ตอนที่ ๒ เรื่องรบพม่า

การเตรียมกองทัพไทยที่จะยกไปตีเมืองพม่าเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระราชประสงคที่ทรงมุ่งหมายนั้น จะตีหัวเมืองมอญของพม่าขึ้นไปจนเมืองเมาะตมะแลเมืองร่างกุ้งก่อน ถ้าสมคะเนก็จะตีให้ถึงเมืองอมระบุระ อันเปนราชธานีของพม่าด้วยทีเดียว ถ้ายังไม่สมคะเนก็จะรักษาหัวเมืองมอญไว้ คิดตีเมืองพม่าต่อขึ้นไปในคราวหลัง.

กองทัพที่จะยกไปนั้น กำหนดจำนวนพลทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ จัดเปนกองทัพบกทัพ ๑ เปนกองทัพเรือทัพ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์จะเสด็จในกองทัพบก ให้กรมพระราชวังบวรฯ ทรงบัญชาการทัพเรือ แลสั่งให้ต่อเรือรบในหัวเมืองฝ่ายตวันตกแต่ในระดูฝนให้พร้อมเสร็จในเดือน ๑๒ พอสิ้นระดูฝนราวเดือนอ้าย ให้กองทัพบกทัพเรือไปประชุมกันที่เมืองทวาย แล้วจะได้ยกขึ้นไปตีหัวเมืองมอญทั้งทางทเลแลทางบกพร้อมกันทั้ง ๒ ทางดังนี้.

ตรงนี้จะงดความในท้องเรื่อง ไปพิจารณากระบวนศึกที่ไทยยกไปตีเมืองพม่าครั้งนี้เสียก่อน ผู้อ่านหนังสือพระราชพงษาวดารคงสังเกตเห็นว่า ไทยกับพม่าได้ทำสงครามกันมาเปนยุคใหญ่อยู่ ๒ ยุค คือ เมื่อรบกับพระเจ้าหงษาวดี ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมาจนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร รวมเวลา ๕๘ ปี (นับทั้งที่ว่างระหว่างสงครามด้วย) เปนยุค ๑ ทีหลังมารบกับพระเจ้าอังวะ ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร รวมเวลาได้ ๕๐ ปี อิกยุค ๑ ถ้าสังเกตลักษณการที่ไทยกับพม่ารบกันทั้ง ๒ ยุคนี้ จะแลเห็นว่ามีเหตุการณ์บางอย่างที่เหมือนกันชอบกล แลมีเหตุการณ์บางอย่างที่ผิดกันชอบกล จะว่าถึงที่เหมือนกันก่อน คือ.

ข้อ ๑ การสงครามคงเริ่มด้วยพม่ามาตีเมืองไทยก่อน พิจารณาต่อไปในข้อนี้ ก็แลเห็นว่าเหตุใดพม่าจึงมาตีเมืองไทยก่อน แท้จริงถ้าว่าโดยภูมิแผนที่ แผ่นดินพม่าอยู่ห่างไกลไม่ติดต่อเขตรแดนกับแผ่นดินสยาม มีรามัญประเทศคั่นอยู่ข้างด้านใต้ แว่นแคว้นไทยใหญ่คั่นอยู่ข้างด้านตวันออก ถ้ามอญแลไทยใหญ่ยังเปนอิศระอยู่ได้ตราบใด พม่าก็ไม่มาตีเมืองไทยได้ ใช่แต่เท่านั้น เขตรแดนพม่าข้างด้านตวันตกติดต่อกับประเทศยะไข่ ซึ่งมีเวลาเปนสัตรูกับพม่ามาเนืองๆ ด้วยเหตุเหล่านี้ ต่อเมื่อใดพม่ามีกำลังกล้าแขงจนสามารถจะปราบปรามมอญไทยใหญ่แลยะไข่ไว้ได้ในอำนาจทั้งหมดแล้ว จึงจะยกมาตีเมืองไทยได้ ความข้อนี้แปลว่าต่อพม่ามีกำลังใหญ่หลวงยิ่งกว่าไทยเปนอันมากแล้วเมื่อใด จึงจะได้มาตีเมืองไทย เพราะฉนั้นการสงครามที่ไทยรบมากับพม่า ไทยจึงต้องเสียเปรียบพม่ามาแต่แรกรบกันทุกคราวจนต้องเสียกรุงเก่าถึง ๒ ครั้ง.

