คำอธิบาย

๑. “ด้วยพรหมจาริฃ้าเมื่อสิบสองปี.” [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๓, น่า ๒๓.] - “By my maidenhead at twelve year old.” เปนคำสบถของนางนม, ตามแบบยายแก่ซึ่งพูดคำสบถคำ, และหาอะไรเหลวๆ มาใช้สบถ.

๒. แล็มมาส [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๓, น่า ๒๔.] - คือวันที่ ๑ สิงหาคม, เปนวันนักขัตฤกษ์ที่เรียกว่า “วันเซี่ยว” (Quarter Day). เปนประเพณีมาแต่โบราณ, อังกฤษแบ่งปีเปน ๔ เซี่ยว, และในเซี่ยว ๑ๆ กำหนดวันนักขัตฤกษ์วัน ๑ เปน “วันเซี่ยว” คือเปนวันกำหนดสำหรับใช้ดอกเบี้ยในทางณี่สินหรือเก็บค่าเช่าเปนต้น. ถ้าจะเทียบกับประเพณีจีนก็คล้าย ๆ กัน, เช่นจีนมีกำหนดนักขัตฤกษ์ที่ไทยเราเรียกกันว่า “สาร์ทขนมอี๋” เปนต้น. ในประเทศอังกฤษสมัยเชกส๎เปียร์มีกำหนด “วันเซี่ยว” ไว้ดังนี้:-

(๑) วิตสันไตด (Whitsuntide), คือวันอาทิตย์ต่อจากวันอีสเตอร์ (Easter) ไปอีก ๗ อาทิตย์. - อีสเตอร์ คือวันที่ฝ่ายคริสตะศาสนาสมมดเปนวันที่พระเยสูฟื้นขึ้นจากตายและขึ้นสู่สวรรค์, และนักขัตฤกษ์นี้กำหนดในวันอาทิตย์ที่ต่อจากวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ โดยจันทรคตินิยม. [เช่นใน พ ศ. ๒๔๖๕ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับวันที่ ๑๐ เมษายน, ฉนั้นวันอีสเตอร์จึ่งเปนวันอาทิตย์ที่ ๑๖ เมษายน, และวันวิตสันไตดตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๔ มิถุนายน.]

(๒) แล็มมาส (Lammas), วันที่ ๑ สิงหาคม. นัยว่าศัพท์ “แล็มมาส” มาจากคำภาษาแส็กซันว่า “ห๎ลัมเมสเสะ” (Hlammaesse), วันขนมปัง, เพราะแต่ก่อนนี้ในวันนี้คหบดีพลีพระด้วยขนมปังทำด้วยแป้งสาลีใหม่.

(๓) มาร์ตินมาส (Martinmas) วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน, วันนักขัตฤกษ์แห่งนักบุญมาร์ติน.

(๔) แคนดลมาส (Candlemas), วันที่ ๒ กุมภาพันธ์, นักขัตฤกษ์ปาริสุทธิกรรมแห่งมารีแม่พระเยสู, คือวันที่มารีนำพระเยสูผู้เปนบุตร์ไปเฃ้าโบถเปนครั้งแรก. ในวันนี้เคยเปนธรรมเนียมนำเทียนไปจุดบูชานางมารีมากๆ, จึ่งเรียกว่า “วันเทียน.”

“วันเซี่ยว” อย่างที่ว่ามาฃ้างบนนี้ ยังคงใช้อยู่ในสค็อตแลนด์และประเทศอังกฤษฝ่ายเหนือ. ในแห่งอื่นในประเทศอังกฤษในสมัยนี้กำหนด “วันเซี่ยว” ใหม่ดังต่อไปนี้: -

(๑) เลดีเด (Lady Day) วันที่ ๒๕ มินาคม, วันที่มารีแม่พระเยสูได้รับฃ่าวจากเทวทูตว่าพระเยสูจะมาปฏิสนธิ.

(๒) วันกลางฤดูร้อน (Midsummer Day), วันที่ ๒๔ มิถุนายน, เปนวันนักขัตฤกษ์ของนักบุญจอนแบปติสต์.

(๓) มิเค็ลมาส (Michaelmas), วันที่ ๒๙ กันยายน, เปนวันนักขัตฤกษ์ของมหาเทวทูตไมเคล.

(๔) คริสต์มาส (Christmas) วันที่ ๒๕ ธันวาคม, เปนวันเกิดพระเยสู.

๓. “สูสานอยู่กับจอมสรวง,” [องค์ที่ ๑ ตอนที่ ๓, น่า ๒๕.]- “Susan is with God.” - หมายความว่าสูสาน (ลูกหญิงของนางนม) ตายไปแล้ว, และตามธรรมเนียมมักจะต้องขอฝากวิญญาณแก่พระเปนเจ้า, เช่นในที่นี้นางนมพูดว่า, “พระเจ้ามีเมตตาผู้ศรัทธาปวง !” ดังนี้เปนต้น.

