ตอนที่ ๑๐

ความปรากฎในจดหมายเหตุอังกฤษว่า ในตอนที่กองทัพอังกฤษขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองแปรนั้น เซอร์อาซิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพอังกฤษให้นายพันเอก คอนรอย (ผู้รักษาเมืองเมาะตมะ) มีหนังสือเข้ามาถึงเจ้าพระยามหาโยธา เร่งให้กองทัพไทยรีบยกออกไปอิกครั้ง ๑ ครั้นถึงเดือน ๑๒ ปีระกา เวลาอังกฤษกำลังเจรจาการทัพอยู่กับพม่าที่เมืองแปร กองทัพน่าของเจ้าพระยามหาโยธา ประมาณกำลังสัก ๑,๐๐๐ ก็ยกออกไปถึงเมืองเมาะตมะ มีนายกองมอญ ๖ คนถือหนังสือไปให้นายร้อยเอกเฟนวิก ซึ่งเปนผู้รักษาเมืองเมาะตมะแทนนายพันเอกคอนรอยอยู่ในเวลานั้น เปนหนังสือเสนาบดีไทยมีถึงแม่ทัพอังกฤษฉนับ ๑ หนังสือเจ้าพระยามหาโยธาถึงผู้รักษาเมืองเมาะตมะฉบับ ๑.

ความในหนังสือเจ้าพระยามหาโยธา ว่าได้รับหนังสือนายพันเอกคอนรอย ได้นำความขึ้นกราบเรียนท่านเสนาบดีแล้ว มีบัญชาสั่งให้ตอบมาว่า กองทัพไทยที่จะตีเมืองพม่านั้น เดี๋ยวนี้กองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีแล้ว คงจะยกไปถึงเมืองเมาะตมะในไม่ซ้า แต่วิตกอยู่ด้วยเรื่องเสบียงอาหาร เพราะกองทัพจะต้องยกไปหนทางไกล จะขนเสบียงอาหารไปด้วยให้พอเพียงเลี้ยงกองทัพไม่ได้ หัวเมืองที่กองทัพจะต้องเดิน ผ่านไปก็เปนที่ๆ อังกฤษรักษาอยู่โดยมาก เวลากองทัพขัดสนเสบียงอาหาร ก็จะต้องไปขออนุญาตจากอังกฤษก่อน แล้วจึงจะเที่ยวลาดหาเสบียงอาหารได้ ที่ไหนจะเดินกองทัพไปได้สดวก กว่ากองทัพไทยจะได้ไปตีกองทัพมหาอุจจนาพม่าเจ้าเมืองเมาะตมะ ซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองสะเทิมก็เห็นจะช้า แลกองทัพไทยยกมาคราวนี้ผู้คนมากจึงเกรงจะติดขัดเสียด้วยเรื่องเสบียงอาหาร เห็นว่าถ้าอังกฤษยอมให้หัวเมือง (มณฑล) เมาะตมะแก่ไทยเสียในเวลานี้ การที่จะยกกองทัพไปก็จะสดวก พม่าที่ไหนจะสู้กำลังกองทัพไทยกับอังกฤษที่จะสมทบกันไปรบได้ ยังกองทัพไทยทางเมืองเชียงใหม่ก็จะยกไปตีเมืองพม่า อิกทาง ๑ ถ้าเมืองเมาะตมะ เมืองทวาย แลเมืองมฤทอยู่กับไทย จะได้จัดเปนที่สะสมเสบียงอาหารแลพาหนะสำหรับกองทัพ ต่อไปถึงกองทัพไทยจะยกขึ้นไปตีเมืองอังวะก็จะไปได้สดวกด้วยไม่ต้องเปนห่วงใยถึงทางข้างหลัง หนังสือมาณวัน เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ (พ.ศ. ๒๓๖๘).

ความในหนังสือเสนาบดีมืไปถึงแม่ทัพอังกฤษหาปรากฎสำเนาไม่ แต่เชื่อได้ว่าเนื้อความคงเปนทำนองเดียวกับหนังสือเจ้าพระยามหาโยธา กล่าวคือ ถ้าอังกฤษยอมให้หัวเมือง (มณฑล) เมาะตมะเปนของไทย ไทยก็จะให้กองทัพยกไปช่วยรบพม่าตามความประสงค์ของอังกฤษ อันนี้เปนความมุ่งหมายของฝ่ายไทยที่ให้กองทัพยกไปในปีระกาอิกครั้ง ๑ นั้น

