- คำนำ
- อธิบายต้นเรื่องรบพม่าครั้งกรุงธนบุรี
- ภาคที่ ๒ เรื่องไทยกับพม่าทำสงครามกัน ครั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่บางกุ้ง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวพม่าตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๑๕
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวตีเมืองพิไชยครั้งที่ ๒ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๑๖
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวรบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙
- อธิบายเรื่องไทยรบกับพม่าในครั้งกรุงเทพ ฯ
- สงครามครั้งที่ ๑ คราวพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีเมืองไทย ปีมเสง พ.ศ. ๒๓๒๘
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวรบพม่าที่ท่าดินแดง ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวพม่าตีเมืองนครลำปางแลเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวไทยตีเมืองทวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖
- สงครามครั้งที่ ๖ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๔๐
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวขับไล่พม่าจากเขตรลานนาไทย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพม่าตีเมืองกลาง ปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๒
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวช่วยอังกฤษตีเมืองพม่า ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวไทยตีเมืองเชียงตุง ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕
ตอนที่ ๑๑
เมื่อเดือนอ้ายปีระกา เบอร์นีอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับหนังสือของนายร้อยเอกเฟนวิก บอกมาให้ช่วยเร่งกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาให้รีบยกไป เบอร์นีจึงทำหนังสือยื่นต่อเสนาบดืเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๕ (ตรงกับวันอังคาร เดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘) ความในหนังสือนั้นว่า นายร้อยเอกเบอร์นีขอแจ้งความให้ท่านเสนาบดีทั้งหลายในราชสำนักทราบเปนการด่วน ว่าได้รับหนังสือของนายร้อยเอกรอเบิตเฟนวิก นายทหารผู้บังคับการที่เมืองเมาะตมะบอกมาเมื่อวันที่ ๕ มีข่าวดังนี้ คือ
อังกฤษกับพม่าได้ลงมือรบพุ่งกันอิก ด้วยมีกองทัพพม่ากองใหญ่รวมทั้งทหารม้ามารุมรบทหารสิป่ายกองน้อยของอังกฤษกอง ๑ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านข้างเหนือเมืองแปร แต่จะเรียกว่าตำบลใดหาได้บอกชื่อมาไม่ บอกแต่ว่าทหารอังกฤษฆ่าฟันพม่าล้มตายมากจนพม่าต้องล่ากลับไปทั้งกอง กองทัพอังกฤษกำลังตระเตรียมการที่จะทำสงครามในระดูแล้งนี้อย่างแขงแรง มีกองทัพใหญ่ยกมาจากเมืองบังกล่าทัพ ๑ กองทัพที่อยู่เมืองร่างกุ้งก็ได้กำลังเพิ่มเติมมาจากเมืองมัทราฐอิกเปนอันมาก เซอร์ อาชิบัลด์ แคมป์เบล จะยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปจากเมืองแปร คงจะตีขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ในไม่ช้า แม่ทัพอังกฤษได้จัดให้นายพันเอกเปปเปอรคุมทหารอังกฤษ มีจำนวนพล ๕,๐๐๐ ยกมาเมืองหงษาวดี กำหนดให้ตีขึ้นไปทางเมืองตองอูอิกทาง ๑ ถ้าหากว่าโปรดมีท้องตราสั่งเจ้าพระยามหาโยธาให้รีบยกไปสมทบกับกองทัพอังกฤษที่เมืองเมาะตมะ แม่ทัพอังกฤษหมายว่าจะให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมกองทัพกรุงศรีอยุทธยาไปด้วยกันกับกองทัพนายพันเอกเปปเปอร์ที่กล่าวมานั้น.
อิกข้อหนึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ตกลงว่าจะตั้งรามัญประเทศให้เปนกรุงกระษัตริย์ดังแต่ก่อน ให้มีเมืองมอญกีดกันอยู่ในระหว่างกลางมิให้พม่ามาทำร้ายอังกฤษกับไทยได้ หวังใจว่าความคิดอันนี้คงจะเปนที่พอใจอย่างยิ่งของกรุงสยาม แลเปนเหตุให้มาช่วยอังกฤษจริง ๆ ให้ทันท่วงที.