๔. “คงพบธิบายไว้ณริมน่า, คือตาเฃา.” [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๓, น่า ๒๘.]-คุณหญิงคาปุเล็ตได้กล่าวเปรียบหน้าของปารีสด้วยน่าสมุดหนังสือ, ซึ่งมีความงามต่างๆ เขียนไว้. ตามแบบโบราณ ข้อความหรือศัพท์ได ๆ ที่ไม่สู้จะแจ่มแจ้งในพลความ เฃามักเขียนคำอธิบายไว้ที่ริมน่าสมุด; ดังนี้คุณหญิงคาปุเล็ตจึ่งว่า, ถ้าศุภลักษณ์ใดยังไม่เห็นปรากฎแจ่มแจ้งในหน้าของปารีสก็ให้ตรวจดูในตาของเฃา, ซึ่งเปรียบเหมือนริมน่าสมุดฉนั้น,

๕. “ปลาอยู่ในสมุท ฯลฯ” [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๓, น่า ๒๘.]-คำเปรียบเทียบของคุณหญิงคาปุเล็ตตอนนี้ดูออกจะเปนทลุกลางปล้องมาเฉยๆ, เพราะตามที่ได้เปรียบเทียบมาแล้วนั้นเปนไปในเรื่องสมุดหนังสือทั้งสิ้น. นักปราชญ์อังกฤษคน ๑ ได้แสดงความเห็นว่าอาจจะเปนเพราะนึกถึงหนังปลาที่ใช้ทำปกสมุด, แต่ดูก็ไม่มีมูลพอที่จะเห็นเช่นนั้น, เมื่อกล่าวถึงปลาในทเลสองบาทแล้ว, คุณหญิงคาปุเล็ตก็กลับกล่าวด้วยเรื่องสมุดหนังสือต่อไป, ซึ่งชวนให้นึกเดาว่าเรื่องปลานั้นจะแซกเฃ้าไปดื้อๆ เพื่อให้คำเปรียบนั้นจังมากขึ้น, คือตั้งใจให้ผู้ฟังตีความเปนสองง่ามได้, กล่าวคือเปรียบชายเปนปลาหญิงเปนทเลซึ่งเปนของควรคู่กัน, ปลาควรอยู่ในน้ำและน้ำก็ควรมีปลาอยู่. ที่แซกเช่นนี้จะเปนของเชกส๎เปียร์เองหรือของผู้อื่นก็ไม่ปรากฎ, เพราะในเรื่องลครของเชกส๎เปียร์ได้เคยมีผู้แต่งอะไร ๆ แซกลงไปในเมื่อรวบรวมขึ้นตีพิมพ์เปนเล่ม. แต่อย่างไรๆ ก็ดี, การแซกนี้ (ถ้าได้มีผู้แซก) ก็ได้มีมาแต่เก่าแก่, ไม่ใช่ของใหม่, ฉนั้นฃ้าพเจ้าจึ่งแปลมาไว้ตามรูปเดิม.

๖. “ถือคันธนูไม้ทาสีแบบของตารตาร์”, [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๔, น่า ๓๐.]- ธนูแบบตาร์ตาร์ไม่เปนรูปโค้งเฉยๆ อย่างคันธนูของอังกฤษหรือของเรา, แต่เปนรูปคล้ายที่เรียกตามภาษาช่างของเราว่า “นาคสดุ้ง”, คือเปนอย่างนี้ . ที่กล่าวถึงธนูแบบตาร์ตาร์ในที่นี้เพราะในรูปภาพหรือรูปปั้นของชาวยุโรป กามะเทพ (คิวปิด) ถือธนูแบบนี้.

๗. “อ๊ะ, เอาหน้ากากใยปิดหน้ากาก!” [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๔, น่า ๓๑.]- หมายความว่าหน้าของตนเองก็ขันเปนหน้ากากอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่หน้ากากอีกชั้น ๑. อีกประการ ๑ ต้องเฃ้าใจว่าเมอร์คิวชิโอไม่จำเปนต้องใส่หน้ากากปลอมแปลงเฃ้าไปในบ้านของคาปุเล็ต, เพราะได้รับเชิญอยู่แล้ว ดังปรากฎในรายนามที่คาปุเล็ตจดให้ทนายไปในตอนที่ ๒ แห่งองค์นี้เอง.

๘. “เขี่ยกกเล่นตามที ฯลฯ” [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๔, น่า ๓๑.]- ในสมัยของเชกส๎เปียร์, ห้องใด ๆ ที่ใช้เปนที่ประชุมชน,เช่นห้องเลี้ยงอาหารและห้องเต้นรำเปนต้น, เฃาใช้ต้นกกแห้งโรยที่พื้น, ไม่ว่าจะเปนในบ้านขุนนางและเศรษฐีคหบดี, หรือโรงสุราและโรงมหรศพ.

๙. “เพราะตัวของฉันเปรียบด้วยภาษิตปู่ตา”, [องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๔, น่า ๓๑.]- ได้ความว่ามีภาษิตโบราณอยู่ว่า, “ผู้ส่องเทียนดีชี้ให้เห็นผู้เล่นเบี้ยดี.”

