ว่าด้วยธาตุทั้ง ๔ ขาดและเหลือ

คัมภีร์โรคนิทาน เล่ม ๑

----------------------------

อหํ อันว่าข้า ชิวกโกมารพัจ์โจ ผู้มีนามโกมารพัจแพทย์ อภิวัน์ทิต๎วา ถวายนมัสการแล้ว พุท์ธคุณํ ซึ่งคุณแก้ว ๓ ประการ มีพระพุทธรัตนะเปนต้น เสฏ์ฐํ ประเสริฐโดยวิริยะยิ่งนัก เทวิน์ทํ ย่อมเปนที่นมัสการของเทพยดาทั้งหลาย กิต์ตยิส์สามิ จักตกแต่งไว้ คัน์ถํ ซึ่งคัมภีร์แพทย์ โรคนิทานํนาม ชื่อว่าโรคนิทาน ปมุขํ เฉภาะภักตร อิสีสิท์ธิโน แห่งท่านมีนามชื่อว่าฤๅษีสิทธิดาบศ ปติฏ์ฐิตุ เพื่อจะให้เปนที่พึ่ง โลกานํ แก่สัตวโลกทั้งหลาย อิติเมาะอิมินาปกาเรนะ ด้วยประการดังนี้

มีวาระพระบาฬีในคัมภีร์พระบรมรรถธรรมนั้น ว่าด้วยคนจะถึงความมรณะสิ้นอายุนั้น เทวทูตในธาตุทั้ง ๔ ก็มีพรรณสำแดงออกให้แจ้งปรากฎโดยมโนทวารอินทรีย์ประสาท ธาตุอันใดจะขาดจะหย่อน จะพิการอันตรธานประการใดๆ ก็ดี ก็แจ้งอยู่ในพระคัมภีร์มรณะญาณสูตรนั้นแล้ว แต่ว่ามาทั้งนี้อาไศรยเปนหลักเปนประธานที่มรณะด้วย โบราณโรค ฤๅมรณะด้วยปัจจุบันโรค ฤๅประจุบันกรรมนั้นก็มีอยู่ต่างๆ ถึงดังนั้นก็จริง เทวทูตมหัสจรรย์ ก็หากสำแดงอยู่ แต่ผู้จะหยั่งรู้หยั่งเห็นเปนอันยากนักหนา ท่านโกมารพัจแพทย์ผู้ประเสริฐ จึงมีนิคมบทลงไว้ในคัมภีร์โรคนิทาน ว่ามนุษทั้งหลาย ถึงความมรณะด้วยประจุบันโรคนิคมนั้น คือปักกะมิกาพาธ ท่านทุบถองโบยรันบอบช้ำ แลต้องราชอาญาของพระมหากระษัตริย์ ให้ประหารชีวิตเสียด้วยหอกดาบปืนไฟก็ตายดุจเดียวกัน แต่ว่าโดยเร็วโดยด่วน มิได้ตายโดยปรกติ มิได้ตายโดยลำดับขันธ์ ลำดับชวนะธาตุทั้ง ๔ ไม่ได้ล่วงเปนลำดับกันเลย อันบุทคลตายโดยกำหนดสิ้นอายุปริโยสานเปนปรกตินั้น ธาตุทั้ง ๔ ก็อันตรธานสูญหายเปนลำดับกันไป คือธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้ำ ๑๒ ธาตุลม ๖ ธาตุไฟ ๔ เมื่อจะอันตรธานนั้น หาสูญพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๔ ธาตุไม่ ย่อมสูญไปขาดไปแต่ทีละ ๒ สิ่ง ๓ สิ่ง ๔ สิ่ง ๕ สิ่งก็มี บางทีธาตุดินขาดก่อนธาตุน้ำ ขาดก่อนธาตุลม ขาดก่อนธาตุไฟ แลเมื่อจะสิ้นอายุดับสูญนั้น ปถวีธาตุ ๒๐ ขาดไป ๑๙ ยังหฤไทย ๑ อาโปธาตุน้ำ ๑๒ ขาดไป ๑๑ ยังแต่น้ำลาย ๑ วาโยธาตุลม ๖ ขาดไป ๕ ยังเหลือแต่ลมหายใจเข้าออก ๑ เตโชธาตุไฟ ๔ ขาดไป ๓ ยังเหลือแต่ไฟสำหรับเผาให้กายอุ่น ๑ ถ้าธาตุทั้งหลายสิ้นสูญไปดังกล่าวมานี้อาการตัดทีเดียว แพทย์ผู้จะเยียวยาต่อไปไม่ได้เลย ถ้าธาตุทั้ง ๔ ขาดหย่อนไปแต่ละสิ่งสองสิ่ง สามสิ่งสิ่สิ่งดังนั้น ก็ยังจะพยาบาลได้อยู่ ให้ดูอันจะกล่าวไปในข้างน่าโน้น อันลักษณธาตุจะกำเริบพิการ พระอาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์แพทย์มีฤดู ๔ จัดออกไว้ในฤดูหนึ่ง ๓ เดือน เดือน ๕, ๖, ๗, ทั้ง ๓ เดือนนี้ ว่าด้วยเตโชธาตุอันชื่อว่าสันดัปปัคคีอันพิการ ให้เย็นในอกกินอาหารพลันอิ่ม มักให้จุกเสียดขัดอกอาหารพลันแหลกมักอยากบ่อยๆ จึงให้เกิดลม ๖ จำพวกๆหนึ่งชื่ออุตะรันตะ พัดแต่สะดือถึงลำฅอ จำพวกหนึ่งชื่อปัตตะรันตะ ให้ขัดแต่อกถึงลำฅอ จำพวกหนึ่งชื่ออัสวาตะให้ขัดจมูก จำพวกหนึ่งชื่อปรามาศให้หายใจขัดอก จำพวกหนึ่งชื่ออนุวาตะคือหายใจขาดไป คือว่าลมจับนิ่งไป จำพวกหนึ่งชื่อมหาสดม แลลม ๖ จำพวกนี้เกิดเพื่อเตโชธาตุพิการแพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ท่านให้เอายานี้ประกอบ

