สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗

สงครามคราวนี้ เกิดติดต่อจอแจกับที่ไทยไปตีเมืองเชียงใหม่ซึ่งกล่าวมาในตอนก่อน มูลเหตุเกิดแต่เรื่องมอญเปนขบถขึ้นในเมืองพม่าดังได้บรรยายมาแล้ว พระเจ้ามังระให้อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพลงมาจากเมืองอังวะ ๓๕,๐๐๐ พวกมอญขบถซึ่งขึ้นไปล้อมเมืองร่างกุ้งสู้พม่าไม่ได้ก็ถอยหนี อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพพม่าติดตามลงมา พวกมอญขบถจึงอพยพครอบครัวพากันออกจากเมืองมอญจะหนีมาอยู่ในเมืองไทย อะแซหวุ่นกี้ให้กองทัพพม่ายกมาตามจับครัวมอญที่หนีนั้น พม่าจึงมาเกิดรบขึ้นกับไทย.

ครัวมอญที่หนีพม่าเข้ามาเมืองไทยครั้งนี้มีหลายพวก แลมาหลายทางด้วยกัน ครัวพวกสมิงสุหร่ายกลั่นเข้ามาทางด่านเมืองตากก่อน สมิงสุหร่ายกลั่นตัวนายได้เฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองตาก ก่อนเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ทูลให้ทรงทราบว่าพวกมอญจะพากันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคาดการว่าพม่าเห็นจะยกกองทัพตามครัวมอญเข้ามา จึงตรัสสั่งให้พระยากำแหงวิชิตคุมพล ๒,๐๐๐ ตั้งคอยรับครัวมอญอยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตากทาง ๑ แลให้พระยายมราชแขกคุมกำลังไปตั้งขัดตาทัพที่อยู่ที่ท่าดินแดงในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทาง ๑ แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ด้วยประมาณการว่าคงจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ทันกลับลงมาต่อสู้พม่าที่ยกเข้ามาทางข้างใต้.

ด้วยเหตุนี้พอตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ๗ วัน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพหลวงกลับลงมา มาถึงเมืองนครลำปางก็ได้ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่ายกล่วงด่านแม่ละเมาเข้ามาในแดนเมืองตาก จึงรีบเสด็จกลับลงมา พอถึงท่าเมืองตากเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ ก็พอกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมานั้น มาใกล้จวนจะถึงเมืองตาก ทำนองในเวลานั้นรีบเสด็จลงมาโดยลำลอง มีแต่กองทัพสำหรับรักษาพระองค์ กองอื่นยังตามมาไม่ถึง จึงตรัสสั่งให้หลวงมหาเทพกับจมื่นไวยวรนารถคุมทหาร ๒,๐๐๐ ยกไปตีทัพพม่า ยกไปก็ได้รบกันในวันนั้นเอง แต่พอค่ำพม่าก็ถอยหนีกลับไป ขณะนั้นกระบวนเรือพระที่นั่งคอยรับเสด็จอยู่ค่ายหลวงบ้านระแหง ใต้เมืองตากลงมา ระยะทางที่เดินวัน ๑ ด้วยเดิมกำหนดว่าจะเสด็จกลับทางบกจนถึงบ้านระแหง หาได้คาดว่าจะต้องมารบพุ่งกับข้าศึกที่เมืองตากไม่ ครั้นทรงทราบว่าหลวงมหาเทพกับจมื่นไวยารนารถตีพม่าถอยหนีกลับไป ทำนองพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงพระราชดำริห์ว่า พม่าที่ถอยหนีไปเปนแต่กองน่า กองหลังยังจะตามมาอิก จะวางใจไม่ได้ ถ้าไม่รีบตีให้แตกไปให้หมด ช้าไปพม่าจะรวมกำลังกันยกกลับเข้ามาเปนกองใหญ่ จึงมีรับสั่งให้กองทัพบกยกสวนทางพม่าลงมา แล้วเสด็จทรงเรือของจมื่นจงกรมวังรีบล่องลงมาบ้านระแหง ในเวลา ๒ ยามค่ำวันนั้น เรือลำที่ทรงมาโดนตอล่มลง ต้องว่ายน้ำขึ้นหาดทรงพระดำเนินมาจนถึงค่ายหลวงที่บ้านระแหง มีรับสั่งให้พระยากำแหงวิชิต รีบยกกองทัพออกไปก้าวสกัดตัดหลังกองทัพพม่าที่ยกตามเข้ามาทางด่านแม่ละเมาให้ถอยหนีไปสิ้นเชิง พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับรอฟังอยู่ที่บ้านระแหง ๗ วัน แลในระหว่างนั้นที่กรุงธนฯ มีใบบอกขึ้นไปว่า ครัวมอญเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เปนอันมาก ก็เข้าพระไทยว่าคงจะมีกองทัพพม่ายกติดตามครัวมอญเข้ามาทางนั้นอิก พอได้ทรงทราบว่ากองทัพพระยากำแหงวิชิตตีพม่าที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมาถอยหนีกลับไปหมดแล้ว ก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยทางชลมารคลงมาจากบ้านระแหงเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ รีบมาทั้งกลางวันกลางคืน ห้าวันก็ถึงกรุงธนบุรี.

เวลานั้นครัวมอญที่อพยพเข้ามา มาถึงกรุงธนบุรีแต่เวลาพระเจ้ากรุงธนบุรียังไม่เสด็จกลับโดยมาก ที่มาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผู้คนมากมายกว่าที่เข้ามาทางอื่น พระยามอญที่เปนหัวน่าคิดการขบถต่อพม่าก็มาด้วยในหมู่นั้น ๔ คน คือ พระยาเจ่งคน ๑ พระยากลางเมืองคน ๑ ตละเสี้ยงคน ๑ ตละเกล็บคน ๑ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระยามอญ ๔ คนนี้ ครั้งเมื่อพระเจ้าอลองพญาตีเมืองมอญ เคยหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทยครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นพม่าตีได้กรุงเก่าเอาตัวกลับไปอิก ครั้งนี้จึงรวบรวมสมัคพรรคพวกมาด้วยเปนอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ครัวมอญไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ดในแขวงเมืองนนทบุรีบ้าง ที่สามโคกในแขวงเมืองปทุมธานีบ้าง สำรวจได้ชายฉกรรจ์เข้ามาคราวนั้น ๑,๐๐๐ เศษ จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่า ซึ่งเปนเชื้อมอญให้เปนที่พระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เปนหัวน่าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยามอญแลพวกหัวน่าก็ทรงตั้งให้มียศศักดิ์เปนข้าราชการทุกคน

ฝ่ายข้างเมืองพม่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพพม่าตามพวกมอญขบถลงมาถึงเมืองเมาะตมะเมื่อเดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ ครั้นรู้ว่าพระยาเจ่งกับพวกหัวน่ามอญขบถพาครอบครัวหนีจะมาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงให้งุยอคงหวุ่นถือพล ๕,๐๐๐ ยกเปนกองทัพตามมา แลงุยอคงหวุ่นนี้ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุทธยาเปนที่ฉับกุงโป ได้มาในกองทัพมังมหานรทา ในหนังสือพระราชพงษาวดารก็มีชื่อปรากฎครั้งเปนนายทัพยกไปตีค่ายกองทัพน่าของกรมหมื่นเทพพิพิธที่ปากน้ำโยทะกา อะแซหวุ่นกี้เห็นว่างุยอคงหวุ่นเคยรบพุ่งชนะไทยมาแต่ก่อน เข้าใจว่าไทยคงจะเกรงฝีมือ จึงให้เปนนายทัพยกมาคราวนี้ ครั้นยกมาถึงท่าดินแดงเห็นไทยตั้งค่ายอยู่ งุยอคงหวุ่นก็ขับพลเข้าตีค่าย กองทัพพระยายมราชแขกรี้พลน้อยกว่าพม่า สู้รบต้านทานไม่ไหวก็แตกหนีมา.

พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงพระนคร เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พอถึงก็ได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตีกองทัพพระยายมราชแขกซึ่งไปตั้งอยู่ที่ท่าดินแดง แตกหนีกลับมาอยู่ที่ปากแพรก ในขณะนั้นกองทัพหลวงที่ตามเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่กำลังลงเรือล่องกลับลงมา ยังไม่ถึงกรุงธนบุรีโดยมาก จึงมีรับสั่งให้รีบเกณฑ์กองทัพในกรุง ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์จุ้ย กับพระยาธิเบศร์บดีจางวางมหาดเล็กถือพล ๓,๐๐๐ ยกออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรีทัพ ๑ แล้วให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ถือพล ๑,๐๐๐ ยกหนุนออกไปอิกทัพ ๑ แลให้มีตราสั่งกองทัพหัวเมืองเหนือให้ยกเข้ามาด้วย เพราะยังไม่รู้ว่ากองทัพพม่าจะยกเข้ามามากน้อยสักเพียงไร แล้วรับสั่งให้เรือเร็วขึ้นไปเร่งกองทัพกรุง ฯ ที่ยังอยู่กลางทางให้รีบลงมาโดยเร็ว.

ครั้นณวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ทรงทราบว่ากองทัพกรุงฯ จะลงมาถึงในวันนั้น จึงเสด็จลงประทับคอยอยู่ที่ตำหนักแพ แล้วให้ตำรวจลงเรือเร็วขึ้นไป สั่งกองทัพให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดแวะบ้านเรือนเปนอันขาด เรือกองทัพบรรดาที่มาถึงได้ทราบกระแสรับสั่งก็เลยมาน่าตำหนักแพ ถวายบังคมลาแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปทุกลำ มีพระเทพโยธาคน ๑ แวะเข้าที่บ้าน ได้ทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้ไปเอาตัวพระเทพโยธามา แล้วให้มัดเข้ากับเสาตำหนักแพ ทรงพระแสงดาบตัดศีร์ษะพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ในขณะนั้น แล้วให้เอาศีร์ษะไปเสียบประจานไว้ที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พวกกองทัพทั้งปวงก็เกรงพระราชอาญา ก็พากันรีบยกออกไปเมืองราชบุรีตามรับสั่ง.

ความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า อะแซหวุ่นกี้ให้งุยอคงหวุ่นยกกองทัพเข้ามาในเมืองไทยคราวนี้ ประสงค์แต่จะให้ตามมาต้อนครัวมอญกลับออกไป ถ้าได้ครัวมอญก็ดีฤๅหากว่าติดตามครัวมอญไม่ทันก็ดี ก็ให้เลิกทัพกลับไป มิได้ประสงค์จะให้งุยอคงหวุ่นเข้ามาตั้งทำสงครามขับเคี่ยวกับไทย เพราะอะแซหวุ่นกี้ยังไม่ได้รับสั่งของพระเจ้าอังวะ ที่จะให้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทย แต่งุยอคงหวุ่นถือว่าตัวเคยปราบปรามไทยมาแต่ก่อน เมื่อตีกองทัพพระยายมราชแขกแตกหนีเข้ามาจากท่าดินแดงแล้ว ก็ยกตามเข้ามาถึงปากแพรก ฝ่ายพระยายมราชแขกรวบรวมได้กำลังยังไม่พอจะต่อสู้พม่า ก็ทิ้งค่ายหนีมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว งุยอคงหวุ่นเห็นไทยไม่ต่อสู้ เข้าใจว่าไทยกลัวฝีมือก็เลยกำเริบคิดว่าไหนๆ ก็ตามไม่ทันครัวมอญแล้ว จะกลับไปเปล่าทำไม ควรจะหาทรัพย์กับเชลยไปเปนกำไรให้เหมือนกับเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุทธยาอิก จึงแบ่งกองทัพเปน ๒ กอง กอง ๑ จำนวนพล ๒,๐๐๐ ให้มองจายิดควบคุมตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก เที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนในแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี แลเมืองนครไชยศรี อิกกอง ๑ จำนวนพล ๓,๐๐๐ ตัวงุยอคงหวุ่นคุมยกลงมาทางฝั่งตวันตก หมายจะมาเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทสงครามแลเมืองเพ็ชรบุรี ครั้นยกลงมาถึงบางแก้ว ได้ทราบความว่า ไทยยกกองทัพออกไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี งุยอคงหวุ่นก็ให้ตั้งค่ายมั่นลงที่บางแก้ว ๓ ค่าย

เหตุใดงุยอคงหวุ่นจึงตั้งค่ายอยู่บางแก้วอันเปนที่ดอนอยู่ชายป่าทางตวันตก ไม่ลงมาตั้งที่ริมแม่น้ำ เช่น ที่บ้านลุกแก ฤๅตอกละออม ซึ่งพม่าเคยตั้งเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุทธยา ข้อนี้คิดดูเห็นว่าจะเปนด้วยงุยอคงหวุ่นเห็นว่ากองทัพของตัวยกมาแต่กองเดียวเปนทำนองกองโจร ตั้งอยู่ที่ดอนชายป่าจะเดินลัดทางในแดนไทย ฤๅไปมาทางแดนพม่า แลสั่งเสียติดต่อกับพวกพม่าที่ปากแพรกได้สดวก แลจะเลี้ยงช้างม้าพาหนะได้ไม่ขัดสน ถึงกองทัพไทยจะยกไปรบพุ่งก็ต้องเดินบกลำบาก จะใช้กองทัพเรือเปนกำลังไม่ได้ ความคิดของงุยอคงหวุ่นดูเหมือนหมายจะตั้งอยู่จนเข้าระดูฝน พอหาทรัพย์สมบัติได้มากแล้วก็จะเลิกกลับไป แลในระหว่างนั้นถ้ากองทัพไทยยกขึ้นไป ตีกองทัพไทยแตกก็จะเลยติดตามลงมาตีเอาเมืองราชบุรีแลเมืองสมุทสงครามที่หมายไว้ ถ้ากองทัพไทยตั้งมั่นอยู่เมืองราชบุรีไม่ยกขึ้นไป ก็จะแต่งกองโจรให้ลัดป่าจู่ไปเที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนตามประสงค์ที่ยกลงมา ความคิดของงุยอคงหวุ่นเห็นจะเปนเช่นว่ามานี้ จึงไม่ลงมาตั้งที่ริมน้ำ.

ฝ่ายพระองค์เจ้าจุ้ยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ก็ทำนองจะได้กระแสรับสั่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแนะนำไปว่า ถ้าข้าศึกยกมาเห็นพอจะต่อสู้ได้ ให้ชิงทำก่อนอย่าให้โอกาศแก่ข้าศึก ข้อนี้เปนวิธียุทธของพระเจ้ากรุงธนบุรีทุกคราวมา เมื่อทราบว่าพม่ามาตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้วประมาณสัก ๓,๐๐๐ คน เห็นว่ากำลังพอจะต่อสู้ได้ แลกองทัพกรุง ฯ ก็กำลังตามออกไปอิก จึงยกกองทัพขึ้นไปตั้งที่ตำบลโคกกระต่ายในทุ่งธรรมเสน ห่างค่ายพม่าลงมาประมาณ ๘๐ เส้น แล้วให้หลวงมหาเทพคุมกองน่าไปตั้งค่ายโอบพม่าข้างด้านตวันตก แลให้กองทัพเจ้ารามลักษณ์ยกไปตั้งค่ายโอบด้านตวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี.

ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเร่งรัดกองทัพให้ยกออกไปเมืองราชบุรีหมดแล้ว ถึงณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ เมืองนครไชยศรีบอกมาว่า พม่าเข้ามาเที่ยวปล้นทรัพย์จับผู้คนถึงแขวงเมืองสุพรรณ เมืองนครไชยศรี จึงมีรับสั่งให้พระยาพิไชยไอสวรรย์ผู้ว่าที่กรมท่าคุมกำลัง ๑,๐๐๐ ยกไปรักษาเมืองนครไชยศรี แล้วให้เตรียมกระบวนทัพหลวง มีจำนวนพล ๙,๐๐๐ พอพร้อมก็ได้ทรงทราบว่ากองทัพพม่ามาตั้งค่ายอยู่ในแขวงเมืองราชบุรี ขณะนั้นเสด็จมาประทับอยู่ในพระนครได้ ๑๓ วัน แลกรมพระเทพามาตย์ราชชนนีก็กำลังประชวรหนัก หักพระไทยเสด็จยกออกจากพระนครไปเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเมีย พศ. ๒๓๑๗ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองราชบุรี พระองค์เจ้าจุ้ยมาเฝ้ากราบทูลว่า ครั้งนี้พม่าดูหมิ่นไทยยิ่งนัก เมื่อหลวงมหาเทพไปตั้งค่ายโอบพม่าพากันดูเล่น แล้วร้องถามออกมาจากค่ายว่า ตั้งค่ายแล้วฤๅยัง ให้ตั้งค่ายเสียให้เสร็จ พม่าจะรอให้ไทยไปพร้อมกันจึงจะยกออกมาตี จะได้จับเชลยได้มากๆ ในคราวเดียว พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังก็ขัดเคือง แต่เวลานั้นทรงพระวิตกถึงกองทัพพระยายมราชแขก ที่ถอยลงมาตั้งอยู่ที่ดงรังหนองขาว เกรงจะต้านทานพม่าไม่ไหว ด้วยได้ข่าวมาว่ามีกองทัพพม่าเพิ่มเติมมาที่ปากแพรกอิก ๑,๐๐๐ จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชไชยกับพระยาวิเศษไชยชาญ คุมพล ๒,๐๐๐ ยกขึ้นไปช่วยพระยายมราชแขกที่หนองขาว แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองราชบุรีไปตามทางฟากตวันตก ไปตั้งค่ายหลวงที่ตำบลเขาพระเหนือค่ายโคกกระต่ายขึ้นไปประมาณ ๔๐ เส้น ขณะนั้นมีใบบอกขึ้นไปจากเมืองราชบุรีว่า มีกองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านประตูสามบาน ด่านเจ้าขว้าวอิกทาง ๑ พม่าจับเอาชาวด่านไปหลายคน พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบ ทรงระแวงว่าพม่าจะมาตีตัดทางลำเลียงข้างหลัง จึงมีรับสั่งให้กองทัพพระองค์เจ้าจุ้ย กับกองทัพจีนพระยาราชาเศรษฐียกลงมารักษาเมืองราชบุรี ให้รื้อค่ายเก่าเอาลงไปตั้งริมน้ำให้หมด แต่ที่จริงกองทัพพม่าหามีมาทางนั้นไม่ พม่าที่ไปตีด่านประตูสามบานด่านเจ้าขว้าว เห็นจะเปนพวกกองโจรที่ยกไปเที่ยวจับคน ทำนองจะไปจากค่ายที่บางแก้วนั้นเอง.

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทอดพระเนตรค่ายตั้งโอบพม่าที่บางแก้ว ทรงพิจารณาดูภูมิแผนที่เสร็จแล้ว มีรับสั่งให้นายทัพนายกองคุมกำลังไปตั้งค่ายล้อมพม่าเพิ่มเติมขึ้นอิกจนรอบ แล้วให้เจ้าพระยาอินทรอภัยไปตั้งรักษาหนองน้ำที่เขาชั่วพราน อันเปนที่ข้าศึกอาไศรยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ แลเปนทางเดินลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึกแห่ง ๑ ให้พระยารามัญวงศ์คุมกองมอญที่เข้ามาใหม่ไปรักษาหนองน้ำที่เขาชงุ้ม อันอยู่ในทางลำเลียงของข้าศึกข้างเหนือขึ้นไประยะทางประมาณ ๑๒๐ เส้น ด้วยอิกแห่ง ๑.

ฝ่ายงุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าเห็นไทยตั้งล้อมแขงแรงขึ้น เห็นจะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้ ค่ำวันหนึ่งจึงให้มาปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยที่หนองน้ำเขาชั่วพราน ไทยตีพม่าแตกกลับไป งุยอคงหวุ่นขัดใจให้เพิ่มเติมกำลังยกกลับมาปล้นอิกก็แตกกลับไปอิก ที่สุดให้เนมิโยแมงละนรทาตัวนายรองคุมพล ๑,๐๐๐ มาปล้นเปนครั้งที่ ๓ ในคืนเดียวนั้น ก็แตกกลับเข้าไปอิก เสียรี้พลล้มตายเจ็บป่วยเปนอันมาก ที่ไทยจับเปนได้ก็มี งุยอคงหวุ่นเห็นไทยมีกำลังมากแลรบพุ่งกล้าหาญกว่าที่ได้คาดไว้ก็ออกวิตก จึงแต่งคนเร็วให้เล็ดลอดไปบอกกองทัพที่ปากแพรกให้ยกมาช่วย.

ขณะนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ถามพม่าที่จับมาได้ พวกพม่าให้การว่า ที่งุยอคงหวุ่นพยายามตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยนั้น เพราะไทยไปตั้งตัดทางที่จะลำเลียงเสบียงอาหารเสีย พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบก็ดีพระไทย ทรงพระราชดำริห์ว่า ถ้าล้อมค่ายบางแก้วไว้พม่าก็จะสิ้นเสบียงอาหาร ทนอดอยากไม่ได้ก็คงต้องออกมาให้จับเปนเชลยหมดทั้งนายไพร่ จะทำให้สมน้ำหน้าที่มันเย่อหยิ่งให้จงได้ จึงมีรับสั่งห้ามนายทัพนายกองบรรดาที่ตั้งล้อมมิให้เข้าตีค่ายพม่า เปนแต่ให้ล้อมไว้ให้มั่น ถ้าพม่ายกออกมาก็ให้รบพุ่งเอาแต่ให้ถอยกลับไปอย่างเดียว ดำรัสว่า “กักมันไว้ให้โซแล้วเอาเข้าล่อเอาเถิด” แล้วทรงปรารภจะเสด็จไปคุมกองทัพกักทางลำเลียงเอง แต่พระยาเทพอรชุนพระดำเกิงรณภพทูลขอรับอาสา จึงมีรับสั่งให้พระยาเทพอรชุนกับพระดำเกิงรณภพคุมกองอาจารย์แลทนายเลือกรวม ๗๔๕ คนเปนกองโจร ไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัยตีตัดลำเลียงข้าศึกที่เขาชั่วพรานอิกกอง ๑.