๑๐. “พระนางแมบ” (Queen Mab) -[องค์ที่ ๑ ตอนที่ ๔, น่า ๓๒.]- ตามนิทานเล่ากันในประเทศอังกฤษและดินแดนใกล้เคียง, พระนางแมบเปนเจ้าแห่งพวกพราย (Fairies), ซึ่งมีรูปเหมือนคนแต่ตัวเล็ก ๆ. พระนางแมบและพรายบริวารมักชอบเล่นอะไรสนุกต่าง ๆ คล้าย ๆ เด็ก, บางทีก็ให้ดี, บางทีก็ให้ร้าย. ที่เมอร์คิวชิโอเอาเรื่องพระนางแมบมากล่าวในที่นี้ก็เพื่อเตือนสติให้โรเมโอรู้สึกว่าการหลงและฝันถึงหญิงเปนสิ่งที่ไว้สาระเหมือนกิจการของพวกพราย.

๑๑. “เปนเตค็อสต์” (Pentecost) -[องก์ที่ ๑ ตอนที่ ๕, น่า ๓๘.] - เปนวันนักขัตฤกษ์ของพวกยิว, ซึ่งเปนวันนับจากนักขัตฤกษ์ “ปาสส์โอเวอร์” (Passover) ต่อไป ๕๐ วัน. วันนักขัตฤกษ์ “ปาสส์โอเวอร์” ตกในวันที่ ๑๘ เมษายน, เปนนักขัตฤกษ์ซึ่งเทียบได้กับตะรุษะสงกรานต์ของเรา.

๑๒. “เมื่อท้าวโคเฟตุวารักนางสาวยาจกนั้น” [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๑, น่า ๔๗.]- นี้กล่าวถึงเรื่องนิทานโบราณอันหนึ่ง ๑, ซึ่งแถลงถึงพระยามหากษัตริย์นามว่าโคเฟตุวา, มีอำนาจวาศนามาก จะหามเหษีที่เปนนางลูกกษัตริย์ต่างนครก็คงมีผู้เต็มใจยกให้, แต่เธอรักนางยาจกเข็ญใจคน ๑ ซึ่งยกขึ้นเปนมเหษี.

๑๓. “เม็ดล่าร์” (Medlar) - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๑, น่า ๔๘.]- เปนต้นไม้ผลชนิด ๑, ซึ่งในสมัยของเชกส๎เปียร์เปนของที่ตลกชอบพูดถึง} เพราะเฃาเปรียบผลเม็ดล่าร์อย่างเดียวกับตาลเฉาะของไทยเรานั้นเอง.

๑๔. “เฃาเย้ยซึ่งแผลเปน ฯลฯ” [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๒, น่า ๔๘.]- ผู้อ่านคงจะสังเกตว่า กาพย์บาทนี้ต่อและรับสัมผัสกับบาทท้ายในตอนที่ ๑. ที่เปนเช่นนี้ไม่ใช่โดยพลั้งเผลอ, เปนความตั้งใจของฃ้าพเจ้าที่จะเลียนให้เหมือนของเดิมของเชกส๎เปียร์. ที่ทิ้งค้างไว้บาท ๑ ในตอนที่ ๑ แล้วมาต่ออีกบาท ๑ ในตอนที่ ๒ เช่นนี้, ไม่เปนการอัศจรรย์อะไร, เพราะในระหว่างตอนมิได้ต้องเปลี่ยนฉากเลย, ดังได้อธิบายไว้แล้วในคำนำ.

๑๕. “เรียกเหยี่ยวผู้พิศาล ฯลฯ” [องก์ที่๒ ตอนที่ ๒, น่า ๕๘.]-ในสมัยโบราณในประเทศยุโรปเฃาหัดเหยี่ยวสองชนิดไว้ใช้สำหรับไล่จับนกในอากาศ, มีนกเป็ดน้ำเปนต้น. เหยี่ยวที่นับถือกันว่าเปนอย่างดีคือตัวผู้ชนิด “เปเรก๎ริ่น” (Peregrine), ซึ่งตามภาษาพรานสมัยโน้นเรียกว่า “เตียร๎เซ็ล เจ็นตล” (Tiercel Gentle), คือเหยี่ยวผู้เอก, ให้ผิดกับเหยี่ยวผู้ชนิด “ก็อสหอก” (Goshawk), ซึ่งเปนชั้นโท. ในที่นี้จูเลียตเรียกโรเมโอว่า “เหยี่ยวผู้พิศาล” ก็คือมุ่งว่าเปนชายผู้มกำเนิดดีเลิดนั้นเอง.

๑๖. “เบเนดิซิเต.” (Benedicite) - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๓, น่า ๖๑.]-เปนคำอำนวยพรภาษาละติน, แปลว่าขอให้มีความสุข.

๑๗. “เฃาเปนผู้พิฆาฎกระดุมหุ้มแพร” - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๖๖.]- หมายความว่าใช้ดาพหรือกั้นหยั่นแทงแม่นจนแทงกระดุมที่น่าอกเสื้อของผู้ต่อสู้กันได้.

