อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี

มีคำของท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนได้กล่าวไว้อย่าง ๑ ว่า พม่ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ครั้งพระเจ้าหงษาวดีกับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งพระเจ้าหงษาวดีมารบพุ่งอย่างกระษัตริย์ แต่ครั้งพระเจ้าอังวะมารบพุ่งอย่างโจร คำที่กล่าวนี้พิจารณาดูเห็นเปนความจริง จะได้แกล้งกล่าวเพราะแค้นพม่านั้นหามิได้ พระเจ้าหงษาวดีมาทำสงครามด้วยมุ่งหมายจะเอาเมืองไทยเปนเมืองขึ้น ขยายอาณาเขตรพม่าให้กว้างขวางอย่างราชาธิราช เพราะฉนั้นเมื่อมีไชยชนะถึงว่าจะเก็บริบทรัพย์สมบัติแลจับผู้คนไปเปนชเลย ตามประเพณีการสงครามในสมัยนั้นก็ยังมีประมาณ ด้วยปราถนาจะปกครองบ้านเมืองไว้สำหรับประดับเกียรติยศต่อไป แต่ครั้งพระเจ้าอังวะให้กองทัพยกมาตีเมืองไทยหมายแต่จะเอาทรัพย์ กับกวาดคนเปนชเลยไปใช้สอยในเมืองพม่า ไม่ได้คิดจะรักษาเมืองไทยไว้เปนเมืองขึ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพม่าตีเมืองไหนได้จึงเผาเสียทั้งเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตลอดจนราชธานีเปนที่สุด เสร็จแล้วพม่าก็เลิกทัพกลับไป เสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่าครั้งหลังบ้านเมืองจึงได้ยับเยินยิ่งกว่าเมื่อครั้งเสียแก่พระเจ้าหงษาวดี แต่ที่จริงหาได้เสียเมืองไทยทั้งหมดเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีไม่ เสียแต่เฉภาะบางมณฑลที่พม่ายกกองทัพไปถึง มณฑลที่กองทัพพม่ายกไปไม่ถึงบ้านเมืองยังคงเปนสิทธิแก่ไทยอยู่ทุกแห่ง แต่หากสิ้นพระราชาธิบดีที่จะปกครองแผ่นดิน เมืองไทยจึงได้เปนจลาจล

เรื่องพงษาวดารในตอนบ้านเมืองเปนจลาจลนั้น มีเนื้อความว่า ในปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อพม่าที่มาตีได้กรุงศรีอยุทธยาจะเลิกกลับไป แม่ทัพพม่าให้สุกี้พระนายกองเปนนายใหญ่คุมกำลังประมาณ ๓,๐๐๐ ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ข้างเหนือกรุงพระนครศรีอยุทธยาแห่ง ๑ ให้ไทยคน ๑ ชื่อนายทองอิน ตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรีอิกแห่ง ๑ สั่งให้คอยค้นคว้าหาผู้คนแลทรัพย์สมบัติซึ่งยังตกค้างรวบรวมส่งตามไปเมืองพม่า ด้วยเหตุนี้พม่าจึงยังมีอำนาจอยู่ในจังหวัดกรุงศรีอยุทธยาแลหัวเมืองที่ใกล้เคียง ผู้คนในท้องที่เหล่านี้ที่พม่ายังจับไม่ได้ ใครมีกำลังพาหนะ ฤๅว่าเปนโสดอยู่แก่ตัว ก็หนีออกไปอาไศรยอยู่ตามหัวเมืองที่ยังเปนสิทธิแก่ไทย พวกที่มีกำลังพาหนะน้อย ฤๅห่วงใยอยู่ด้วยครอบครัว ไม่สามารถจะหนีไปต่างเมืองได้ ก็ซุ่มซ่อนอยู่กับครอบครัวแลสมัคพรรคพวกของตน ที่พรรคพวกน้อยก็ได้แต่คอยหลบหลีกพอรอดตัวไปวันหนึ่ง ๆ ที่มีพวกมากก็ตั้งซ่องปกครองกันเปนหมวดหมู่ ช่วยกันต่อสู้ป้องกันภยันตรายตามกำลัง เปนดังนี้ทั่วไปในบรรดาหัวเมืองที่เสียแก่พม่า ส่วนหัวเมืองที่มิได้เสียแก่พม่า เมื่อไม่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ก็กลายเปนเมืองมีอิศระขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ที่เปนเมืองน้อย ผู้ว่าราชการเมืองเห็นจะปกครองอยู่โดยลำพังไม่ได้ ก็อ่อนน้อมยอมอยู่ในอำนาจเจ้าเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ที่เปนเจ้าเมืองใหญ่ ฤๅที่มีกำลังพาหนะมาก ก็คิดตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า โดยหวังจะเปนใหญ่ในเมืองไทยต่อไป เพราะฉนั้นในหัวเมืองไทยที่มิได้เสียแก่พม่าข้าศึกจึงมีผู้ตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าถึง ๕ ก๊กด้วยกัน.

ก๊กที่ ๑ คือ เจ้าพระยาพิศณุโลก ตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นที่เมืองพิศณุโลก มีอาณาเขตรตั้งแต่เมืองพิไชยลงมาจนเมืองนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิศณุโลกนี้ ชื่อเรือง เปนข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีความสามารถมาแต่ก่อน ถึงเมื่อรบพม่าคราวหลังนี้ก็ปรากฎว่ามีฝีมือเข้มแขงไม่แพ้พม่า คงเปนเพราะเปนผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศดังกล่าวมานี้ จึงมีผู้นิยมนับถือมาก แม้ข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุทธยาก็ไปเข้ากับเจ้าพระยาพิศณุโลกมากด้วยกัน

ก๊กที่ ๒ คือ พระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี อยู่ที่วัดพระฝาง ตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นทั้งเปนพระ เรียกกันว่าเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางนี้ชื่อเรือน เปนชาวเหนือ เห็นจะเปนชาวเมืองสวางคบุรีนั้นเอง แรกบวชได้ลงมาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาจนได้เปนพระราชาคณะฝ่ายวิปัสนาธุระ ที่พระพากุลเถร อยู่ณวัดศรีอโยธยา แล้วจึงได้เลื่อนเปนที่พระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี กลับขึ้นไปอยู่ที่วัดพระฝางตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมืองสวางคบุรีอยู่เหนือเมืองพิไชย อาณาเขตรต่อแดนเมืองแพร่เมืองน่านแลเมืองหลวงพระบาง ผู้คนพลเมืองเปนลาวโดยมาก เจ้าพระฝางมีเกียรติคุณในทางวิทยาคม ด้วยเล่าเรียนวิปัสสนามาแต่เดิม ผู้คนพากันนับถือว่าเปนผู้วิเศษ จึงได้ตั้งตัวเปนใหญ่ทั้งเปนพระ

