- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
เหตุที่เกิดสงครามคราวรบพม่าที่ท่าดินแดงเนื่องมาแต่สงครามครั้งที่ ๑ ซึ่งพม่ายกมา ๙ ทัพ เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าเสียทีไทยกลับไปหมดทุกทาง พระเจ้าปดุงมีความอัปยศอดสู ด้วยทำสงครามไม่เคยแพ้ใคร พึ่งมาแพ้ไทยเปนทีแรก เกรงคนทั้งหลายจะดูหมิ่น จึงพยายามมาตีเมืองไทยอิกครั้ง ๑ พอพระเจ้าปดุงกลับไปก็ให้เตรียมทัพในต้นปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙.
คราวนี้พระเจ้าปดุงรู้สึกการที่ได้ทำผิดไปในครั้งก่อน คิดแก้ไขจะมิให้พลาดพลั้งได้อิก จึงกะจะยกเปนกระบวนทัพใหญ่ติดตามกันเข้ามาทางด่านพระเจดียฺสามองค์ ซึ่งเปนทางใกล้กรุงเทพ ฯ แต่ทางเดียว และจะจัดวางเสบียงอาหารสำหรับกองทัพไว้ให้พอทุกระยะทางที่เข้ามา มิให้ไพร่พลอดอยาก แลจะมาตั้งต่อเรือรบที่ปลายน้ำไทรโยค ยกทั้งกองทัพบกทัพเรือเข้ามาตีกรุงเทพ ฯ หมายจะตั้งรบแรมปีตีเอากรุงเทพ ฯ ให้จงได้.๑
การที่พม่าเตรียมทัพคราวนี้ ปรากฎในเบื้องต้นว่า พระเจ้าปดุงให้กองทัพที่กลับไปจากเมืองราชบุรีตั้งค้างฝนอยู่ที่เมืองเมาะตมะ แลให้กองทัพเกงหวุ่นแมงยีที่กลับไปจากเมืองนครศรีธรรมราชค้างฝนอยู่ที่เมืองทวาย กองทัพอื่นก็เห็นจะให้ตั้งค้างฝนอยู่ที่อื่นอิก แล้วให้กะเกณฑ์เสบียงอาหารตามบรรดาหัวเมืองมอญตลอดไปจนเมืองยะไข่ ขนมารวบรวมขึ้นยุ้งฉางไว้ที่เมืองเมาะตมะเปนอันมาก ครั้นถึงปลายระดูฝนจึงให้เกณฑ์รี้พลเพิ่มเติมลงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตมะ ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ซึ่งเปนพระมหาอุปราชาลงมาบัญชาการกองทัพที่ ๑ มีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ยกเข้ามาเตรียมการในแดนไทยก่อน แล้วพระเจ้าปดุงจึงยกกองทัพหลวงตามเข้ามาอิกทัพ ๑.
พระมหาอุปราชาลงมารวบรวมพลที่เมืองเมาะตมะพร้อมแล้ว พอเข้าระดูแล้งก็แต่งให้เมียนหวุ่นกับเมียนเมหวุ่นซึ่งเคยเปนนายทัพที่ ๔ ที่ ๕ มารบกับไทยที่ลาดหญ้าเมื่อคราวก่อน คุมพล ๓๐,๐๐๐ ยกล่วงน่าเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้เข้ามาตั้งค่ายมั่นแลทำทางวางเสบียงอาหารสำหรับกองทัพใหญ่ที่จะยกตามเข้ามา อย่าให้ติดขัดในตอนที่จะข้ามเขาเข้ามาถึงที่ราบในแดนไทยได้ดังครั้งก่อน กองทัพเมียนหวุ่นแลเมียนเมหวุ่นจึงเข้ามาตั้งที่ท่าดินแดงแห่ง ๑ ที่สามสบแห่ง ๑ ทำค่ายใหญ่น้อยหลายค่าย ชักปีกกาถึงกัน แลขุดสนามเพลาะปีกชวากป้องกันแน่นหนา ประสงค์จะมิให้ไทยชิงไปทำลายการได้ในตอนนี้ แล้วให้ปลูกยุ้งฉางวางเสบียงอาหารทุกระยะ แม้ทางที่จะเดินทัพนั้นก็ให้ทำทางทอดสะพานข้ามห้วยธารมาทุกแห่ง แล้วพระมหาอุปราชาก็ยกกองทัพหลวงมีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ตามเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ริมลำน้ำแม่กระษัตริย์ ใกล้กับด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทัพ ๑.
รายการที่พม่าเข้ามาตั้งค่ายตระเตรียมการทัพในแดนไทยครั้งนั้น มีในกลอนเพลงยาวพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพรรณาไว้ในนิราศท่าดินแดงดังนี้.
