- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ตอนที่ ๓
ฝ่ายกองทัพอังกฤษเมื่อตีได้เมืองร่างกุ้งแล้ว ไปติดชงักอยู่เพียงนั้นตอน ๑ เพราะเมื่อพม่าเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ให้ทำลายเสบียงอาหารแลกวาดต้อนผู้คนไปเสียจากเมืองหมด อังกฤษได้แต่เมืองเปล่า ก็ขัดสนเสบียงอาหาร ทั้งพอประจวบเข้าระดูฝน จะเดินกองทัพต่อขึ้นไปทางบกก็ไม่ได้ จะไปทางเรือก็ไม่มีพาหนะพอจะลำเลียงกองทัพไปทางแม่น้ำเอราวดี ทั้งพม่าให้กองทัพลงมาตั้งสกัดทางไว้ อังกฤษก็ได้แต่รักษาเมืองร่างกุ้งอยู่อย่างเดียว.
ในจดหมายเหตุอังกฤษความปรากฎว่า เซอร์อาชิบัลด์แคมป์เบลแม่ทัพอังกฤษรู้สึกต้องการกำลังกองทัพไทยไปช่วยในตอนเมื่อกองทัพอังกฤษไปติดขัดอยู่ที่เมืองร่างกุ้งตอนนี้ คงจะเปนด้วยคิดคาดการเห็นว่า พม่าจะเรียกกองทัพใหญ่ที่ไปตั้งอยู่เมืองยะไข่แลเมืองมณีบุระกลับมารบอังกฤษทางเมืองร่างกุ้งทั้ง ๒ ทัพ เกรงกำลังที่จะส่งเพิ่มเติมมาจากอินเดียจะมาไม่ทัน เซอร์อาชิบัลด์แคมป์เบล ไม่รู้ว่าจะพูดจาให้ถึงกับไทยได้อย่างไร จึงแต่งให้นายพันโทสะโนถือหนังสือลงมาถึงเจ้าเมืองเกาะหมาก ขอให้ช่วยเร่งรัดกองทัพไทยให้ยกไปช่วยโดยเร็ว ทางโน้นเซอร์อาชิบัลด์แคมป์เบล ให้ตระเตรียมกำลังทหารจะให้ลงมาตีหัวเมืองขึ้นพม่าที่อยู่ตามชายทเลจนเมืองทวายแลเมืองมฤท เพื่อประสงค์จะรวบรวมเสบียงอาหารแลพาหนะไปใช้ในการทัพ แต่รอรับอนุญาตของเจ้าเมืองบังกล่าอยู่ ยังหาได้ยกลงมาไม่.
นายพันโทสะโนลงมาถึงเกาะหมาก เมื่อเดือน ๑๐ ปีวอกปฤกษากับนายฟุลเลอตัน ซึ่งได้เปนเจ้าเมืองเกาะหมากแทนนายฟิลิปส์ เห็นว่าทางอย่างดีที่จะให้ได้กองทัพไทยไปช่วยนั้นจะต้องเข้ามาพูดจาให้ถึงรัฐบาลในกรุงเทพฯ แต่เจ้าเมืองเกาะหมากจะแต่งทูตเข้ามาเหมือนผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียไม่ได้ จึงทำหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังฉบับ ๑ ถึงเจ้าพระยานครฯ ฉบับ ๑ มอบให้นายพันโทสะโนถือไป.
ในหนังสือเจ้าเมืองเกาะหมากถึงเสนาบดีกรุงเทพฯ ความว่าไทยก็ได้ทราบอยู่แล้วว่าอังกฤษเกิดทำสงครามกับพม่า แลอังกฤษตีได้เมืองร่างกุ้งแล้ว เดี๋ยวนี้อังกฤษกำลังมาตีเมืองทวายแลเมืองมฤทต่อมาอิก เปนโอกาศดีมีขึ้นอิกแล้วที่ไทยควรจะไปช่วยปราบปรามพม่าด้วย รัฐบาลอังกฤษรบพุ่งกับพม่าครั้งนี้ ก็คือรบพุ่งกับสัตรูของไทย เพราะฉนั้นขอให้สั่งพนักงานที่รักษาด่านแดนให้ทราบว่า ทหารอังกฤษเปนมิตรของไทย แลทำการให้เปนประโยชน์แก่ไทยด้วย ขอให้ช่วยกำลังตามแต่นายทหารอังกฤษจะต้องการ แลหวังใจว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงพระราชดำริห์เห็นแล้ว ว่าถ้าให้กองทัพไทยอันเคยมีไชยชนะพม่ามาแต่ก่อนไปช่วยตีเมืองพม่าในเวลานี้ คงจะเปนประโยชน์อย่างแท้จริงแก่พระองค์.
