ตอนที่ ๕
ถิ่นเดิม. ห้องนอนของจูเลียต.
นางนม ออก.
นางนม. | คุณนาย ! คุณจูเลียต ! หลับสนิทเสียนักหนา: |
คุณหนู ! คุณนายฃา ! ชะ ๆ นอนแสนขี้เซา ! | |
คุณที่รักดิฉัน ! คุณ ! ชื่นใจ ! เจ้าสาวเฉลา ! | |
ไม่ตอบสักคำเล่า ? นอนให้พอบัดนี้ซี; | |
หลับเสียอีกเจ็ดวัน; ดิฉันเชื่อว่าคืนนี้ | |
เคานติปารีสมีจิตมุ่งมองและจองไว้ | |
ให้คุณหลับน้อย ๆ:-พระเจ้าโปรดให้อภัย, | |
จริงนะ, สาธุ, ใยหลับสนิทเปนนักหนา ! | |
จำเราจะปลุกเธอ.-คุณนายฃา, คุณนายฃา ! | |
เออ, ให้เคานตีมาพบนอนอยู่ก็แล้วกัน; | |
เฃาคงปลูกคุณขึ้น, ให้ตาย. ไม่ตื่นหรือนั่น? | |
แต่งตัว ! อย่างไรกันแต่งพร้อม ! อ้าวนอนอีกละ ! | |
ดิฉันต้องปลุกคุณ. คุณคะ ! คุณ ! คุณเจ้าคะ ! | |
โอ้โอ๋ ! อกแตกละ ! ช่วยด้วย ! คุณสิ้นชีวี ! | |
โอ้อกเอ๋ยอกกู, นี่เกิดมาทำไมนี่ ! | |
เร็ว, อัควะวิตี ! เจ้าประคุณ, คุณหญิงฃา ! | |
คุณหญิงคาปุเล็ต ออก. | |
คุณหญิง ค. | นี่อึงอะไรกัน ? |
นางนม. | โอ้วันนี้ควรโศกา ! |
คุณหญิง ค. | มีเหตุอะไรนา ? |
นางนม. | ดู! ดู! โอ้กาลีวัน ! |
คุณหญิง ค. | โอ้อก, โอ้อกเอ๋ย ! ลูกน้อย, ชีพของตัวฉัน. |
ฟื้นขึ้น, ลืมตาพลัน, หาไม่แม่ตายตามหนอ. | |
ช่วยด้วย ! เรียกคนมา. | |
คาปุเล็ต ออก | |
คาปุ. | เหลวไหล, จงรีบพาจูเลียตไป; ชายเฃารอ. |
นางนม. | หล่อนตาย, หล่อนเสียหนอ, หล่อนตาย; โอ้วันโศกา. |
คุณหญิง ค. | โอ้วันเคราะห์ร้ายเหลือ, หล่อนตายแล้ว, ตายแล้วนา ! |
คาปุ. | อ๊ะ, ขอดูหน่อย. อ้า, อนิจจา, ตัวเย็นแล้ว; |
โลหิตหยุดนิ่งอยู่และข้อลำก็ซื่อแซ่ว; | |
ชีพกับโอษฐ์พะแพรวก็พรากกันไปช้านาน: | |
ความตายครอบจำไว้เหมือนความหนาวอันผิดกาล | |
ฆ่าบุษปะสคราญล้ำเลิดในเกษตร์ศรี. | |
นางนม. | โอ้วันแสนสงสาร ! |
คุณหญิง ค. | โอ้กาลอันท่วมทุกขี ! |
คาปุ. | มัจจุ, แย่งบุตรีไปเพื่อให้ฃ้าโศกา, |
นั้นเองผูกลิ้นแน่น, มิให้ฃ้าเจรจา. | |
ภาตาลอเรนซ๎และปารีสออก, พร้อมด้วยนักดนตรี. | |
ลอ. | เจ้าสาวเตรียมกายาเพื่อไปวัดแล้วหรือไฉน ? |
คาปุ. | พร้อมแล้วจะจรลี, จะมีวันกลับหาไม่. |
ลูกชาย, โอ้ภายในคืนก่อนจะแต่งงานกัน | |
มัจจุชิงภรรยาของลูก : ดู, นอนอยู่นั่น, | |
หล่อนผู้เปนบุษบัน, ถูกเก็บโดยมัจจุราช. | |
มัจจุเปนเขยฉัน, มัจจุกลายเปนทายาท; | |
มัจจุได้นางนาฎบุตรี: ฉันไม่ขออยู่. | |
และยกให้หมด; ชีพ, สมบัติ, ให้แด่มฤตยู. | |
ปารีส. | ดิฉันได้มุ่งอยู่จะเห็นซึ่งทิวาศรี, |
แล้วกลับมาต้องเห็นเคราะห์แรงร้ายหรือเช่นนี้ ? | |
คุณหญิง ค. | ทิวาแสนอัปรีย์, กอบทุกข์, ทราม, น่าชังนัก ! |
เปนยามที่ร้ายสุดที่กาละเห็นประจักษ์ | |