นายร้อยเอกเฟนวิกทราบความในหนังสือแล้ว ถามผู้ถือหนังสือได้ความว่า เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองทัพ ประมาณจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เปนทัพน่า แลจะมีเจ้านาย เปนแม่ทัพหลวงยกตามมาอิกทัพ ๑ นายร้อยเอกเฟนวิกจึงบอกความแลส่งหนังสือขึ้นไปยังแม่ทัพที่เมืองร่างกุ้ง ในขณะนั้นพอประจวบกับเกิดเหตุขึ้นที่เมืองเมาะตมะ ด้วยมหาอุจจนาพม่าที่เปนเจ้าเมืองอยู่แต่ก่อน ไปรวบรวมกำลังที่เมืองสะเทิมได้มากแล้ว ยกกลับลงมาตีเมืองเมาะตมะ อังกฤษมีแต่กองมอญอาสาเปนกำลังรักษาด่านทาง พม่าตีกองมอญอาสาแตกร่นมาจวนจะถึงเมืองเมาะตมะ นายร้อยเอกเฟนวิกจึงขอให้กองทัพไทยที่ลงไปถึง ไปต่อสู้กองทัพมหาอุจจนา กองทัพไทยได้ไปรบกับพม่าในตอนนี้ แต่กระบวนรบพุ่งจะเปนประการใดหาปรากฎรายการไม่ ปรากฎแต่ว่า กองทัพไทยรักษาเมืองเมาะตมะไว้ได้แลอังกฤษขอบคุณไทยในคราวนี้ ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า.

เวลานั้นนายพลจัตวาสเมลต์ เปนผู้บัญชาการทหารอยู่รักษาเมืองร่างกุ้ง เมื่อได้รับหนังสือนายร้อยเอกเฟนวิกบอกเรื่องกองทัพไทยยกออกไปช่วย ก็รีบบอกไปยังรัฐบาลที่อินเดีย แลส่งหนังสือเสนาบดีไทยกับหนังสือเจ้าพระยามหาโยธาขึ้นไปยัง เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล แม่ทัพใหญ่ที่เมืองแปร ความปรากฎในจดหมายเหตุอังกฤษว่า เมื่อแม่ทัพใหญ่ได้ทราบความแล้ว สั่งมาให้นายร้อยเอกเฟนวิกคิดอ่านเร่งกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาให้รีบยกออกไปโดยเร็ว แล้วเซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล ปฤกษากับข้าหลวงอังกฤษฝ่ายพลเรือนที่มากำกับการทัพ ทำหนังสือตอบมายังเจ้าพระยามหาโยธา มีเนื้อความดังนี้ ว่า.

ข้าหลวงซึ่งรัฐบาลอังกฤษในอินเดียให้มาบัญชาการทางเมืองมอญแลเมืองพม่า มีความยินดีที่ได้รับหนังสือท่านเสนาบดีกรุงสยาม แลยินดีนักที่เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองทัพ จำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกมาสมทบทหารอังกฤษ แลว่ายังจะมีกองทัพใหญ่กว่านี้ยกตามมาช่วยอิกทัพ ๑.

ความประสงค์ของรัฐบาลไทยด้วยเรื่องเมืองมฤทแลเมืองทวายที่แจ้งมาในหนังสือก็เข้าใจแล้ว ข้าหลวงทราบอยู่ว่ารัฐบาลอังกฤษที่อินเดียมีความนับถือในสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยิ่งนัก อยากกระทำให้ต้องตามพระราชประสงค์ ให้ปรากฎไมตรีที่มีต่อพระองค์อยู่เสมอ เพราะฉนั้นข้าหลวงเชื่อว่าเมื่ออังกฤษกับไทยได้ช่วยกันรบพุ่งพม่าจนมีไชยชนะเสร็จการสงครามแล้ว ผู้สำเร็จราชการอินเดียคงจะคิดอ่านจัดการเรื่องหัวเมืองเหล่านั้นให้ได้ดังพระราชประสงค์ทุกประการ.

อนึ่งข้าหลวงขอแจ้งความแก่ท่านผู้มีอำนาจบัญชาการกองทัพไทยให้ทราบ ว่าได้แต่งให้นายร้อยเอกวิลเลียมสันลงมาปฤกษาหาฤๅด้วยราชการทัพ เปนผู้แทนข้างฝ่ายอังกฤษ ทั้งให้เปนผู้ที่จะไปในกองทัพไทยด้วย ถ้านายร้อยเอกวิลเลียมสันได้ตกลงประการใด ก็ให้ถือว่าข้าหลวงได้ตกลงเช่นนั้นด้วย เพราะได้รับคำสั่งชี้แจงไปทุกประการแล้ว ถ้าหากว่าฝ่ายไทยเชื่อถือไว้วางใจให้เปนการปรองดองกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทางไมตรีที่มีมาในระหว่างอังกฤษกับไทยก็จะได้ถาวรวัฒนาการสืบไป.