ในหนังสือฉบับถึงเจ้าพระยานคร ฯ ความว่าเจ้าเมืองเกาะหมากคนก่อนได้มีจดหมายไปบอกให้ทราบ ว่าอังกฤษเกิดการสงครามกับพม่า แลอังกฤษตีเมืองร่างกุ้งได้แล้ว แลได้ให้นายร้อยโทโลไปชี้แจงเหตุการณ์อิกครั้ง ๑ ก็หาได้รับตอบของเจ้าพระยานครฯ อย่างใดไม่ ถึงกระนั้นเห็นสมควรจะแจ้งเหตุการณ์อันมีต่อมาให้เจ้าพระยานคร ฯ ทราบโดยทางไมตรี ด้วยทหารอังกฤษมีไชยชนะพม่า ป่านนี้เห็นจะตีได้เมืองทวายแลเมืองมฤทแล้ว ถึงโอกาศอิกครั้ง ๑ ที่ไทยจะได้เกียรติยศในการช่วยปราบปรามพม่าด้วย ที่อังกฤษรบพม่าก็คือรบสัตรูของไทย เพราะฉนั้นขอให้เจ้าพระยานคร ฯ ถือว่าทหารอังกฤษเปนมิตร ถ้าช่วยจัดหาเสบียงอาหารโคกระบือแลช้างม้าพาหนะ ส่งไปให้เปนกำลังอังกฤษ แลให้กองทัพไทยที่อยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยานคร ฯ ยกไปช่วยรบพม่าด้วย ก็จะเปนคุณประโยชน์แก่ไทยเปนอันมาก ในท้ายหนังสือว่า ได้ให้นายพันโทสะโน ซึ่งเปนขุนนางนายทหารผู้ใหญ่ถือหนังสือมา เพราะนายพันโทสะโนจะไปตีเมืองมฤท ถ้าแลนายพันโทสะโนจะมาพูดจาว่ากระไร ขอให้เชื่อถือเหมือนกับตัวเจ้าเมืองเกาะหมากจงทุกประการเทอญ.
นอกจากหนังสือถึงเสนาบดีในกรุงเทพฯ แลถึงเจ้าพระยานคร ฯ ที่กล่าวมาแล้ว เจ้าเมืองเกาะหมากยังทำหนังสือให้นายพันโทสะโน ถือไปถึงเจ้าเมืองกรมการไทยที่ต่อแดนเมืองทวายแลมฤทตะนาวศรี ความในจดหมายเปนแต่บอกว่าอังกฤษเปนมิตรกับไทย แลรบพม่าอันเปนสัตรูของไทย ถ้านายทหารอังกฤษมาถึงที่ติดต่อแดนไทย แลจะต้องการให้ช่วยเหลือด้วยประการอันใด ขอให้ผู้รักษาเมืองกรมการช่วยอุดหนุนด้วย แล้วเจ้าเมืองเกาะหมากให้นายร้อยโทโลไปช่วยนายพันโทสะโนด้วยอิกคน ๑ แลบอกความมายังครอเฟิดที่เมืองสิงคโปร์ให้คิดอ่านเร่งรัดไทยด้วยอิกทาง ๑.
