สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐

เจ้าตากตีได้กรุงศรีอยุทธยาคืนจากข้าศึกครั้งนั้น กิติศัพท์ทราบไปถึงไหน เกียรติยศของเจ้าตากก็แพร่หลายตลอดไป ว่าเปนผู้สามารถกู้แผ่นดินไทยให้พ้นจากอำนาจพม่าข้าศึกได้ เพราะฉนั้นพวกไพร่บ้านพลเมืองที่ยังหลบลี้อยู่โดยลำพัง ทั้งที่ในแขวงจังหวัดกรุง ฯ แลหัวเมืองใหญ่น้อยก็พากันนิยมยินดี มีผู้คนมาอ่อนน้อมยอมเปนข้าเจ้าตากเปนอันมาก ถึงพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย คือพวกจีนเปนต้น เห็นว่าเจ้าตากได้เปนใหญ่ในราชธานี ก็นับถือว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินไทย เจ้าตากลงมาตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรี จึงทำพิธีราชาภิเศกในปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ประกาศพระเกียรติยศเปนเจ้ากรุงศรีอยุทธยามหากระษัตริย์แทนโบราณราชแต่ก่อน แล้วปูนบำเหน็จนายทัพนายกองที่มีความชอบ ตั้งแต่งให้มียศศักดิ์ตามทำเนียบข้าราชการครั้งกรุงเก่า ครั้งนั้นนายสุดจินดาได้เปนที่พระมหามนตรีเจ้ากรมตำรวจ แล้วไปชวนหลวงยกรบัตรเมืองราชบุรีผู้เปนพี่ (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์) เข้ามารับราชการ ก็ได้เปนที่พระราชรินทร์เจ้ากรมตำรวจด้วย.

ราชอาณาเขตรของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อราชาภิเศก ได้ไว้ประมาณสักครึ่งราชอาณาเขตรครั้งกรุงเก่า ฤๅถ้ากล่าวโดยนามตามที่กำหนดในปัจจุบันนี้ คือ มณฑลกรุงเทพ ฯ ๑ มณฑลอยุทธยา ๑ มณฑลราชบุรี ๑ มณฑลนครไชยศรี ๑ มณฑลนครสวรรค์ (แต่ปากน้ำโพธิ์ลงมา) ๑ มณฑลปราจิณ ๑ มณฑลจันทบุรี ๑ แต่หัวเมืองทั้ง ๗ มณฑลนี้ ครั้งนั้นนับว่าเปนปรกติอยู่ แต่มณฑลจันทบุรีมณฑลเดียว อิก ๖ มณฑลถูกพม่าย่ำยียับเยิน เปนเมืองร้างอยู่โดยมาก เพราะผู้คนพลเมืองที่เหลือพม่ากวาดเอาไป พากันอพยพไปอยู่เสียต่างประเทศแลต่างก๊กก็มาก ที่ยังคงอยู่ในถิ่นเดิมก็แตกกระจัดพลัดพรายเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าตามดง จะต้องเกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนมา จึงจะกลับเปนบ้านเปนเมืองได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเปนราชธานีแล้ว จึงให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับมาอยู่บ้านเมือง ครั้นราษฎรที่เที่ยวแตกฉานอยู่แต่ก่อนพากันกลับเข้ามาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีมากขึ้น ไม่ช้าก็เกิดอัตคัดเสบียงอาหาร ผู้คนกลับพากันอดอยากด้วยบ้านเมืองมิได้ทำไร่นามาถึง ๒ ปี แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีมีอุปนิสัยทรงสามารถในการแก้ไขความขัดข้องอันเปนปัจจุบันทันด่วน ดีทั้งในเวลารบพุ่งแลเมื่อเข้าที่คับขันในเวลาอื่นดังได้กล่าวมาแล้ว ก็ทรงแก้ทุพภิกขภัยได้โดยวิธีทำนองเดียวกัน ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พอทรงทราบว่าเกิดความอดอยากก็ให้จ่ายพระราชทรัพย์ซื้อเข้าสารที่พ่อค้าต่างเมืองเอามาขาย เรียกราคาถึงถังละสี่บาทห้าบาทก็ยอมซื้อ แลซื้อทั้งผ้าพรรณเครื่องนุ่งห่มเอามาแจกจ่ายพระราชทานชาวพระนครที่อดอยากแลขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม การที่จัดนั้นก็เกิดผลเปน ๒ สถาน คือสถาน ๑ พวกชาวต่างเมืองต่างก๊กรู้ว่าขายเข้าของที่กรุงธนบุรีได้ราคาดี ต่างก็บรรทุกเข้าเปลือกเข้าสารแลสิ่งของมาขายมากขึ้น ไม่ช้านานพวกพลพลเมืองก็หาได้พอต้องการ ด้วยของมีขายมากขึ้นราคาก็ย่อมเยาเบาลงตามธรรมดาการค้าขาย อิกสถาน ๑ พวกราษฎรที่แตกฉานเที่ยวระบาดอยู่ ครั้นทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทำนุบำรุงราษฎรโดยเมตตาปรานี ต่างก็พากันกลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาบ้านเมือง เปนเหตุให้พระเจ้ากรุงธนบุรีมีไพร่บ้านพลเมืองเปนกำลังขึ้นอิกมาก.