๑๘. “เหตุที่ ๑ และที่ ๒ ฯล” - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๖๖.]-ในสมัยโบราณพวกชายผู้ดีต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะทำการต่อสู้ตัวต่อตัว, (คือที่เรียกว่า “ดูเอ็ลโล” หรือ “ดวล”), แต่ต้องมีเหตุที่สมควรจึ่งจะก่อวิวาทและท้า “ดวล” ได้โดยปราศจากครหา. ในสมัยนั้นจึ่งมีผู้แต่งตำราหรือคำแนะนำต่าง ๆ สำหรับการต่อสู้ตัวต่อตัว, และเชกส๎เปียร์ชอบค่อนพวกนักเลง “ดวล” นัก, ดังปรากฎในเรื่องลครที่แต่งหลายเรื่อง, เช่นในเรื่อง “ตามใจท่าน” (“As You Like It”), องก์ที่ ๕ ตอนที่ ๔ ก็มีให้ตัชส๎โตนตัวตลกอธิบายเรื่องสาเหตุแห่งการ “ดวล.”

๑๙. “ปาร๎ดอนเนซ์ -มัว,” “บ็อง,” ฯลฯ-[องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔ น่า ๖๗.] - คำพูดตอนนี้เปนคำเยาะและกล่าวถึงพวกนักเลงเจ้าชู้เก๋ ๆ สมัยโน้น, ซึ่งชอบใช้กิริยามรรยาทแบบฝรั่งเศส, และชอบใช้คำฝรั่งเศสปนอยู่ในคำพูดเสมอ ๆ. นี้เปนพยานว่าคน “เก๋” ทุกชาติและทุกสมัยย่อมมีลักษณะคล้าย ๆ กัน, และย่อมต้องถูกค่อนและถูกเยาะทุกแห่งหน.

๒๐. “เวลานี้ละเฃาจะขันสู้โบราณประวัติของเปตราร์คเทียวละ” -[องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๖๗.]- เมอร์คิวชิโอเย้าโรเมโอว่าจะมาพูดแสดงคุณวิเศษต่าง ๆ ของหญิงที่รักของเฃา, คงว่าดีกว่าหญิงใด ๆ ทั้งหมดทั้งในอดีตและปัตยุบัน, และดีกว่าหญิงที่มีนามปรากฎใน “นานาประวัติ” ของจินตะกวีโรมโบราณชื่อเปตราร์ค, (Petrarch). หนังสือ “นานาประวัติ” ของเปตราร์ค เปนหนังสือที่เชกส๎เปียร์ชอบมาก, และได้เรื่องหลายเรื่องจากหนังสือนี้ไปผูกขึ้นเปนเรื่องลคร, เช่นเรื่อง “จูเลียสซีสาร์” กับ “แอนตอนีและเค๎ลโอปาตรา” เปนต้น. ลอรา, ไดโด, เค๎ลโอปาตรา, เฮเล็น, เฮียโร, และทิสบี, ที่เมอร์คิวชิโอออกนามในที่นี้ล้วนเปนหญิงที่มีชื่อเสียงในประวัติกาลว่างามเลิดทั้งนั้น.

๒๑. “ไม่ใช่กระต่ายดอกนาย” - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๒.]-ในสมัยเชกส๎เปียร์เฃาเรียกหญิงนครโสเภณีว่า “กระต่าย.

๒๒. “เล็นต์์” (Lent) - [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๒.]- เปนเวลาถือศีลกินบวชของคริสตะศาสนิก, มีกำหนด ๔๐ วัน, นับแต่วันพุธที่ ๑ ในเดือน ๔ แห่งจันทรคติกาล. ในระหว่าง ๔๐ วันนี้ ผู้ที่เคร่งมักเว้นการกินเนื้อสัตว์หรืออาหารอันมีโอชารส, คงกินแต่ผักเปนพื้น, หรือปลาบ้าง.

๒๓. บทลำของเมอร์คิวชิโอ.-[องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๒.]-เนื้อเดิมเปนบทลำร้องเล่นขัน ๆ, ไม่ใคร่จะมีความอะไร, จึ่งเปนการยากที่จะแปลให้ขบขันได้. ของเดิมของเฃามีเพียง ๖ บาท, แต่ในคำแปลต้องเพิ่มอีกบาท เพื่อให้ถูกแบบกลอนสักระวาของเรา. บาทที่อยู่ในวงเล็บคือที่ผู้แปลต้องเติมเฃ้าไปดังกล่าวมานี้.

๒๔. “-----ไปล้างบาปบ่ายนี้นา.” [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๔.] - ตามลัทธิโรมันคาทอลิค, ผู้ที่ถือเคร่งในทางศาสนามักไปล้างบาปบ่อย ๆ, คือไปหานักบวชและแถลงบาปที่ตนได้กระทำล่วงละเมิด, แล้วนักบวชก็สั่งสอนพอสมควรและล้างบาปให้ คล้ายพระภิกษุของเราปลงอาบัติ.

๒๕. “โร๊สมะรีและโรเมโอ ฯลฯ” [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๕.] - “โร๊สมะรี” (Rosemary) เปนดอกไม้ชนิด ๑ ซึ่งมึกลิ่นหอม, ใช้ทำน้ำอบได้, เปนดอกไม้ที่ถือกันว่าเปนเครื่องช่วยความจำ, จนมีภาษิตอังกฤษว่า “โร๊สมะรีเพื่อความจำ” (“Rosemary for remembrance”). อนึ่งโร๊สมะรีเฃาใช้ในงานสมรสในสมัยโบราณ, ฉนั้นนางนมจึ่งนำมาเล่าว่าจูเลียตกล่าวถึงโร๊สมะรีและโรเมโอควบกันอยู่, เพื่อแสดงว่าจูเลียตรักโรเมโอจริง ๆ.

