- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ตอนที่ ๕
จะกลับกล่าวถึงกองทัพอังกฤษที่ตั้งอยู่ณเมืองร่างกุ้ง เมื่อเห็นพม่าเกณฑ์กองทัพเพิ่มเติมลงมาตั้งค่ายรายดักทางมากขึ้น เซอร์อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพก็ให้กองทหารอังกฤษออกตีค่ายพม่า ได้สู้รบกันเปนหลายครั้ง พม่าทนปืนใหญ่อังกฤษไม่ได้ก็แตกหนี แต่อังกฤษจะติดตามต่อไป กำลังแลพาหนะยังไม่พอ ก็ได้แต่เผาค่ายพม่าเสียแล้วถอย กลับมารักษาเมืองร่างกุ้งอย่างเดิม พม่าก็กลับมาตั้งค่ายอิก ด้วยกำลังเปนเวลาระดูฝน อังกฤษจะส่งผู้คนพาหนะเพิ่มเติมมาจากอินเดียยังไม่ถนัด รัฐบาลอังกฤษในอินเดียจึงอนุญาตให้เซอร์อาชิบัลด์ แคมป์เบล แบ่งกำลังลงมาตีหัวเมืองขึ้นพม่าทางชายทเลไปพลาง เรือกำปั่นรบอังกฤษลงมาเมืองทวายเมื่อเดือน ๑๐ พม่าเจ้าเมืองทวายจะต่อสู้ แต่พวกทวายที่เปนกรมการกับราษฎรเกิดเปนขบถไปเข้ากับอังกฤษ ๆ ก็ได้เมืองทวายโดยง่าย ครั้นได้เมืองทวายแล้วลงมาตีเมืองมฤทในเดือน ๑๑ ก็ได้เมืองมฤท ด้วยไม่มีผู้ใดต่อสู้ อังกฤษเห็นได้ทีจึงไปตีเมืองเมาะตมะเมื่อปลายเดือน ๑๑ นั้น พวกมอญก็เอาใจออกหากจากพม่ามาเข้ากับอังกฤษ มหาอุจจนาพม่าผู้เปนเทศาภิบาลมณฑลเมาะตมะเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ก็ให้เผาเมืองเมาะตมะเสีย แล้วพาสมัคพรรคพวกถอยหนีขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองสะเทิมข้างฝ่ายเหนือ อังกฤษก็ได้เมืองเมาะตมะโดยง่าย แล้วให้ลงมาตีเมืองเร้ ก็ได้เมืองเร้อิกเมือง ๑ แต่เมื่ออังกฤษได้เมืองทั้งปวงนี้แล้ว กำลังกองทัพยังไม่พอที่จะปกครองรักษา จึงได้แต่ให้นายทหารคุมกำลังตั้งรักษาอยู่กลางเมือง ๆ ละกอง ๑.
ฝ่ายพระยารัตนจักรที่คุมกองมอญล่วงน่าไปจากกรุงเทพ ฯ เข้าไปในแดนพม่าเมื่อเดือน ๑๒ ไปถึงหัวเมืองรายทางที่อยู่ต่อติดกับแดนไทย พวกมอญที่เปนเจ้าเมืองกรมการพากันมาต้อนรับโดยดี บอกว่าเดี๋ยวนี้พม่าเกิดรบกับอังกฤษ พวกมอญไม่เข้ากับพม่า จะขอเปนข้าสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ส่วนเจ้าเมืองขะเมิง เจ้าเมืองทรา ๒ เมืองนี้รับว่าถ้ากองทัพเจ้าพระยามหาโยธายกออกไปเมื่อใด จะจัดกองทัพมอญในพื้นเมืองกำลัง ๓,๐๐๐ คนช่วยรบพม่าด้วยอิกทัพ ๑ แลบอกพระยารัตนจักรว่า พวกมอญที่อยู่ทางชายทเล เมื่ออังกฤษยกกองทัพเรือมาตีเมืองเมาะตมะก็พากันไปเข้ากับอังกฤษทั้งนั้น อังกฤษบอกกับมอญว่าจะรักษาเมืองเมาะตมะไว้ให้กับไทย พระยารัตนจักรสืบข้อราชการได้ความดังนี้แล้วก็กลับมา มาพบกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาที่ด่านหลุมช้างแขวงเมืองไทรโยคเมื่อเดือนอ้าย แจ้งความทั้งปวงให้เจ้าพระยามหาโยธาทราบ เจ้าพระยามหาโยธาก็รีบยกกองทัพเข้าไปในแดนพม่าในเดือนอ้ายนั้น ไปตั้งอยู่ที่เมืองเตรีนอันเปนหัวเมืองใหญ่เมือง ๑ ในมณฑลหัวเมืองมอญของพม่า๑ เพราะพระยาเจ่งบิดาของเจ้าพระยามหาโยธาเคยได้เปนเจ้าเมืองนั้นอยู่เมื่อก่อนอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย เจ้าพระยามหาโยธาเองก็เกิดที่เมืองนั้น ครั้นกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาไปถึงเมืองเตรีน พวกมอญที่เปนเจ้าเมืองกรมการเมืองนั้น แลเมืองใกล้เคียงก็พากันมาอ่อนน้อมยอมอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยามหาโยธา ว่ากล่าวหัวเมืองมอญตอนที่อังกฤษยังไปไม่ถึงได้ทั่วไป.
