- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ตอนที่ ๑
อังกฤษมีสาเหตุที่จะเปนอริกับพม่ามาตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าปดุง ด้วยในระหว่างเมืองพม่ากับเขตรแดนอินเดียของอังกฤษ มีเมืองประเทศราชน้อยๆ หลายประเทศ คือประเทศยะไข่อยู่ข้างใต้ ประเทศมณีบุระอยู่ข้างเหนือ ทั้ง ๒ นี้เขตรติดต่อกับแดนพม่า พ้นประเทศยะไข่แลมณีบุระไปทางทิศตวันตกมีประเทศอัสสัมแลกะชา ซึ่งอยู่ติดกับแดนเมืองบังกล่าของอังกฤษ แต่ก่อนมาประเทศน้อยๆ เหล่านี้อยู่เปนอิศระ เวลาใดพม่ามีอำนาจมาก เช่นครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองยกกองทัพไปย่ำยี สู้ไม่ได้ก็ต้องยอมขึ้นพม่า ครั้นพม่าถอยกำลังลงเมื่อใดก็กลับตั้งตัวเปนอิศระไปใหม่ ในแผ่นดินพระเจ้าปดุงพม่ารบพุ่งขยายอาณาเขตรออกไปได้เมืองประเทศราชน้อยๆ เหล่านั้นไว้ในอำนาจทั้งหมดแล้ว เลยบุกรุกเข้าไปในเขตรแดนอินเดียของอังกฤษบางแห่ง แต่ในสมัยนั้นอังกฤษยังติดการสงครามอยู่ทางอื่น จึงผ่อนผันทำใจดีต่อพม่า ครั้นมาถึงแผ่นดินพระเจ้าจักกายแมง อังกฤษเสร็จการสงครามทางอื่นแล้ว เมื่อเมืองมณีบุระกำเริบขึ้น พระเจ้าจักกายแมงให้กองทัพพม่ายกไปตีเมืองมณีบุระแลเมืองอัสสัมอังกฤษก็ยังนิ่งอยู่ ต่อมาพม่ายกกองทัพเข้าไปในเขตรแดนเมืองจิตตะเกิงแลเมืองกะซา เจ้าเมืองกะซาได้ไปอ่อนน้อมอยู่กับอังกฤษ ๆ ให้กำลังมาช่วยรักษาเมือง จึงเกิดรบขึ้นกับพม่า เมื่อเดือน ๔ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ แต่แรกรบกันอยู่ในแขวงเมืองจิตตะเกิงแลเมืองอัสสัม อังกฤษเอาไชยชนะพม่าไม่ได้ ด้วยท้องที่เปนป่าดง พม่าถนัดการรบพุ่งในที่เช่นนั้นยิ่งกว่าทหารแขกแลฝรั่ง อังกฤษจึงให้กองทัพเรือรับทหารฝรั่ง ๕,๐๐๐ ทหารแขก ๖,๐๐๐ รวมกันเปน ๑๑,๐๐๐ คน ให้นายพลเซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล เปนแม่ทัพยกลงมาทางทเล เข้าตีเมืองร่างกุ้งเมื่อเดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ฝ่ายพม่าไม่ได้คาดว่าอังกฤษจะยกมาทางทเล ให้กองทัพใหญ่ไปคอยต่อสู้เสียทางเมืองยะไข่แลเมืองมณีบุระ ตระเตรียมต่อสู้รักษาทางปากน้ำไม่ทัน อังกฤษก็ได้เมืองร่างกุ้งโดยง่าย.
อังกฤษพึ่งจะได้รบกับพม่าคราวนี้เปนทีแรก ความปรากฎในจดหมายเหตุซึ่งหอพระสมุด ฯ ได้มาจากเมืองอังกฤษ แลได้พิมพ์ในพวก “หนังสือเบอร์นี” นั้น ว่าอังกฤษมีความคิดปราถนาจะให้ไทยไปช่วยรบพม่ามาตั้งแต่อังกฤษเริ่มเตรียมการสงครามครั้งนี้ ที่อังกฤษต้องการจะให้ไทยช่วยรบพม่านั้นเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ อังกฤษรู้อยู่ว่าพม่ามีกำลังมาก จะปราบปรามให้พม่าพ่ายแพ้ไม่ใช่ง่าย แลรู้อยู่ว่าไทยกับพม่าเปนข้าศึกรบพุ่งกันมาช้านาน มีความพยาบาทมาดร้ายกันอยู่เสมอ เห็นว่าไทยคงจะเต็มใจรบพม่าด้วย หวังว่าถ้าได้กองทัพไทยยกไปตีเมืองพม่าอิกทาง ๑ พม่าก็จะต้องแบ่งกำลังไปรบกับไทยให้เบามืออังกฤษที่จะได้รบพุ่งพม่าได้มาก.