ขณะนั้นอะแซหวุ่นกี้คอยอยู่ที่เมืองเมาะตมะ เห็นกองทัพงุยอคงหวุ่นหายไปเกินกำหนด เกรงว่าจะมามีเหตุการณ์อย่างใดในเมืองไทย จึงให้ตะแคงมรหน่อง เปนเชื้อพระวงศ์พระเจ้าอังวะคุมพล ๓,๐๐๐ ยกตามเข้ามาอิกกอง ๑ ตะแคงมรหน่องยกมาถึงค่ายพม่าที่ปากแพรก ได้ทราบว่างุยอคงหวุ่นมาถูกไทยล้อมไว้ที่บางแก้ว จึงให้มองจายิดคุมกำลัง ๒,๐๐๐ ลงมาช่วยงุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว ส่วนตะแคงมรหน่องยกลงมาตีค่ายพระยายมราชแขกที่หนองขาว ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พม่าตีกองทัพไทยไม่แตก ตะแคงมรหน่องก็ถอยกลับไปตั้งอยู่ที่ปากแพรก.

ฝ่ายกองทัพมองจายิดที่ยกลงมาช่วยงุยอคงหวุ่น มาถึงเขาชงุ้มที่กองมอญพระยารามัญวงศ์ตั้งค่ายอยู่ เห็นกองมอญน้อยกว่าก็เข้าล้อมไว้ ในวันนั้นทำนองจะมีคนในกองทัพมองจายิดเล็ดลอดเข้าไปบอกงุยอคงหวุ่นให้รู้ว่ามีกองทัพลงมาช่วย พอค่ำลงเวลายามเศษงุยอคงหวุ่นก็ยกออกปล้นค่ายหลวงมหาเทพ หมายจะหักออกไป กองทัพไทยสู้รบต้านทานเปนสามารถ งุยอคงหวุ่นจะหักออกไปไม่ได้ก็ต้องถอยกลับเข้าค่าย ฝ่ายพระยาธิเบศร์บดีตั้งอยู่ด้านเหนือ รู้ว่ากองทัพพม่ามาล้อมค่ายกองมอญที่เขาชงุ้มไว้ ก็ยกไปช่วยรบพุ่งแก้เอากองมอญออกจากที่ล้อมได้ แต่กำลังไม่พอจะต่อสู้พม่าได้ก็พากันถอยลงมา มองจายิดก็เข้าตั้งอยู่ในค่ายที่เขาชงุ้ม ในวันนั้นกองทัพพระยานครสวรรค์ยกออกไปถึงเมืองราชบุรี จึงมีรับสั่งให้พระยานครสวรรค์ขึ้นไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีในค่ำวันนั้น ขึ้นไปพบพระยาธิเบศร์บดีกับพระยารามัญวงศ์ถอยลงมาแล้วบอกมากราบทูล จึงมีรับสั่งให้ถอยมาตั้งที่ค่ายล้อมพม่าข้างด้านเหนือทั้ง ๓ กองด้วยกัน อย่าให้พม่าทั้ง ๒ พวกเข้าถึงกันได้.

ถึงเดือน ๔ เมืองคลองวาฬบอกมาว่า พม่ายกมาจากเมืองมฤทประมาณ ๕๐๐ คน มาปล้นบ้านทับสะแกในแขวงเมืองกำเนิดนพคุณ เกรงจะขึ้นมาตีเมืองคลองวาฬ กำลังในพื้นเมืองเห็นจะต่อสู้ไม่ไหว ขอกองทัพออกไปช่วย มีรับสั่งให้ตอบไปว่าทางในกรุง ฯ ยังมีการสงครามติดพันอยู่ที่เมืองราชบุรี ให้ผู้รั้งกรมการเมืองคลองวาฬคิดอ่านรักษาเมืองไปโดยลำพังก่อนเถิด

ในเดือน ๔ นั้น เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ตามออกไปถึง พาทูตเมืองน่านที่มาถวายต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมาออกไปเฝ้าด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระปีติโสมนัศ ตรัสสรรเสริญความชอบของเจ้าพระยาจักรี แลพระราชทานพระแสงดาบฝักทองกับพระธำมรงค์เพ็ชร์วง ๑ เปนบำเหน็จ แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีถืออาญาสิทธิ์ไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว เจ้าพระยาจักรีก็ยกไปตั้งค่ายมั่นอยู่ที่เหนือพระมหาธาตุเขาพระ เหนือค่ายหลวงขึ้นไป ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จถอยมาประทับที่ค่ายโคกกระต่าย ซึ่งพระองค์เจ้าจุ้ยตั้งอยู่แต่ก่อน ด้วยเหมาะแก่ที่จะตรวจการทั้งปวงได้ทั่วไปทุกด้าน แล้วมีรับสั่งให้หลวงบำเรอภักดิ์คุมทหารกองนอก ๔๐๐ เปนกองโจรไปคอยตีสกัดรังแกพม่าที่ค่ายเขาชงุ้ม อย่าให้ออกลาดหาอาหารแลตักน้ำใช้ได้สดวก.