อนึ่งแม่ทัพอังกฤษมีความประสงค์จะใคร่ได้ช้างม้าเพิ่มเติมไปเปนกำลังกองทัพ ถ้าหากว่าไทยประสงค์จะทำแก่พม่าจริง ๆ แล้ว นายร้อยเอกเบอร์นีเห็นว่าจะแสดงอย่างไรไม่ดีกว่า แลไม่เปนคุณยิ่งกว่าที่รับจัดช้างม้าพาหนะส่งไปให้กองทัพอังกฤษ เงินทองที่จะต้องใช้จ่ายในการส่งช้างม้าพาหนะนั้นก็ดี ค่าเสบียงอาหารสำหรับช้างม้าแลผู้คุมไปมากน้อยเท่าใดก็ดี นายร้อยเอกเบอร์นีพร้อมอยู่ที่จะปฤกษาว่ากันกับข้าราชการไทย คิดให้ตามสมควร สิ้นความในหนังสือเบอร์นีฉบับวันที่ ๒๗ ธันวาคมเท่านี้.
ต่อมาอิก ๔ วัน ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม (ตรงกับวันพุฒเดือนอ้ายแรม ๗ ค่ำ) เบอร์นีทำหนังสือยื่นต่อเสนาบดีอิกฉบับ ๑ ความว่า เมื่อ ๔ วันมาแล้ว นายร้อยเอกเบอร์นีได้ยื่นหนังสือต่อท่านเสนาบดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามฉบับ ๑ เรียนให้ทราบข่าวที่ได้รับมาจากเมืองเมาะตมะ ในเรื่องความคิดของอังกฤษที่จะตีเมืองอังวะในคราวนี้ นายร้อยเอกเบอร์นีขอให้ท่านเสนาบดีพิจารณาดูว่า ถ้าหากไทยหน่วงเหนี่ยวกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาไว้ ไม่ให้ยกไปช่วยกองทัพอังกฤษ จนกว่าจะได้รับตอบถึงเรื่องที่ต้องการเมืองเมาะตมะนั้น คงจะเสียเวลาสำหรับการสำคัญล่วงไปเสียเปล่า ๆ นายร้อยเอกเบอร์นีได้ชี้แจงแก่ท่านเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ว่าทหารไทยที่จะยกไปสมทบกับอังกฤษนั้น ถึงจะไปมากน้อยเท่าใด อังกฤษก็จะจ่ายเข้าแลกับให้พวกพลรบของไทยเท่ากับที่จ่ายให้ทหารสิป่าย (ไม่ต้องเกรงจะขัดสนเสบียงอาหาร)
นายร้อยเอกเบอร์นีขอตักเตือนให้ท่านเสนาบดีสั่งเจ้าพระยามหาโยธาให้ยกกองทัพสักสี่ห้าพัน พร้อมด้วยช้างม้าบรรดาที่จะรวบรวมได้ รีบไปสมทบกับกองทหารอังกฤษ ๕,๐๐๐ ที่นายพันเอกเปปเปอจะยกจากเมืองหงษาวดีไปตีเมืองตองอูนั้น ถ้าหากว่าท่านเสนาบดีกรุงสยามมีความประสงค์จะให้นายร้อยเอกเบอร์นีแต่งใครไปด้วยกับกองทัพ ก็จะให้นายร้อยเอกแมคฟาคา (ซึ่งเข้ามากับนายร้อยเอกเบอร์นี) ไปในกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาด้วย จะได้เปนผู้ชี้แจงแก่นายทหารอังกฤษที่เมืองเมาะตมะให้เข้าใจขนบธรรมเนียมแลความคิดของไทย.
