ครั้นถึงปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงให้เตรียมกองทัพที่จะยกเข้ามาตีเมืองไทย เกณฑ์คนทั้งในเมืองหลวงแลหัวเมืองขึ้นตลอดจนเมืองประเทศราชหลายชาติหลายภาษา รวมจำนวนพล ๑๔๔,๐๐๐ จัดเปนกระบวนทัพ ๙ ทัพ คือ

ทัพที่ ๑ ให้แมงยี แมงข่องกยอ เปนแม่ทัพ มีทั้งทัพบกทัพเรือ จำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ลงมาตั้งที่เมืองมฤท ให้ยกทัพบกมาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพรลงไปจนเมืองสงขลา ส่วนทัพเรือนั้นให้ตีหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตกตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าลงไปจนเมืองถลาง.

ในพงษาวดารพม่าว่าแมงยีแมงข่องกยอยกลงมาแต่เดือน ๘ ปีมะเสง ด้วยพระเจ้าปดุงให้เปนพนักงานรวบรวมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพหลวงที่จะยกลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตมะด้วย ครั้นเมื่อกองทัพหลวงยกลงมาไม่ได้เสบียงอาหารไว้พอแก่ราชการ พระเจ้าปดุงทรงพระพิโรธให้ประหารชีวิตแมงยีแมงข่องกยอเสีย แล้วตั้งเกงหวุ่นแมงยี มหาสีหะสุระ อรรคมหาเสนาบดีเปนแม่ทัพที่ ๑ แทน.

ทัพที่ ๒ ให้อนอกแฝกคิดหวุ่นเปนแม่ทัพ ถือพล ๑๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้าทางด่านบ้องตี้ มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรีเมืองเพ็ชรบุรีลงไปประจบกองทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร

ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นคยี สะโดะ ศิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอูเปนแม่ทัพ ถือพล ๓๐,๐๐๐ ยกมาทางเมืองเชียงแสน ให้ลงมาตีเมืองนครลำปาง แลหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่แลน้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลกเมืองศุโขไทยลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ

ทัพที่ ๔ ให้เมียนหวุ่น แมงยี มหาทิมข่อง เปนแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ ยกลงมาตั้งที่เมืองเมาะตมะ เปนทัพน่าที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพ ฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

ทัพที่ ๕ ให้เมียนเมหวุ่นเปนแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตมะ เปนทัพหนุนทัพที่ ๔.

ทัพที่ ๖ ให้ตะแคงกามะราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่า ศิริธรรมราชา) เปนแม่ทัพ ถือพล ๑๒,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตมะ เปนทัพน่าที่ ๑ ของทัพหลวงที่จะยกเข้ามากรุงเทพฯ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

ทัพที่ ๗ ให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่ ๓ (พม่าเรียกว่า สะโดะ มันชอ) เปนแม่ทัพ ถือพล ๑๑,๐๐๐ มาตั้งที่เมืองเมาะตมะ เปนทัพน่าที่ ๒ ของทัพหลวง.

ทัพที่ ๘ เปนกองทัพหลวง จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ พระเจ้าปดุงเปนจอมพล เสด็จลงมาเมืองเมาะตมะเมื่อเดือน ๑๒ ปีมะเสง.

ทัพที่ ๙ ให้จอข่องนรทาเปนแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ (เข้าใจว่าตั้งที่เมืองเมาะตมะเหมือนกัน) ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แขวงเมืองตาก มาตีหัวเมืองเหนือทางริมแม่น้ำพิง ตั้งแต่เมืองตากเมืองกำแพงเพ็ชรลงมาประจบทัพหลวงที่กรุงเทพ ฯ.