ยาชื่อกาลาทิจร เอาผลเอ็น ๑ ลำพัน ๑ โกฐสอ ๑ โกฐพุงปลา ๑ ดีปลี ๑ ขิง ๑ แห้วหมู ๑ เปลือกโมกมัน ๑ ผลผักชี ๑ อบเชย ๑ เถาสะค้าน ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคตำเปนผงละลายน้ำร้อนกิน แก้เตโชธาตุพิการ

เดือน ๘, ๙, ๑๐, ทั้ง ๓ เดือนนี้ คือวาโยธาตุอันชื่อว่าชิระนัคคีพิการ ให้ผอมเหลืองให้ครั่นตัวให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทั่วสรรพางค์กาย ให้แดกขึ้นแดกลงให้ลั่นโครกๆ มักให้หนาวให้เรอให้วิงเวียนหน้าตา ให้หูหนักให้ร้อนในอก มักให้รันทดรันทวยกาย ให้หายใจสั้นให้เหม็นปากให้หวานปากตัวเอง ให้โลหิตออกจากปากจากจมูกจากหู กินอาหารไม่รู้จักรส (คือวาโยธาตุพิการ) ถ้าจะแก้ให้ประกอบยานี้

ยาชื่อชิระนัคคีจร ท่านให้เอาดีปลี ๑ รากแฝกหอม ๑ พริกไทย ๑ เปราะหอม ๑ ว่านน้ำ ๑ แห้วหมู ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค ใส่รากกะเทียมเท่ายาทั้งหลาย ทำเปนจุณละลายน้ำร้อนกินแก้วาโยธาตุพิการต่างๆ