ประการที่ ๒ อังกฤษคิดเห็นอยู่ว่า ที่จะรบพุ่งให้ถึงพม่ารับแพ้ยอมทำสัญญาให้ตามความประสงค์ของอังกฤษนั้น คงจะต้องตีขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ ซึ่งเปนราชธานีของพม่า แต่เมืองอังวะอยู่ห่างไกลทเลขึ้นไปมาก จะต้องยกกองทัพขึ้นไปทางแม่น้ำเอราวดี ต้องการเรือลำเลียงแลช้างม้าพาหนะสำหรับกองทัพบกอิกมากมาย หมายจะได้อาไศรยเรือแลสัตว์พาหนะในเมืองไทยให้จัดส่งไปเปนกำลังกองทัพอังกฤษด้วย.
ประการที่ ๓ อังกฤษกับไทยมีเหตุระแวงกันอยู่ด้วยเรื่องเมืองไทร ด้วยก่อนนั้นมาไม่ช้านัก ไทยยกกองทัพลงไปตีได้เมืองไทร เจ้าพระยาไทรปะแงรันหนีไปอาไศรยอังกฤษอยู่ที่เกาะหมาก อังกฤษเกรงว่าอำนาจไทยจะปกแผ่ต่อลงไปทางหัวเมืองมลายูข้างใต้ จึงประสงค์จะให้เจ้าพระยาไทรได้ครองเมืองดังแต่ก่อน ครั้นเกิดรบขึ้นกับพม่า อังกฤษเห็นเปนโอกาศ จึงคิดจะเอาหัวเมืองขึ้นของพม่าที่อยู่ติดต่อกับแดนไทยยกให้แก่ไทย ขอให้ไทยคืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร อังกฤษจะได้ครอบงำเมืองมลายูทั้งปวงตลอดทางทเลตวันตก ความปราถนาของอังกฤษมีดังกล่าวมานี้.
พออังกฤษประกาศสงครามแล้ว ในเดือน ๔ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๖๖ นั้น ลอร์ดอัมเฮิสต์เจ้าเมืองบังกล่า คือผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษก็มีคำสั่งมายังนายพิลิปส์เจ้าเมืองเกาะหมาก แลหมอยอนครอเฟิดซึ่งเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ให้คิดอ่านว่ากล่าวชักชวนไทยไปช่วยรบพม่า แต่กำชับมาว่าอย่าเพ่อบอกสัญญาแก่ไทย ว่าอังกฤษจะให้ประโยชน์ตอบแทนอย่างไรเปนแน่นอนก่อน.
ข้างฝ่ายไทยสมัยนั้น พึ่งจะได้คุ้นเคยกับอังกฤษในทางการเมืองมาไม่ช้านัก ในรัชกาลที่ ๑ เมื่ออังกฤษมาเช่าเกาะหมากไปจากพระยาไทร ผู้เปนบิดาของเจ้าพระยาไทรปะแงรัน เปนเวลาไทยทำสงครามติดพันอยู่กับพม่า จึงหาได้ว่ากล่าวประการใดไม่ มาในตอนข้างต้นรัชกาลที่ ๒ ไทยก็ยังต้องรบกับพม่า แลครั้งนั้นเจ้าพระยาไทรปะแงรันได้ช่วยราชการทัพศึกแขงแรงมีบำเหน็จความชอบ จึงมิได้ว่ากล่าวถึงเรื่องเกาะหมาก จนอังกฤษจัดการปกครองตั้งเปนเมืองขึ้นของอินเดีย เรียกชื่อว่า “เกาะของปรินส์ออฟเวลส์” เพื่อจะเอาเปนทำเลค้าขายแข่งประเทศอื่น เพราะเวลานั้นเมืองมะละกายังเปนของฮอลันดา เมืองสิงคโปร์ก็ยังเปนเขตรแดนของสุลต่านเมืองมัว ซึ่งเปนอิศระอยู่ทางปลายแหลมมลายู ครั้นต่อมาถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระไทรปะแงรันคิดประทุษฐร้ายต่อไทย ไปเข้าเปนพวกพม่า จึงโปรดให้เจ้าพระยานคร ฯ น้อย ยกกองทัพลงไปตีเมืองไทร เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าพระยาไทรสู้ไม่ได้หนีไปอาไศรยอังกฤษอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ไทยลงไปปกครองรักษาเมืองไทรจึงเกิดการเกี่ยวข้องกับอังกฤษในทางการเมืองแต่นั้นมา.
