เรื่องตีเมืองเชียงตุงเมื่อปีฉลู

เมื่อกองทัพไทยถอยมาจากเมืองเชียงตุงแล้ว มีจดหมายเหตุปรากฎว่ามีท้องตราขึ้นไปจากกรุงเทพ ฯ ติเตียนแม่ทัพที่ไปทำการไม่สำเร็จ ให้เชิญเสด็จกรมหลวงวงศา ฯ กลับลงมากรุงเทพ ฯ มาปฤกษาการศึกที่จะทำต่อไป ทางโน้นให้เจ้าพระยายมราชบัญชาการแทน ให้ไปตั้งบัญชาการอยู่ที่เมืองอุตรดิฐ กรมหลวงวงศา ฯ ตอบลงมาว่า ถ้าจะโปรดให้เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ ขอให้ผู้อื่นขึ้นไปเปนแม่ทัพใหญ่ เปลี่ยนพระองค์ให้ขาดจากตำแหน่งเสียทีเดียว ถ้าจะโปรดให้ทำการแก้พระองค์ต่อไป ขอพักค้างระดูฝนอยู่ข้างเหนือ จะจัดการตีเมืองเชียงตุงในระดูแล้งปลายปีฉลูอิกครั้งหนึ่ง ข้อพระดำริห์ที่จะทรงจัดการใหม่นั้น ปรากฎในจดหมายเหตุว่า.

๑. ขอกำลังคนหัวเมืองชั้นในเพิ่มเติมขึ้นไปอิกให้มากกว่าเก่าสักเท่า ๑.

๒. ขอปืนใหญ่ขนาดเขื่องเพิ่มขึ้นไป ทั้งกระสุนแตกแลดินดำให้พอการ.

๓. ขอให้เกณฑ์พวกลาวพุงขาว ตั้งแต่เมืองอุบลขึ้นไปจนเมืองหลวงพระบางเพิ่มเติมมา (ใช้เปนพวกหาบหาม).

๔. จะเปลี่ยนที่ประชุมทัพมาตั้งที่เมืองราย แล้วสะสมเสบียงอาหารไว้พอใช้ราชการทัพแต่ก่อนยกขึ้นไป.

๕. พอเดือน ๓ ปีฉลูจะยกกลับขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง ให้ได้มีเวลารบพุ่งในฤดูแล้งนานกว่าคราวก่อน.

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์กับเสนาบดี เห็นว่าควรให้กรมหลวงวงศา ฯ ทรงบัญชาการต่อไป จึงโปรดให้เสด็จลงมาพักค้างระดูฝนอยู่ที่เมืองอุตรดิฐ แล้วโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมขึ้นไปปฤกษาหาฤๅราชการทัพกับกรมหลวงวงศา ฯ ที่เมืองอุตรดิฐ ส่วนเจ้าพระยายมราชนั้นปรากฎว่ามารดาป่วยหนัก โปรดให้กลับลงมารักษาพยาบาลมารดาคราวหนึ่ง พอแล้งจึงกลับขึ้นไปอิก.

เรื่องราวที่กรมหลวงวงศา ฯ เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงครั้งที่ ๒ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ รายการจะอย่างไรยังไม่พบสำเนาใบบอกแลท้องตราเหมือนเรื่องที่ยกไปคราวปีชวด แต่ได้เห็นจดหมายเหตุเรื่องอื่นพอทราบเรื่องราวเปนเค้าเงื่อนได้ ว่าข้อที่กรมหลวงวงศาฯ ทรงขอผู้คนแลเครื่องสาตราวุธเพิ่มเติมไปจากกรุงเทพฯ นั้น ได้รี้พลคนหัวเมืองชั้นใน กับทั้งปืนใหญ่ปืนครกแลกระสุนดินดำส่งเพิ่มเติมขึ้นไป แต่เห็นจะได้ไม่เท่าจำนวนที่ขอ ข้อที่จะขอเกณฑ์คนตั้งแต่เมืองอุบลจนถึงเมืองหลวงพระบางมาใช้นั้น ไม่โปรดอนุญาต แต่เมืองเชียงรุ้งรับอาศาจะส่งเสบียงอาหารมาให้ถึงแดนเมืองเชียงตุงอิกทาง ๑ กำลังผู้คนแลพาหนะต้องเกณฑ์ในมณฑลพายัพเปนพื้นเหมือนเมื่อคราวก่อน.