ก๊กที่ ๓ คือ พระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งตัวเปนเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่าเจ้านคร มีอาณาเขตรตั้งแต่ต่อแดนเมืองมลายูขึ้นมาจนเมืองชุมพร เจ้านครนี้เข้าใจว่าชื่อหนู เปนเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เข้ามาถวายตัวทำราชการอยู่ในกรุง ฯ ได้เปนที่หลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก แล้วจึงออกไปเปนปลัดเมืองนครศรีธรรมราช อยู่มาพระยาราชสุภาวดีซึ่งได้เปนเจ้าพระยานครฯ มีความผิดต้องออกจากตำแหน่ง พระปลัดได้รั้งราชการอยู่จนเสียกรุงฯ จึงตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า

ก๊กที่ ๔ คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ ตั้งตัวเปนใหญ่ขึ้นที่เมืองพิมายมณฑลนครราชสิมา เรียกกันว่าเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธนี้ เปนพระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ออกทรงผนวชเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แล้วคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน มีรับสั่งให้เอาไปปล่อยเสียที่ลังกาทวีป เมื่อพระเจ้าอลองพญามาตีเมืองไทย กรมหมื่นเทพพิพิธได้ข่าวว่ากรุง ฯ เสียแก่ข้าศึกจึงกลับมาเมืองไทย มาถึงเมื่อพระเจ้าอลองพญาเลิกทัพกลับไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้คุมตัวไว้ที่เมืองมฤท ครั้นพม่าตีเมืองมฤทคราวหลัง กรมหมื่นเทพพิพิธหนีเข้ามาเมืองเพ็ชรบุรี จึงโปรดให้เอาไปคุมไว้ที่เมืองจันทบุรีจนพม่ามาล้อมกรุง ฯ กรมหมื่นเทพพิพิธเกลี้ยกล่อมพวกกรมการแลชาวหัวเมืองชายทเลตวันออกยกเปนกองทัพเข้ามาหมายจะช่วยรบพม่า เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองปราจิณบุรี ให้กองทัพน่ามาตั้งอยู่ปากน้ำโยทะกา พม่ายกกองทัพออกไปตีกองทัพน่าของกรมหมื่นเทพพิพิธแตก กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยหนีไปทางเมืองนครราชสิมา ไปตั้งอยู่ที่ด่านโคกพระยา คิดจะตั้งตัวเปนใหญ่ ให้ไปเกลี้ยกล่อมพระยานครราชสิมา ๆ ไม่ยอมเข้าด้วย ว่าจะจับส่งเข้ามาในกรุง ฯ ด้วยขณะนั้นกรุงศรีอยุทธยายังไม่เสียแก่ข้าศึก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงคิดอ่านให้ลอบเข้าไปฆ่าพระยานครราชสิมาเสีย แล้วชิงเมืองนครราชสิมาได้ กรมหมื่นเทพพิพิธนั่งเมืองอยู่ได้สักสี่ห้าวัน หลวงแพ่งน้องพระยานครราชสิมาไปเกณฑ์คนเมืองพิมาย อันเปนเมืองขึ้นของเมืองนครราชสิมา มาตีได้เมืองนครราชสิมา จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธกับทั้งหม่อมเจ้าแลข้าในกรม หลวงแพ่งให้ฆ่าหม่อมเจ้าประยง หม่อมเจ้าดารา หม่อมเจ้าธารา กับพวกหัวน่าข้าในกรมเสีย ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธนั้น เดิมหลวงแพ่งจะปลงพระชนม์เสีย แต่พระพิมายสงสาร เห็นว่าเปนพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ จึงขอเอาไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย แต่นั้นหลวงแพ่งก็ขึ้นนั่งเมืองนครราชสิมา ครั้นกรุง ฯ เสียแก่พม่า ได้ข่าวไปถึงเมืองพิมายว่าข้าศึกจับเอาพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ไปเสียหมด พระพิมายนับถือราชตระกูล จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเปนใหญ่ กรมหมื่นเทพพิพิธก็ตั้งพระพิมายเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ เปนผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น แลครั้งนั้นหลวงแพ่งที่ครองเมืองนครราชสิมาคิดจะตั้งตัวเปนใหญ่บ้าง ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรมหมื่นเทพพิพิธ พระพิมายจึงคิดอุบายจับหลวงแพ่งฆ่าเสีย กรมหมื่นเทพพิพิธก็ได้อาณาเขตรตลอดมณฑลนครราชสิมา แต่ตั้งอยู่ที่เมืองพิมาย หามาอยู่ที่เมืองนครราชสิมาไม่.

