บทที่ ๑๘

นานมาแล้วที่มารดาไม่ได้ให้ความเอาใจใส่แกฉอเลาะ ด้วยเหตุธรรมดาคือหล่อนไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้มารดาต้องขบคิด ฉอเลาะเรียนหนังสือได้อย่างราบรื่น มารดาได้ตั้งใจไว้ว่า ลูกทุกคนจะต้องเรียนให้สูงที่สุดที่ลูกจะเรียนได้และที่กำลังทรัพย์ของพ่อแม่จะให้เรียนได้ ยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาสนับสนุนฉอ้อนในเรื่องนี้ หล่อนไม่ต้องโต้เถียงเรื่องลูกผู้หญิงควรจะเรียนถึงชั้นไหน เรียนหนังสือหรือเรียนแต่การเรือน เหมือนเมื่อครั้งตัวเองยังเป็นรุ่นสาว ฉอเลาะสอบเข้าสถานศึกษาที่มีการแข่งกันมากได้อย่างสะดวก โดยฉอ้อนไม่ต้องวิ่งเต้นติดต่อกับใคร ฉอเลาะได้รับปริญญาในสมัยที่บิดามีอำนาจแล้ว แต่ก็โดยเป็นที่เข้าใจว่าฉอเลาะมีความสามารถสมควรแก่ปริญญา ทำให้ฉอ้อนภาคภูมิใจและเบาใจ เมื่อได้ปริญญาแล้ว ฉอเลาะก็บำเพ็ญตนเป็นลูกว่าง่ายคือไม่ดิ้นรนที่จะหางานทำในราชการหรือตามห้างร้านบริษัทใด ในเมื่อคุณพ่อเห็นว่า หน้าที่ของฉอเลาะคือการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางสังคมของคุณแม่ ซึ่งนับวันมีแต่ทับถมเข้ามา ฉอเลาะเป็นเลขานุการของคุณแม่กลายๆ ซึ่งฉอเลาะปฏิบัติโดยไม่รังเกียจ นอกจากนั้นยังได้ช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่เพื่อนร่วมงานของคุณแม่ ได้แก่ภรรยาข้าราชการที่เป็นกรรมการสมาคมนั้นนี้ เพราะฉอเลาะสามารถทำความสับสนบางอย่างให้แจ่มแจ้งได้ และทำให้ความอากูลบางอย่างเข้าระเบียบเรียบร้อย ฉอเลาะได้รับความขอบใจจาก “คุณป้า” “คุณน้า” เหล่านั้นมาก คำที่ฉอ้อนได้ยินคนกล่าวถึงบุตรี จึงมักเป็นคำชมโดยมาก

คำชมฉอเลาะ ฉอ้อนได้ยินจนเป็นเรื่องปรกติ “คุณฉอเลาะนี่ ไม่รู้ท่านเลี้ยงของท่านยังไงถึงได้ดี๊ดีอย่างงี้” บางคนก็ชมว่า “คุณฉอเลาะนี่สวยน่ารักทั้งกิริยาวาจา” เป็นการยากสำหรับท่านผู้หญิงฉอ้อนที่จะระลึกคำของสามีไว้เสมอ ว่าในเวลาที่มีอำนาจวาสนา คำยกย่องอาจมาจากใจจริงบ้างไม่จริงบ้าง ทุกคราวที่ฉอ้อนพิจารณาดูลูกหญิงคนใหญ่ พยายามเพ่งเล็งอย่างใจเป็นอเบกขา ก็ไม่แลเห็นว่าฉอเลาะมีข้อควรตำหนิอย่างใด ว่าถึงรูปสมบัติ ฉอเลาะอยูให้ขั้นที่หญิงจำนวนมากมีสิทธิ์จะอิจฉา ฉอเลาะรูปโปร่งเหมือนบิดา ดวงหน้าประพิมพ์ประพายคล้ายมารดาและบิดาปนกัน ท่านผู้หญิงมารดาเป็นคนร่างเล็ก เครื่องหน้าก็ไปข้างกระจุ๋มกระจิ๋ม แต่ฉอเลาะมีดวงหน้าเปิดเผย ดวงตาแจ่มใส ผิวหน้าก็ขาวนวล จะมีสิวบ้างก็นานทีปีครั้ง การแต่งกายไม่ล้ำสมัยหรือล้าสมัย ในด้านจิตใจ ฉอเลาะเป็นคนโอบอ้อมอารี กับผู้น้อยเช่นน้องๆ และคนในบ้านฉอเลาะก็ไม่ค่อยจะทำอำนาจเคี่ยวเข็ญ หรือโกรธเกรี้ยว ต่อผู้ใหญ่ฉอเลาะเป็นหญิงสาวที่มีสัมมาคารวะ ฉะนั้นคำชมเชยทั้งหลายที่ฉอเลาะได้รับ ฉอ้อนอดไม่ได้ที่จะเชื่อว่าลูกของหล่อนควรได้รับจริง ๆ