ข้อ ๒ เมื่อไทยเสียบ้านเมืองยับเยินแล้ว คงกลับตั้งตัวเปนอิศระสำเร็จได้ในโอกาศแรกไม่มีพลาดพลั้ง แล้วพยายามต่อสู้พม่าที่ยกมาปราบปรามพ่ายแพ้ไปด้วยกำลังทั้งน้อย ๆ จนพม่าเข็ดขยาดไม่อาจมาเบียดเบียฬ.

ข้อ ๓ ครั้นไทยมีไชยชนะได้อิศระมั่นคงแล้ว ก็ยกไปตีเมืองพม่าข้าศึกแก้แค้นบ้าง ความ ๓ ข้อที่กล่าวนี้ปรากฎเหมือนกันมาทั้ง ๒ ยุค.

ทีนี้จะกล่าวถึงการที่ผิดกัน คือ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ยกกองทัพไปตีเมืองหงษาวดีแก้แค้นพม่า ครั้งนั้นข้างเมืองพม่ากำลังเกิดแตกร้าวรวนเร ด้วยเจ้าประเทศราชพากันกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นแก่พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรง หัวเมืองมอญข้างใต้แลเมืองทวายก็มาสามิภักดิ์ขึ้นอยู่กับไทย เมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทก็ยังเปนหัวเมืองของไทย สมเด็จพระนเรศวร ฯ อาจจะเสด็จออกไปตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะแล้วจึงยกขึ้นไปตีเมืองหงษาวดี ฯ ก็อยู่ในแดนมอญ ใต้เมืองอังวะลงมามาก ในครั้งรัชกาลที่ ๑ ถึงไทยมีไชยชนะพม่าที่เข้ามาบุกรุกจนเข็ดขยาดเหมือนครั้งสมเด็จพระนเรศวร ฯ ก็จริง แต่ข้างเมืองพม่ายังมั่นคง พระเจ้าปดุงยังมีกำลังแลอำนาจอยู่เต็มที่ หัวเมืองมอญข้างตอนใต้ก็ยังมิได้มาเปนเมืองขึ้นอยู่กับไทยเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร ฯ แลที่สุดเมืองอมระบุระราชธานีใหม่ของพม่าอันอยู่ใกล้ ๆ กับเมืองอังวะก็อยู่ในแผ่นดินพม่า ห่างไกลขึ้นไปข้างเหนืออิกเปนอันนาก การที่จะคิดตีเมืองพม่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นได้ว่ายากยิ่งกว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร ฯ หลายเท่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคงทรงพระราชดำริห์เห็นความยากดังกล่าวมานี้ จึงทรงกะการศึกเปนชั้นๆ คือ หมายจะตีแต่หัวเมืองมอญก่อน เมื่อได้เมืองมอญแล้วจึงจะตีเมืองพม่าต่อไป.

เมื่อลองคิดดูว่า มีท่าทางอย่างไรที่จะมีไชยชนะได้สมพระราชประสงค์ที่ยกกองทัพไปครั้งนี้ เห็นว่าคงมีเหตุให้เข้าพระไทยว่า จะได้หัวเมืองมอญโดยง่าย ชรอยพวกมอญจะรับรองเข้ามาว่า ถ้ากองทัพไทยยกออกไป มอญจะพากันมาเข้ากับไทยทั้งหมด ความข้อนี้มีหลักฐานเปนที่สังเกตหลายอย่าง เปนต้นว่า ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวร ฯ ก็ดี ครั้งสมเด็จพระนารายน์ก็ดี ไทยได้มอญเปนพวกก่อนจึงยกไปตีเมืองพม่าเหมือนกันทั้ง ๒ ครั้ง ถ้าว่าโดยเหตุการณ์ ในขณะนั้นพวกพระยามอญตัวสำคัญคือ พระยาเจ่ง เปนต้น ก็มาอยู่กับไทยทั้งนั้น โดยลำพังมอญพวกนี้เคยตีได้หัวเมืองมอญขึ้นไปจนถึงเมืองร่างกุ้งก็ครั้งหนึ่งแล้ว ถึงตัวนายหนีเข้ามาอยู่เมืองไทย พรรคพวกก็ยังมีอยู่ในเมืองมอญเปนอันมาก สื่อสารไปมาถึงกันอยู่เสมอ พวกมอญทั้ง ๒ ฝ่ายคงจะต้องได้ทาบทามนัดแนะกันเปนยุติว่าจะช่วยไทยรบพม่า ความที่ปรากฎในกระแสพระราชดำริห์ว่า จะตีเมืองเมาะตมะแลเมืองร่างกุ้งก่อน ถ้าเปนทีก็จะตีให้ถึงเมืองอมระบุระดังนี้ ก็เพราะไม่แน่พระราชหฤไทยว่า จะได้มอญเปนกำลังสักเพียงใด ถ้าอาไศรยกำลังมอญได้น้อยก็จะตีเพียงเมืองเมาะตมะแลเมืองร่างกุ้ง ถ้าพวกมอญเปนกำลังได้แขงแรงก็จะตีให้ถึงเมืองอมระบุระทีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์มิได้เสด็จยกกองทัพไปด้วยความประมาท เมื่อพิเคราะห์ดูกระบวนทัพที่ทรงจัดครั้งนั้นก็เห็นดีนักหนา ถ้าการพร้อมมูลได้ดังทรงพระราชดำริห์ ก็เห็นว่าจะสำเร็จได้ดังทรงมุ่งหมายเปนแท้.

