สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓

สงครามครั้งนี้เกิดเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขยายราชอาณาเขตรขึ้นไปถึงแดนพม่าข้างเมืองเหนือ จะต้องเล่าเรื่องพงษาวดารไทยตอนพระเจ้ากรุงธนบุรีขยายราชอาณาเขตรเสียก่อน จึงจะเข้าใจความเรื่องสงครามครั้งนี้ชัดเจนดี.

เดิมเมื่อกองทัพพม่ามาตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่นั้น ทางเมืองพม่าพระเจ้ามังระเกิดวิวาทกับจีนด้วยเรื่องชิงหัวเมืองประเทศราชลื้อเขินที่อยู่ในระหว่างแดนพม่ากับแดนจีนมีเมืองเชียงตุงเปนต้น พอพม่าเสร็จสงครามทางเมืองไทย ก็พอจีนยกทัพมาตีเมืองพม่า พระเจ้าอังวะต้องทำสงครามอยู่กับจีนถึง ๓ ปี ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นห่วงศึกพม่า จึงพยายามขยายอาณาเขตรในเวลาที่มีโอกาศนั้น.

ในปีชวด พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นไปตีเมืองพิศณุโลกเมื่อระดูน้ำ แต่ไปถูกปืนข้าศึกต้องเลิกทัพกลับลงมาดังบรรยายมาแล้วในตอนก่อน ครั้นเสด็จกลับมาถึงกรุงธนบุรีรักษาพระองค์หายบาดแผลแล้ว ได้ข่าวว่าเจ้าพิศณุโลกเรืองถึงพิราไลย แลเมืองพิศณุโลกเกิดรบกับเจ้าพระฝาง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นเปนโอกาศ พอสิ้นระดูฝนก็ยกทัพไปตีเมืองนครราชสีมาในปีชวดนั้น.

กระบวนทัพกรุงธนบุรีที่ยกไปครั้งนี้จัดเปน ๒ ทัพ จำนวนพลเท่าใดหาปรากฎไม่ ให้พระมหามนตรีกับพระราชรินทร์คุมกองทัพน้อยยกไปทาง ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จคุมทัพหลวงยกไปทาง ๑ แต่จะเดินทัพไปทางไหนหาได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่ ปรากฎแต่ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รบกับข้าศึกที่ด่านจอหอ พระมหามนตรีพระราชรินทร์ได้รบข้าศึกที่ด่านขุนทศ แลข้าศึกกองด่านขุนทศแตกหนีลงไปเมืองเสียมราฐดังนี้ จึงสันนิษฐานว่ากองทัพพระมหามนตรี พระราชรินทร์เห็นจะยกไปทางเมืองนครนายก ไปขึ้นเขาทางช่องเรือแตกทิศใต้เมืองนครราชสิมาทาง ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกองทัพหลวงยกไปทางเมืองสระบุรี ขึ้นเขาทางช่องพระยาไฟทิศตวันตกเมืองนครราชสิมาทาง ๑ เมื่อกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปไม่ปรากฎว่ากองทัพข้างเจ้าพิมายมาตั้งรักษาเมืองนครราชสิมา เห็นจะเปนด้วยกำลังรี้พลมีน้อย เห็นว่าไม่พอที่จะรักษาป้อมปราการเมืองนครราชสิมาให้มั่นคงได้ ครั้นรู้ว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไป ๒ ทางเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือพระพิมายคนเดิม จึงจัดกองทัพเปน ๒ ทัพ ทัพ ๑ ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับพระมหามนตรีสาลูกชายคนใหญ่ แลมองย่าพม่าปลัดทัพของสุกี้ซึ่งหนีไปอยู่ด้วย คุมมาตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ด่านจอหอเหนือเมืองนครราชสิมา อิกทัพ ๑ ให้พระยาวรวงศาธิราชลูกคนเล็กของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเปนคนเข้มแขงการศึกสงคราม คุมมาตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ด่านกะโทก ข้างใต้เมืองนครราชสิมา.

พระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพไปถึงด่านจอหอเห็นข้าศึกตั้งสกัดอยู่ ก็ให้กองทัพเข้าตีค่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้ค่ายข้าศึก จับได้ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กับพระมหามนตรีสาลูกชายแลมองย่าพม่า ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตรเสียทั้ง ๓ คน ฝ่ายกองทัพพระมหามนตรีกับพระราชรินทร์ยกขึ้นไปถึงด่านกะโทกก็เข้าตีค่ายข้าศึก พระยาวรวงศาธิราชต่อสู้แขงแรง ต้องรบกันหลายวันจึงตีค่ายด่านกะโทกได้ พระยาวรวงศาธิราชก็หนีลงไปเมืองเสียมราฐในแดนกรุงกัมพูชา.

ฝ่ายเจ้าพิมายรู้ว่ากองทัพกรุงธนบุรีตีด่านจอหอแลด่านกะโทกได้ก็ไม่คิดที่จะต่อสู้ต่อไป จึงพาครอบครัวหนีออกจากเมืองพิมาย หมายจะไปอาไศรยเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่เมืองเวียงจันทร์ ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสิมา ทำนองจะเปนพรรคพวกของพระยานครราชสิมาคนที่เจ้าพิมายฆ่าเสียนั้น รับอาสาคุมสมัคพรรคพวกติดตามไปจับเจ้าพิมายได้ เอาตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ๆ จึงทรงตั้งขุนชนะให้เปนพระยานครราชสิมา แล้วเลิกทัพกลับคืนมาพระนคร ปูนบำเหน็จนายทัพนายกองที่มีความชอบในการสงครามครั้งนั้น พระราชรินทร์ผู้พี่ได้เลื่อนเปนพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระมหามนตรีผู้น้องก็ได้เลื่อนเปนพระยาอนุชิตราชา ตำแหน่งจางวางพระตำรวจทั้ง ๒ คน ส่วนเจ้าพิมายนั้นเดิมพระเจ้ากรุงธนบุรีหมายจะเลี้ยงไว้ ด้วยเห็นว่ามิได้มีความผิดต่อพระองค์ ครั้นให้พาตัวเข้าไปเฝ้า เจ้าพิมายแสดงกิริยาอาการกระด้างกระเดื่องโดยขัติยมานะไม่ยอมอ่อนน้อม พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตรัสประภาษว่า “ตัวหาบุญวาศนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอิก เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิดอย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างน่าอิกเลย” แล้วจึงตรัสสั่งให้เอาเจ้าพิมายไปสำเร็จโทษเสีย

ในปลายปีชวด พ.ศ. ๒๓๑๑ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองนครราชสิมา ขยายอาณาเขตรทางทิศตวันออกได้บริบูรณ์เหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่าแล้ว ก็ให้เตรียมทัพที่จะให้ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ในต้นปีฉลู พ.ศ. ๒๓๑๒ แต่เมืองจันทบุรีมีใบบอกเข้ามาว่า ได้ข่าวว่าญวนยกกองทัพเรือขึ้นมาที่เมืองบันทายมาศ เล่าฦๅกันว่าจะเข้ามาตีกรุงธน ฯ พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้พระไทยจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง ๔ ทาง แลให้พระยาพิไชยนายทหารจีนข้าหลวงเดิมเลื่อนขึ้นเปนพระยาโกษาธิบดี บังคับการรักษาปากน้ำ แต่ไม่ช้าก็ได้ความว่า กองทัพญวนหาได้ตั้งใจจะมาตีเมืองไทยไม่ ที่ยกมาครั้งนั้นเหตุด้วยในกรุงกัมพูชานักองค์นนท์ ซึ่งเปนพระรามราชาชิงราชสมบัติกับนักองค์ตน ซึ่งเปนสมเด็จพระนารายน์ราชา เจ้ากรุงกัมพูชา ๆ ขอกำลังญวนมาช่วย พระรามราชาสู้ไม่ได้ก็หนีเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอให้ช่วยป้องกันฉันเปนข้าขอบขัณฑสิมาเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่า ขณะนั้นพอกองทัพที่เตรียมจะไปตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมเสร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาจักรี คือที่เปนหลวงนายศักดิ์ครั้งกรุงเก่าแลเปนเชื้อแขก เปนแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ แลพระยาเพ็ชรบุรี เปนนายกองคุมทัพบกมีจำนวนพล ๕,๐๐๐ ยกลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ (ราวเดือน ๕) ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๑๒ แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้มีศุภอักษรลงไปยังองค์สมเด็จพระนารายน์ราชาว่า เดี๋ยวนี้กรุงศรีอยุทธยากลับตั้งเปนปรกติเหมือนแต่ก่อนแล้ว ให้กรุงกัมพูชาส่งต้นไม้ทองเงินกับเครื่องราขบรรณาการเข้ามาถวายตามประเพณีดังแต่ก่อน สมเด็จพระนารายน์ราชาตอบมาว่า พระเจ้ากรุงธนมิใช่เชื้อพระวงศ์ของสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชซึ่งครองกรุงศรีอยุทธยา หายอมถวายต้นไม้ทองเงินไม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขัดเคือง จึงมีรับสั่งให้จัดกองทัพยกไปเมืองเขมรอิก ๒ ทัพ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับพระยาอนุชิตราชาคุมพล ๒,๐๐๐ ยกไปทางเมืองนครราชสิมา ลงช่องเขาทางช่องเสม็ด ไปตีเมืองเสียมราฐทาง ๑ ให้พระยาโกษาธิบดีคุมพล ๒,๐๐๐ ยกไปทางเมืองปราจิณบุรี ไปตีเมืองพระตะบองอิกทาง ๑ กองทัพทั้ง ๒ นี้ทำนองจะได้กระแสรับสั่งไปว่า เมื่อตีเมืองพระตะบองเสียมราฐได้แล้ว ถ้าสมเด็จพระนารายน์ราชาดื้อดึงไม่อ่อนน้อม ก็ให้ยึดเมืองทั้ง ๒ นั้นไว้รอกองทัพหลวงเสด็จยกตามลงไปตีกรุงกัมพูชาในระดูแล้ง ด้วยเวลานั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีประสงค์จะรอฟังการตีเมืองนครศรีธรรมราชก่อน.