เดือน ๑๑, ๑๒, ๑, ทั้ง ๓ เดือนนี้ กินผักแลอาหารทั้งปวงผิดสำแลง อาโปธาตุ (คือดีพิการ) มักขึ้งโกรธมักสดุ้งใจ (เสมหะพิการ) กินอาหารไม่รู้จักรส (หนองพิการ) มักให้เปนหืดไอ (โลหิตพิการ) มักให้คลั่งเพ้อพกให้ร้อน (เหงื่อพิการ) มักให้เชื่อมซึม (มันข้นพิการ) มักให้ตัวชาสากไป (น้ำตาพิการ) มักให้ปวดสีสะเจ็บตา (มันเหลวพิการ) มักให้บวมมือบวมเท้า เปนน้ำเหลืองตกมักให้ผอมแห้งไป (น้ำลายพิการ) มักให้เปนไข้ มักให้ฅอแห้งฟันแห้ง (น้ำมูกพิการ) มักให้ปวดสีสะ (ไขข้อพิการ) มักให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก (มูตร์พิการ) ให้ปัสสาวะแดงขัดปัสสาวะๆ เปนโลหิตปวดเจ็บเนืองๆ แลธาตุน้ำทั้งนี้ประมวณเข้าด้วยกันทั้ง ๑๒ จำพวกนั้น จึงเรียกว่าธาตุพิการแพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ให้ประกอบยานี้

เอารากเจตมูลเพลิง ๑ โกฐสอ ๑ ผลผักชี ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เถาสะค้าน ๑ แห้วหมู ๑ กกลังกา ๑ รากขัดมอน ๑ เปลือกโมกมัน ๑ จันทน์ทั้ง ๒ เปลือกสมุลแว้ง ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสารถี ๑ บัวหลวง ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้อาโปธาตุพิการ

เดือน ๒, ๓, ๔, ถ้าไข้ใน ๓ เดือนนี้ เปนด้วยนอนผิดเวลา คือปถวีธาตุกำเริบนั้นตั้งแต่ (ผมพิการ) ให้คันสีสะนักมักเปนรังแคให้เจ็บหนังสีสะเนืองๆ ไป (ขนพิการ) มักให้เจ็บทั่วสารพางค์กายทุกขุมขน ให้ขนลุกขนพองทั่วทั่งตัว (เล็บพิการ) มักให้เจ็บต้นเล็บ ให้ต้นเล็บเขียวต้นเล็บดำช้ำโลหิต ให้เจ็บเสียวๆ นิ้วมือนิ้วเท้า (ฟันพิการ) มักให้เจ็บรายฟันบางทีให้เปนผีรำมะนาด บางทีให้เปนโลหิตไหลออกทางรายฟัน ให้ฟันคลอนฟันถอนออก (หนังกำเริบ) ให้ร้อนผิวหนังทั่วสารพางค์กาย บางทีให้เปนผื่นดุจเปนผดแสบร้อนอยู่เนืองๆ (เนื้อกำเริบ) มักให้นอนสดุ้งไม่หลับสนิทมักให้ฟกให้บวม บางทีให้เปนวงผุดขึ้นเปนหัวดำหัวแดงหัวเขียวทั้งตัว บางทีเปนดุจลมพิษสมมุติว่าเปนประดงเหือดหัดต่างๆ (เอ็นกำเริบ) มักให้เจ็บสบัดร้อนสท้านหนาวให้ปวดสีสะ ท่านเรียกว่าลมอำมะพฤกษ์กำเริบ (กระดูกพิการ) ให้เมื่อยขบทุกข้อทุกกระดูก (สมองกระดูกกำเริบ) มักให้ปวดสีสะเนืองๆ (ม้ามพิการ) มักให้ม้ามหย่อน (หฤไทยพิการ) ให้คลุ้มให้คลั่งดุจเปนบ้า ถ้ามิฉะนั้นให้หิวโหยหาแรงมิได้ให้ทุรนทุรายยิ่งนัก (ตับพิการ) ให้ตับโตตับทรุดเปนฝีในตับแลตับพิการต่างๆ (พั้งพืดพิการ) ให้เจ็บให้อาเจียรจุกเสียดกลับเข้าเปนเพื่อลม (พุงพิการ) มักให้ปวดท้องแดกขึ้นแดกลงปวดขบอยู่เนืองๆ (ปอดพิการ) มักให้ปวดเปนพิษให้กระหายน้ำอยู่เนืองๆ (ไส้ใหญ่พิการ) มักให้สอึกให้หาวให้เรอ (ไส้น้อยพิการ) มักให้พะอืดพะอมท้องขึ้นท้องพอง มักเปนท้องมารกระไษย บางทีให้ลงท้องตกมูกตกเลือดเปนต่างๆ (อาหารใหม่พิการ) มักให้ลงท้องลงแดง มักให้อาเจียรมักให้เปนป่วง ๗ จำพวก (อาหารเก่าพิการ) มักให้กินอาหารไม่รู้จักรสเปนต้น ที่จะให้บังเกิดโรคต่างๆ เพราะอาหารแปลกส่ำแลง สมองสีสะเมื่ออยู่ดีๆ เปนปรกตินั้น อันว่ามันในสมองเราท่านทั่งหลายนี้ พร่องจากกระบานสีสะประมาณเส้นตอกใหญ่หนึ่ง ก็เดือดจนเต็มกระบานสีสะก็ให้ปวดสีสะยิ่งนัก ให้ตาแดงให้คลั่งเรียกว่าสันนิบาตต่อกันกับลม ให้ใช้ยาเปนสุขุมมันในสมองยอบลงเปนปรกติ จึงหายปวดสีสะแล อันว่าปถวีธาตุ ๒๐ ประการซึ่งกล่าวมาทั้งนี้ ยาขนานเดียวแก้ตลอดถึงกันสิ้นแล