อนึ่งถ้าหากว่าท่านผู้เปนแม่ทัพไทยมีความประสงค์จะแต่งนายทหารให้มาไปกับกองบัญชาการทัพอังกฤษ ก็ขอให้แจ้งความมาให้ทราบ ข้าหลวงจะยินดีรับรองนายทหารไทยที่จะมานั้นให้สมควรแก่เกียรติยศทุกประการ สิ้นเนื้อความในหนังสือข้าหลวงอังกฤษมีมาถึงเจ้าพระยามหาโยธาเท่านี้ หนังสือให้นายร้อยเอกวิลเลียมสันถือลงมาเมืองเมาะตมะ.

ตรงนี้ควรอธิบายถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ไทยแลอังกฤษต่างเปลี่ยนแปลงความมุ่งหมายที่ทำสงครามครั้งนั้นมาโดยลำดับด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จะว่าด้วยความมุ่งหมายข้างฝ่ายไทยก่อน ในชั้นแรกไทยมีความประสงค์แต่จะทำลายกำลังแลหนทางที่พม่าเคยมาทำร้ายเมืองไทยแต่ก่อน มิให้พม่ามาทำร้ายได้อิกต่อไป จึงคิดจะกวาดต้อนผู้คนซึ่งเคยเปนกำลังของสัตรู เอามาเปนกำลังของไทยเสียให้หมด แล้วทำลายล้างเมืองเมาะตมะอันเปนที่พม่าเคยอาไศรยเสียให้สิ้น ความคิดอันนี้มีเหตุติดขัด ด้วยอังกฤษลงมาได้เมืองเหล่านั้นเสียก่อน จึงเปลี่ยนความมุ่งหมายไปประสงค์จะเอาหัวเมืองเมาะตมะมาเปนของไทย ข้าพเจ้าเข้าใจความดำริห์จะเกิดแต่ได้ความว่า เมื่อเจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปถึงเมืองมอญ พวกเมืองมอญพากันนิยมอยากจะมาขึ้นไทยโดยมาก จึงเห็นว่าไทยคงจะปกครองรักษาหัวเมืองเหล่านั้นไว้ได้ ฤๅโดยถ้าหากรักษาไว้ไม่ได้ก็จะได้พวกมอญสมัคอพยพมาอยู่ในเมืองไทยอิกเปนอันมาก จึงประสงค์จะเอาหัวเมืองมณฑลเมาะตมะ เปนความมุ่งหมายที่ไปทำสงครามครั้งหลัง.

ฝ่ายความประสงค์ของข้างอังกฤษนั้น ชั้นแรกคิดแต่จะตัดรอนกำลังพม่าให้น้อยลง กับจะแสวงหาประโยชน์ในการค้าขายให้สดวกยิ่งขึ้นเปนสำคัญ ดังอธิบายมาแต่ก่อนแล้ว ในชั้นแรกจึงคิดจะยกหัวเมืองขึ้นของพม่าทั้งมณฑลเมาะตมะให้แก่ไทย แลกเอาประโยชน์ที่ต้องการในเรื่องเมืองมลายูกับการค้าขายในเมืองไทย ครั้นการสงครามที่ทำกับพม่าต้องทำแรมปี มีเวลาตรวจตราการในหัวเมืองขึ้นของพม่าที่ดีไว้ได้ อังกฤษได้รู้ความที่ไม่เคยคิดคาดไว้แต่ก่อนหลายอย่าง ความคิดของอังกฤษจึงผันแปรไปตามความรู้ที่ได้ใหม่ ที่เปนข้อสำคัญนั้น คือ.