ตรงนี้จะต้องอธิบายข้อที่พระยารัตนจักรสืบได้ความว่าอังกฤษจะรักษาเมืองเมาะตมะไว้ให้แก่ไทย ความข้อนี้เปนความจริงมีปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุอังกฤษว่า เดิมอังกฤษคิดจะยกหัวเมืองขึ้นของพม่าข้างใต้ ตอนที่ต่อติดกับแดนไทย ตั้งแต่เมืองเมาะตมะมาจนถึงเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤทให้แก่ไทยทั้งสิ้น เพราะต้นเค้าความประสงค์ของอังกฤษที่ทำสงครามกับพม่าครั้งนั้นมี ๒ ประการ คือประการที่ ๑ ประสงค์จะตัดรอนกำลังพม่าให้น้อยลง อย่าให้ไปทำร้ายรบกวนเขตรแดนของอังกฤษได้ดังแต่ก่อน ประการที่ ๒ ประสงค์จะขยายการค้าขายของอังกฤษหาผลประโยขน่ให้แพร่หลายมาทางตวันออกให้ตลอดทั้งเมืองพม่าแลเมืองไทย.
ความข้อต้นที่จะตัดกำลังพม่านั้น อังกฤษคิดจะเอาเมืองขึ้นของพม่าที่เปนเมืองต่างชาติต่างภาษาออกจากอำนาจพม่าให้หมด เมืองเหล่านี้ คือ เมืองมณีบุระ เมืองอัสสัม แลเมืองยะไข่อยู่ต่อทางอินเดีย จะเอาไปเปนของอังกฤษ แต่หัวเมืองมอญอยู่ทางด้านตวันออกต่อกับแดนไทย อังกฤษจึงคิดจะยกให้เสียแก่ไทย แต่ความคิดที่จะยกให้นั้นมิได้คิดจะให้เปล่าๆ อังกฤษคิดจะแลกเอาประโยชน์ในการค้าขายจากไทย ตังจะกล่าวต่อไปในข้อข้างน่า.
ความข้อ ๒ ซึ่งอังกฤษคิดจะขยายการค้าขายหาผลประโยชน์นั้น เพราะในสมัยนั้นอังกฤษจะไปค้าขายในประเทศที่เปนเอกราชทางตวันออก คือ พม่า ไทย ญวน จีน ญี่ปุ่น ยังไม่ได้สดวก ด้วยชาวตวันออกยังมีความรังเกียจฝรั่งอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ความคิดของรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ตั้งใจจะบังคับพม่าเมื่อต้องทำสัญญายอมแพ้สงคราม ให้ยอมให้อังกฤษไปมาค้าขายในเมืองพม่าได้โดยสดวก แต่เมืองไทยนั้นอังกฤษจะทำให้พอใจไทย ด้วยได้แผ่อาณาเขตรกว้างขวางออกไป ให้ไทยยอมให้อังกฤษเข้ามาค้าขายในเมืองไทยได้สดวกเหมือนกัน กับทั้งจะแก้ไขการเกี่ยงแย่งทางเมืองไทรให้เรียบร้อยดังกล่าวมานั้นด้วย ความคิดที่อังกฤษจะยกหัวเมืองมณฑลเมาะตมะให้แก่ไทยเพราะเหตุดังกล่าวมานี้.