ฉอ้อนจำเป็นต้องเอาใจใส่กับหนูเป๊าะมากกว่าลูกคนอื่นๆ ในระยะสองสามปีมานี้ หนูเป๊าะเติบโตเข้าวัยรุ่นในสมัยที่บิดามีอำนาจ มีคนแวดล้อมยกย่องหนูเป๊าะให้แปลกไปจากเด็กอื่นๆ หนูเป๊าะต้องฝ่ามรสุมของเด็กวันรุ่นที่อยู่ในฐานะเช่นนั้น คือเพื่อนคอยเพ่งเล็งว่าจะทำตนเหมาะสมแก่ฐานะอย่างไร เพื่อนในวัยของหนูเป๊าะยังไม่มีสติยับยั้งเหมือนเพื่อนของฉอเลาะ หลายครั้งที่ฉอ้อนต้องนั่งชี้แจงปลอบโยนหนูเป๊าะ เพราะถูกเพื่อนกระทบกระเทือบเปรียบเปรยว่าเป็นลูกคนมีอำนาจ ซึ่งหนูเป๊าะถือเป็นการกระเทือนใจมาก ฉอ้อนต้องชี้แจงให้หนูเป๊าะเข้าใจว่า ที่จริงหนูเป๊าะไม่ผิดแผกจากคนอื่น คุณพ่อเป็นผู้รักษาความสงบให้บ้านเมืองในยามวิกฤต เพื่อนๆ ของหนูเป๊าะก็มิได้มีเจตนาจะรังเกียจ หรือจะแยกหนูเป๊าะออกไปจากหมู่จากเหล่า ฉอ้อนต้องใช้วิธีการที่จะให้หนูเป๊าะเกิดความมั่นใจในข้อนี้หลายอย่างหลายประการ วิธีหนึ่งก็คือ เชิญพวกเพื่อนๆ ร่วมชั้นของหนูเป๊าะไปเที่ยวด้วยกันที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง หรือมิฉะนั้นก็เชิญมาให้กินให้เล่นที่บ้าน ในบรรดาเพื่อนของหนูเป๊าะ มีเด็กที่เป็นบุตรหลานของข้าราชการที่ฉอ้อนรู้จักหลายคน บิดามารดาของเด็กเหล่านั้นก็สนับสนุน หนูเป๊าะดูออกจะมีความสบายใจขึ้นเพราะมีเพื่อนแวดล้อมอยู่เป็นนิจ ในเรื่องความห่วงใยหนูเป๊าะนี้ มีคนๆ เดียวที่ตำหนิฉอ้อนว่าทำไม่ถูกคือตากลอง ก่อนที่กลองจะจากไปศึกษาต่างประเทศ กลองเคยกำชับมารดาครั้งหนึ่ง

“แม่ทำห่วง ช่วยเหลือเป๊าะอย่างโน้นอย่างนี้ ระวังจะเสียเด็ก เป๊าะควรจะได้ต่อสู้อะไรต่ออะไรเอง ขืนอย่างนี้ วันหนึ่งไม่มีพ่อแม่คอยประคับประคองมิแย่หรือ”

ฉอ้อนรู้สึกอยู่เสมอว่า ตากลองเป็นเด็กที่มีความคิดเกินวัย กลองสนิทสนมกับน้าชาย คือเฌอมากกว่าลูกคนอื่นๆ คำพูดของกลองจึงทำให้ฉอ้อนได้สติบ้าง ฉอ้อนคอยดูแลให้หนูเป๊าะทำการงานต่างๆ ที่เป็นส่วนตัวด้วยตนเองมากขึ้น เช่นเมื่อหนูเป๊าะเชิญเพื่อนมารับประทานอาหารที่บ้าน หนูเป๊าะก็จะต้องเข้าครัวทำอาหารบางอย่างเอง ได้ฝึกวิชาการเรือนไปด้วยในตัว

แต่ฉอเลาะเป็นคนช่วยเหลือแม่มากกว่าที่แม่จะได้ช่วยเหลือลูก ฉอ้อนมีความรู้สึกนับถือคนที่ได้เล่าเรียนอยู่แล้ว ถึงแม้สุภาณี เพื่อนภรรยานายทหารคนหนึ่งจะได้ทำให้ผิดหวัง เพราะเขามีรายได้จากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นคนมีปริญญา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเขาได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ฉอ้อนได้พบผู้ที่มีความรู้ ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศอีกมาก รู้สึกว่าเขาเหล่านั้นล้วนมีความมั่นใจในตนเอง จะกล่าวถ้อยคำในเรื่องใดก็กล่าวอย่างมีหลัก ซึ่งไม่ค่อยจะมีใครจะโต้เถียงให้เขาแพ้ได้ ฉอ้อนจึงรู้สึกนับถือลูกสาวคนใหญ่ เชื่อถือในความคิดเห็นและถ้อยคำอยู่มาก แต่ในวันนี้ วันที่ได้พบสำรวย เหมเสนา เพื่อนเก่าตั้งแต่เป็นเด็กรุ่นที่อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีด้วยกัน ฉอ้อนเกิดระลึกขึ้นมาถึงฉอเลาะเมื่อคราวยังเป็นเด็กอ่อน ฉอ้อนอุ้มเอาไปนอนเล่นที่บ้าน “ท่าน” และคุณแจ๋วก็มาเล่นกับฉอเลาะอย่างเพลิดเพลิน ฉอ้อนจึงนึกถึงฉอเลาะในฐานะของเด็กน้อยลูกคนแรกของหล่อน และเมื่อสังเกตว่ามีอะไรในสีหน้าและแววตาของฉอเลาะแตกต่างกว่าทุกๆ วัน ฉอ้อนก็เกิดความห่วงใยขึ้นมาทันที และรอหาโอกาสที่จะถามอยู่

เมื่อแขกที่ร่วมรับประทานอาหารลากลับไปหมดแล้ว แม่ลูกสองคนก็นั่งพักที่ห้องรับแขกเล็ก ซึ่งเป็นอย่างสมัยใหม่ มีตู้สำหรับเก็บภาชนะงามๆ เป็นเครื่องกั้นและแบ่งห้องนั้นจากห้องอาหาร ซึ่งช่องทะลุบางส่วนของตู้ทำให้คนที่นั่งในห้องรับแขก มองเห็นโต๊ะเก้าอี้ไม้สักอย่างดี ฉลุฉลักอย่างงามและบุด้วยวัสดุราคาแพง คุณนายศรียังคงนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร มีนิตยสารภาพฉบับหนึ่งเปิดวางอยู่ตรงหน้า คนใช้ได้ยกถ้วยชาที่ใช้ในการบริโภคไปหมดแล้ว คุณนายศรียังคงนั่งอยู่ มิใช่เพราะไม่มีผู้เชิญให้เข้าไปนั่งในห้องรับแขก แต่เพราะเจ้าของบ้านได้พยายามใช้วาทศิลป์จนหมดความสามารถแล้ว ให้คุณนายศรีลาไปจากบ้าน แต่คุณนายศรีเป็น แขก หรือ ผู้แปลก ชนิดที่ไม่ยอมไปจากบ้านของท่านรองวิทูรง่ายๆ ที่จริงทั้งท่านผู้หญิงและบุตรีเคยชินกับ ผู้แปลก ชนิดนี้แล้ว การใช้วาทศิลป์นั้นต้องใช้ไปตามระเบียบ คือพูดหมายความว่าให้ลาไปโดยไม่ให้ผู้ฟังเข้าใจว่าเชิญให้ไป แล้วก็ไม่สำเร็จ ผู้แปลกแบบคุณนายศรี มีความสามารถที่จะหาที่หลบตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง จนกว่าจะได้ยินว่าตัวจะมีบทบาทรับใช้ท่านผู้หญิงเขาจะออกมาเสนอขอรับใช้อย่างทันท่วงที ผู้แปลกชนิดนี้มีผลัดกันมาคนหนึ่งบ้างสองคนบ้าง เป็นระยะๆ แล้วก็จะค่อยห่างหายไป โดยสิ่งที่เขาปรารถนาเขาก็ได้รับคือสามีของเขาก็จะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง หรือได้มีโอกาสทำธุรกิจที่เขาใคร่จะได้ทำ ฉอ้อนเคยถามท่านสามีของหล่อนว่าได้ไห้ความช่วยเหลือไปอย่างใด ก็มักจะได้รับคำตอบว่า “ไม่ได้ทำอะไรสักที เขาได้ของเขาไปเอง” พร้อมกันนั้นท่านสามีมักจะเสริมว่า “น้องอย่าตั้งปัญหาให้มันยุ่งเลย ใครเขาอยากมารับใช้ก็ให้เขารับใช้ไป เราไม่ได้ไปเรียกร้องให้มา”

