- คำนำ
- บานแพนก
- พระคัมภีร์สมฏฐานวินิจฉัย
- พระคัมภีร์วรโยคสาร
- พระคัมภีร์มหาโชตรัต
- พระคัมภีร์ชวดาร ว่าด้วยโรคเกิดในกองลมต่างๆ
- พระคัมภีร์โรคนิทาน
- พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์
- พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ
- พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา
- พระคัมภีร์ตักศิลา ว่าด้วยไข้เหนือ ไข้พิศ, ไข้กาฬ, หัด.ฝีกาฬ, ไข้กระโดง, ไข้หวัด, เปนต้น
- พระคัมภีร์ไกษย เล่ม ๑ โดยสังเขป
ว่าด้วยบุรุษเปนไส้ด้วนไส้ลาม
ทีนี้จะว่าด้วยบุรุษเปนไส้ด้วน เปนบุพโพ ๔ ประการ คือเปนด้วยเสพมาตุคามกระทบช้ำใน ถ้ามิดังนั้นก็เปนด้วยเสพสัตรีลามก ก็ให้เปนเม็ดขึ้นมาประมาณเท่าเม็ดถั่วดำ ขี้นที่ปลายองคสูตรปลายองคชาตก็ดี ขึ้นรอบองคชาตนั้นก็ดี แตกเปนน้ำเหลืองบุพโพโลหิตให้ทำพิษเจ็บปวดแสบร้อน แลให้ร้อนดังไฟลามเหน้าเข้าไปแต่ปลายองคชาต บางทีกัดฅอองคชาตเหน้าเข้าไปทุกวันทุกวัน จนถึงโคนองคชาตเมื่อใด ก็ตายเมื่อนั้นแล
อันว่าเปนไส้ลามนั้น คือผุดขึ้นมาเปนเม็ดๆดุจกัน แต่ว่าเปนเม็ดแต่ข้างในออกมา บางทีก็เปื่อยทั้งข้างนอกข้างในลามขึ้นมาถึงท้องน้อยผุดดังเปนฝี แล้วก็เปนบุพโพออกมาทางทวารหนักเบา บุรุษสัตรีเปนเหมือนกัน ครั้นเปนดังนั้นแล้วก็ให้เปนไปต่างๆ บางทีให้ลงท้องเปนมูกโลหิต ให้ปวดมวนจุกเสียดแน่นในอก เพราะน้ำเหลืองนั้นแล่นเข้าไปตามลำไส้ มักให้อาเจียนกินอาหารมิได้ บางทีให้ลมจับเนืองๆ ถ้าเปนดังนี้ท่านว่าเข้าอยู่ในมือพระยามัจจุราชแล
อนึ่งอันว่าโรค ๒ ประการ คือไส้ด้วนไส้ลามยาใช้เหมือนกัน แปลกกันแต่ยาทา แม้นเปนอย่างไรให้แก้ตามกระบวนโรคนั้นเถิด
ถ้าเปนไส้ด้วน เมื่อแรกตั้งนั้นเปนเม็ดขึ้นมา ท่านให้ทำยาจุดให้หัวนั้นฝ่อไป อย่าให้ทันเปนบุพโพได้
ให้เอาเห็ดมูลโค ๑ เห็ดระย้า ๑ เห็ดกะถินพิมาน ๑ เห็ดไม้แดง ๑ ถ่านไม้รวก ๑ ถ่านไม้ซาก ๑ ถ่านไม้สัก ๑ รากลำโพงกาสลัก ๑ ใบครามย้อมผ้า ๑ ฝาง ๑ เปลือกรากหมีเหม็น ๑ รากขัดมอน ๑ รวมยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ฝิ่น ๒ สลึง บดด้วยสุราเปนกระสายทำแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใสทาหายแล
อนึ่งยาต้มแก้พิษปวดแสบร้อน เอาเชือกเขามวก ๑ คุคะ ๑ หัวผักบุ้งเทศ ๑ เห็ดกะกินพิมาน ๑ เห็ดมูลโค ๑ รากนางแย้ม ๑ รากเล็บมือนาง ๑ รากโมง ๑ เอาสิ่งละ ๑ บาท บดทาแก้ปวดร้อนหายแล
ถ้าร้อนหนักเอาหัวบานเย็น ๑ ยาเข้าเย็น ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ เปลือกหอยโข่งเผา ๑ ฝุ่นจีน ๑ บดละลายน้ำปูนใสทาหายแล