๒๖. “นั่นเปนชื่อหมาต่างหาก;” [องก์ที่ ๒ ตอนที่ ๔, น่า ๗๖.]- นี่เล่นตลกอย่างแบบอังกฤษแท้, และเปนอย่างอังกฤษโบราณด้วยซ้ำ, ฉนั้นถ้าอ่านคำโต้ตอบตอนนี้ไปเฉย ๆ คงไม่รู้สึกขันเลย, ดังนี้จึ่งจำเปนต้องขออธิบายว่า “อาร๎” ซึ่งเปนนามของอักษร “R” นั้น พะเอินมีสำเนียงตรงกับคำว่า “อาร์” (Arre) ซึ่งแปลว่าหมาคำราม; คือเสียงที่ไทยเราได้ยินเปน “กร้าว” เฃาได้ยินเปน “อาร์” เหตุฉนี้เมื่อโรเมโอกล่าวว่าโร๊สมะรีและโรเมโอตั้งต้นด้วย R (ร) ทั้งสองอย่าง, นางนมจึ่งเถียงว่า “นั่นเปนชื่อหมาต่างหาก.”

๒๗. ผู้แปลขอออกตัวไว้ว่า ตอนที่ ๔ แห่งองก์ที่ ๒ แปลยาก, เพราะเต็มไปด้วยคำพูดตลกโต้ตอบกันในเชิงเล่นสำนวน, และกล่าวถึงข้อขำต่าง ๆ ซึ่งแม้ในประเทศอังกฤษสมัยปัตยุบันนี้ก็ไม่ใคร่มีผู้เฃ้าใจมากนัก, เพราะเปนของฃำสำหรับกับสมัยของเชกส๎เปียร์โดยแท้. เหตุฉนี้จึงต้องมีคำอธิบายช่วยในตอนนี้มากกว่าตอนใดๆ ที่มีมาแล้ว, เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เฃ้าใจมากขึ้นบ้างสักเล็กน้อย.

๒๘. “อัลละส๎ตอคคาตะ” (“Alla Stoccata”) - [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๑, น่า ๘๘.]- เปนศัพท์ในการแทงดาพ, เปนท่าแทงอย่าง ๑.

๒๙. “---ชีวิตของท่านชีวิตหนึ่งในเก้าที่ท่านมีอยู่.” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๑, น่า ๘๘.] - ในประเทศอังกฤษเฃากล่าวกันว่า แมวมีเก้าชีวิต, เพราะฆ่าตายยากนัก.

๓๐. “ปัสสาโด” (“Passado”) - [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๑, น่า ๘๘.] - เปนศัพท์ในการแทงดาพ, เปนท่าหลบหรือรุก.

๓๑. “เพื่อเนตร์ทิวาได้หลับ,” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๒, น่า ๙๕.]-ตรงนี้ของเดิมเฃาว่า, “That runaway’s eyes may wink” ดังนี้, จึ่งต้องใคร่ครวญว่าคำ “runaway” มุ่งกล่าวถึงใครหรืออะไร. ครั้นจะแปลไปแต่เพียงให้ตรงตามคำภาษาอังกฤษเท่านั้นก็จะเปนเช่นนี้, คือ: “เพื่อตาของผู้หนีจะได้หลับ” ถ้าแปลเช่นนี้ก็คงถูกผู้อ่านถามว่าใครเล่าเปนผู้หนี. ฃ้าพเจ้าเห็นว่าความในตอนต้นแห่งคำพูดได้กล่าวมาแล้วถึงตวันและเวลากลางวันกลางคืน, จึ่งสันนิษฐานว่า “ผู้หนี” คงหมายความว่าเวลากลางวัน, ซึ่งหนีเวลากลางคืนไป, และตาของกลางวันก็คือดวงตวันนั้นเอง. ดังนี้จึ่งได้ตกลงแปลบรรทัด “That runaway’s eyes may wink” ว่า “เพื่อเนตร์ทิวาได้หลับ,” ตามอัตตโนมัติของฃ้าพเจ้า, ซึ่งถ้าปริญญาผู้รอบรู้ในนิพนธ์ของเชกส๎เปียร์ไม่เห็นชอบด้วยก็ขออภัยเสียเถิด.

๓๒. “หัน” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๒ น่า ๙๕.]- ใช้แทน “เห็น” ตามแบบภาษาไทยเก่า. ในมณฑลภาคพายัพเฃายังใช้คำว่า “หัน” แทน “เห็น” อยู่ณกาลบัดนี้.

๓๓. “ฉนั้น, แตรอันแรงฤทธิ์, จงเป่ากัลปะบรรลัย !” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๒, น่า ๙๘.] - ฝ่ายคริสตังถือกันว่าเมื่อถึงกำหนดบรรลัยกัลป์จะมีเทวทูตมาเป่าแตรเปนสัญญา.

๓๔. “อัควะวิตี” (Aqua vitae) – [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๒, น่า ๙๙.] - สุราอย่างแรงเช่นบรั่นดี.