ฉอ้อนมองดูฉอเลาะนั่งพลิกนิตยสารฉบับหนึ่ง ดูภาพสวยๆ ในนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจนัก หล่อนรู้สึกรักลูกขึ้นมาจับใจ คำถามหลายคำถามแล่นขึ้นมาในสมอง แต่ไม่รู้จะเลือกคำถามใดขึ้นถามก่อน พลางก็คิดไปด้วยว่า จะทำตนให้สบายอย่างเต็มที่ คือชวนลูกสาวไปหาที่นั่งด้วยกันที่ไหน ที่ผู้แปลก จะไม่อาจเข้าไปใกล้ จะดีหรือไม่ ก็พอดีฉอเลาะเป็นผู้ตั้งคำถามขึ้น

“แม่จ๊ะ คุณพ่อเคยพูดยังไงบ้างเรื่องว่าลูกจะต้องแต่งงานกับใครอย่างไร”

ฉอ้อนใจหายวาบ สิ่งที่หล่อนหวังไปด้วยกลัวไปด้วยกำลังจะมาถึงอยู่แล้วหรือนี่ มีคนขอฉอเลาะแต่งงานแล้ว และฉอ้อนก็ไม่ฉลาดเหมือนมารดาทั้งหลาย คือถามออกไปว่า

“ใครขอหนูแต่งงานจ๊ะ”

“แหม แม่ พอหนูถาม ยังไม่ทันไร ก็ถามว่าใครขอแต่งงาน แม่อยากให้หนูพ้นอกไปเร็วๆ หรือจ๊ะ” ฉอเลาะกล่าวคำที่เหมาะแก่ชื่อของหล่อน ตั้งแต่เล็กมาเป็นเด็กช่างพ้อช่างประจบ จึงถูกขนานนามดังที่ติดปากคนอยู่นี้

“ถ้าเอาใจแม่” ท่านผู้หญิงมารดายังคงไม่ฉลาดต่อไป “แม่อยากเก็บหนูไว้กับแม่จนตาย แต่แม่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แม่ก็ภาวนาขอให้หนูได้คนดีที่สุด”

“แม่ล่ะจ๊ะ แม่ได้คนดีที่สุดหรือเปล่า” ลูกสาวย้อนถาม

ฉอ้อนเหลือบไปทางที่คุณนายศรีนั่ง กะว่าเสียงที่ลูกพูดกับตนไม่ดังไปถึงโสตประสาทของ ผู้แปลก ได้ และการที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนที่นั่ง ก็จะทำให้อารมณ์ของฉอเลาะที่จะพูดจากับมารดาเปลี่ยนไปด้วย จึงตอบลูกสาวด้วยเสียงธรรมดาแต่ค่อนไปข้างเบา

“คนเราจะเอาให้ได้ดังใจทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่ได้กระมังจ๊ะ แต่ถ้าคนอื่นเขาก็คงว่าแม่เป็นคนมีบุญที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย” กล่าวแล้วทันทีความคิดก็แล่นไปเสียไกล ลูกสาวสังเกตว่ามารดามีใจล่องลอยไป จึงกล่าว

“แล้วตัวแม่ล่ะจ๊ะ แม่ว่าแม่มีบุญที่สุดหรือเปล่า อย่างวันหลังจากที่แม่ได้เป็นท่านผู้หญิง แม่ก็หนีไปนอนบ้านอาผ่อง แปลว่าแม่เบื่อหรืออะไรจ๊ะ”

“ก็ไม่ใช่เบื่อหรอกลูก แต่เห็นจะเหนื่อย น้าเฌอเขาว่าประสาทมันล้า มารดาตอบ “แล้วแม่รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเอง เหมือนเล่นละครให้ใครเขาดู ที่งานที่บ้านท่านเจ้าพระยา แม่ยังเรียนท่านผู้หญิงท่านว่าแม่รู้สึกเหมือนเล่นละคร ท่านว่าท่านก็เคยรู้สึกอย่างนั้น แล้วก็ค่อยๆ ชินไป” เกือบจะพูดอะไรในใจให้ลูกฟังต่อไปแต่ระลึกขึ้นมาได้ว่า ต้องการรู้เรื่องของลูกมากกว่า จึงรีบเตือน

“แต่ว่าเมื่อกี๋ ลูกกำลังถามอะไร ว่าคุณพ่อว่ายังไงนะจ๊ะ”

“หนูถามว่า คุณพ่อเคยพูดอะไรกับแม่ไหมเรื่องการแต่งงานของหนู จะต้องแต่งกับคนชนิดไหน อะไรอย่างนี้”