ถ้ามิหายให้ร้อนหนักท่านให้เอา ก้ามปูทะเลเผา ๑ เปลือกหอยโข่งเผา ๑ รากลำโพงแดง ๑ รากขัดมอน ๑ ฝางเสน ๑ ดินประสิว ๑ เปลือกจิกนา ๑ ผลจิกนา ๑ เอาเสมอภาค บดด้วยน้ำลายจรเข้เปนกระสายทาหายแล
ยาทั้ง ๔ ขนานนี้แก้ได้ทั้งไฟลามทุ่งลามเพลิง ถูกไฟถูกดินประสิว ลูกตะกั่วซัดน้ำมันก็ได้ทุกประการ ได้ทำมามากแล้ว
ถ้ายอดนั้นแตกออกให้แสบร้อน เปนน้ำเหลืองก็ดี ให้เอาเปลือกปะโลง ๑ ไส้ในหมากดิบ ๑ กฤษณา ๑ เปลือกกะทุ่มขี้หมู ๑ ปูนพลู ๑ บดด้วยน้ำมันทารัดแห้งเข้าเองแล
ถ้ามิฟังพิษนั้นกล้านักมักเผาเอาเนื้อนั้นสุก เหน้าเข้าไปแต่ปลายองคชาตทุกวันๆก็ดี ท่านให้หุงน้ำมันนื้ใส่ดับพิษทั้งรักษาเนื้อไว้มิให้เหน้าเข้าไปได้ ท่านให้เอามะพร้าวงอกบนต้น เขี้ยวน้ำมันให้ได้ถ้วย ๑ จึงเอาใบกะเม็ง ๑ ใบยาสูบสดๆ ๑ เปลือกโพกพาย ๑ เปลือกจิก ๑ เปลือกกรด ๑ เบญจลำโพง ๑ ใบเทียน ๑ ใบทับทิม ๑ ใบขมิ้นอ้อย ๑ ใบเลี่ยน ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละถ้วย ใส่ลงกับน้ำมันมะพร้าวหุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วเอาน้ำมันแมวดำชาตรีจอก ๑ น้ำมันฟองไก่จอก ๑ น้ำมันไขข้อโคจอก ๑ ปรุงใส่ลงเถิดวิเศษนัก น้ำมันนี้ท่านตีค่าไว้ตำลึงทองหนึ่ง ใช้ได้ทุกประการ แลตานทรางสรรพพิษฝีเปื่อยเหน้า ทั้งแก้มิให้เปนด่างเปนแผลให้คงคืนดีดังเก่า แลแก้ไส้ด้วนไส้ลาม ดังกล่าวมาแต่หนหลังหายสิ้นอย่าสนเท่ห์เลย ได้ทำมามากแล้ว ตำรานี้ฝรั่งเอามาแต่เมืองยักกัตราแล
น้ำมันแก้เปื่อยลำลาบเข้าไปถึงในท้องลำไส้ คือดังกล่าวมาแต่หนหลังนั้น ท่านให้หุงน้ำมันกินภายใน เอาใบประทุมราชา ๑ ใบหญ้างวงช้าง ๑ ใบตานหม่อน ๑ ใบตะไคร้น้ำ ๑ ตะไคร้บก ๑ ใบตะไคร้หางนาค ๑ ใบส้มหมู ๑ ใบโกลน ๑ หญ้าแพรก ๑ หญ้าปากควาย ๑ ใบฝาง ๑ ใบคนทา ๑ ใบนนทรี ๑ ใบปีบ ๑ ใบจิงจ้อ ๑ ใบผักเค็ด ๑ ใบชุมเห็ดไทย ๑ ใบขี้เหล็ก ๑ ใบสะเดา ๑ ใบผักปลาบ ๑ ใบผักเปลว ๑ ใบขมิ้นอ้อย ๑ ใบไม้ ๒๒ สิ่งนี้เอาน้ำสิ่งละทนาน แล้วจึงเอาแก่นปรู ๑ แก่นมะหาด ๑ แก่นขี้เหล็ก ๑ แก่นมะเกลือ ๑ แก่นสน ๑ ไม้สัก ๑ กรักขี ๑ ประดู่ ๑ พะยุง ๑ แก่นพรม ๑ แก่นกันเกรา ๑ แก่นกะพี้เขาควาย ๑ ขันทองพะยาบาท ๑ รากพุงแก ๑ รากหนามรอบตัว ๑ รากป่าช้าหมอง ๑ ทองต้น ๑ ทองเครือ ๑ รากมะเดื่อดิน ๑ รากกะโดนดิน ๑ รากกะถินพิมาน ๑ รากโพปราสาท ๑ รากราชมานพ ๑ รากกำจัด ๑ รากโพกพาย ๑ รากพุ่มไก่ทั้ง ๒ รากกะลำเภาะ ๑ รากลูกเขยตายแม่ยายชักปก ๑ รากกำจาย ๑ รากกะทกรก ๑ รากกะทุงลาย ๑ เปลือกกะทุ่มขี้หมู ๑ เปลือกโพกพาย ๑ รากปิงคะราช ๑ รากมหาจักรพรรดิ ๑ แก่นแสมสาร ๑ แก่นแสมทะเล ๑ เบญจราชพฤกษ์ ๑ ยา ๓๙ สิ่งนี้เอาสิ่งละ ๒ บาท เคี่ยวให้คงแต่น้ำข้นเอาแต่ ๓ ทนาน ประสมกันกับยาใบไม้เอาน้ำมันงา ๓ ทนาน หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วจึงเอายาปรุงลง เอาเทียนทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๕ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ เบญจกานี ๑ สีเสียดทั้ง ๒ น้ำประสารทอง ๑ เมล็ดในฟักเข้า ๑ เมล็ดในมะนาว ๑ รวมยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง ปรุงลงที่ในน้ำมัน ให้กินดูก่อน ๓ วัน ๔ วัน แล้วจึงให้กินน้ำมันต่อไป ๗ วัน แล้วจึงให้กินยาผายเสีย แล้วจึงต้มยาสมานต่อไป
ให้เอายาเข้าเย็น ๕ ตำลึง ขันทองพะยาบาท ๒๒ บาท หนอนตายหยาก ๖ บาท แสมสาร ๔ บาท แสมทะเล ๔ บาท เปล้าใหญ่ ๔ บาท เปล้าน้อย ๔ บาท เทียนดำ ๔ บาท เทียนขาว ๔ บาท ใบถั่วแระ ๑ ใบกะเม็ง ๑ ใบผักเปด ๑ เอาสิ่งละกำมือ พริกไทย ๑ ขิง ๑ ดีปลี ๑ เอาสิ่งละ ๒ บาท สุพรรณถันเหลือง ๖ บาท ต้มกินหายวิเศษนัก
แล้วจึงต้มน้ำฝาดชะ เอาผักเสี้ยนไทยทั้งต้นทั้งราก ต้มให้งวดแล้วจึงเอาสารส้มใส่ไว้ให้เย็น ชำระแผลให้ชำระฝ้าออกให้สิ้น ให้ชะด้วยน้ำจุณสีเอาแต่ที่ใสๆ ชะเสีย ๓ วัน วันละ ๓ เวลา ครั้นสิ้นฝ้าแล้วจึงชะน้ำยาต่อไป
ให้เอาเปลือกจิก ๑ เปลือกกรด ๑ เปลือกปะโลง ๑ เปลือกแคฝอย ๑ รากพิลังกาสา ๑ เปลือกมะฝ่อ ๑ เปลือกมะกอก ๑ เปลือกมะม่วงพรวน ๑ ต้มแช่ต้มชะบ้าง กว่าจะสิ้นฝ้าหายวิเศษนัก
ถ้าแผลนั้นสิ้นฝ้าอยู่แล้ว จึงเอาน้ำมันมะพร้าวจอก ๑ น้ำมันฟองไก่จอก ๑ น้ำมันโคจอก ๑ เคี่ยวขึ้นแล้วจึงเอาขี้ผึ้งใส่ลงกวนดู ให้เปนขี้ผึ้งสีปาก แล้วจึงเอาฝุ่นจีน ๑ ยางตะเคียน ๑ ใส่ลงแต่พอสมควรแล้วบดเถิด ปิดแผลหายวิเศษนัก
ถ้ามิหายให้ทำยาโรย ให้ขูดเอาหัวกะลามะพร้าวกะทิ ๑ ใบหว้าเผา ๑ ผลเบญกานีขั้ว ๑ น้ำประสารทองหน่อย ๑ สีเสียดทั้ง ๒ ใบตาลเผา ๑ ฝุ่นจีน ๑ ยาทั้งนี้กวนให้ละเอียดดังยานัดถุ์ ครั้นชะแล้วจึงโรยไปกว่าจะหายเถิด
อนึ่งถ้าจะแก้ด้วยยาสิ่งใดๆ มิหาย ให้แก้ด้วยยาสิ่งนี้เถิด ให้เอาปรอท ๑ บาท เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๒ สลึง เข้าขั้ว ๑ บาท ใบกะเพรา ๑ ใบพลูแก ๑ เจตมูล ๑ กานพลู ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง ผลจันทน์ ๑ ดำละลายน้ำผึ้งน้ำสุราก็ได้ กินไป ๗ วันหายแล
ถ้ามิหายให้กินไปกว่าจะสิ้นยานั้น ให้เช้ากินเย็น ถ้าเปนมะเรงคุธราดก็หาย
(จบบริบูรณ์แต่เพียงนี้)
----------------------------