คำนำ

ลครสลดใจเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” ของเชกส๎เปียร์ เปนเรื่องที่มีคนรู้จักแพร่หลายมากอยู่เรื่องหนึ่ง, และเปนเรื่องที่มักมีผู้นำออกแสดงในโรงลครต่าง ๆ ในประเทศยุโรป, ไม่แต่จำเพาะในประเทศอังกฤษ, ทั้งในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย. นอกจากที่ถ้อยคำสำนวนและโวหารไพเราะจับใจ, เนื้อเรื่องก็จับใจคนโดยมาก. เปนเรื่องแสดงความรักอย่างใหญ่ยิ่งระหว่างหนุ่มกับสาว, ความรักซึ่งไม่ยอมหยุดชงักเพราะอุปสรรคใด ๆ, เปนความรักอันบริสุทธิ์ผ่องใสไร้ราคีโทษ, อันบันดาลให้คู่รักกลายเปนวีระชนผู้ยอมเสียสละทุกสถาน, แม้ถึงชีวิตของคนเอง, เพื่อเปนพลีแก่ความรัก.

เรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” นี้ นักปราชญ์อังกฤษสันนิษฐานกันว่า เชกส๎เปียร์ได้เนื้อเรื่องมาจากนิทานที่ได้มีผู้แต่งขึ้นตามเค้าประวัติการที่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ในเมืองเวโรนาในประเทศอิตาลีราวปีคริสตะศก ๑๓๐๓ (พ.ศ. ๑๘๔๗). ส่วนลครของเชกส๎เปียร์นั้น ได้แสดงออกโรงเปนครั้งแรกในปีคริสตะศก ๑๕๙๖ (พ.ศ. ๒๑๓๙), แต่จะได้แต่งขึ้นเมื่อใดหาปรากฎในแห่งใด ๆ ไม่. ในฉบับที่พิมพ์ขึ้นแรก เรื่องลครนี้หาได้จัดแบ่งไว้เปนองก์ไม่, คงมีแบ่งแต่เปนตอน ๆ ตามสถานที่ซึ่งต้องเปลี่ยนไปในเวลาดำเนินเรื่องเท่านั้น การแบ่งเปนองก์ได้มีผู้จัดทำขึ้นต่อภายหลัง.

ในที่นี้บางทีจะไม่เปนการนอกเรื่องเกินไปนัก ถ้าฃ้าพเจ้าจะขอชี้แจงว่า วิธีเล่นลครในสมัยเมื่อเชกส๎เปียร์มีชีวิตอยู่นั้น, หาเหมือนกับวิธีเล่นลครพูดในยุโรปสมัยนี้ไม่, ในสมัยของเชกส๎เปียร์ลครเล่นคล้ายงิ้วมากกว่าอย่างอื่น. คือมียกพื้นเปนเวทีสำหรับเปนที่ลครเล่น, มีที่คนดูเปนวงรูปเกือกม้าอยู่ฃ้างหน้าเวที, และบนเวทีนั้นมีประตูเฃ้าออกจากในโรง, และมีน่าต่างกับเกยสำหรับเยี่ยมออกมาได้จากในโรง. ส่วนฉากนั้นหาได้มีเขียนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่; อย่างมากก็มีแต่ม่านมากั้นเฃ้าสักผืน ๑ ตามที่ต้องการ. เมื่อถึงตอนใดสมมุติว่าสถานที่เปนห้องก็ยกเครื่องเรือนออกมาตั้งตามที่ต้องการ. และเมื่อจบตอนนั้นแล้วก็ยกแอบไปเสียเท่านั้น. เพื่อให้รู้ว่าตอนใดเปนสถานที่ใด มีป้ายเขียนบอกสถานที่นั้น ๆ ออกมาแขวน. บนเวทีนั้นคนดูบางคนขึ้นไปนั่งดูลครก็มี. ส่วนเครื่องแต่งตัวก็มิได้พยายามเลยที่จะใช้เหมือนเครื่องในสมัยแห่งเรื่อง; แต่ลครแต่งเสื้อผ้าที่เห็นงามตามสมัยของตนนั้นเอง ในสมัยโน้นลครเปนผู้ชายทั้งหมด, ใช้เด็กชายเปนตัวผู้หญิงแทน, เช่นเดียวกับงิ้ว. เมื่อการเล่นเปนอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น, เรื่องลครแม้ที่ยาว ๆ อย่างเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” นี้ ก็อาจเล่นให้จบเรื่องได้ภายในเวลาประมาณสองชั่วโมงเท่านั้น มาในชั้นหลัง ๆ, เมื่อได้เกิดมีฉากเขียนเปนรูปสถานที่ต่าง ๆ และต้องเปลี่ยนฉากทุก ๆ ตอน, เรื่องลครยาว ๆ จะเล่นให้จบตลอดเรื่องทีเดียวไม่ใคร่ได้, มักต้องตัดทอนออกเสียบ้างบางตอน, แต่มิให้เสียรูปเดิม.