พอสิ้นระดูฝนกรมหลวงวงศาฯ ก็เสด็จขึ้นไปจากเมืองอุตรดิฐ ไปเตรียมกองทัพที่เมืองน่าน เจ้าพระยายมราชก็กลับขึ้นไปเตรียมกองทัพที่เมืองเชียงใหม่ กำหนดจะขึ้นไปประชุมทัพพร้อมกันที่เมืองเชียงรายในต้นเดือน ๓ แต่การเกณฑ์ทัพคราวนี้ขัดข้องมาก ไม่สดวกเหมือนคราวก่อน ทำนองจะเปนด้วยผู้คนเคยไปลำบากมาแล้ว ครั้นมาถูกเกณฑ์ซ้ำเปนคราวที่ ๒ ก็เบื่อหน่ายพากันหลีกเลี่ยงไม่จะใคร่จะได้ตัวคน กองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ได้ยกจากเมืองน่านเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ เดินทาง ๒๑ วันจึงไปถึงเมืองเชียงราย กองทัพหลวงไปถึงเมืองเชียงรายแล้ว เสบียงพาหนะแลผู้คนซึ่งเกณฑ์ทางอื่นก็ยังไม่ได้พร้อมตามเกณฑ์ เจ้าพระยายมราชก็ยังเร่งรัดผู้คนอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ กรมหลวงวงศาฯ จึงต้องประทับรออยู่ที่เมืองเชียงรายเสียเวลาตอนนี้ถึงเดือน ๑ เพราะฉนั้นข้อที่หมายว่าจะได้มีเวลาทำการสงครามนานกว่าครั้งก่อน ก็เปนอันไม่สำเร็จเสียแต่ต้น กว่ากองทัพจะพร้อมกันที่เมืองเชียงราย เวลาล่วงเข้าไปจนถึงเดือน ๔ จึงได้ยกออกจากเมืองเชียงราย เมื่อวันพฤหัศบดีเดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖.

กองทัพยกไปตีเมืองเชียงตุงคราวปีฉลูนี้ จะเปนเพราะเหตุใดหาปรากฎไม่ แยกกันยกขึ้นไปเปน ๒ ทาง กองทัพเจ้าพระยายมราชยกขึ้นไปทางเมืองหัวโป่งทางหนึ่ง กรมหลวงวงศาฯ เสด็จไปทางเมืองยองทางหนึ่ง พอยกไปก็ลำบากไปแต่ต้นด้วยกันทั้ง ๒ ทัพ เพราะเตรียมจะขนเสบียงอาหารไปให้มาก มิให้อัตคัดเหมือนเมื่อคราวก่อน ทั้งเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ มีปืนใหญ่เปนต้นก็มีไปมากกว่าคราวก่อน แต่ส่วนช้างม้าพาหนะสำหรับจะบรรทุก ตลอดจนคนสำหรับจะหาบหามคราวนี้มีน้อยกว่าคราวก่อน เพราะช้างม้าไปเลื่อยล้าล้มตายเสียเมื่อคราวก่อน หาแทนใหม่ไม่ได้ทัน ทั้งคนในพื้นเมืองก็กะเกณฑ์ไม่ได้เต็มจำนวน กองทัพที่ยกไปจึงต้องเปนห่วงการลำเลียง ด้วยเสบียงอาหารแลเครื่องสาตราวุธขนตามไม่ทัน กองทัพก็ต้องรั้งรอไปทุกระยะ.

ฝ่ายข้างเมืองเชียงตุงสืบสวนรู้ความแต่ในระดูฝนว่าไทยจะยกกองทัพขึ้นไปอิกในระดูแล้งปลายปีฉลู แลในปีฉลูนั้นพระเจ้ามินดงได้ราชสมบัติเมืองพม่า เลิกการสงครามกับอังกฤษแล้ว เจ้าเมืองเชียงตุงบอกไปขอกองทัพพม่ามาช่วย พระเจ้ามินดงจึงให้กองทัพพม่ามีจำนวนพล ๓,๐๐๐ แต่ผู้ใดจะเปนนายทัพหาปรากฎชื่อไม่ มาเกณฑ์กองทัพพวกไทยใหญ่เข้าสมทบอิก ๖,๐๐๐ ยกมาช่วยเมืองเชียงตุง ส่วนเมืองเชียงตุงเองมีจำนวนพล ๗,๐๐๐ รวมทั้งสิ้นเปนจำนวนข้าศึกที่คอยต่อสู้กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปคราวนี้ประมาณ ๑๖,๐๐๐ จึงกล้าออกมาตั้งรักษาตามหัวเมืองหลายแห่ง.

กองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ยกขึ้นไปพอเข้าแดนเมืองเชียงตุงก็ได้รบกับข้าศึกขึ้นไปทุกระยะ แต่พวกพม่าสู้ไทยไม่ได้ต้องถอยหนีไปโดยลำดับ ถึงกระนั้นก็เปนเหตุถ่วงเวลากองทัพไทย จนเดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ กองทัพกรมหลวงวงศา ฯ จึงยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุง เมื่อณวันพุฒ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ กองทัพน่าเข้าไปตั้งถึงชานเมืองเหมือนคราวก่อน ส่วนกองทัพหลวงตั้งอยู่ที่เมืองเหล็ก ห่างเมืองเชียงตุงออกมาประมาณ ๑๒๐ เส้น รอกองทัพเจ้าพระยายมราชซึ่งยกขึ้นไปทางเมืองหัวโป่ง แต่ทางนั้นเปนทางกันดารยิ่งกว่าทางที่กรมหลวงวงศาฯ เสด็จไปหนทางเปนแต่ภูเขา ทั้งผู้คนแลช้างม้าพาหนะต้องเดินเรียงตัวกันไป เสบียงอาหารยิ่งขนส่งยาก กองทัพเจ้าพระยายมราชยกไปไม่ได้เท่าใดก็เกิดอัตคัด ต้องหยุดคอยเสบียงทุกระยะไป จึงไปไม่ถึงเมืองเชียงตุงทันกำหนด.

