บทที่ ๑๖

หลังจากวันฉลองยศที่บ้านเจ้าพระยาสุเรนทรฯ แล้ว มีคนมาหาท่านผู้หญิงฉอ้อนเพื่อชักชวนให้เป็นแขกในงานฉลองยศที่บุคคลต่างอาชีพใคร่จะจัดให้เกือบไม่เว้นแต่ละวัน บุคคลคณะแรกที่มาชักชวน เป็นภรรยานายทหารคนหนึ่งเป็นภรรยาของนายทหารผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาพลเอกวิทูรในสมัยหนึ่ง ท่านสามีของฉอ้อนเกือบจะรับรองกับท่านสุภาพสตรีผู้นี้ว่า ภรรยาของท่านจะต้องตกลงปลงใจด้วยแน่ แต่ท่านผู้หญิงภรรยาหาทางออกไปได้ โดยขอร้องว่า ระหว่างนี้เหน็ดเหนื่อยมาก ขอให้รอต่อไปสักหน่อย

คณะที่สองมีทั้งบุรุษและสตรี เป็นนายทหารที่ร่วมใจกันมากับสามีท่านผู้หญิงเป็นระยะเวลายาวนาน และภรรยาของข้าราชการชั้นสูงในสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ของท่านวิทูร และมีตัวข้าราชการชั้นสูงเองร่วมมาด้วยมากกว่าหนึ่งคน นำคำชักชวนของสมาคมสตรีที่บำเพ็ญสาธารณประโยชน์สมาคมหนึ่งมายังท่านผู้หญิง ขอให้อนุญาตให้จัดงานฉลองยศของท่าน แล้วแต่ท่านจะกำหนด ท่านผู้หญิงก็รับปากง่ายๆ ว่าแล้วจะกำหนดวันไปให้ทราบ แต่แล้วก็ไม่กำหนด

คณะที่สามยังความแปลกใจให้ท่านผู้หญิงมากกว่าคณะอื่นทั้งหมด ผู้ที่มาเป็นสตรีล้วน จำนวน ๕ คน เป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนในเครือที่ท่านผู้หญิงได้รับการศึกษามาจากจังหวัดเพชรบุรี ในจำนวนนี้คนที่ทำให้ประหลาดใจมากที่สุดได้แก่ สำรวย วงศ์ชาวเพชร เหมเสนา ภรรยานายจำลอง เหมเสนา

พอเห็นว่าสำรวยเป็นคนหนึ่งในจำนวนแขกที่นั่งรออยูในห้องรับแขกอันโอ่โถง ฉอ้อนเกือบลืมชีวิตที่หล่อนต้องประจนประจันอยู่ทั้งหมด คำทักหลุดปากโดยไม่รั้งรอ

“พี่สำรวย” แล้วปราดเดียวตัวของผู้ทักก็เข้าไปถึงตัวผู้ที่ถูกทัก ผู้ถูกทักยกมือขึ้นไหว้ พร้อมกันนั้น มีแขกคนหนึ่งกล่าวขึ้น

“นี่ยังไง ดิฉันว่าแล้ว จะไม่มาเสียให้ได้เจ้าค่ะ”

เจ้าของบ้านเชิญให้แขกทุกคนหาที่นั่งให้สบายที่สุด ทักทายถามข่าวคราวครบทุกคน และเมื่อเห็นว่าคนรับใช้ที่มีหน้าที่รับแขก ทำหน้าที่ของตัวอย่างดีแล้ว ก็เริ่มสนทนาโดยไม่ห่วงใยอย่างใดอีก

“ทำไมพี่สำรวยถึงจะไม่มา” ท่านผู้หญิงฉอ้อนถามสหายเก่า

สำรวยทำท่าลำบากใจ ก้มหน้าลงและเงยหน้าขึ้นหลายครั้ง “ก็ ก็ คุณจำลอง . . .”

“เรื่องการเมืองสมัยเก่า” แขกคนหนึ่งที่มากับสำรวยช่วยอธิบายแก่เจ้าของบ้าน “ดิฉันบอกว่ามันเรื่องที่ท่านลืมกันแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับท่านที่นี่ใช่ไหมคะ” ผู้พูดคนนี้คือคุณหญิงจรัสเป็นภรรยานายทหารที่ได้ร่วมงานกับสามีของฉอ้อนมานาน และเป็นคนสนิทไว้วางใจกันตลอดมา แต่เจ้าหล่อนผู้ภรรยาเป็นคนที่ออกจะแปลกไปจากภรรยานายทหารคนอื่นๆ คือเคยวางตัวกับฉอ้อนอย่างไรตั้งแต่สมัยที่เป็นนายพันด้วยกันมา ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

“เรื่องของท่าน ถึงยังไงก็ไม่ใช่เรื่องอย่างของดิฉันกับพี่สำรวย” ท่านผู้หญิงว่า “แหม คนบ้านเดียวกัน รู้จักกันมาตั้งแต่เล็ก แล้วก็เป็นเพื่อนบ้านกับอาผ่อง อาผ่องก็พูดถึงคุณจำลองกับพี่สำรวยอยู่เสมอ”

