ตอนที่ ๔

ที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องราวการสงคราม ตั้งแต่เมื่อไทยได้ทราบว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่าเปนแน่แล้วต่อไป พอเปลี่ยนรัชกาลแล้วไม่ช้า เข้าใจว่าเดือน ๙ ปีวอกนั้น ใบบอกหัวเมืองน่าด่านก็เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ได้ความประกอบกันหลายทาง ว่าพม่าเกิดรบกับอังกฤษเปนแน่ ความตอนนี้มีปรากฎในจดหมายลูกค้าอังกฤษคน ๑ ซึ่งเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๙ นั้น เขียนบอกไปยังพวกพ้องที่เมืองสิงคโปร์ ว่าเจ้าพระยาพระคลังได้เรียกตัวไปซักไซ้ถึงเรื่องอังกฤษรบกับพม่าหลายครั้ง เรียกไปกลางวันบ้างกลางคืนบ้าง ว่าถามคราว ๑ แล้วเจ้าพระยาพระคลังเข้าไปเฝ้ากราบทูล ฯ เสียที ๑ แล้วกลับมาซักอิก จนพ่อค้าคนนั้นไม่มีความข้อใดที่จะชี้แจงต่อไปได้ ลักษณะการซักไซ้ดังกล่าวนี้มิใช่อื่น คือถามคำให้การเอาความรู้เรื่องการสงคราม อย่างเดียวกับที่ปรากฎในเรื่องจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติในชั้นหลัง เห็นได้ว่าเวลานั้นในกรุงเทพฯ ทราบว่าเกิดรบกันเปนแน่แล้ว หนังสือครอเฟิดแลใบบอกเจ้าพระยานครฯ ที่ส่งมาเมื่อเดือน ๑๐ ก็เห็นจะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเวลากำลังปฤกษาราชการสงครามครั้งนั้น ยังไม่ได้ตกลงเปนยุติว่าฝ่ายไทยจะทำอย่างไร ฤๅได้ตกลงแล้วแต่ไม่ประสงค์จะให้แพร่งพราย จึงมิได้มีหนังสือตอบครอเฟิด เรือเหราข้ามสมุทลงไปเมืองสิงคโปร์เมื่อในเดือน ๑๑ ครอเฟิดได้รับแต่หนังสือเจ้าพระยาพระคลังฉบับเดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ที่ตกค้างอยู่กรุงเทพฯ ๓ เดือน ดังกล่าวมาแล้ว กับหนังสือของฝรั่งโปรตุเกศคน ๑ เขียนเมื่อเดือน ๘ เหมือนกัน บอกไปให้ครอเฟิดทราบว่าที่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนรัชกาลใหม่ แลว่าไทยไม่เชื่อความที่ครอเฟิดบอกมาว่าอังกฤษเกิดรบกับพม่า หนังสือลูกค้าอังกฤษที่บอกไปว่าถูกไทยซักไซ้เรื่องสงคราม เขียนเมื่อเดือน ๑๐ ก็ส่งไปพร้อมกันในคราวนี้ เพราะในสมัยนั้นนานา จึงจะมีเรือลงไปสิงคโปร์สักครั้ง ๑ นายห้างเอาหนังสือนั้นไปแจ้งแก่ครอเฟิดๆ ก็คาดว่าไทยคงจะรบพม่า จึงบอกไปไห้รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียทราบ ว่าที่ในเมืองไทยเปลี่ยนรัชกาลใหม่ แลเห็นจะรบพม่าด้วยเปนแน่.

เรื่องการสงครามคราวนี้ หนังสือจดหมายเหตุข้างฝ่ายไทยเราเหลืออยู่น้อย ข้าพเจ้าได้พบจดหมายเหตุที่เปนแก่นสารในทางความรู้เรื่องราวการสงกรามคราวนี้แต่ ๒ ฉบับ เปนสำเนาท้องตราพระราชสีห์ มีอยู่ในหอพระสมุดฯ จะเอาเนื้อความที่ปรากฎในท้องตรานั้นเปนหลักของอธิบายที่จะกล่าวตอนต่อไปนี้.