แต่นี้จะกล่าวด้วยเรื่องการสงครามต่อไป ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อเวลาเตรียมทัพนั้น กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองชุมพร เห็นจะเสด็จลงไปเมื่อราวเดือน ๗ เดือน ๘ ปีฉลู ให้เกณฑ์หัวเมืองฝ่ายตวันตก ตั้งแต่เมืองไทรขึ้นมาจนเมืองชุมพรให้ต่อเรือรบ แลเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกเข้าสมทบกับกองทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯ เปนกองทัพเรือ ฝ่ายกองทัพบกซึ่งเตรียมทางกรุงเทพฯ นั้น โปรดให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก กับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ยกกองทัพล่วงน่าไปสมทบกองทัพที่เมืองทวายก่อน เห็นจะยกไปในเดือน ๑๒ ปีฉลู แล้วเตรียมกองทัพหลวงที่จะเสด็จยกตามไป.

ฝ่ายข้างเมืองพม่า พระมหาอุปราชาตั้งเตรียมทัพอยู่ที่เมืองร่างกุ้งเมื่อระดูฝนปีฉลู ดังกล่าวมาแล้ว รวบรวมได้จำนวนพล ๕๐,๐๐๐ จัดกระบวนเปน ๖ ทัพ พอสิ้นระดูฝนก็ให้กองทัพยกลงมาเมืองทวาย มาทางทเล ๔ ทัพ คือ ทัพที่ ๑ ให้ศิริธรรมรัตนเปนนายทัพ คุมเรือกำปั่นรบ ๖ ลำ มีพลทหารเรือปืนเล็กด้วย ๓,๐๐๐ ทัพที่ ๒ ให้เนมะโยคุณะกยอสูถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นยีสิงคยาถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ ทัพที่ ๔ ให้พละรันตะกยอดินถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ.

กองทัพบก ให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระถือพล ๑๐,๐๐๐ เดินบกยกกองทัพมาทัพ ๑ แลให้หวุ่นยีมหาไชยสุระถือพล ๕,๐๐๐ อยู่รักษาเมืองเมาะตมะ คอยปราบปรามมิให้พวกมอญเปนขบถขึ้นข้างหลัง แลระวังเผื่อไทยจะยกไปจากเมืองตากด้วยอิกทาง ๑ แล้วพระมหาอุปราชาก็ยกกองทัพหลวงตามลงมายังเมืองทวาย.

เรื่องพม่ายกกองทัพลงมารบกับไทยที่เมืองทวายเมื่อต้นปีฉลูก็ดี เรื่องที่พระเจ้าปดุงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่ลงมาดังกล่าวมานี้ก็ดี ไม่มีในหนังสือพระราชพงษาวดาร ถึงรายการที่รบพุ่งกันที่จะกล่าวต่อไปนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารความก็ย่นย่อไม่ชัดเจน แต่ในพงษาวดารพม่ามีรายการเลอียด ข้าพเจ้าจึงกล่าวตามความที่ปรากฎในพงษาวดารพม่า เว้นแต่ความแห่งใดมีในหนังสือพระราชพงษาวดาร จึงยุติตามหนังสือพระราชพงษาวดาร.

ฝ่ายข้างเมืองทวาย กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนายกออกไปถึงเมืองทวายก่อนกองทัพพระมหาอุปราชายกมาถึง (พม่าว่า) กองทัพเจ้าพระยามหาเสนามีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่ดอนนอกเมืองข้างด้านตวันออก เจ้าพระยารัตนาพิพิธมีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเกษตรสันแดงข้างด้านตวันออกเฉียงเหนือ กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยมีกำลัง ๕,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ริมหนองด้านเหนือ กองทัพพระยาเพ็ชรบุรีกับพระยากาญจนบุรีมีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ข้างด้านใต้ กองทัพเจ้าพระยามหาโยธากับพระยาทวายมีกำลัง ๑๕,๐๐๐ พม่าว่าตั้งรักษาอยู่ในเมือง แต่ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าพระราชรองเมืองรักษาในเมือง จึงเข้าใจว่ากองทัพเจ้าพระยามหาโยธากับพระยาทวายจะตั้งอยู่ข้างนอกเมืองรักษาทางด้านตวันตก ยังกองทัพพระยายมราชอิกทัพ ๑ ในพระราชพงษาวดารว่าตั้งค่ายอยู่นอกเมือง บางทีจะอยู่ทางทิศตวันตกเฉียงเหนือ ส่วนกองทัพเรือ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงเร่งรัดให้ต่อเรือทั้งกลางวันกลางคืน ได้เรือรบพอจัดเปนกองทัพน้อยไปรักษาปากน้ำเมืองทวายอยู่กอง ๑ แต่กองทัพเรือที่เปนทัพใหญ่ยังไม่พร้อมเสร็จ ยังหาได้ยกไปไม่.

ฝ่ายกองทัพพม่า ทัพเรือที่ ๒ ซึ่งเนมะโยคุณะกยอสูเปนนายทัพลงมาถึงเมืองทวายก่อน พบทัพเรือไทยที่ปากน้ำ ได้รบพุ่งกัน กองทัพไทยเรือน้อยกว่าพม่า สู้ไม่ได้ก็ถอยหนี กองทัพพม่าจึงเข้ามาทางปากน้ำทวายมาตั้งอยู่ที่เกาะหงษ์ข้างทิศตวันตกเฉียงใต้ของเมืองทวาย ครั้นกองทัพเรือที่ ๓ ที่ ๔ ตามลงมาถึงก็ให้พลขึ้นบกที่ตำบลมองมะกัน แล้วยกมาตั้งค่ายที่ตำบลกินมะยาข้างด้านตวันตกเฉียงเหนือของเมืองทวาย ส่วนกองทัพบกของเนมะโยกยอดินสีหะสุระแม่ทัพใหญ่ยกลงมาถึงเมืองทวาย ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลกำยอ แล้วแบ่งกำลังให้เลตะยาสีหะสิงคยาปลัดทัพแยกไปตั้งที่ตำบลกะมอกตองข้างด้านเหนือเมืองทวายอิกทัพ ๑.

ความในหนังสือพระราชพงษาวดารกับพงษาวดารพม่ายุติต้องกัน ที่ว่าเมืองทวายครั้งนั้น ทั้งกรมการแลไพร่พลเมืองมีทั้งพม่าแลทวายปะปนทัน ถูกกะเกณฑ์แบ่งกันไปสมทบทำการในกองทัพไทยทุก ๆ ทัพ ครั้นเห็นพม่ายกทัพใหญ่ลงมา พวกชาวเมืองทวายก็พากันครั่นคร้ามไม่เปนใจจะช่วยไทยสู้รบ ไม่ฟังบังคับบัญชาเรียบร้อยดังแต่ก่อน เปนเหตุให้แม่ทัพนายกองต้องลงอาญาเฆี่ยนตีมุลนายผู้เปนหัวน่าของพวกที่กระด้างกระเดื่องนั้นเนืองๆ พวกที่มีความเจ็บแค้นไทย จึงคิดเปนไส้ศึกขึ้นในเมืองทวาย ความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีฉลู พวกกรมการในเมืองทวาย ๗ คน มีหนังสือลับออกไปถึงแม่ทัพพม่า นัดให้ลอบเข้ามาปล้นเมืองในเวลากลางคืน จะเปิดประตูรับ ครั้นพม่ายกมาซุ่มอยู่ คอยดูแสงโคมซึ่งพวกไส้ศึกนัดว่าจะยกขึ้นให้เห็นเปนสัญญาให้ยกเข้าตีเมือง คอยอยู่จนตลอดคืนไม่เห็นแสงโคมก็กลับไป ครั้นกลับไปถึงค่ายเวลาเช้าขึ้นเห็นแพหยวกใส่ศีร์ษะคน ๗ คนลอยน้ำลงไปจากเมือง จึงรู้ว่าไทยจับพวกไส้ศึกได้.

ฝ่ายข้างกรุงเทพพระมหานคร ครั้นถึงระดูแล้งเห็นจะในราวเดือนอ้าย ปีฉลู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ไปประทับอยู่ที่ค่ายหลวงริมลำน้ำน้อยแขวงเมืองไทรโยค เจ้าพระยารัตนาพิพิธบอกมากราบบังคมทูลฯ ว่าพม่ายกกองทัพใหญ่ลงมาตั้งล้อมเมืองทวาย แลพวกชาวเมืองทวายพากันกระด้างกระเดื่องไม่เรียบร้อยดังแต่ก่อน ได้ทรงทราบก็เสด็จยกกองทัพหลวงตามออกไปเมืองทวายทางขะมองส่วย.

เห็นจะเปนในเวลาเมื่อกองทัพหลวงกำลังเดินทางอยู่นั้น ทางเมืองทวายพม่าก็ยกเข้าตีกองทัพไทย ปรากฎรายการในพงษาวดารพม่าว่า กองทัพเลตะยาสีหะสิงคยา ซึ่งตั้งอยู่ข้างด้านเหนือ ยกข้ามแม่น้ำเมืองทวายมาตั้งข้างฟากตวันออก ได้รบพุ่งกับกองทัพพระยากาญจนบุรีเปนสามารถ พระยากาญจนบุรีถูกปืนตายในที่รบ กองทัพก็ถอยกลับเข้ามายังชานเมือง ขณะนั้นเจ้าพระยามหาโยธากับพระยาทวายคุมพล ๑๐,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายรับข้าศึกที่ริมน้ำไชยา พม่ายกเข้าตีค่ายเจ้าพระยามหาโยธาแตก พม่าติดตามไปตีค่ายพระยาสีหราชเดโชไชยได้อิกค่าย ๑ กองทัพพม่าทั้งทัพบกทัพเรือจะเข้าตั้งล้อมประชิดเมืองทวาย แต่กองทัพไทยต่อสู้ป้องกันเมืองโดยสามารถ เอาปืนใหญ่ยิงพม่าล้มตายลง จนเข้าประชิดเมืองข้างด้านตวันตกไม่ได้ก็ถอยลงไปข้างใต้ เข้าตีค่ายพระยาเพ็ชรบุรี รบพุ่งกันพม่าสู้กองทัพพระยาเพ็ชรบุรีไม่ได้ ต้องกลับลงเรือถอยออกไป ต่อมาอิก ๓ วัน พม่าจัดพลอาสา ๕,๐๐๐ ยกไปตีค่ายพระยาเพ็ชรบุรีอิก แต่แรกพม่าตีค่ายได้ แล้วไทยได้กำลังหนุนมากลับตีเอาค่ายคืนได้ พม่าก็ต้องถอยไปอิกครั้ง ๑ แต่พม่ายกเข้าตีเมืองทวายหลายครั้ง ไทยรบพุ่งป้องกันเมืองเปนสามารถ พม่าจะตีเอาเมืองไม่ได้ จึงเปนแต่ยิงปืนโต้ตอบกันไปมา ตั้งรากันอยู่.

ขณะนั้นกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงเร่งรีบจ้ดกองทัพเรือได้พร้อมเสร็จอิกทัพ ๑ มีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนยากรพระยาไกรโกษาพระยาพิไชยบุรินทราพระยาแก้วโกรพเจ้าเมืองชุมพรคุมทัพเรือนั้นยกขึ้นไปเมืองทวาย ครั้นกองทัพเรือยกขึ้นไปถึงเมืองมฤทเห็นพวกเมืองมฤทกลับเปนขบถขึ้น ด้วยกรมการแลไพร่พลเมืองมีพม่าอยู่มากอย่างเดียวกับที่เมืองทวาย เมื่อรู้ว่าพม่ายกกองทัพใหญ่ลงมารบกับไทยติดพันกันอยู่ที่เมืองทวายก็กลับใจเปนขบถ เอาปืนขึ้นป้อมตระเตรียมต่อสู้ พอกองทัพไทยยกขึ้นไปถึงก็ระดมยิงเอากองทัพไทย กองทัพเรือจึงต้องเข้าตีเมืองมฤท รบพุ่งติดพันกันอยู่ หาได้ยกขึ้นไปเมืองทวายไม่.

ฝ่ายทางเมืองทวาย พม่าตั้งล้อมเมืองอยู่ทั้งด้านเหนือใต้แลตวันตก กองทัพไทยที่รักษาเมืองจะหาเสบียงอาหารให้ส่งมาทางเรือไม่ได้ดังแต่ก่อน มีหนทางแต่ทิศตวันออกที่ติดต่อไปมากับเมืองไทย จึงต้องหันมาอาไศรยเสบียงอาหารที่ส่งไปจากเมืองราชบุรีแลกาญจนบุรี เสบียงที่ส่งไปทางนี้ต้องขนข้ามภูเขาไป ต้องใช้คนหาบหามมาก เมื่อการรบพุ่งกับพม่าติดพันกันเข้มงวดเข้า ต้องเกณฑ์ผู้คนพลเมืองไปสมทบเข้ากองทัพเกือบจะหมดตัว ไม่มีกำลังที่จะมาขนเสบียงอาหาร แม่ทัพไทยที่รักษาเมืองทวายจึงสั่งให้เกณฑ์ผู้หญิงชาวเมืองจัดเข้าเปนกอง ๆ ให้คุมมาขนเสบียงไปส่งกองทัพ การอันนี้เปนเหตุให้พวกชาวเมืองทวายทั้งนายไพร่เข้าใจกันว่า ไทยคิดจะทิ้งเมืองทวาย อุบายเกณฑ์ผู้หญิงมาขนเสบียงเปนตัวจำนำ ด้วยประสงค์จะกวาดต้อนครอบครัวเมืองทวายเอาเข้ามาเมืองไทยให้หมด ความสงไสยข้อนี้เพราะมีเหตุเปนเชื้อมาแต่แรกเมืองทวายสวามิภักดิ์ ดังกล่าวมาแต่ก่อนแล้ว ครั้นมาเกิดสงไสยขึ้นอิกในเวลาเมื่อมีพวกทรยศคิดเอาใจออกหากคอยเปนไส้ศึกอยู่ภายใน พอราษฎรเกิดหวาดหวั่นพวกไส้ศึกก็เลยยุยงส่งเสริมให้พวกชาวเมืองทวายกลับใจไปเปนข้าศึกแทบหมดทั้งเมือง พวกในเมืองทวายจึงลอบไปนัดแนะกับกองทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองว่าให้ระดมตีเข้ามาข้างนอก พวกข้างในเมืองจะเปนขบถขึ้นให้พร้อมกัน

ครั้นถึงเดือนยี่ แรมค่ำ ๑ เปนวันนัด เพลาค่ำกองทัพพม่าก็ยกเข้าปล้นค่ายเจ้าพระยามหาโยธาแลพระยาทวายซึ่งตั้งรักษาอยู่ชั้นนอก พวกทวายที่อยู่ในเมืองได้ยินเสียงปืนก็พร้อมกันเปนขบถขึ้น ฆ่าฟันไทยที่อยู่ในเมืองล้มตายลง แล้วเอาปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนเชิงเทินกำแพงเมืองหันไปยิงเอาค่ายไทยที่อยู่ในทางปืนข้างนอกเมืองทุก ๆ ค่าย กองทัพไทยที่ตั้งอยู่เมืองทวายเหลือกำลังที่จะต้านทานก็พากันถอยหนีมาทางตวันออกในเวลากลางคืนวันนั้น ครั้นรุ่งเช้าพม่ายกกองทัพติดตามมา.

ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จยกกองทัพหลวงไปตั้งอยู่ที่ตำบลหินดาด ระยะทางห่างเมืองทวาย ๒ คืน เห็นจะเสด็จออกไปถึงพอประจวบกับที่เกิดเหตุขึ้นในเมืองทวาย ครั้นได้ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การรบพุ่งในคราวนั้นเสียเปรียบข้าศึกเสียแล้ว จึงดำรัสสั่งให้ปล่อยกองทัพที่ถอยมาถึงกองทัพหลวง เลยกลับเข้ามาในพระราชอาณาเขตรทีเดียว เอากองทัพหลวงตั้งสกัดข้าศึกไว้ พวกกองทัพที่ถอยมาก่อนก็กลับมาได้โดยสดวก แต่กองทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนาพระยายมราช ซึ่งหนีมาจากค่ายริมเมืองทวายมาทีหลัง สู้รบพลางถอยพลางมาทุกกองด้วยกัน พม่าตามติดพันกระชั้นมาจนถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเปนทัพน่าของกองทัพหลวงตั้งสกัดทางอยู่ เจ้าพระยารัตนาพิพิธเจ้าพระยามหาเสนาแลพระยายมราชจะเข้าอาไศรยค่ายต่อสู้ข้าศึก พระยาอภัยรณฤทธิ์ไม่ยอม ว่าผู้คนกำลังถอยหนีมาเปนอลหม่าน ข้าศึกกำลังติดตามกระชั้นชิด ถ้าเปิดค่ายรับเกรงจะกันข้าศึกไว้ไม่อยู่ จะเลยพากันแตกลงไปจนถึงทัพหลวง เจ้าพระยาทั้ง ๒ กับพระยายมราชก็จำต้องตั้งต่อสู้ข้าศึกที่ตรงนั้นแต่โดยลำภัง เสียไพร่พลล้มตายในตอนนี้เปนอันมาก เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ก็ตายในที่รบ พม่าว่าพระยาสีหราชเดโชไชยตายอิกคน ๑ กองทัพเจ้าพระยาทั้ง ๒ แลพระยายมราชแตกยับเยิน ค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ก็เสียแก่ข้าศึกด้วย แต่รบกันตรงนั้นไทยต่อสู้เปนเวลาจนกรอก กว่าพม่าจะตีแตก ไทยก็ฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเปนอันมากเหมือนกัน จนพม่าอ่อนกำลังไม่สามารถจะติดตามต่อมาได้ แต่นั้นไทยก็ถอยทัพกลับมาได้โดยสดวก พระยาอภัยรณฤทธิ์นั้นต้องรับพระราชอาญาถึงสิ้นชีวิต.

ฝ่ายกองทัพเรือที่ตีเมืองมฤท พระยาจ่าแสนยากรแม่ทัพให้เอาปืนขึ้นตั้งบนภูเขาที่เกาะตรงน่าเมือง ระดมยิงป้อมที่เมืองมฤท พม่าต้องทิ้งป้อมลงอาไศรยอยู่ในคู รบพุ่งกันจวนจะได้เมืองอยู่แล้ว พอได้รับหนังสือรับสั่งกรมพระราชวังบวร ฯ ว่ากองทัพบกที่ยกไปเมืองทวายทำการไม่สำเร็จต้องถอยทัพ ให้กองทัพเรือถอยกลับมาเถิด แลขณะที่ตระเตรียมจะถอยทัพนั้น พอกองทัพเรือของพม่ายกมาถึง ต้องรบพุ่งกันเปนสามารถ กองทัพไทยสู้พลางถอยพลางมาจนถึงท่าขึ้นบกที่ปากจั่น ไทยขึ้นบกพม่าก็ยกขึ้นบกติดตามมาได้รบพุ่งกันอิก กองทัพไทยตั้งต่อสู้อยู่จนพม่าถอยทัพกลับไปแล้วจึงเดินทัพกลับมาเมืองชุมพร จึงโปรดให้มีตราให้หากองทัพกลับคืนมาทุก ๆ ทาง การที่พยายามจะตีเมืองพม่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังแสดงมา.

  1. ๑. ความอธิบายที่กล่าวต่อไปนี้ ซ้ำกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเรื่องพงษาวดารเรารบพม่าครั้งกรุงศรีอยุทธยาโดยมาก เพราะเห็นว่าเล่มนี้เปนหนังสือเรื่องหนึ่งต่างหาก บางทีผู้อ่านจะไม่มีเล่มโน้นอยู่ด้วย จึงได้กล่าวซ้ำอิก.

  2. ๒. ในสมัยนั้นเมืองระยองเมืองกระแลเมืองมลิวันเปนเมืองขึ้นเมืองชุมพร.

  3. ๓. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) หายไปไม่รู้ว่าจะเปนฤๅตาย แต่ในพงษาวดารพม่าว่าตายในที่รบ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