“ก็ ก็” สำรวยพูดได้เพียงเท่านั้น

“ที่มานี่ หวังว่าไม่มีธุระอะไรนะคะ จะได้อยู่กินข้าวกินปลาด้วยกัน” ท่านผู้หญิงพูด มีความหมายที่อาจแปลได้ตามความสามารถของผู้ฟัง แต่ไม่เป็นผล เพราะผู้ฟังมาด้วยความจำนงที่แน่วแน่

“จะว่ามีธุระก็ได้ ไม่มีธุระก็ได้ค่ะ” นางทศทิศพิจารณ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในเครือเป็นผู้ตอบ “คือทางสมาคมของเรา เรียกว่าสหพันธ์สมาคมศิษย์พระมหากรุณา ชื่อจะว่าเชยก็ได้นะคะ แต่ก็ช่างเถอะ หมายความว่าสมาคมโรงเรียนเก่าของคณะมิชชั่น หลายโรงเรียนหลายสมาคม เขามอบหน้าที่ให้เรามาขอความกรุณาท่านผู้หญิงค่ะ เขาว่าขอให้ท่านเห็นแก่สมาคมขอให้เราได้ประกาศว่าท่านผู้หญิงผู้ซึ่งใครๆ ก็ยกให้แล้วว่าเป็นหญิงไทยที่น่ารัก ที่สมควรจะได้เกียรติยศทุกประการ ขอให้เป็นที่ทราบว่าท่านจะยินดีไปร่วมงานกับเรา”

ท่านผู้หญิงเริ่มเดาธุระได้แล้ว แต่โดยมรรยาทก็ต้องกล่าว

“จะให้ไปร่วมงานอะไรคะ”

“งานออกร้านที่โรงเรียนศิริเจริญวิทย์ค่ะ” นายกสมาคมตอบ “งานนี้เราทำเป็นแบบบาซาร์ สมาคมทำของต่างๆ มาขาย โรงเรียนต่างๆ ก็ทำร่วมกัน และยังมีสมาคมครูผู้ปกครอง และผู้ปกครองที่มีร้านค้าเป็นส่วนตัวมาร่วมงาน ถ้าท่านไปนะเจ้าคะ งานก็จะครึกครื้นขึ้นอย่างมาก เงินที่ขายของได้ทุกบาททุกสตางค์ให้แก่โรงเรียนส่วนใหญ่ให้เป็นทุนการศึกษาเจ้าค่ะ ท่านอย่าปฏิเสธเลยเจ้าค่ะ”

ฟังดูอย่างนั้น ก็ไม่เห็นว่าน่าจะขัดข้อง แต่ท่านผู้หญิงเดาได้เสียแล้วว่าเหตุการณ์ในงานนั้นจะเป็นอย่างไร ในตอนแรกก่อนจะถึงวันงาน ก็จะมีการโฆษณาว่าท่านผู้หญิงจะไปเป็นแขกคนสำคัญ คนที่เตรียมจะไปในงานนั้น ก็จะแบ่งออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งกำลังรีรอว่าจะไปดีหรือไม่ พอได้ทราบว่าภรรยาท่านรองวิทูรจะไปในงานนั้น ก็ตัดสินทันทีว่าตัวต้องไปในงานนี้แน่ เพราะว่าสามีจะได้มีโอกาสบอกเรียนแก่ ท่านรอง ว่าภรรยาได้ไปพบกับภรรยาของท่าน และเรียนเพิ่มเติมว่า ภรรยาเห็นว่าท่านผู้หญิงนั้นน่ารักอย่างไร แต่งตัวก็เหมาะสม ไม่เกินหน้าไม่ล้าสมัย และยังมีความน่าชมอย่างอื่นอีก แต่มีคนอีกจำพวกหนึ่ง พอได้ยินว่าท่านผู้หญิงฉอ้อนจะเป็นแขกสำคัญในงานนี้ ก็จะเกิดความพะว้าพะวัง จะไปดีหรือไม่ไปดี ถ้าไปพบจะทำท่าอย่างไร จะหลีกเลี่ยงหรือ หรือจะเข้ามาหาทักทายกันเหมือนอย่างที่เคยทำกันมาตั้งแต่เป็นภรรยานายทหารด้วยกันบ้าง ร่วมจังหวัดเดียวกันบ้าง บางคนก็จะทำพินอบพิเทา บางคนก็จะทำเก้อๆ เขินๆ บางคนก็เล่นละครสนิท บางคนก็เล่นไม่สนิทเหมือนอย่างสำรวยในขณะนี้