นามแห่งตัวสำคัญ ๆ ในเรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” โดยมากเชกส๎เปียร์ใช้ตามนามที่ปรากฎในเรื่องนิทานที่กล่าวแล้วฃ้างบนนี้, แต่มีดัดแปลงนามเพื่อให้เฃ้าหูคนอังกฤษในสมัยนั้นบ้าง, เช่นนามสกุลของโรเมโอ เชกส๎เปียร์ใช้ว่า “มอนตะคิว”, ซึ่งตามของอิตาเลียนเดิมเปน “มอนเต็คคิโอ” นามสกุลของจูเลียต เชกส๎เปียร์ใช้ว่า “คาปุเล็ต” ซึ่งตามของอิตาเลียนเดิมเปน “คาเป็ลเล็ตตะ”; นามเจ้าผู้ครองนครเวโรนา เชกส๎เปียร์เรียกว่า “เอ็สเคลัส”, แต่ส่วนเจ้าผู้ครองนครเวโรนาในสมัยคริสตะศก ๑๓๐๓ นั้น ปรากฎว่าชื่อ “บาร์โตโลเมโอ เดลลา ส๎คาลา”, ดังนี้เปนต้น. ส่วนตัวลครที่มิใช่ตัวสำคัญเปนแต่ตัวประกอบเรื่อง, และเชกส๎เปียร์คิดเพิ่มเติมขึ้นเอง, เช่นพวกทนายและคนใช้เปนต้น, มักมีนามเปนอย่างอังกฤษ, เช่นเดียวกับที่ปรากฎในลครอื่น ๆ ทั้งปวงของเชกส๎เปียร์. ในการเขียนนามบุคคลต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ฃ้าแจ้าเขียนตามสำเนียงอังกฤษทั้งนั้น, เพราะผู้แต่งเดิมเฃาเปนอังกฤษ.

แต่ถึงเชกส๎เปียร์จะได้เอาเนื้อเรื่องเก่ามาผูกขึ้นเปนบทลคร และได้ใช้นามบุคคลตามที่มีในเรื่องนั้นก็ดี, นักปราชญ์ผู้ที่ได้เทียบเรื่องเก่ากับบทลครของเชกส๎เปียร์แล้วลงความเห็นว่าเชกส๎เปียร์ได้ใช้เรื่องเก่าเปนแต่เพียงโครงเท่านั้น, ส่วนการแสดงลักษณะแห่งบุคคลและดำเนินเรื่อง, อีกทั้งโวหารและวิธีประพนธ์ที่ทำให้ไพเราะจับใจ เปนของเชกส๎เปียร์เองโดยแท้.

เรื่อง “โรเมโอและจูเลียต” ยังไม่เคยมีผู้ใดแปลเปนภาษาไทยเปนบทลครตามรูปเดิมของเชกส๎เปียร์เลย, เมื่อเปนเช่นนี้ ฃ้าพเจ้าก็ย่อมจะต้องรู้สึกอยู่ดีว่าได้ทนงทำการอันยากปานใด, เพราะการที่ทำอะไรที่ไม่มีใครได้เคยทำเปนการนำทางมาก่อนแล้วย่อมจะเปนการยากกว่าทำตามอย่างผู้อื่นเฃา. แต่อาศัยเหตุที่ได้ทราบว่านักเลงหนังสือ ได้มีความเมตตากล่าวแล้วว่า เรื่องลครของเชกส๎เปียร์ที่ฃ้าพเจ้าได้แปลไว้แล้วก่อนนี้สองเรื่องพอใช้ได้, ฃ้าพเจ้าจึ่งจับแปลเรื่องนี้อีก. แน่ทีเดียวตัวฃ้าพเจ้าเองต้องเปนคนสุดท้ายที่จะหาญกล่าวว่าคำแปลนี้ถูกต้องหรือใกล้ฉบับเดิมมากที่สุด, แต่ฃ้าพเจ้ากล่าวได้ว่า ฃ้าพเจ้าได้ตั้งใจแปลให้ใกล้ฉบับเดิมมากที่สุดที่ภาษาและโวหารจะยอมให้แปลได้. อย่างไร ๆ ก็ดี, ถึงคำแปลนี้จะบกพร่องปานใด ก็คงจะยังดีกว่าที่จะไม่มีผู้พยายามแปลเสียเลย. เมื่อฃ้าพเจ้าได้แปลแล้วเช่นนี้, ผู้ใดเปนปริญญารอบรู้ในภาษาอังกฤษจริง ๆ แม้ได้อ่านคำแปลของฃ้าพเจ้าสอบกับฉบับภาษาอังกฤษ, ก็อาจที่จะแลเห็นได้ว่าแห่งใดบ้างยังบกพร่องอยู่, แล้วก็จะได้มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้ศึกษาต่อไปฃ้างหน้า.

ในที่สุดฃ้าพเจ้าขอกล่าวไว้ว่า ในการประพนธ์คำกลอนภาษาไทยในเรื่องลครนี้ ฃ้าพเจ้าตั้งใจให้ใกล้สำนวนและโวหารเดิมของเชกส๎เปียร์ มากกว่าคำนึงถึงความไพเราะทางกาพย์ภาษาไทย, ฉนั้นถ้าท่านผู้ใดเปนจินตกวีในสยามภาษา, แต่มิได้รอบรู้ในภาษาอังกฤษโดยชำนิชำนาญ พอที่จะอ่านภาษาอังกฤษเก่าอย่างที่ใช้ในหนังสือของเชกส๎เปียร์, ขอจงได้เมตตาอย่าแคะไค้ค่อนบทกลอนของฃ้าพเจ้า ก่อนที่ได้สอบสวนดูให้ทราบชัดว่าบทกลอนนั้น ๆ ใกล้หรือไกลกับความเดิมที่มีในบทลครของเชกส๎เปียร์ปานใด. ท่านผู้ใดที่ได้ตรวจสอบเทียบบทกลอนภาษาไทยของฃ้าพเจ้ากับบทภาษาอังกฤษเดิมของเชกส๎เปียร์แล้ว และกล่าวทักท้วงตรงที่ใด ๆ, ฃ้าพเจ้าจะยินดีรับคำทักท้วงเช่นนั้นด้วยความเคารพ, และขออภัยในส่วนความบกพร่องของฃ้าพเจ้าด้วย.

<รามวชิราวุธ ปร>

พระที่นั่งพิมานปฐม,

พระราชวังสนามจันทร์. นครปฐม.

วันที่ ๑ มิถุนายน, พ.ศ. ๒๔๖๕.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