กระบวนศึกตอนที่ ๓

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เห็นกองทัพไทยที่ตั้งค่ายตามริมแม่น้ำใต้เมืองพิศณุโลกย้ายถอนไปที่อื่นเสียหลายกอง กำลังที่รักษาทางไปมาในระหว่างกองทัพหลวงกับเมืองพิศณุโลกอ่อนลง ก็ให้กะละโบ่คุมกองทัพลงมาตั้งสกัดตัดลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งเข้าไปในเมืองพิศณุโลก พม่าตีเอาไปได้หลายครั้ง ครั้งหลังพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ส่งเสบียงอาหารขึ้นไปอิก ให้พระยานครราชสิมาคุมกำลังป้องกันกองลำเลียงขึ้นไปด้วย แลทางในเมืองก็ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกำลังลงมาคอยรับ พม่ายกออกสกัดทางลำเลียง ทัพไทยทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าถึงกันไม่ได้ ด้วยกะละโบ่นายทัพพม่ารบพุ่งขัดขวางไว้ ทั้งในหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่าสรรเสริญว่า กะละโบ่เปนผู้มีฝีมือเข้มแขงในการรบพุ่งคน ๑ พระยานครราชสิมาก็ต้องคุมเสบียงกลับคืนมายังค่ายหลวง แต่นั้นเสบียงอาหารก็ส่งเข้าไปไม่ได้ถึงในเมืองพิศณุโลกดังแต่ก่อน.

ถึงวันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ มีใบบอกขึ้นไปจากกรุงธนบุรีว่า พม่ายกเข้ามาทางด่านสิงขร ขึ้นมาตีเมืองกุยเมืองปราณแตก กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งรักษาเมืองเพ็ชรบุรีแต่งกองทหารไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบในแขวงเมืองเพ็ชรบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้พระทัยเกรงพม่าจะยกเข้าตีกรุงธนบุรีอิกทาง ๑ จึงดำรัสสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตรคุมกองทัพกลับลงมารักษาพระนครกอง ๑ กองทัพหลวงก็ถอยกำลังลงไปอิก.

ฝ่ายกองมอญที่พระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระยาเจ่งคุมไปสกัดดักพม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชร ไปถึงก่อนพม่า จึงตั้งซุ่มสกัดทางอยู่ พอพม่าที่ยกไปจากเมืองศุโขไทยไปถึง พระยาเจ่งออกโจมตีพม่าไม่รู้ตัวก็แตกหนี ได้เครื่องสาตราวุธของข้าศึกส่งมาถวาย แต่พม่ามากกว่ามากนัก พอกองข้างหลังตามมาทันพระยาเจ่งก็ต้องล่าถอยมาซุ่มสกดรอยคอยสืบข่าวพม่ากองทัพนั้นตามรับสั่ง แลกองทัพพม่าซึ่งยกลงมาเมืองกำแพงเพ็ชรนั้น อะแซหวุ่นกี้สั่งให้ลงมาตีเมืองนครสวรรค์ อันเปนที่รวบรวมเสบียงกองทัพไทย หวังจะชิงเอาเสบียงอาหารไปเปนประโยชน์ของพม่า แลจะตัดกำลังกองทัพไทยที่ขึ้นไปช่วยเมืองพิศณุโลกด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์เห็นความคิดพม่า จึงให้กองทัพพระยาราชภักดี แลพระยาพิพัฒโกษาลงมาสมทบกองทัพพระยาราชาเศรษฐีรักษาเมืองนครสวรรค์ดังกล่าวมาแต่ก่อน ครั้นพม่ายกลงมาถึงเมืองกำแพงเพ็ชร สืบสวนได้ความว่าไทยตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แขงแรง กำลังกองทัพพม่าที่ยกมา ๓,๐๐๐ ไม่พอจะตีเอาเมืองนครสวรรค์ได้ พม่าจึงตั้งค่ายยั้งอยู่เพียงเมืองกำแพงเพ็ชร แล้วแต่งกองโจรให้เดินทางป่าอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ลงไปเมืองอุไทยธานี (เก่า) กอง ๑

ถึงวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบความตามใบบอกว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชรตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโนนศาลาค่าย ๑ บ้านถลกบาตรค่าย ๑ บ้านหลวงค่าย ๑ แล้วยกแยกลงไปทางเมืองอุไทยธานีกอง ๑ ไปเผาบ้านอุไทยธานีเสียแล้วจะยกไปทางไหนสืบไม่ได้ความ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงระแวงว่า พม่าที่ยกไปจากเมืองอุไทยธานีจะไปซุ่มสังดักทางคอยตีกองลำเลียงข้างใต้เมืองนครสวรรค์ลงไป จึงโปรดให้แบ่งไพร่พลในกองทัพหลวงจัดรวมเข้าเปนกองทัพ ๑ มีจำนวนพล ๑,๐๐๐ ให้เจ้าอนุรุธเทวาบัญชาการทั่วไป แล้วแยกออกเปนกองน้อย ๓ กอง กองที่ ๑ ให้ขุนอินทรเดชบังคับ กองที่ ๒ ให้หลวงปลัดกับหลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุไทยธานีบังคับ เปนกองน่าของกองที่ ๓ กองที่ ๓ ให้เจ้าเชษฐกุมารบังคับ ยกลงมาคอยป้องกันเสบียงอาหารแลปืนใหญ่ซึ่งส่งลำเลียงขึ้นไปจากข้างใต้ แล้วแบ่งคนกองอาจารย์ลงมาช่วยที่เมืองนครสวรรค์ แลให้ลงไปตั้งอยู่ที่บ้านคุ้งสำเภาแขวงเมืองไชยนาทอิกกอง ๑ ทางใต้เมืองพิศณุโลกก็ให้ถอนกองทัพพระโหราธิบดี หลวงรักษ์มณเฑียร จากบ้านท่าโรงซึ่งเปนระยะที่ ๒ ข้างเหนือปากพิงลงมาตั้งค่ายที่โคกสลุดในแขวงเมืองพิจิตรกอง ๑ ให้พระยานครไชยศรีลงมาตั้งที่โพธิประทับช้างใต้ลงมาอิกกอง ๑ คอยป้องกันลำเลียงที่จะขึ้นไปทางลำน้ำแขวงเมืองพิจิตร ด้วยเกรงพม่าที่เมืองกำแพงเพ็ชรจะลอบมาตีตัดลำเลียงในตอนนี้.

ถึงวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาจักรีเจ้าพระยาสุรสีห์ให้ลงมาเฝ้าที่ท่าโรง เจ้าพระยาจักรีป่วยมาไม่ได้ มาเฝ้าแต่เจ้าพระยาสุรสีห์ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าดำรัสปฤกษาโดยพระราชดำริห์จะใคร่ผ่อนกองทัพลงไปตั้งณเมืองนครสวรรค์ป้องกันเสบียงไว้ แลราชการเมืองพิศณุโลกนั้นให้เจ้าพระยาทั้ง ๒ รับรองป้องกันรักษาไว้ ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารตรงนี้ พิเคราะห์ดูตามรายการที่รบพุ่งกันมาจนถึงเวลานี้ เข้าใจว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงพระราชดำริห์เห็นว่า กำลังไพร่พลไทยน้อยกว่าพม่ามากนัก จะเอาไชยชนะโดยกระบวนรบพุ่งอย่างเดียวเห็นจะไม่ไหว แต่ได้ความตามคำให้การพม่าเชลยที่จับได้ ว่ากองทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหารอยู่แล้ว จึงทรงพระราชดำริห์จะเปลี่ยนวิธีรบ คิดรักษาแต่ไชยภูมิที่สำคัญตั้งมั่นแล้วคิดตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึกให้อดอยากจนอ่อนกำลังระส่ำระสาย จึงค่อยเข้าตีซ้ำเติมให้แตกไปในตอนนั้น ให้เจ้าพระยาทั้ง ๒ สงวนเสบียงอาหารในเมืองพิศณุโลก รักษาเมืองถ่วงเวลาไว้ให้จงได้ พระราชดำริห์เห็นจะเปนเช่นกล่าวนี้ แต่ยังไม่ทันจะได้จัดการ ข้างฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ก็คงรู้สึกลำบากใจด้วยเรื่องขัดสนเสบียงอาหารขึ้นในราวเวลานั้นเหมือนกัน เห็นได้ท่วงทีด้วยไทยถอนกำลังลงมาข้างใต้เสียมากจึงเปลี่ยนวิธีรบบ้าง คิดจะรวบรวมกำลังให้มากลงมาระดมตีกองทัพกรุงธนบุรีให้แตกฤๅให้ต้องทิ้งเมืองพิศณุโลก ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่า ตัวอะแซหวุ่นกี้ยกลงมาเอง แลเข้าใจว่าเรียกกองทัพที่ตั้งอยู่เมืองกำแพงเพ็ชรมาเพิ่มเติมอิกด้วย รายการรบตอนนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า

ณวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ พระยารัตนพิมลซึ่งรักษาค่ายปากพิงบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า กองสอดแนมเห็นพม่าถางป่าจะตั้งค่ายในคลองพิงห่างเข้าไปสัก ๓ คุ้ง จึงดำรัสสั่งให้หลวงวิสูตรโยธามาตย์หลวงราชโยธาเทพเอาปืนใหญ่รางเกวียน ๘ กระบอกไปเพิ่มเติมรักษาค่ายปากพิงข้างฟากตวันตก ในวันนั้นพม่ายกมาตั้งค่ายประชิดค่ายพระยาธรรมาแลพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแขก (เข้าใจว่าอยู่แถวบ้านกระดาษ ซึ่งเปนระยะที่ ๓) ๔ ค่าย แล้วกรุยทางจะตั้งค่ายโอบลงมา

ครั้นณวันพุฒ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทแต่ค่ายบ้านท่าโรงขึ้นไปจนถึงบ้านแขกที่พม่ามาตั้งค่ายโอบ ดำรัสสั่งให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยกับกองจมื่นทิพเสนายกไปสมทบช่วยพระยานครสวรรค์รักษาค่าย แล้วเสด็จกลับลงมายังค่ายท่าโรง มีรับสั่งให้หาตัวเจ้าพระยาจักรีมาเฝ้าทรงปฤกษาราชการทัพอิกครั้ง ๑ แลในเพลาค่ำขณะเมื่อกำลังทรงปฤกษาอยู่กับเจ้าพระยาจักรีนั้น พม่าเข้าปล้นค่ายที่ปากพิง ได้ยินเสียงปืนขึ้นไปถึงค่ายหลวงที่ท่าโรง จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีอยู่รักษาค่ายหลวง เผื่อพม่าจะยกเข้ามาตีในกลางคืนวันนั้นด้วย ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพเรือลงมาจากท่าโรงแต่เวลา ๓ ยามลงมาช่วยรักษาค่ายปากพิง แต่พม่าหายกมาตีค่ายหลวงที่ท่าโรงไม่ เจ้าพระยาจักรีรักษาค่ายหลวงอยู่จนเวลาเช้า เห็นพม่าไม่ยกลงมาตีจึงมอบหมายให้พระยาเทพอรชุนกับพระพิชิตณรงค์ผู้เปนเจ้าน่าที่รักษาการ แล้วกลับคืนไปยังเมืองพิศณุโลก.

ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาจักรีมาทรงปฤกษาราชการทัพครั้งนี้ คงจะเปนเพราะมีการสำคัญเกิดขึ้นในกระบวนศึก ซึ่งจะต้องวินิจฉัยให้ตกลงกันในระหว่างกองทัพหลวงกับกองทัพที่รักษาเมืองพิศณุโลกในขณะนั้น แลการที่ปฤกษากันคงจะมีความลำบาก เช่นเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง จึงปรากฎว่าปฤกษากันอยู่จนเวลาค่ำก็ยังไม่เสร็จ จนได้ยินเสียงปืนพม่าปล้นค่ายที่ปากพิง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จลงมาช่วยในเวลาที่การปฤกษายังค้างอยู่ แลมีข้อที่ควรสังเกตอิกข้อ ๑ ที่เจ้าพระยาจักรีไม่อยู่รอเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี พอเช้าก็กลับไปเมืองพิศณุโลก ข้อที่ปฤกษากันจะเปนอย่างไร พิจารณาดูตามรายการที่ปรากฎประกอบด้วยวันเหตุการณ์ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร เห็นว่าราชการที่ปฤกษากันวันนั้น คงต่อเนื่องกับเรื่องที่ทรงปฤกษาเจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อคราวก่อน คือ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์เห็นว่าการศึกเสียเปรียบพม่า ด้วยพม่ามีกำลังมากกว่ามากนัก กองทัพกรุงธนฯ จะตั้งต่อสู้อยู่ในแขวงเมืองพิศณุโลก เห็นจะรับพม่าไม่อยู่ จึงทรงพระราชดำริห์จะถอยกองทัพกรุงธนๆ ลงมาตั้งมั่นอยู่ในแขวงเมืองพิจิตรให้ห่างข้าศึก แล้วจะคิดตีตัดเสบียงข้าศึกให้ทุกทาง ด้วยได้ข่าวจากเชลยชั้นหลังมาอิก ว่าพม่าขัดสนเสบียงอาหารมากอยู่แล้ว ถูกรังแกเข้าไม่เท่าใดก็คงเกิดระส่ำระสาย แลการที่ถอยกองทัพหลวงลงมานั้น ถ้าข้าศึกยกลงมาตาม ก็จะต้องเลิกล้อมเมืองพิศณุโลก ถ้าข้าศึกยังล้อมเมืองพิศณุโลกอยู่ กองทัพกรุงธนฯ ก็จะทำการได้โดยสดวกดังคิดไว้ ความสำคัญในตอนนี้ทรงพระราชดำริห์ว่า อยู่ที่เมืองพิศณุโลกจะต้องรักษาเมืองไว้ให้ได้ ฝ่ายข้างเจ้าพระยาจักรีเห็นว่าการจะทำไม่ได้ดังกระแสพระราชดำริห์ ด้วยในเมืองพิศณุโลกขัดสนเสบียงอาหารนัก จ่ายกันกินเพียงแต่มื้อละฝาเขนง ๑ เท่านั้นแล้ว ถึงพม่าขัดสนเสบียงอาหาร พม่าอยู่นอกเมือง ยังพอมีทางที่จะเที่ยวลาดหามาเจือจานได้ แต่ฝ่ายในเมืองไม่มีที่จะหา ยิ่งช้าวันไปก็ยิ่งอ่อนกำลัง เห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้จนพม่าระส่ำระสาย ความคิดของเจ้าพระยาจักรีนั้น เห็นว่าถ้ากองทัพกรุงธนฯ ถอย ก็ควรจะทิ้งเมืองพิศณุโลกเสียด้วยเหมือนกัน ถึงว่าพม่าล้อมเมืองอยู่ในเวลานี้ผู้คนในกองทัพไทยยังมีกำลังพอจะตีหักค่ายพม่าออกไปได้ แต่ถ้าช้าไป ให้ผู้คนอดอยากจนอ่อนกำลังเสียแล้ว ถึงจะตีหักออกไปก็เห็นจะออกไม่ได้ คงจะต้องพากันเปนเชลยของพม่าหมด เจ้าพระยาจักรีทูลขออนุญาตทิ้งเมืองพิศณุโลกให้สิ้นห่วงใย จะไปรวบรวมกำลังมารบพุ่งพม่าอิก พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่ยังไม่ได้ทรงสั่งเปนเด็ดขาดประการใด ก็พอได้ยินเสียงปืนพม่าปล้นค่ายที่ปากพิง ก็เสด็จไปช่วยรบพม่า ดังกล่าวมาความที่อธิบายมานี้เปนการคาดคะเน ตามที่สังเกตเหตุการณ์ดังจะปรากฎต่อไป.

พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงมาถึงปากพิงในเพลากลางคืน พอตี ๕ (๕ ก. ท.) วันนั้นพม่าก็เข้ามาตีค่ายพระยาธรรมไตรโลกพระยารัตนพิมลข้างด้านคลองกระพวง รบกันอยู่จนสว่าง.

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำเนินข้ามสะพานเรือกไปข้างฝั่งตวันตก ทรงจัดกำลังไปช่วยรบพม่ารักษาค่ายคลองกระพวง ให้พระยาศุโขไทยยกหนุนไปตั้งค่ายชักปีกกาแลขุดสนามเพลาะให้ติดต่อกับค่ายที่พม่าตี ให้กองอาจารยเก่าใหม่ แลให้หลวงดำเกิงรณภพคุมกองเกณฑ์หัดไปสมทบพระยาศุโขไทยด้วย แล้วโปรดให้กองหลวงรักษ์โยธาหลวงภักดีสงครามยกไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างด้านปากคลองกระพวง แลให้หลวงเสนาภักดีคุมพลกองแก้วจินดายกไปตีกระหนาบหลังพม่าอิกด้าน ๑

ถึงวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ กองทัพพระยาศุโขไทยกองหลวงรักษ์โยธา กองหลวงเสนาภักดี ยกเข้าตีค่ายพม่าที่คลองกระพวงแต่เวลาเช้าพร้อมกัน ๓ กอง ได้รบพุ่งกันเปนสามารถถึงใช้อาวุธสั้น ไทยตีพม่าไม่แตก ด้วยพม่ามากกว่ามากนัก.

ถึงวันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยาอินทรอภัยซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรง แลกองมอญพระยากลางเมืองยกลงมาช่วยรบพม่าที่ปากพิงอิก ๒ กอง แล้วเสด็จออกไปทอดพระเนตรที่ตั้งรบพม่าอยู่ที่คลองกระพวง ดำรัสสั่งให้ตั้งค่ายชักปีกกาต่อออกไปจากค่ายใหญ่อิกเปนระยะทาง ๒๒ เส้น ครั้นจวนพลบค่ำเวลาวันนั้นพม่ายกออกปล้นค่ายไทยรบพุ่งกันอิกเปนสามารถ พม่าตีค่ายไทยไม่ได้ก็ตั้งรากันอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้หาพระยายมราชลงมาจากค่ายวัดจันทร์ท้ายเมืองพิศณุโลก โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์บังคับกองทัพไทยที่ตั้งรบพุ่งพม่าที่คลองกระพวงทุก ๆ กอง.

ราวณวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ อะแซหวุ่นกี้ให้กะละโบ่คุมกำลังมาตีค่ายไทยที่ตั้งอยู่เหนือปากพิงอิกทัพ ๑ กะละโบ่ยกกองทัพมาตั้งประชิดค่ายพระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ฟากตวันตกที่บ้านแขก ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลากลางคืนกะละโบ่ให้กองทัพยกข้ามลำน้ำมาปล้นค่ายกรมแสงในซึ่งตั้งอยู่ที่วัดพริกฟากตวันออก พวกกรมแสงรักษาค่ายอยู่ ๒๔๐ คน สู้รบทานกำลังพม่าไม่ไหว พม่าก็ตีค่ายข้างฝั่งตวันออกได้ทั้งหมด ๕ ค่าย.

ถึงณวันศุกร เดือน ๔ ขึ้น ๑๒ ค่ำ พระยานครสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่บ้านแขกบอกลงมากราบทูลว่า พม่าตั้งค่ายโอบลงมาถึงริมน้ำแลข้ามไปตีค่ายวัดพริกแตกทั้ง ๕ ค่าย เห็นพม่าจะตีวกหลัง จะขอลาดถอยกองทัพลงมาตั้งทางฝั่งตวันออก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงดำรัสสั่งให้กองทัพหลวงรักษ์มณเฑียรกับพระโหราธิบดีซึ่งตั้งอยู่ที่โคกสลุด แลกองทัพพระยานครไชยศรีซึ่งตั้งอยู่ที่โพธิประทับช้างข้างใต้ ให้ยกขึ้นไปที่ปากพิง แล้วให้กองมอญพระยากลางเมือง กองพระโหราธิบดี ยกขึ้นไปสมทบกองพระยาเทพอรชุน กองพระยาวิชิตณรงค์ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรงรวมเปนกองทัพ ให้พระยายมราชเปนแม่ทัพยกไปรบพม่าที่วัดพริก กองทัพน่าของพระยายมราชก็ยกขึ้นไปถึง พอตั้งค่ายลงกะละโบ่ก็ยกเข้าตี กองทัพไทยยังไม่ทันพร้อมมูล พม่าก็ชิงเอาค่ายได้ ครั้นพระยายมราชขึ้นไปถึงผู้คนพรักพร้อมจึงยกเข้ารบพม่าชิงเอาค่ายคืนมาได้ พม่าก็ถอยกลับไปค่ายเดิม ต่างตั้งมั่นสู้รบกันอยู่.

ในขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้ให้มังแยยางูน้องชายคุมกองทัพพม่าอิกกอง ๑ ข้ามฟากมาโอบหลังกองทัพหลวงที่ปากพิงทางด้านตวันออก ตั้งค่ายรายประชิดกองทัพหลวงเปนหลายค่าย สู้รบกันอยู่หลายวัน ไทยตีพม่าไม่แตกไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์เห็นว่ากำลังข้าศึกมากนัก จะตั้งสู้รบอยู่ที่ปากพิงต่อไปจะเสียที ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จึงให้ถอยทัพหลวงจากปากพิงลงมาตั้งมั่นอยู่ที่บางเข้าตอกในแขวงเมืองพิจิตร กองทัพข้าราชการที่ตั้งรักษาทางตามระยะก็ถอยตามกองทัพหลวงลงมาโดยอันดับหมดทุกกอง.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