คราวนี้มารดาเรียกสติได้ พยายามตอบเพื่อป้องกันความขัดแย้งในครอบครัวตามสัญชาตญาณของแม่

“คุณพ่อไม่เคยพูดลงไปยังไงแน่ แต่พอเดาได้ว่ามีความรู้สึกไปทางไหน คุณพ่อคงไม่พอใจถ้าหนูไปรักคนไม่รู้จักผิดชอบ ดีแต่เที่ยวเล่น การงานไม่เอา ซึ่งแม่ว่าหนูเองคงไม่ชอบเหมือนกัน แล้วก็มีเรื่องการเมือง ถ้าเขาเป็นเชื้อสายศัตรูของคุณพ่อ หนูก็ต้องเข้าใจว่าคุณพ่อคงไม่พอใจแน่ อีกอย่างหนึ่งก็สมัยนี้ ชักจะมีผู้หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่ง คุณพ่อคงไม่ชอบเหมือนกัน แม่ก็ไม่ชอบ”

“ถ้าหนูจะแต่งงานกับคนจนล่ะแม่ จ๊นจน” ฉอเลาะทำเสียงหวานและยิ้มเหมือนพอใจอะไรสักอย่าง

“เอ คุณพ่อคงไม่ค่อยว่ายังไงเรื่องมีเรื่องจน สำคัญที่ตัวเขาเป็นยังไง หนูไปพบใครหรือจ๊ะ”

“โธ่ แม่ ทำไมต้องถามอย่างนี้ล่ะจ๊ะ หนูจะขอรู้อะไรไว้เผื่อจะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดใจอย่างนั้นไม่ได้หรือ” ฉอเลาะว่า

“เออ ลูกชายคุณหลวงสุรพล แม่เห็นเที่ยวไปไหนๆ ด้วยกัน เขาชอบลูกสักแค่ไหน”

“แหม แม่” ฉอเลาะมีสีหน้าแดงเรื่อขึ้นแล้วก็กลับวางหน้าเป็นปรกติ “แม่อย่าคิดอะไรให้มากเกินไปได้ไหมจ๊ะ ไม่งั้นหนูก็แย่ จะคบค้ากับใครก็ต้องคอยห่วงว่าเขาจะชอบเราไปถึงแค่ไหน แม่จะห่วงไหม อะไรยังงี้”

“อ๋อ” ฉอ้อนอุทานด้วยความประหลาดใจจริงๆ “แม่ขอโทษเถอะจ้ะ แต่แม่นึกว่าแม่มีสิทธิ์ที่จะห่วงที่จะถาม”

“หนูคิดว่าแม่จะเป็นแม่ยิ่งกว่าที่ใครๆ เขาเป็นกัน” ฉอเลาะพูดวางหน้าครึ่งกระดากครึ่งภูมิใจในคำพูดของตนเอง “หนูว่าแม่เป็นคนเก่งกว่าใครๆ นะจ๊ะ อย่างเรื่องกับคุณพ่อยังงี้ . . .” ทันใดฉอเลาะหยุดนิ่ง ทำให้หัวใจฉอ้อนแทบหยุดตามไปด้วย และไม่ฉลาดเท่าที่ลูกยกย่องเพราะฉอ้อนถามออกไปทันที

“คุณพ่อ เป็นยังไง หนูไปได้ยินอะไรมา”

“เอาอีกละ” ฉอเลาะ “ดุ” มารดาเป็นครั้งที่เท่าใดฉอ้อนจำไม่ได้ “หนูจะไปได้ยินอะไรที่ไหนจ๊ะ ใครเขาจะมาว่าคุณพ่อให้หนูฟัง ก็มีหนังสือพิมพ์เสียดสีอย่างทุกๆ วันหาว่าร่ำรวย หาว่าอะไรต่ออะไร”

ฉอ้อนยังไม่ฉลาดขึ้นในการติดต่อทำความสัมพันธ์กับความคิดนึกของลูก ยังคงเป็นแม่อย่างธรรมดาที่สตรีทั้งหลายเป็นกัน

“แล้วหนูเชื่อหรือเปล่า” หล่อนถาม

“โธ่ แม่ หนูไม่เชื่อหรอกจ้ะ” ฉอเลาะตอบเหมือนไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย หล่อนไม่สามารถล่วงรู้ว่าหัวใจของมารดา เริ่มเต้นเร็วกว่าปรกติไปเท่าใด “ก็แม่บอกหนูว่าแม่กับคุณพ่อค้าขายมาตั้งแต่อยู่เมืองเหนือ แล้วก็เกิดหนุนพูนเข้าเรื่อยมา แต่คุณพ่อมามีอำนาจ ใครๆ เขาก็เลยไม่ค่อยเชื่อ”

“ใครๆ เขาก็ไม่ค่อยเชื่อ แม่เองก็ ก็ ไม่รู้ว่าแม่เชื่อแค่ไหนหรอกลูกเอ๋ย” มีเสียงแว่วที่หูฉอ้อน จะเป็นเสียงผีหรือเสียงเทวดาก็ไม่มีใครจะบอกได้ แล้วเสียงแว่วนั้นก็แปรรูปออกเป็นวาจาของฉอ้อนว่า “ใครๆ เขาไม่เชื่อก็ช่างเถิด แต่ถ้าลูกเชื่อคุณพ่อก็คงสบายใจ” แล้วฉอ้อนก็ภาวนาต่อไปในใจ “แม่ขอให้ลูกเชื่อ ลูกต้องเชื่อ ลูกต้องเชื่อ” แล้วก็พูดต่อไปอีก “ตามธรรมดาของคนมีอำนาจก็ต้องมีศัตรู มีอยู่ในหนังสือโบราณกล่าวไว้ นักปราชญ์โบราณท่านมีความคิดลึกซึ้งไม่ใช่เล่นนะลูก อำนาจวัดได้ด้วยจำนวนศัตรู ที่จริงคุณพ่อน่ะก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายอะไร เป็นแต่ว่าราชการหลายตำแหน่งเพราะท่านผู้ใหญ่ท่านไม่ค่อยไว้ใจใคร ท่านให้คุณพ่อไปเที่ยวคุมที่โน่นที่นี่ เป็นหูเป็นตา แต่ดูภายนอกก็เหมือนว่าคุณพ่อจะสั่งอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แต่บ้านเมืองเขามีขื่อมีแป คุณพ่อจะไปทำอะไรตามใจอย่างไรได้ แต่พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนท่านยังทำตามพระทัยท่านไม่ได้ทุกทีไป”