“อ้ายพม่าตั้งอยู่ท่าดินแดง | ตกแต่งค่ายรายไว้ถ้วนถี่ |
ทั้งเสบียงอาหารสารพัดมี | ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ |
มีทั้งพ่อค้ามาขาย | ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน |
ด้านหลังทำทางวางตะพาน | ตามลหานห้วยธารทุกตำบล |
ร้อยเส้นมีฉางหว่างค่าย | ถ่ายเสบียงอาหารทุกแห่งหน |
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน | จนตำบลสามสบครบครัน |
อันค่ายคูประตูหอรบ | ตบแต่งสารพัดเปนที่มั่น |
ตั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน | เปนชั้นชั้นอันดับมากมาย” |
ยุทธวิธีที่ไทยต่อสู้พม่าคราวนี้ รายการที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารอยู่ข้างจะย่นย่อไม่สู้ชัดเจนนัก ว่าชาวด่านไปสืบราชการ รู้ข่าวว่าพม่ายกมาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ท่าดินแดงแลสามสบ เมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนอ้ายข้างแรม จึงดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์กองทัพ จัดกระบวนเปนทัพใหญ่ ๒ ทัพ ทัพที่ ๑ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ให้กรมพระราชวังบวร ฯ กับเจ้าพระยารัตนาพิพิธยกไปก่อน แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงเปนทัพที่ ๒ จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ เศษ หนุนไปอิกทัพ ๑ โปรดให้กรมพระราชวังหลังโดยเสด็จไปในกองทัพหลวงด้วย.
กองทัพไทยยกขึ้นไปทางลำแม่น้ำไทรโยคทั้ง ๒ ทัพ ด้วยประสงค์จะเอากำลังเข้าทุ่มเทตีพม่าให้แตกไปแต่ยังอยู่ปลายแดน ไม่ปล่อยให้ข้ามเขาเข้ามาถึงลาดหญ้าแขวงเมืองกาญจนบุรีดังคราวก่อน กองทัพกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จทางเรือไปถึงเมืองไทรโยค แล้วจึงจัดเปนทัพบก ๔ กอง ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยากลาโหมราชเสนา แลพระยาจ่าแสนยากรคุมพลยกไป ๓ กอง รวมจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกกองทัพหลวง จำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ตามไป หมายตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ ฝ่ายกองทัพหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็เสด็จขึ้นไปตามทางเรือจนถึงเมืองไทรโยค แล้วจึงยกเปนกองทัพบกขึ้นไปตามทางริมแม่น้ำจนถึงเมืองท่าขนุน ให้ตั้งค่ายหลวงณที่นั้น แล้วให้นายทัพนายกองคุมพลยกขึ้นไปตั้งประชิดพม่าที่ตำบลท่าดินแดง เมื่อกองทัพไทยทั้ง ๒ ทัพประจบกันแล้ว ถึงวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ก็ตีค่ายพม่าพร้อมกัน กองทัพวังน่าเข้าตีค่ายที่สามสบ กองทัพวังหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดง รบกับพม่าอยู่ ๓ วัน ถึงวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่ายไทยเข้าค่ายพม่าได้ พม่าต่อสู้อยู่จนเวลาค่ำก็ทิ้งค่ายแตกหนีไปหมดทุกค่าย กองทัพไทยไล่ติดตามพม่าไปจนถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่แม่กระษัตริย์ พระมหาอุปราชารู้ว่ากองทัพน่าแตกก็ตกพระไทยรีบถอยหนีไปมิได้ต่อสู้ ในพงษาวดารพม่าว่าครั้งนี้พม่าแตกยับเยิน ไทยฆ่าฟันพม่าล้มตายมากนัก