ฝ่ายครอเฟิดที่เมืองสิงคโปร์ เมื่อเจ้าเมืองเกาะหมากบอกมาว่าแม่ทัพอังกฤษให้ช่วยเร่งกองทัพไทยให้ไปช่วยโดยเร็ว ขณะนั้นครอเฟิดยังไม่ทราบว่าในเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พอมีเรือกำปั่นอังกฤษจะเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๑๑ ปีวอก จึงมีหนังสือฝากพ่อค้าอังกฤษให้ถือมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสำคัญว่ายังเปนกรมหมื่นเจษฎาบดินทรอยู่อย่างแต่ก่อน ด้วยครอเฟิดได้คุ้นเคยเฝ้าแหนเมื่อเปนทูตเข้ามากรุงเทพฯ แลมีหนังสือถึงเจ้าพระยาพระคลังด้วยฉบับ ๑ แล้วส่งปืนคาบศิลาเข้ามาด้วย ๑,๐๐๐ กระบอก ว่าเปนบรรณาการของเจ้าเมืองบังกล่าส่งมาถวาย.
ความในหนังสือครอเฟิดถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นว่า ได้บอกให้เจ้าพระยาพระคลังทราบข่าวเรื่องอังกฤษรบกับพม่ามาแล้วหลายครั้ง บัดนี้มีข่าวที่ได้ทราบต่อมาในคราวหลัง ว่าแม่ทัพอังกฤษให้ลงมาตีเมืองเมาะตมะ เมืองทวาย แลเมืองมฤท กองทัพอังกฤษที่ยกลงมาทางหัวเมืองเหล่านี้คงจะเข้ามาใกล้กับแดนไทย แต่คงจะทำการตามที่ไทยประสงค์ แลระวังไม่ให้เสื่อมเสียประโยชน์ของไทยด้วย หวังว่าไทยคงจะเห็นกับไมตรี ไปช่วยปราบปรามพม่าอันเปนสัตรูของไทยแลของอังกฤษด้วยกัน ถ้าไทยตกลงจะรบพุ่งพม่าประการใด แลการที่ไทยได้จัดทำดำเนินไปประการใด ขอได้โปรดให้แจ้งความให้แม่ทัพอังกฤษทราบ แลให้เจ้าเมืองเกาะหมาก ฤๅครอเฟิดทราบด้วย จะได้เอาเปนธุระตามสมควรโดยทันที ทั้งจะได้แจ้งไปให้เจ้าเมืองบังกล่าทราบ ให้รู้สึกพระคุณแลทางไมตรีของไทยด้วย.
อนึ่งขอทูลให้ทรงทราบว่า พอสิ้นระดูฝนลงกองทัพอังกฤษจะได้กำลังเพิ่มเติมมาอิกมาก จะยกจากเมืองร่างกุ้งขึ้นไปตีเมืองอังวะทาง ๑ กองทัพทางอินเดียก็จะตีเมืองพม่าเข้ามาทางต่อแดนเมืองบังกล่าอิกทาง ๑ การสงครามเห็นจะเสร็จในระดูแล้งนี้เปนแน่.
กับว่าได้จัดส่งปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ กระบอก เปนของเจ้าเมืองบังกล่าส่งมาขอถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พอเปนเครื่องหมายความไว้วางใจแลทางไมตรีของอังกฤษ แลได้สั่งพวกพ่อค้าทั่วกันแล้ว ว่าถ้าต้องพระราชประสงค์เครื่องสาตราวุธอิกมากน้อยเท่าใด ให้จัดไปถวายให้พอพระราชประสงค์ หนังสือมาณวันที่ ๓ เดือนตุลาคม คฤศตศก ๑๘๒๔ (ตรงกับวัน ๖ ฯ๑๔ ๑๐ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗)
ความในหนังสือของครอเฟิดฉบับที่มีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังนั้น ว่าได้ให้พ่อค้าอังกฤษ ชื่อบิลลีส์ ถือหนังสือแลคุมปืนของถวายในนามของเจ้าเมืองบังกล่าเข้ากรุงเทพฯ ขอฝากฝังพ่อค้าคนนั้นด้วย อิกข้อ ๑ ขอแจ้งความให้ทราบว่า เดี๋ยวนี้อังกฤษได้ตกลงกันกับฮอลันดา ได้เกาะสิงคโปร์แลเมืองมะละกาเปนสิทธิ์ขาดของอังกฤษแล้ว แต่อังกฤษก็ยังคงงดภาษีอากร ไม่เก็บแก่เรือที่ไปมาค้าขายที่เมืองสิงคโปร์อยู่อย่างเดิม หวังใจว่าจะมีเรือเมืองไทยลงไปค้าขายมากขึ้น แลเรือกำปั่นหลวงจะลงไปอิก สิ้นเนื้อความในจดหมายของครอเฟิดเท่านี้.