ระหว่างที่มารดาพูด ฉอเลาะมองจับจ้องอยู่ที่หน้ามารดาประเดี๋ยวหนึ่ง อีกประเดี่ยวหนึ่งก็มองไปทางอื่นเหมือนกับไม่อยากจะเห็นหน้า เมื่อมารดาพูดจบแล้วฉอเลาะก็ถามขึ้น

“แม่จ๊ะ ที่แม่พูดนี่แม่กลัวหนูจะลืมตัวหรือเปล่าจ๊ะ หนูไม่ลืมหรอกจ้ะ หนูไม่ได้คิดว่าคุณพ่อมีอำนาจเหลือเกินอย่างไร แล้วหนูก็มีหูมีตา ใครเขาจะพูดอะไรบ้างหนูก็ได้ยิน หนูก็ได้เห็น”

ฉอเลาะพูดยังไม่ทันจบดี ฉอ้อนก็รีบพูดขึ้นเหมือนกลัวตัวเองจะลืมเสีย “แต่เมื่อกี๋ หนูว่าแม่เก่ง เก่งกับคุณพ่อหรืออะไรยังงั้น แม่ยังไม่ทันถามเลยว่าหนูหมายถึงอะไร”

“เออ” ฉอเลาะระบายลมหายใจยาว “หนู หนู เอ้อ เอ้อ หนูว่าแม่ทำตัวเหมาะสมจ้ะ” ฉอเลาะกล่าวเหมือนคนที่เพิ่งคิดหาคำพูดได้ ทำให้ฉอ้อนหัวเราะคิกขึ้นทันที

“เออ” หล่อนอุทานอย่างเดียวกับลูกสาว แต่ความหมายไม่เหมือนกัน “สมัยนี้ ลูกเขาชมแม่เขาเข้าที” แล้วฉอ้อนและฉอเลาะต่างคนต่างก็เกิดความกระดากที่จะโต้ตอบกันต่อไป จึงกลายเป็นนิ่งไปทั้งแม่ลูกอยู่หลายวินาที ทั้งสองแก้กระดากโดยหยิบหนังสือพิมพ์ที่เรี่ยรายอยู่ตามเก้าอี้และโต๊ะเตี้ยสำหรับวางของเบ็ดเตล็ดมาพลิกไปมา แล้วความคิดของท่านผู้หญิงก็ชักจะล่องลอยไปไกลเสียอีก แล้วก็เรียกสติกลับมาได้อีก ถามลูกว่า “แม่ยังอยากรู้ว่าหนูเห็นแม่ทำกับคุณพ่อเป็นยังไง หนูสังเกตคุณพ่อว่า ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปหรือจ๊ะ”

ฉอเลาะระบายลมหายใจอย่างเบา แล้วตอบอย่างระมัดระวังถ้อยคำ “ก็ไม่มีอะไรจ้ะ แต่หนูเห็นว่า แม่ทำตัวเป็นภรรยาที่ไม่จุกจิก ไม่ตอแยถามคุณพ่อว่าไปไหน มาไหน หนูว่าแม่เก่งตอนนี้ละจ้ะ”

“มันช่างแก่แดด เด็กสมัยนี้ ราวกับมันมีหน้าที่สอนพ่อแม่” ฉอ้อนนึกในใจอย่างภาคภูมิ หาใช่ด้วยความขัดเคืองลูกไม่ แล้วกล่าวออกเป็นวาจา “ถ้าหนูแต่งงานหนูจะทำตามแม่อย่างนี้ไหมล่ะจ๊ะ”

“ถ้าหนูแต่งงาน” ฉอเลาะทวนคำช้าๆ เหมือนตรึกตรองอะไรอยู่ “แม่จ๊ะ อย่าเพ่อพูดเรื่องแต่งงานเลย วันเสาร์นี้หนูชวนเพื่อนๆ มากินอะไรๆ กัน เล่นแบดมินตัน แม่ไม่มีงานอะไรไม่ใช่รึจ๊ะ เพื่อนโดยมากเป็นผู้หญิง แต่มีผู้ชายสองสามคน มีคุณชาญชิตคนหนึ่งละ แม่รู้จักดีแล้ว แต่มีแปลกหน้ามาใหม่สองคน คนหนึ่งเป็นเพื่อนตาฤทธิ์ ชื่อนนที ลูกเจ้าคุณวิชยนาวินไงจ๊ะ แล้วอีกคนหนึ่งเป็นญาติกับคุณอร ที่พิสุทธิ์เขาจะแต่งงานด้วย เขาชื่อไกร นามสกุลอะไรหนูก็ลืมถามไป” ระหว่างที่ฉอเลาะพูด ฉอ้อนจับตาดู สังเกตว่าฉอเลาะพยายามรักษาสีหน้าให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติจนผิดปรกติ ทำให้ฉอ้อนสนใจในชายสองคนที่ฉอเลาะบอกชื่อจนลืมเรื่องของตัวเองเสีย