คนจำพวกหลังนี้ ถ้าจะคิดไปอีกแง่หนึ่งก็น่าสนใจ เพราะเหตุใดเขาจึงจะต้องมีปฏิกิริยาต่อฉอ้อนเช่นนั้น แน่นอน คนมีอำนาจย่อมมีศัตรู สามีของหล่อนสอนฉอ้อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อยู่ในโลก เป็นภรรยาของคนที่ทำงานให้บ้านเมือง ในตำแหน่งที่ดลบันดาลอะไรได้หลายอย่าง เป็นธรรมดาจะไปเชื่อว่าคำยอทุกคำมีความจริง ผู้กล่าวกล่าวด้วยใจจริง จะได้หรือ แต่ก็เป็นธรรมดาอีก ภรรยาของคนในตำแหน่งดังกล่าว ย่อมต้องเล่นละครไปกับเขาด้วย ใครจะแสดงบทได้ดีกว่าใคร บางคราวฉอ้อนก็ภูมิใจในการแสดงของตน ว่าเล่นได้ถึงบทอย่างที่ไม่มีใครจะตำหนิได้ บางคราวก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ที่สำคัญที่สุดหล่อนตอบตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าหล่อนหยุดเล่นเสีย อะไรจะเกิดขึ้น จริงหรือ ตัวหล่อนนี้สำคัญแก่สามีมากมาย นานแล้วหล่อนไม่ได้ยินเขากล่าวคำเช่นนั้น หล่อนไปยึดมั่นไว้ตั้งแต่นานมาแล้วกระมัง แต่ถ้าหล่อนไม่สำคัญ คนทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเข้ามา “บุกรุก” ถึงในบ้าน ถึงในหัวใจหล่อนทำไม

เอ๊ะ นี่ก็คิดฟุ้งซ่านเสียจริง ๆ มีเวลาหรือสำหรับที่จะคิด ไม่มี ตัวได้เข้ามาในฉากแล้ว คนดูกำลังจ้องดูบทที่จะแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น จะมัวขบปัญหาซ้อนปัญหาอยู่ไม่ได้ ท่านผู้หญิงต้องยิ้มและตอบอย่างอ่อนหวาน

“ขอดูกำหนดวันต่างๆ เสียก่อนนะคะ เออ ลูกฉอเลาะไปไหน เรื่องนัดต่างๆ เขาเป็นคนจดไว้ค่ะ”

“ดิฉันไปดูได้ คุณฉอเลาะอธิบายวิธีจดวิธีนัดไว้ให้หมดเจ้าค่ะ เสียงออกมาจากหลังลับแล ซึ่งทำด้วยไม้มะเกลือประดับมุกในส่วนหลังของห้องรับแขก ท่านผู้หญิงหันไปก็เห็น นางศรีศิริ พัฒนประทีป สามีเป็นรองผู้อำนวยการองค์การรัฐวิสาหกิจอันหนึ่ง โผล่ออกมาจากข้างหลังลับแลนั้นหลายครั้งเมื่อมีคนปรากฏตนในบ้านของฉอ้อน โดยที่ฉอ้อนไม่ได้เชื้อเชิญและไม่มีใครบอกเล่า ฉอ้อนใคร่จะถามคนใช้ในบ้าน และผู้ที่เป็น “แขก” ในความหมายเดิมว่า “ผู้แปลก” ว่าเขาได้พาตัวเข้ามาอย่างไร และใครในบ้านเป็นผู้อนุญาตให้พักอยู่ที่ไหน แต่หล่อนไม่กล้าถาม เพราะสามีเคยบอกว่า บ้านของท่านได้เปิดสำหรับคนทั่วไป จะมาหาท่านหรือผู้ใดเมื่อใดก็ได้ ขอสงวนสิทธิ์แจ้งให้ผู้มาทราบว่า เจ้าบ้านว่างพอที่จะรับรองหรือไม่เท่านั้น และยังมีเหตุอีกอันหนึ่งที่ทำให้ฉอ้อนไม่กล้าถาม คือความกลัวของตนเอง กลัวจะได้รับคำตอบว่า “ไม่มีใครอนุญาตให้เข้ามา” ถ้ามีคำตอบเช่นนั้น เจ้าของบ้านจะทำอย่างไร จะไล่ไปหรือ ก็คงไล่ไม่ได้ ในเมื่อคนที่เข้ามานั้น โดยมากมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับสามี คือมักจะเป็นภรรยาของคนในบังคับบัญชาโดยตรงหรือทางอ้อม เช่นในกรณีนางศรีศิรินี้สามีของเจ้าหล่อนก็อยู่ในหน่วยงานที่ “ท่านรอง” เป็นประธานกรรมการ ดังนั้นฉอ้อนจึงได้แต่แสดงบทเจ้าของบ้านผู้เต็มใจเปิดรับคนทุกคนต่อไป

นางศรีศิริ ฉอ้อนเรียก คุณนายศรี ตามที่เมื่อครั้งแรกคนแนะนำให้รู้จัก ฉอ้อนออกนึกสนุกในเรื่องที่สตรีในพระนคร มีคนเรียกกันต่างๆ จะกำหนดกฎเกณฑ์เอาอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งหล่อนเป็นเด็กรุ่นที่จังหวัดเพชรบุรีก็ไม่ได้ และเรื่องนี้ฉอ้อนตั้งข้อสังเกตไว้ในใจไม่เคยแพร่งพรายให้ผู้ใดฟัง มีหลายอย่างเหลือเกินที่ฉอ้อนต้องเก็บไว้ในใจ ซึ่งเมื่ออยู่ในวัยเด็กและวัยสาวฉอ้อนไม่ต้องทำเช่นนี้ ชีวิตของคนเราคืออย่างนี้หรือ เมื่อวัยล่วงไป เรื่องที่ไม่อาจแบ่งเบาไปให้ผู้ใดมีมากขึ้นๆ คนทั้งหลายเขาเป็นกันเช่นนี้ทั้งนั้นหรือ หรือเป็นแต่ฉอ้อน เป็นแต่ท่านผู้หญิงของ ท่านรอง คนเดียว