๓๕. “แต่ฃ้า, พรหมจาริ, จะตายสาวหม้าย, โอ้!” - [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๒, น่า ๑๐๒.] - ภาษาอังกฤษมีว่า, “But I, a maid, die maiden-widowed.” ฃ้าพเจ้าแปลศัพท์ “Maiden-widowed” ว่า “สาวหม้าย,” ซึ่งบางทีก็จะถูกท้วงบ้างว่าอุตตริ, เพราะไม่เคยเห็นมีใครใช้ที่ไหน. หญิงสาวที่มีผู้สู่ขอแล้วแต่ฝ่ายเจ้าบ่าวตายเสียก่อนที่ได้แต่งงานกัน, ไทยเรียกว่า “หม้ายเหนือขันหมาก;” แต่จะใช้ศัพท์นี้ในที่นี้ไม่เหมาะ, เพราะประการที่ ๑ โรเมโอและจูเลียตไม่ได้ทำการสมรสกันโดยวิธีแต่งงานขันหมาก, และประการที่ ๒ ศัพท์ “หม้ายเหนือขันหมาก” เอาเฃ้ากาพย์ในตอนนี้ไม่สดวก. ครั้นจะใช้คำว่า “หม้ายสาว” ก็จะผิดความมุ่งหมายไป, เพราะอาจแปลได้ว่าเปนหญิงที่มีสามีแล้วและสามีตายลงในเมื่อหญิงนั้นยังมือายุไม่แก่; แต่ที่ต้องการในที่นี้คือจะกล่าวถึงหญิงสาว (พรหมจารี) ที่กำลังจะมีสามี แต่ต้องพรากกันเสียก่อนที่ได้อยู่ด้วยกัน, ฃ้าพเจ้าจึงเห็นว่าเรียกว่า “สาวหม้าย” เปนเหมาะกว่าอย่างอื่น, ยอมถูกท้วงว่าอุตตริ. แต่ถ้าไม่มีใครอุตตริอย่างนี้บ้างภาษาก็คงไม่เดิน, และเชกส๎เปียร์นั้นแหละเปนผู้ที่อุตตริมากในทางประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นเพื่อใช้เหมาะแก่การนิพนธ์, แล้วต่อมาศัพท์ที่เชกส๎เปียร์อุตตริประดิษฐ์ขึ้นก็เลยกลายเปนศัพท์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษดังนี้ฉันใด, ฃ้าพเจ้าผู้แปลเชกส๎เปียร์ก็ลองประดิษฐ์หรือผสมศัพท์ขึ้นใหม่บ้างฉันนั้น, ซึ่งถ้าเปนการอวดดีเกินไปก็ขออภัยด้วยเถิด.

๓๖. “ภรรยาฉันผู้ซ่อน ----ฯลฯ” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๓, น่า ๑๐๘.] - ในที่นี้โรเมโอกล่าวถึงจูเลียตว่า “ภรรยาฉันผู้ซ่อน” ดังนี้เพราะได้แต่งงานกันโดยลับ, มิได้บอกแก่บิดามารดารู้. ส่วนคำว่า “รักที่เลิกกัน” ก็แปลว่าโรเมโอเกรงว่าเมื่อได้ฆ่าญาติสนิทของจูเลียตลงแล้วเช่นนั้นคงจะต้องเลิกกัน. อนึ่งในที่นี้จำเปนต้องเอาความใน ๒ บรรทัดแห่งฉบับเดิม สับเปลี่ยนและผูกขึ้นใหม่เพื่อให้เฃ้าใจในภาษาไทย. ของเดิมมีอยู่ว่า:-

“Where is she? and how doth she? and what says”

“My conceal’d lady to our cancell’d love?”

ดังนี้ถ้าจะขืนแปลบรรทัดต่อบรรทัดคงขัดหูและไม่เฃ้าใจชัดในภาษาไทยด้วย, จึ่งต้องเอาความใน ๒ บรรทัดนี้รวมกันเฃ้าแล้วผูกขึ้นใหม่ให้คงได้เปน ๒ บรรทัดเท่าแบบเดิม.

๓๗. องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕ [น่า ๑๑๕.] - ฉบับเคมบริดจ์ว่าฉากนี้เปน “สวนของคาปุเล็ต.” แต่มีฉบับอื่น ๆ อีกหลายฉบับบอกว่า “ห้องนอนของจูเลียต.” ฃ้าพเจ้าเห็นว่าการที่จะกำหนดฉากเปนในสวนนั้นดูไม่เหมาะแก่การที่มารดาของจูเลียตจะไปพบ, เจเราะถ้าท่านอ่านไปคงจะพบตอนที่โรเมโอปีนน่าต่างออกจากห้องจูเลียต, ซึ่งถ้าเช่นนั้นแปลว่าจะต้องออกมาพูดกันที่บนเกยน่าต่างตลอดไป, คนดูจึ่งจะได้เห็นตัวลคร. แต่ตรงกันฃ้าม, ถ้ากำหนดฉากไว้ว่า เปนห้องนอนของจูเลียตเปนลงรอยกันได้หมด, คือโรเมโอกับจูเลียตพูดร่ำลากันอยู่, นางนมออกมาบอกว่าคุณแม่จะมา, โรเมโอก็ปีนน่าต่างหนีไป, แล้วคุณหญิงคาปุเล็ตจึ่งออก, ดูเปนที่เรียบร้อยดี. ฃ้าพเจ้าจึ่งตกลงกำหนดฉากลงไว้ในที่นี้ว่า “ห้องนอนของจูเลียต.”