ความอิกข้อหนึ่ง นายร้อยเอกเบอร์นี (ได้ชี้แจงแก่ท่านเสนาบดีให้ทราบแต่ก่อนแล้ว) ขอชี้แจงซ้ำอิกครั้ง ๑ ว่า ถ้าไทยแต่งกองทัพใหญ่ยกไปทางเมืองเชียงใหม่ ฤๅทางใดข้างเหนือเมืองเมาะตมะอิกทัพ ๑ ตีเมืองพม่าเข้าไปโดยลำพังต่างหากจากกองทัพอังกฤษอิกทาง ๑ ก็จะเปนประโยชน์ทั้งที่จะทำให้พม่าเปนกังวล เหมือนช่วยกำลังกองทัพที่ยกไปทางนี้ แลจะเปนประโยชน์แก่ไทย จะต้องการเขตรแดนฤๅผู้คนทรัพย์สมบัติของพม่าอย่างใด ฤๅจะรบพุ่งด้วยวิธีอย่างใดในทางนั้น ก็จะทำได้ตามชอบใจไทยทุกประการ.
ถ้าท่านเสนาบดีทำตามคำของนายร้อยเอกเบอร์นี เชื่อแน่ว่าพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจะรุ่งเรืองอย่างยิ่ง ทั้งในปัจจุบันนี้ แลจะปรากฎต่อไปภายน่า ว่าเมื่อในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ไทยสามารถจะลงโทษพม่าตอบแทนที่มาทำแก่ไทยในกาลปางก่อน ถึงให้กองทัพไทยเข้าไปเหยียบเมืองอังวะได้ด้วยมีไชยชนะ ทั้งได้แลเห็นสัตรูอันร้ายกาจมาแต่ก่อนถึงความพินาศฉิบหายในครั้งนี้ด้วย.
นายร้อยเอกเบอร์นีขอให้ท่านเสนาบดีได้โปรดมีหนังสือตอบความทั้งนี้โดยเร็ว สิ้นความในหนังสือเบอร์นีฉบับวันที่ ๓๑ ธันวาคม เท่านี้.
ถึงเดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๓๑ ธันวาคม) เสนาบดีให้พระยาพิพัฒโกษา๑ มีหนังสือตอบเบอร์นี ความว่า ซึ่งนายร้อยเอกเบอร์นีขออย่าให้เจ้าพระยามหาโยธาต้องรอตอบ (เรื่องเมืองเมาะตมะ) เพราะว่ากว่าหนังสือตอบจะมาถึงจะช้านัก ขอให้ท่านเสนาบดีสั่งให้เจ้าพระยามหาโยธารีบยกกองทัพไปยังเมืองเมาะตมะโดยเร็ว แลว่าเมื่อกองทัพยกไปอังกฤษจะจ่ายเสบียงอาหารให้กองทัพไทยเหมือนอย่างที่จ่ายแก่ทหารสิป่ายของอังกฤษ อิกประการ ๑ ว่า ขอให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปสักสี่ห้าพันคน กับรวบรวมช้างม้าพาหนะไปด้วยให้มาก นายร้อยเอกเบอร์นีจะให้นายร้อยเอกแมกฟาคาไปกับเจ้าพระยามหาโยธา เพื่อจะได้ชี้แจงแก่นายทหารอังกฤษให้เข้าใจขนบธรรมเนียมไทย แลว่าจะให้กองทัพเจ้าพระยามหาโยธายกไปกับกองทัพนายพันเอกเปปเปอไปตีเมืองตองอูด้วยกัน.
อิกประการ ๑ นายร้อยเอกเบอร์นีแนะนำให้แต่งกองทัพไปตีเมืองพม่าอิกทาง ๑ ให้ยกไปทางเมืองเชียงใหม่ฤๅทางใดๆ ข้างเหนือเมืองเมาะตมะ จะได้รบพม่าได้โดยลำพังไทย ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอังกฤษ.