ในเมื่อมีผู้มาอาสาเป็นเลขานุการทางสังคมกลายๆ ดังเช่นที่คุณนายศรีได้รับ ท่านผู้หญิงก็ทำตนเป็นผู้มีกตัญญู ออกปากขอบใจและแนะว่า ให้ดูให้แน่ๆ เพราะบางทีลูกสาวก็ลืมจดการนัดแนะบางอย่าง

คุณนายศรีไปเรียกเอาสมุดจากสาวใช้ของท่านผู้หญิง และมานั่งที่เก้าอี้ร่วมกับแขกที่มาหา เปิดสมุดพลางก็อ่านดังๆ ว่า ท่านผู้หญิงมีนัดกับใครในวันใด เพื่อไปทำอะไร

“คุณหญิงว่าจะเรียนเชิญท่านวันไหนเจ้าคะ” คุณนายศรีถามคุณนายทศทิศ ทำให้ท่านผู้นั้นเกิดสีหน้าที่พรรณนายาก มองไปทางท่านผู้หญิงที่หนึ่งและมองไปยังบรรดาผู้ที่มาในคณะของคนทั่วหน้า แต่เมื่อไม่มีผู้ใดตอบคำถามและสายตาทุกคู่จ้องมาให้คุณนายทศทิศตอบคุณนายจึงตอบ

“คือราวๆ ปลายเดือนมีนาคมตอนโรงเรียนปิด นี่แหละค่ะ เขาว่ากันว่าท่านมีวันนัดอะไรต่ออะไรไปนานๆ ถึงต้องมาเสียตั้งแต่ตอนนี้”

ฉอ้อนรู้สึกเบาใจ เพราะที่แรกหล่อนคิดว่าจะมีงานเพื่อฉลองยศประสมประเส เมื่อเห็นว่าวันที่กำหนดเป็นระยะไกลเกินกว่าที่จะทำดังนั้นได้ ก็ยินยอมด้วยปากและด้วยใจง่ายขึ้น

“เดือนมีนาดูเหมือนจะยังไม่มีอะไร จดเอาไว้ก่อนแล้วคิดผ่อนผันทีหลังได้ไหมคะ” ฉอ้อนถาม

“ได้เจ้าค่ะ แต่ว่าจะรีบมาเรียนให้ทราบ เพราะจะต้องพิมพ์บัตร และทำประชาสัมพันธ์” สตรีผู้หนึ่งในคณะที่มาหาตอบ “ขอให้ท่านบอกเวลาสะดวกของท่านสักสองวันหรือสามวัน แล้วก็เห็นจะต้องเป็นเวลาเช้านะเจ้าคะ เพราะเปิดแล้วจะได้ขายของเลย”

ฉอ้อนพยักหน้ารับ และในขณะเดียวกันก็คิดถึงผู้พูด พยายามจะรำลึกว่าเป็นใคร หล่อนมีความรู้สึกว่าสตรีท่านนี้เป็นคนมีอาวุโสกว่า ซึ่งฉอ้อนเคยรู้จักมานานแล้ว และไม่ช้าหล่อนก็ได้รู้ เพราะสำรวยพูดขึ้น

“พี่หวานจะกลับไปเมืองเพชรก่อน แล้วถึงจะมาบอกว่าทางโรงเรียนทางโน้นเขาจะตกลงยังไง ไม่ใช่รึ”

“พี่หวาน” ทำตาตรงกันข้ามกับ “หวาน” ถ้าหากผลทางกายเกิดจากความปรารถนาของจิตได้อย่างรวดเร็ว สำรวยคงจะถูกทำร้ายร่างกายได้บาดแผลหลายแผล แต่ในเมื่อธรรมชาติมิได้อำนวยให้เป็นเช่นนั้น ท่านผู้หญิงจึงได้เห็นการแสดงบทที่ค่อนข้างตลกจากแขกคณะนั้น

“คุณสำรวย คุณพี่ชื่อมธุรามานานแล้ว” คุณนายเพียงเดือน ผู้มีอาวุโสน้อยที่สุดในคณะพูดอย่างอดไว้ไม่ได้ “แล้วก็ทางเมืองเพชรน่ะ แหม่มเทรเวอร์แกมาประชุมแกบอกตกลงไว้แล้ว คุณพี่มธุราจะไปนัดวันไหนให้แน่แต่ต้องรอให้ท่านนัดก่อน ไม่งั้นจะเอาอะไรไปบอกเขา เราถึงต้องมารบกวนท่านวันนี้ รู้แล้วว่าท่านแสนจะเหนื่อย ถูกเลี้ยงฉลองยศออกเรื่อยไป”

“อ้าว” ฉอ้อนอุทานออกมาโดยยั้งไม่ได้ “เหนื่อยน่ะจริงค่ะ แต่ไม่ใช่เพราะงานฉลองยศ”