กองทัพ ๙ ทัพที่กล่าวมานี้ กำหนดให้ยกเข้ามาตีเมืองไทยในเดือนอ้ายปีมะเสงพร้อมกันทุกทัพ คือจะตรงมาตีกรุงเทพ ฯ ๕ ทัพ เปนจำนวนพล ๘๙,๐๐๐ ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒ ทัพ เปนจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก ๒ ทัพ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ จำนวนพลของข้าศึกที่ยกมาตีเมืองไทยครั้งนี้รวมทั้งสิ้นจึงเปน ๑๔๔,๐๐๐ ด้วยกัน.

กระบวนทัพที่พระเจ้าปดุงให้ยกมาครั้งนี้ผิดกับกระบวนทัพที่พม่าเคยยกมาตีเมืองไทยแต่ก่อนทุกคราว กองทัพพม่ายกมาตีเมืองไทยแต่ก่อน ถ้าเปนทัพใหญ่ทัพกระษัตริย์ เช่นครั้งพระเจ้าหงษาวดีก็ดี แลครั้งพระเจ้าอลองพญาก็ดี ยกมาแต่ทางเดียว ถ้ามิใช่ทัพใหญ่เปนแต่ทัพขุนนาง บางทีก็ให้ยกมา ๒ ทาง เช่นเมื่อคราวให้พระยาพสิมยกมากับพระเจ้าเชียงใหม่ ในครั้งสมเด็จพระนเรศวร แลครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุทธยาเมื่อคราวหลังนั้น แต่คราวนี้ยกมาถึง ๕ ทาง คือทางใดที่พม่าเคยยกกองทัพเข้ามาเมืองไทยแต่ก่อน ให้กองทัพยกเข้ามาในคราวนี้พร้อมกันหมดทุกทาง ประสงค์จะเอากำลังใหญ่หลวงเข้ามาทุ่มเทตีให้พร้อมกันหมดทุกด้าน มิให้ไทยมีประตูที่จะสู้ได้ แต่ที่แท้พระเจ้าปดุงมีปรีชาญาณในยุทธวิธีไม่เหมือนพระเจ้าหงษาวดีแต่ปางก่อน กะการประมาณพลาดในข้อสำคัญ ด้วยไพร่พลมากมายย้ายแยกกันเปนหลายทัพหลายกอง แลยกมาหลายทิศหลายทางเช่นนั้น ไม่คิดเห็นว่ายากที่จะเดินทัพเข้ามาถึงที่มุ่งหมายให้พร้อมมูลเปนอันหนึ่งอันเดียวกันได้ประการ ๑ อิกประการ ๑ ซึ่งยิ่งสำคัญกว่านั้น คือมิได้คิดถึงความยากในเรื่องที่จะหาแลลำเลียงเสบียงอาหารให้พอเพียงเลี้ยงกองทัพได้หมดทุกทาง ความพลาดพลั้งของพระเจ้าปดุงทั้ง ๒ ข้อนี้ที่ไทยเอาเปนประโยชน์ในการต่อสู้ศึกพม่าครั้งนั้นได้เปนสำคัญ ดังจะเห็นได้ในรายการที่จะปรากฎต่อไปข้างน่า.