ข้อความทั้งปวงที่นายร้อยเอกเบอร์นีแนะนำมาทั้งนี้ ก็เห็นว่า ประกอบด้วยความคิดเปนอย่างดี แต่นายร้อยเอกเบอร์นีเห็นจะคิดว่าหนทางข้างเหนือเดินสดวก ด้วยไม่ทราบว่าเปนหนทางกันดาร ถึงจะยกกองทัพใหญ่ไปทางนั้นก็จะหาเสบียงอาหารไม่ได้ มีแต่ทางเมืองเมาะตมะทางเดียวที่เปนทางสดวก เพราะเช่นนั้นพม่าจะยกมาตีเมืองไทยคราวใด จึงมาตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตมะทุกคราวมา ด้วยเหตุนี้ท่านเสนาบดีจึงเห็นว่าไม่ควรจะยกกองทัพใหญ่ไปทางอื่น นอกจากทางเมืองเมาะตมะ ถ้าหากว่ามอบเมืองเมาะตมะแลเมืองทวายให้แก่ไทย ก็จะได้ตั้งค่ายคูแลเตรียมการทั้งปวงสำหรับที่กองทัพใหญ่จะยกไป ถ้าเช่นนั้นก็จะรบพุ่งเอาไชยชนะพม่าได้โดยง่าย ความที่ท่านเสนาบดีคิดเห็นเช่นนี้ ก็ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษ แลได้บอกให้นายร้อยเอกเบอร์นีทราบอยู่แล้ว.
ข้อที่นายร้อยเอกเบอร์นีว่า ถ้าโปรดให้กองทัพไทยไปทำแก่พม่าจะเปนพระเกียรติยศเปนอย่างยิ่งนั้น ก็เปนความจริง เพราะพม่าเปนสัตรูของไทยมาช้านาน เดี๋ยวนี้ไทยเข้ากับอังกฤษ ถ้าช่วยกันโดยปรองดองก็คงจะทำลายกำลังพม่าเสียได้ ถ้าหากนายร้อยเอกเบอร์นีกับแม่ทัพอังกฤษเห็นชอบตามความคิดของท่านเสนาบดีในกรุงเทพฯ แลได้จัดการให้สำเร็จดังกล่าวมา ก็คงมีไชยชนะพม่าได้เปนแน่แท้.
หนังสือมาณวันเดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัปตศก.๒
ถึงวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๒๖ (ตรงกับวันศุกร เดือนอ้าย แรม ๙ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๖๘) นายร้อยเอกเบอร์นีมีหนังสือมาถึงเสนาบดีอืกฉบับ ๑ ความว่า ซึ่งท่านเสนาบดีให้พระยาพิพัฒโกษาตอบหนังสือของเบอร์นีฉบับลงวันที่ ๓๑ ธันวาคมนั้น พิเคราะห์ดูข้อความเหมือนหนึ่งว่าท่านเสนาบดีไม่มีความประสงค์จะให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปสมทบกับกองทัพอังกฤษให้ทันระดูแล้งนี้ เพราะฉนั้นนายร้อยเอกเบอร์นีขอให้รัฐบาลช่วยรวบรวมช้างม้า ทั้งที่จะเรียกมาได้จากที่อื่น แลที่มีในกองทัพเจ้าพระยามหาโยธา ส่งไปยังเมืองเมาะตมะโดยเร็ว เพราะไทยก็ยังไม่มีการที่จะใช้ นายร้อยเอกเบอร์นีขอเรียนอิกครั้ง ๑ ว่าเงินทองที่จะ ต้องใช้ในค่าอาหารแลในการส่งช้างม้าจะสิ้นมากน้อยเท่าใด นายร้อยเอกเบอร์นีจะคิดอ่านกับข้าราชการไทย ยอมใช้ให้ตามสมควรทุกประการ.
นายร้อยเอกเบอร์นีขอให้ท่านเสนาบดีกรุงสยามเชื่อใจเถิดว่า ถ้าไทยมีความประสงค์จะแก้แค้นพม่าที่ได้มาทำร้ายแต่ก่อน ทางที่จะทำให้เห็นจริงดังว่ายังมีอยู่อย่างเดียวแต่ที่จะส่งช้างม้าไปเปนกำลังช่วยอังกฤษดังนายร้อยเอกเบอร์นีแนะนำเท่านั้น สิ้นความในหนังสือเบอร์นีฉบับวันที่ ๒ มกราคม เท่านี้.