ที่จับเปนได้ก็มาก ได้ทั้งช้างม้าพาหนะเสบียงอาหารแลเครื่องสาตราวุธ แม้ที่สุดปืนใหญ่ที่กองทัพพม่าเอามาครั้งนั้น ไทยได้ไว้ทั้งหมดไม่มีเหลือไป ตัวแม่ทัพใหญ่ก็หนีไปเกือบไม่พ้น แต่ในจดหมายเหตุของนายพันตรีไมเคล ไซม์ ว่าพระเจ้าปดุงเองไทยเกือบจับได้ แต่ในพงษาวดารพม่าฉนับหอแก้วว่า ทัพพม่าแม่ทัพใหญ่ชื่อแมงยีนันทะกยอดิน นายทัพน่าชื่อหวุ่นทอกเนมิโยกยอชวาคน ๑ หวุ่นทอกมณีเชฐคน ๑ แลจำนวนพลพม่าที่ยกมาครั้งนี้ว่า ๕๕,๐๐๐ ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า แม่ทัพใหญ่ที่มาแตกไทยไปเห็นจะเปนพระมหาอุปราชาอย่างที่ว่าในหนังสือพระราชพงษาวดาร พระเจ้าปดุงเวลานั้นเห็นจะยังอยู่ที่เมืองเมาะตมะ ฤๅยกตามมากลางทางยังมาไม่ถึงแม่กระษัตริย์ จึงเข้าใจกันทางเมืองพม่าว่าพระเจ้าปดุงมาแตกทัพไป มีจดหมายเหตุของบาดหลวงชาวอิตะลีคน ๑ ชื่อสันเยอมะโนอยู่ในเมืองพม่าในเวลานั้นกล่าวว่า กองทัพพระเจ้าปดุงมาแตกหนีไทยไปคราวนี้ ผู้คนในเมืองพม่าพากันตื่นตกใจมาก จนบาดหลวงคนนั้นเห็นว่า ถ้ากองทัพไทยยกตามออกไปก็เห็นจะตีได้จนถึงอมระบุระ ในหนังสือพงษาวดารพม่าที่เซอร์ อาเธอร์ แฟร์ แต่งเปนภาษาอังกฤษ ก็สรรเสริญว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงปลุกใจไทยซึ่งเข็ดขยาดพม่ามาช้านาน ให้กลับกล้าหาญหายคร้ามพม่าได้ตั้งแต่มีไชยชนะครั้งนี้ ผลของการสงครามครั้งรบกันที่ท่าดินแดงคราวนี้ พิเคราะห์ดูตามหนังสือจดหมายเหตุทั้ง ๒ ฝ่าย ดูข้างพม่ารู้สึกว่าเปนการสำคัญยิ่งกว่าที่รู้สึกกันทางข้างฝ่ายไทย เมื่อลองสันนิฐานดูว่าจะเปนเพราะเหตุใด เข้าใจว่าที่รู้สึกผิดกันคงเปนเพราะเช่นนี้ คือสงครามพม่าครั้งนั้น ๒ คราวติดกันใน ๒ ปี คราวแรกพม่ายกมามากมายใหญ่หลวง กว่าไทยจะเอาไชยชนะได้ต้องรบพุ่งลำบากมาก ครั้งหลังนี้รบครั้งเดียวไทยก็ชนะสงคราม ฝ่ายไทยจึงเห็นว่าไม่สำคัญเหมือนครั้งก่อน แต่ฝ่ายข้างพม่าเมื่อยกมาครั้งก่อน ถึงว่ามาแพ้ไทย ในที่สุดก็มีเหตุพอเปนข้อแก้ตัวว่า ตีหัวเมืองเหนือใต้ของไทยได้หลายเมือง ที่ไม่สำเร็จเพราะขาดเสบียงอาหารเปนต้น แต่ครั้งหลังนี้ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะพม่าได้คิดอ่านแก้ไขข้อติดขัดมาแต่ต้นจนหมดทุกอย่าง ความปรากฎโด่งดังว่าจะตีเอาเมืองไทยให้จงได้ ครั้นกลับมาพ่ายแพ้ไทยยับเยิน ต้องแตกหนีกลับไปหมดทุกทัพ คนทั้งหลายก็ต้องคิดเห็นอย่างเดียว แต่ว่าสู้ฝีมือแลความคิดไทยไม่ได้ ที่พม่ามาแพ้ไทยครั้งรบกันที่ท่าดินแดงพม่าจึงรู้สึกว่าสำคัญมาก แต่นี้ก็มิได้พยายามที่จะมาตีกรุงเทพ ฯ อิกต่อไป.
การสงครามครั้งรบพม่าที่ท่าดินแดง นับเวลาตั้งแต่กองทัพยกไปจากกรุงเทพฯ ไม่ถึงเดือนก็เสร็จสงคราม ครั้นมีไชยชนะพม่าแล้ว จึงมีรับสั่งให้เผาค่ายแลยุ้งฉางที่พม่ามาสร้างขึ้นไว้ในแดนไทยเสียให้หมด แล้วก็โปรดให้กองทัพกลับคืนมายังพระนคร เปนสิ้นเรื่องสงครามครั้งที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร ฯ เพียงนี้.
-
๑. เรื่องต่อเรือรบไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร เข้าใจได้ที่พม่าเตรียมตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงนานวัน ไม่มีกิจอื่นนอกจากการต่อเรือรบ อันเปนการจำเปน. ↩