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปบัญชาการล้อมพม่าที่บางแก้ว ให้ตั้งค่ายล้อมเพิ่มเติมขึ้นอิก มิให้มีทางที่พม่าจะตีหักออกไปได้ คืนวันหนึ่งในข้างขึ้นเดือน ๔ นั้น เวลา ๕ ทุ่มเศษ พม่าในค่ายที่บางประแก้วยกออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา แล้วไปปล้นค่ายพระยาเพ็ชรบุรี ประสงค์จะตีหักออกไป พวกกองทัพไทยระดมยิงถูกพม่าล้มตายเจ็บป่วย จะตีหักออกไปไม่ได้ ก็ต้องถอยกลับเข้าค่าย ต่อมาพม่าออกปล้นค่ายหลวงราชนิกุลอิกครั้ง ๑ เวลา ๓ ยามก็หักออกไปไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าค่ายเหมือนหนหลัง ไทยที่พม่าจับเอาไปเปนเชลยหนีกลับมาหากองทัพไทยได้ ๒ คน มาบอกว่าพม่าที่ในค่ายบางแก้วขัดสนเสบียงอาหารมาสัก ๗ วันแล้ว เดี๋ยวนี้กินเนื้อช้างม้าพาหนะเปนอาหาร แต่น้ำบ่อที่ในค่ายยังมีอยู่ อนึ่งปืนใหญ่น้อยที่ไทยระดมยิงเข้าไปในค่ายพม่านั้น ถูกพม่าเจ็บป่วยล้มตายเสมอ จนพม่าต้องขุดหลุมลงอาไศรยกันโดยมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบว่าพม่าที่ถูกล้อมอิดโรยลงดังนั้น ถึงณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง ก็เสด็จทรงม้าไปที่ค่ายหลวงมหาเทพซึ่งตั้งล้อมพม่าอยู่ทางด้านตวันตก ดำรัสสั่งให้จักกายเทวะมอญเข้าไปร้องบอกพม่าที่น่าค่ายว่า พม่าอย่าคิดหนีไปเลย ไปไม่ได้แล้ว ให้ออกมายอมอ่อนน้อมเสียโดยดีเถิด งุยอคงหวุ่นให้ร้องตอบออกมาว่า ซึ่งท่านล้อมไว้ครั้งนี้ เราก็รู้อยู่แล้วว่าจะหนีให้รอดไปไม่ได้ ตัวเรากับพวกนายทัพนายกองจะตายก็ตามทีเถิด สงสารแต่พวกไพร่พลจะมาพลอยตายเสียด้วย อย่างไรขอให้เราได้พบกับตละเกล็บสักหน่อยเถิด พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ตละเกล็บซึ่งได้เปนพระยาพระราม ขี่ม้ากั้นร่มระย้าอย่างขุนนางออกไปเจรจากับพม่า งุยอคงหวุ่นเขียนหนังสือใส่ในใบลานขดทิ้งออกมาจากในค่าย ความในหนังสือว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุทธยากับพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะ๑๐ มีบุญญาภินิหารเปนใหญ่ในชมพูทวีปด้วยกัน แลพระมหากระษัตริย์ทั้ง ๒ ฝ่ายเปนเวรกัน พระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะใช้ให้ข้าพเจ้ากับนายทัพนายกองทั้งปวงมาทำสงครามกับท่านผู้เปนเสนาบดีในกรุงศรีอยุทธยาครั้งนี้ ข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่าน ๆ ล้อมไว้จะพากันหนีไปก็ไม่ได้แล้ว ถ้าท่านล้อมไว้อย่างนี้ก็มีแต่จะตายอย่างเดียว ไม่ใช่จะตายแต่พวกข้าพเจ้าที่เปนแม่ทัพนายกองเท่านั้น ถึงไพร่พลทั้งปวงก็จะพลอยตายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อชีวิตรข้าพเจ้าทั้งหลายตายไปสิ้นแล้ว ใช่ว่าสงครามของพระมหากระษัตราธิราชทั้ง ๒ ฝ่ายจะเปนอันเสร็จสิ้นกันเพียงนั้นก็หามิได้ ท่านผู้เปนเสนาบดีไทย ได้ถือน้ำทำราชการสนองพระเดชพระคุณตามพระราชกำหนดกฎหมายของพระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุทธยาฉันใด ข้าพเจ้ามาทำสงครามก็ด้วยได้ถือน้ำทำราชการตามพระราชกำหนดกฎหมายของพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะอย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนเปนแต่เครื่องสาตราวุธซึ่งพระมหากระษัตราธิราชทรงใช้สอยทั้ง ๒ ฝ่าย พระพุทธองค์ก็ได้โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า อันจะได้เกิดมาเปนมนุษย์แต่ละคนนี้ยากนัก ฉันใดข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รอดชีวิตรขอปัญญาท่านผู้เปนอรรคมหาเสนาบดีจงช่วยพิเคราะห์ดูด้วยเทอญ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เขียนหนังสือเสนาบดีตอบพม่า มีเนื้อความว่า ถ้าพวกพม่าออกมาถวายบังคมยอมอ่อนน้อมเสียโดยดี จะทูลขอชีวิตรให้ ถ้าขืนต่อสู้ฤๅไม่ออกมาอ่อนน้อมโดยดีจะฆ่าเสียให้หมด ฝ่ายพวกพม่าหมายจะให้ไทยปล่อยกลับไป ก็ยังไม่ยอมออกมาอ่อนน้อม.

ในหมู่นั้นเจ้าพระยาสุรสีห์กับพวกผู้ว่าราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือคุมกองทัพหัวเมืองออกไปถึง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวงไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่เขาชงุ้มกันไว้อย่าให้ตีหักลงมาช่วยพม่าตีค่ายบางแก้วได้ ทรงกำชับสั่งไปมิให้เข้าตีค่ายพม่า แม้ที่สุดถ้าพม่าค่ายเขาชงุ้มจะถอยไปก็อย่าให้ติดตาม เกลือกพม่าจะทำกลอุบายจะเสียที ให้เอาไว้ตีเอาทีหลังพร้อมกับตีค่ายพม่าที่ปากแพรกทีเดียว ในตอนนี้จะคิดจับพวกพม่าที่ค่ายบางแก้วให้ได้เสียก่อน.

ขณะนั้นเมืองคลองวาฬเมืองกุยบอกเข้ามาว่า พม่าพวกที่ยกเข้ามาจากเมืองมฤทนั้น ตีบ้านทัพสะแกได้แล้วลงไปตีเมืองกำเนิดนพคุณ ผู้รั้งกรมการเรียกกำลังราษฎรออกต่อสู้ เข้าล้อมค่ายพม่าไว้ พม่าตีหักออกมาได้ เผาเมืองกำเนิดนพคุณเสียแล้วยกเลยลงไปทางเมืองปะทิวซึ่งขึ้นแก่เมืองชุมพร พม่าจะยกเลยไปเมืองมฤทฤๅจะกลับขึ้นมาข้างเหนืออิกอย่างไรยังหาทราบไม่ จึงมีรับสั่งเข้ามายังกรุงธนบุรี ให้พระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจันทร์กับพระยาธิเบศร์บดีครั้งกรุงเก่า ซึ่งได้เปนที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้รักษาพระนคร ให้มีตราตอบเมืองกุยแลเมืองคลองวาฬไปว่า ให้ทำลายหนองแลบ่อน้ำตามระยะทางที่จะขึ้นมาเมืองเพ็ชรบุรีเสียให้หมด แห่งใดทำลายไม่ได้ก็ให้เอาของโสโครกแลของที่มีพิศม์ใส่ในน้ำเสีย อย่าให้ข้าศึกอาไศรยได้เปนอันขาด.

ต่อมาพระยารามัญวงศ์กับหลวงบำเรอภักดิ์ ซึ่งคุมกองโจรกักทางลำเลียงอยู่ที่เขาชั่วพรานจับพม่าได้ ๒ คน ส่งตัวมายังค่ายหลวง ถามพม่า ๒ คนนั้นให้การว่าเปนพวกกองลำเลียง นายทัพพม่าที่เขาชงุ้มให้เล็ดลอดขนเสบียงมาส่งพม่าในค่ายบางแก้ว แลซักถามได้ความต่อไปว่า นายทัพพม่าที่เขาชงุ้มได้บอกไปยังตะแคงมรหน่องขอกำลังทัพเพิ่มเติมลงมาที่ค่ายเขาชงุ้มอิก หมายจะตีหักลงมาแก้พวกพม่าที่ค่ายบางแก้วกลับไปให้จงได้ ได้ทรงทราบจึงมีรับสั่งให้เพิ่มเติมกองโจรที่คอยตีตัดลำเลียงให้มากขึ้น แล้วให้หลวงภักดีสงครามนายทหารกองนอก ซึ่งอยู่ในกองเจ้าพระยาอินทรอภัย คุมคนกองนอกลอบขึ้นไปทำลายหนองแลบ่อน้ำในระยะทางที่จะมาจากปากแพรกเสีย อย่าให้ข้าศึกเพิ่มกำลังมาได้ แลบอกไปยังเจ้าพระยาสุรสีห์ให้คอยต่อสู้พม่าที่ค่ายเขาชงุ้มให้ดี อย่าให้ตีหักลงมาช่วยพม่าที่บางแก้วได้เปนอันขาด.

ต่อมาไม่ช้าพม่าในค่ายเขาชงุ้มก็ทำค่ายวิหลั่นบังตัวออกมาปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ในเวลากลางคืนดึกประมาณ ๒ ยาม ถูกไทยยิงล้มตายเจ็บป่วย จะหักค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์มาไม่ได้ จึงแปรไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์ก็หักมาไม่ได้ ต้องถอยกลับเข้าค่าย ต่อมาถึงวันอังคาร เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ พม่าที่ค่ายเขาชงุ้มยกออกมาอิกครั้ง ๑ คราวนี้ดูเหมือนจะรวมกำลังมามาก เข้าปล้นค่ายพระยานครสวรรค์ทางด้านใต้ รบกันแต่เวลา ๓ ยามจนรุ่งสว่าง พม่าหนุนกันออกมาหมายจะหักออกมาทางบางแก้วให้ได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบก็รีบเสด็จขึ้นไป ให้กองอาจารย์แลทนายเลือกเข้าช่วยรบ จนเวลา ๒ โมงเช้าพม่าจึงถอยหนีกลับเข้าค่าย.