ทีนี้จะกล่าวถึงฝ่ายไทยที่กรุงเทพมหานครต่อไป ขณะพม่าลงมือประชุมพลเมื่อระดูฝนปีมะเสงนั้น พวกกองมอญไปลาดตระเวนสืบทราบความว่าพม่าเตรียมทัพที่เมืองเมาะตมะจะมาตีเมืองไทยเมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ ต่อนั้นมาหัวเมืองเหนือใต้ทั้งปวงก็บอกข่าวศึกพม่าเข้ามาโดยลำดับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับทั้งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันน่าพระที่นั่ง ทรงปฤกษาการที่จะต่อสู้พม่าข้าศึก ข้อพระราชดำริห์แลข้อที่ปฤกษาตกลงกันในครั้งนั้นจะเปนอย่างไรหามีจดหมายเหตุปรากฎไม่ ได้แต่พิเคราะห์ดูโดยลักษณการที่ได้ทำต่อมา เข้าใจว่าคงเห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่า ศึกพม่าที่พระเจ้าปดุงยกมาครั้งนั้นใหญ่หลวงผิดกับศึกพม่าที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยรี้พลมากมายแลจะยกมาทุกทิศทุกทาง กำลังข้างฝ่ายไทยมีจำนวนพลสำรวจได้เพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ น้อยกว่าข้าศึกมากนัก ถ้าจะแต่งกองทัพไปต่อสู้รักษาเขตรแดนทุกทางที่ข้าศึกยกเข้ามา เห็นว่าจะเสียเปรียบข้าศึก เพราะเหตุที่ต้องแบ่งกำลังแยกย้ายไปหลายแห่ง กำลังกองทัพก็จะอ่อนแอด้วยกันทุกทาง เพราะฉนั้นควรจะรวบรวมกำลังไปต่อสู้ข้าศึกแต่ในทางที่สำคัญก่อน ทางไหนไม่เห็นสำคัญปล่อยให้ข้าศึกทำตามชอบใจไปพลาง เมื่อเอาไชยชนะข้าศึกซึ่งเปนทัพสำคัญได้แล้วจึงปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป เนื้อความที่ปฤกษาคงจะยุติเปนอย่างนี้ เวลานั้นสืบได้ความว่ากองทัพใหญ่ของข้าศึกยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แลพระเจ้าปดุงเปนจอมพลมาเองในทางนั้นด้วย จึงโปรดให้จัดกองทัพสำหรับที่จะต่อสู้ข้าศึกเปน ๔ ทัพ คือ

ทัพที่ ๑ ให้กรมพระราชวังหลัง (เวลานั้นยังดำรงพระยศเปนเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร) เปนแม่ทัพ ถือพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันอย่าให้กองทัพพม่าที่ยกลงมาทางข้างเหนือล่วงเลยลงมาถึงกรุงเทพ ฯ ในเวลากำลังต่อสู้ข้าศึกทางเมืองกาญจนบุรี.

ทัพที่ ๒ เปนกองทัพใหญ่กว่าทุกทัพ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จเปนจอมพลไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า) คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปดุงที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

ทัพที่ ๓ ให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ ๒ แลคอยต่อสู้พม่าซึ่งจะยกมาแต่ทางข้างใต้ฤๅทางเมืองทวาย.

ทัพที่ ๔ กองทัพหลวงจัดเตรียมไว้ในกรุงฯ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เศษ เปนกองหนุน ถ้ากำลังศึกหนักทางด้านไหนจะได้ยกไปช่วยให้ทันที.

กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกกองทัพออกจากกรุงเทพ ฯ ในเดือนอ้ายปีมะเสง ทรงจัดให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรเปนกองน่า เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเปนยุกรบัตรทัพ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกเปนเกียกกาย พระยามณเฑียรบาลเปนกองหลัง ยกไปถึงเมืองกาญจนบุริ (เก่า) ให้ตั้งค่ายมั่นในทุ่งลาดหญ้าที่เชิงเขาบันทัดเปนหลายค่าย ชักปีกกาถึงกันสกัดทางที่พม่าจะยกเข้ามา แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเปนช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่ในทางที่ข้าศึกจะยกมานั้นอิกแห่งหนึ่ง.

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพเมียนหวุ่นที่ ๔ ยกเข้ามาก่อน เดินผ่านแขวงเมืองไทรโยคตัดลงมาทางริมลำน้ำแควใหญ่ที่เมืองท่ากระดาน เดินทางริมน้ำต่อลงมาถึงด่านกรามช้าง พม่ามากกว่าก็ระดมตีค่ายกองมอญซึ่งตั้งรักษาด่านกรามช้างแตก แล้วยกเข้ามาถึงค่ายที่กองทัพกรมพระราชวังบวร ฯ ตั้งรับอยู่ในทุ่งลาดหญ้า ทัพพม่าที่ ๔ ก็ตั้งค่ายลงตรงนั้น ครั้นทัพเมียนเมหวุ่นที่ ๕ ตามเข้ามาถึงก็ตั้งค่ายเปนแนวรบต่อกันไป จำนวนพลพม่าทั้ง ๒ ทัพรวม ๑๕,๐๐๐.