ในท้องตรากล่าวความแสดงกระแสพระราชดำริห์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถ้อยคำดังนี้ว่า “อ้ายพม่าทำศึกกับกรุงเทพฯ มาก็ช้านาน ราชการหาเปนท่วงทีเหมือนครั้งนี้ไม่” จะอธิบายความตอนนี้ก่อน ด้วยพม่าปองร้ายหมายจะมาตีเมืองไทยอยู่เสมอ แม้จนตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๖๓ พระเจ้าอังวะจักกายแมงก็ให้เตรียมทัพที่เมืองเมาะตมะ หมายจะยกเข้ามาตีเมืองไทย หากได้ความว่าไทยรู้ตัวทันจึงไม่อาจยกมา ครั้นไม่สมคะเนในคราวนั้น ต่อมาอิกปี ๑ ก่อนที่จะเกิดรบกับอังกฤษไม่ช้า พม่ายังแต่งทูตไปชวนญวนจะให้รบไทยด้วยกันกับพม่า ด้วยหมายจะมาตีเมืองไทยอิก ถ้าพม่ายังมีกำลังอยู่ตราบใด ไทยก็ต้องร้อนใจเหมือนอย่างว่าไม่มีเวลาที่จะนอนตาหลับ ต้องตระเตรียมต่อสู้ศึกพม่าอยู่เสมอ จนกลายเปนธรรมเนียม พอถึงระดูแล้งก็ต้องเกณฑ์กองทัพออกไปตรวจตระเวรด่านทางที่พม่าจะยกมาทุกปีไม่ขาดได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อรู้ว่าพม่าเกิดศึก ต้องรบพุ่งกับอังกฤษซึ่งมีกำลังมาก ทั้งอังกฤษอยากจะให้ไทยรบแลรับจะช่วยหาเครื่องสาตราวุธให้ไม่ขัดสน จึงทรงพระราชดำริห์เห็นเปนท่วงทีกว่าแต่ก่อน แต่ไม่ได้มีพระราชประสงค์ในชั้นแรก ว่าจะให้กองทัพไทยไปรบพุ่งพม่าด้วยกันกับกองทัพอังกฤษ อย่างเช่นแม่ทัพอังกฤษต้องการ เพราะเจ้าเมืองเกาะหมากแลครอเฟิดไม่ได้บอกมาว่าอังกฤษต้องการเช่นนั้น ในหนังสือเจ้าเมืองเกาะหมากมีมาถึงเจ้าพระยานคร ฯ ฉบับหลัง ว่าขอให้จัดช้างม้าพาหนะส่งไปให้อังกฤษใช้ แลให้เจ้าพระยานคร ฯ จัดกำลังกองทัพไปช่วยอังกฤษ ก็น่าจะทำให้ระแวงว่าอังกฤษประสงค์จะเอาไทยไปใช้ยิ่งกว่าที่จะชวนให้ไทยไปช่วยรบ ด้วยเหตุเหล่านี้ พระราชประสงค์ชั้นแรกจึงหมายจะรบพม่าแต่โดยลำลังไทยทาง ๑ ต่างหาก เพราะเห็นว่าถึงรบโดยลำพัง เมื่อรบสัตรูเดียวกันก็เหมือนช่วยอังกฤษ ตอบแทนในข้อที่ช่วยส่งเครื่องสาตราวุธอยู่ในตัว.

ความมุ่งหมายของไทยที่จะไปรบพม่าครั้งนั้น มีปรากฎในท้องตราข้างตอนท้ายกระแสพระราชดำริห์ที่กล่าวมาว่า “จะต้องคิดราชการกวาดต้อนเอาครอบครวเมืองเมาะตมะเข้ามาให้ได้จงมาก อย่าให้อ้ายพม่าตั้งเมืองเมาะตมะขึ้นได้ดังแต่ก่อน” ดังนี้จะต้องอธิบายคำที่เรียกว่าเมืองเมาะตมะก่อน.