ก๊กที่ ๕ คือ พระยาตาก ชื่อสิน ลงไปตั้งตัวเปนใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี คนทั้งหลายเรียกกันว่าเจ้าตาก มีอาณาเขตรตั้งแต่ต่อแดนกรุงกัมพูชาขึ้นมาจนเมืองชลบุรี พระยาตาก (สิน) นี้ เปนเชื้อจีนเดิมอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา แล้วขึ้นไปรับราชการทางหัวเมืองเหนือ ไปทำราชการมีความชอบได้เปนเจ้าเมืองตาก เมื่อยังเปนเมืองขึ้นของเมืองกำแพงเพ็ชร ครั้นพม่าเข้ามาล้อมกรุง ฯ พระยาตาก (สิน) ถูกเกณฑ์ลงมาช่วยรักษาพระนคร ฝีมือรบพุ่งเข้มแขง มีบำเหน็จความชอบในการสงคราม จึงได้เลื่อนขึ้นเปนพระยากำแพงเพ็ชร ครั้นต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครต่อมา มีเหตุให้พระยาตาก (สิน) เกิดท้อใจหลายคราว คราว ๑ พระยาตาก(สิน)ออกไปรบชนะตีได้ค่ายพม่า แต่ผู้บัญชาการรักษาพระนครไม่ให้กำลังลงไปอุดหนุนต้องล่าถอยกลับมา อิกคราว ๑ พระยาตาก (สิน) ถูกเกณฑ์ให้ไปคอยสกัดรบพม่าอยู่ที่วัดใหญ่กับพระยาเพชรบุรี เมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ พม่ายกทัพเรือลัดทุ่งมา พระยาตาก (สิน) เห็นว่าเหลือกำลังที่จะรบพุ่งเอาไชยชนะได้ พระยาเพ็ชรบุรีไม่ฟังขืนยกไปรบเสียทีพม่า พระยาตาก (สิน) ต้องหาว่าทิ้งให้พระยาเพ็ชรบุรีเปนอันตราย ทีหลังมาอิกครั้ง ๑ เมื่อก่อนจะเสียกรุง ฯ สัก ๓ เดือน พระยาตาก (สิน) ถูกภาคทัณฑ์เกือบจะต้องเปนโทษ เพราะเอาปืนใหญ่ยิงข้าศึกไม่บอกขออนุญาตที่ศาลาลูกขุนก่อน พระยาตาก (สิน) ก็เสียใจ เห็นว่าถึงจะอยู่ช่วยรบพุ่งรักษากรุง ฯ ต่อไป ก็จะไม่เปนประโยชน์อันใด พระนครคงจะเสียเพราะความอ่อนแอของผู้บัญชาการ ครั้นถึงวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ พระยาตาก (สิน) เห็นพม่าตั้งล้อมกระชั้นเข้ามาจวนจะถึงคูพระนคร จึงรวบรวมสมัคพรรคพวกได้เบ็ดเสร็จประมาณ ๕๐๐ คน พอเวลาพลบค่ำก็ยกออกจากค่ายวัดพิไชย ตีฝ่าพม่าหนีไปทางทิศตวันออก พม่าก็ตีตามไปในค่ำวันนั้น ไปทันพระยาตาก (สิน) ที่บ้านโพธิ์สังหาร พอเวลารุ่งเช้า พระยาตาก (สิน) ก็ออกน่านำทหารเข้าต่อสู้ฆ่าฟันพม่าล้มตายแตกกลับเข้ามา แล้วจึงไปตั้งพักอยู่ที่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวลาดหาเสบียงอาหารมาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีพวกกองทัพพม่าอิกกอง ๒ จำนวนพลขี่ม้าราว ๓๐ ม้า เดินเท้าประมาณ ๒๐๐ ยกสวนทางมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจิณบุรี จะเข้ามายังกรุง ฯ มาพบพวกทหารของพระยาตาก (สิน) ที่ออกไปเที่ยวหาเสบียงอาหาร พม่าก็ไล่จับ พวกทหารพากันหนีมายังบ้านพรานนก ครั้นพม่าตามมาพระยาตาก (สิน) จึงให้ทหารเดินเท้ารายแยกเปนปีกกา เข้าตีโอบพวกพม่าทั้ง ๒ ข้าง ส่วนพระยาตาก (สิน) ขึ้นขี่ม้ากับทหารอิก ๔ คน ควบตรงเข้าไล่ฟันพม่าที่ขี่ม้ามาข้างน่า พม่าไม่ทันรู้ตัวก็ถอยหนีกลับไปประทะพวกที่เดินเท้า ข้างพวกไทยได้ทีก็รุกไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายแตกกระจัดกระจายไปหมด

ฝ่ายพวกราษฎรชาวบ้านที่หลบหนีพม่าซ่อนเร้นอยู่ ครั้นเห็นพระยาตาก (สิน) มีไชยชนะพม่า ต่างก็ดีใจพากันมาขอเข้าเปนพวกพระยาตาก (สิน) พระยาตาก (สิน) จึงให้พวกชาวบ้านไปเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเปนหัวน่านายซ่อง ที่มาอ่อนน้อมยอมเข้ากับพระยาตาก (สิน) แลนำเอาช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารมาให้เปนกำลังก็มี ที่เปนนายซ่องใหญ่มีค่ายคู ยังทนงตัวตั้งคอยจะต่อสู้ไม่มาอ่อนน้อมก็มี พระยาตาก (สิน) จึงคุมทหารตรงไปยังค่ายนั้น พวกซ่องออกต่อสู้ๆ ไม่ได้ก็เสียค่ายแก่พระยาตาก (สิน) ได้ช้างม้าพาหนะ และเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อิกมาก จึงยกไปทางนาเริ่งแลเมืองนครนายก แล้วไปทางด่านบ้านกบแจะ ข้ามลำน้ำเมืองปราจิณ ไปตั้งพักอยู่ทางชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตวันออก ฝ่ายพวกพม่าที่พระยาตาก (สิน) ตีแตกไปจากบ้านพรานนก พากันกลับไปบอกนายทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำเจ้าโล้ข้างใต้เมืองปราจิณ นายทัพพม่าจึงแบ่งกำลังกองทัพให้ยกขึ้นไปตามพระยาตาก (สิน) ทั้งทางบกทางเรือ พม่าขึ้นไปถึงเมืองปราจิณพอพระยาตาก (สิน) ข้ามลำน้ำไปแล้ว ก็ขึ้นที่ท่าข้ามไล่พวกที่ล้าหลังตามติดไป ขณะนั้นเวลาบ่ายประมาณ ๔ โมง พระยาตาก (สิน) ตั้งพักอยู่ที่ชายทุ่งได้ยินเสียงฆ้องกลองแลเห็นธงทิวก็รู้ว่าพม่ายกกองทัพตามมา แต่จะตั้งค่ายคูต่อสู้ก็ไม่ทัน ด้วยพม่าจวนจะถึงอยู่แล้ว จึงให้กองครัวแลพวกที่หาบเสบียงอาหารรีบล่วงน่าไปเสียก่อน แล้วเลือกที่ไชยภูมิ เอาพงกำบังแทนแนวค่าย ตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้ หมายเฉภาะทางที่จะเดินเข้ามา แล้วพระยาตาก (สิน) ก็นำทหารประมาณ ๑๐๐ คน ออกไปรบพม่าถึงท้องทุ่ง รบสู้อยู่สักพัก ๑ แล้ว แกล้งทำเปนถอยหนีเข้าไปทางช่องพงที่ตั้งปืนดักไว้ พม่าไม่รู้ว่าเปนกลอุบายไล่ตามเข้าไป พอได้ทางปืนพวกไทยก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกไปพร้อมกัน พม่ากำลังจะเข้าในช่องพงเดินชิดตัวกัน ก็ถูกปืนล้มตายอยู่กับที่เปนอันมาก พวกกองหลังหนุนไปถึงก็ถูกปืนตับล้มตายลงไปอิก ถูกยิงได้สามยกพม่าก็ถอยหนี พระยาตาก (สิน) ได้ทีก็นำทหารออกติดตามไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายอิกเปนอันมาก ที่เหลือตายก็แตกกระจัดกระจายไป แต่นั้นพม่าก็มิได้ติดตามอิกต่อไป พระยาตาก (สิน) จึงยกกองทัพเดินผ่านแดนเมืองฉะเชิงเทราเมืองชลบุรีลงไปจนถึงบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง กิติศัพท์ที่พระยาตาก (สิน) รบพุ่งเข้มแขงมีไชยชนะพม่าเปนหลายครั้งนั้นก็เลื่องฦๅแพร่หลาย ทราบไปถึงไหนผู้คนในที่นั้นก็พากันนิยมยำเกรง พวกนายซ่องแลราษฎรในระยะทาง ต่างพากันมาอ่อนน้อมยอมเข้าเปนบริวารของพระยาตาก (สิน) จนได้รี้พลมากขึ้นถึงเปนกองทัพ พระยาตาก (สิน) จึงยกลงไปเมืองระยองในข้างแรมเดือนยี่ปีจอนั้น หมายจะเอาเมืองระยองเปนที่ตั้งรวบรวมกำลังทำการต่อไป ฝ่ายพระระยอง ชื่อบุญ เปนผู้ว่าราชการเมืองระยอง ครั้นรู้ว่าพระยาตาก (สิน) จะยกกองทัพลงไปเกรงว่าจะไปทำร้าย เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ จึงพาพรรคพวกมาต้อนรับอ่อนน้อมถึงกลางทาง พระยาตาก (สิน) ก็ยกกองทัพเข้าไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่วัดลุ่ม นอกบริเวณค่ายเก่าซึ่งตั้งเมืองระยอง.