ในปวงจรลักษณ์แห่งกาละตลอดมา. | |
เพียงหนึ่ง, เพียงหนึ่งน้อย, หนึ่งบุตรีสิเนหา | |
แต่เปนสิ่งเอกาที่ปลื้มจิตประโลมใจ, | |
และมัจจุร้ายแรงก็มาแย่งพ้นหน้าไป ! | |
นางนม. | โอ้โศก ! โอ้โศกใหญ่, แสนโศก, แสนโศกวันนี้ ! |
วันแสนจะทุกข์หนัก, โอ้วันแสนโศกท่วมทวี, | |
ที่ตัวดิฉันนี้ได้เคยพบแต่ไรมา ! | |
โอ้วัน ! โอ้วันเอ๋ย ! โอ้วัน ! น่าชังนักหนา ! | |
แต่ไหนแต่ไรมาไม่มีร้ายเท่าวันนี้: | |
โอ้วันอันแสนร้าย ! โอ้วันร้ายกระไรนี่ ! | |
ปารีส. | ถูกหลอก, ถูกพรากศรี, ประทุษ, แสร้งกัน, เหมือนฆ่า ! |
มัจจุน่าชังสุด, เราถูกท่านทำมายา, | |
ตัวท่านไร้เมตตาประหารเราได้ดูดู๋ ! | |
โอ้รัก ! โอ้ชีพ ! ไม่ใช่ชีพ, รักในมฤตยู ! | |
คาปุ. | ถูกดูหมิ่น, แค้นอยู่, ถูกชัง, กด, รอญชีวี ! |
เวลาอันตัดสุข, ไฉนมาฉบัดนี้ | |
เพื่อล้าง, ผลาญย่ำยีพิธีการของเรานา ? | |
โอ้ลูก ! โอ้ลูก, ยึ่งกว่าดวงจิตของบิดา ! | |
เจ้าตาย ! อนิจจา ! ธิดาฃ้าเจ้านี้ดาย | |
และพร้อมด้วยบุตรีฃ้าฝังสุขสิ้นทั้งหลาย. | |
ลอ. | หยุดเถิด ! จงละอาย ! จะแก้ยุ่งได้อย่างไร |
ด้วยความยุ่งเช่นนี้, สวรรค์อีกบพิตร์ได้ | |
มีส่วนครองทรามวัย; บัดนี้เทพรับไว้หมด, | |
ซึ่งเปนบุญะลาภของนงรามผู้งามงด: | |
อำนาจบพิตร์หมดมิอาจห้ามมฤตยู; | |
แต่ส่วนสวรรค์รับไปให้ชีพอันยืนอยู่. | |
อย่างมากบพิตร์ดูก็หวังให้ลูกได้ดี, | |
เพราะสรวงของท่านไซร้คือให้ลูกเจริญศรี; | |
โศกใยเล่าบัดนี้, เมื่อบุตรีได้จำเริญ | |
ขึ้นสูงจนเหนือเมฆ, สูงจนถึงสวรรค์เหิน ? | |
อ้า, รักนี้เหลือเกิน, บพิตร์รักลูกเช่นนี้, | |
จนเสียสติ, ยามเมื่อธิดาแสนสุขี: | |
หญิงสมรสไม่ดีที่คงอยู่เช่นนั้นนาน, | |
แต่หญิงสมรสแล้วตายแต่สาวสิสุขสานต์. | |
จงกลั้นอัสสุธาร, และปักช่อโร๊สมะรี [๕๐] | |
ที่ศพนงพงา; และ, ตามอย่างประเพณี, | |
แต่งพร้อมพัสตราดีแล้วห้ามศพสู่วัดพลัน; | |
เพราะถึงธรรมลาอันโง่ชวนเราโศกศัลย์, | |
นักปราชญ์ย่อมจะขันธรรมะชาติที่โศกา. | |
คาปุ. | ปวงสิ่งที่เราเตรียมไว้เพื่อการงานวิวาห์, |
แปรปรวนประมวลมาเปนเครื่องใช้ในงานฝัง; | |
เครื่องดุริยางค์กลายเปนระฆังตีทุกขํ, | |
วิวาหะกิจตั้งแต่นี้เปนศราทธะพรต, | |
ปวงเพลงสรรเสริญกลายเปนเพลงครวญไปหมด, | |
บุบผาเพื่อสมรสเปนเครื่องแต่งศพผู้มรณ, | |
และทุก ๆ สิ่งแปลงเปนตรงฃ้ามน่าสยอน. | |
ลอ. | บพิตร์, เชิญไปก่อน; - คุณหญิง, เชิญตามสามี;- |
ไปเถิด, ท่านปารีส; - ทุกคนเตรียมพร้อมสรรพดี | |
เพื่อตามศพงามนี้ในไม่ช้ายังสุสาน. | |
สวรรค์ดูกริ้วอยู่เพราะบกพร่องของเหล่าท่าน; | |
จงอย่าได้คิดหาญท้าพิโรธอีกต่อไป. | |