“เอาซีจ๊ะ หนูไม่ได้เชิญเพื่อนมานานแล้ว มีแต่เพื่อนหนูเป๊าะ” ฉอ้อนรีบสนับสนุนทันที ทั้งที่ฉอเลาะก็ได้บอกเชิญไปแล้ว เพราะฉอเลาะย่อมทราบดีกว่าหล่อนเสียอีกว่า วันไหนจะว่างหรือไม่ว่าง ที่บ้านจะมีงานเลี้ยงอะไรหรือไม่ เมื่อหล่อนกล่าวออกไปแล้ว ก็นิ่งอยู่ เพื่อให้โอกาสฉอเลาะแสดงความรู้สึกออกมาให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนฉอเลาะจะมีอะไรอยู่ในใจมากกว่าเรื่องที่จะเลี้ยงเพื่อน จึงนิ่งไปและระหว่างที่ใช้ความคิดก็ใช้มือพลิกหนังสือพิมพ์ไปมาแก้เก้อตนเอง ฉอ้อนสำนึกได้ว่าฉอเลาะกับหล่อนไม่ค่อยได้พูดจาแลกเปลี่ยนความเห็นกันมาก ก็เพราะทั้งสองคนต่างมีความกระดากในการที่จะเอาความรู้สึกออกมาตีแผ่ หล่อนพยายามข่มความกระดากนั้นเพราะเริ่มรู้ว่าธรรมดาแม่กับลูกหญิง เมื่อวัยใกล้กันเข้ามา ควรจะทำตนเป็นเพื่อนคุยเพื่อนสนทนากันให้มากขึ้น นึกหาเรื่องที่จะพูดกับฉอเลาะต่อไป เพราะนานๆ จึงจะมีโอกาสอยู่ด้วยกันเงียบๆ เช่นนี้ ถึงจะมีคุณนายศรีอยู่ในที่ใกล้ๆ แต่ก็พอจะพูดกันเบาๆ ไม่ถึงต้องกระซิบ ระหว่างที่ฉอ้อนคิดเพลิน เห็นฉอเลาะชะเง้อขึ้นดูว่าคุณนายศรีคงอยู่ที่เดิมหรือลุกไปแล้ว ฉอ้อนจึงพูดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้นิ่งกันนานเกินไป

“เออ ตาฤทธิ์ วันนี้เขาบอกใครไว้หรือเปล่าว่าจะกินข้าวเย็นที่บ้านหรือที่ไหน เดี๋ยวก็จะมาเอะอะว่าข้าวที่บ้านกินไม่เข้าให้แม่รวงแกน้อยอกน้อยใจอีก”

ฉอเลาะถอนใจออกมาทันที พอได้ยินเอ่ยชื่อน้องชาย ฉอ้อนรีบถามทันทีเหมือนกัน

“เป็นไงจ๊ะ พอแม่เอ่ยชื่อน้อง หนูถอนใจ มีอะไรหรือจ๊ะ”

ฉอเลาะถอนใจอีกครั้งหนึ่ง โดยพยายามจะให้เบาแต่ก็ฟังชัดพอใช้ “หนูจะพูด แม่ก็จะเอาไปเป็นทุกข์ แล้วประเดี๋ยวไปโวยวายกับตาฤทธิ์ เขาจะว่าหนูมาฟ้องแม่ก็ได้” ฉอเลาะบอกเมื่อได้อ้ำอึ้งอยู่หลายระยะลมหายใจ

“โธ่ ลูก” ฉอ้อนพ้อบ้าง “หนูทำไมพูดราวกับแม่เป็นคนไม่มีสติ ก็หนูจะบอกว่าที่หนูจะพูดนี้ แม่อย่าเพ่อไปพูดกับน้อง แม่ก็คงจะฟังไม่ใช่หรือจ้ะ แล้วหนูเป็นพี่ หนูเห็นอะไรผิดสังเกตเรื่องน้อง หนูจะพูดกับแม่ น้องจะว่าหนูฟ้องไม่ได้ หนูต้องบอกแม่ ไม่ยังงั้นแม่ก็งม ไม่ต้องรู้อะไรเรื่องลูกๆ เพราะหนูก็พลอยไม่ให้แม่รู้ไปด้วย”

ฉอเลาะก้มหน้าอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง กิริยานั้นทำให้ฉอ้อนรู้สึกใจหายด้วยความเอ็นดูลูกสาวใหญ่อย่างที่หล่อนอธิบายไม่ได้ กิริยาของฉอเลาะแสดงถึงคนมีสติ แสดงถึงความมีปัญญา ซึ่งก็คงจะเป็นอคติของมารดาช่วยแปลให้แล้วฉอเลาะก็กล่าวแก่มารดา

“แม่จ๊ะ ตาฤทธิ์นี่นะจ๊ะ มีอะไรไม่เหมือนหนูอยู่หลายอย่าง ทำให้หนูรู้สึกยังไงไม่รู้จ้ะ ตาฤทธิ์ชอบอวดว่าเป็นลูกคุณพ่อ เมื่อกี้ที่แม่พูดกับหนูเรื่องคุณพ่อไม่ได้มีอำนาจ หนูคิดถึงตลอดเวลาว่าจะบอกแม่เรื่องตาฤทธิ์ดีหรือไม่ดี ตาฤทธิ์ชอบทำใหญ่โต พูดจาไม่เกรงใจใครแบบเดียวกับที่คุณพ่อพูดกับเพื่อนนายทหาร แต่ตาฤทธิ์ทำกับคนอื่นที่เขาไม่ใช่นายทหารด้วยจ้ะ แล้วก็ แล้วก็หนูหนักใจเรื่องนี้ยิ่งกว่าอะไรหมด ตาฤทธิ์ทำท่าเหมือนกับว่าจะไปชอบใจคนที่เขามีสามีแล้ว แม่เคยพบ เขาเคยมาบ้านนี้เหมือนกัน แต่แม่คงจำไม่ได้ เดิมเขานามสกุลโกศลทัต แต่เดี๋ยวนี้เขาใช้นามสกุล ณ บ้านหลวง”

“เขาชื่ออะไร สามีเขาเป็นใคร” ฉอ้อนยั้งไม่ทัน ความเป็นแม่ทำให้รอไม่ไหว กลัวฉอเลาะจะไม่บอกให้ตลอดเรื่อง

“ตัวเขาชื่อเฉิดฉัน อ้อ ที่บ้านท่านเจ้าพระยาวันนั้นก็พบ แต่วันนั้นตาฤทธิ์ไม่อยู่ไปราชการเสีย สามีเขาชื่อ วรชาติ ทำงานกระทรวงคมนาคม สามีดูหมือนจะไม่รวย เห็นขี่รถไม่ใช่รถใหม่ แปลว่าไม่มีแม้เงินผ่อน”