ขณะเมื่อพระยาตาก (สิน) ลงไปถึงเมืองระยองนั้น กรุงศรีอยุทธยายังไม่เสียแก่ข้าศึก มีพวกกรมการเก่าในเมืองระยองหลายคน คือ หลวงพล ขุนจ่าเมือง ขุนราม หมื่นช่อง เปนต้น เห็นว่าพระยาตาก (สิน) บังอาจซ่องสุมรี้พลเที่ยวบุกรุกบ้านเมืองเปนการประทุษฐร้ายต่อแผ่นดิน จึงคบคิดกันจะต่อสู้ พระยาระยองห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟัง ครั้นเมื่อพระยาตาก (สิน) เข้าไปตั้งค่ายอยู่ในชานเมืองระยองได้ ๒ วัน พวกกรมการเหล่านั้นจึงลอบรวบรวมรี้พลจะยกมาปล้นค่ายพระยาตาก (สิน) ในเวลาค่ำ พวกชาวเมืองจันทบุรีที่มาเข้ากับพระยาตาก (สิน) รู้เรื่อง จึงบอกให้พระยาตาก (สิน) ทราบ พระยาตาก (สิน) ถามพระระยอง ๆ ปฏิเสธ แต่มีกิริยาอาการพิรุธ พระยาตาก (สิน) จึงให้จำพระระยองไว้ที่ในค่าย แล้วสั่งให้ตระเตรียมรักษาค่ายให้มั่นคง ฝ่ายพวกกรมการเมืองระยองไม่ทราบว่าพระยาตาก (สิน) รู้ตัว พอกลางคืนก็คุมรี้พลยกออกจากค่ายเก่ามาล้อมค่ายพระยาตาก (สิน) แล้วโห่ร้องยิงปืนระดมเข้าไปในค่าย พระยาตาก (สิน) ให้ดับไฟในค่ายเสียให้มืดแล้ววางทหารประจำไว้ทุกทางที่จะเข้ามาในค่าย กำชับสั่งห้ามมิให้โห่ร้องแลยิงปืนตอบ ให้ปล่อยศัตรูเข้ามาให้ใกล้จะถึงค่ายจึงค่อยยิง ฝ่ายพวกกรมการไม่เห็นพวกพระยาตากต่อสู้ สำคัญว่ากำลังตื่นตกใจ ขุนจ่าเมืองด้วงคุมทหารประมาณ ๓๐ คนรุกเข้าไปทางด้านวัดเนินหวังจะเข้าแหกค่าย พอข้ามสะพานเข้าไป ยังห่างค่ายประมาณสัก ๕ วา พระยาตาก (สิน) ก็ให้ปล่อยปืนตับยิงขุนจ่าเมืองกับพวกทหารที่เข้าไปก่อนตกสะพานลง พวกที่ตามเข้าไปข้างหลังก็ตกใจพากันถอยหนี พระยาตาก (สิน) ได้ทีก็ให้พวกทหารโห่ร้องออกรุกไล่ข้าศึก พวกชาวเมืองระยองพากันหนีกลับค่ายเก่า พวกทหารพระยาตาก (สิน) ก็ไล่ติดตามเข้าไปเอาไฟเผาค่ายขึ้น แล้วไล่ฆ่าฟันพวกข้าศึกแตกกระจัดกระจายไปหมด พระยาตาก (สิน) ก็ได้เมืองระยองเปนสิทธิ์ในคืนวันนั้น.