“จริงเจ้าค่ะ งานที่มันปลื้มปีตินี่ไม่เหนื่อยนะเจ้าคะ ถ้าอย่างงานศพยังงี้ถึงจะเหนื่อย” คุณนายศรีเสริม

“ท่านผู้หญิงท่านได้ฉลองยศที่บ้านเจ้าพระยาวันนั้นหนเดียวแหละค่ะ” คุณหญิงจรัส ผู้ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงกับฉอ้อนกล่าวน้ำเสียงยกย่องในที และในขณะเดียวกันก็แสดงความสนิทสนมพอสมควร

“อื้อ ท่านต้องไปงานโน่นงานนี้ คนนั้นขอเลี้ยง คนนี้ขอเลี้ยงแทบจะแย่” คุณนายรำพึงแสดงความรู้ “ก็มะรืนนี้ก็ที่กองพล ใช่ไหมเจ้าคะ”

จากประสบการณ์ในระยะ ๗-๘ ปีที่สามีมีอำนาจขึ้นในประเทศ ฉอ้อนได้พบเพื่อนภรรยาข้าราชการและสตรีอื่นๆ ที่มีฐานะอยู่ในชั้นนำในสังคมมามากพอใช้ จึงเข้าใจได้ดีว่า ผู้ที่สนทนากันอยู่นั้น มีความคิดนึกเกี่ยวกับตัวหล่อนไปคนละทาง คือคนหนึ่งคิดว่า การที่จะกล่าวว่าไม่ได้มีการเลี้ยงฉลองยศมากครั้งเป็นการแสดงความอ่อนต่อโลก คนทุกคนย่อมคาดว่า ในเมื่อคุณหญิงฉอ้อน ภรรยา ท่านรอง ได้เป็นท่านผู้หญิง ขึ้นเช่นนี้ ย่อมจะมีการเลี้ยงแสดงความยินดีกันทั่วไป ดังนั้นเมื่อมีผู้กล่าวว่ามีการเลี้ยงหนเดียว ก็เป็นการกล่าวที่ไม่สมควร อีกฝ่ายหนึ่งแลเห็นว่า การเลี้ยงฉลองยศเป็นการที่ฉอ้อนไม่สนับสนุน จึงรีบแก้ไขให้คนอีกฝ่ายเข้าใจให้ถูก ส่วนที่สำรวยถูกมองด้วยสายตาขุ่นเขียวจากทุกคนที่มาร่วมคณะ ฉอ้อนเดาว่า งานที่จะจัดขึ้นนี้ คงจะยังไม่ได้รับคำรับรองที่แน่นอนจากสมาคมนักเรียนเก่าของโรงเรียนเดิมของหล่อนที่เพชรบุรี แต่เมื่อผู้จัดงานปรารถนาให้ท่านผู้หญิงไปร่วมให้ได้ จึงต้องชักชวนให้สมาคมที่เพชรบุรีร่วมด้วย เพราะโรงเรียนที่เพชรบุรีใกล้ชิดกับหล่อนอย่างแท้จริง ถ้าหล่อนไปร่วมกับเครือสมาคมนี้ในฐานะนักเรียนเก่า เครือสมาคมนี้ก็ได้ชัยชนะเหนือสมาคมอื่นอยู่บ้าง สตรีคณะนี้จึงได้ไปพาสำรวยให้มาด้วยในวันนี้ นักเรียนร่วมโรงเรียนของฉอ้อนที่มามีชื่อเสียงในพระนคร คงจะกระจัดกระจายหาตัวกันยาก จึงมี “พี่หวาน” ซึ่งแท้จริงไม่เคยเป็นนักเรียนเก่า ซึ่งฉอ้อนรำลึกขึ้นมาได้แต่เคยเข้าไปเป็นครูในโรงเรียนเพียงไม่กี่เดือน และการที่ต้องกะเกณฑ์เอาสำรวยมาด้วยจนได้ ก็คงเป็นเพราะไม่มีเวลาหาตัวคนอื่นที่จะร่วมในคณะทูตได้ดีกว่าสำรวย

แต่ก่อนๆ มา เมื่อมีสตรีร่วมวงสนทนากันหลายๆ คน มีความเข้าใจกันไปคนละทางอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ฉอ้อนมักไม่ให้ความช่วยเหลือ มักปล่อยให้พูดกันต่อไปด้วยความสับสน จนกว่าจะมีการขยิบหูขยิบตาหรือมีคนฉลาด ชักพาการสนทนาไปจากเรื่องเดิมอย่างไม่เก้อเขินจนเกินไป แต่มาในระยะหลัง การสนทนากันโดยไม่เข้าใจกันได้ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นต้นว่า จากความเข้าใจผิด ภรรยาของข้าราชการที่ได้มาร่วมในการสนทนาที่สับสน นำเรื่องไปเล่าต่อให้สามีหรือญาติมิตรฟังแล้วเกิดความผิดใจกันต่อไปถึงขั้นทะเลาะวิวาท จนกระทั่งได้มาฟ้องขอให้คุณหญิงของ ท่านรอง เป็นตุลาการ ตั้งแต่นั้นมา ฉอ้อนจึงต้องช่วยให้มีความเข้าใจตรงกันเสียเท่าที่จะทำได้