๓๘. “นกไนติงเกลนี่, มิใช่ล๊าร์กที่เริงร้อง.” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕ น่า ๑๑๕.] - นกไนติงเกล (Nightingale) เปนตัวย่อมๆ, ซึ่งร้องแต่ในเวลากลางคืน, และนกล๊าร์ก (Lark) คือนกที่ไทยเราเรียกว่ากระจาบฝน, ร้องแต่เวลาเช้าตวันขึ้นใหม่ ๆ. นกทั้ง ๒ ชนิดนี้เปนนกที่จีนตกวีอังกฤษชอบกล่าวถึงเมื่อแต่งเรื่องสังวาศ, เช่นเดียวกับจินตกวีของเรา ชอบกล่าวถึงนกจากะวาก, นกโกกิลาหรือดุเหว่าเปนต้น.

๓๙. “เฃาว่านกล๊าร์กกับคางคกร้ายแลกตากัน”- [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕, น่า ๑๑๗] - มีผู้อธิบายว่า. โดยเหตุที่คางคกมีตางามและนกล๊าร์กตาไม่งาม, จึ่งกล่าวกันว่าสัตว์ทั้งสองได้แลกตากัน. อาศัยความนิยมเช่นนี้, จูเลียตจึงกล่าวต่อไปว่า ถ้าให้มันแลกเสียงกันเสียด้วยจะเหมาะกว่า, เพราะดังนี้เสียงนกล๊าร์กจะได้ไม่เปนสัญญาประกาศว่ารุ่งแล้ว.

๔๐. “เคานตี” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕, น่า ๑๒๒.] - คือปารีส, ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ขุนนางเรียกตามภาษาอิตาเลียนว่า “คอนเต” (Conte), เชกส๎เปียร์ใช้ว่า “เคานตี” (County) ดังนี้ทุกแห่ง. ในสมัยนี้อังกฤษเรียกขุนนางชั้นนี้ว่า “เคานต์ (Count).

๔๑. “หาไม่จะเอาตัวขึ้นรั้วลากไปประจาร.” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕, น่า ๑๒๔.] - ในสมัยของเชกส๎เปียร์และต่อๆ ลงมาจนในไม่ช้านัก, นักโทษที่จะถูกประหารชีวิตเฃาเอาตัวผูกบนรั้วลากไปตามถนนจนถึงที่ประหารชีวิต, เปนการตระเวนประจาร.

๔๒. “อีสามาญซากไข้เขียว” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕, น่า ๑๒๔.] - เปนคำผรุสวาท, อย่างเดียวกับที่ไทยเราใช้ว่า “อีตายห่า” นั้นเอง.

๔๓. “ผัวฉันยังอยู่ในแดนดิน, สัตย์อยู่ในสวรรค์; - ฯลฯ” [องก์ที่ ๓ ตอนที่ ๕. น่า ๑๒๗.] - หมายความว่า ผัวก็ยังมีชีวิตอยู่, และเมื่อทำพิธีสมรสกันตามประเพณีต่อหน้านักบวชแล้ว, จำต้องถือว่าได้ให้สัตย์ปฏิญญาแก่กันต่อหน้าพระผู้เปนเจ้า, เท่ากับฝากคำสัตย์ไว้ในสวรรค์แล้ว, ฉนั้นถ้าจะคืนคำสัตย์ปฏิญญานั้นได้ ก็ต่อเมื่อฝ่าย ๑ ตายไปเสียก่อนแล้วเท่านั้น.

๔๔. “โอ้เรารู้เกินดีว่าควรรอเพื่อเหตุใด” [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๑, น่า ๑๓๑.] - ภาตาลอเรนซ๎กล่าวเช่นนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าจูเลียตได้แต่งงานเสียแล้วกับโรเมโอ, แต่เปนความลับยังขยายไม่ได้, จึ่งต้องพูด “ป้อง.” คำพูดบรรทัดนี้ ภาษาอังกฤษว่า:

“I would I knew not why it should be slow’d”

แปลตามตรง ๆ ก็ต้องว่า “ฃ้าอยากที่จะไม่รู้ว่าทำไมจึ่งควรรอ,” หรืออีกนัย ๑ ว่า “ถ้าฃ้าไม่ได้รู้เสียแล้วว่าเหตุใดจึ่งควรรอก็จะดี,” ซึ่งเอาเฃ้ากาพย์ตรงนี้ไม่สดวกเลย, ฃ้าพเจ้าจึ่งแปลเปลี่ยนเปนให้บ่นดังที่ปรากฎอยู่ในบทบัดนี้.