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรียกลงไปถึงเมืองชุมพรเมืองไชยา พวกกรมการเก่าก็เข้ามาอ่อนน้อมโดยดีไม่ต้องรบพุ่ง แต่ข้าราชการที่เปนแม่ทัพใหญ่กับนายกองที่ยกไปคราวนั้นไม่เปนสามัคคีกัน ครั้นยกเข้าไปในแดนเมืองนครศรีธรรมราช ข้ามแม่น้ำหลวงไปถึงทำหมากแขวงอำเภอลำพูนพบข้าศึกตั้งค่ายสกัดอยู่ กองทัพกรุงธนบุรีเข้าตีค่ายไม่พรักพร้อมกันก็เสียทีข้าศึก พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาเพ็ชรบุรี ตายในที่รบ แลข้าศึกจับหลวงลักษมานาบุตรเจ้าพระยาจักรีไปได้ เจ้าพระยาจักรีก็ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา พระยายมราชมีใบบอกกล่าวโทษเจ้าพระยาจักรีเข้ามาว่ามิเปนใจด้วยราชการ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบทรงพระดำริห์เห็นว่าลำพังกองทัพข้าราชการเห็นจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ ขณะนั้นกองทัพหลวงที่จะเสด็จไปตีกรุงกัมพูชาเห็นจะได้ลงมือตระเตรียมอยู่แล้ว พอได้ข่าวเข้ามาถึงกรุงธนบุรีว่ากองทัพไทยตีได้เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริห์เห็นว่า โอกาศที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในระดูฝน มีเวลาพอที่จะทำการสงครามทางเมืองนครศรีธรรมราชให้เสร็จทันในระดูแล้ง ที่กำหนดว่าจะเสด็จไปตีกรุงกัมพูชาได้ จึงเสด็จโดยกระบวนเรือออกจากกรุงธนบุรี เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู พร้อมด้วยกองทัพหลวงมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช กระบวนทัพหลวงไปถูกพายุที่บางทลุแขวงเมืองเพ็ชรบุรี ต้องหยุดพักซ่อมแซมเรือกองทัพเสียคราวหนึ่ง ๑ แล้วจึงยกไปถึงเมืองไชยา มีรับสั่งให้รวบรวมพลจัดกองทัพบกให้พระยายมราชเปนกองน่า ให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิไชยราชาคุมกองทัพหลวงยกลงไปทาง ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกองทัพเรือลงไปทาง ๑ กำหนดให้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้ง ๒ ทาง ครั้งนั้นเจ้านครสำคัญว่ากองทัพกรุงธนบุรียกลงไปแต่ทางบกทางเดียวเหมือนคราวก่อน หาได้เตรียมต่อสู้กองทัพเรือไม่ กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีจู่ไปถึงปากพญา อันเปนปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ เจ้านครทราบก็ตกใจ รีบกะเกณฑ์ผู้คนให้อุปราชจันทร์ คุมลงมาตั้งค่ายคอยต่อสู้อยู่ที่ท่าโพธิ์ อันเปนท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช ห่างเมืองประมาณ ๓๐ เส้น พระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปตีค่ายท่าโพธิ์แตก จับอุปราชจันทร์ได้ เจ้านครก็สิ้นความคิดที่จะต่อสู้ จึงทิ้งเมืองพาญาติวงศ์หนีลงไปเมืองสงขลา พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรีซึ่งยกลงไปทางบก พระยายมราชกองน่าตีได้ค่ายข้าศึกที่ท่าหมากแล้วยกต่อลงไป พบค่ายข้าศึกตั้งอยู่ที่เขาหัวช้างอิกแห่ง ๑ ยังไม่ทันรบกันข้าศึกก็แตกหนี ด้วยได้ข่าวว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว เจ้าพระยาจักรียกกองทัพตรงเข้าไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ไปถึงภายหลังพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองได้ ๘ วัน พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ภาคทัณฑ์โทษที่มิได้ไปถึงทันกำหนด แลให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิไชยราชาคุมกองทัพบกทัพเรือลงไปตามจับเจ้านครแก้ตัว แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพหลวงจากเมืองนครฯ เมื่อณวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ตามลงไปยังเมืองสงขลา.

กองทัพเจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิไชยราชาลงไปถึงเมืองสงขลา ได้ความว่าพระยาพัทลุงกับหลวงสงขลาพาเจ้านครหนีลงไปข้างใต้ ก็ยกตามลงไปถึงเมืองเทพา อันเปนเมืองขึ้นของเมืองสงขลาอยู่ต่อกับแดนเมืองมลายู สืบถามได้ความว่าเจ้านครหนีลงไปอาไศรยพระยาปัตนีศรีสุลต่านอยู่ที่เมืองปัตนี เจ้าพระยาจักรีจึงมีศุภอักษรลงไปยังพระยาปัตนีว่า เจ้านครเปนสัตรูของพระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งให้มาติดตามเอาตัว ให้พระยาปัตนีส่งตัวเจ้านครกับพรรคพวกที่หนีไปอยู่ในแดนเมืองปัตนีมาถวายเสียโดยดี ถ้าไม่ส่งมาก็จะต้องยกกองทัพเข้าไปในแดนเมืองปัตนี เห็นว่าพระยาปัตนีจะได้ความเดือดร้อนเปล่า ๆ พระยาปัตนีมีความกลัวกองทัพไทยก็ให้จับเจ้านคร เจ้าพัดบุตรเขย กับเจ้ากลาง แลพระยาพัทลุง หลวงสงขลา ทั้งสมัคพรรคพวกส่งมายังกองทัพเจ้าพระยาจักรี ๆ ก็เลิกทัพกลับมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองสงขลา พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดการเมืองสงขลาแลเมืองพัทลุงเรียบร้อยแล้วก็เสด็จกลับมายังเมืองนครศรีธรรมราช มาถึงเมื่อณวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๒ ค่ำ พอมรสุมลงทางชายทเลปักษ์ใต้ ลมกล้าคลื่นใหญ่ ฝนก็ตกชุก จะเสด็จกลับกรุงธนบุรียังไม่ได้ จึงต้องยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ให้กองทัพช่วยกันทำการปฏิสังขรณ์พระอารามมีวัดมหาธาตุเปนต้น จนตลอดเวลามรสุม ส่วนเจ้านครนั้นลูกขุนปฤกษาว่าโทษถึงสิ้นชีวิตร แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นชอบด้วย ดำรัสว่าเวลาบ้านแตกเมืองเสีย ต่างคนต่างตั้งตัวหมายจะเปนใหญ่ด้วยกัน เจ้านครยังไม่เคยเปนข้ามาแต่ก่อนที่รบพุ่งต่อสู้จะเอาเปนความผิดไม่ได้ ครั้นจับตัวมาได้เจ้านครก็อ่อนน้อมยอมจะเปนข้าโดยดี ควรเอาตัวเข้าไปไว้รับราชการที่ในกรุง ฯ ต่อไป พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงเดือน ๔ ปีฉลู ครั้นสิ้นมรสุมแล้วจึงทรงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช แล้วให้เลิกทัพกลับคืนมาพระนคร.