เสนาบดีให้พระยาพิพัฒโกษามีหนังสือตอบเมื่อเดือนอ้าย แรม ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม) ความว่าได้นำความในหนังสือของเบอร์นี (ฉบับลงวันที่ ๒ มกราคม) ขึ้นเรียนท่านเสนาบดีแล้ว มีบัญชาสั่งให้ตอบว่า ซึ่งนายร้อยเอกเบอร์นีคิดว่ากรุงเทพฯ จะไม่สั่งให้เจ้าพระยามหาโยธาไปช่วยอังกฤษรบพม่า แลว่าความข้อนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจะโปรดอย่างไรก็สุดแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร แต่ว่าช้างม้าจะอยู่เปล่า ๆ นายร้อยเอกเบอร์นีจึงขอให้รวบรวมช้างม้าส่งไปยังกองทัพอังกฤษ ว่าจะยอมเสียค่าส่งแลค่าอาหารให้ แลว่าถ้าไทยส่งช้างม้าไปช่วยอังกฤษก็จะเชื่อว่าไทยอยากจะให้พม่าพ่ายแพ้จริง ๆ นั้น.
ข้อที่นายร้อยเอกเบอร์นีให้กราบบังคมทูลฯ ว่าจะขอเสียเงินค่าช้างม้าดังกล่าวมา ท่านเสนาบดีเห็นว่าเหมือนกับจะให้ส่งช้างม้าสำหรับแผ่นดินไปรับจ้าง เปนการผิดเยี่ยงอย่างประเพณีของกรุงศรีอยุทธยา จึงไม่อาจจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ ได้.
อิกประการ ๑ ช้างม้าทั้งปวงนี้เปนพาหนะสำหรับกองทัพ ถึงกองทัพจะยังไม่ยกไปช่วยรบพม่า ช้างม้าก็ยังเปนของต้องการใช้สอยราชการอย่างอื่น จะให้เอาไปใช้สอยให้เลื่อยล้าเสียนั้นหาควรไม่ ถ้ากองทัพไทยยกไปช่วยอังกฤษเมื่อใด ช้างม้าเหล่านี้ก็คงจะไปกับกองทัพทั้งสิ้น.
ข้อซึ่งเสนาบดียังไม่สั่งกองทัพเจ้าพระยามหาโยธาให้ไปรบพม่านั้น ก็เพราะจำจะต้องพิเคราะห์ใคร่ครวญดูให้เห็นว่าจะมีไชยชนะข้าศึกเปนมั่นคงก่อน จึงจะชอบด้วยพิไชยสงคราม ท่านเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า ที่จะให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปแต่สี่ห้าพันจะตีเมืองอังวะอย่างไรได้ ก็สำหรับแต่จะไปป่นปี้ทั้งคนแลช้างม้าพาหนะทั้งปวงด้วย ข้อความทั้งนี้ก็ได้ปฤกษาว่ากล่าวกับอังกฤษมา แต่ไม่เปนการตกลงปรองดอง ดูเหมือนนายร้อยเอกเบอร์นีจะไม่เชื่อถ้อยคำที่ฝ่ายไทยชี้แจงเสียทีเดียว เพราะเห็นว่าอังกฤษมีกำลังมาก อย่างไรๆ ก็คงจะชนะพม่า ถ้าเช่นนั้นกองทัพไทยก็ไม่เห็นมีกิจที่จะต้องยกไป.
หนังสือนี้พระยาพิพัฒโกษาเขียนตามบัญชาท่านเสนาบดี เมื่อณวันเดือนอ้าย แรม ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัปตศก.