ฝ่ายงุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าที่ไทยล้อมไว้ในค่ายบางแก้ว คอยพวกพม่าค่ายเขาชงุ้มจะมาช่วย เห็นมาไม่ได้ก็ท้อใจ จึงให้บอกออกมายังกองทัพไทยว่า จะขอพูดจากับท่านผู้ใหญ่ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้ไปร้องบอกว่าจะพูดก็ให้แต่งใครออกมาเถิด แล้วจึงโปรดให้พระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรีเปนผู้เจรจาว่ากล่าวกับพม่า งุยอคงหวุ่นให้นายทัพคน ๑ กับไพร่ ๕ คน ออกมาหาพระยาพระราม ๆ จึงพาไปที่เจ้ารามลักษณ์แลเจ้าพระยาจักรี พม่าพูดจาวิงวอนจะขอให้ปล่อยกลับไปบ้านเมือง ท่านทั้ง ๒ หายอมไม่ ว่าถ้าพม่ารักชีวิตรก็ให้ยอมอ่อนน้อมเสียโดยดี ซึ่งจะให้ทำอย่างอื่นนั้นไม่ได้ นายทัพพม่าว่าจะขอเข้าไปปฤกษากันดูก่อน ฝ่ายไทยก็ปล่อยให้กลับเข้าไปในค่าย ครั้นถึงวันศุกร เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ งุยอคงหวุ่นให้พม่าตัวนาย ๗ คนออกมาเจรจาอิก พวกพม่าว่าจะยอมอ่อนน้อมถวายบังคมแลถวายช้างม้าพาหนะแลเครื่องสาตราวุธหมดทุกอย่าง แต่เมื่อได้อ่อนน้อมแล้วขอให้ปล่อยตัวกลับไป เจ้ารามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรีตอบว่า ถ้าพม่าอ่อนน้อมโดยดีจะทูลขอชีวิตรให้ แต่ที่จะให้ปล่อยไปนั้นไม่ได้ ความข้อนี้ได้บอกหนหนึ่งแล้วก็ยังจะขืนให้ปล่อยอยู่ร่ำไป จะพูดกันไปอย่างนี้จะมีที่สุดที่ไหน คราวก่อนได้ปล่อยพม่ากลับไปหมด คราวนี้จะต้องเอาไว้เปนตัวจำนำบ้าง พม่าจะได้ร้อนใจไม่เพิกเฉยเหมือนแต่ก่อน แล้วจึงให้ปล่อยพม่ากลับเข้าไปในค่ายแต่ ๕ คน ในวันนั้นอุดมสิงห์จอจัวปลัดทัพของงุยอคงหวุ่นก็พานายหมวดนายกองพม่ารวม ๑๔ คน เอาเครื่องสาตราวุธของตนมัดแบกออกมาส่งให้ไทย บอกว่าจะยอมอ่อนน้อมโดยดี เจ้ารามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรีจึงให้ส่งตัวมายังค่ายหลวง ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี อุดมสิงห์จอจัวกราบทูลว่า จะขอถือน้ำทำราชการในกรุงศรีอยุทธยาต่อไปจนหาชีวิตรไม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งว่า ในเวลายังไม่ได้ตัวพม่าที่ในค่ายทั้งหมดอย่างนี้จะไว้ใจเชื่อฟังทีเดียวยังไม่ได้ จะต้องให้คุมตัวไว้ก่อน จนกว่าจะได้ตัวพวกพม่ามาพร้อมกัน ถ้าเองสามิภักดิ์จริงดังว่าแล้ว แม้นเสร็จสงครามได้เมืองอังวะเมื่อใดจะให้รั้งเมืองอังวะ แล้วจึงดำรัสสั่งให้พระยาพระรามคุมตัวอุดมสิงห์จอจัวกับพวกที่มาด้วยกันไปร้องบอกพวกพม่าที่ถูกล้อมว่า ได้มาสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดให้รอดชีวิตรแล้ว ให้พากันตามมาเถิด พวกพม่าร้องตอบออกมาว่าจะปฤกษากันดูก่อน ข้าหลวงก็พาอุดมสิงห์จอจัวกลับมา อุดมสิงห์จอจัวออกมายอมอ่อนน้อมครั้งนั้นจะได้ไหว้ผู้ใดก่อนนั้นหามิได้ ต่อได้ถวายบังคมพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วจึงยอมไหว้ผู้อื่น พระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสสรรเสริญว่า อุดมสิงห์จอจัวนี้มิเสียทีที่เปนนายทหาร แพ้เขาแล้วยังรักษาขนบธรรมเนียมของตนไว้โดยองอาจมิได้ย่อท้อ ควรแล้วที่จะเปนนายทหารเอก๑๑

ถึงวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้พระยานครราชสิมา ซึ่งคุมกองทัพมาถึงในหมู่นั้น ยกไปตั้งค่ายประชิดพม่าที่เขาชงุ้ม ในวันนั้นงุยอคงหวุ่นให้ร้องบอกออกมาจากค่ายว่า จะขอพบอุดมสิงห์จอจัวสักหน่อย จึงโปรดให้คุมตัวไป อุดมสิงห์จอจัวร้องบอกงุยอคงหวุ่นว่าเราออกมาสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าปราสาททองก็ทรงชุบเลี้ยงมิได้ฆ่าฟัน จงพากันออกมาสามิภักดิ์เถิด อย่าหวาดหวั่นต่อไปเลย งุยอคงหวุ่นร้องตอบออกมาว่าตัวท่านมายืนอยู่ที่นั่นอยู่ในอำนาจข้าศึก ซึ่งพูดจาว่ากะไรจะเชื่อฟังยังไม่ได้ ถ้าจะให้เราเชื่อฟังก็ให้ใครเข้ามาพูดกับเราที่ในค่ายจึงจะควร อุดมสิงห์จอจัวตอบว่าพวกเราได้มาสามิภักดิ์เปนข้าของพระเจ้าปราสาททองแล้ว จะให้ใครกลับเข้าไปในค่าย ถ้าท่านฆ่าเสียฤๅเอาตัวกักไว้เสีย เราก็จะไม่พ้นความผิด งุยอคงหวุ่นก็ให้สัตย์สัญญาว่าจะไม่กักขังฤๅทำร้ายอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าหลวงจึงให้ปล่อยแยะละคน ๑ กับแยข่องจอคน ๑ เข้าไปในค่ายพม่า ครั้งคนทั้ง ๒ นั้นกลับออกมา มาให้การว่า งุยอคงหวุ่นพูดว่าถึงจะทรงพระกรุณาแก่ผู้น้อย ส่วนตัวงุยอคงหวุ่นนั้นคงจะถูกประหารชีวิตร ยังหาไว้ใจไม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งถามความคิดของข้าราชการว่าจะเห็นควรทำอย่างไรต่อไป พวกข้าราชการพากันกราบทูลว่า ได้ทรงพระกรุณาให้ว่ากล่าวโดยดีก็หลายคราวแล้ว พม่าในค่ายยังขัดขืนอยู่ ขอให้เอาปืนลูกไม้ยิง๑๒ซ้ำเข้าไปอิก พม่าทนไม่ได้ก็จะต้องออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ทรงเห็นด้วย ดำรัสว่าจะฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่ข้าศึกสิ้นความคิดถึงเช่นนี้แล้ว ฆ่าเสียก็บาปกรรมเปล่าๆ จับเปนเอาเถิด แล้วจึงทรงซักไซ้อุดมสิงห์จอจัวถึงกองทัพพม่าที่ยังอยู่ในแดนพม่า ว่าจะมารบนั้นแต่เพียงเท่าที่ยกมาแล้วนี้ ฤๅจะยังยกตามกันเข้ามาอิก อุดมสิงห์จอจัวกราบทูลว่า อะแซหวุ่นกี้คุมกองทัพใหญ่อยู่ที่เมืองเมาะตมะ ว่าจะเข้ามาตีเมืองไทย แต่จะยกตามเข้ามาคราวนี้ ฤๅจะยกมาทีหลังคราวหนึ่งต่างหากหาทราบไม่ จึงมีรับสั่งปฤกษาแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ว่า จะควรเกณฑ์กองทัพหัวเมืองชายทเลปักษ์ใต้แลฝ่ายตวันออกเข้ามาฤๅยัง เจ้าพระยาจักรีทูลว่า พม่าเห็นจะยังไม่ยกกองทัพใหญ่มาในปีนี้ ถ้าจะยกมาก็คงมาเสียแล้ว ด้วยจวนจะถึงระดูฝนอยู่แล้ว มาทว่าอะแซหวุ่นกี้ทราบว่าตะแคงมรหน่องไม่สามารถจะแก้งุยอคงหวุ่นให้พ้นจากที่ล้อมได้ จะให้กองทัพยกมาอิกก็คงเปนกองทัพน้อย เห็นว่ากำลังที่มีอยู่คงจะพอสู้ได้ โดยจะเกณฑ์กองทัพหัวเมืองมาอิกก็เห็นจะมาไม่ทัน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นชอบด้วย จึงเปนแต่ให้มีตราเกณฑ์เข้าสารเมืองนครศรีธรรมราช ๖๐๐ เกวียน เมืองไชยา เมืองพัทลุงแลเมืองจันทบุรี ๓ เมือง เปนเข้าสารเมืองละ ๔๐๐ เกวียน ให้ส่งมาขึ้นฉางไว้สำรองราชการสงคราม ถ้าหาเข้าไม่ได้ครบจำนวน ขาดเท่าใดก็ให้ส่งเงินแทน คิดราคาเข้าสารเกวียนละ ๔๐ บาท เข้าเปลือกเกวียนละ ๒๐ บาท.

ครั้นถึงปลายเดือน ๔ มีรับสั่งให้อุดมสิงห์จอจัวมีหนังสือเข้าไปถึงนายทัพพม่าทั้ง ๓ ค่ายว่า พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กองทัพหลวงตั้งรั้งรอมาก็ช้านานแล้ว หวังจะให้พวกพม่ามายอมอ่อนน้อมเสียโดยดี ก็ยังขัดขืนไม่ออกมา บัดนี้จะโปรดให้กองทัพเข้าตีค่าย ถ้ายังขัดขืนต่อไปจะพากันตายเสียหมด ให้เร่งออกมาอ่อนน้อมอย่าให้ไพร่พลพลอยตายเสียด้วยเลย ในวันนั้นงุยอคงหวุ่นมีหนังสือตอบออกมาว่า ขอผัดสักวันหนึ่งเถิด พรุ่งนี้จะออกมาสามิภักดิ์โดยดี.

ครั้นถึงวันศุกร เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ เมี้ยนหวุ่นกับปคันเลชูนายทัพพม่า แลพม่าที่เปนตัวนายรองอิก ๑๒ คน พากันรวบรวมเครื่องสาตราวุธของตนมัดแบกออกมายอมสามิภักดิ์ อุดมสิงห์จอจัวพาตัวเข้าเฝ้าที่ค่ายหลวง นายทัพพม่าทั้ง ๒ คนนั้นทูลรับอาสาจะเข้าไปพาตัวงุยอคงหวุ่นออกมาอ่อนน้อม๑๓ ก็โปรดประทานอนุญาตให้กลับเข้าไป ในวันนั้นงุยอคงหวุ่นแม่ทัพกับเนมโยแมงละนรทา ยุยยองโบ่ อคงหวุ่น มุงโยะ แลพวกนายทัพนายกองพม่าที่ในค่ายบางแก้วก็ออกมายอมอ่อนน้อมทั้งหมด แต่ล้อมค่ายพม่ามาได้ ๔๗ วันก็ได้ค่ายพม่าทั้ง ๓ ค่าย ได้เชลยทั้งตัวแม่ทัพนายกองที่กล่าวมาแล้ว แลไพร่พลที่เหลือตายรวม ๑,๓๒๘ คน หญิง ๒ คน พม่าตายเสียเมื่อถูกล้อมกว่า ๑,๖๐๐ คน.

พอได้ค่ายพม่าที่บางแก้วแล้ว รุ่งขึ้นณวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีรับสั่งให้พระยาอนุชิตราชาถือพล ๑,๐๐๐ ยกขึ้นไปทางริมน้ำฟากตวันตก ให้หลวงมหาเทพถือพลอิก ๑,๐๐๐ ยกขึ้นไปทางริมน้ำฟากตวันออก ให้ไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรกพร้อมกับกองทัพพระยายมราชแขก แล้วมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชงุ้ม ในค่ำวันนั้นเวลาประมาณ ๒ ยาม พม่าในค่ายเขาชงุ้มยกค่ายวิหลั่นออกมาปล้นค่ายพระมหาสงคราม หมายจะหักมาช่วยพม่าที่ค่ายบางแก้ว คราวนี้พม่ารบพุ่งแขงแรงกว่าคราวก่อนๆ เห็นจะได้ทราบข่าวเพียงว่า ที่ค่ายบางแก้วจวนจะเสียแก่ข้าศึก จึงพยายามจะลงมาช่วยให้ได้ พม่าเอาไฟเผาค่ายพระมหาสงครามไหม้ขึ้น ผู้คนหนีไฟทิ้งค่ายถอยมา เจ้าพระยาจักรีไปช่วยทัน ห้ามปรามมิให้คนถอยหนี ฟันคนที่ไม่ฟังห้ามเสีย ๒ คน แล้วเข้ารบพุ่งชิงเอาค่ายคืนได้ พม่าจะหักออกมาไม่ได้ก็ย้ายไปปล้นค่ายจมื่นศรีสรรักษ์ไปถูกไทยยิงล้มตายเจ็บป่วยลงอิกเปนอันมาก เหลือกำลังพม่าก็พากันถอยกลับเข้าค่าย ต่อมาถึงวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลากลางคืนพม่าในค่ายเขาชงุ้มก็พากันทิ้งค่ายหนีกลับไปทางเหนือ เพราะไทยไม่ได้ตั้งค่ายล้อมหมดทุกด้านเหมือนกับที่ค่ายบางแก้ว กองทัพไทยไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายไปตามทางแลจับเปนได้เปนอันมาก กองทัพพม่าก็แตกกระจัดกระจายคุมกันไม่ติด ต่างพวกต่างพากันหนีเรี่ยรายไป บางพวกไปพบกองทัพหลวงมหาเทพ กองทัพพระยาอนุชิตราชาแลกองโจรหลวงภักดีสงคราม ก็ตีกระหน่ำซ้ำเติม ฆ่าฟันพม่าล้มตายแลจับได้อิกก็มาก พวกนายทัพนายกองพม่าหนีขึ้นไปถึงค่ายปากแพรก ตะแคงมรหน่องรู้ว่ากองทัพพม่าเสียทีแก่ไทยหมดแล้ว ก็ไม่รอต่อสู้ รีบยกหนีกลับไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตมะ ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้กองทัพยกติดตามพม่าที่แตกหนีไปจนสุดแดนพระราชอาณาเขตรแล้ว ก็มีรับสั่งให้หากองทัพกลับคืนมาพระนคร พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่ความชอบที่มีไชยชนะพม่าครั้งนั้นทั่วกัน.