ฝ่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาตีเมืองเสียมราฐได้เมื่อต้นระดูฝน สมเด็จพระนารายน์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชาให้ออกญากลาโหม ชื่อปาง คุมกองทัพเขมรยกมาตีเมืองเสียมราฐคืน พระยาทั้ง ๒ ก็ตีกองทัพเขมรแตกยับเยิน ออกญากลาโหมปางตายในที่รบ แต่นั้นเขมรก็ไม่กล้ามารบกวน ครั้นพระยาทั้ง ๒ ได้รับท้องตราว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในระดูฝน ถึงระดูแล้งจะเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปตีกรุงกัมพูชา ก็ตั้งรอคอยกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ครั้นถึงระดูแล้งไม่ได้ยินข่าวว่ากองทัพหลวงยกไปก็แคลงใจ เพราะไม่ทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชเสด็จกลับมายังไม่ได้ ฝ่ายที่ในกรุงธนบุรีได้ทราบกันอยู่แต่ก่อนว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่เดือน ๑๐ ครั้นเห็นหายไปไม่เสด็จกลับมาหลายเดือนก็เกิดฦๅกันขึ้นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปสิ้นพระชนม์เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช กิติศัพท์ทราบออกไปถึงพระยาทั้ง ๒ ก็ตกใจ เกรงจะเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี จึงปฤกษากันให้เลิกทัพกลับมาทางเมืองนครราชสิมา ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง ทราบว่าพระยาทั้ง ๒ เลิกทัพกลับมาจากเมืองเสียมราฐ จะอยู่แต่ทัพเดียวก็เกรงเขมรจะยกทุ่มเทมาทำร้าย จึงถอยทัพกลับมาเมืองปราจิณบุรีบ้าง แล้วมีใบบอกกล่าวโทษเข้ามายังกรุงธนบุรีว่าพระยาทั้ง ๒ หนีตาทัพ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับมาถึงพระนคร ได้ทราบความตามใบบอกพระยาโกษาธิบดีก็ทรงขัดเคือง ฝ่ายพระยาทั้ง ๒ ยกกองทัพกลับมา พระยาอนุชิตราชามาถึงเมืองลพบุรีก่อน พระยาอภัยรณฤทธิ์ยังอยู่ที่เมืองนครราชสิมา พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ข้าหลวงไปหาตัวพระยาอนุชิตราชาเข้ามาเฝ้า แล้วมีพระกระทู้ถามว่า ให้ไปทัพยังมิได้มีตราให้หา เหตุใดจึงยกกองทัพกลับมาโดยอำเภอใจ พระยาอนุชิตราชาก็กราบทูลความตามจริงว่า รอคอยกองทัพหลวงไม่เห็นยกออกไปตามกำหนด แล้วได้เข้าเล่าฦๅออกไปว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราชก็ตกใจ เกรงว่าจะมีข้าศึกสัตรูมาย่ำยีพระนคร จึงปฤกษากันยกกลับมาหวังว่าจะรักษาแผ่นดินไว้ไม่ยอมเปนข้าผู้อื่น พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังก็หายกริ้ว ตรัสสรรเสริญว่าสัตย์ซื่อสมควรแล้ว แล้วจึงรับสั่งให้หากองทัพพระยาโกษาธิบดีกับกองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์กลับคืนมาพระนคร การที่จะตีกรุงกัมพูชานั้นให้ระงับไว้ก่อน

ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังทรงปรารภที่จะตีหัวเมืองเหนือ พอได้ข่าวลงมาถึงกรุงธนบุรีว่า เมื่อเดือน ๖ ปีขาล เจ้าพระฝางให้กองทัพลงมาลาดตระเวนถึงเมืองอุไทยธานีแลเมืองไชยนาท เปนทำนองจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีหัวเมืองเหนือในปีขาลนั้น ขณะนั้น (ฮอลันดา) เมืองยะกะตราส่งปืนใหญ่มาถวาย แลแขกเมืองตรังกานูก็เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย ๒,๐๐๐ กระบอก พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จโดยกระบวนทัพเรือ ยกออกจากพระนครเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๑๔ ค่ำ จะไปประชุมพลที่เมืองนครสวรรค์ฤๅเมืองไหนหาปรากฎไม่ ปรากฎแต่ว่ากระบวนทัพที่ยกขึ้นไปตีหัวเมืองเหนือคราวนี้จัดเปน ๓ ทัพ ทัพที่ ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนเรือเปนทัพหลวง จำนวนพล ๑๒,๐๐๐ เวลานั้นพระยายมราชที่เคยเปนนายทัพคราวตีเมืองนครศรีธรรมราชถึงอสัญกรรม พระยาอนุชิตราชา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ได้เลื่อนขึ้นเปนพระยายมราช ถือพล ๕,๐๐๐ เปนทัพที่ ๒ ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตวันออกลำน้ำแควใหญ่ พระยาพิไชยราชา ถือพล ๕,๐๐๐ เปนทัพที่ ๓ ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตวันตก.

ฝ่ายเจ้าพระฝางทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไป จึงให้หลวงโกษายัง ซึ่งเคยเปนนายทัพมารบกับพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ตำบลเกยไชย เมื่อครั้งยังเปนนายทหารของเจ้าพิศณุโลกเรืองนั้น คุมกองทัพลงมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิศณุโลก กองทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกขึ้นไปถึงเมืองพิศณุโลกเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๒ ค่ำ มีรับสั่งให้ปล้นเมืองในค่ำวันนั้นก็ได้เมืองพิศณุโลก หลวงโกษายังหนีออกจากเมืองไปรวบรวมพลตั้งค่ายหมายจะคอยต่อสู้อยู่ที่บ้านกะโทก แต่ไพร่พลแตกหนีกระจัดกระจายไปเสียมาก หลวงโกษายังเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งค่ายหนีกลับขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองพิศณุโลกแล้วกองทัพบกยังยกขึ้นไปไม่ถึงทั้ง ๒ ทัพ ด้วยเปนระดูฝนหนทางบกเดินลำบาก จึงประทับรออยู่ที่เมืองพิศณุโลก ๙ วัน กองทัพพระยายมราชจึงขึ้นไปถึง ต่อมาอิก ๒ วันกองทัพพระยาพิไชยราชาก็ขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้จ่ายเสบียงอาหารแล้ว ให้กองทัพบกรีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีพร้อมกันทั้ง ๒ ทาง แต่กองทัพเรือยังไม่ยกขึ้นไป ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่าเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อขึ้นไปลำน้ำแคบตลิ่งสูงทั้ง ๒ ฟาก ถ้าข้าศึกมาดักทาง ทัพเรือจะรบพุ่งยังเสียเปรียบ แต่ดำรัสว่าไม่ช้าดอกน้ำเหนือคงหลากมา คงได้ยกขึ้นไปตามกัน พอสองสามวันน้ำก็หลากดังทรงพยากรณ์ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพขึ้นไปจากเมืองพิศณุโลก.

ฝ่ายกองทัพพระยายมราช พระยาพิไชยราชา ยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็เข้าล้อมเมืองไว้ พวกชาวเมืองเห็นกองทัพกรุงธนบุรีมีกำลังสามารถ ฤทธิ์เดชของเจ้าพระฝางต้านทานไม่ไหว ก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าหาญดังแต่ก่อน เจ้าพระฝางเห็นเหลือกำลังที่จะรบพุ่งเอาไชยชนะก็ได้แต่รักษาเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นช้างของเจ้าพระฝางตกลูกเปนช้างพังเผือกตัว ๑ เจ้าพระฝางคิดเห็นว่าช้างเผือกเกิดขึ้นในเวลาข้าศึกล้อมเมือง เปนของเกิดสำหรับบุญบารมีข้าศึกก็ยิ่งท้อใจ ต่อสู้อยู่ได้ ๓ วันก็พาสมัคพรรคพวกยกออกจากเมืองในเวลากลางคืน ตีหักหนีไปข้างทิศเหนือ กองทัพติดตามหาได้ตัวเจ้าพระฝางไม่ ได้แต่ช้างเผือกมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี.

