- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
เรื่องสงครามคราวนี้ เนื้อความในหนังสือพระราชพงษาวดารกับพงษาวดารพม่าแตกต่างกันตอนปลาย แต่ข้างตอนต้นยุติต้องกันว่า ตั้งแต่พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาแตกพ่ายไปจากเมืองไทย ๒ คราวติด ๆ กัน พระเจ้าปดุงก็เข็ดขยาดฝีมือไทยไม่ยกมารบอิก.
แต่เมื่อกิติศัพท์เลื่องฦๅแพร่หลายไป ว่าไทยมีไชยชนะพระเจ้าปดุง พวกหัวเมืองประเทศราชลื้อเขินซึ่งเปนเมืองขึ้นพม่าอยู่ข้างเหนือ มีเมืองเชียงรุ้งแลเมืองเชียงตุงเปนต้น ก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าปดุงเกรงหัวเมืองลื้อเขินจะมาเข้ากับไทยเสียหมด จึงให้กองทัพใหญ่ยกมาปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐.
กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ ในพงษาวดารพม่าว่าพระเจ้าปดุงให้หวุ่นยีมหาไชยสุระเปนแม่ทัพ ถือพล ๔๕,๐๐๐ ยกลงมาทางหัวเมืองไทยใหญ่ ครั้นมาถึงเมืองนาย หวุ่นยีมหาไชยสุระจึงแบ่งกองทัพออกเปนหลายกอง ให้แยกกันไปเที่ยวปราบปรามหัวเมืองลื้อเขินที่กระด้างกระเดื่อง แลให้จอข่องนรทาคุมพลกอง ๑ มีจำนวน ๕,๐๐๐ ยกลงมาปราบปรามหัวเมืองในแว่นแคว้นลานนา ในหนังสือพระราชพงษาวดารจึงกล่าวถึงแต่เฉภาะกองทัพจอข่องนรทานี้ ว่ายกลงมาตีเมืองฝาง ซึ่งอยู่ตอนลุ่มแม่น้ำโขงข้างเหนือเมืองเชียงใหม่ ครั้นได้เมืองฝางแล้ว ก็ตั้งกองทัพทำนาหาเสบียงอาหารอยู่ที่นั่น กำหนดว่าจะลงมาตีเมืองนครลำปางต่อระดูแล้ง.
ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ร้างอยู่ โปมะยุง่วนพม่าซึ่งเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่แต่ก่อนนั้นหลบหนีไทยไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน เดิมมีกำลังประมาณ ๓,๐๐๐ แต่ไพร่พลล้มตายหลบหนีไปเสียมาก เหลืออยู่ไม่ถึงพัน ก็ได้แต่ตั้งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่ ไม่กล้ากลับเข้ามาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ แลเมื่อจอข่องนรทามาตีเมืองฝางนั้น สั่งให้โปมะยุง่วนคุมกองทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงแสนไปสมทบด้วย โปมะยุง่วนรวบรวมกำลังได้ไปแต่ ๕๐๐ คน ด้วยไพร่พลร่อยหรอเสียมากดังกล่าวมาแล้ว จะเปนเพราะจอข่องนรทาแบ่งเอาคนไว้เสียบ้าง ฤๅจะไปล้มหายตายจากอิกอย่างไรอย่างหนึ่ง ครั้นพม่าได้เมืองฝางแล้ว โปมะยุง่วนกลับมาเมืองเชียงแสนมีจำนวนไพร่พลพม่าเหลือเปนกำลังรักษาเมืองลดน้อยลงไปอิก ขณะนั้นเจ้าเมืองในแว่นแคว้นลานนาซึ่งต้องอยู่ในอำนาจพม่าด้วยจำใจเห็นได้ท่วงที พระยาแพร่ ชื่อมังไชย กับพระยายองจึงรวบรวมพลเมืองเข้าเปนกองทัพยกไปตีเมืองเชียงแสน