ตรงนี้จะกล่าวถึงฐานะของผู้ที่ตั้งตัวเปนใหญ่เมื่อเวลาบ้านเมืองเปนจลาจลครั้งนั้นแทรกลงสักหน่อยหนึ่งก่อน ด้วยผู้ที่ตั้งตัวเปนใหญ่ทั้ง ๕ ก๊กซึ่งกล่าวมาแล้วมีฐานะผิดกัน เจ้าพิษณุโลกกับเจ้านครเมื่อตั้งตัวเปนเจ้า เปนผู้มีอำนาจแลน่าที่ปกครองบ้านเมืองที่เปนถิ่นฐานอยู่แล้ว การที่ตั้งตัวเปนใหญ่ไม่ต้องขวนขวายอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม้จะไม่ตั้งตัวเปนเจ้า อาณาเขตรที่ได้ปกครองก็คงอยู่ในอำนาจอยู่นั่นเอง ส่วนเจ้าพระฝางนั้นก็ตั้งตัวเปนใหญ่ในถิ่นฐานของตน ได้อาณาเขตรโดยไม่ต้องขวนขวาย เพราะพวกพลเมืองพากันกลัวเกรงนับถือว่าเปนผู้วิเศษที่แท้ไม่ผิดกับผีบุญที่มีขึ้นชั้นหลังๆ มา ทิษฐิของเจ้าพระฝางก็เหมือนอย่างพวกผีบุญ คือเชื่อว่าอาจปราบปรามใครๆ ได้ด้วยฤทธิ์เดช พอตั้งตัวขึ้นแล้วก็กำเริบยกลงมาลองฤทธิ์ตีเมืองพิศณุโลก ครั้นตีไม่ได้ก็โทษโน่นโทษนี่ พอเปนเหตุแก้ตัวแล้วก็กลับไปตั้งอยู่อย่างเดิม ส่วนเจ้าพิมายนั้น ถ้าว่าโดยส่วนพระองค์เปนอาภัพอ่อนแอยิ่งกว่าใคร ๆ หมด ทั้งถิ่นฐานบ้านเมืองที่จะตั้งตัวก็ไม่มี แต่มีชาติวุฒิสมบัติอันวิเศษ จึงชักจูงให้ผู้อื่นยกย่องขึ้นเปนใหญ่ ด้วยความกตัญญูต่อราชสกุล ฐานะของพระยาตาก (สิน) เสียเปรียบผู้ที่ตั้งตัวเปนใหญ่ที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ก๊ก เพราะไม่ได้อาไศรยชาติสกุลอุดหนุนเหมือนอย่างเจ้าพิมาย แลไม่มีถิ่นฐานภูมิลำเนาที่จะตั้งตัวเหมือนอย่างเจ้าพิศณุโลก เจ้านคร แลเจ้าพระฝาง แม้ที่สุดจนผู้คนที่จะได้ใช้สอยเปนกำลังในเบื้องต้นก็มีเพียงสักสี่ห้าร้อยคน ด้วยเหตุนี้เมื่อคิดดูจึงเห็นว่า ขณะเมื่อพระยาตาก (สิน) ยกไปจากกรุงศรีอยุทธยานั้น ความมุ่งหมายเห็นจะมีเพียงคิดจะหนีให้พ้นภัยจากข้าศึก ไปคิดหาภูมิลำเนาตั้งรักษาตัวเท่านั้น ยังหาได้คิดที่จะตั้งตัวเปนใหญ่ในเมืองไทยไม่ การที่ได้รบพุ่งปราบปรามในตอนนี้ก็เพียงแต่รบพวกพม่าข้าศึก กับพวกนายซ่องซึ่งตั้งตนเปนอิศระนอกกฎหมายเหมือนกับโจร พระยาตาก (สิน) พึ่งไปพบปะเกี่ยวข้องกับข้าราชการอันเปนเจ้าน่าที่รักษาการตามกฎหมายต่อเมื่อลงไปถึงเมืองระยอง แต่การที่พระยาตาก (สิน) ไปตั้งรวมรี้พลเปนอิศระอยู่ที่เมืองระยอง ผู้ว่าราชการเมืองเปนผู้มาเชื้อเชิญไปในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ พระยาตาก (สิน) ก็หาได้ประพฤติร้ายต่อเจ้าน่าที่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉนั้นในชั้นต้นฐานะของพระยาตาก (สิน) ยังไม่ถึงเปนผู้คิดประทุษฐร้ายต่อรัฐบาลเดิม แต่การที่พระยาตาก (สิน) ตีเอาเมืองระยองเปนของตน ทำให้ฐานะเปลี่ยนแปลงไปเปนผู้ลเมิดกฎหมาย ชรอยพระยาตาก (สิน) ก็จะคิดเห็นเช่นว่านี้ จึงตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ตามเลย แต่ก็ยังระวังมิให้คนทั้งหลายเห็นว่าเปนขบถคดโท่ห์ ให้เรียกคำสั่งเพียงพระประสาสน์อย่างเปนเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่าเจ้าตากแต่นั้นมา.

เมื่อเจ้าตากตั้งตัวเปนอิศระขึ้นนั้น มีอาณาเขตรเพียงแดนในเมืองระยอง ส่วนเมืองบางละมุงเมืองชลบุรีที่อยู่ข้างเหนือก็ดี เมืองจันทบุรีแลเมืองตราษที่อยู่ข้างใต้ก็ดี ยังหาได้อ่อนน้อมยอมอยู่ในอำนาจเจ้าตากไม่ แต่เมืองชลบุรีเวลานั้นเปนจลาจล เพราะอยู่ใกล้ข้าศึก เมืองบางละมุงก็เปนเมืองน้อย ผู้คนเบาบาง มีกำลังมากอยู่แต่เมืองจันทบุรี เปนเมืองใหญ่กว่าทุกหัวเมืองบรรดาอยู่ทางชายทเลตวันออก แลยังมีผู้ว่าราชการเมืองปกครองเปนปรกติอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อน เจ้าตากจะใคร่ทราบว่าพวกเมืองจันทบุรีจะเปนสัตรูฤๅอย่างไร จึงแต่งให้ทูตถือศุภอักษรไปยังพระยาจันทบุรี ว่าเดี๋ยวนี้ได้มาตั้งรวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองระยอง หมายจะยกเข้าไปรบพม่าแก้ไขพระนครให้พ้นจากอำนาจข้าศึก ขอให้พระยาจันทบุรีเห็นแก่บ้านเมือง มาช่วยกันปราบปรามข้าศึกให้กรุงศรีอยุทธยาเปนผาสุกเหมือนดังแต่ก่อน ทูตไปถึงเมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีก็ต้อนรับโดยไมตรี รับว่าจะมาปฤกษาหารือกับเจ้าตากที่เมืองระยอง แลมอบเสบียงอาหารให้ทูตคุมมาช่วยเจ้าตากก่อน ครั้นทูตมาแล้วพระยาจันทบุรีกลับไม่ไว้ใจเจ้าตาก เกรงว่าจะคิดกลอุบายชิงเอาบ้านเมืองก็หามาไม่ เจ้าตากคอยพระยาจันทบุรีเห็นหายไปก็คาดว่าพระยาจันทบุรีคงแคลงใจจึงไม่มา ขณะนั้นนายบุญเรืองมหาดเล็ก ซึ่งเปนผู้รั้งเมืองบางละมุงคุมไพร่ ๒๐ คน ถือหนังสือพม่าจะเอาลงไปให้พระยาจันทบุรี เดินผ่านมาในแขวงเมืองระยองพวกทหารเจ้าตากจับได้ ซักถามได้ความว่า เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น มีหนังสือออกมาบอกให้พระยาจันทบุรีเข้าไปอ่อนน้อมเสียโดยดี พม่าสั่งให้ผู้รั้งบ้านเมืองบางละมุงถือหนังสือลงไปเองจึงได้ลงมา พวกนายทัพนายกองทูลเจ้าตากว่า ผู้รั้งเมืองบางละมุงเปนพวกพม่า ขอให้ประหารชีวิตรเสีย เจ้าตากไม่เห็นชอบด้วย ว่าผู้รั้งเมืองบางละมุงตกอยู่ในอำนาจพม่าก็ต้องยอมให้ใช้มาด้วยจำเปน จะว่าเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ข้าศึกหาควรไม่ อิกประการ ๑ ผู้รั้งเมืองบางละมุงยังมิได้เคยมาเปนข้าของเรา จะว่าทำความผิดต่อเราก็ยังไม่ได้ ที่พม่ามีหนังสือมาบังคับพระยาจันทบุรีอย่างนี้ก็ดีแล้ว พระยาจันทบุรีจะได้เลือกเอาอย่าง ๑ ว่าจะไปเข้ากับพม่า ฤๅจะมาเข้ากับไทยด้วยกันเอง ไม่เพิกเฉยต่อไป ขณะนั้นเจ้าตากกำลังปรารภจะไปชวนพระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองบันทายมาศ มาเข้าพวกด้วยอิกเมือง ๑ เห็นเปนโอกาศที่จะทำให้พระยาจันทบุรียำเกรง จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐี เปนเนื้อความว่า เมื่อแรกพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุทธยา ในกรุงฯ ได้มีท้องตราให้พระยาราชาเศรษฐีจัดกำลังแลเสบียงอาหารเข้าไปช่วย พระยาราชาเศรษฐีก็ได้จัดส่งไป แต่ไปติดกองทัพพม่าตั้งสกัดอยู่ที่เมืองธนบุรี จึงขึ้นไปไม่ได้ถึงกรุง ฯ ถึงกระนั้นก็เปนความชอบความดีมากอยู่ เดี๋ยวนี้เจ้าตากได้ลงมาตั้งรวบรวมรี้พลอยู่ที่เมืองระยอง ได้กำลังมากแล้ว ขอให้พระยาราชเศรษฐียกกองทัพขึ้นมาสมทบช่วยกันแก้กรุงศรีอยุทธยาให้พ้นมือข้าศึกเถิด ครั้นแต่งศุภอักษรแล้วจึงสั่งผู้รั้งเมืองบางละมุงให้ไปชี้แจงแก่พระยาจันทบุรีด้วย แล้วให้ทูตที่จะลงไปเมืองบันทายมาศรับผู้รั้งเมืองบางละมุงลงเรือไปส่งที่เมืองจันทบุรี