ยาชื่อตรีวาสัง แก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คือ สมองกระดูก, ม้าม, พิการ ให้เอากะเทียม ๑ ใบคนทิสอ ๑ ใบสะเดา ๑ เปลือกต้นตีนเป็ด ๑ เบญจกูล ๑ สมอทั้ง ๓ จันทน์ทั้ง ๒ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ตรีกฏุก ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ส่วน เปลือกกันเกรา ๒ ส่วน เปลือกสมุลแว้ง ๓ ส่วน ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้งกินแก้ปถวีธาตุทั้ง ๒ ประการ

ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการ คือพั้งพืด, ปอด, พุง, พิการ ให้เอา แห้วหมู ๑ แฝกหอม ๑ เปราะหอม ๑ ใบสะเดา ๑ กานพลู ๑ ผลเอ็น ๑ หญ้าตีนนก ๑ การะบูร ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ผลบุนนาก ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ดอกกรุงเขมา ๑ ผลผักชี ๑ ดีงูเหลือม ๑ เนระภูสี ๑ ดอกผักปอด ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณบดทำแท่ง ฝนด้วยน้ำดอกไม้ แซกชะมด พิมเสน น้ำจันทน์ทั้ง ๒ กินแก้ปถวีธาตุพิการทั้ง ๓ แล

ยาชื่อประสะพิมเสน แก้ปถวีธาตุ ๓ ประการ คือหัวใจ, ตับ, ปอด, พิการ ให้ประกอบชะมดเชียง ๑ พิมเสน ๑ ดอกกรุงเขมา ๑ ผลเอ็น ๑ ฤๅษีประสมแล้ว ๑ เปลือกต้นตีนเป็ด ๑ ใบสะเดา ๑ ใบเสนียด ๑ หญ้าตีนนก ๑ สมอทั้ง ๓ มะขามป้อม ๑ อบเชย ๑ ลำพัน ๑ โกฐสอ ๑ ใบกระวาน ๑ ดอกบุนนาก ๑ เปราะหอม ๑ ดอกผักปอด ๑ เกสรบัวน้ำทั้ง ๕ ดอกคำลาว ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคบดทำแท่งฝนด้วยน้ำจันทน์ กินแก้ปถวีธาตุทำเภทต่าง ๆ แล