โปมะยุง่วนสู้ไม่ได้หนีเข้ามาหมายจะอาไศรยเมืองเชียงราย พระยาเชียงรายนั้นก็ไม่พอใจจะอยู่ในอำนาจพม่าเหมือนกัน จึงจับตัวโปมะยุง่วนส่งให้พระยาแพร่มังไชย ๆ กับพระยายองก็คุมตัวโปมะยุง่วนเข้ามาให้พระยากาวิละณเมืองนครลำปาง พระยากาวิละจึงบอกส่งลงมากรุงเทพ ฯ ทั้งพระยาแพร่มังไชย พระยายอง แลโปมะยุง่วนนายทัพพม่า โปรดให้ซักถามคำให้การโปมะยุง่วน ๆ ให้การว่ากองทัพพม่าจะมาตีเมืองนครลำปางในระดูแล้ง แลจะมาตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ต่อไป.๑
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ทรงทราบความคิดพม่าที่จะกลับมาปกครองแว่นแคว้นลานนาอย่างเมื่อครั้งกรุงเก่า ทรงพระราชดำริห์ว่า ที่พม่ามาตีเมืองไทยได้แต่ก่อน ก็ด้วยอาไศรยเสบียงแลพาหนะในแว่นแคว้นลานนาเปนกำลังมาทุกคราว จะปล่อยให้พม่ามาตั้งอยู่เมืองเชียงใหม่ไมได้ จึงโปรดให้พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางแบ่งครอบครัวพลเมืองจากนครลำปางขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เมืองนครลำปางให้นายคำโสมน้องชายพระยากาวิละเปนเจ้าเมือง แต่เมืองลำพูนนั้นยังต้องทิ้งให้ร้างอยู่ ด้วยผู้คนยังไม่พอจะให้กลับตั้งเปนเมืองได้ พระยากาวิละขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ผู้คนที่มีไปเปนกำลังยังน้อยนัก จึงตั้งอยู่ที่เมืองป่าซาง ซึ่งเปนเมืองเดิม อยู่ใต้เมืองเชียงใหม่ลงมา.๒
ในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ นั้น โปรดให้กองทัพเมืองสวรรคโลก แลเมืองกำแพงเพ็ชรยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละรักษาเมืองป่าซาง แต่ผู้ใดจะเปนแม่ทัพขึ้นไปหาปรากฎไม่ ครั้นระดูแล้ง หวุ่นหยีมหาไชยสุระแม่ทัพพม่าทางเหนือ ยกกองทัพลงมาจากเมืองเชียงตุง ตีได้เมืองเชียงแสนเชียงรายแล้ว สมทบกับกองทัพจอช่องนรทาที่ตั้งอยู่ณเมืองฝาง ยกลงทางเมืองพเยามาตีเมืองนครลำปาง ในขณะนั้นพระเจ้าปดุงให้กองทัพพม่าอิกทัพ ๑ เลตะละสิหีะสิงครันเปนแม่ทัพ มีจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ ยกมาจากเมืองเมาะตมะ ทางท่าตาฝั่งแขวงเมืองยวม ตรงมาตีเมืองป่าซางด้วยพร้อมกัน พระยากาวิละยับกองทัพเมืองกำแพงเพ็ชรเมืองสวรรคโลกยกออกตีกองทัพพม่า พม่าไม่แตกไป จึงตั้งมั่นรักษาเมืองไว้ ฝ่ายกองทัพหวุ่นยีมหาไชยสุระซึ่งยกลงมาจากทางข้างเหนือ มาถึงเมืองนครลำปางก็เข้าตีเมือง พระยานครลำปางคำโสมต่อสู้ป้องกันเมืองเปนสามารถ พม่ายกเข้าปล้นเมืองป่าชางแลเมืองนครลำปางหลายครั้งก็ไม่ได้เมือง จึงตั้งค่ายล้อมไว้ทั้ง ๒ แห่ง หวังจะตัดเสบียงอาหารให้คนในเมืองอดอยากระส่ำระสายเสียก่อน จึงจะยกเข้าหักเอาเมืองต่อภายหลัง.