ที่เรียกว่าเมืองเมาะตมะในท้องตราครั้งนั้น ถ้าพูดกันอย่างทุกวันนี้ ที่จริงหมายความว่า “มณฑลเมาะตมะ” คือบรรดาหัวเมืองขึ้นของพม่าที่ต่อติดกับแดนไทย ตั้งแต่เมืองเมาะตมะลงมาจนเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤท เมืองเมาะตมะเปนที่ตั้งเทศาภิบาลบัญชาการมณฑลนี้มาแต่โบราณ ที่ไทยคิดจะตีมณฑลเมาะตมะในการสงครามครั้งนี้ประกอบด้วยเหตุหลายประการ คือประการที่ ๑ เพราะติดต่อกับแดนไทย ๆ เดินกองทัพไปถึงได้สดวกกว่ามณฑลอื่น ประการที่ ๒ เพราะเห็นว่ากองทัพอังกฤษยกมาตีเมืองพม่า พวกชาวเมืองเหล่านั้นคงจะตื่นเต้นระส่ำระสายไม่เปนปรกติจะไม่ต่อสู้แขงแรงเท่าใด ประการที่ ๓ เพราะอังกฤษตีได้เมืองร่างกุ้งแล้วพม่าจะต้องติดรบพุ่งกับอังกฤษอยู่ทางข้างเหนือเต็มมือ จะลงมาช่วยรักษาหัวเมืองข้างใต้ไม่ได้ ข้อความที่กล่าวมานี้เข้าใจว่าคงอยู่ในเหตุที่ทำให้ไทยคิดตีมณฑลเมาะตมะในครั้งนั้น.

ข้อที่ว่าตีเมืองได้แล้วจะกวาดผู้คนเข้ามาเมืองไทยเสียให้หมด ไม่ให้เมืองเมาะตมะมีกำลังดังแต่ก่อนนั้น จะต้องอธิบายความยาวสักหน่อย ด้วยประเพณีกวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปจากถิ่นฐาน เปนข้อที่ฝรั่งถือกันว่าไม่ควรทำในการสงคราม แต่ที่จริงฝรั่งก็มาถือกันขึ้นต่อในชั้นหลัง แต่ชั้นเดิมไม่ว่าชาติใดภาษาใด ย่อมถือเปนประเพณีของการสงครามอย่าง ๑ ซึ่งจะต้องกวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเปนชเลยสำหรับแจกจ่ายกันใช้สอย เสมอเปนผลประโยชน์อย่าง ๑ ซึ่งควรได้ในการทำสงครามโดยชอบธรรม แลที่สุดถือว่าเปนประโยชน์ที่ได้ผู้คนไปเพิ่มเติมเปนกำลังในเมืองตน แลทอนกำลังข้าศึกให้อ่อนลงในวันน่าด้วย จึงได้ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ในสมัยนั้นประเทศทางตวันออกยังไม่ได้เลิกประเพณีกวาดคนเมืองข้าศึกเหมือนอย่างฝรั่ง เมื่อพม่ามาตีกรุงเก่าก็กวาดเอาไทยไปเปนชเลยมากกว่ามาก ความคิดว่าจะแก้แค้นพม่าในข้อนี้ยังมีอยู่แก่ใจไทยทั่วไป แลยังมีข้อสำคัญของเมืองไทยในสมัยนั้นอยู่อิกอย่าง ๑ ด้วยผู้คนพลเมืองที่จะเปนกำลังรักษาบ้านเมืองยังมีน้อยนัก เพราะไพร่พลเมืองล้มตายเสียในการรบพุ่ง แลถูกพม่ากวาดเอาไปเปนชเลยเสียมาก ความแสวงหาผู้คนเปนกำลังบ้านเมืองจึงถือว่าเปนการสำคัญอย่าง ๑ ในสมัยนั้น ความที่กล่าวข้อนี้ ถ้าพิจารณาดูในเรื่องพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๓ ก็จะแลเห็นได้ว่าถือเปนข้อสำคัญของราชการบ้านเมืองอย่าง ๑ มาจนตลอดรัชกาล แต่การที่คิดจะทำลายเมืองเมาะตมะเสียครั้งนั้น มิใช่เฉภาะจะต้องการผู้คนพลเมืองแต่อย่างเดียว ยังมีประโยชน์ข้อสำคัญในทางพิไชยสงครามอยู่ด้วยอิกส่วน ๑ เพราะเมืองเมาะตมะเปนที่สำคัญ อยู่ตรงทางร่วมที่จะมาเมืองไทย พม่าจึงใช้เปนที่ประชุมกองทัพที่เคยยกมาตีเมืองไทยทุก ๆ คราว ตั้งแต่รบกันมาในครั้งกรุงเก่า ถ้าพม่าไม่มีเมืองเมาะตมะเปนที่อาไศรยก็จะยกมาตีเมืองไทยได้โดยยาก ความประสงค์ของไทยในเวลานั้นคิดจะตัดศึกพม่ามิให้มารบกวนเมืองไทยได้อิกต่อไปเปนข้อสำคัญ จึงคิดจะทำลายเมืองเมาะตมะเสีย อย่าให้เปนกำลังของข้าศึกต่อไปได้ทีเดียว ความดำริห์ข้อนี้ก็เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงพระราชดำริห์ด้วยเรื่องเมืองทวายครั้ง ๑ เหตุการณ์เคยเปนจริงดังพระราชดำริห์ของกรมพระราชวังบวร ฯ บางทีจะเอามาเปนคติความตกลงในครั้งนี้ก็จะเปนได้.