[คาปุเล็ต, คุณหญิงคาปุเล็ต, ปารีส, และภาตาเฃ้าโรง.] | |
นักดนตรีที่ ๑. | ให้ตาย, นี่เราเก็บปี่ของเรา, และไปเสียดีกว่า. |
นางนม. | พวกเจ้าผู้ซื่อตรง, จงเก็บเถิด, เก็บทันใด; |
เพราะเจ้ารู้แล้วไซร้, เปนที่แสนอนาถนา. [เฃ้าโรง.] | |
น.ด. ๑. | เออ, ให้ตายโหง, อนาถพอจะแก้ได้กระมัง. |
ปีเตอร์ ออก. | |
ปีเตอร์. | นักดนตรี, เออ, นักดนตรี, เพลง “ชื่นใจ,” เพลง “ชื่นใจ” : โอย, ถ้าจะให้ฉันคงชีวิตอยู่ละก็, เล่นเพลง “ชื่นใจ” หน่อยเถิด. |
น.ด. ๑. | ทำไมเพลง “ชื่นใจ” ? |
ปีเตอร์. | นักดนตรีเอ๋ย, เพราะใจของฉันมันทำเพลง “ใจของฉันเต็มด้วยโศก.” ขอให้ทำเพลงรื่นเริงสักเพลงเถิด, เพื่อให้ฉันสบายใจ. |
น.ด. ๑. | ไม่เล่นจนเพลงเดียว; เวลานี้ไม่ใช่เวลาเล่น. |
ปีเตอร์. | แกไม่ยอมเล่นฉนั้นหรือ ? |
น.ด. ๑. | ไม่ละ, |
ปีเตอร์. | ถ้าเช่นนั้นฉันก็จะให้อะไรแกอย่างสาใจละ. |
น.ด. ๑. | แกจะให้อะไรเรา ? |
ปีเตอร์. | ไม่ใช่เงิน, ให้ตายโหงสิ, แต่จะให้ด่า; ฉันจะเรียกพวกแกว่าอ้ายพวกสีซอขอทาน. |
น.ด. ๑. | ฉนั้นฉันจะตอบว่าแกเปนอ้ายขี้ครอก. |
ปีเตอร์. | ฉันก็จะเอากั้นหยั่นของขี้ครอกวางบนกระบานแก. ฉันไม่ยอมยกขอ: ฉันจะเรแก, ฉันจะฟาแก. แกฟังฉันออกไหม ? |
น.ด. ๑. | ถ้าแกเรเราและฟาเรา, แกก็จะทำให้เราออกเสียง. [๕๑] |
น.ด. ๒ | ขอทีเถิด, เอากั้นหยั่นเฃ้าฝัก, และชักเอาความฉลาดออกมาดีกว่า. |
ปีเตอร์. | ถ้าฉนั้นก็เล่นงานแกด้วยความฉลาดของฉันละ ! ฉันจะรำมะนาแกด้วยความฉลาดแหลมเปนเหล็ก, และเก็บกั้นหยั่นเหล็กของฉันเสีย. ขอให้ตอบฉันเหมือนลูกผู้ชาย:- |
“เมื่อยามโศกโทรมนัสกลุ้มกลัดจิต, | |
“และความเหี่ยวแห้งบิดฤดีฃ้า, | |
“ดนตรีที่มีเสียงเงินสง่า- ” | |
ทำไม “เสียงเงิน” ? ทำไม “ดนตรีที่มีเสียงเงินสง่า” ?- แกว่าอย่างไร, ไสม้อน แค็ตลิง ? | |
น.ด. ๑ | อ๋อ, นาย, เพราะเงินเสียงเพราะ. |
ปีเตอร์. | เหลว ! - แกว่ากระไร, ฮิว รีเบ็คก์ ? |
น.ด. ๒. | ฉันว่า “เสียงเงิน,” เพราะนักดนตรีต้องทำเสียงเพื่อได้เงิน. |
ปีเตอร์. | เหลวอีก !- แกว่ากระไร, เจมส๎ เสานด์โปสต์. |
น.ด. ๑ | ตายโหง, ฉันไม่รู้จะว่ากระไรละ. |
ปีเตอร์. | อ๋อ, ฉันยกโทษให้; แกเปนคนเสียง; ฉันจะว่าแทนแก. ที่ว่า “ ดนตรีที่มีเสียงเงินสง่า,” ก็เพราะว่านักดนตรีไม่มีทองที่จะใช้ให้มีเสียง: |
“ดนตรีที่มีเสียงเงินสง่า | |
“มิได้ช้าช่วยแก้ได้แท้เอย. [เฃ้าโรง.] | |
น.ด.๑ | อ้ายคนนี้มันช่างยั่วโทโษเสียจริง ๆ ละ. |
น.ด. ๒ | อ้ายห่ากิน ! - มาเถิด, เฃ้าในนี้; คอยพวกช่วยงานศพ, แล้วเลยอยู่กินเลี้ยงด้วย. [พากันเฃ้าโรง.] |
----------------------------