ฝ่ายทางกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๑๒ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ครอเฟิดมีหนังสือเข้ามาถึงเจ้าพระยาพระคลังอิกฉบับ ๑ บอกว่าอังกฤษตีเมืองทวายได้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน (ตรงกับวันที่ ๕ ฯ๒ ๑๐ ค่ำ) แล้วตีเมืองมฤทได้เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม (ตรงกับวันที่ ๕ ๑๔ฯ ๑๑ ค่ำ) หวังใจว่าเจ้าพนักงานไทยที่รักษาเมืองต่อแดนกันจะเปนไมตรีกับนายทหารอังกฤษที่รักษาเมืองทั้ง ๒ นั้น จดหมายฉบับนี้เจ้าพระยาพระคลังยังไม่ตอบไปจนเดือนยี่ เห็นจะเปนด้วยไม่เชื่อถือถ้อยคำครอเฟิด จะรอสืบสวนทางอื่นประกอบดั่งครั้งก่อน.
ครั้นถึงเดือนอ้าย ชาวด่านเมืองราชบุรีจับได้ทวายที่ด่านปักการีมีธงอังกฤษอยู่กับตัวส่งมาคน ๑ ให้การว่าอังกฤษให้มารักษาด่าน ต่อมาพระยาชุมพรให้คุมเรือรบ ๙ ลำขึ้นไปจับพม่าถึงปากน้ำเมืองทวาย ได้ครัวพม่า ๗๐ เศษ ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ถามชเลยพม่าแลทวายให้การยุติต้องกันว่า อังกฤษลงมาตีได้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤทแล้ว แลผู้คนในพื้นเมืองก็อ่อนน้อมยอมเข้ากับอังกฤษโดยมาก ที่ในกรุงเทพฯ จึงได้เชื่อว่าอังกฤษได้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี แลเมืองมฤทจริง.
ครั้นใบบอกเจ้าพระยามหาโยธาบอกข้อราชการทางเมืองเมาะตมะดังกล่าวมาแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อต้นเดือนยี่ (ความปรากฎในท้องตราว่า) ทรงพระดำริห์เห็นว่า ลักษณะการสงครามทางเมืองพม่าผันแปรไป ไม่เหมือนกับที่คาดไว้แต่แรก ด้วยแต่เดิมคาดว่าผู้คนพลเมืองจะต่อสู้ไทย ก็กลับไปเปนข้าศึกพม่า มาอ่อนน้อมต่อไทยบ้าง ไปอ่อนน้อมต่ออังกฤษบ้าง จะเอากำลังไปกวาดต้อนครอบครัวมาโดยฐานที่เปนข้าศึกก็ไม่สมควร จะต้องคิดอ่านการสงครามทางเมืองพม่าเปนอย่างอื่น แต่กำลังกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาที่ยกไปยังน้อยนัก จึงโปรดให้พระยามหาอำมาตย์แบ่งกำลังที่เกณฑ์ไว้ที่เมืองตากส่งไปสมทบเจ้าพระยามหาโยธากอง ๑ ให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองชั้นใน ให้พระยาพิพัฒโกษายกหนุนเจ้าพระยามหาโยธาไปอิกกอง ๑ แล้วเกณฑ์กองทัพจำนวนพล ๓,๐๐๐ ให้พระยาสุรเสนาคุมเปนกองน่า ยกจากกรุงเทพฯ ในเดือนยี่นั้น ไปตั้งอยู่ที่แม่น้ำน้อยใกล้พรมแดน แล้วให้เตรียมกองทัพหลวงไว้ในกรุงเทพฯ อิกทัพ ๑ ถ้ามีเหตุสมควรจะยกเมื่อใด จะโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายกเปนแม่ทัพใหญ่ยกออกไป แลครั้งนั้นโปรดให้มีตราสั่งพระเจ้านครลำปาง ดวงทิพ ซึ่งเปนผู้ใหญ่อยู่ในเจ้านายมณฑลพายัพในสมัยนั้น ให้คิดอ่านกับเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เกณฑ์กองทัพมณฑลพายัพยกไปตีเมืองพม่าด้วยอิกทาง ๑ แต่จะมีท้องตราสั่งเจ้าพระยามหาโยธาแลพระยาชุมพรในตอนนี้ประการใดหาปรากฎไม่ ด้วยท้องตราพระราชสีห์ที่มีสำเนาในหอพระสมุด ฯ สิ้นความเพียงเท่านี้.
-
๑. เมืองนี้ในท้องตราเรียกว่า เมืองเตรีน ในแผนที่อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน. ↩