ส่วนการปกครองหัวเมืองทั้งปวง ในหนังสือพระราชพงษาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีราชาภิเศกแล้ว ทรงตั้งข้าราชการออกไปรักษาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง แต่หัวเมืองในสมัยนั้น ประมาณดูตามเรื่องราวที่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร จะมีผู้คนพอรวบรวมตั้งเปนเมืองได้โดยเร็วเห็นจะมีไม่กี่เมือง ถ้าจะลองคะเนนับดู หัวเมืองข้างเหนือมีกรุงเก่า ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองอ่างทอง ๑ หัวเมืองข้างตวันออกมีเมืองฉะเชิงเทรา ๑ เมืองชลบุรี ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองจันทบุรี ๑ เมืองตราษ ๑ หัวเมืองข้างตวันตกมีเมืองนครไชยศรี ๑ เมืองสมุทสงคราม ๑ เมืองเพ็ชรบุรี ๑ รวม ๑๑ เมืองนี้ที่เห็นจะมีผู้คนเหลืออยู่พอจะตั้งเปนเมืองได้ ถึงกระนั้นก็จำเปนที่ต้องตั้งผู้ปกครองให้มีดังแต่ก่อนทั่วทุกเมือง เพราะจะต้องเกลี้ยกล่อมพวกพลเมืองที่แตกฉานกระจัดกระจายอยู่ให้รวบรวมกันตั้งเปนภูมิลำเนา แลคอยปราบปรามพวกคนพาลที่ยังตั้งซ่องเปนโจรผู้ร้ายอยู่ตามหัวเมืองที่ห่างไกลออกไป พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องแบ่งทหารให้ออกไปเปนกำลังตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง จะไปตั้งอยู่กี่แห่งทราบไม่ได้หมด ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารแต่ว่า ให้ทหารจีนไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้งที่แดนเมืองสมุทสงครามต่อแดนเมืองราชบุรีแห่ง ๑ จึงเชื่อว่าคงจะมีกำลังตั้งรักษาอย่างเดียวกันทางอื่นอิก ดังเช่นกองด่านรักษาปากน้ำแลที่ทางต่อแดนกับพวกก๊กอื่นเปนต้น แต่ไม่มีเหตุเหมือนเช่นที่บางกุ้ง จึงมิได้กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร.