ฝ่ายกองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุงในเดือน ๖ พอเข้าระดูฝน กองทัพไปตั้งอยู่ไม่ได้กี่วันฝนตกหนักลงมา พวกเมืองเชียงตุงยกออกมารบหลายครั้ง กองทัพมีอาวุธดีกว่าพม่าก็ตีเอาต้องถอยกลับเข้าเมืองไปทุกที แต่ฝ่ายกองทัพไทยไม่สามารถจะบุกรุกติดตามเข้าไปตีเมืองเชียงตุงได้ ด้วยตั้งแต่ฝนตกชุกลงผู้คนในกองทัพพากันเจ็บป่วยเปนไข้บ้างเปนบิดบ้างตายวันหลายๆ คนไม่ขาด ที่เจ็บป่วยอยู่ก็มาก ซ้ำช้างแลโคต่างพาหนะกองทัพก็เกิดโรคระบาทว์ล้มตายลงด้วยการลำเลียงเสบียงอาหารก็เลยติดขัด ส่วนกองทัพเจ้าพระยายมราชก็ไปติดฝนอยู่กลางทาง ตามขึ้นไปยังไม่ถึง กรมหลวงวงศาฯ ตั้งติดเมืองเชียงตุงอยู่ได้ ๒๑ วัน ทรงพระดำริห์เห็นว่า ถ้ากองทัพตั้งรั้งรออยู่ที่เมืองเชียงตุงต่อไป เห็นจะเสียทีข้าศึก ด้วยกองทัพจะสิ้นทั้งกำลังทั้งเสบียงแลพาหนะ จะถอยกลับไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้ถอยกองทัพมาจากเมืองเชียงตุงเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ กองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ถอยลงมาคราวนี้ กำลังระดูฝน ทั้งผู้คนแลพาหนะก็ป่วยเจ็บซุดโซม จึงเสียทรัพย์สิ่งของแก่ข้าศึกหลายอย่าง ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยายมราชยกขึ้นไปได้สักครึ่งทาง ทราบว่ากองทัพกรมหลวงวงศา ฯ ถอยลงมาแล้ว เจ้าพระยายมราชก็ถอยกลับตามลงมา เปนเสร็จเรื่องรบพม่าที่เมืองเชียงตุงเพียงเท่านี้.

ฝ่ายทางเมืองเชียงรุ้งนั้น ปรากฎว่ากรมหลวงวงศา ฯ มีรับสั่งให้พระยาน่านขึ้นไปส่งครอบครัวถึงเมืองเชียงรุ้ง พวกชาวเมืองเชียงรุ้งก็อ่อนน้อม และต้อนรับโดยสุภาพ แลยังนับถือกรุงเทพ ฯ ตลอดมาจนในรัชกาลที่ ๕.

สงครามคราวรบพม่าที่เมืองเชียงตุงที่กล่าวมานี้เปนครั้งที่สุดที่ไทยกับพม่าได้ทำสงครามกัน แต่นั้นมาก็มิได้รบพุ่งกันอิก จนตราบเท่าพม่าเสียเมืองแก่อังกฤษ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ จำนวนสงครามที่ไทยได้รบกับพม่า เมื่อกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานีได้รบกัน ๒๔ ครั้ง ถึงครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานีได้รบกัน ๑๐ ครั้ง แลต่อมาถึงครั้งกรุงเทพ ฯ เปนราชธานี ได้รบกันอิก ๑๐ ครั้ง รวมการสงครามที่ไทยได้รบกับพม่าเปน ๔๔ ครั้ง ดังได้พรรณามาในหนังสือพงษาวดารเรื่องเรารบพม่าจบเพียงเท่านี้.

การแต่งหนังสือพงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ทั้งตอนต้นซึ่งว่าด้วยรบกันครั้งกรุงศรีอยุทธยา แลตอนหลังซึ่งว่าด้วยรบกันครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ ข้าพเจ้าได้อาไศรยความแนะนำอุดหนุนของท่านผู้อื่นหลายคน ที่ได้อาศรัยมาก คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ทรงช่วยเปนที่ปฤกษาหาฤๅเนืองนิจพระองค์ ๑ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ช่วยแนะนำสอบสวนในข้อความอันเกี่ยวด้วยกรุงศรีอยุทธยาคน ๑ พระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (เทียน สุพินทุ) ได้ช่วยชี้แจงที่เกี่ยวข้องด้วยพงษาวดารพม่าอิกคน ๑ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระคุณ แลขอบคุณเปนอันมาก.

  1. ๑. ชื่อเมืองนี้เรียกว่า หัวโขงก็มี.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