ในวันนี้หล่อนจึงรีบไกล่เกลี่ย “ไม่เป็นไรหรอกค่ะ ทางหัวเมืองน่ะดิฉันทราบว่า จะให้เขาตกลงอะไรง่ายๆ เหมือนทางกรุงเทพฯ ไม่ได้ ดิฉันคนเคยอยู่หัวเมือง ดิฉันทราบดี แต่ถึงยังไง การกุศลยังงี้ เขาคงจะไม่อิดเอื้อน แล้วเรื่องที่เหนื่อยนะคะ ไม่ใช่เพราะฉลองยศค่ะ ดิฉันเห็นว่างานหลวงหมู่นี้มีบ่อยอยู่แล้ว ก็เลยขอผัดผ่อนทุกๆ คณะที่แสดงความกรุณาจะเลี้ยงมา คณะที่มาวันนี้มาในเรื่องการกุศล ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างงี้ดีค่ะ ดิฉันอาจจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ก็เชิญนะคะ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงพอทำให้ได้ ก็ยินดีค่ะ”

พูดจบแล้ว ฉอ้อนก็คิดชมตัวเองว่าแสดงบทได้ไม่เลวเลย แล้วจึงเลยเสริม “อยู่รับประทานอาหารกลางวันนะคะ อยากคุยกัน โดยเฉพาะพี่สำรวย” หล่อนเติมจากความเรียกร้องอันแท้จริงในใจของหล่อน

มีเสียงถอนใจจากคนสามสี่คน กังวานของเสียงถอนใจนั้นไม่เหมือนกัน มีคนถอนใจคล้ายกับว่าโล่งอกและมีคนถอนเหมือนกับว่าผิดหวัง คุณนายมธุราหรือ “พี่หวาน” เป็นคนพูด

“พวกเราก็ออกเสียใจเจ้าค่ะ เพราะหวังว่าจะเชิญท่านไปเลี้ยงแสดงความยินดีเหมือนกัน แต่เห็นว่าท่านสนใจเรื่องการกุศลก็เลยหยิบเรื่องนั้นมาพูดก่อน คณะกรรมการเขามอบหมายให้มาเชิญท่าน ในฐานะนักเรียนเก่าในเครือโรงเรียนของเรา ถ้าท่านจะตัดเสียเลย พวกเราที่มานี่ก็ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์เจ้าค่ะ

“โถ ถ้าจะให้สมบูรณ์ก็อยู่รับประทานอาหารกลางวันซิคะ ทีดิฉันชวนไม่เห็นรับเลย” ท่านผู้หญิงพ้อ “ดิฉันก็อยากพบคนที่รู้จักกันมานานตั้งแต่เล็กแต่น้อย แล้วก็ถือว่าเป็นนักเรียนร่วมโรงเรียนหรือร่วมเครือกัน ก็น่าจะรับประทานด้วยกันได้”

แขกทั้งห้าดูหน้ากันค่อนข้างจะเข้าเค้าว่า ล่อกแล่ก คุณนายทศทิศกล่าวในฐานะเป็นหัวหน้าคณะทูต

“ที่จริงท่านกรุณาอย่างนี้ จะไม่รับได้ยังไงเจ้าคะ ถึงมีธุระก็ต้องเลิกหมดใช่ไหมคะ” ประโยคหลังถามผู้ที่มาในคณะของตน

“ไม่รู้ซีคะ ไม่ได้บอกคุณจำลองไว้ แล้วกลางวันวันนี้ต้องไปรับประทานกับคุณปู่คุณย่า” สำรวยพูดด้วยความหนักใจ “แต่ แต่ ถ้าโทรศัพท์ได้ ก็อยู่ได้”

ฉอ้อนยิ้มด้วยความปราโมทย์ โถ พี่สำรวย เวลา ๒๐ กว่าปีนี้ พี่สำรวยไม่เปลี่ยนแปลงไปกับโลกเขาเลย พี่สำรวยมัวแต่เลี้ยงลูกอยู่ที่เรือนกลางสวน ตอนสามีที่เป็นนักโทษการเมืองจะได้รับอิสรภาพ ฉอ้อนเอื้อมมือไปจับแขนสำรวยไว้

“พี่สำรวยไม่อยากเห็นหลานๆ เรอะ มันโตๆ กันเป็นหนุ่มเป็นสาว ประเดี๋ยวฉอเลาะก็คงมา แต่ตาฤทธิ์น่ะอย่าไปหวังเลย หนูเป๊าะไปโรงเรียน ไม่งั้นก็คงได้เห็นเป็นสาวน้อยเท่าๆ ฉันตอนแต่งงาน”