ตรงนี้จะย้อนไปกล่าวเปนข้อวินิจฉัยถึงเรื่องพม่าตีกรุงศรีอยุทธยาอิกสักหน่อย ได้กล่าวมาแต่ก่อนแล้วว่าพม่ามาตีกรุงศรีอยุทธยาครั้งหลังนี้ ประสงค์แต่จะเก็บเอาทรัพย์กับกวาดคนเปนชเลยไปใช้สอยในเมืองพม่า ไม่ได้ตั้งใจจะรักษาเมืองไทยไว้เปนเมืองขึ้นเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดี เข้าใจว่าคงเปนเพราะพม่าเห็นว่าจะเอาไทยไว้ในอำนาจพม่าไม่ได้ พระเจ้าหงษาวดีพยายามจะเอาไทยไว้ในอำนาจจึงเลยเสียบ้านเมือง ความข้อนี้มีปรากฎอยู่ในพงษาวดารพม่า พระเจ้าอังวะจึงคิดจะทำลายเมืองไทยเสียไม่ให้เปนบ้านเปนเมืองมีกำลังต่อสู้ได้ต่อไปทีเดียว เพราะฉนั้นเมื่อตีกรุงศรีอยุทธยาได้แล้วพม่าจะเลิกทัพกลับไป จึงเปนแต่ให้สุกี้พระนายกองเปนแม่ทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ให้คอยค้นคว้าหาทรัพย์สมบัติผู้คนที่ยังตกหล่นส่งตามไปเมืองพม่า หาได้ตั้งผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนเจ้าบ้านผ่านเมือง ฤๅจัดวางวิธีการปกครองเมืองที่ดีได้อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ สุกี้ตั้งอยู่เหมือนอย่างพม่าตัดหางปล่อยไว้ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาตีกรุงศรีอยุทธยา ทางเมืองพม่าพระเจ้าอังวะจะได้ทราบข่าวไปจากพวกนายทัพนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้นบ้างฤๅอย่างไรหาปรากฎไม่ มีในพงษาวดารพม่าแต่ว่า เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเมืองเวียงจันทร์ซึ่งฝากใฝ่อยู่กับพม่าในสมัยนั้น บอกไปทูลพระเจ้าอังวะว่า ได้ทราบว่าที่ในเมืองไทยพระยาตาก (สิน) ตั้งตัวเปนใหญ่ กลับตั้งกรุงศรีอยุทธยาขึ้นเปนราชธานี ฝ่ายพระเจ้าอังวะเวลานั้นกำลังกังวลอยู่ด้วยจะเกิดสงครามจีน ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ทางเมืองไทยจะเปนการใหญ่โตมากมาย ด้วยเห็นว่าเมืองไทยยับเยิน ผู้คนพลเมืองก็เหลืออยู่น้อย จึงให้มีท้องตราสั่งแมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวายให้คุมกำลังเข้ามาตรวจตราดูในเมืองไทยว่าจะยังราบคาบอยู่ฤๅอย่างไร ถ้ามีใครกำเริบตั้งตัวขึ้นก็ให้ปราบปรามเสียให้เรียบร้อย พระยาทวายจึงเกณฑ์กำลังยกเปนกองทัพ เข้ามาทางเมืองไทรโยคเมื่อระดูแล้งปลายปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐.

ขณะนั้นเมืองกาญจนบุรีแลเมืองราชบุรีอันอยู่ในทางพม่าเดินทัพยังร้างอยู่ทั้ง ๒ เมือง เรือรบของพม่ายังอยู่ที่เมืองไทรโยค แลค่ายคูของพม่าที่ตั้งตามริมน้ำเมืองราชบุรีก็ยังไม่มีไครไปรื้อถอน พระยาทวายก็ยกกองทัพมาตามสบาย ครั้นมาถึงบางกุ้งเห็นค่ายทหารจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ พระยาทวายก็ให้กองทัพเข้าล้อมไว้ กรมการเมืองสมุทสงครามบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบก็รีบจัดกองทัพที่ในกรุง ฯ ให้พระมหามนตรี (คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) คุมทัพน่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคุมทัพหลวงเอง รีบยกเปนกระบวนทัพเรือออกไปยังเมืองสมุทสงคราม เมื่อไปถึงได้ทรงทราบว่าค่ายที่บางกุ้งจวนจะเสียแก่ข้าศึกอยู่แล้ว จึงมีรับสั่งให้ทัพน่ายกเข้าโจมตีข้าศึกในวันนั้น กองทัพหลวงก็ยกตามเข้าไป พวกไทยใช้อาวุธสั้นเข้าไล่ตลุมบอนฟันแทงข้าศึกล้มตายลงเปนอันมาก ที่เหลือตายก็พากันแตกหนี พระยาทวายเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ ก็รวบรวมไพร่พลกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว กองทัพไทยได้เรือรบของพม่าทั้งหมดแลได้เครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารด้วยเปนอันมาก.

ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๑๑ พอเข้าระดูฝน พ้นเวลาที่จะมีสงครามมาทางเมืองพม่า พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ให้ตระเตรียมเรือรบแลรี้พลหมายจะตีเอาเมืองพิศณุโลกในปีนั้น ครั้นถึง (เดือน ๑๑) ระดูน้ำพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกองทัพเรือขึ้นไปเมืองเหนือ เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองเหนือคราวนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีรายการแต่ว่า เจ้าพิศณุโลกเรืองทราบข่าวว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไป จึงให้หลวงโกษา ชื่อยัง คุมกองทัพลงมาตั้งรับที่ตำบลเกยไชย กองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ข้าศึกยิงปืนมาถูกที่พระชงฆ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ถอยกองทัพกลับคืนมาพระนคร ข้อความกล่าวถึงการรบมีในหนังสือพระราชพงษาวดารเพียงเท่านี้ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูโดยภูมิแผนที่ เห็นว่าพอจะคาดเค้าของการรบครั้งนั้นให้กว้างขวางออกไปได้อิก ด้วยตำบลเกยไชยอยู่ในแขวงเมืองนครสวรรค์ อยู่เหนือปากน้ำโพธิ์ไปไม่มากนัก ในสมัยนั้นลำน้ำแควใหญ่ คือลำน้ำที่ตั้งเมืองพิศณุโลก ปากน้ำออกที่ตำบลเกยไชย ถ้าขึ้นไปจากปากน้ำเกยไชยทางลำน้ำแควใหญ่ ต้องผ่านแขวงเมืองพิจิตรจนตลอดแล้วจึงจะเข้าแดนเมืองพิศณุโลก เวลาเดินเรือแต่ตำบลเกยไชยกว่า ๓ วันจึงจะถึงเมืองพิศณุโลก เพราะฉนั้นตำบลเกยไชยที่รบกันอยู่ปลายแดนทีเดียว ที่เจ้าพิศณุโลกเรืองให้กองทัพลงมารบพุ่งจนถึงที่ตำบลเกยไชยครั้งนั้น เข้าใจว่าหลวงโกษายังนั้น เห็นจะเปนเจ้าเมืองพิจิตร ฤๅมิใช่ก็เปนนายทหารคนหนึ่งซึ่งเคยมีฝีมือเข้มแขง เจ้าพิศณุโลกเรืองให้คุมกำลังลงมาอย่างกองโจร คงจะให้ลงมาคอยตีตัดลำเลียงกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี มิใช่ทัพขันที่ให้ลงมาตั้งคอยสกัดรบพุ่ง เวลานั้นเปนระดูน้ำ ๆ ท่วมป่าแถวนั้นหมด พวกกองโจรใช้เรือเพรียว จะแล่นลัดไปมาฤๅซุ่มซ่อนอยู่ที่ใดก็สดวก ทั้งพวกเมืองเหนือชำนาญท้องที่ หลวงโกษายังจึงลงมาดักจนถึงปลายแดน ฝ่ายพวกกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีไปจากข้างใต้ไม่รู้เบาะแสท้องที่ สำคัญว่ายังห่างไกลบ้านเมืองของข้าศึกอยู่มาก ก็ไม่ระมัดระวังตัวในที่เปลี่ยว พวกหลวงโกษายังได้ทีจึงเข้าปล้นทัพ ฝ่ายพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นข้าศึกเข้าปล้นทัพก็เอาพระองค์ออกน่าเข้ารบพุ่งเองตามเคยจึงได้ถูกลูกปืนข้าศึก เข้าใจว่าการที่รบกันที่เกยไชยเห็นจะเปนทำนองเช่นกล่าวมานี้ ฝ่ายข้าศึก เพราะเปนแต่กองโจร จึงไม่มีกำลังที่จะตีกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีให้แตกพ่าย ฝ่ายกองทัพกรุงธนบุรีเพราะเจ้านายต้องอาวุธข้าศึก เห็นว่าจะรบพุ่งต่อไปไม่สำเร็จก็ถอยทัพกลับลงมา หาได้รบพุ่งกันถึงขับเคี่ยวอย่างไรไม่.

ฝ่ายเจ้าพิศณุโลกเรืองนั้น ทำนองจะหวาดหวั่นมาตั้งแต่ได้ยินว่าพระยาตาก (สิน) ตีได้กรุงศรีอยุทธยา ครั้นได้ทราบว่ากองทัพของตนมีไชยชนะ ยิงถูกพระเจ้ากรุงธนบุรี ข้าศึกต้องล่าทัพกลับไปก็ได้ใจ ด้วยเชื่อว่าปราบสัตรูที่สำคัญพ่ายแพ้แล้ว คงจะได้เปนใหญ่ทั่วทั้งเมืองไทย จึงตั้งพิธีราชาภิเศกตั้งตัวขึ้นเปนพระมหากระษัตริย์ ใช้พระราชโองการเหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งครองกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อน พอราชาภิเศกแล้วได้ ๗ วันก็พเอิญเกิดโรคฝีขึ้นในลำคอถึงพิราไลย พระอินทร์อากรเปนน้องชายเจ้าพิศณุโลกขึ้นครองเมืองแทน ครั่นคร้ามเกรงจัญไรหาตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าไม่ แต่นั้นมากำลังเมืองพิศณุโลกก็อ่อนแอลง ด้วยพวกไพร่บ้านพลเมืองไม่นิยมนับถือพระอินทร์อากรเหมือนกับเจ้าพิศณุโลกเรือง กิติศัพท์นั้นทราบไปถึงเจ้าพระฝางก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก ตั้งล้อมเมืองอยู่ ๒ เดือน พอพวกชาวเมืองอดอยากก็เกิดเปนไส้ศึกเปิดประตูเมืองรับกองทัพเจ้าพระฝางเข้าในเมือง เจ้าพระฝางได้เมืองพิศณุโลก จับพระอินทร์อากรได้ให้ประหารชีวิตรเสีย แล้วให้เก็บริบรวบรวมทรัพย์สมบัติบรรดามีในเมืองพิศณุโลก กับทั้งเครื่องสาตราอาวุธ แลกวาดต้อนราษฎรพลเมืองพากลับไปเมืองสวางคบุรี พวกราษฎรชาวเมืองพิศณุโลกแลเมืองพิจิตรที่หนีได้ พากันอพยพครอบครัวลงมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีครั้งนี้เปนอันมาก

  1. ๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ขนานพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชา นับเปนที่ ๔ แต่ในหนังสือเก่าๆ เรียกว่า “ขุนหลวงตาก” บ้าง “เจ้ากรุงธนบุรี” บ้าง “พระเจ้ากรุงธนบุรี” มีคำกล่าวกันแต่ก่อนมาว่า เมื่อเจ้าตากทำพิธีราชาภิเศกหาพราหมณ์ทำพิธีไม่ได้ เห็นเปนการบกพร่องไม่ต้องตามราชประเพณี จึงไม่ใช้พระราชโองการตลอดรัชกาล แต่ความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่ ในหนังสือตั้งเจ้านครฯ ซึ่งพบสำเนาเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ใช้พระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์ แลมีพระราชโองการตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าหมดทุกอย่าง.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพพระยาทวายยกมามีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ เห็นจะมากเกินไป สังเกตตามเรื่องเห็นว่าคงไม่เกิน ๓,๐๐๐ เปนอย่างมาก

  3. ๓. ด่านเจ้าขว้าว เปนด่านเมืองราชบุรี ตั้งอยู่ริมลำน้ำพาชี.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