เรื่องราวของการที่ไทยกับอังกฤษเกี่ยวข้องกันในชั้นแรก ก็ล้วนแต่เปนเรื่องไม่พอใจด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จะยกมาแสดงเปนตัวอย่างแต่บางเรื่อง เช่นเมื่อไทยตีได้เมืองไทรแล้ว เจ้าพระยานครฯ ให้ไปขอตัวเจ้าพระยาไทรต่อเจ้าเมืองเกาะหมาก ว่าเจ้าพระยาไทรมีความผิดเปนขบถต่อกรุงเทพฯ เจ้าเมืองเกาะหมากไม่ยอมส่งว่าเจ้าพระยาไทรเปนผู้หนีร้อนไปพึ่งเย็น มิใช่โจรผู้ร้าย จะส่งให้เปนการผิดประเพณีของเมืองที่เปนอิศระ เจ้าพระยานครฯ ก็ไม่ว่ากระไร ครั้นต่อมาเจ้าพระยาไทรลอบให้สมัคพรรคพวกมาก่อการประทุษฐร้ายต่างๆ ที่ในเมืองไทร เจ้าพระยานครฯ ให้ไปต่อว่าอังกฤษ ๆ ก็ไม่ช่วยปราบปราม เปนแต่ปฏิเสธว่าหาได้รู้เห็นเปนใจด้วยไม่.
คราวนี้อังกฤษให้มาว่าแก่เจ้าพระยานคร ฯ ขอให้งดภาษีขาออก อ้างว่าเมื่อพระยาไทรให้เช่าเกาะหมาก ได้สัญญาว่าจะไม่เก็บภาษีเสบียงอาหารที่อังกฤษซื้อหาเอาไปใช้ที่เกาะหมาก เจ้าพระยานครฯ ตอบว่า เมืองไทรเปนเมืองขึ้นกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ไม่ได้อนุญาตให้พระยาไทรไปทำสัญญา อังกฤษไปทำสัญญากับพระยาไทรแต่โดยพลการ เพราะฉนั้นเจ้าพระยานครฯ จะยอมทำตามสัญญานั้นไม่ได้.
ต่อมามีเหตุขึ้นด้วยเรื่องเมืองแปะระอิกเรื่อง ๑ เมืองแปะระเปนประเทศราชมลายูอยู่ข้างใต้เมืองไทร เมื่อเจ้าพระยาไทรปะแงรันยังมีความสามิภักดิ์ ได้ไปว่ากล่าวให้เจ้าเมืองแปะระถวายต้นไม้ทองเงินยอมขึ้นต่อกรุงเทพฯ ครั้นต่อมาเมื่อเจ้าพระยานครฯ ลงไปรักษาเมืองไทร ทำนองพระยาแปะระคนเก่าจะถึงแก่ความตาย ที่เมืองแปะระเกิดแย่งกันเปนใหญ่ พวก ๑ ลงไปขอกำลังพระยาสลางงอ ซึ่งเปนประเทศราชมลายูอยู่ข้างใต้เมืองแปะระมาช่วย ฝ่ายข้างรายามุดาผู้สืบสกุลของพระยาแปะระให้มาขอกำลังไทยไปช่วย เจ้าพระยานครฯ ให้กองทัพไทยยกลงไปเมืองแปะระ พวกเมืองสลางงอถอยหนีไป รายามุดาก็ได้เปนใหญ่ในเมืองแปะระ การอันนี้เปนเหตุให้พวกอังกฤษที่เกาะหมากตกใจ เกรงไทยจะแผ่อำนาจต่อลงไปทางหัวเมืองมลายูข้างตอนใต้ เจ้าเมืองเกาะหมากจึงบอกไปยังอินเดีย ขอให้เจ้าเมืองบังกล่าว่ากล่าวไทยให้เจ้าพระยานครฯ คืนเมืองให้เจ้าพระยาไทรครอบครองดังแต่ก่อน ลอดอัมเฮิสต์จึงแต่งให้หมอยอนครอเฟิดเปนทูตเข้ามากรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ แต่การที่เจ้าเมืองบังกล่าให้ครอเฟิดมาคราวนั้น ไม่ได้เอาเรื่องเมืองไทรเปนการสำคัญเท่าที่ประสงค์จะขยายการค้าขายของอังกฤษเข้ามาในกรุงเทพฯ ครอเฟิดเข้ามาถึงจึงแสดงความประสงค์ของผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอินเดียที่ให้มาเจริญทางพระราชไมตรีในครั้งนั้นเปน ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ จะขอให้ไทยแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากร ลดหย่อนลงให้แก่พ่อค้าอังกฤษที่จะมาค้าขายในเมืองไทย ประการที่ ๒ ว่าอังกฤษมีไมตรีกับเจ้าพระยาไทรมาแต่ก่อน เจ้าพระยาไทรขอให้อังกฤษช่วยว่ากล่าวด้วยเรื่องที่เจ้าพระยานครฯ ลงไปตีเมืองไทร ขับไล่เจ้าพระยาไทรไปเสียจากเมือง ขอให้คืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร ข้างฝ่ายไทยตอบในเรื่องเมืองไทรว่าเปนคดีในระหว่าง “ข้าทูลละอองธุลีพระบาท” คือเจ้าพระยาไทรกับเจ้าพระยานครฯ ถ้าเจ้าพระยาไทรมาฟ้องร้องก็จะว่ากล่าวให้ตามยุติธรรม แต่ส่วนเรื่องที่อังกฤษขอให้ผ่อนผันให้ประโยชน์ในการค้าขายนั้น ขอให้อังกฤษรับเปนธุระให้ไทยซื้อหาเครื่องสาตราวุธในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษให้ได้สดวกเปนข้อตอบแทน ฝ่ายไทยก็จะลดภาษีให้พ่อค้าอังกฤษที่มาค้าขาย ที่กล่าวความข้อนี้เปนด้วยเวลานั้นไทยกำลังตระเตรียมการที่จะต่อสู้พม่า เพราะทราบว่าพม่าคิดจะมาตีเมืองไทย ครอเฟิดก็รู้เหมือนกัน แต่เพราะในเวลานั้นอังกฤษยังต้องการจะดีอยู่กับพม่า ครอเฟิดเกรงพม่าจะว่าอังกฤษให้กำลังไทยไปรบพุ่ง จึงอุบายตอบว่า ถ้าไทยจะให้อังกฤษช่วยซื้อหาเครื่องสาตราวุธ จะต้องรับสัญญาว่าจะไม่เอาเครื่องสาตราวุธเหล่านั้นไปทำร้ายเมืองที่เปนมิตรกับอังกฤษจึงจะได้ ว่าเท่านั้นไทยก็แลเห็นว่าอังกฤษมิได้คิดจะเปนมิตรจริง ที่ว่าจะมาเปนไมตรีประสงค์แต่จะเอาประโยชน์ของอังกฤษฝ่ายเดียว ก็ไม่ยอมปฤกษาการทำสัญญากับครอเฟิดต่อไป๑ ครอเฟิดจึงไม่ได้สำเร็จประโยชน์อย่างใดในการที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้งนั้น แต่ต่อมาเมื่อครอเฟิดได้ไปเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ พยายามทำไมตรีให้มีกับไทย ด้วยช่วยเปนธุระแก่เรือไทยที่ไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์ จึงเปนผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกับไทยอยู่ในเวลาเมื่ออังกฤษเกิดรบกับพม่า เจ้าเมืองบังกล่าจึงสั่งให้ครอเฟิดมาชักชวนไทยทาง ๑ ในคราวเดียวกับสั่งเจ้าเมืองเกาะหมากให้ชักชวนอิกทาง ๑.
-
๑. ข้อความที่ไทยว่ากล่าวครอเฟิดครั้งนั้น มีอยู่ในจดหมายเหตุของครอเฟิดเล่มที่หอพระสมุดฯ พิมพ์บ้าง ในหนังสือระยะทางที่ครอเฟิดพิมพ์บ้าง ได้เก็บใจความลงไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๒ ที่ข้าพเจ้าแต่งโดยพิศดาร. ↩