ทูตเจ้าตากลงไปถึงเมืองบันทายมาศ พระยาราชาเศรษฐีก็รับรองเปนทางไมตรี แล้วแต่งทูตให้ถือศุภอักษรขึ้นมายังเมืองระยองขอผัดว่า พอให้สิ้นระดูมรสุม แล้วจะยกกองทัพมาช่วยเจ้าตากตามประสงค์ แต่พระยาจันทบุรีนั้นยังหาตอบมาว่าประการใดไม่.

ครั้นเดือน ๕ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ พอข่าวปรากฎออกไปว่ากรุงศรีอยุทธยาเสียแก่ข้าศึก พม่าจับเอาพระเจ้าแฝนดินแลเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไปหมด ความคิดของผู้ที่มีกำลังแลอำนาจอยู่ตามหัวเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ พระยาจันทบุรีก็หามาเปนไมตรีกับเจ้าตากตามสัญญาไม่ ฝ่ายขุนราม หมื่นช่องกรมการเก่าเมืองระยอง ซึ่งปล้นค่ายเจ้าตากแล้วหนีไปนั้น ไปตั้งซ่องอยู่ในเขตรเมืองแกลง อันเปนเมืองขึ้นของเมืองจันทบุรี ก็คุมสมัคพรรคพวกมาปล้นแย่งช้างม้าพาหนะของเจ้าตากในหมู่นั้นด้วย เจ้าตากเห็นว่าไม่มีทางที่จะทำได้อย่างอื่นเสียแล้ว มีแต่จะต้องใช้กำลังปราบปรามพวกที่จะเปนสัตรูอย่างเดียวจึงจะตั้งตัวอยู่ได้ จึงยกกองทัพลงไปรบพวกขุนรามหมื่นช่องที่เมืองแกลงก่อน ขุนรามหมื่นช่องสู้ไม่ได้ก็พาสมัคพรรคพวกหนีไปอยู่กับพระจันทบุรี เจ้าตากจะยกกองทัพตามลงไปเห็นกำลังรี้พลยังน้อย แลยังเปนห่วงหลังทางเมืองชลบุรี ด้วยได้ข่าวว่านายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ในแขวงเมืองชลบุรี กำลังรวบรวมรี้พล ผู้คนใครจะลงมาเข้ากับเจ้าตากนายทองอยู่นกเล็กก็ยึดเอาไว้เสีย จึงรีบกลับจากเมืองแกลง แล้วยกกองทัพขึ้นมายังเมืองชลบุรี มาตั้งอยู่ที่หนองมนต่อแดนเมืองบางละมุง ให้สืบสวนได้ความว่า นายทองอยู่นกเล็กยังมีกำลังไม่มากมายนัก เจ้าตากจึงยกกองทัพตรงเข้าไปยังเมืองชลบุรี ไปตั้งอยู่ที่วัดหลวง แล้วให้เพื่อนฝูงของนายทองอยู่นกเล็กที่ได้มาเข้าด้วย ไปเกลี้ยกล่อมนายทองอยู่นกเล็กให้มาอ่อนน้อมเสียโดยดี นายทองอยู่นกเล็กเห็นว่าจะสู้รบไม่ไหวก็มาอ่อนน้อมยอมเปนข้าเจ้าตาก ๆ จึงขึ้นทรงช้าง ให้นายทองอยู่นกเล็กนำเลียบเมืองชลบุรี ให้ปรากฎแก่คนทั้งหลาย ว่าเมืองชลบุรีเปนสิทธิ์ของเจ้าตากแล้ว จึงตั้งนายทองอยู่นกเล็กให้เปนที่พระยาอนุราฐบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วเจ้าตากก็เลิกทัพกลับลงไปยังเมืองระยอง