หนังสือเบอร์นีมีโต้ตอบกับเสนาบดีด้วยเรื่องกองทัพไทยที่จะยกไปช่วยรบพม่าหยุดอยู่เพียงนี้คราว ๑ คงเปนด้วยเบอร์นีเห็นว่าฝ่ายไทยขัดเคืองเกรงจะตอบบอกเลิกการที่จะช่วยเหลือเสียทีเดียว จึงงดการโต้ตอบเสียคราว ๑ เหตุใดฝ่ายไทยจึงขัดเคืองในครั้งนั้น จะลองอธิบายความที่คิดเห็นได้ในเวลานี้ คือ เบอร์นีพูดจาแต่ข้อข้างอังกฤษต้องการจากไทย แต่ส่วนข้อที่เปนความต้องการของไทยเบอร์นีแกล้งเพิกเฉยเสียไม่พูดถึง ฤๅพูดแต่เผิน ๆ ไม่ให้เปนการรับรองมั่นคง ก็เปนเครื่องสำหรับที่จะต้องขัดใจประการ ๑ ยังข้อความที่มาว่ากล่าวให้ไทยช่วยอังกฤษรบพม่าครั้งนั้น ก็เสมอว่าถ้าไทยอยากจะรบพุ่งหาผลประโยชน์ตามชอบใจ ก็ให้ยกไปรบพม่าเอาโดยลำพังอิกทาง ๑ อย่ามาเกี่ยวข้องกับอังกฤษ ถ้าจะเกี่ยวข้องกับอังกฤษก็ต้องให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพไปเข้าสมทบกองนายพันเอกเปปเปอร์ รบพุ่งตามคำสั่งแลอยู่ในบังคับบัญชาทองแม่ทัพใหญ่ฝ่ายอังกฤษ ความข้อนี้ก็ย่อมจะไม่พอใจ ตลอดไปจนข้อที่จะส่งช้างม้าพาหนะไปให้อังกฤษใช้ด้วย เพราะในสมัยนั้นไทยยังไม่ไว้ใจอังกฤษ แลไม่นิยมอย่างธรรมเนียมทำการศึกตามแบบอย่างข้างฝรั่ง แต่ความไม่พอใจอันเปนข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น เห็นจะอยู่ในข้อที่เบอร์นีบอกว่าอังกฤษคิดจะรวมเมืองมอญตั้งเปนประเทศเอกราชขึ้นอิก การที่อังกฤษคิดพยายามเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยามหาโยธาจะเอาไปตั้งเปนพระยาหงษาวดี คงจะได้ทราบระแคะระคายเข้ามาถึงกรุงเทพฯ บ้างแล้ว ครั้นเบอร์นีว่ามาในหนังสือก็เปนการเห็นได้ชัดเจน ว่าอังกฤษคิดจะเกลี้ยกล่อมเอามอญไปเปนของอังกฤษ ก็มอญที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเมืองไทยมีจำนวนมากกว่าแสน ถ้าการตั้งเมืองหงษาวดีสำเร็จได้ ไทยก็จะต้องเสียไพร่บ้านพลเมืองไปเปนอันมาก ถ้าแลมอญกลับกลายไปเปนสัตรูในวันน่าก็จะยิ่งซ้ำร้าย ไม่มีคุณแก่ไทยด้วยประการอย่างหนึ่งอย่างใด มีแต่โทษฝ่ายเดียว ความข้อหลังนี้อาจจะเปนต้นเหตุที่สั่งห้ามไม่ให้เจ้าพระยามหาโยธายกกองทัพออกไปก็เปนได้ เพราะฉนั้นเมื่อนายร้อยเอกวิลกินสัน ซึ่งข้าหลวงอังกฤษให้เปนผู้สำหรับกำกับกองทัพไทยลงมาถึงเมืองเมาะตมะในเดือนยี่ ปีระกา มาสืบสวนจึงได้ความว่า กองทัพเจ้าพระยามหาโยธายังหาได้ยกออกไปจากเขตรแดนไทยไม่ นายร้อยเอกวิลกินสันจึงแต่งคนให้ถือหนังสือข้าหลวงอังกฤษมาส่งยังแดนไทย แล้วบอกขึ้นไปยังข้าหลวงอังกฤษให้ทราบความ ขณะนั้นข้าหลวงอังกฤษเห็นว่าการสงครามที่รบกับพม่าจวนจะชนะอยู่แล้ว จึงสั่งลงมายังนายร้อยเอกวิลกินสันว่าให้รอกองทัพไทยอยู่ที่เมืองเมาะตมะก่อน แต่ให้คอยฟังข่าวการสงครามไว้ ถ้าเมื่อใดเห็นว่าการสงครามจะเปนอันสำเร็จแน่ ก็ให้บอกห้ามกองทัพไทยเสียอย่าให้ยกไปเลย.