“โถสมัยแม่เป็นสาว ไม่เคยคิดเรื่องรถยนต์เก่าใหม่เลยนะลูก” ฉอ้อนรำพัน “สมัยนี้ช่างหรูกันเสียจริงพอเป็นหนุ่มเป็นสาวก็จะให้ได้เหมือนพ่อเหมือนแม่ ตอนตาฤทธิ์จะซื้อรถยนต์ แม่ก็ยังนึกเหมือนกัน”

“แล้วก็ไม่ทันต้องซื้อ ก็มีคนให้ ตาฤทธิ์ถึงเสียเด็ก” ฉอเลาะว่า “ทำไมคุณพ่อถึงยอมรับก็ไม่รู้ จะปฏิเสธไม่ได้รึจ๊ะ”

“นี่และลูก มันยาก คุณพ่อก็ว่า คุณพ่อเคยทำบุญคุณให้นายคนที่เขาเอามาให้ ก็น้องชายนายโก คนเก่าของเราตั้งแต่อยู่ลำปาง ไม่รับเขาก็เสียใจว่าไม่ให้โอกาสเขาฉลองพระเดชพระคุณ ใครเขาว่าอะไรอีกบ้างลูก”

“ฮื่อ ใครเขาจะมาว่ากับหนู” ฉอเลาะทำเสียงเหมือนเยาะกลายๆ “หนูก็ไม่มีโอกาสจะพูดกับคุณพ่อ คุณพ่อไม่เคยมีเวลาให้ลูกๆ ได้คุยได้ถามอะไรกัน นี่จ๊ะ เคยพูดกับตาฤทธิ์ ไม่มีทางเข้าใจกันเลยจ้ะ เขาบอกว่าหนูอยู่ในกะลาครอบ ไม่เหมือนคนเคยไปเมืองนอกเมืองนา ลูกฝรั่งกรรมกรเขาก็มีรถขี่กัน นี่ลูกคนใหญ่คนโตเมืองไทย จะให้ขึ้นรถเมล์ห้อยโหนรึ แล้วเขาก็ย้อนว่า ว่ารถของแม่หนูก็ใช้เสียคนเดียวก็แย่แล้ว เขามิต้องมานั่งรอหนูแย่หรือ แต่ช่างเถอะเรื่องรถ มันแล้วไปแล้ว แต่เรื่องไปติดเฉิดฉัน หนูไม่เข้าใจเลย หนูคิดว่าเขาจะไปติดเล่นโก้ๆ เต่เมื่อวานนี้ ได้ยินเหมือนว่า เฉิดฉันจะหย่ากับสามีมาแต่งงานกับตาฤทธิ์ หนูก็เลยหาโอกาสบอกแม่ เผื่อแม่จะพูดอะไรกับเขาได้ แต่แม่อย่าเอาเป็นจริงเป็นจังนะจ๊ะ ถ้าเรื่องไม่จริงไม่จัง ตาฤทธิ์มาโกรธหนูตาย”

“โถ ตาฤทธิ์” ฉอ้อนรำพันแก่ตนเองในใจ “ลูกไปรักพวกโกศลทัต แม่จะต้องยินดีที่สุด แต่ทำไมเทวดาถึงแกล้งแม่ ทำไมจะต้องไปรักคนที่เขามีสามีแล้ว” แล้วฉอ้อนก็คิดต่อไปอย่างรวดเร็ว “น่ากลัวจะเป็นไปได้เสียด้วย เพราะตาฤทธิ์เคยถือว่าถ้าทำอำนาจแก่ใครได้เป็นการแสดงความสามารถ ชอบเล่นรังแกลูกนายสิบลูกพลทหารมาตั้งแต่เล็ก” แต่วาจาของฉอ้อนออกมาว่าแก่ลูกสาว “หวังว่าจะไม่จริงไม่จัง ถ้าจริงก็โง่เหลือเกิน ผู้หญิงทั้งเมือง รูปร่างของตัวก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่” แล้วฉอ้อนก็นิ่งนึกไปอีกหลายวินาที มโนภาพเกิดรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้า ฉอ้อนคิดถึงว่า ลูกคนหนึ่งๆ ก็เป็นลูกแม่อย่างแท้จริง ระหว่างที่แม่อุ้มท้องอยู่ พอเกิดมาแล้ว ต่างคนต่างก็แสดงตัวว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ แล้วก็เติบโตขึ้น เจริญขึ้น เปลี่ยนแปลงไป ดูห่างไกลแม่ออกไปทุกวัน แม้แต่พ่อของลูก เขาก็ไม่ได้เข้าใกล้แม่ เมื่อพบกัน ดูก็ต่างระมัดระวังอะไรกันอยู่ ระมัดระวังเพื่อใคร เพื่อคนอื่น เพื่อให้มีความราบรื่นไม่สับสนวุ่นวายในสังคม หรือจะว่าครอบครัวของผู้มีอำนาจ ย่อมจะต้องรักษาสันติภาพภายในไว้ เพื่อสันติภาพของบ้านเมือง จำเป็นอย่างนั้นหรือ ครอบครัวรัฐบุรุษทุกครอบครัวเป็นเช่นนั้นหรือ หรือเป็นเฉพาะครอบครัวของฉอ้อน หรือว่าคนอื่น ทั้งลูกทั้งผัว เขาเติบโตเจริญกันไป เหลือแต่ฉอ้อนไม่ได้เติบโตตามเขา ฉอ้อนยังคงเป็นสาวน้อยชาวเพชรบุรี ยังคงคิดถึงเพื่อนเล่นคือคุณแจ๋ว และต้องการความคุ้มครองของเพื่อนรักของสามีคือคุณเกริน และยังหวนรำลึกถึงคำสั่งสอนของครูมิชชั่นนารีเคร่งศาสนา และคำชี้แจงของคนเคร่งประเพณีคือ “ท่าน” หล่อนคนเดียวล้าหลังอยู่ ในเมื่อคนอื่นเขาก้าวหน้ากันไปหมด