ฝ่ายพระยาจันทบุรีคาดว่าเจ้าตากคงขัดเคืองว่าไม่ไปเข้าด้วย แลบางทีจะหาเหตุยกลงไปตีเมืองจันทบุรี จึงปฤกษากับขุนรามหมื่นช่อง เห็นว่าที่จะรบพุ่งเจ้าตากซึ่งน่านั้นยากนัก ด้วยว่าเจ้าตากมีฝีมือเข้มแขง ทั้งรี้พลก็ได้เคยทำศึกชำนาญการรบพุ่ง จึงต้องคิดเปนกลอุบายล่อเอาเจ้าตากเข้าไปไว้ในเมืองจันทบุรีเสียก่อน จึงจะคิดกำจัดได้ง่าย คิดกันเช่นนี้แล้ว พระยาจันทบุรีจึงนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูปให้เปนทูตมาเชิญเจ้าตากลงไปที่เมืองจันทบุรี พระสงฆ์ทูตมาถึงเมืองระยองเวลาเจ้าตากอยู่ที่เมืองชลบุรี จึงรอคอยอยู่จนเจ้าตากกลับลงไปถึง เข้าไปทูลว่า พระยาจันทบุรีมีความเจ็บแค้นด้วยข้าศึกมาย่ำยีกรุงศรีอยุทธยา เต็มใจที่จะช่วยเจ้าตากปราบยุคเข็ญให้บ้านเมืองเปนศุขสำราญดังแต่ก่อน เห็นว่าที่เมืองระยองเปนเมืองเล็ก จะเอาเปนที่รวบรวมกองทัพใหญ่นั้นยาก ขอเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี อันเปนที่มีเสบียงอาหารบริบูรณ์ จะได้ปฤกษากันตระเตรียมกองทัพที่จะเข้าไปรบพุ่งพม่า ตีเอากรุงศรีอยุทธยาคืนมาจากข้าศึกให้จงได้ เจ้าตากได้ทราบความตามถ้อยคำของพระสงฆ์ทูตก็ยินดี ให้หยุดพักรี้พลพอหายเหนื่อยแล้ว ก็ให้พระสงฆ์ทูตนำทางยกลงไปเมืองจันทบุรี เมื่อเจ้าตากไปถึงที่บางกระจะหัวแหวน ทางยังห่างเมืองจันทบุรีประมาณ ๒๐๐ เส้น พระยาจันทบุรีให้หลวงปลัดมารับ แลบอกว่าพระยาจันทบุรีได้จัดที่ไว้ให้ตั้งทำเนียบที่พักที่ริมน้ำข้างฟากใต้ตรงเมืองข้าม ให้หลวงปลัดมานำกองทัพไปยังที่ทำเนียบ เจ้าตากก็สั่งกองทัพให้ยกตามหลวงปลัดไป แต่ไปยังไม่ทันจะถึงเมืองจันทบุรี มีผู้บอกให้เจ้าตากทราบว่าพระยาจันทบุรีคบคิดกับขุนรามหมื่นช่องเรียกระดมคนเตรียมไว้ข้างในเมือง จะออกโจมตีกองทัพเจ้าตากเมื่อเวลากำลังข้ามน้ำข้างใต้เมือง เจ้าตากจึงให้รีบไปห้ามกองทัพมิให้ตามหลวงปลัดไปข้ามน้ำ ให้เลี้ยวกระบวนไปทางเหนือ ตรงเข้าไปตั้งที่วัดแล้วห่างประตูท่าช้างเมืองจันทบุรีประมาณ ๕ เส้น พระยาจันทบุรีเห็นเจ้าตากไม่ข้ามฟากไปตามประสงค์ แลกลับเข้ามาตั้งประชุมพลอยู่ที่ริมเมืองก็ตกใจ รีบให้ไพร่พลขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิน แล้วให้ขุนพรหมธิบาลซึ่งเปนพระท้ายน้ำ กับผู้มีชื่อออกไปหาเจ้าตาก ให้ไปพูดจาชี้แจงขอเชิญเจ้าตากเข้าไปพบปะกับพระยาจันทบุรีที่ในเมือง เจ้าตากจึงสั่งขุนพรหมธิบาลให้กลับเข้าไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เดิมพระยาจันทบุรีให้พระสงฆ์เปนทูตไปเชิญเราให้มาปฤกษาหารือ เพื่อจะช่วยกันคิดอ่านกู้กรุงศรีอยุทธยา เราเข้าใจว่าเปนการเชื้อเชิญโดยสุจริตจึงได้มาตามประสงค์ ตัวเราเดิมก็ได้เปนเจ้าเมืองถือศักดินาหมื่น มียศใหญ่เปนผู้ใหญ่กว่าพระยาจันทบุรี ครั้นมาถึงเมืองพระยาจันทบุรีมิได้ออกมาหาสู่ต้อนรับตามฉันผู้น้อยกับผู้ใหญ่ กลับเรียกระดมคนเข้าประจำรักษาน่าที่เชิงเทิน แลคบหาขุนรามหมื่นช่องซึ่งได้ทำลายเราถึง ๒ คราวเข้าไว้เปนมิตร พระยาจันทบุรีทำเหมือนหนึ่งว่าเปนข้าศึกกับเราดังนี้ จะให้เราเข้าไปหาถึงในเมืองอย่างไร ถ้าจะให้เราเข้าไปก็ให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเราก่อน ฤๅมิฉนั้นก็จงส่งตัวขุนรามหมื่นช่องออกมา ให้มาทำสัตย์สาบาลให้เราวางใจได้ก่อน ถ้าทำได้เช่นนั้นแล้วเราก็จะเห็นความสุจริตของพระยาจันทบุรี จะรักใคร่นับถือเหมือนกับเปนพี่เปนน้องกันต่อไป ขุนพรหมธิบาลนำความกลับเข้าไปบอกพระยาจันทบุรี ๆ ก็หาออกมาไม่ ขุนรามหมื่นช่องก็ไม่ส่งออกมา เปนแต่ให้หาสำรับเครื่องเลี้ยงดูออกมาส่ง แลให้มาทูลเจ้าตากว่า ขุนรามหมื่นช่องมีความกลัวไม่ยอมออกมา พระยาจันทบุรีมิรู้ที่จะทำอย่างไรให้ออกมาได้ เจ้าตากก็ขัดพระทัย สั่งให้กลับเข้าไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เมื่อไม่เห็นแก่ไมตรีแล้วก็จงรักษาเมืองไว้ให้ดีเถิด ฝ่ายพระยาจันทบุรีเห็นว่ารี้พลของตนมีมากกว่าเจ้าตาก ก็ให้ปิดประตูรักษาเมืองมั่นคงไว้.