๔๕. “นี่จวนราตรีกาล”. [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๒, น่า ๑๓๙.] - มีผู้ทักว่า, ในองก์ก่อนนี้ปรากฎว่า เมื่อโรเมโอจากจูเลียตไปเปนเวลารุ่ง, และเมื่อได้พูดกับบิดามารดาแล้วจูเลียตก็ไปหาภาตาลอเรนซ๎, แล้วก็คงกลับมาบ้านในเวลาเช้า; ฉนั้นที่คุณหญิงคาปุเล็ตกล่าวว่าจวนค่ำแล้ว ดูจะคลาดเคลื่อนไป. แต่ในฉบับเดิมของเชกส์เปียร์มีชัดเจนอยู่เช่นนั้น, จึ่งไม่มีผู้ใดกล้าแก้.

๔๖. “ว่านคน” (Mandrake) - [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๓, น่า ๑๔๒] - เปนต้นว่านชนิดหนึ่งซึ่งมีรากเปนสองแพรก, ทำให้ดูคล้าย ๆ ฃาคน, และซึ่งชาวยุโรปโบราณว่าเปนยาทำใช้เมาได้ชนิดหนึ่ง. ในสมัยก่อนโน้นกล่าวกันว่า, เมื่อถอนขึ้นจากดิน ว่านคนร้องกรีดดัง, ซึ่งทำให้ผู้ถอนเปนบ้า. ฉนั้นตามตำรายาโบราณจึ่งมีคำแนะนำไว้ว่า ถ้าต้องการว่านคนให้เอาสุนักไปผูกติดกับต้น, และเมื่อเอามืออุดหูคนเองเสียแล้ว, ให้สุนักถอนต้นว่านแทน.

๔๗. “อันเจลิคา” [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๔, น่า ๑๔๔.] - เปนชื่อผู้หญิง. น่าจะเปนชื่อของคุณหญิงคาปุเล็ต.

๔๘. “ไปเถิด, คุณกะเทย, ไป,” [องค์ที่ ๔ ตอนที่ ๔, น่า ๑๔๔.] - คาปุเล็ตลงมือทำงานเองยุ่งเหมือนผู้หญิง, นางนมจึ่งเรียกในภาษาอังกฤษเดิมว่า “Cot-quean” ซึ่งแปลว่าหญิงแม่แปรก. แต่ครั้นจะแปลลงไว้ในที่นี้ว่าหญิงแม่แปรกก็เกรงว่าจะทำให้ฉงน, จึ่งได้ใช้คำว่ากะเทยแทน.

๔๙. “............พร้อมด้วยดนตรี,” [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๔, น่า ๑๔๕.] - เปนประเพณีในประเทศอิตาลีสมัยโน้น เจ้าบ่าวต้องนำดนตรีไปในเวลาเช้าวันแต่งงาน, เพื่อบรรเลงปลุกเจ้าสาวและกล่อมในเวลาแต่งตัว.

๕๐. “โร๊สมะรี” [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๕, น่า ๑๕๐.] - เปนต้นไม้ชนิดที่ใบเขียวอยู่นาน, จึ่งใช้แต่งทั้งในงานวิวาหมงคลและงานศพ, หมายความว่าผู้ที่รักจะจำไว้โดยไม่มีเวลาลืม, ความจำคงสดชื่นอยู่เช่นโร๊สมะรี. [ดูคำอธิบายที่ ๒๕ ด้วย.]

๕๑. “เรเราและฟาเรา” [องก์ที่ ๔ ตอนที่ ๕, น่า ๑๕๓.] - “เร และ “ฟา” เปนชื่อศัพทะลิขิต (โน๊ต) สำหรับเขียนเพลงดนตรี.

๕๒. “บดีแห่งทรวงเรานั่งเริงบนภัทรบิฐ” [องก์ที่ ๕ ตอนที่ ๑, น่า ๑๕๕.] - บรรทัดนี้ฃ้าพเจ้าได้แปลตรงจากภาษาอังกฤษซึ่งมีอยู่ว่า:-

“My bosom’s lord sits lightly in his throne,”

ยังเปนปัญหาอยู่ว่าจะมุ่งกล่าวถึงใจ ซึ่งเปนเจ้าแห่งอก, หรือมุ่งถึงรัก; ฉนั้นฃ้าพเจ้าจึ่งแปลตรงตามศัพท์เดิมโดยมิได้แก้ไข, มอบไว้ให้ผู้อ่านวินิจฉัยเองว่า “บดีแห่งทรวง” นั้นหมายความว่าอะไร.

๕๓. “ดะคัต” (Ducat)- [องก์ที่ ๕ ตอนที่ ๑, น่า ๑๕๘.] - เปนเหรียญทองหรือเงิน. ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศในยุโรปเมื่อสมัยของเชกส๎เปียร์.

๕๔. “บางคนจะได้อภยะนา, นรผิดจะลงทัณฑ์” [องค์ที่ ๕ ตอนที่ ๓, น่า ๑๘๐.] - ตามนิทานเก่าปรากฎว่า นางนมถูกเนรเทศ, เพราะได้ปิดความเรื่องสมรสไว้; ทนายของโรเมโอได้รับอภัย; คนฃายยาถูกแขวนคอ; ภาตาลอเรนซ๎ได้อภัย, ย้ายออกไปอยู่วัดนอกเมืองเวโรนา, และต่อไปอีก ๕ ปีถึงมรณภาพที่นั้น.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