ฉอเลาะเห็นสีหน้าของมารดาน่าสังเกต มีอาการเศร้าๆ ปนกับความตื่นเต้น คิดเป็นห่วงและอยากพูดอะไรปลอบใจสักหน่อย ก็พอดีได้ยินเสียงรถยนต์ที่หน้าตึก ฉอ้อนเบือนหน้าไปทางทิศที่มีเสียง แต่ฉอเลาะลุกจากที่นั่งทันที แสดงถึงความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่นอายุอย่างเห็นชัด ฉอ้อนรู้ว่ารถยนต์นั้นเป็นคันที่สามีนั่งประจำ แต่ฉอเลาะสงสัยว่ามีรถอะไรเข้ามาในบ้านที่มีเสียงเครื่องยนต์ดังผิดปรกติ

อีกสองสามวินาทีต่อมา ฉอ้อนก็เห็นสามีเดินเข้ามาในเขตห้องรับแขกเล็กที่หล่อนนั่งอยู่กับบุตรี และข้างหลัง “ท่านวิทูร” ร้อยตรีชัยฤทธิ์ วิทูรเทพศาสตร์ แห่งกองทัพบกไทย ก็เดินตามมาด้วย ฉอ้อนเห็นคนทั้งสองแล้วเกิดความรู้สึกวาบหวามด้วยเหตุหลายประการ คุณพ่อ ภาคภูมิ งดงาม สมเป็นนายพลทุกกระเบียดนิ้ว ดวงตาคมปลาบสมกับความฉลาดที่ลือเลื่อง ส่วนบุตรชายร่างระหงแต่สูงกว่าคุณพ่อนิดหน่อย ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ได้รับการเลี้ยงดูมาดี ดวงหน้าของเขาก็สวยเก๋เป็นที่จับตาสะดุดใจคนยิ่งกว่าเมื่อคุณพ่อเป็นนายทหารหนุ่ม

“แหมนี่วันนี้มีฤกษ์อะไร จะได้อยู่บ้านด้วยกันพร้อมพ่อแม่ลูกหรือคะ” ฉอ้อนถามน้ำเสียงเต็มไปด้วยความหวัง

“อะไรได้ ขี้ลืมจัง ท่านผู้หญิง” ท่านสามีว่า สีหน้ายิ้มแสดงอารมณ์ดี วันนี้กลับมาเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไงจ๊ะ ห้าโมงนี้ต้องเข้าวัง มีพระราชพิธีสมโภชเจ้านายใหญ่เจ้านายโต”

“อ๋อ นึกได้แล้วค่ะ” ภรรยาตอบ ยิ้มรับเขาอย่างปลาบปลื้ม “แต่ว่าไม่ใช่ห้าโมง หกโมงต่างหาก ยังมีเวลากินของว่างด้วยกัน ว่าไง ฤทธิ์ กินน้ำชากับแม่ นานๆ ที”

ร้อยตรีชัยฤทธิ์ยิ้มกับมารดา เมื่อเขายิ้มนัยน์ตาของเขาฉายแสงคมปลาบ ทำให้หน้าของเขาเหมือนมีแสงอาทิตย์รุ่งโรจน์สาดไปทั่ว “ผมน่ะได้ละครับ” เขากล่าว “แต่คุณแม่น่ะจะได้หรือ” แล้วเขาก็ผินหน้านิดหนึ่งไปทางด้านหน้าตึก บัดนั้นก็มีหญิงในวัยประมาณสามสิบรูปร่างท่าทางแคล่วคล่องเข้าทีเดินเข้ามาในเขตห้องที่ครอบครัววิทูรเทพศาสตร์ยืนอยู่ เมื่อเห็นท่านผู้หญิงก็ทรุดตัวลงคุกเข่าสองข้างจดพื้นห้อง ประนมมือพร้อมกับก้มศีรษะลงได้ระดับกับหัวเข่าของหล่อน ท่านผู้หญิงทักอย่างสุภาพ “อ้อ คุณผิวพักตร์ นี่มาเซ็ทผมซีนะคะ” ผู้เข้ามาใหม่รับ “เจ้าค่ะ”

“ว่าไงครับ คุณแม่ จะทันไหม ถ้าจะกินน้ำชากับลูกชาย แล้วก็อะไรบ้าง” ชัยฤทธิ์พยักหน้ากับพี่สาว “สระ แล้วก็ม้วน แล้วก็เป่า ใช่ไหม ไม่งั้นก็เข้าวังไม่ด๊าย” เขาลากเสียงคำสุดท้าย

“ฉันก็ต้องโทรศัพท์สั่งงานหลายอย่างเหมือนกัน” ท่านสามีบอกภรรยา “พอนึกขึ้นได้ว่าหกโมง ก็นึกอะไรได้อีกหลายเรื่อง เอาของกินเข้าไปให้ในห้องหนังสือ น้องไปทำผม” เขาไม่ลืมที่จะเข้าไปตบศีรษะลูกหญิงคนโตขณะที่เดินผ่านหล่อนเข้าไปในห้องหนังสือ ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของตึก ฉอ้อนและฉอเลาะมองตามร่างของเขาหายลับเข้าไปในห้องอันรโหฐานของเขา เมื่อฉอ้อนหันกลับมาจะพูดกับบุตรชาย ก็เห็นเขากำลังก้าวขึ้นบันไดทีละสองขั้นขึ้นไปชั้นบน ฉอ้อนกลับลงนั่งและยื่นมือไปเก็บนิตยสารที่เปิดทิ้งไว้บ้าง หรือที่มีใครทำให้ร่วงลงมาจากโต๊ะเตี้ยสำหรับวางของ ฉอเลาะลุกจากที่นั่งขึ้นไปชั้นบนตามน้องชาย เหลืออยู่แต่ท่านผู้หญิงกับช่างแต่งผม ท่านผู้หญิงเงยหน้าจากงานที่ทำโดยไม่จำเป็นขึ้นดูหน้าแขกใหม่กำลังคิดว่าจะกดกริ่งเรียกสาวใช้ให้นำอาหารว่างเข้าไปให้สามี ให้ตัวเองและให้ถามลูกว่าต้องการอย่างไร ก็ได้ยินคุณนายศรี พูดอยู่ใกล้ๆ ตัวว่า “ของว่าง ดิฉันบอกแม่สะอาดให้เขาจัดการตามท่านสั่งแล้วเจ้าค่ะ”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