ได้ความตามที่ปรากฎในท้องตราพระราชสีห์ ว่าเมื่อตกลงเปนยุติว่าจะให้กองทัพยกไปตีเมืองพม่าในคราวนั้นแล้ว ในเดือน ๑๒ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๘ นั้น โปรดให้พระยารัตนจักร คือสมิงสอดเบาหัวน่าครัวมอญใหม่ที่อพยพเข้ามาเมื่อในรัชกาลที่ ๒ คุมกองมอญยกล่วงน่าเข้าไปสืบเหตุการณ์ในแดนพม่ากอง ๑ แล้วโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธา คุมกองทัพมอญซึ่งได้เกณฑ์เตรียมสำหรับจะยกไปตรวจตระเวรด่านเปนการประจำปีตามเคยนั้น ยกไปเมื่อเดือน ๑๒ ให้ยกเข้าแดนพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทาง ๑ แล้วมีตราสั่งให้เกณฑ์กองทัพเมืองชุมพรเมืองไชยาโปรดให้พระยาชุมพร (ซุย) คุมเปนกองทัพเรือยกขึ้นไปทางเมืองมฤทแลเมืองทวายอิกทาง ๑ ข้างเหนือโปรดให้พระยามหาอำมาตย์ขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองตาก พระยาวิชิตณรงค์ไปตั้งอยู่ที่เมืองอุไทยธานี เข้าใจว่า เห็นจะไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมืองเมาะตมะทางด่านแม่ละเมาอิกทาง ๑ แล้วมีตราสั่งหัวเมืองที่ต่อแดนพม่าให้จัดกองตระเวรออกไปจับพม่าข้าศึกส่งเข้ามาทุกด่าน ได้ความเรื่องกองทัพไทยที่จัดชั้นแรกดังกล่าวมานี้.

  1. ๑. ที่ถือไม่จริงก็มี เยอรมันยังกวาดต้อนครอบครัวชาวเบลเยี่ยมแลฝรั่งเศสอยู่จน พ.ศ. ๒๔๖๐ นี้.

  2. ๒. ความปรากฎอยู่ในเรื่องสงครามครั้งที่ ๕

  3. ๓. เจ้าพระยามหาโยธาคนนี้ ชื่อทอเรีย เปนบุตรเจ้าพระยามหาโยธา พระยาเจ่ง ครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนต้นสกุล คชเสนี.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