ที่ข้าพเจ้าดรวจเก็บเนื้อความในจดหมายเหตุของอังกฤษมาแสดงในตอนนี้อยู่ข้างจะยืดยาว เพราะเห็นว่ามีข้อสำคัญที่จะต้องพิจารณาดูว่า ที่อังกฤษประสงค์จะให้ไทยไปช่วยรบพม่าในคราวนั้น ความได้รู้มาถึงไทยอย่างไร แลทำให้ไทยเข้าใจอย่างไร จะเห็นได้โดยเนื้อความที่ได้แสดงมา ว่าอังกฤษคิดประสงค์ตั้งแต่ก่อนประกาศการสงครามกับพม่า ที่จะใคร่ให้ไทยไปช่วยรบแต่รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียไม่รู้เค้าเงื่อนการงานในเมืองไทยว่าเปนอย่างไร ทางที่จะพูดจาให้ถึงไทยได้ในเวลานั้นก็ยาก มีแต่เจ้าเมืองเกาะหมากกับครอเฟิดเรสิเดนต์ที่เมืองสิงคโปร์ที่คุ้นเคยกับไทย จึงสั่งให้เจ้าเมืองเกาะหมากกับครอเฟิดมาชักชวนไทยไปช่วยรบพม่า แต่ทั้ง ๒ คนนั้นมัวระวังจะไม่ให้ไทยเร่งเรียกเอาประโยชน์ตอบแทนจากอังกฤษ ชั้นแรกอุบายบอกมาแต่ว่าเปนโอกาศแล้วที่ไทยจะรบพม่า โดยถือใจว่าเพราะไทยพยาบาทพม่าอยู่แล้ว เห็นโอกาศก็คงรบพม่าเอง ไม่ต้องเชื้อเชิญอย่างไร ส่วนเจ้าเมืองเกาะหมากยังแถมจะเรียกเอาประโยชน์ทางเมืองไทรด้วย ความไม่ได้ทราบถึงไทยว่ารัฐบาลอังกฤษประสงค์จะชักชวนไทยให้ไปช่วยอังกฤษรบพม่าโดยอย่างเปนสัมพันธมิตร ครั้นต่อมาเมื่อกองทัพอังกฤษมาติดชงักอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง แม่ทัพอังกฤษต้องการกำลังไทยไปช่วยยิ่งขึ้น ให้ลงมาเร่งเจ้าเมืองเกาะหมากแลครอเฟิด ทั้ง ๒ คนนั้นรู้สึกร้อนใจ จึงบอกขอให้ไทยไปช่วยอังกฤษรบพม่า แต่ก็ไม่พูดจามาให้ชัดเจน ส่วนเจ้าเมืองเกาะหมากยังแถมกะเกณฑ์ช้างม้าพาหนะเจ้าพระยานคร ฯ ไปให้อังกฤษใช้ด้วย ก็ไม่เปนทางที่จะทำให้ไทยไว้วางใจ ให้สำเร็จประโยชน์อย่างรัฐบาลอังกฤษต้องการ ถ้าหากว่าเมื่อเจ้าเมืองบังกล่าสั่งมาในคราวแรกก็ดี ฤๅเมื่อแม่ทัพอังกฤษให้ลงมาเร่งกองทัพไทยในตอนหลังก็ดี ครอเฟิดฤๅกรมการผู้ใหญ่ในเกาะหมากคนใดคนหนึ่งขึ้นมายังกรุงเทพฯ มาชี้แจงแก่รัฐบาลไทยให้ทราบ ว่ารัฐบาลอังกฤษขอให้กองทัพไทยไปช่วยรบพม่าอย่างเปนสัมพันธมิตร แลมีท่าทางที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างนั้น ๆ การก็เห็นจะตกลงตามทางที่พอใจ แลเปนประโยชน์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย.