ประวัติ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เกิดในราชสกุลกุญชร เป็นบุตรีของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เติบโตขึ้นในแวดวงของ “วังบ้านหม้อ” อันถือได้ว่าเป็นแหล่งหล่อหลอมความรักที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมซึ่งหาที่เปรียบได้ยาก ความจัดเจนในด้านวรรณศิลป์ ความเข้าใจอันลึกซึ้งที่มีต่อศิลปะการแสดง ความใกล้ชิดอยู่กับกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา สิ่งเหล่านี้ ม.ล. บุญเหลือได้รับจาก “การศึกษาที่ไม่เป็นทางการ” จากพื้นเพทางบ้านทั้งสิ้น จาก “วัง” ไปสู่ “วัด” ซึ่งในที่นี้มิใช่ “โรงเรียนวัด” ในความหมายแบบไทย แต่เป็นโรงเรียนคอนแวนต์ทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ปีนัง ม.ล. บุญเหลือ ก้าวสู่โลกแห่งความคิดของตะวันตกได้อย่างสะดวกดายเพราะรากเหง้าทางวัฒนธรรมจากวังบ้านหม้อมั่นคงพอที่จะรับวัฒนธรรมต่างด้าวได้ โดยไม่ต้องเอาความเป็นไทยเข้าไปแลก ในอัตชีวประวัติ ความสำเร็จและความล้มเหลว ของท่าน ม.ล. บุญเหลือ พูดถึงแม่ชีที่โรงเรียนคอนแวนต์ในปีนังไว้ด้วยความชื่นชมในขณะที่ท่านอาจมิได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษนักกับการศึกษาระดับปริญญาโทในสหรัฐอเมริกา กล่าวโดยทั่วไป ม.ล. บุญเหลือเป็นตัวอย่างอันดียิ่งของบุคคลที่พัฒนาตนเองไว้ได้ด้วย “การศึกษาตลอดชีวิต”

ม.ล. บุญเหลือ มักตีความชีวิตการรับราชการของตนเองว่าเป็นความล้มเหลว ซึ่งก็คงจะไม่ผิดนักถ้าเรามองกันในแง่ทางโลก คือถือเกณฑ์ของความก้าวหน้าอันรวดเร็วในด้านตำแหน่งแห่งหนในราชการ ม.ล. บุญเหลือเข้ารับราชการแล้วลาออกจากราชการหลายครั้งหลายหน ทำให้ได้รับบำนาญในจำนวนที่แทบจะไม่พอประทังชีวิต ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไร เพื่อนฝูงและศิษย์ของท่านชอบที่จะคิดว่าท่านประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ซึ่งพวกเราอยากที่จะตีความว่าเป็นความสำเร็จในทางธรรมเพราะ ม.ล. บุญเหลือเป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิกงานที่สำคัญๆ ไว้มากอันเป็นงานสร้างสรรค์ที่ส่งผลในระยะยาวทั้งสิ้น ม.ล. บุญเหลือ ฝากมรดกอันมีค่าไว้ในกิจการแขนงต่างๆ เช่น การนิเทศการศึกษา การสอนภาษาไทย การสอนภาษาอังกฤษ วรรณคดีวิจารณ์ และวรรณคดีศึกษา และอุดมศึกษา โดยเฉพาะแนวทางของการศึกษาเพื่อเบิกทางแห่งปัญญา (liberal education) ในฐานะนักเขียน ม.ล. บุญเหลือสร้างนวัตกรรมในด้านการเขียนนวนิยายไว้มาก ซึ่งอาจจะลุ่มลึกและซับซ้อนเกินรสนิยมของผู้อ่านส่วนใหญ่ ซึ่งยังมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของงานเหล่านี้

ชีวิตของ ม.ล. บุญเหลือ ในช่วงที่ได้ออกจากราชการไปแล้วจัดว่าเป็นชีวิตที่สุขและสงบ การที่ท่านเข้าสู่ชีวิตสมรสเมื่อเข้ามัชฌิมวัยแล้วทำให้ชีวิตครอบครัวราบรื่น ทั้งภรรยาและสามีเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะทางปัญญา เป็นคู่คิดที่ดีต่อกันไปจนวาระสุดท้ายของฝ่ายหนึ่ง ม.ล. บุญเหลือเป็นคนแก่ที่น่านับถือ เป็นแบบอย่างของปูชนียบุคคล พร้อมเสมอที่จะให้วิทยาทานแก่คนจำนวนมากทั้งในรูปแบบของการให้คำแนะนำให้คำปรึกษาโดยตรง และในรูปของการสร้างงานเขียนที่มีลักษณะท้าทายในเชิงความคิด กล่าวได้ว่าทศวรรษสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านเป็น “Indian Summer” ในความหมายที่ประเสริฐสุดของคำนี้

ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๕ สิริอายุได้ ๗๑ ปี ในวันคล้ายวันเกิดของท่านคือวันที่ ๑๓ ธันวาคม ศิษย์ของท่านทั้งที่เป็นศิษย์โดยตรง และผู้ที่ฝากตัวเป็นศิษย์ซึ่งมีมากกว่ากลุ่มแรกจึงพร้อมใจกันน้อมรำลึกถึงครูผู้ให้วิทยาทานอันไม่รู้จบผู้นี้ โดยหวังว่ามรดกทางปัญญาที่ท่านได้มอบไว้ให้แก่แผ่นดิน จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ในทางความคิดต่อไปโดยไม่รู้จบ

ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