ในพงษาวดารพม่าว่า กองทัพพม่ายกเข้ามาได้สู้รบกับกองมอญที่รักษาด่านกรามช้าง กองมอญล่าถอย พม่าติดตามมาถึงที่ค่ายไทยที่ลาดหญ้า พม่าก็ตรงเข้าตีค่ายไทย ได้รบกันเปนสามารถ พม่ารบถลำเข้ามาให้ไทยล้อมจับได้กอง ๑ นายทัพพม่าเห็นว่าไทยมีกำลังมากเกรงจะเสียทีจึงให้ตั้งค่ายมั่นลง หวังจะรบพุ่งขับเขี้ยวกับไทยต่อไป

กระบวนยุทธวิธีที่ไทยไปตั้งรับพม่าข้าศึกที่ลาดหญ้าคราวนี้ผิดกับวิธีที่ไทยได้เคยต่อสู้พม่ามาแต่ก่อน พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฎมาในหนังสือพระราชพงษาวดาร เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ดี ครั้งสมเด็จพระนเรศวรก็ดี ถ้าพม่ายกมาเปนศึกใหญ่เหลือกำลัง ไทยมักตั้งต่อสู้ที่พระนคร ถ้าคราวไหนกำลังไทยพอจะต่อสู้ข้าศึกที่ยกมา ก็ยกออกดักตีข้าศึกให้แตกในกลางทางเมื่อก่อนจะเข้ามาถึงชานพระนคร มักรบกันในแขวงเมืองสุพรรณบุรีโดยมาก ถ้าทางเหนือมักรบกันในแขวงเมืองอ่างทอง วิธีที่เอากองทัพใหญ่ออกไปตั้งสกัดข้าศึกถึงชายแดน พึ่งมีขึ้นคราวนี้เปนครั้งแรก เปนวิธีที่คิดขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๑ คงเปนเพราะพิจารณาเห็นว่าที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่ต่อเชิงเขาบันทัดทางที่พม่าต้องเดินทัพข้ามเข้ามา ถ้าไทยรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้ กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาต้องตั้งอยู่บนภูเขาอันเปนที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพและจะเดินกระบวนรบได้ยาก เปรียบเหมือนข้าศึกอยู่ในกรอก ไทยสกัดคอยอยู่ปากกรอก ถึงกำลังน้อยกว่าก็พอจะสู้ได้ ด้วยอาไศรยไชยภูมิดังกล่าวมา การก็เปนจริงเช่นนั้น เมื่อกองทัพน่าของพม่ายกเข้ามาปะกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า ก็ต้องหยุดอยู่เพียงเชิงเขา เมื่อกองน่าหยุดอยู่เพียงเชิงเขา กองทัพที่ยกตามมาข้างหลังก็ต้องหยุดอยู่บนภูเขา เปนระยะกันไป ปรากฎว่าทัพตะแคงกามะราชบุตรทัพที่ ๖ ตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง ทัพตะแคงจักกูราชบุตรทัพที่ ๗ ตั้งอยู่ที่สามสบ ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงทัพที่ ๘ ต้องตั้งอยู่ที่ปลายลำน้ำลอนชี พ้นพระเจดียสามองค์เข้ามาเพียง ๒ ระยะ กองทัพพม่าตั้งอยู่บนภูเขาหาเสบียงอาหารในแดนไทยไม่ได้ ก็ต้องหาบขนเสบียงจากแดนเมืองพม่าข้ามเขามาส่งกันทุกทัพ พม่าจึงเสียเปรียบไทยตั้งแต่แรกยกข้ามแดนไทยเข้ามาด้วยประการฉนี้