ขนานหนึ่ง เอาใบบอระเพ็ด ๑ แห้วหมู ๑ ชีรากากี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ กะเทียม ๑ ชะเอมเทศ ๑ โกฐสอ ๑ เทียนดำ ๑ ตรีกฏุก ๑ เปลือกต้นตีนเป็ด ๑ สมอไทย ๑ ใบสะเดา ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่งด้วยน้ำผึ้งเท่าผลพุดทรากินเช้าเย็น บำบัดปถวีธาตุ ๘ จำพวก ตั้งแต่ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, ถ้าพิการกำเริบดังกล่าวมานี้หายสิ้นแล

ขนานหนึ่ง เอาใบเสนียด ๑ เจตมูลเพลิง ๑ เปลือกโมกมัน ๑ แห้วหมู ๑ โกฐพุงปลา ๑ ผลผักชี ๑ สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ รากตองแตก ๑ แฝกหอม ๑ ผลกระดอม ๑ บอระเพ็ด ๑ กระถินแดง ๑ ขิงแห้ง ๑ รากไคร้เครือ ๑ หญ้าตีนนก ๑ ต้มด้วยน้ำท่าน้ำมูตรโคก็ได้ เมื่อจะกินปรุงขันทศกรใส่กิน แก้ไข้ตรีโทษในปถวีธาตุ คือไส้ใหญ่ไส้น้อยทั้ง ๒ ประการ หายแล

ขนานหนึ่ง เอาเปลือกหอยขม ๑ หอยแครง ๑ พักแพวแดง ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ การะบูร ๑ เอาเสมอภาค พริกไทยล่อนเท่ายาทั้งหลาย ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้งกินแก้ปถวีธาตุพิการ คืออาหารใหม่อาหารเก่าหายแล

ขนานหนึ่ง เอารากช้าพลู ๑ รากสะค้าน ๑ รากเจตมูลเพลิง ๑ ขิง ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ สมอไทย ๑ สมอเทศ ๑ ผลผักชี ๑ กฤษณา ๑ จันทน์หอม ๑ มะขามป้อม ๑ แห้วหมู ๑ ผลพิลังกาสา ๑ รากขัดมอนหลวง ๑ กกลังกา ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค บอระเพ็ด ๒ ส่วน ดีปลี ๔ ส่วน ต้มกินแก้ปถวีธาตุ คือสมองสีสะเมื่อเหมันตฤดูหายแล

ยาแก้ปวดสีสะ ให้เอาชะเอมทั้ง ๒ อบเชยเทศ ๑ เปลือกคนทา ๑ จันทน์หอม ๑ โกฐสอ ๑ ใบสมี ๑ ผลผักชี ๑ ขิง ๑ ชะมด ๑ พิมเสน ๑ ทำเปนจุณกวนเปนยานัดถุ์แก้ปวดสีสะหายแล

ยาสุมสำหรับก้น ให้เอาผักหนอก ๑ ขิงสดแต่น้อย หอม ๕ หัว เทียนดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมเมื่อเหมันตฤดูแล

เมื่อคิมหันตฤดู ให้เอาใบเสนียด ๑ เทียนดำ ๑ งาเม็ด ๑ งาช้าง ๑ เข้าสาร ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมสมองยุบหายปวดสีสะ โลหิตจมูกแลรายฟันนั้นหายแล

เมื่อวัสสันตฤดู ให้เอาใบน้ำดับไฟ ๑ เทียนดำ ๑ ไพล ๑ หัวหอม ๑ ดอกพิกุล ๑ ผักขวง ๑ ใบหางนกยูง ๑ ฆ้องสามย่าน ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมห้ามปวดสีสะห้ามจมูกตึงดีนักแล

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