ขณะนั้นเจ้าตากตกอยู่ในที่คับขัน เพราะเข้าไปตั้งอยู่ในชานเมือง ข้าศึกอยู่ในเมืองมีกำลังมากกว่า เปนแต่ข้าศึกครั่นคร้ามเกรงฝีมือไม่กล้ายกออกมาโจมตีซึ่งน่า แต่ถ้าหากเจ้าตากล่าถอยออกไปเมื่อใด ก็อาจจะออกล้อมไล่ตีตัดได้หลายทาง เพราะเปนถิ่นของข้าศึก จะตั้งอยู่อย่างนั้นต่อไปก็ไม่ได้ด้วยอัตคัด แลเหมือนหนึ่งคอยให้ข้าศึกเลือกเวลาทำเอาตามชอบใจ เจ้าตากมีอุปนิไสยเปนนักรบ ก็แลเห็นทันทีว่าต้องชิงทำข้าศึกก่อนจึงจะไม่เสียที จึงเรียกนายทัพนายกองทั้งปวงมาสั่งว่า เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงเข้าเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ ให้เททิ้งอาหารที่เหลือแลต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินเข้าเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว นายทัพนายกองเคยเห็นอาญาสิทธิ์ของเจ้าตากมาแต่ก่อนก็ไม่มีใครกล้าขัดขืน ต้องกระทำตาม ครั้นเวลาค่ำเจ้าตากจึงกะน่าที่ให้ทหารไทยจีนลอบไปซุ่มอยู่มิให้พวกชาวเมืองรู้ตัว สั่งให้คอยฟังเสียงปืนสัญญาเข้าปล้นเมืองให้พร้อมกัน แต่อย่าให้ออกปากเสียงอื้ออึง จนพวกไหนเข้าเมืองได้จึงให้โห่ร้องขึ้นเปนสำคัญให้พวกทางด้านอื่นรู้ ครั้นตระเตรียมพร้อมเสร็จพอได้ฤกษ์เวลา ๓ ยามเจ้าตากก็ขึ้นทรงคอช้างพังคิรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาบอกพวกทหารให้เข้าปล้นเมืองพร้อมกันทุกน่าที่ ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าพังประตูเมือง ขณะนั้นพวกชาวเมืองซึ่งรักษาน่าที่ยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเปนอันมาก นายท้ายช้างที่นั่งเห็นลูกปืนพวกชาวเมืองหนานัก เกรงจะมาถูกเจ้าตาก จึงเกี่ยวช้างที่นั่งให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระไทยชักพระแสงหันมาจะฟัน นายท้ายช้างตกใจร้องทูลขอชีวิตร แล้วไสช้างกลับเข้าชนบานประตูเมืองพังลง พวกทหารก็กรูกันเข้าเมืองได้แล้วโห่ร้องขึ้น พวกชาวเมืองรู้ว่าข้าศึกเข้าเมืองได้แล้ว ต่างก็ละทิ้งน่าที่พากันแตกหนี ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เมื่อเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้นั้น เปนวันอาทิตย์ เดือน ๗ ปีกุญ๑๐ พ.ศ. ๒๓๑๐ เสียกรุงศรีอยุทธยาแล้วได้ ๒ เดือน.

เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ก็ให้เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมายังภูมิลำเนาตามเดิม แสดงเมตตาอารีให้ปรากฎว่ามิได้ถือโทษผู้ที่ได้เปนสัตรูต่อสู้มาแต่ก่อน ครั้นเห็นว่าเมืองจันทบุรีเรียบร้อยอย่างเดิมแล้ว จึงยกกองทัพเรือลงไปยังเมืองตราษ พวกกรมการแลราษฎรพากันเกรงกลัวยอมอ่อนน้อมโดยดีทั่วทั้งเมือง แลขณะนั้นมีสำเภาจีนมาทอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราษหลายลำ เจ้าตากให้ไปเรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนแล้วกลับยิงเอาข้าหลวง เจ้าตากทราบก็ลงเรือที่นั่งคุมเรือรบลงไปล้อมสำเภาไว้ แล้วให้บอกพวกจีนให้มาอ่อนน้อมโดยดี พวกจีนก็หาฟังไม่ กลับเอาปืนใหญ่น้อยระดมยิง รบกันอยู่ครึ่งวันเจ้าตากก็ตีได้เรือสำเภาจีนทั้งหมด ได้ทรัพย์สิ่งของเปนกำลังการทัพเปนอันมาก เจ้าตากจัดการเมืองตราษเรียบร้อยแล้วก็กลับขึ้นมาตั้งอยู่ณเมืองจันทบุรี แต่นี้ไปเจ้าตากก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดตลอดทุกหัวเมืองชายทเลตวันออก จึงตั้งต้นตระเตรียมการที่จะเข้ามาทำสงครามกู้กรุงศรีอยุทธยา ดังจะกล่าวต่อไปในตอนข้างน่า.



  1. ๑. ในประกาศพิธีตรุษของเจ้านครฯ ใช้นามเปนภาษาบาฬีว่า มุสิกะ จึงสันนิษฐานว่า เดิมคงจะชื่อหนู.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระยาเพ็ชรบุรียกออกรบพม่า พระยาตากแอบดูเสียไม่ช่วย ถ้าเช่นนั้นคงเปนโทษเสียแล้ว เห็นว่าความจริงคงเปนเช่นกล่าวในหนังสือนี้.

  3. ๓. วัดพิไชยอยู่ใกล้สถานีอยุทธยาข้างด้านใต้

  4. ๔. นัยหนึ่ง เรียกว่าบ้านโพธิ์สาวหาร

  5. ๕. บ้านกบแจะนี้ ภายหลังยกขึ้นเปนเมืองปจันตคาม ขึ้นเมืองปราจิณบุรี.

  6. ๖. เมืองบันทายมาศนี้ เรียกอิกชื่อหนึ่งว่า เมืองฮาเตียนอยู่ในเขตรกรุงกัมพูชา สมัยนั้นขึ้นกรุงศรีอยุทธยา.

  7. ๗. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าตากรู้เท่าความคิดพระยาจันทบุรี แต่เมื่อพิเคราะห์ดูตามเรื่องที่ปรากฎต่อไป เห็นว่าในตอนนี้เห็นจะยังไม่รู้ว่าพระยาจันทบุรีคิดร้าย

  8. ๘. เดี๋ยวนี้เรียกบางกระจะตำบล ๑ เขาพลอยแหวนตำบล ๑ อยู่ไม่ห่างกัน แต่โบราณเรียกรวมกันว่า บางกระจะหัวแหวน

  9. ๙. ผู้ที่พระยาจันทบุรีใช้ออกไปคราวนี้ ทีจะเปนผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับเจ้าตากมาแต่ก่อน แลขุนพรหมธิบาลอันเปนที่พระท้ายน้ำนั้น เห็นจะเปนข้าราชการในกรุง ฯ ที่หนีข้าศึกออกไปได้.

  10. ๑๐. สอบกับปฏิทินได้ความว่าเดือน ๗ นั้น ขึ้น ๕ ค่ำ ขึ้น ๑๑ ค่ำ แรม ๓ ค่ำ แรม ๑๐ ค่ำ เปนวันอาทิตย์ทั้ง ๔ วัน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