รายการที่รบกันที่ลาดหญ้า ปรากฎว่าพอกองทัพพม่าตั้งค่ายลงที่เชิงเขาบันทัด กรมพระราชวังบวร ฯ ก็ให้ตีค่ายพม่า แต่พม่าสู้รบแขงแรงไทยตีเอาค่ายพม่ายังไม่ได้ ก็ตั้งสู้รบพุ่งติดพันกันอยู่ พม่าให้ปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงค่ายไทย กรมพระราชวังบวร ฯ จึงให้เอาปืนใหญ่แลปืนอย่างยิงด้วยลูกไม้ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ไปตั้งรายยิงหอรบพม่าหักพังลงแลถูกผู้คนล้มตาย จนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาตีค่ายไทย กรมพระราชวังบวร ฯ จึงทรงแต่งกองโจร ให้พระยาสีหราชเดโชไชย พระยาท้ายน้ำ กับพระยาเพ็ชรบุรี คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้ว ไปเกียจคร้านอ่อนแอ ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตรเสียทั้ง ๓ คน แล้วให้พระองค์เจ้าขุนเณร ถือพล ๑,๘๐๐ ไปเปนกองโจรซุ่มอยู่ที่พุตะไคร้ทางลำน้ำแควไทรโยคซึ่งใกล้กับทางที่พม่าจะส่งลำเลียงมานั้น.

ในพงษาวดารพม่าว่า กองทัพพม่าที่ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์คราวนั้น ขัดสนเสบียงอาหารมาแต่แรกทุกๆ ทัพ พระเจ้าปดุงทรงทราบว่ากองทัพน่ามาตั้งประชิดอยู่กับไทย ให้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพน่า ก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งให้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงคุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยที่ไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้.

ในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ สู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ที่ลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระปริวิตกเกรงกำลังจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่าย จึงเสด็จยกกองทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพ ฯ เมื่อณวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ เสด็จไปจนถึงค่ายกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงปฤกษาราชการสงคราม กรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลว่า พม่าอดอยากมากอยู่แล้ว อย่าให้ทรงพระวิตกถึงลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกไปในไม่ช้า ขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะได้อุดหนุนกันทันท่วงที ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย ก็เสด็จยกกองทัพหลวงกลับคืนมาพระนคร.

ต่อมากรมพระราชวังบวร ฯ ทรงทำกลอุบาย เวลากลางคืนแบ่งกองทัพให้ลอบกลับมาจนพ้นสายตาพม่า ครั้นเวลาเช้าให้กองทัพนั้นถือธงทิวเดินเปนกระบวนทัพกลับไปเนือง ๆ พม่าอยู่ที่สูงแลเห็นว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมไปเสมอ พม่าก็ยิ่งครั่นคร้ามเข้าทุกที.

กรมพระราชวังบวรฯ ทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยาก ครั่นคร้ามมากอยู่แล้ว ครั้นถึงณวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมเสง ก็ให้กองทัพไทยเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวพม่าก็แตกฉานทั้งกองทัพที่ ๔ แลที่ ๕ ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่าย ฆ่าฟันพม่าล้มตายเสียเปนอันมาก ที่เหลือตายแตกหนีกลับไป กองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรพบเข้าก็ตีซ้ำเติม ฆ่าฟันพม่าแลจับส่งมาถวายอิกก็มาก.

ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อไทยตีค่ายพม่าได้ครั้งนั้น พม่ากำลังอดอยากอิดโรย ถูกไทยฆ่าตายเสียบ้างจับได้บ้าง เสียทั้งนายไพร่ประมาณ ๖,๐๐๐ คน.