สำรวยตีหน้าไม่ค่อยสนิท ฉอ้อนจำสับสนเสียแล้ว สำรวยไม่เคยสนใจกับลูกของฉอ้อนสักที ทุกคราวที่ฉอ้อนไปที่บ้านอาผ่อง แล้วเลยไปเยี่ยมสำรวย สำรวยก็กำลังมีทุกข์หนักอก กำลังถูกทนายความมาเร่งว่าให้ไปช่วยติดตามพยานสำหรับไปให้การช่วยคุณจำลองบ้าง คุณย่าของคุณจำลองไม่สบาย และสำรวยไม่รู้จะทำอย่างไรกับท่าน เพราะคนใช้เก่าๆ ของท่านล้มหายตายจากไปเสียบ้าง คุณปู่กำลังโกรธใครอยู่ นั่งด่าอยู่ที่ระเบียง ไม่มีใครไปทำให้ท่านหายโกรธบ้าง ลูกของสำรวยกำลังป่วยเป็นไอกรนบ้าง สำรวยไม่เคยสังเกตสักทีว่า ฉอเลาะเป็นเด็กน่ารักอย่างไร ตาฤทธิ์เป็นอย่างไร ลูกคนเล็กๆ ของฉอ้อนชื่ออะไรบ้างสำรวยก็จำไม่ได้

แต่ดูเหมือนดวงตาของทุกคนเพ่งจับอยู่ที่สำรวยด้วยความริษยา ถึงแม้จะไม่ใช่ริษยาที่รุนแรง แต่ก็เป็นความรู้สึกที่บอกแก่สำรวยว่า ถ้าเขาคนใดคนหนึ่งอยู่ในฐานะของสำรวย เขาจะทำอะไร หรือแสดงบทได้ดีกว่าสำรวย สำรวยจึงแข็งใจพูด

“เอาเถอะค่ะ คุณจำลองคงเห็นใจ เขาก็เปรียบเหมือนชาวเมืองเพชรเหมือนกัน”

“ถ้าไม่เป็นชาวเมืองเพชร จะไปได้พี่สำรวยมาอย่างไรล่ะ” ฉอ้อนรู้สึกรื่นเริงกว่าที่เป็นมาหลายวัน แล้วก็ลุกขึ้นทำหน้าที่แม่บ้าน คุณนายศรีเดินตามเข้าไปในห้องรับประทานอาหารเพื่อจะคอยช่วยเหลือทุกอย่างที่อาจช่วยได้ ฉอ้อนชินกับคนที่เต็มใจรับใช้แบบนี้แล้ว จึงออกคำสั่งมอบหมายให้ช่วยดูแลสิ่งนั้นสิ่งนี้เท่าที่จะคิดได้

การรับประทานอาหารมื้อกลางวันในวันนั้น ออกจะทำความผิดหวังแก่ทุกๆ คน ตัวท่านผู้หญิงเองก็ผิดหวังไปบ้าง เพราะฉอ้อนอยากคุยเรื่องชีวิตที่เพชรบุรีในสมัยที่สำรวยกับหล่อนเป็นสาวรุ่นอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อฉอ้อนเท้าความไปถึงเรื่องใด สำรวยก็มักตอบว่า จำไม่ได้เสียแล้ว และเมื่อฉอ้อนพูดถึง “ท่าน” สำรวยกล่าวว่า

“โอ๊ย ไม่ไหว กลัวจะตาย คุณป้ากำยานของคุณจำลอง กลัวกว่าคุณย่าบ้านสวนนี้อีก คุณย่าท่านหลงๆ ลืมๆ แต่ท่านน่ะสังเกตทุกกระเบียดนิ้ว ฉะ อื้อ ธะ อื้อ คณหญิงน่ะเป็นคนโปรด เพราะว่าเก่งทุกอย่าง ทั้งดอกไม้ทั้งกับข้าว”

“จริงนะเจ้าคะ” คุณนายเพียงเดือนสนับสนุน “ท่านทำไมได้ทั้งสองอย่าง ทั้งทางฝรั่งท่านก็เก่ง ทั้งยังรู้เรื่องชาววัง หาได้ยาก ใครๆ เขาแปลกใจกันทั้งนั้น”

ท่านผู้หญิงฉอ้อนชินกับคำชมประเภทนี้ เมื่อ ๗-๘ ปีก่อน เมื่อได้รับคำยกย่องเช่นนี้ ฉอ้อนรู้สึกอายและมีอาการพิรุธวางหน้าไม่สนิท แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีใครชมก็รู้สึกว่าขาดไป เหมือนเพลงที่เอื้อนไม่ครบจังหวะฉิ่งจังหวะกลอง เมื่อรอให้คนอื่นนอกจากคนที่ชมเป็นคนแรกได้เสริมบ้างตามสมควรแล้ว เจ้าของบ้านก็พาการสนทนาไปเรื่องอื่น ทั้งที่สำรวยไม่ได้ให้ความร่วมมือในการรำลึกถึงชีวิตในวัยที่เต็มไปด้วยความสุข แต่ก็ทำให้ได้เรียกอารมณ์ที่บางอารมณ์ออกมาจากที่พยายามเก็บๆ ลืมๆ หรือที่เลือนรางไปออกมาได้ พลางฉอ้อนก็นึกไปด้วยว่า ลูกๆ ของหล่อนจะมีความสุขชนิดใด และเมื่อเติบโตขึ้นจะใคร่เรียกรำลึกความสุขของวัยเด็กออกมาจากความสำนึกส่วนตัวอย่างไร