ในขณะนั้นั้กรุงเทพพระมหานครกำลังเตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองทวาย ดังจะปรากฎเรื่องราวต่อไปในตอนข้างน่า ครั้นได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองป่าซางอิกทัพ ๑ แลกองทัพพม่าที่ยกลงมาตีเมืองนครลำปาง ก็เปนทัพใหญ่ยิ่งกว่าที่มาตีเมืองฝาง ดังได้ทรงทราบข่าวอยู่แต่ก่อน จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ ขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครลำปางเมื่อเดือน ๔ ในพงษาวดารพม่าว่าพอไทยยกกองทัพขึ้นไปถึง ก็เข้าตั้งค่ายโอบพม่าที่ล้อมเมือง แลให้กองทัพไปสกัดทางมิให้แม่ทัพใหญ่ส่งกำลังมาช่วยกองทัพที่ตั้งล้อมเมืองได้ แล้วให้สัญญากับพวกในเมืองนครลำปางพร้อมกันระดมตีค่ายพม่า รบกันอยู่ ๓ คืนกับ ๔ วัน ถึงเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ กองทัพพม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีกลับไปเมืองเชียงแสน ครั้นไทยมีไชยชนะพม่าที่เมืองนครลำปางแล้ว ก็ยกขึ้นไปยังเมืองป่าซาง เข้าตีกองทัพพม่าที่มาตั้งล้อมเมืองอยู่ ฝ่ายพระยากาวิละเห็นกองทัพไทยยกขึ้นไปช่วย ก็ยกออกตีพม่าจากในเมืองอิกทาง ๑ กองทัพพม่าที่มาล้อมเมืองป่าซางนั้นก็แตกหนีกลับไปเหมือนกัน ครั้นเสร็จการสงคราม กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับ จึงโปรดให้เชิญพระพทธรูป อันทรงพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์ ลงมากรุงเทพฯ ด้วยในคราวนี้๓
พระพุทธสิหิงค์นี้ เปนพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องตำนานแต่งไว้แต่โบราณ ว่าเดิมพระมหากระษัตริย์ครองสิงหฬทวีปองค์ ๑ ให้หล่อขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชให้ไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วงรามคำแหงพระเจ้ากรุงศุโขไทยทรงสักการะบูชา พระพุทธสิหิงค์อยู่ที่พระนครศุโขไทยหลายชั่วกระษัตริย์ จนสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ ณกรุงศรีอยุทธยาได้แว่นแคว้นศุโขไทยเปนเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุทธยา แล้วพระยาญาณดิศเจ้าเมืองกำแพงเพ็ชรทูลขอไปไว้ได้หน่อยหนึ่ง พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพลงมาตีเมืองกำแพงเพ็ชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเปนไมตรี พระยามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ณเมืองเชียงรายกับพระแก้วมรกฎด้วยกัน อยู่มาพระยามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าเชียงใหม่แสนเมืองมาผู้เปนหลาน พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงราย จึงเชิญพระแก้วมรกฎกับพระพุทธสิหิงค์มาเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระไชยเชษฐาเชิญพระแก้วไปไว้กรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระพุทธสิหิงค์ยังคงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ จนสมเด็จพระนารายน์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุทธยา ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ตลอดเวลา ๑๐๕ ปี ครั้นพม่าตีกรุงเก่าได้ เวลานั้นพวกชาวเชียงใหม่ยังอยู่กับพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระราชดำริห์ว่า พระพุทธสิหิงค์เปนพระพุทธรูปสำคัญ เคยอยู่ในกรุงศรีอยุทธยามาช้านาน จึงโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วทูลขอไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ถวายเปนพระพุทธบูชา พระพุทธสิหิงค์อยู่ในพระราชวังบวร ฯ จนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จึงโปรดให้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งที่ฐานชุกชีข้างด้านใต้๔ อยู่ที่นั่นตลอดรัชกาลที่ ๑ แลต่อมาในรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญกลับไปไว้ในพระราชวังบวรฯ พระพุทธสิหิงค์จึงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
-
๑. คำให้การของโปมะยุง่วนเปนเรื่องพงษาวดารพม่ามีอิกฉบับ ๑ เรียกคำให้การมะยิหวุ่น ฤๅคำให้การชาวอังวะ หอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์แล้ว. ↩
-
๒. ความต่อไปตอนนี้ หนังสือพระราชพงษาวดารแตกต่างกับพงษาวดารพม่าเปนข้อสำคัญ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง พม่าไม่ยกลงมา จึงทรงจัดตั้งเมืองเชียงใหม่ แล้วเสด็จยกกองทัพกลับมา หาได้รบกับพม่าในคราวนี้ไม่ แต่พงษาวดารพม่ายุติต้องกับหนังสือตำนานโยนก (น่า ๓๖๖) ว่าได้รบพุ่งกันมาก พิเคราะห์ดูรายการที่กล่าวในหนังสือพงษาวดารพม่าดูมีหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงลงความตอนต่อไปนี้ไป ตามพงษาวดารพม่าแลตำนานโยนกประกอบกัน. ↩
-
๓. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เชิญมาเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ นั้นผิดไป ↩
-
๔. แต่เดิมเข้าใจว่าตั้งบนฐานชุกชีด้านน่า ตรงตั้งพระสัมพุทธพรรณีบัดนี้ พึ่งพบจดหมายเหตุปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสคารามในรัชกาลที่ ๓ จึงทราบว่าพระพุทธสิหิงค์ตั้งอยู่ด้านใต้ ↩