พิเคราะห์ดูการรบพม่าคราวนี้ กองทัพพม่าที่ยกมา ๓ ทัพ จำนวนพลทั้งสิ้นประมาณ ๙,๐๐๐ คน กองทัพไทยที่ไปต่อสู้พม่าทั้งทัพในกรุง ฯ แลทัพหัวเมือง จำนวนพลรวมเบ็ดเสร็จราว ๒๐,๐๐๐ ถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชประสงค์เพียงจะเอาไชยชนะก็เห็นจะตีกองทัพพม่าให้แตกยับเยินไปเสียนานแล้ว คงเปนเพราะตั้งพระไทยจะจับพม่าให้ได้หมดทั้งกองทัพที่มาตั้งอยู่ที่บางแก้ว ถือเอาข้อนี้เปนสำคัญ จึงพยายามล้อมพม่า เปลืองเวลาแลต้องทนลำบากอิกช้านาน เมื่อมาพิเคราะห์ดูว่าเหตุใด พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสู้ทนความลำบากเพื่อจะจับพม่าให้ได้ในครั้งนี้ เห็นว่าคงเปนเพราะเหตุที่พม่ามาประกาศความที่ดูหมิ่นไทยนั้นประการ ๑ แลยังมีเหตุอิกอย่าง ๑ คือเมื่อครั้งพม่าตีกรุงศรีอยุทธยา ไทยต้องซ่อนเร้นหลบหนีด้วยความเกรงกลัวพม่าอยู่ช้านาน ใจไทยยังไม่หายครั่นคร้ามพม่าทั่วกันหมด ยังมีความหวาดหวั่นเกรงจะถูกพม่าจับเอาไปเปนเชลยเหมือนอย่างญาติพี่น้องแต่ก่อนมายังมีอยู่โดยมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชประสงค์จะปลุกใจไทยให้กลับกล้าหาญดังแต่ก่อน เห็นจะทรงพระราชดำริห์ว่า เพียงจะตีกองทัพพม่าให้แตกไป ผลไม่ประจักษ์แก่คนทั้งหลายเหมือนจับพม่าเอามาเปนเชลยให้ได้มากๆ ให้คนทั้งหลายเห็นว่า พม่าไม่วิเศษอะไร ไทยอาจจะเอาพม่ามาเปนเชลยได้เหมือนที่พม่าเอาไทยไปเปนเชลยเหมือนกัน ดังนี้ จะได้พากันหายครั่นคร้ามพม่า คงเปนด้วยความข้อหลังนี้ด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยอมลำบากแลเสียเวลาล้อมพม่าเอาจนจับเปนได้ทั้งหมด.

  1. ๑. เรียกกันว่าจักรีมอญ.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารตอนนี้ปรากฎแต่ชื่อ ตละเกล็บว่าได้เปนพระยาพระราม เข้าใจว่าพระยาเจ่งเห็นจะได้เปนพระยามหาโยธาในคราวนี้ ถึงรัชกาลที่ ๑ จึงได้เปน เจ้าพระยามหาโยธา ตละปั้นฤๅพระยากลางเมืองนั้น เห็นจะได้เปนพระยาเกียรติคน ๑ อิกคน ๑ ก็คงได้เปนที่อันใดอันหนึ่งในกองมอญ.

  3. ๓. เมืองกาญจนบุรีเดิมอยู่ที่เขาชนไก่ ที่ปากแพรก คือ ตรงที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีทุกวันนี้.

  4. ๔. ด่านประตูสามบานด่านเจ้าขว้าวอยู่ริมน้ำพาชี ทางตวันตกห่างเมืองราชบุรีทางเดิน ๒ วัน.

  5. ๕. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ตะแคงมรหน่องมาคราวเดียวกับงุยอคงหวุ่น แต่พงษาวดารพม่าว่ามาทีหลัง พงษาวดารพม่าเรียกตะแคงมรหน่องว่ามังเรรานค่อง.

  6. ๖. ที่ว่ามองจายิด เปนคนคุมทัพนี้ เปนการคาดคเน.

  7. ๗. เมืองคลองวาฬ คือ เมืองประจวบคิรีขันธ์บัดนี้ ครั้งนั้นตั้งอยู่คลองวาฬใต้อ่าวมะนาว.

  8. ๘. ถ้อยคำที่พูดกับพม่า แต่งไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารความต้นกับปลายไม่ลงกัน เห็นได้ว่าเปนของแต่งทีหลัง มิใช่คัดมาแต่ตัวจดหมายเหตุ จึงเอาแต่เนื้อความมากล่าวในหนังสือนี้.

  9. ๙. ตละเกล็บเปนหัวน่ามอญขบถคน ๑.

  10. ๑๐. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พม่าเรียกพระเจ้าช้างเผือกกรุงศรีอยุทธยาแลพระเจ้าปราสาททองกรุงอังวะ กลับกันไป ที่จริงพม่าเรียกพระเจ้ามังระว่าพระเจ้าช้างเผือก เรียกพระเจ้าแผ่นดินสยามว่าพระเจ้าปราสาททอง จนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จไปประพาศเมืองพม่า ๆ ยังเรียกพระเจ้าปราสาททอง.

  11. ๑๑. เรื่องตรงนี้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า งุยอคงหวุ่นไม่วางใจว่า ถ้ายอมอ่อนน้อมต่อไทย ๆ จะฆ่าเสียฤๅจะให้ชีวิตรดังว่า จึงให้ปลัดทัพออกมาอ่อนน้อมลองดูก่อน พิเคราะห์ดูตามเรื่องที่ปรากฎเห็นว่าจะไม่เปนอย่างนั้น คงเปนด้วยเมื่อนายทัพพม่าปฤกษากัน งุยอคงหวุ่นไม่ไว้ใจ ยังไม่ยอมออกมาอ่อนน้อม แต่ปลัดทัพเห็นว่าไม่มีช่องทางอย่างอื่นแล้ว ไม่ควรจะรั้งรอต่อไป จึงพาพวกของตัวออกมาอ่อนน้อม ความจริงคงเปนอย่างนี้.

  12. ๑๒. ปืนลูกไม้นี้จะอย่างไรไม่พบอธิบายชัดเจน ปรากฎแต่ว่า เปนของสร้างขึ้นในครั้งกรุงธนบุรี มาถึงรัชกาลที่ ๑ เมื่อรบพม่าที่ลาดหญ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทำลายค่ายพม่า ก็ให้เข้ามาเอาปืนลูกไม้ครั้งกรุงธนฯ ออกไปยิง ทำนองจะเปนปืนใหญ่ยิงด้วยไม้ท่อนแทนกระสุน.

  13. ๑๓. พม่าพวกนี้เห็นจะอยู่ต่างค่ายกับงุยอคงหวุ่น ด้วยค่ายพม่าที่บางแก้วถึง ๓ ค่ายด้วยกัน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