ระหว่างที่ท่านผู้หญิงและแขกรับประทานของหวาน ฉอเลาะลูกสาวก็กลับมาถึงบ้าน มีห่อและหีบสิ่งของเพื่อบำรุงความสุขสนุกสนานมาด้วยหลายหีบหลายห่อตามเคย หนังสืออ่านเล่น จานเสียง เทปสำหรับบันทึกเสียง รูปถ่ายที่ไปรับมาจากช่าง ผ้าไหมผ้าฝ้ายผ้าปัก ผ้าสำหรับห่มสำหรับตัดเสื้อตัดสะเกิ๊ต หรือเสื้อที่ตัดแล้ว เสื้อที่เอาไปแก้ สะเกิ๊ตที่เพื่อนฝากให้ช่างแก้ และอะไรต่ออะไรจิปาถะ คนขับรถส่งให้คนใช้หน้าบ้าน คนใช้หน้าบ้านส่งให้สาวใช้ประจำตัว สาวใช้หอบขึ้นชั้นบน แล้วกลับวิ่งมารับของบางชิ้นจากนายสาว และบางทีก็กลับวิ่งขึ้นไปชั้นบนใหม่เพื่อจะเอาหีบห่อที่เป็นของเพื่อนแต่หลงขึ้นไปที่ห้อง ซึ่งที่ถูกควรเอาไว้ในรถเพื่อจะได้นำไปให้เพื่อนๆ ต่อไป

“เด็กสมัยนี้มีความสุขกันจริง” คุณหญิงจรัสออกปากเมื่อเห็นหีบห่อของฉอเลาะ ท่านผู้หญิงหันไปจากที่นั่งที่โต๊ะอาหารไปดูลูกสาว และยิ้มกับเจ้าหล่อนด้วยความเอ็นดู “มีที่ไปกันมากมาย มีรถยนต์พาไปประเดี๋ยวถึง ขับเองก็ได้ถ้าไม่มีใครขับให้ เมื่อเราเด็กๆ ช่างผิดกันเหลือเกิน” เสียงคุณหญิงจรัสรำพันนั้นฉอ้อนได้ยินและพลางก็นึกว่า “แต่เมื่อแก่แล้ว หรือเริ่มจะแก่อย่างแม่ ความสุขของฉอเลาะจะเป็นอย่างไร ถึงอย่างไรก็คงสุขกว่าแม่ อย่างนั้นหรือ แม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ขอให้เทวดาอารักษ์ดลบันดาลให้เป็นอย่างที่แม่ปรารถนา”

แน่ละ ความนึกคิดของฉอ้อนไม่ออกเป็นถ้อยคำภาษาเช่นนี้ เพราะความนึกคิดของมนุษย์เร็วกว่าความสามารถเรียบเรียงถ้อยคำในภาษา ระหว่างที่ท่านผู้หญิงแม่คิดเรื่องของหล่อน ฉอเลาะเข้ามาทำความเคารพแขกของคุณแม่อย่างเรียบร้อย เสียงชมลูกสาวตามกันออกมาถ้าเทียบกับคำฉันท์ก็เป็นหลายโศลก ฉอ้อนชำเลืองดูสำรวยอยากรู้ว่าสำรวยจะทักบุตรีว่าอย่างไร และยิ้มด้วยความพอใจและเอ็นดูเมื่อได้ยินสำรวยพูดว่า

“นี่หรือ คุณฉอเลาะ คุณฉอเลาะ วันนั้นที่บ้านเจ้าคุณพระยาสุเรนทรฯ เขาชมกันว่าน่าเอ็นดู น่าเอ็นดู แต่ฉันไม่ได้เห็นถูกเรียกให้ไปทำงานเสีย ออกมาอีกทีคนแน่นหน้าโรงละคร เลยไม่ได้เห็นหน้าเห็นตา” สำรวยหยุดพิศดูฉอเลาะสักครู่หนึ่งแล้วพูดต่อ “ฉันว่าสวยกว่าแม่ รูปร่างเขาโปร่งเหมือนคุณพ่อ ถูกไหม ฉะ อื้อ ท่านคะ”

ฉอ้อนพิศดูบุตรี จริง ฉอเลาะเป็นคนสวยคนหนึ่งและเป็นเด็กที่มีมารยาทดี แม้คนที่ไม่มีความลำเอียงเลยก็จะต้องชมลูกของท่านผู้หญิงฉอ้อนว่าได้รับการอบรมอย่างดีทุกคน แต่วันนี้ มีอะไรในดวงหน้าฉอเลาะ ฉอ้อนสังเกตเห็นแล้วก็สงสัย ฉอเลาะสวยผิดกว่าทุกวัน ดวงตาวาวสุกใส ผิวหน้าเป็นสีชมพูเรื่อ อากัปกิริยามองดูได้จังหวะเหมาะสมไปหมดทุกส่วน ฉอเลาะเป็นคนสวยมากถึงเพียงนี้ แต่มารดาไม่ได้สังเกตมาก่อน หรือว่าอะไรทำให้ฉอเลาะมีความรื่นรมย์ยินดีแปลกจากทุกวัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