- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ตอนที่ ๘
ในระหว่างเวลาทางกรุงเทพฯ โต้ตอบกับอังกฤษทางเมืองพม่าดังบรรยายมานี้ รัฐบาลอังกฤษในอินเดียก็ปรารภอยู่อิกทาง ๑ ว่าจำจะต้องมีผู้แทนฝ่ายอังกฤษเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงจะป้องกันมิให้ไทยกับอังกฤษเกิดเข้าใจผิดกันในการทำสงครามครั้งนี้ได้ ลอดอัมเฮิสต์จึงแต่งให้นายร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี เปนทูตเชิญอักษรสาส์นแลคุมเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เปนการให้มาแสดงความยินดีของรัฐบาลอังกฤษที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กับทั้งจะได้กราบทูลชี้แจงเรื่องการสงครามที่อังกฤษทำกับพม่า ให้ทรงทราบข้อความตามแต่ที่จะมีพระราชประสงค์.
นายร้อยเอก เฮนรีเบอร์นี นี้ เดิมมีตำแหน่งรับราชการอยู่ที่เกาะหมาก ครั้นเมื่ออังกฤษเร่งให้กองทัพไทยยกไปช่วยรบพม่า เจ้าเมืองเกาะหมากเกรงเจ้าพระยานคร ฯ จะไม่บอกเข้ามากรุงเทพฯ ทันประสงค์ จึงแต่งให้นายร้อยเอก เบอร์นี ถือหนังสือขึ้นมาหาพระยาถลางแลเจ้าเมืองอื่น ขอให้บอกข้อความเข้ามาอิกทาง ๑ เบอร์นีได้เที่ยวอยู่ในหัวเมืองไทยหลายเดือน คุ้นเคยกับไทยแลรู้การงานเมืองไทยมาก ลอดอัมเฮิสต์จึงได้เลือกให้เปนทูตเข้ามาเมืองไทย๑ สั่งให้เข้ามาคิดอ่านเปนเนื้อความ ๔ ข้อ คือ.
ข้อ ๑ ให้พยายามรักษาไมตรีอย่าให้ไทยเปนอริกับอังกฤษ.
ข้อ ๒ ให้คิดอ่านขอกำลังไทยไปช่วยอังกฤษ ให้เปนประโยชน์ในการที่ทำสงครามกับพม่า.
ข้อ ๓ ให้คิดอ่านชวนไทยทำหนังสือสัญญาการค้าขาย.
ข้อ ๔ ให้คิดอ่านว่ากล่าวเรื่องเมืองไทรแลหัวเมืองมลายูให้ตกลงกันเสียให้เรียบร้อย.
แต่กำชับสั่ง เบอร์นี ว่า อย่าเพ่อมายกเมืองใดๆ ที่อังกฤษตีได้จากพม่าให้แก่ไทย ที่ลอดอัมเฮิสต์กำชับในข้อนี้เพราะเหตุใด จะปรากฎต่อไปข้างน่า.
นายร้อยเอก เบอร์นี กลับจากเมืองกาลกัตตา มาถึงเกาะหมากเมื่อเดือน ๙ ปีระกา เห็นอังกฤษที่เกาะหมากกำลังเตรียมจะรบกับเจ้าพระยานคร ฯ เหตุเกิดด้วยพระยาสลางงอวิวาทกับพระยาแปะระอิก พระยาสลางงอให้กองทัพมายึดด่านปากน้ำเมืองแปะระไว้ แล้วเก็บริบเอาต้นไม้ทองเงินแลเครื่องราชบรรณาการซึ่งพระยาแปะระให้คนคุมมากรุงเทพ ฯ ไว้เสีย พระยาแปะระบอกมายังเจ้าพระยานคร ฯ เจ้าพระยานคร ฯ จึงให้เตรียมกองทัพเรือจะยกลงไปตีเมืองสลางงอ ข่าวเลื่องฦๅลงไปถึงเกาะหมากว่าเจ้าพระยานคร ฯ จะยกกองทัพไปตีเกาะหมากจับตัวเจ้าพระยาไทรก่อน แล้วจึงจะลงไปตีเมืองสลางงอ พวกเกาะหมากก็พากันตื่นตกใจ ถึงเจ้าเมืองเกาะหมากรวบรวมทหารบกทหารเรือไว้คอยต่อสู้รักษาเมือง ฝ่ายเบอร์นีเปนคนคุ้นเคยกับเจ้าพระยานคร ฯ มาแต่ก่อน จึงรับอาสาเจ้าเมืองเกาะหมากไปหาเจ้าพระยานคร ฯ ที่เมืองไทร พูดจาชี้แจงถึงการที่ลอดอัมเฮิสต์ให้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี แลจะรับรองว่าอังกฤษจะไปว่ากล่าวพระยาสลางงอให้ถอยกองทัพกลับไปจากเมืองแปะระจงได้ ขอให้เจ้าพระยานคร ฯ เลิกการตระเตรียมกองทัพเสีย หาไม่ก็จะเกิดมัวหมองทางพระราชไมตรี เจ้าพระยานครฯ เห็นชอบด้วย จึงให้เลิกกองทัพ แล้วรับว่าจะเข้ามากรุงเทพฯ ด้วย ครั้นเบอร์นีตระเตรียมการพร้อมเสร็จแล้วจึงเข้ามากรุงเทพ ฯ มาถึงเมื่อเดือน ๑๒ ปีระกา เวลานั้นเจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพกลับไปเมืองเมาะตมะแล้ว ความปรากฎในรายงานของเบอร์นีว่าเมื่อเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ นั้น กำลังไทยกำลังตระเตรียมป้อมปากน้ำคอยต่อสู้อังกฤษ ด้วยข่าวเลื่องฦๅเข้ามาว่าอังกฤษให้รวมเรือรบที่เมืองสิงคโปร์ จะให้เข้ามาตีกรุงเทพ ฯ เบอร์นีเข้ามาถึงต้องพยายามชี้แจงอยู่นาน ว่าอังกฤษหมายแต่จะเปนมิตรไมตรีกับไทย มิได้คิดจะมารบพุ่งดังคำเลื่องฦๅ ไทยจึงค่อยวางใจ เบอร์นีอยู่ในกรุงเทพ ฯ ถึง ๘ เดือน จนเดือน ๘ ปีจอจึงได้กลับไป.
-
๑. เบอร์นีนี้ภายหลังเมื่อเลิกรบกันแล้ว ได้ไปเปนทูตอังกฤษประจำอยู่เมืองพม่า. ↩