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีได้หัวเมืองเหนือแล้ว ก็ได้เมืองขึ้นของกรุงศรีอยุทธยาไว้ในราชอาณาเขตรทั้งหมด ยังขาดแต่เมืองตนาวศรี แลเมืองมฤทที่ตกอยู่กับพม่า กับกรุงกัมพูชาแลเมืองมลายูประเทศราชยังตั้งแขงเมืองอยู่ พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับจัดการปกครองหัวเมืองเหนืออยู่ตลอดระดูน้ำ ให้เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซนให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แล้วสำรวจจำนวนไพร่พลเมืองเหนือทั้งปวง เมืองพิศณุโลกมีพลเมือง ๑๕,๐๐๐ คน เมืองสวรรคโลกมี ๗,๐๐๐ คน เมืองพิไชย (รวมทั้งเมืองสวางคบุรี) มี ๙,๐๐๐ คน เมืองศุโขไทยมี ๕,๐๐๐ คน เมืองกำแพงเพ็ชรกับเมืองนครสวรรค์มีเมืองละ ๓,๐๐๐ คนเศษ จึงทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้น คือพระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ให้เปนเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลก๑๐ ให้พระยาพิไชยราชาเปนเจ้าพระยา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก ให้พระยาสีหราชเดโชไชยเปนพระยาพิไชย ให้พระยาท้ายน้ำเปนพระยาศุโขไทย ให้พระยาสุรบดินทรเมืองไชยนาทเปนพระยากำแพงเพ็ชร ให้พระยาอนุรักษ์ภูธรเปนพระยานครสวรรค์ แลเจ้าพระยาจักรีแขกนั้นอ่อนแอในการสงครามครั้งนั้น มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก คงเปนแต่เจ้าพระยาจักรี แล้วทรงตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์) เปนพระยายมราช แลให้บัญชาการมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย ครั้นจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้วจึงเสด็จกลับลงมายังกรุงธนบุรี.

ในเวลานั้นพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่ พระเจ้าอังวะตั้งให้อภัยคามณีซึ่งได้เลื่อนยศขึ้นเปนโปมะยุง่วน๑๑ เปนเจ้าเมืองเชียงใหม่มาแต่กรุงเก่ายังไม่เสีย เมื่อกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางจะได้ให้ไปขอกำลังเมืองเชียงใหม่มาช่วยฤๅมิฉนั้นเห็นจะมีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนได้ท่วงทีที่จะแผ่อาณาเขตรต่อลงมา เพราะไทยพวกเมืองสวางคบุรีไปเข้าด้วย จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลกเมื่อเดือน ๓ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓ ขณะนั้นเจ้าพระยาพิไชยราชาเพิ่งไปอยู่เมืองสวรรคโลกยังไม่ถึง ๓ เดือน กำลังรี้พลยังมีน้อย แต่เมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการสร้างไว้แต่โบราณมั่นคง เจ้าพระยาพิไชยราชาจึงรักษาเมืองมั่นไว้ แล้วบอกหัวเมืองใกล้เคียงขอกำลังไปช่วยรบพม่า ทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองสวรรคโลกคราวนั้นเปนแม่ทัพพม่าเมืองเชียงใหม่รี้พลเปนคนพื้นเมืองโดยมาก เปนแต่พม่าควบคุมมา เห็นพวกชาวเมืองสวรรคโลกไม่สู้ก็ล้อมเมืองไว้ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาพิไชย พระยาศุโขไทย ยกกองทัพไปถึงเข้าตีกระหนาบ กองทัพพม่าก็แตกพ่ายหนีไปหมด ในคราวนี้หาต้องร้อนถึงกองทัพกรุงธนบุรีไม่.