ข้อ ๑ ภูมิประเทศหัวเมืองมอญอยู่ปากน้ำแลชายทเลเหมือนเปนประตูเมืองพม่า อังกฤษมาได้ความแน่ชัดว่า พวกมอญเกลียดชังพม่าอยู่ทั้งนั้น จึงเกิดความคิดขึ้นว่า ถ้าตั้งรามัญประเทศให้กลับเปนอิศระดังแต่ก่อน พวกมอญก็จะเปนอันหนึ่งอันเดียวกับอังกฤษ เพราะจำจะต้องอาไศรยอังกฤษช่วยป้องกันให้พ้นภัยจากพม่า อังกฤษคงสำเร็จประโยชน์ในการค้าขายทางเมืองพม่าดีกว่าอย่างอื่น ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงเกิดความคิดที่จะรวบรวมหัวเมืองมอญทั้งปวงตั้งเปนรามัญประเทศ แลจึงเปลี่ยนความคิดข้อที่จะยกเมืองเมาะตมะให้แก่ไทย อังกฤษให้เที่ยวสืบแสวงหาเชื้อวงศ์กระษัตริย์หงษาวดีแต่ก่อน หมายจะเอามายกย่องขึ้นเปนหัวน่าให้พวกมอญนิยมก็หาไม่ได้ ด้วยเชื้อวงศ์พระเจ้าหงษาวดีสูญเสียหมดแล้ว สืบไปได้ความว่าบรรดามอญ ทั้งพวกที่ยอมเข้ากับอังกฤษแล้ว แลที่ยังไม่ได้อ่อนน้อมแก่อังกฤษ พากันนับถือเจ้าพระยามหาโยธายิ่งกว่าผู้อื่น อังกฤษจึงคิดจะเกลี้ยกล่อมเอาเจ้าพระยามหาโยธาไปตั้งเปนพระยาหงษาวดี ถึงข้าหลวงอังกฤษได้สั่งเปนความลับมากับนายทหารที่ลงมารับกองทัพไทยที่เมืองเมาะตมะว่า ให้คิดอ่านทาบทามเจ้าพระยามหาโยธาในความคิดที่กล่าวมานั้น ฟังดูว่าเจ้าพระยามหาโยธาจะเข้าด้วยฤๅไม่ ด้วยเหตุนี้หนังสือตอบของข้าหลวงอังกฤษจึงว่าแต่เรื่องจะยกเมืองทวายเมืองมฤทให้แก่ไทย ไม่พูดถึงเมืองเมาะตมะทึเดียว.

ข้อ ๒ ส่วนเมืองทวายเมืองมฤทนั้น อังกฤษตรวจตราได้ความว่า ภูมิลำเนามีภูเขาคั่นเปนเขตรแดนอันหนึ่งต่างหากจากหัวเมืองมอญ ราษฎรก็มิได้เปนมอญ ทั้งทางชายทเลมีเกาะแลอ่าวอันสมควรเปนที่ทอดเรือกำปั่นดีกว่าที่อื่น ๆ ในแถวนั้น อังกฤษจึงคิดจะตั้งสถานีสำหรับค้าขายขึ้นอิกแห่ง ๑ ให้เปนระยะต่อไปจากเมืองสิงคโปร์แลเกาะหมาก ในชั้นหลังจึงคิดจะยกเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี เมืองมฤทให้แก่ไทย แต่จะให้เฉภาะตอนที่เปนแผ่นดินดอน เปนของแลกเปลี่ยนกับประโยชน์ที่อังกฤษต้องการจากไทย ความประสงค์ทั้ง ๒ ฝ่ายในชั้นหลังเปลี่ยนมาเปนดังกล่าวนี้ ถึงส่วนการสงครามเมื่อเวลาล่วงมาการก็เปลี่ยนแปลงมา เปนปัจจัยไปถึงความคิดของผู้อำนวยการโดยอันดับ ดังจะแลเห็นได้ในเรื่องราวที่จะกล่าวในตอนต่อไป.

  1. ๑. มีหนังสือลิลิตนิราศ พระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรฯ มหาศักดิพลเสพ เรื่อง ๑ เพิ่งพบเมื่อก่อนชำระหนังสือเรื่องนี้ไม่ช้านัก ปรากฎว่ากรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้นได้เสด็จเปนจอมพลยกกองทัพไปจากกรุงเทพฯ ในคราวนั้น เสด็จขึ้นไปถึงปากแพรก เมืองกาญจนบุรี แต่ในพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งหาได้กล่าวถึงไม่ที่เจ้าพระยามหาโยธาว่ามีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี คงหมายความว่า กองทัพกรมพระราชวังบวรฯ นั้นเองคงยกไปในปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ แต่ปรากฎในนิราศว่าไปตั้งอยู่ไม่ช้ามีไข้ระบาดเกิดขึ้นในกองทัพก็โปรดให้เลิกกลับมา.

  2. ๒. เรื่องกองทัพเมืองเชียงใหม่ มีความในท้องตราปรากฎว่า ได้สั่งเจ้านครลำปาง ดวงทิพให้ไปคิดอ่านกับเจ้านายมณฑลนั้นแต่งกองทัพยกไป แลมีในจดหมายเหตุอังกฤษปรากฎว่า ได้มีกองทัพยกไปจากเมืองเชียงใหม่เปนแต่ไปกวาคครัวทางหัวเมืองพม่า ที่ชายแดนเข้ามา.

  3. ๓. ที่อังกฤษว่าเจ้านายตรงนี้ คือกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดังอธิบายมาแล้วในทื่อื่น.

  4. ๔. คำอังกฤษว่า ข้าหลวงทั้งหลาย หมายความว่าผู้เปนใหญ่ฝ่ายทหารแลพลเรือนด้วยกัน.

  5. ๕. ควรสังเกตว่า อังกฤษไม่กล่าวถึงเมืองเมาะตมะตรงนี้ เพราะเหตุใด จะอธิบายต่อไปข้างน่า.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