ครั้นพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพน่าแตกกลับไป ก็เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ด้วยกองทัพพม่าที่ยกมากับพระเจ้าปดุงทางด่านพระเจดีย์สามองค์ขัดสนเสบียงอาหาร แลผู้คนเจ็บไข้ล้มตายลงด้วยกันทุก ๆ ทัพ จึงสั่งให้เลิกทัพกลับไปเมืองเมาะตมะ.

ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งอนอกแฝกคิดหวุ่นเปนแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวายนั้น เมื่อรวบรวมรี้พลได้พร้อมแล้ว จึงจัดให้พระยาทวายเปนกองน่า ถือพล ๓,๐๐๐ ตัวอนอบแฝกคิดหวุ่นเปนกองหลวงถือพล ๔,๐๐๐ ให้จิกสิบโบ่เปนกองหลัง ถือพล ๓,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แต่ทางที่ข้ามภูเขาข้ามมาเปนทางกันดารกว่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ช้างม้าพาหนะเดินยาก ต้องรั้งรอกันมาทุกระยะจึงเข้ามาช้า ที่สุดพระยาทวายกองน่ามาตั้งค่ายที่ (ราวหนองบัว) นอกเขางู อนอกแฝกคิดหวุ่นแม่ทัพตั้งที่ท้องชาตรี จิกสิบโบ่ทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าขว้าวริมลำน้ำภาชี ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าทางลาดหญ้าแตกไปแล้ว แต่เจ้าพระยาธรรมาแลพระยายมราชซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ก็ประมาทไม่ได้ให้กองลาดตระเวรออกไปสืบ หาทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาถึงลำภาชีแลหลังเขางูไม่ จนกรมพระราชวังบวรฯ มีไชยชนะที่ลาดหญ้าเสร็จแล้ว มีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพกลับลงมาทางบก มาทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน พม่าทานกำลังไม่ได้ก็แตกหนีทั้งกองน่าแลกองหลวง ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันไปจนประทะทัพหลัง ๆ ก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับพม่าแลเครื่องสาตราวุธช้างม้าพาหนะเปนอันมาก ที่เหลือก็พากันรีบหนีกลับไปเมืองทวาย.

  1. ๑. เรื่องอะแซหวุ่นกี้ตรงนี้ หนังสือบางฉบับว่าเปนพ่อของนางสนมที่ถูกถ่วงน้ำ ข้าพเจ้ากล่าวตามจดหมายเหตุของนายพันตรี ไมเคล ไซม์ ทูตอังกฤษที่ได้ไปเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๙ เพราะเห็นว่าแต่งใกล้กับเวลาที่เกิดเหตุ.

  2. ๒. รายการเรื่องสงครามคราวนี้ พงษาวดารพม่ายุติต้องกับหนังสือพระราชพงษาวดารแทบทุกข้อ แต่ทัพที่ ๕ ที่ไม่มีในพงษาวดารพม่า จะเปนเพราะเขียนฉบับเดิมตกก็เปนได้.

  3. ๓. คือตรงที่ลำน้ำ ลำนาลอนชิ ร่วมกับลำน้ำเมืองไทรโยค.

  4. ๔. พระองค์เจ้าขุนเณรองค์นี้ ว่าเปนน้องกรมพระราชวังหลัง ร่วมแต่พระบิดา

  5. ๕. ในพงษาวดารพม่าว่า กองทัพที่มาตั้งสู้รบอยู่กับไทยขัดสนเสบียงอาหารยิ่งนัก ต้องเที่ยวขุดหาเผือกมันแลรากไม้กินก็ได้ไม่พอ ต้องฆ่าสัตว์พาหนะในกองทัพกินเสียมาก จนผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงเพราะความอดอยากก็มี ข้าพเจ้าเห็นว่ากล่าวเกินไป ความจริงจะเพียงขัดสนเสบียงอาหารพอรวนเรเท่านั้น ถ้าถึงอดอยากสาหัสดังว่า พม่าก็คงถอยไป เพราะมิได้ถูกไทยล้อมไว้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