  1. ๑. เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทร์เปนขบถ ตีได้เมืองนครราชสิมา กองทัพครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็เดิน ๒ ทางนี้เหมือนกัน.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าด่านขุนทด ๆ อยู่เหนือด่านจอหอขึ้นไป มิใช่ทางเดินทัพครั้งนั้น อนึ่งเมื่อพระยาวงศาธิราชเสียค่ายหนีไปเมืองเสียมราฐเช่นนี้ต้องอยู่ทางทิศใต้ จึงเห็นว่าต้องมีด่านกะโทกจึงจะถูกแผนที่

  3. ๓. คำดำรัสนี้คัดมาจากหนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา

  4. ๔. เรื่องพงษาวดารตอนพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราช มีเรื่องสงครามทางเมืองเขมรเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน รายการในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียบเรียงไม่ยุติต้องกับระยะเวลา ความที่กล่าวต่อไปนี้ได้แก้ไขรายการให้เข้ากับระยะเวลา จึงผิดกับหนังสือพระราชพงษาวดารไปบ้าง.

  5. ๕. ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกนักองค์โนน แต่ในหนังสือราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาเรียกนักองค์นนท์.

  6. ๖. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระยาทั้ง ๒ แต่เมื่อยังเปนพระมหามนตรีแลพระราชรินทร์ ยกตามพระยาวรวงศาธิราชไปตีเมืองเสียมราฐครั้ง ๑ แล้ว ครั้งนี้ยกไปตีเปนครั้งที่ ๒ พงษาวดารกรุงกัมพูชาว่าตีครั้งนี้เปนครั้งแรก ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นจะให้พระยาทั้ง ๒ ตั้งจัดการเมืองนครราชสิมาอยู่ ด้วยเพิ่งตีได้ใหม่ รับสั่งให้ตีเมืองเสียมราฐคราวนี้เปนคราวแรก จึงยกไปจากเมืองนครราชสิมา.

  7. ๗. อุปราชจันทร์นี้ เปนบุตรของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ แลเปนหลานเขยของเจ้านคร เดิมเปนที่หลวงนายฤทธิ์ในกรุงเก่า ครั้นกรุงเสียหนีลงไปอยู่กับเจ้านครจึงได้เปนอุปราช ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ ได้เปนที่เจ้าพระยาสุรินทราชา เปนต้นสกุลจันทโรจวงศ์

  8. ๘. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระนารายน์ราชายกทัพเรือมา ได้รนกันในทเลสาบยังไม่แพ้ชนะกัน ในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาว่า ให้กองทัพมาตีเมืองเสียมราฐแล้วก็แตกกลับไป เห็นว่าตรงด้วยรายการ.

  9. ๙. การถวายเครื่องสาตราวุธอย่างนี้ ที่จริงเปนการขายโดยทางอ้อม เพราะเมื่อทรงรับไว้แล้วเปนประเพณีที่ต้องพระราชทานของตอบแทนถึงราคาของถวาย พระราชทานงาช้างบ้าง ดีบุกบ้าง ฝางบ้าง คิดตามราคาซื้อขายในประเทศนี้ ผู้ถวายของได้กำไรทั้งในราคาของที่ลงทุนซื้อมาถวาย แลในราคาของพระราชทานตอบแทน เมื่อเอาไปขายประเทศอื่น ด้วยเหตุนี้พวกพ่อค้าทราบว่าต้องพระราชประสงค์สิ่งใดจึงพอใจหามาถวาย.

  10. ๑๐. ผู้สำเร็จราชการเมืองเอก คือเจ้าพระยาพิศณุโลกแลเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่ก่อนมียศสูงกว่าเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์.

  11. ๑๑. โปมะยุง่วนคนนี้ในหนังสือเก่าเรียกชื่อหลายอย่าง ที่จริงเดิมเปนที่อภัยคามณี เรียกกันว่าอาปรกามณีก็มี ครั้นเมื่อเลื่อนยศเปนมะยิหวุ่น เรียกกันว่ามะยิหวุ่นก็มี เอาคำโบ อันแปลว่านายทัพต่อเข้าข้างหน้าชื่อ เรียกโบมะยิหวุ่นจึงกลายเปนโปมะยุง่วนก็มี ข้าพเจ้าเรียกโปมะยุง่วนให้ตรงกับหนังสือพระราชพงษาวดาร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